-
Category: ตารางเทียบสมัยการปกครองสังฆมณฑลนครราชสีมา
-
Published on Saturday, 10 October 2015 03:28
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 3991
ชีวิตในวัยเด็ก
พระสังฆราช ยออากิม พเยาว์ มณีทรัพย์ เกิดวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ.1929 ที่อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี เป็นสัตบุรุษอาสนวิหารพระนางมารีอาปฎิสนธินิรมล จันทบุรี จากตระกูลที่ ปู่ ย่า ตา ยาย และพ่อแม่ล้วนเป็นคริสตัง เนื่องจากเป็นคริสตชนเก่าแก่ จึงมีขนบธรรมเนียมประเพณีของตนเอง ท่านเป็นบุตรของนายปีโอ ปีโอ และนางมารีอา มักดาเลนา หยด มณีทรัพย์ซึ่งต้องเลี้ยงดูบุตรธิดาถึง 11 คน เป็นชาย 6 คน และเป็นหญิง 5 คน ท่านรับศีลล้างบาปเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ.1929
ตั้งแต่จำความได้ ชอบเล่นทำมิสซาอยู่คนเดียวหน้าแท่นพระที่บ้าน ในขณะที่พี่ชายและน้องชายไม่มีใครเล่นด้วยเลย คุณแม่เป็นผู้มีบทบาทและอิทธิพลสำหรับท่านเป็นอย่างมาก และเป็นผู้ปลูกฝังความเชื่อให้กับลูกๆ ตั้งแต่เล็กได้ยินเสียงระฆังจากวัดทุกวันเวลาเช้าเที่ยงเย็น ใกล้เวลามิสซาเช้ามืด ถ้ายังไม่ลุกขึ้นจากเตียง ก็ต้องลุกขึ้น เมื่อได้ยินเสียงเดินขึ้นบันไดของแม่
ขืนชักช้าเป็นโดนหยิก แม่ไม่ปล่อยให้ไปเล่นไกลหูไกลตา ท่านเป็นเด็กที่เรียบร้อย, รักสงบ, ไม่ชอบความก้าวร้าวระรานใครค่อนข้างเป็นคนเก็บตัว และขี้อาย
การศึกษาและกระแสเรียก
ท่านเข้าศึกษาชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนมารียาลัย จันทบุรี (โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ ในปัจจุบัน) และเนื่องจากบิดาของท่านเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ จึงส่งลูกชายทั้ง 2 เข้าเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ เวลานั้นท่านอายุ 12 ขวบ เป็นครั้งแรกที่จากครอบครัว มาเรียนแผนกมัธยมศึกษา ระหว่างปี ค.ศ.1941-1947 ท่านพักอยู่กับญาติผู้ใหญ่ซึ่งมีบ้านอยู่หน้าวัดกุฎีจีน ท่านจึงเป็นสัตบุรุษวัดนี้อยู่ 3-4 ปี ในระหว่างนั้น เกิดสงครามอินโดจีน กรุงเทพฯ ถูกทิ้งระเบิด ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย ท่านจึงย้ายกลับมาเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-5 ที่โรงเรียนเบญจมาราชูทิศ จันทบุรี
และเมื่อศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 อายุราว 15 - 16 ปี พระจิตเจ้าได้นำทางท่านไปสู่หนทางแห่งกระแสเรียกแห่งการเป็นพระสงฆ์ โดยท่านเกิดความคิดกับตัวเองว่า “ตูข้านี้ประสบความสำเร็จในชีวิต มีทรัพย์สมบัติเงินทอง มีลูกมีเมียดี แต่วิญญาณไม่รอด จะมีประโยชน์อะไรหนอ?” “เจ้าแน่ใจได้อย่างไรว่าได้ผู้หญิงดีเป็นภรรยา แน่ใจหรือว่าลูกจะไม่เป็นโจรหรือพิกลพิการ จะเลือกอาชีพอะไรดีจึงจะปลอดภัยแน่ๆ จะไปเป็นเณรดีกว่าไหม แต่หน้าอย่างเจ้าจะไปรอดเหรอ?”
เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม ท่านจึงกลับไปศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ ให้จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แต่ก่อนไป ท่านก็ไปลาคุณพ่อบุญชู ระงับพิษ คุณพ่อเจ้าอาวาสของท่านในขณะนั้น คุณพ่อถามท่านว่า “จะไปเป็นเณรไหม?” ท่านถึงกับอึ้งไปสักพัก คิดในใจว่า “ไม่สำเร็จแน่นอน” แต่ท่านก็ตอบไปว่า “ไปครับ”
เมื่ออายุ 16-17 ปี หนุ่มแน่นเต็มตัว พร้อมที่จะไปทางร้ายก็ได้ เดชะบุญ ที่ไม่มีเพื่อนชนิดที่ทีอิทธิพลพอจะชักนำไปในทางชั่ว ยิ่งกว่านั้น บราเดอร์อัสสัมชัญสมัยนั้นกวดขันเรื่องการเรียนคำสอน ต้องขยันตื่นแต่เช้าไปเรียนคำสอนให้ทันก่อน 8.30น. วันหนึ่งในเทอมต้น ท่านได้ยินพระสุรเสียงของพระเจ้าเข้าอย่างจัง เมื่ออ่านพระวรสารตอนที่ว่า “ผู้ใดที่ได้สละบ้านเรือน พี่น้องชายหญิง บิดามารดา บุตร ไร่นา เพราะเห็นแก่เรา ก็จะได้รับการตอบแทนร้อยเท่า และจะได้รับชีวิตนิรันดร์เป็นมรดกด้วย” (มธ.19:29) ทันใดนั้นคำตอบกับคุณพ่อบุญชู ระงับพิษ ว่า “ไปครับ” ก็ลุกโพล่งขึ้นมา กลายเป็นคนไม่มีความสุขไปแล้ว เพราะเกิดการต่อสู้อย่างรุนแรงภายในตัวเอง ครุ่นคิดหนักแต่ผู้เดียว ไม่ปรึกษาบราเดอร์ผู้สอนคำสอนด้วยซ้ำ จนกระทั่งได้รับจดหมายจากแม่ จนป่านนี้ก็นึกไม่ออกว่าแม่รู้ใจผมได้อย่างไร
พอสอบไล่เสร็จและรู้ผลสอบก็เดินทางกลับจันทบุรีไปพบคุณพ่อเจ้าอาวาสยืนยันว่า “ผมจะไปเป็นเณรครับ” คิดไม่ถึงเหมือนกันว่าเมื่อเข้าไปอยู่บ้านเณรเล็ก ศรีราชา จะอยู่ได้นานถึง 5 ปี พฤติกรรมชีวิตของผมเปลี่ยนไปมาก ถือความบริสุทธิ์ได้ พยายามประพฤติตนเป็นคนสุภาพถ่อมตน นอบน้อมเชื่อฟังถือระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด เอาจริงเอาจังกับการเรียนภาษาละตินและไปสอนเรียน ทำงานหนักเบาไม่เลือก ถูกคุณพ่ออธิการดุต่อหน้าเณรทั้งห้องจนนอนร้องไห้ บ้านเณรเล็กศรีราชาฝึกผมมากทีเดียว
เย็นวันหนึ่ง คุณพ่ออธิการ (พระสังฆราชมีแชล อ่อน ประคองจิต) เรียกสามเณรยออากิม พเยาว์ มณีทรัพย์ และเพื่อนเณรรุ่นพี่ 2 คน ซึ่งเรียนเก่งมาก ให้กลับไปลาบิดามารดาที่บ้าน เพราะจะส่งไปศึกษาต่อที่สามเณราลัยปรอปากันดาฟีเด กรุงโรม ประเทศอิตาลี ตลอด 7 ปีเต็ม จนสำเร็จปริญญาโททางปรัชญาและเทวศาสตร์ ที่นั่นท่านได้พบกันคุณพ่ออธิการที่ดี มีคุณพ่อวิญญาณที่ดี การอบรมก็ไม่เคร่งครัดจนเกินไป เน้นหนักในเรื่องความรับผิดชอบตัวเอง และถือความรักเป็นใหญ่ และแม้ว่าท่านจะเป็นคนเรียนไม่เก่ง แต่ก็ไม่เคยสอบตก ไม่เคยถูกคาดโทษเรื่องความประพฤติ แต่สามเณรยออากิม พเยาว์ มณีทรัพย์ เองกลับหวาดกลัวอยู่เสมอว่าจะถูกพิจารณาว่าขาดคุณสมบัติที่เหมาะสม
