-
Category: ตารางเทียบสมัยการปกครองสังฆมณฑลนครราชสีมา
-
Published on Saturday, 10 October 2015 03:29
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 3731
พระสังฆราชอาแลง วังกาแวร์ เกิดที่มาร์ซาย บนฝั่งทะเลเมดิเตอเรเนียน ภาคใต้ของประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1921 เวลา 13.00 น. มาจากครอบครัวที่มีฐานะดี มีความศรัทธา บิดาเป็นแพทย์ที่มีชื่อเสียง สอนอยู่ที่มหาลัยแพทย์ศาสตร์แห่งหนึ่งในประเทศฝรั่งเศส ส่วนมารดาเป็นแม่บ้าน ที่ให้ความรัก ความอบอุ่น และอบรมสั่งสอนลูกทั้งหกด้วยความเอาใจใส่ทะนุถนอมเป็นอย่างดี
การศึกษา
ในวัยเด็ก ท่านเข้ารับการศึกษาขั้นแรกในโรงเรียนกินนอนประจำสังฆมณฑลมาร์ซาย พออายุได้ 18 ปี ท่านได้สมัครเข้าเป็นสามเณรของคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส ที่บีแอฟร์ และศึกษาวิชาปรัชญาที่นั่นอยู่ในสามเณราลัยได้เพียง 1 ปีเท่านั้น เนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงต้องอพยพไปอยู่ที่สามเณราลัยมาร์ซายที่แอ๊กษ์ ในเดือนตุลาคม ค.ศ.1940 ท่านได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านเณรใหญ่ของคณะที่กรุงปารีส
ชีวิตในค่ายทหาร
ในปี ค.ศ.1941 เกิดเหตุการณ์พลิกผันอีกครั้ง เมื่อถึงเวลาปิดภาคเรียนขณะที่กลับไปพักผ่อนที่บ้าน ตำรวจตรวจสอบและพบว่าท่านมีอายุ 20 ปีแล้ว แต่ยังไม่ได้เข้าฝึกใน “ค่ายเยาวชน” (แทนการฝึกทหารในยามปกติ) จึงต้องเข้าประจำการในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1941 และใช้ชีวิตอยู่ในค่ายนียอง จังหวัดโดรม จนกระทั่งได้รับการปล่อยในเดือนมีนาคม ค.ศ.1942 ท่านจึงกลับไปที่บ้านเณรใหญ่ ที่กรุงปารีสเพื่อศึกษาต่อ
ในเดือนมกราคม ค.ศ.1944 มีข่าวว่าเยอรมันจะอพยพคนหนุ่มไปไว้ในประเทศเยอรมัน ทางบ้านเณรใหญ่ จึงปล่อยสามเณรทุกคนให้กลับบ้าน เวลานั้นมีแผนที่จะหนีไปอยู่ที่ประเทศสเปน แต่ทว่า เมื่อท่านมาถึงบ้านในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1944 พบว่าบิดาของท่านเพิ่งจะล่วงลับไป ท่านจึงเปลี่ยนใจล้มเลิกแผนการ หันเข้าหางานทำเพื่อช่วยมารดา แต่การหางานก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับท่าน ในที่สุดท่านได้งานเป็นหัวหน้าคนงานในค่ายเยาวชน การผจญภัยของท่านยังไม่จบเพียงเท่านั้น เมื่อนายพลของค่ายเยาวชนแห่งนั้นถูกจับ ตัวท่านเองก็ถูกจับโดยทหารเยอรมัน และถูกส่งไปทำงานประกอบเครื่องเหล็กที่เช็คโกสโลวาเกีย ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1944 ท่านพยายามหลบหนีออกจากโรงงานใน 2-3 สัปดาห์ต่อมา แต่ก็ถูกจับได้ จึงถูกส่งตัวไปค่ายปราบพวกหัวแข็ง เมื่อถูกส่งตัวกลับมาที่โรงงานอีกครั้ง ท่านได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อวินาศกรรม จึงถูกนำไปขังรวมกับพระสงฆ์ค่ายดาโช ถูกทรมานด้วยไข้รากสาก ไข้อีดำอีแดง แต่ที่สุดก็รอดตายมาได้ เพราะทหารอเมริกันของนายพลแพตตันมาช่วยเหลือในวันที่ 29 เมษายน ค.ศ.1945 หน่วยกาชาดให้การรักษาพยาบาลท่านจนหายดีและส่งกลับบ้าน
