-
Category: ตารางเทียบสมัยการปกครองสังฆมณฑลอุดรธานี
-
Published on Saturday, 10 October 2015 03:27
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 3631
ชีวิตวัยเด็ก
พระสังฆราชคลาเรนซ์ เจมส์ ดูฮาร์ต เกิดเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ค.ศ. 1912 ที่นิวออร์ลีน มลรัฐหลุยเซียนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ครอบครัวดูฮาร์ต ได้มีความชื่นชมยินดีกับบุตรชายที่เกิดใหม่ ซึ่งเป็นเด็กแข็งแรง ครอบครัวได้ตั้งชื่อบุตรคนนี้ว่า “เจมส์ คลาเรนซ์” ชีวิตในวัยเด็กของเจมส์ คลาเรนซ์ เป็นเด็กที่แข็งแรง ท่านมีกระแสเรียกแห่งการเป็นพระสงฆ์ตั้งแต่เด็กๆ หนุ่มน้อยเจมส์ คลาเรนซ์ ได้บอกกับบิดามารดาของท่านว่าเขาต้องการเป็นพระสงฆ์ ท่านจึงได้สมัครเข้าเรียนที่สามเณราลัยเล็กเซนต์ยอแซฟ ของคณะพระมหาไถ่ เป็นเวลา 6 ปี
การเริ่มต้นชีวิตนักบวช
วันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ. 1932 สามเณรดูฮาร์ตได้ทำการปฏิญาณตนเป็นครั้งแรกในคณะพระมหาไถ่ ณ นวกสถาน ท่านได้ศึกษาต่อที่สามเณราลัยใหญ่ ที่โอคอนโนโมว้อก มลรัฐวิสคอนซิน เป็นเวลา 6 ปี จนกระทั่งวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 1937 บราเดอร์คลาเรนซ์ เจมส์ ดูฮาร์ต ได้รับศีลบรรพชาเป็นพระสงฆ์สมดังความปรารถนา
เวลานั้น คุณพ่อคลาเรนซ์ เจมส์ ดูฮาร์ต ได้แสดงออกให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าท่านเป็นผู้ที่มีพรสวรรค์ในการเทศน์ และปรารถนาที่จะเป็นมิชชันนารี แต่คุณพ่ออธิการกลับเห็นสมควรที่จะส่งท่านไปเรียนภาษาลาตินที่มหาวิทยาลัยคาทอลิก ที่วอชิงตัน ท่านได้ไปตามคำเรียกร้อง และได้รับปริญญาทางด้านภาษาลาติน หลังจากนั้นท่านได้กลับไปพบคุณพ่ออธิการ
ที่ประเทศสยาม (ประเทศไทยในขณะนั้น) ปี ค.ศ. 1936 แขวงเวียงจันทน์ และหลวงพระบาง ได้แยกตัวออกเป็นสังฆมณฑลต่างๆ ทำให้ดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงที่เหลืออยู่ต้องรวมกับ “มิสซังลาว” หรือ “มิสซังหนองแสง” ต่อมาในปี ค.ศ. 1941
