องค์ที่ 178 สมเด็จพระสันตะปาปาเกรโกรี ที่ 9 (Pope Gregory IX ค.ศ.1227-1241)

 

สมเด็จพระสันตะปาปาเกรโกรี ที่ 9

 (Pope Gregory IX ค.ศ. 1227-1241)
 
พระองค์มีพระนามเดิมว่า อูโกลิโน แห่งเซญี (Segni) เป็นบุตรของท่านเคานต์แห่งเซญี เป็นหลานของพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ ที่ 3 รับการศึกษาขั้นสูงด้านเทววิทยาที่มหาวิทยาลัยปารีส มีชื่อเสียงดีในฐานะนักเทววิทยาและนักกฎหมาย ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระคาร์ดินัล ในปี ค.ศ. 1198 โดยพระสันตะปาปาลุง (พระสันตะปาปาอินโนเซนต์ ที่ 3) ของท่านเอง ต่อมาได้รับหน้าที่เป็นผู้แทนพระสันตะปาปาไปทำงานในที่ต่างๆ ได้รับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปา ในวันที่ 9 มีนาคม ค.ศ. 1227 สืบต่อจากรพระสันตะปาปาโฮโนริอุส ที่ 3 ใช้พระนามว่า พระสันตะปาปาเกรโกรี ที่ 9 ลักษณะนิสัยของพระองค์เป็นผู้ที่ยึดหลักการและพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
 
สมัยปกครองของพระองค์ ต้องเผชิญข้อขัดแย้งกับพระเจ้าเฟรดริกเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเห็นว่าพระเจ้าเฟรดริกไม่ยอมร่วมมือตามที่สัญญา ว่าจะช่วยส่งทหารไปทำสงครามกอบกู้แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ พระสันตะปาปาเกรโกรี จึงประกาศตัดพระเจ้าเฟรดริกออกจากพระศาสนจักร และต่อต้านพระเจ้าเฟรดริกโดยตรง แม้หลังจากที่กอบกู้เยรูซาเลมได้แล้วก็ตาม มีการคืนดีกันหลังจากที่ได้ทำสัญญาซานเยอรมาโน ในปี ค.ศ. 1230  แต่ภายหลังไม่นานความสัมพันธ์ก็เสื่อมลงอีก  เกิดสงครามขึ้นในปี ค.ศ. 1239 พระเจ้าเฟรดริกยกกองทัพมายึดโรมไว้ได้ พระสันตะปาปาเกรโกรี ที่ 9 สิ้นพระชนม์ในวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1241 ขณะที่กองทหารของพระเจ้าเฟรดริกยังคงตรึงกำลังไว้ที่โรม
 
ผลงานเด่นในสมัยปกครองของพระสันตะปาปาเกรโกรี ที่ 9 คือ การทรงปกป้องสิทธิพิเศษของพระสันตะปาปา ใน ค.ศ. 1234 ทรงประกาศข้อกำหนด “The Decretals” ซึ่งใช้เป็นรากฐานกฎหมายพระศาสนจักร จนกระทั่งสงครามโลก ครั้งที่ 1 ทรงประนีประนอมกับพระศาสนจักรออร์โธดอกซ์ จารีตกรีก ผ่านทางสภาสังคายนานีเชอา (Nicaea) ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1234 แม้ผลการประชุมจะล้มเหลวก็ตาม เช่นเดียวกับพระสันตะปาปาก่อนหน้าพระองค์ ทรงต่อต้านศาสนานอกรีตทางใต้ฝรั่งเศสและทางตอนเหนืออิตาลี การส่งเสริมและสนับสนุนคณะฟรันซิสกัน และการตั้งศาลที่เรียกว่า ศาลศาสนา ที่มีคณะโดมินิกันและฟรันซิสกันเป็นกำลังจัดตั้งสำคัญ (ศาลศาสนานี้ โดยหลักการแล้วมีเจตนาดี คือ ต้องการกำจัด และป้องกันปัญหาคนที่สอนคำสอนผิดหลง ตอนแรกก็อยู่ในอำนาจของผู้ที่พระสันตะปาปาแต่งตั้งให้เป็นผู้พิพากษา แต่ต่อมาอำนาจนี้ถูกโอนมาอยู่ในมือของพระสังฆราชประจำท้องถิ่น เพื่อความคล่องตัว ซึ่งภายหลังก็อยู่ในมือของฆราวาสผู้มีอิทธิพลด้วย แรกๆ ก็มีการพิพากษาอย่างยุติธรรม แต่ต่อมาก็คุมไม่อยู่ เพราะผู้พิพากษาเองบ่อยครั้งก็ไม่มีความยุติธรรม หลายครั้งตัดสินโดยไม่มีการไต่สวนและให้ความยุติธรรมกับผู้ที่ถูกกล่าวหา มีการนำระบบขังคุกทรมานมาใช้ เพื่อให้ผู้ต้องสงสัยสารภาพผิด และที่สุดระบบศาลนี้ก็หาความยุติธรรมไม่ได้ จึงเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของพระศาสนจักรในยุคนี้ และต่อเนื่องถึงยุคกลาง)