แต่ที่สุด ท่านก็ได้รับศีลบรรพชาเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ค.ศ. 1958 ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี พร้อมกับเพื่อนๆ อีก 43 องค์ จาก 20 ชาติ หลังจากบวชแล้ว คุณพ่อยออากิม พเยาว์ มณีทรัพย์ ยังต้องอยู่ศึกษาต่อจนถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1959
แล้ว จึงกลับประเทศไทย
หน้าที่รับผิดชอบ
หลังจากกลับมาแล้ว คุณพ่อยออากิม พเยาว์ มณีทรัพย์ ถูกส่งไปทำงานในสังฆมณฑลจันทบุรี ดังนี้
ปี ค.ศ. 1959-1962 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดนักบุญฟิลิปและยากอบหัวไผ่
ปี ค.ศ. 1961-1965 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดเซนต์ปอล แปดริ้ว
ปี ค.ศ. 1965-1972 ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลสถานอบรมเยาวชนที่หัวไผ่
และเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสที่ วัดนักบุญฟิลิปและยากอบ หัวไผ่
ปี ค.ศ. 1972-1973 เดินทางไปศึกษาต่อเกี่ยวกับงานด้านคำสอน ที่สถาบัน “ลูแมนวีเต” กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยม
ปี ค.ศ. 1974-1975 กลับมาเป็นผู้อำนวยการศูนย์แพร่ธรรมสังฆมณฑลจันทบุรี และได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการ
ศูนย์คำสอนระดับชาติ 1 สมัย ด้วย
ปี ค.ศ. 1975-1977 ได้รับแต่งตั้งเป็นอุปสังฆราชของสังฆมณฑลจันทบุรี
พิธีอภิเษกเป็นพระสังฆราช
วันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ. 1977 สมเด็จพระสันตะปาปาปอล ที่ 6 ได้ทรงประกาศแต่งตั้งท่านเป็นพระสังฆราชแห่งสังฆมณฑลนครราชสีมา สืบแทนพระสังฆราช อาแลง วังกาแวร์
ได้รับการอภิเษกในวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 1977 เวลา 10.00 น. ณ หอประชุมอาสนวิหาร แม่พระประจักษ์ที่เมืองลูร์ด นครราชสีมา โดยมีพระสังฆราชลอเรนซ์ เทียนชัย สมานจิต เป็นผู้อภิเษก ร่วมด้วยพระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์, พระสังฆราชอาแลง วังกาแวร์, ท่ามกลางพระสังฆราช 16 องค์, พระสงฆ์กว่าร้อยองค์, พระภิกษุ 5 รูป, นักบวชชาย-หญิง และสัตบุรุษกว่า 500 คน