พระสังฆราชโทมินแห่งมิสซังลาวได้เล็งเห็นว่า ข้าวที่จะเก็บเกี่ยวมีมาก แต่คนงานมีน้อย จึงได้เขียนจดหมายติดต่อคุณพ่อมหาอธิการ เจ้าคณะพระมหาไถ่ ที่กรุงโรม เพื่อขอพระสงฆ์ธรรมทูตมาช่วยงานแพร่ธรรมที่มิสซังลาว คุณพ่อมหาอธิการจึงได้พิจารณาบุคลากรในแขวงต่างๆ และเล็งเห็นว่าคณะพระมหาไถ่แขวงเซนต์หลุยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา มีสมาชิกเพียงพอที่จะรับงานนี้ได้ เพราะมีสมาชิกใหม่ๆ มากขึ้น และยังไม่มีการส่งธรรมทูตออกไปนอกประเทศเลย ดังนั้น คณะพระมหาไถ่แห่งแขวงเซนต์หลุยส์จึงตอบรับการเลือกให้มาเป็นธรรมทูตที่ประเทศสยาม
ดังนั้นคุณพ่อมหาอธิการเจ้าคณะพระมหาไถ่ จึงได้ให้พระสังฆราชโทมินติดต่อกับคุณพ่อโทมัส พามเมอร์ เจ้าคณะพระมหาไถ่ แห่งแขวงเซนต์หลุยส์ ซึ่งการติดต่อในครั้งนั้น คุณพ่อพามเมอร์ และคณะที่ปรึกษา ตัดสินใจรับงานของพระศาสนจักรชิ้นใหม่ และได้ส่งพระสงฆ์หนุ่ม 2 องค์ คือ คุณพ่อคลาเรนซ์ เจมส์ ดูฮาร์ต และคุณพ่อโรเยอร์ ก๊อตเบาท์ เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยคาทอลิคแห่งกรุงวอชิงตัน เพื่อเรียนวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นและเรียนเกี่ยวกับยา เพื่อเตรียมตัวก่อนที่จะเดินทางมายังประเทศไทย
พระสงฆ์วิญญาณรักษ์แห่งกองทัพอเมริกา
สงครามมหาเอเชียบูรพาและสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นยกพลขึ้นสู่แผ่นดินสยาม ประเทศสยามจึงต้องประกาศสงครามกับประเทศสหรัฐอเมริกาโดยปริยาย ทำให้การส่งธรรมทูตของคณะพระมหาไถ่ ของแขวงเซนต์หลุยส์นั้นจึงต้องหยุดชะงักไปอย่างไม่มีกำหนด คุณพ่อ คลาเรนซ์ เจมส์ ดูฮาร์ต จึงยังไม่ได้ถูกส่งตัวไปเป็นธรรมทูตที่ประเทศสยามในเวลาสงคราม ซึ่งสงครามระหว่างอเมริกาและญี่ปุ่น ต้องการพระสงฆ์ที่ดูแลวิญญาณทหารอเมริกัน คุณพ่อ ดูฮาร์ตได้ถือโอกาสนี้สมัครเป็นพระสงฆ์ดูแลวิญญาณของทหารเหล่านั้น และท่านได้รับอนุญาตสมตามที่หวังไว้ ดังนั้นในปี ค.ศ. 1942 คุณพ่อดูฮาร์ตได้เริ่มชีวิตการฝึกในกองทัพอย่างขยันขันแข็งเพื่องานดูแลของทหาร จากนั้นไม่นาน คุณพ่อก็สำเร็จการฝึกอบรมนี้ ได้ออกเดินทางโดยทางเรือพร้อมกับทับทหาร เพื่อเริ่มงานเผยแพร่ศาสนาที่เสี่ยงต่ออันตรายไม่น้อย คุณพ่อกินและนอกในสนามพร้อมกับพวกทหาร
คุณพ่อได้แสดงความกระตือรือร้นให้ปรากฏตั้งแต่วันแรก ด้วยการทำตนเป็นผู้รับใช้ทหารที่ทุกข์ทรมาน บาดเจ็บและตาย ทหารผู้เป็นคริสตชนและผู้ที่ไม่เป็นคริสตชน ต่างก็รู้สึกทึ่ง และประหลาดใจในความร่าเริง ความไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และความไม่เห็นแก่ตัวของคุณพ่อซึ่งได้พ้นความทุกข์ทรมาน พร้อมกับทหารเหล่านั้นโดยไม่บ่นแม้สักครั้งเดียว คุณพ่อดูฮาร์ตได้รับใช้ทหารในกองทัพจนกระทั่งถึงวันคริสตมาส ปี ค.ศ.1945 นับเป็นเวลาหลายเดือนหลังจากสงครามได้สิ้นสุดลง
