องค์ที่ 105 สมเด็จพระสันตะปาปานักบุญนิโคลัส ที่ 1(ผู้ยิ่งใหญ่) (Pope St. Nicholas I (The Great) ค.ศ.858-867)

 
สมเด็จพระสันตะปาปานักบุญนิโคลัสที่ 1 (ผู้ยิ่งใหญ่)

(Pope St.Nicholas I (The great)   ค.ศ.858-867)
 
พระองค์เป็นชาวโรม รับใช้สันตะสำนักในตำแหน่งบริหารงานพระศาสนจักรถึง 15 ปี เป็นต้นในสมัยพระสันตะปาปาเบเนดิก ที่ 3 ก่อนที่พระองค์จะได้รับการอภิเษกเมื่อวันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 858 เมื่อท่านอาเดรียน (ที่ 2) ปฏิเสธจะรับตำแหน่งพระสันตะปาปาเป็นครั้งที่สอง คณะกรรมการจึงเลือกท่านนิโคลัสขึ้นมาเป็นพระสันตะปาปาแทน พระองค์ได้รับคำรับรองจากจักรพรรดิหลุยส์ที่ 2 ในเวลาต่อมา พระสันตะปาปานิโคลัสเป็นผู้เด็ดเดี่ยวและไม่ปรารถนาให้ฆราวาสเข้ามาแทรกแซงกิจการของพระสงฆ์ จุดยืนนี้พระองค์มั่นคงมากและชาวโรมเองก็ชื่นชมในความเด็ดเดี่ยวนี้ เมื่อจักรพรรดิพยายามเข้ามาแทรกแซงและเรียกร้องความนอบน้อมจากพระสันตะปาปา พระสันตะปาปานิโคลัสทรงประกาศชัดเจนว่าจะไม่ยอมสวามิภักดิ์ให้อีกต่อไป พระเจ้าหลุยส์ไม่พอใจมากแต่ทำอะไรไม่ได้ เพราะชาวเมืองสนับสนุนพระสันตะปาปามากขึ้น เมื่อพระเจ้าหลุยส์เริ่มเสื่อมอำนาจทางการเมือง อำนาจของพระสันตะปาปาก็ยิ่งเข้มแข็งมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านจิตวิญญาณ
 
พระองค์เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการวางมาตรการกำหนดเกี่ยวกับอำนาจพระสันตะปาปาที่กล่าวไว้ว่า “สิ่งที่พระสันตะปาปาทรงตัดสินใจกระทำ ทุกคนต้องถือปฏิบัติตาม” (What the pope decides’ all must observe.) และยึดปฏิบัติในต้นยุคกลางของสันตะสำนัก ทั้งยังเป็นแนวทางที่ใช้ปฏิรูปสถาบันพระสันตะปาปาในศตวรรษที่ 11 อีกด้วย
 
ด้านความสัมพันธ์กับอาณาจักรไบเซนไทน์ก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันนัก จนเกิดปัญหาความแตกแยกระหว่างพระศาสนจักรตะวันออกและพระศาสนจักรตะวันตกที่เรียกว่า กลุ่มต่อต้านสายโฟเชียน (Photian Schism) ที่สร้างความปวดร้าวให้แก่พระศาสนจักรในอีกหลายปีต่อมา แม้ว่าพระสันตะปาปาในยุคต่อๆ มาจะไม่ได้เจริญรอยตามพระสันตะปาปานิโคลัสนัก แต่สิ่งที่พระองค์ได้สร้างไว้เกี่ยวกับเอกภาพและอำนาจของพระสันตะปาปานั้น ได้กลายมาเป็นดังแผนผังของการวางรากฐานอำนาจพระสันตะปาปาผู้นำสูงสุดในอนาคต
 
เมื่อพระสันตะปาปานิโคลัส ที่ 1 สิ้นพระชนม์ วันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 867 หลังสมัยปกครองนานถึง 9 ปี ประชาชนต่างเศร้าโศกต่อการสูญเสียครั้งนี้ ในเวลาเดียวกันฝนตกหนักที่กรุงโรมประชาชนต่างเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายความระทมทุกข์จากสวรรค์ และเห็นพ้องกันว่าพระองค์สมควรได้รับการสถาปนาเป็น “นักบุญ” และ “ผู้ยิ่งใหญ่” เพราะนับตั้งแต่สมัยปกครองของพระสันตะปาปาเกรโกรี ที่ 1 (ผู้ยิ่งใหญ่) แล้ว ไม่มีพระสันตะปาปาองค์ใดได้รับการถวายเกียรติเช่นนี้ พระองค์เป็นผู้นำของบรรดากษัตริย์ ทรงถ่อมพระองค์และมีพระทัยเมตตาต่อนักบวช ทรงเคร่งครัดและเป็นที่ยำเกรงของเหล่าศัตรูของพระศาสนจักร