โอกาส 25 ปีในหน้าที่พระสังฆราช และ 44 ปีในชีวิตพระสงฆ์
คิดถึงคำของพระเยซูเจ้าที่บอกว่า “ผู้ใดที่จับคันไถแล้วเหลียวดูข้างหลัง ผู้นั้นก็ไม่เหมาะ สมที่จะเป็นศิษย์ของพระองค์” พระเยซูเจ้าพูดคำนี้ออกมาหมายความว่าทำงานแล้วต้องลุยไปข้างหน้า เดินหน้า ไม่ห่วงข้างหลัง ซึ่งเป็นการบั่นทอนกำลัง พะว้าพะวง ถ้าเหลียวหลังย้อนอดีต เพื่อชื่นชมผลงานของตนก็เท่ากับเป็นการอวดตัว โอ้อวดว่าเราทำงานอะไรมาบ้าง แต่ก็มาคิดคำนึงว่าเราไม่ได้เป็นผู้ทำงานเองโดยตรง เราเป็นแต่เพียงเครื่องมือและผู้รับใช้ของพระเจ้า ผลงานไม่ใช่ของเรา และเป็นผลงานร่วมกับผู้อื่น กับพระสงฆ์สัตบุรุษ และมองดูอดีตเพื่อหาบทเรียนสำหรับตนเองและส่วนรวมก็น่าจะมีประโยชน์บ้าง
สำหรับพ่อในชีวิตสงฆ์ 44 ปีถามตัวเองอยู่บ่อยๆ แปลกใจว่ารอดมาได้อย่างไร ไม่ออกไป เพราะหลายคนอยู่ได้ไม่นานก็ไป ที่อยู่รอดมาได้ก็เพราะมีการตั้งสติใหม่อยู่ตลอดเวลา กลับใจบ่อยเมื่อทำอะไรผิดพลาด และอาศัยเบื้องบนช่วยเหลือเราให้รอดมาได้ ตอนบวชใหม่ๆ ทุกคนเต็มด้วยอุดมการณ์และหลักการเยอะแยะ แต่เมื่อเจอปัญหาในชีวิตจริง ในสภาพแวดล้อมและบุคคล แวดล้อม เจอความเป็นจริง “มนุษย์” ของตัวเราเองและคนรอบข้างและความ “จำกัด” ของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน อารมณ์ ความเข้าใจผิด จึงรู้รสชาติของชีวิต ว่าชีวิตต้องประสบปัญหา ต้องพบกับความยุ่งยาก ล้มเหลว ความผิดพลาด ต้องเจอกับความไม่สมหวังและอุปสรรค ต้องต่อสู้ ต้องยอมรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและยอมรับผู้อื่น ต้องทน ต้องล้มบ้าง เพื่อจะลุกขึ้นมาสู้ต่อไปเหมือนนักฟุตบอลโลก
ตำแหน่งพระสังฆราชได้รับเกียรติยศ เป็นบุคคลที่ 1 ในสังฆมณฑล แต่ตำแหน่งมาพร้อมกับหน้าที่และภาระ ซึ่งบางทีก็ทำไม่ได้ดี ทำไม่ได้ ขาดตกบกพร่อง บางทีภาระหน้าที่ก็หนักอึ้งจนแทบจะทนไม่ไหว อยากจะสลัดออก อยากจะหนีให้พ้นภาระ แต่ความรักของพระเจ้าห้ามไว้และสั่งให้ทำต่อไป คิดอีกแง่หนึ่งก็มีกำลังใจอายุปูนนี้แล้ว
งานหลักของสังฆมณฑล วัด โรงพยาบาล และโรงเรียน