ชีวิตสงฆ์มิสชันนารี
ตุลาคม ค.ศ.1945 ท่านกลับมาที่บ้านเณรใหญ่ปารีสอีกครั้ง ศึกษาเทววิทยาต่อจนสำเร็จ และได้รับศีลบรรพชาจากพระสังฆราชเลอแมร์ อัคราธิการ ในวัดน้อยประจำบ้านเณร เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ.1946
กุมภาพันธ์ ค.ศ.1947 ทางคณะกำหนดที่จะส่งคุณพ่ออาแลง วังกาแวร์ ไปประจำ มิสซังกังหลง ประเทศจีนตะวันออกเฉียงใต้ ท่านออกเดินทางเดือนเมษายนในปีเดียวกัน เมื่อถึงที่มิสซังกังหลง คุณพ่ออาแลง วังกาแวร์ ได้รับหน้าที่ดูแลโรงพยาบาลโรคเรื้อนแทนคุณพ่อซียอเรต์ ซึ่งถูกฆาตกรรม และต่อจากนั้นท่านก็ได้เป็นเจ้าอาวาสที่หินเหยิน
ชีวิตในคุก
ปลายปี ค.ศ.1949 คอมมิวนิสต์เข้ามาในจีน คุณพ่ออาแลง วังกาแวร์ และธรรมทูตคนอื่นๆ จึงถูกจับ ถูกสอบสวน ถูกฟ้อง และที่สุดพวกท่านถูกจำคุกเป็นเวลา 5 ปี ท่านต้องไปทำงานหนักในโรงทำกระเบื้อง จนกระทั่งท่านประสบอุบัติเหตุซี่โครงหัก 2 ซี่ แม้ว่าท่านจะไม่สามารถทำงานได้ แต่ผู้คุมก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรท่าน ท่านจึงต้องรับทรมานเป็นอันมาก ถูกสอบสวนหลายครั้ง จนในที่สุด ท่านต้องโทษเนรเทศไปอยู่ที่เกาะฮ่องกงในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ.1952
เมื่ออยู่ที่เกาะฮ่องกง คุณพ่ออาแลง วังกาแวร์ อยู่ในอาการไข้หนัก ท่านจึงได้รับการรักษา และตรวจร่างกายอย่างถี่ถ้วน จนอาการดีขึ้น ท่านจึงกลับไปพักรักษาตัวที่ประเทศฝรั่งเศส
ชีวิตใหม่ในเมืองไทย
เมื่อประเทศจีนไม่ต้องการคุณพ่ออาแลง วังกาแวร์ แล้ว ท่านจึงตัดสินใจไปที่อื่น ผู้ใหญ่ของคณะฯ จึงตัดสินใจส่งท่านมามิสซังกรุงเทพฯ ซึ่งพระสังฆราชหลุยส์ ออกุสแตง เคลมังต์ โชแรง เป็นประมุขและให้การต้อนรับท่านด้วยความชื่นชมยินดี เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ.1953 ท่านได้เริ่มศึกษาภาษาไทยชั้นแรกกับภราดาลาซาล ที่โรงเรียนโชติรวี นครสวรรค์
ชีวิตผู้อภิบาลที่วัดต่างๆ
เดือนธันวาคม ค.ศ.1953 ท่านไปประจำที่วัดเจ้าเจ็ด อยุธยา ซึ่งทำให้ท่านมีโอกาสพูดภาษาไทยกับชาวบ้านมากขึ้น
เดือนมกราคม ค.ศ.1955 ท่านรับหน้าที่ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอัสสัมชัญ ช่วยคุณพ่อเปรูดอง ผู้อาวุโส ท่านมีใจร้อนรน ร่วมมือทำงานอย่างแข็งขันกับคณะพลมารีประจำวัด มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่สมัครเรียนคำสอนอย่างล้นมือ ท่านอยู่ที่วัดอัสสัมชัญ 3 ปี ก็ต้องไปรักษาตัวที่ไซ่ง่อนเป็นเวลา 4 เดือน
