-
Category: องค์ที่ 161-180
-
Published on Tuesday, 03 November 2015 03:10
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 2081
สมเด็จพระสันตะปาปาโฮโนริอุส ที่ 2
(Pope Honorius II ค.ศ. 1124-1130)
พระองค์มีพระนามเดิมว่า ลัมแบร์โต สกานาเบ็ทชิ มาจากครอบครัวยากจนในหมู่บ้านอิมโมลา อิตาลี ได้รับแต่งตั้งให้เป็นคาร์ดินัลโดยพระสันตะปาปาปัสกัล ที่ 2 ในปี ค.ศ.1117 ท่านมีส่วนร่วมในการเจรจาข้อตกลงกับจักรพรรดิได้ข้อยุติในข้อตกลงเวิร์ม เมื่อพระสันตะปาปากัลลิสตุสสิ้นพระชนม์ ตระกูลฟรานจิปานิ ซึ่งขณะนั้นมีกองทหารอำนาจได้เลือกพระองค์ให้ดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1124 ขณะเดียวกันคณะพระคาร์ดินัลกลุ่มหนึ่งก็ได้เลือกพระคาร์ดินัลเธโอบัลโดให้เป็นพระสันตะปาปาเซเลสทีน ที่ 2 ด้วยแต่ยังไมได้มีการอภิเษก ทางตระกูลฟรานจิปานิ จึงยกกองทหารมาบังคับให้พระคาร์ดินัลยอมรับและแต่งตั้งท่านลัมแบร์โต เป็นพระสันตะปาปา หลายคนไม่เห็นด้วยจึงเกิดการนองเลือดขึ้น และพวกทหารยังขู่ว่าจะนองเลือดมากขึ้นหากยังไม่มีการแต่งตั้งโดยเร็ว ดังนั้น คณะพระคาร์ดินัลจึงลังเลและที่สุดก็ยอมรับ และขอให้ท่านเทโอบันโดลาออกแต่โดยดี จึงกลายเป็นว่าเกิดพระสันตะปาปาซ้อนชั่วคราวขึ้น เป็นองค์ที่ 25 ในประวัติศาสตร์พระสันตะปาปา (นักประวัติศาสตร์ลงความเห็นว่า ท่านเทโอบันโดยังไม่ได้เป็นพระสันตะปาปาที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะยังไม่ได้มีการอภิเษก และท่านเทโอบันโดก็ได้เสียชีวิตในเวลาต่อมาไม่นานด้วย)
ที่จริงเมื่อเห็นว่าจะเกิดปัญหาและฆ่ากันมากขึ้น ท่านลัมแบร์โตเองก็ยินดีลาออกโดยยอมรับว่า การที่ตนได้รับเลือกมานั้น มาจากฆราวาสครอบครัวหนึ่งสนับสนุน แต่ปรากฏว่าพวกพระคาร์ดินัลกลับไม่ยอมรับการลาออกของท่าน และสนับสนุนให้ท่านอยู่ในตำแหน่งต่อไป เมื่อการอภิเษกผ่านพ้นไปแล้วท่านลัมแบร์โตหรือพระสันตะปาปาโฮโนริอุส ที่ 2 ก็ได้ปฏิบัติหน้าที่พระสันตะปาปาอย่างดี พระองค์ได้เชื่อมความสัมพันธ์ อันดีระหว่างศาสนจักรและอาณาจักร แต่ปัญหากับพวกนอร์มันทางใต้นั้นทำไม่ได้ดีนัก เพราะกองทหารของพระสันตะปาปาถูกทำลายย่อยยับ จักรพรรดิโรเจอร์ ที่ 2 แห่งซิชีลีขอแกมบังคับให้ พระสันตะปาปายอมรับเขาเป็นดยุคแห่งอะปุเลีย ในปี ค.ศ. 1130
พระสันตะปาปาโฮโนริอุสประชวรหนัก ที่ปรึกษาผู้ทะเยอทะยานของพระองค์ คือ ไอเมริค แทนที่จะรักษาอย่างดีกลับได้นำตัวพระองค์ไปไว้ที่อารามแห่งหนึ่งในโรม และพระองค์ได้สิ้นพระชนม์ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1130 ไอเมริคก็ฝังพระศพของพระองค์อย่างไม่มีพิธีรีตองอย่างใด ทำเหมือนงานศพของคนธรรมดา และตนก็ได้รวบอำนาจของสันตะสำนักไว้ในมือแต่ผู้เดียว ภายหลังเมื่อเวลาผ่านไปได้มีการขุดพระศพพระสันตะปาปามาทำพิธีอย่างเหมาะสม และเก็บรักษาไว้ที่พระราชวังลาเตรัน