ช่วงระยะเวลา 25 ปี ที่ผ่านมาวัดเพิ่มขึ้น 13 วัด รวมทั้งหมดเป็น 25 วัดในปัจจุบัน เหลือ 2 วัดที่รอให้สร้างใหม่ เมื่อ 25 ปีก่อนมีโรงเรียนของสังฆมณฑลเพียง 5 แห่ง มีนักเรียนรวมกันทั้งสิ้น 5,519 คน ปีนี้มีโรงเรียนเพิ่มขึ้นอีก 6 แห่ง รวมเป็น 11 แห่ง มีนักเรียนรวมกัน 14,766 คน เป็นนักเรียนคาทอลิกเพียง 483 คน โรงเรียนส่วนใหญ่เริ่มมีรายได้พอจะเลี้ยงวัดของตัวเองได้ มิสซังช่วยตัวเองได้ ส่วนโรงเยาบาลเซนต์เมรี่ก็ได้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตด้านหนี้สินช่วงสร้างใหม่ๆ เป็นหนี้สินเขาอยู่ นอนนี้ก็ถูกฟ้องถูกโกงแทบจะล้มละลาย แต่ก็ผ่านไปได้แล้ว ไว้ใจว่าพระจะช่วยเราต่อๆ ไป
การเติบโตของคณะธิดามารีย์
เป็นคณะที่พ่อริเริ่มก่อตั้ง ไม่มีอะไรจะโอ้อวดนอกจากความอ่อนแอ บางคนเขามองเป็นความไม่ดี ขาดคุณภาพ ความไม่มั่นคงในอนาคต คณะธิดาฯ เหมือนเด็กเล็กๆ ที่กำลังจะโต แต่กว่าจะโตจนพึ่งตนเองได้ หรือให้คนอื่นพึ่งได้ก็ต้องมีความเพียงรอดทน ให้เวลาเขาและค่อยๆ เลี้ยงดู “ด้วยความรัก” น้อยคนมากที่ได้ยินเสียงของพระเยซูเจ้าแล้วจะเสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง แถมยังแบกกางเขนของตนติดตามพระเยซูเจ้าไปเป็นศิษย์ของพระองค์ มีเด็กหญิงและนางสาวจำนวนร้อย นับตั้งแต่ก่อตั้งคณะขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1988 เพียง 14 ปีมานี้เอง พวกเขาเข้ามาเรียน มารับการอบรมสั่งสอน มาฝึกฝนการดำเนินชีวิตเป็นคริสตที่ดี เพื่อจะเป็นคนเสียสละ เสียสละการดำเนินชีวิตตามคน สังคมปัจจุบัน พยายามเป็นคนรู้จัก เคารพเชื่อฟังและประการสำคัญ คือ ถือความบริสุทธิ์ พรหมจรรย์ ตามวิสัยของมนุษย์แล้วไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่ “ใครๆ ก็ทำได้” เลย หลายคนเข้ามาแล้วจึงออกไป ขณะนี้เหลือเด็กที่กำลังไปโรงเรียน 9 คน ที่จบชั้น ม.6 แล้ว 1 คน เป็นเณรี 1 คน เป็นนวกเณรี (โนวิส) 1 คน และปฏิญาณตนถือศีลบนนักบวชแล้ว 3 คน
เขายังไม่ใช่คณะนักบวชหญิงเหมือนคณะนักพรตทั้งหลาย เขาเป็นแต่เพียงหมู่คณะของผู้ถือศีลบน นักบวชที่เจริญชีวิต ในหมู่คณะรักกันและกันฉันพี่น้อง เพื่อจุดประสงค์ในการแพร่ธรรม หรือทำงานช่วยวัดและสังฆมณฑลด้วยวิธีหนึ่งตามแต่พระสังฆราชจะเห็นสมควร
ส่วนซิสเตอร์ที่ทำงานในสังฆมณฑลตอนนี้ก็มีคณะเซนต์ปอลเดอชาร์ตร คณะรักกางเขน แห่งอุบลฯ รักกางเขนแห่งจันทบุรี คณะธิดาพระราชินีมาเรียผู้นิรมล (พระแม่มารีย์) คณะพระกุมารเยซู และคณะธิดาเมตตาธรรม แต่ในอนาคตก็อยากเห็นคณะซิสเตอร์ของสังฆมณฑลเอง