หลังจากนั้นคุณพ่อดูฮาร์ตได้กลับมาพักผ่อนที่อเมริกา คณะสงฆ์ของคณะพระมหาไถ่ได้ต้อนรับการกลับมาของคุณพ่อเยี่ยง
“วีระบุรุษ” ในระยะเวลาที่พักผ่อนนี้คุณพ่อได้ถอดเครื่องแบบทหารออก และได้ขึ้นรถบัสไปประกาศศาสนาเป็นครั้งแรก คุณพ่อดูฮาร์ต พบว่าพระเป็นเจ้าทรงปรารถนาให้ท่านเป็นอธิการของเณรเล็กมากกว่าที่จะเป็นมิชชันนารี ในที่สุดคุณพ่อก็ได้เป็นมิชชันนารี สมความมุ่งมั่น แต่พระเป็นเจ้าทรงมีแผนการที่ยิ่งใหญ่กว่า สำหรับพระสงฆ์หนุ่มผู้นี้
เตรียมตัวสู่ประเทศสยาม
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองได้จบสิ้นลง ซึ่งฝ่ายสัมพันธมิตร หรือประเทศในกลุ่มของสหรัฐอเมริกาเป็นฝ่ายชนะ พระสังฆราชบาเยต์ แห่งมิสซังท่าแร่-หนองแสง ได้เขียนจดหมายไปอเมริกาอีกครั้ง เพื่อขอมิชชันนารีอเมริกาให้มาทำงานในสังฆมณฑลของท่าน ซึ่งในขณะนั้นคุณพ่อเฟเกนได้รับตำแหน่งอธิการเจ้าคณะแขวงเซนต์หลุยส์ต่อจากคุณพ่อพามเมอร์ ได้ตรวจค้นดูเอกสารที่พระสังฆราชโทมินเขียนถึงคุณพ่อพามเมอร์ แล้วพบว่าเอกสารเหล่านั้นเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส และเข้าใจว่าประเทศฝรั่งเศสมีอิทธิพลเหนือประเทศสยาม จึงได้เลือกชื่อพระสงฆ์ที่มีชื่อคล้ายคนฝรั่งเศสอย่างคุณพ่อดูฮาร์ต หรือสามารถพูดภาษฝรั่งเศสได้มาเป็นธรรมทูตกลุ่มแรกที่จะเดินทางมายังประเทศสยาม ซึ่งภายหลังจึงพบความจริงว่าหาเป็นไปตามที่ คุณพ่อเข้าใจไม่ ซึ่งแท้ที่จริงนั้น ความคิดอย่างนั้น เป็นเพียงแค่ช่วงก่อนเกิดสงครามโลกเท่านั้น เพราะประเทศสยามเข้าร่วมสงครามและประกาศสงครามกับฝรั่งเศส ธรรมทูตฝรั่งเศสหลายท่านต้องถูกขับไล่ออกไปจากดินแดนสยาม
ที่สุดคุณพ่ออธิการของคณะสงฆ์พระมหาไถ่ แขวงเซนต์หลุยส์ได้ตอบสนองคำของท่าน ในตอนนี้คุณพ่อดูฮาร์ต เคยเล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ก่อนที่ท่านจะมาทำงานในประเทศไทย ท่านเล่าว่าบ่ายวันนั้นขณะท่านกำลังสวดเดินรูปสิบสี่ภาคอยู่ในวัด ก็มีเพื่อนคนหนึ่งเข้ามาแจ้งว่าอธิการต้องการพบตัว ท่านเข้าไปพบอธิการและก็ได้รับคำสั่งให้ท่านเตรียมตัวเดินทางมาทำงานประกาศพระวรสารในประเทศไทยพร้อมกับเพื่อนอีกสามคน ท่านเล่าว่า “ผมจำได้ว่า พอดี ตอนนั้น ผมกำลังสวดเดินรูปมาถึงรูปที่ห้าซีมอนชาวไซรีน ช่วยพระเยซูแบกกางเขน”