ปลายปี ค.ศ.1958 ได้ไปประจำอยู่ที่วัดบ้านนา แต่ยังไม่ทันถึงปีก็ต้องไปนครราชสีมา (วัดที่โคราช) แทนคุณพ่อเบรย์ซึ่งกลับไปพักผ่อนยังปิตุภูมิ ท่านไปถึงโคราชในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1959 แต่ยังไม่ทันถึง 24 ชั่วโมง ก็ได้รับคำสั่งด่วนให้กลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดคอนเซ็ปชัญแทนคุณพ่อมาร์แซล ซึ่งถึงแก่มรณภาพอย่างกะทันหัน ท่านได้พยายามฟื้นฟูวัดคอนเซ็ปชัญ ซึ่งเคยเป็นวัดพระสังฆราชมาก่อน
ชีวิตพระสังฆราช
จนกระทั่งวันที่ 21 เมษายน ค.ศ.1965 ระฆังทุกใบบนหอก็ได้ส่งเสียงกังวาน ประกาศอย่างเปิดเผยว่า สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโล ที่ 6 ทรงพอพระทัยแต่งตั้งคุณพ่ออาแลง วังกาแวร์ เป็นพระสังฆราช ประมุของค์แรกของสังฆมณฑลนครราชสีมาซึ่งแยกออกจาก สังฆมณฑลอุบลราชธานี ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา, จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดชัยภูมิ
อภิเษกพระสังฆราช
บ่ายวันพฤหัสที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ.1965 ได้มีพิธีอภิเษกพระสังฆราชอาแลง วังกาแวร์ ที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ ผู้อภิเษก คือ พระสังฆราชบาเยต์ แห่งมิสซังอุบลฯ, ผู้ช่วยอภิเษก คือ พระสังฆราชลากอสต์ แห่งมิสซังเชียงใหม่ และพระสังฆราชยวง นิตโย แห่งกรุงเทพฯ
นับเป็นวันที่ชื่นชมยินดีใหญ่หลวงสำหรับเทียบสังฆมณฑลนครราชสีมา และคริสตศาสนิกชนชาวไทยทั่วไปพิธีอภิเษกดำเนินไปอย่างสง่า สมเกียรติ เตือนศรัทธา ท่ามกลางพระสมณทูต เปโตรนี และมอนสิเยอร์ โมเรนรี เลขานุการ พระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต แห่งราชบุรี, พระสังฆราชสงวน แห่งจันทบุรี, พระสังฆราชดูฮาร์ต แห่งอุดรฯ, อุปสังฆราช ศรีนวล สรีวรกุล แห่งท่าแร่ฯ (แทนพระสังฆราชเกี่ยน ซึ่งไปต่างประเทศ), พระสังฆราชอาร์โนด์, คุณพ่อเลอดือ อธิการสามเณาลัย ปีนัง, พระสงฆ์จากมิสซังต่างๆ ในประเทศไทย, ประเทศลาว, ประเทศมาเลเซีย รวมเกือบ 100 องค์ พระภิกษุสงฆ์, พ.อ ปิ่น มุทุกันต์ อธิบดีกรมการศาสนา คณะทูตานุทูตต่างประเทศ และประชาสัตบุรุษมาร่วมชุมนุมอย่างคับคั่ง ทั้งชั้นบนและชั้นล่างของพระวิหารอัสสัมชัญ ทุกคนต่างชื่นชมมาร่วมพิธีมโหฬาร เป็นขวัญตา มาภาวนาเพื่อพระสังฆราชใหม่จะได้รับพระพรอันดุอม
บ่ายวันนั้น บรรยากาศค่อนข้างครึ้ม ช่วยลดความร้อนให้เบาบางลง...ตั้งแต่ เวลา 14.00 น. เศษ สัตบุรุษต่างทยอยกันเข้าจองที่นั่ง มาถึงเวลา 16.30 น. เริ่มขบวนแห่ ผู้รับอภิเษกเข้าวัด นักร้องของคณะวัดคอนเซ็ปชัญ ขับเพลงมาร์ชสันตะปาปาต้อนรับ ช่างภาพ ทีวี ทั้งช่อง 4 ช่อง 7 ตากล้องอาชีพและสมัครเล่น พยายามจับภาพอย่างสุดฝีมือ คุณพ่อเศียร โชติพงศ์ ทำหน้าที่โฆษก