บ้านเณรเล็กของเราไม่มี เคยมี แต่เณรน้อยไปหน่อย เลยต้องปิดไปแล้ว ฝากเณรของเราไว้ที่อุบลฯ บ้านเณรเล็กเดี๋ยวนี้ก็เป็นบ้านเณรกลางไป
ในการปกครองสังฆมณฑลยังใช้แบบพ่อปกครองลูก
เมื่อกล่าวถึงรูปแบบ แนวทาง หรือหลักการในการปกครองสังฆมณฑลของพระสังฆราช พเยาว์ มณีทรัพย์ จะเห็นว่าเป็นการใช้หลักการปกครองดูแลสังฆมณฑลตามหลักของ “พ่อปกครองลูก” ท่านกล่าวว่า “การปกครองสังฆมณฑลใช้หลักการบริหารแบบข้าราชการหรือแบบพ่อค้านักธุรกิจไม่ได้ ต้องใช้หลักการเดียวกันกับของพระเยซูเจ้าผู้เป็นนายชุมพาบาลซึ่งรักและเสียสละแม้กระทั่งชีวิตเพื่อแกะของตน แกะที่ว่านี้คือ ทั้งคนดีและคนเลว คนอยู่กับวัด คนอยู่ห่างวัดหรือทิ้งวัด มีทั้งพระสงฆ์ นักบวช ฆราวาสและคนต่างศาสนา ถ้าเป็นระบบราชการ คนไม่ดีถอดถอนออก คนมีปัญหาอย่าเอาไว้ แต่พระเยซูเจ้ามาเพื่อรวบรวมคนบาป ให้เขากลับใจ ให้โอกาส แกะตัวไหนป่วยก็ต้องรักษา ตัวไหนหลงทางก็ไปตาม เช่น คนทิ้งวัด คนที่แต่งงานไม่เรียบร้อยก็ไปตาม”
“คนเราไม่มีใครสมบูรณ์ คิดดูสิ พระสงฆ์ ตอนเป็นเณรอบรมตั้งหลายปี แล้วเป็นพระสงฆ์ได้ดีทุกคนไหม ได้ดีตลอดไหม ที่ไม่ได้ความเลยก็มี ก็เห็นๆ กันอยู่ ไม่ใช่พระสงฆ์ทุกองค์จะใจดีมีเมตตา ดุร้ายก็มี คนเรามันก็อยู่ที่ใจว่าเราจะทำตัวอย่างไร ทั้งพระสงฆ์ นักบวช ฆราวาส ทุกคนอยากเอาอย่าง พระเยซูเจ้า แต่ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนจะทำได้ขนาดไหน พระสงฆ์บางองค์ทำดีอย่าง แต่ก็ยังขาดอีกอย่าง เป็นนักบริหารทำงานมากมาย แต่ก็เฮี้ยบบ้าง ดุบ้าง ไม่ต้อนรับชาวบ้านบ้าง ก็มีดีบ้างไม่ดีบ้าง แต่พระเยซูก็มาเพื่อให้คนบาปอยู่กับพรองค์ทั้งสิ้น แล้วทรงอบรมสั่งสอน ให้กำลังใจ ให้มีโอกาสกลับใจ”
ท่านแบ่งเวลาให้กับการภาวนาและพักผ่อน
ตามปกติท่านทำงานวันจันทร์ถึงวันเสาร์ อยู่สำนักงานมิสซังฯ ก่อนบ่ายดูแลและอบรมคณะธิดามารีย์ เช้า เย็น ค่ำ ก็เข้าวัดสวดทำวัตรรำพึง มิสซา เฝ้าศีล ตอนเย็นออกกำลังกาย ประมาณ 45 นาที วิ่ง บางครั้งก็เดินยืดเส้นยืดสายพอให้ไม่มีโรคมีภัย กลางคืนอ่านหนังสือพิมพ์ ดูทีวี ถ้าไม่ไปฉลองวัดที่ไหนก็ออกเยี่ยมสัตบุรุษ ไปเที่ยวหย่อนใจบ้างตามโอกาส