เมื่อเป็นดังนั้นในวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ. 1948 คณะพระมหาไถ่ได้ส่งธรรมทูตพระสงฆ์ 4 องค์ ลงเรือมุ่งหน้ามายังประเทศไทย ซึ่งเป็นผืนแผ่นดินที่ไม่รู้จักมาก่อน ไม่รู้จักแม้กระทั่งภาษา ขนมธรรมเนียมและวัฒนธรรม พระสงฆ์ 4 องค์นี้คือ คุณพ่อดูฮาร์ต (อธิการ) คุณพ่อก๊อดเบาท์ คุณพ่อรีวีแอร์ และคุณพ่อเคน ซึ่งแต่ละท่านมีชื่อคล้ายฝรั่งเศสอยู่บ้าง แต่อย่างไรก็ตาม ชื่อของคุณพ่อดูฮาร์ตและคณะมิชชันนารีอีก 3 ท่าน ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานแพร่ธรรมของพวกเขาเหล่านั้นเลย และคุณพ่อดูฮาร์ตเองเป็นผู้ปูแนวทางการจัดตั้งคณะพระมหาไถ่ขึ้นในประเทศไทย ถ้าหากขาดคุณพ่อดูฮาร์ต และคุณพ่อก๊อดเบาท์
ผู้มีความสันทัดในด้านการเทศแล้วงานแพร่ธรรมของคณะสงฆ์พระมหาไถ่ คงจะไม่ประสบผลสำเร็จอย่างที่เป็นอยู่ การเดินทางบนคาบสมุทรแปซิฟิกโดยอาศัยเรือสินค้าเดินทาง ชื่ออัคคาซาน โดยอาศัยอยู่บนเรือประเภทผู้โดยสารชั้น 2 เมื่อถึงฐานทัพเรือสหรัฐที่เพิลฮาร์เบอร์ ท่านได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากเพื่อนสมาชิกคณะพระมหาไถ่ที่อยู่ที่นั่น การโดยสารใช้เส้นทางของอเมริกา ฮาวายใช้เวลายาวนานมากถึง 2 เดือน กับอีก 3 วัน จึงไปถึงที่ไซ่งอน คุณพ่อดูฮาร์ตและคณะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในห้องพัก และใช้เวลาส่วนมากในการเล่นไพ่พินอคเกิล อ่านหนังสือและพยายามศึกษาภาษาไทย ส่วนการเล่นไพ่พินอลเกิลนั้นยังคงเป็นเกมส์พักผ่อนยามว่างของบรรดามิชชันนารีและถ่ายทอดมายังสมาชิกรุ่นหลังตลอด 60 ปีที่ผ่านมา ซึ่งบางครั้งลมทะเลก็เงียบสงบ และบางครั้งก็โหมซัดเรืออย่างบ้าคลั่งทำให้การเดินทางนี้เต็มไปด้วยความยากลำบากยิ่งนัก ที่ไซ่ง่อน คุณพ่อท่านต้องพบว่า ท่านและคณะจะต้องหาวิธีเดินทางไปยังกรุงเทพฯเอง ซึ่งหลังจากนั้น 2 สัปดาห์ เพื่อขนถ่ายสัมภาระกว่า 100 หีบ ขึ้นเรืออีกลำหนึ่งเสร็จ การทำนำสัมภาระมาจำนวนมากขนาดนี้ก็เพราะว่าได้รับคำแนะนำจากพระสังฆราชจากกรุงเทพฯ ให้เตรียมทุกสิ่งทุกอย่างเท่าที่จะเอาขึ้นเรือมาได้ คือต้องเตรียมให้มากๆ ตามที่พระสังฆราชกล่าว ซึ่งฝ่ายจัดซื้อก็ซื้อข้าวของเครื่องใช้ที่เตรียมมาประเทศสยาม ก็เตรียมปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิตในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็น ข้าวของอุปกรณ์เครื่องมือ หยุกยาต่างๆ นับตั้งแต่เตียงนอนจนถึงซิการ์ แล้วเมื่อรวบรวมว่ามีน้ำหนักรวมถึง 6-7 ตันเลยทีเดียว