เมื่อเข้าประจำที่ในวัดเรียบร้อยแล้ว พิธีอภิเษกก็เริ่มขึ้น คุณพ่อศรีนวล ศรีวรกุล อ่านสารตราตั้งของสมเด็จพระสันตะปาปา แล้วผู้อภิเษกสอบถามความตั้งใจ และความเชื่อตามธรรมเนียมแต่โบราณ
ครั้นปฏิญาณเสร็จแล้วผู้รับอภิเษกแต่งตัวถวายมิสซาแบบพระสังฆราช เริ่มถวายมิสซาจนถึงบท “อัลเลลูยา” เนื่องจากวันนี้ตรงกับฉลองนักบุญมารีอา มักดาเลนา มิสซาที่ขับร้อง จึงเป็นไปตามวันฉลอง
พิธีอภิเษกตอนที่ 2 เริ่มโดยผู้รับเลือกหมอบลงที่เชิงพระแท่น นักร้อง ขับบท “เร้าวิงวอน นักบุญทั้งหลาย” ทุกคน คุกเข่า จบบทแล้ว ลุกขึ้น ผู้อภิเษกเอาหนังสือพระวรสารเปิดออก วางบนศีรษะและบ่าของผู้รับเลือก แล้วพระสังฆราชทั้งสามปกมือเหนือศีรษะ เพื่ออัญเชิญพระจิตเจ้าเข้าสถิตในวิญญาณพระสังฆราชใหม่
ครั้นแล้ว ผู้อภิเษกพันศีรษะผู้รับเลือก ร้องนำบท “เวนี เกรอาดอร์” พลางเอาน้ำมันคริสตมาเจิมที่ศีรษะ ที่มือ ต่อไปเสกคทา มามอบให้ แล้วเสกแหวน สอดใส่ในนิ้วมือขวา เอาพระวรสารออกจากบ่า ยื่นแก่พระสังฆราชใหม่ ที่สุดผู้อภิเษกสั้งสาม จุมพิตพระสังฆราชใหม่ แล้วถวายมิสซาต่อจนถึงภาคถวาย
ผู้รับเลือกถวายเทียน 2 เล่ม ขนมปัง 2 ก้อน เหล้าองุ่นและน้ำอย่างละถัง แก่ผู้อภิเษก แล้วผู้อภิเษกทั้งสามกับพระสังฆราชใหม่ขึ้นพระแท่น ร่วมถวายมิสซาต่อไป
ปลายมิสซา ผู้อภิเษกมาลาสูง และถุงมือ มาสวมให้ แล้วขับร้องบท “เดเดอุม” อย่างสง่า ระหว่างนั้น พระสังฆราชใหม่ดำเนินไปท่ามกลางสัตบุรุษ อวยพระแก่ทุกคน กลับมายังพระแท่นแล้วผู้รับอภิเษกถือคทา อวยพรอย่างสง่า แบบพระสังฆราช อีกครั้งหนึ่ง แล้วถวายพระพร ผู้อภิเษก ให้อายุยืนยาว (ฑีฆายุ) 3 ครั้ง ขณะนั้นเป็นเวลา 17.25 น. นับเป็นเสร็จพิธี
ออกจากอาสนวิหารแล้ว มีการถ่ายภาพหมู่เป็นที่ระลึก คณะมิสซังต่างประเทศฯ เป็นเจ้าภาพจัดเลี้ยงรับรองที่โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ และเลี้ยงอาหารค่ำ พระสงฆ์ นักบวช ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ โอกาสนี้พระสมณทูต และบรรดาพระสังฆราช กล่าวสุนทรพจน์แสดงความยินดี อวยชัย ให้พร...พระสังฆราชใหม่กล่าวตอบขอบคุณ
นโยบายการปกครองอภิบาลและโครงการต่างๆ ด้านงานแพร่ธรรมและคำสอน
จุดประสงค์หลักและอันดับแรกก็คือการสอนคำสอนเด็กและผู้ใหญ่ ท่านได้ส่งสัตบุรุษหลายคน (เป็นชาวบ้าน ชาวไร่ ชาวนา คนธรรมดา) ไปรับการอบรมคำสอน ไปที่สังฆมฑลอุบลฯ บ่อยครั้ง เพื่อจะได้ส่งเขาไปเป็นผู้แพร่ธรรมประจำสังฆมณฑลต่อไป (นโยบายนี้ท่านถือตามแนวความคิดของพระคาร์ดินัล การด์แยง แห่งเบลเบี่ยม) ได้ติดต่อกับคณะสงฆ์ธรรมทูต จากประเทศฟิลิปปินส์ มาร่วมงานของสังฆมณฑล