ท่านได้ตั้งปณิธานว่า ถ้าเกษียณอายุแล้ว จะไม่กลับไปมิสซังจันท์แล้ว เมื่อเป็นพระสังฆราชแล้วก็จะไม่กลับบ้านเกิดอีกแล้ว เป็นคนของสังฆมณฑลนครราชสีมาไปแล้ว เราเป็นมิสชันนารี ก็จะตายในมิสซังที่ได้รับมอบหมาย ถ้าเกษียณแล้ว ก็แล้วแต่ความเมตตาปรานีของพระสังฆราชองค์ใหม่ ว่าจะให้อยู่ที่ไหน
ท่านอยากให้สังฆมณฑลหมดภาระหนี้สินเร็วๆ คือเราเป็นหนี้ตอนที่มีวิกฤติเศรษฐกิจ ที่ค่าเงินบาทตก แต่เราก่อสร้างโรงเรียนสองแห่งพร้อมกัน แต่แล้วก็ไม่เป็นไปตามเป้า ก็อยากจะให้หมดภาระตรงนี้ อยากให้พระสงฆ์รับผิดชอบตำแหน่งงานสำคัญๆ ให้ได้ และมีความรักสามัคคีกัน เพราะเราเป็นสังฆมณฑลใหม่ด้วย ก็อาศัยพระสงฆ์จากจันทบุรีเยอะ พระสงฆ์ต่างประเทศ และจากฟิลิปปินส์ แต่ตอนนี้ เราก็มีพระสงฆ์ของสังฆมณฑล 11 องค์แล้ว อยากให้คณะธิดามารีย์มีสมาชิกอยู่ยืด และออกปฏิบัติหน้าที่ช่วยงานของสังฆมณฑลได้
ตราสัญลักษณ์ประจำตำแหน่ง
• นักบุญเปาโลสอนทิโมธีผู้เป็นสังฆราชให้ใฝ่หาความชอบธรรม ความครบครัน
ความรักและสันติสุข
• รูปหัวใจและกางเขน หมายถึง ความรัก ความรักเป็นพระบัญญัติ
แห่งอาณาจักรของพระคริสตเจ้า
• กิ่งมะกอก หมายถึง สันติสุข ซึ่งเป็นพระพรที่พระเยซูเจ้าประทานแก่บรรดาอัครธรรมทูต
เมื่อพระองค์ทรงกลับคืนชีพ
• เสมา เป็นชื่อพ้องกับชื่อของสังฆมณฑลนครราชสีมา
คติพจน์
ความรักและสันติสุข : Caritatem et Pacem
ช่วงสุดท้ายของชีวิต
ปลายปี ค.ศ. 2005 พระสังฆราชยออากิม พเยาว์ มณีทรัพย์ ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเซนต์เมรี่ จังหวัดนครราชสีมา แพทย์ตรวจพบเนื้อร้ายที่ตับ จากนั้น ท่านก็ได้รับการรักษาจากหลายๆ ทาง จนอาการของท่านดีขึ้นมาก ทุกคนคิดว่าท่านหายจากโรคร้ายแล้ว
แต่ที่สุด ท่านต้องกลับเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเซนต์เมรี่ ค.ศ.2005 พระสังฆราชยออากิม พเยาว์ มณีทรัพย์ ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเซนต์เมรี่ อีกครั้ง จนกระทั่งวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ.2007 เวลาประมาณ 07.25 น. พระเป็นเจ้าได้ทรงรับวิญญาณของพระสังฆราชยออากิม พเยาว์ มณีทรัพย์ กลับไปอยู่กับพระองค์ อายุ 78 ปี มรณภาพด้วยโรคมะเร็งในตับที่โรงพยาบาลเซนต์เมรี่ พิธีมิสซาปลงศพวันพฤหัสบดี 8 พฤศจิกายน ค.ศ.2007 เวลา 10.00 น. ที่อาสนวิหารแม่พระประจักษ์ที่เมืองลูร์ด