ถึงประเทศสยาม (ประเทศไทย)
หลังจากที่ได้เดินทางเรือเป็นเวลานานพระสงฆ์ทั้ง 4 องค์ ก็มาถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 1948 ท่านได้พักอยู่ที่กรุงเทพฯ ระยะหนึ่ง โดยมีพระสังฆราชหลุยส์โชแรงเป็นผู้ต้อนรับ ซึ่งพักอยู่ที่โปกือร์ ศูนย์กลางของมิสซังกรุงเทพฯ ซึ่งในขณะนั้นพระสงฆ์ส่วนใหญ่เป็นธรรมทูตฝรั่งเศสอาศัยอยู่ที่นั่น คุณพ่อ Rechereau เป็นหัวหน้าในการต้อนรับบรรดามิชชันนารีทั้งสี่ท่าน คุณพ่อองค์นี้พูดภาษาไทยได้ชัดมากและเป็นคนอารมณ์ดีอยู่เสมอ ซึ่งครั้งนั้นคุณพ่อดูฮาร์ตได้ถามคุณพ่อองค์นั้นเป็นภาษไทยที่คิดว่าพูดถูกต้อง และออกเสียงถูกต้องว่า ”สวม-จู่-ไน-ครับ” (ส้วมอยู่ไหนครับ) แต่คุณพ่อองค์นั้นยิ้มกว้างๆ และทวนคำถามเป็นภาษาอังกฤษว่า “where sre the jackes ?” ซึ่งเป็นเรื่องขำขันที่เล่าสืบต่อมากันในปัจจุบัน
ในโอกาสนี้เอง คุณพ่อดูฮาร์ตได้เริ่มทำมิสซาภาษอังกฤษที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ ท่านรู้สึกสบายใจเมื่อได้เริ่มงานโดยใช้ภาษาของตนเองก่อน จากนั้นเมื่อจัดเตรียมข้าวของเสร็จแล้วคุณพ่อทั้งสี่องค์ได้นั่งรถไฟเดินทางไปอุบลฯ พร้อมกับคุณพ่อศรีนวล ศรีวรกุล แล้วเดินทางต่อไปที่ บ้านท่าแร่ เพื่อพบกับพระสังฆราชบาเยต์ ที่ได้ตอบรับท่านอย่างอบอุ่นด้วยภาษาไทยสำเนียงอีสานชีวิตนักเรียนของคุณพ่อดูฮาร์ตเริ่มอีกครั้ง เพราะภาษาเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ ต้องเข้าใจ เพราะเป็นสื่อกลางในการใช้สื่อสาร ต้องสามารถสนทนาได้ ดังนั้นคุณพ่อดูฮาร์ตจึงต้องเริ่มเรียนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยกับครู ซึ่งพระสังฆราชบาเยต์ได้เตรียมไว้ แต่ที่คุณพ่อดูฮาร์ตจะได้เรียนก็เห็นจะเป็นภาษาไทยอีสาน จึงทำให้มิชชันนารีคณะพระมหาไถ่รุ่นแรกๆ มีสำเนียงไทยแบบอีสาน และคุณครูภาษาไทยท่านแรกก็คือ คุณพ่อเกี้ยน เสมอพิทักษ์ ต่อมาอีก 11 ปี คุณพ่อเกี้ยน ก็ได้รับตำแหน่งเป็นประมุขของสังฆมณฑลท่าแร่ฯ