ด้านอภิบาลและการบริการศีลศักดิ์สิทธิ์
ส่งเสริมการอบรมผู้หลักผู้ใหญ่ในหมู่บ้านให้รู้จักบทบาทของตนเองในสังคมอย่างสอดคล้องกับคำสอนด้านสังคม ของพระศาสนจักร (ได้ไปสัมมนาเรื่องนี้กับทางสังฆมณฑลอุบลฯ) รวมถึงได้ริเริ่มจัดตั้งสภาอภิบาลระดับสังฆมณฑลและสภาวัดเป็นครั้งแรก ได้เปิดโรงสวดอีกหลายแห่ง ในที่ที่มีคนสนใจ ในเขตทั้ง 3 จังหวัด ของสังฆมณฑล
ด้านพระศาสนจักร
ในปี ค.ศ.1965 ท่านได้ไปร่วม “สังคายนาวาติกัน ที่ 2” และได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นต่อที่ประชุม ซึ่งสภาสังคายนาได้เห็นดีและเป็นที่ยอมรับ
ด้านส่งเสริมกระแสเรียก
ได้สร้างบ้านเณร สำหรับเณรเล็กของสังฆมณฑลฯ
• ด้านงานพัฒนาส่งเสริมอาชีพและสังคมสงเคราะห์ ส่งเสริมกิจการเครดิตยูเนียน
• จ้างผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศมาให้ความรู้ และสาธิตวิธีการทางด้านการเกษตร เจาะบ่อน้ำบาดาลเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ได้อนุมัติจัดตั้งโรงพยาบาลเซนต์เมรี่ ให้เป็นสถานที่รับการรักษาประชาชนโดยทั่วไป
• ได้เสนอให้คณะภารดาแห่งเซนต์คาเบรียล มาดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมา
• ได้เสนอขอคณะโอเบลตแห่งพระนางมารีอาผู้นิรมล มาดำเนินงานสังคมสงเคราะห์
• ในปี ค.ศ.1976 ท่านได้มอบบ้านเณรเล็กของสังฆมณฑลนครราชสีมาให้แก่สภาพระสังฆราชแห่งประเทศไทย เพื่อใช้เป็นสถานที่อบรมสามเณรที่กำลังจะเตรียมความพร้อมก่อนเข้าบ้านเณรใหญ่ หรือที่เราเรียกกันว่าบ้านเณรกลาง โดยมีชื่อเรียกขานโดยทั่วไปว่า “สามเณราลัยพระวิสุทธิวงศ์”
• ด้านสวัสดิการสงฆ์
ในด้านการรักษาสุขภาพ ท่านเป็นพระสังฆราชองค์แรก ที่ได้จัดให้พระสงฆ์มี “ประกันสุขภาพ”
• ด้านสื่อมวลชน
ในด้านสื่อมวลชนคาทอลิก ท่านได้ก่อตั้งและได้เป็นประธานองค์กรสื่อมวลชนคาทอลิกแห่งประเทศไทย มาตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ.1967 จนกระทั่งองค์กรสื่อมวลชนคาทอลิกของเรา เป็นที่รับรองให้เข้าเป็นสมาชิก ขององค์กรสื่อมวลชนนานาชาติ ในงานนี้ท่านมีผลงานประสบผลสำเร็จมากมาย เช่น การจัดหารถเดินสายฉายภาพยนตร์ เกี่ยวกับคำสอน ประวัติพระเยซูเจ้า การจัดตั้งห้องโสตฯ ไว้ที่สำนักพระสังฆราช จัดรายการทางวิทยุ เตรียมสไลด์ไว้ที่สำนักพระสังฆราช จัดรายการทางวิทยุโทรทัศน์ เตรียมสไลด์ทางการศึกษาสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ และส่งเสริมการพิมพ์คาทอลิก
ลาจากตำแหน่งและสานงานต่อ
วันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ.1977 พระสังฆราชอาแลง วังกาแวร์ ขอลาออกจากตำแหน่งประมุขของสังฆมณฑลนครราชสีมา เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองช่วงนั้น และไปประจำที่วัดแก้งคร้อ ดูแลวัดหนองบัวแดง, หนองกุง และหนองหญ้าปล้อง เลือดนักบุกเบิกไม่เคยจืดจางไปจากตัวท่านเลย เพราะที่หนองบัวแดง ท่านได้ซื้อที่ดินและสร้างบ้านพัก โดยที่ตัวท่านไม่มีโอกาสได้อยู่ ท่านยังคงทำหน้าที่สอนคำสอนและสร้างวัดที่หนองหญ้าปล้อง หนองกุง (หลังเก่า) และปฏิรูปที่ดินที่แก้งคร้อเตรียมสร้างวัดใหม่อีก
คุณธรรมดีเด่นที่ปรากฏ
ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว มีความมั่นใจในตัวเองสูง รักการต่อสู้เพื่อเป็นธรรม เช่นในกรณีที่ถูกพวกนาซีบังคับ หรือพวกจีนคอมมิวนิสต์คุมขัง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องต่อสู้ทางคดี กรณีปัญหาหมอเถื่อน ที่โรงพยาบาลเซนต์เมรี่
ความร้อนรน ท่านมีความรักต่อการแพร่ธรรม และการสอนคำสอนเป็นพิเศษ จะเห็นว่าตลอดชีวิตการเป็นธรรมทูตของท่าน ได้ให้เรื่องนี้เป็นเรื่องหลักและเรื่องแรกเสมอ ไม่ว่าตอนเป็นพระสงฆ์ เป็นพระสังฆราช หรือเมื่อลาออกจากตำแหน่งแล้ว ท่านก็ยังขยันขันแข็งในหน้าที่นี้อยู่เสมอ
ความอดทนพากเพียร มีหลายตอนของชีวิต ที่เห็นได้ชัดว่าท่านมีความทรหด อดทนต่อการถูกเบียดเบียนรังแก ถูกทรมานยืนหยัดพากเพียร ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมจนถึงที่สุด นอกนั้นท่านยังอดทนต่อโรคภัยไข้เจ็บในบั้นปลายของชีวิตอย่างมาก
ความรักต่อคนตกทุกข์ได้ยาก ท่านจะมีความเมตตาสงสารและพร้อมที่จะเสียสละ และช่วยเหลือคนยาก คนจน ตลอดจนคนเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ว่าด้วยกำลังกายกำลังทรัพย์ เช่น ให้ทุนการศึกษา ส่งคนป่วยไปโรงพยาบาลด้วยตัวท่านเอง
ความสุภาพถ่อมตน ในชีวิตของท่านจะเห็นว่า ท่านเป็นกันเอง ไม่ถือตัว คบกับคน ทุกชั้นทุกระดับ ไม่ว่าผู้ใหญ่ ผู้น้อย คนจน คนรวย มีอัธยาศัยไมตรี ท่านมักจะทักทายคนอื่นก่อนเสมอ เมื่อท่านลาออกจากตำแหน่งแล้ว ท่านได้รัก และเลือกที่จะอยู่ตามชนบท ในหมู่บ้านเล็กๆ ชาวบ้านส่วนใหญ่ยากจน ชาวไร่ ชาวนา
โรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนท่าน
ปี ค.ศ.1982 สุขภาพของพระสังฆราชอาแลง วังกาแวร์ เริ่มทรุดโทรม มีอาการเบื่ออาหาร และปวดท้อง ทำให้ต้องกลับไปรักษาตัวที่ประเทศฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1983
6 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1984 พระสังฆราชอาแลง วังกาแวร์ เดินทางกลับจากประเทศฝรั่งเศส และขอไปประจำอยู่ที่วัดแก้งคร้อ
ปี ค.ศ.1986 สุขภาพของท่านทรุดลงอีกครั้ง ทำงานไม่ไหว นอนไม่หลับ ซึมเศร้า ท่านจึงมาพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเซนต์เมรี่ ในช่วงนี้ท่านใช้เวลาว่างไปกับการแปลหนังสือชุด “สี่แผ่นดิน” และ “ลูกอีสาน” เป็นภาษาฝรั่งเศส