ตั้งแต่คุณพ่อดูฮาร์ตได้อาศัยและเรียนภาษาไทยอย่างเข้มข้นและจริงจัง แต่ท่านก็ยังตื่นเต้นในการที่จะเริ่มทำงานในเวลาอันใกล้ ซึ่งหลังจากนี้ประมาณ 4-5 เดือน ต่อมาคุณพ่อดูฮาร์ตก็เริ่มสามารถฟังแก้บาปและเทศน์เป็นภาษาไทยได้บ้าง รวมทั้งยังสามารถพูดสื่อสารกับบรรดาพระสงฆ์พื้นเมืองและชาวบ้านเป็นภาษาไทยด้วยสำเนียงเพี้ยนๆ บ้าง จนทำให้บรรดาผู้ที่ได้ฟังเกิดรอยยิ้มเมื่อได้สนทนากับพวกท่าน บรรดากลุ่มเด็กๆ ชาวบ้านท่าแร่ที่ไม่ค่อยมีใครสนใจเหล่านี้เอง จะคอยเข้ามาคุยและเล่นกับคุณพ่อดูฮาร์ตและกลุ่มมิชชันนารี ซึ่งกลับช่วยให้ท่านได้เรียนรู้ศัพท์ภาษาไทยได้มากขึ้นและง่ายขึ้น
ทำให้การเรียนภาษาไทยของท่านได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ในระหว่างนี้มีจดหมายแสดงความห่วงใย จากคุณพ่อเฟเกนเขียนมาให้กำลังใจจากอเมริกาอยู่บ่อยๆ รวมทั้งสอบถามสารทุกข์สุกดิบและเรื่องราวในเมืองไทยและ การเปลี่ยนแปลงที่เกิด โต้ตอบกันกับสมาชิกที่อเมริกาและเมืองไทย มีอยู่ครั้งหนึ่งคุณพ่อเฟเกนตอบจดหมายคุณพ่อดูฮาร์ตอย่างสนใจว่า “สมาชิกคณะพระมหาไถ่ทั้งแขวงเซนต์หลุยส์ของเราปราบปลื้ม ภาคภูมิใจ และตื่นเต้นอย่างมาก สำหรับความก้าวหน้าในหน้าที่อันยิ่งใหญ่ และ ภารกิจที่ใหญ่ยิ่ง ที่คุณพ่อดูฮาร์ตและสมาชิกในเมืองไทยกำลังทำอยู่” เมื่อคุณพ่อได้อ่านจดหมายฉบับนี้ ท่านก็พูดคุยกับบรรดากลุ่มมิชชันนารีของท่านว่า “พวกเราไปทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ หรือใหญ่ยิ่งอะไร เหมือนที่สมาชิกที่อเมริกาพูดถึงกัน” ซึ่งสิ่งที่ท่านทำนั้นเป็นภารกิจอันยิ่งใหญ่ที่สามารถเห็นได้จากสิ่งที่ท่านได้ทำไว้ให้กับพระศาสนจักรในปัจจุบัน
บ้านช้างมิ่งจุดเริ่มต้นของคณะพระมหาไถ่แห่งประเทศไทย
ในวันที่ 26 พฤศจิกายน ค.ศ. 1948 คุณพ่อดูฮาร์ตและมิชชันนารีได้จัดตั้งขึ้นครั้งแรกในหมู่บ้านคริสตังที่ชื่อว่า “ช้างมิ่ง” โดยอาศัยในอาคารหลังใหญ่ก่อด้วยอิฐและปูน สมาชิกจึงสามารถพักอยู่ร่วมกันและแยกย้ายไปทำงานตามเขตที่ตนรับผิดชอบ นี่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะประการหนึ่งของคณะพระมหาไถ่คือ ชีวิตกลุ่ม พวกเขาเดินทางไปเยี่ยมกลุ่มคริสตชนในความดูแล ทั้งด้วยการเดินเท้า ปั่นจักรยาน และขี่ม้าและกลับมาอยู่ร่วมกัน ช้างมิ่งเป็นศูนย์กลางของคณะอยู่เป็นเวลา 8 ปี ในขณะที่กลุ่มคริสตชนที่อยู่ในความดูแลมีเพิ่มจากเดิม คือ โพนสูง ห้วยเซือม ห้วยเล็มมือ และเวียงคุก ด้วยเหตุนี้คณะพระมหาไถ่มีบ้านแห่งแรกที่บ้านช้างมิ่งนี่เอง ทำให้สงฆ์คณะพระมหาไถ่คนไทยรุ่นแรกมาจากช้างมิ่งเกือบหมด เช่น คุณพ่อชาย ขันฑะโฮม คุณพ่อบรรจง ไชยรา คุณพ่อไพโรจน์ สมงาม และคุณพ่อประสิทธิ์ ตรงสหพงษ์ วันเวลาผ่านไปได้หนึ่งปี คุณพ่อทั้ง 4 จำต้องแยกย้ายกันไปเพื่อทำงานแพร่ธรรม