4 มิถุนายน ค.ศ.1990 หลานชายของท่านเดินทางมารับท่านกลับไปพักผ่อน และรักษาตัวที่ประเทศฝรั่งเศสอีก
ปี ค.ศ.1991 ท่านมีสุขภาพดีขึ้น จึงเดินทางกลับมาเยี่ยมประเทศไทย กลับมาเยี่ยมสังฆมณฑลนครราชสีมา แต่ทว่าการเยี่ยมของท่านครั้งนี้ เป็นการเยี่ยมครั้งสุดท้าย ของชีวิต มิสชันนารีในเมืองไทย ในชีวิตของท่าน
เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1988 พระสังฆราชอาแลง วังกาแวร์ ได้เขียนพินัยกรรมฉบับหนึ่งที่เพชรบูรณ์ มีใจความตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะถูกฝังไว้ในสังฆมณฑลนครราชสีมา” ซึ่งความปรารถนาเช่นนี้ล้วนแต่เป็นความปรารถนาของมิชชันนารีหลายๆ ท่าน ที่ต้องการตายในดินแดนที่ตนอุทิศให้ ดังที่เราเห็นหลุมศพของมิสชันนารีหลายท่านในป่าศักดิ์สิทธิ์
ช่วงสุดท้ายของชีวิต
ช่วงสามปีสุดท้ายของชีวิต พระสังฆราชอาแลง วังกาแวร์ กลายเป็นอัมพาตไปครึ่งซีก โดยไม่ปริปากบ่นเลย ต้องพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านพักพระสงฆ์ชราที่ลอรีส มาร์ซาย ประเทศฝรั่งเศส ท่านปรารถนาและตั้งใจว่าจะกลับมารับใช้ในสังฆมณฑลนครราชสีมาอีก ได้ทราบจากคุณพ่อมังซุย ซึ่งเคยเป็นมิสชันนารีที่เมืองไทยมาก่อน “ท่านเศร้าที่สุด ที่รู้ว่าจะกลับมาเมืองไทยไม่ได้แล้ว” ช่วงเวลาต่างๆ ที่ท่านพักรักษาตัวอยู่ต่างประเทศนั้น เราได้ติดตามข่าวคราวท่านเสมอๆ ได้ทราบว่าอาการของท่าน มีแต่ทรงกับทรุด และในวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ.1993 คุณพ่อเตรบาออล เจ้าคณะแขวงพระสงฆ์มิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส ที่เมืองไทย ได้แจ้งแก่พระสังฆราช พเยาว์ ว่า “พระสังฆราชอาแลง วังกาแวร์ ป่วยหนัก ขอคำภาวนาด้วย”
วันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ.1993 ได้รับแจ้งอีกครั้งว่า พระสังฆราชอาแลง วังกาแวร์ ได้มอบชีวิตคืนแด่พระเป็นเจ้าอย่างสงบในศีลและพระพรของพระแล้ว (ตามเวลาในประเทศฝรั่งเศส ประมาณ 3 ทุ่ม) ในฐานะ “ผู้รับใช้” ที่ดีและซื่อสัตย์จนวาระสุดท้าย นอกจากนั้นยังได้ทราบจากคุณพ่อจิตตาธิการประจำบ้านพักพระสงฆ์ชราที่ลอรีส มาร์ซาย ว่า “ก่อนสิ้นใจนั้น ท่านรู้สึกตัวดีทุกอย่าง และพอสิ้นลมสุดท้ายด้วยความสงบ ก็ได้พบว่า ใบหน้าของท่านกลับเบิกบาน เหมือนได้เห็นพระพักตร์อขงพระเยซูเจ้า”
ชีวิตของ พระสังฆราชอาแลง วังกาแวร์ ผ่านเวลาอายุร่วมถึง 72 ปี ร่างกายนั้นชราและมรณะได้ แต่ทว่า คุณความดี ที่ทำไว้นั้นช่างงดงามแท้ ขอพระผู้เป็นเจ้า โปรดปูนบำเหน็จรางวัลสนองความดี ที่ท่านได้ทำงานมาเพื่อพระองค์ และเพื่อนมนุษย์ ในฐานะผู้รับใช้ที่สัตย์ซื่อของพระองค์