คุณพ่อก๊อดเบาท์ ย้ายไปอยู่ที่กรุงเทพฯ และที่นั่นเอง ท่านได้สร้างวัดและโรงเรียนมหาไถ่ ในเวลาเดียวกันคุณพ่อดูฮาร์ตและคุณพ่ออีก 2 องค์ ก็ได้พบงานที่ท้าทาย ท่านทั้งสามได้ทำงานในอัครสังฆมณฑลท่าแร่ ซึ่งสมัยนั้นรวมเขตอุดรธานีด้วย
คุณพ่อดูฮาร์ต เป็นพระสงฆ์องค์แรกที่ทำงานครอบคลุมไปทั่วหมู่บ้านต่างๆ เช่น ท่าบม (จังหวัดเลย) ท่าบ่อ, ศรีเชียงใหม่,เวียงคุก, ห้วยเซือม, ห้วยเล็มมือ (จังหวัดหนองคาย) โพนสูง (จังหวัดอุดรธานี) ตลอดจนเขตจังหวัดขอนแก่นทั้งหมด คุณพ่อเดินทาโดยเรือ รถจิ๊ป รถบัส รถจักรยานหรือแม้กระทั่งเดินก็ไม่หวั่น
นับตั่งแต่มีการเบียดเบียนศาสนาส่วนมากหมู่บ้านเหล่านี้ไม่มีพระสงฆ์ประจำ เพราะฉะนั้นคุณพ่อจึงต้องทำงานหนักมากขึ้น แต่พระเป็นเจ้าก็ได้ส่งคนที่เหมาะสมแล้วเพื่อมาช่วยชาวบ้านเหล่านั้น ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1953 กรุงโรม ก็มีการแบ่งมิสซังภาคอีสานออกเป็นสามมิสซัง คือ มิสซังท่าแร่ มิสซังอุบลฯ มิสซังอุดรฯ โดยมอบหมายให้คณะพระสงฆ์พระมหาไถ่ดูแลมิสซังอุดรธานี ในขณะนั้นคาทอลิกประมาณ 3 พันคน จากจำนวนประชากร 22,480,008 คน ในวันที่ 29 มกราคม ค.ศ.1954 คุณพ่อดูฮาร์ต ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งพระสังฆรักษ์ ซึ่งก็มีสิทธิ์เช่นเดียวกับพระสังฆราช และเป็นผู้ดูแลมิสซังอุดรธานีแทนสมเด็จพระสันตะปาปา ในขณะนั้นคุณพ่อชาร์ล โกแตนท์ ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะแขวงของประเทศไทย
กำเนิดสังฆมณฑลอุดรธานี
พระสังฆรักษ์ ดูฮาร์ต ได้เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาของเด็กและเยาวชนในเขตสังฆมณฑลของท่าน ท่านจึงมิได้ลังเลใจ ได้ติดต่อคุณพ่อและซิสเตอร์คณะซาเลเซียนให้มาเปิดโรงเรียนขึ้นที่จังหวังอุดรธานี ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1957 โรงเรียนดอนบอสโกวิทยา ได้เปิดทำการสอน และซิสเตอร์คณะรักกางเขนท่าแร่ก็ได้มาช่วยงานตามตามหมู่บ้านต่างๆ เช่นที่โพนสูง เวียงคุก ท่าบม และห้วยเซือม ในปี ค.ศ.1961 ซิสเตอร์คณะธิดาแม่พระอุปถัมภ์ (ซาเลเซียน) ได้เข้ามาเปิดโรงเรียนหญิง คือ โรงเรียนเซนต์เมรี่ ต่อมาได้เชิญซิสเตอร์คณะ พระกุมารเยซูได้มาช่วยงานในเขตขอนแก่น ซิสเตอร์คณะเซนต์ปอลเดอชาร์ตร มาช่วยงานในเขตสังฆมณฑลอุดรธานี งานทั้งหมดที่กล่าวมานี้ พระสังฆรักษ์ดูฮาร์ต ได้ไปเยี่ยมให้กำลังใจและให้ความช่วยเหลืออยู่เสมอ พระสังฆรักษ์ยังคงเดินทางไปสู่ชุมพาบาลของท่าน
ในวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 1965 ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระสังฆราช และวันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 1966 ท่านได้รับสถาปนาอย่างเป็นทางการให้เป็นพระสังฆราชแห่งสังฆมณฑลอุดรธานี บรรดาคนจน ชาวไร่ ชาวนา พ่อค้า ประชาชน ครู พระสงฆ์ นักบวชชายหญิง ผู้ที่อาศัยอยู่ในเมือง ต่างภูมิใจและชื่นชมยินดีพร้อมกับท่าน และถึงแม้ว่าตำแหน่งของท่านได้เปลี่ยนไป แต่การดำเนินชีวิตของท่านยังคงเดิม ท่านยังคงชีวิตที่ราบเรียบ ท่านเป็นที่พักพิงของผู้ยากไร้ ผู้ประสบเคราะห์กรรม ในสายตาของสัตบุรุษ แต่ท่านก็ยังทำตัวเป็นพ่อที่ดีกับลูกๆ อยู่เสมอ
ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า The prefecture Apostolic of Udonthani จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 1953 และคุณพ่อคลาเรนซ์ ดูฮาร์ต ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแล โดยยังไม่ได้รับการอภิเษกให้เป็นสังฆราช ท่านได้สร้างความก้าวหน้าอย่างมากมาย ด้วยการจัดซื้อที่ดินหลายแห่งซึ่งใกล้กับที่อยู่ของกลุ่มคริสตชน และสร้างสำนักไว้ที่บ้านจิก ซึ่งเป็นที่พำนักของท่านนานกว่า 20 ปี สิ่งหนึ่งที่สำคัญในสมัยของท่านก็คือ ในระหว่างนี้ได้มีคณะนักบวชชายและหญิงเข้ามาร่วมทำงานในเขตแพร่ธรรมมากมาย จนปี ค.ศ.1966 มีการประกาศจัดตั้งสังฆมณฑลอุดรธานีอย่างเป็นทางการ ท่านมองซินยอร์ดูฮาร์ตได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระสังฆราชของสังฆมณฑลอุดรธานีท่านแรก พิธีอภิเษกจัดให้มีขึ้นที่หอประชุม โรงเรียนเซนต์แมรี่ อาจารย์ภาษาไทยของท่าน คือ พระสังฆราชเกี้ยน เป็นประธานในพิธีอภิเษกนี้ ในการจัดการก่อสร้างโรงเรียน วัด บ้านพักพระสงฆ์ อาราม และคลีนิก การก่อสร้างทั้งหมดนี้ ที่หนักสุดเห็นจะเป็นการก่อสร้างอาสนวิหาร
พระสังฆราชดูฮาร์ตได้ปรึกษากับบราเดอร์คอร์นีในเรื่องการก่อสร้าง โดยถามบราเดอร์ว่า “จะต้องใช้เงินจำนวนเท่าไร?” ทั้งนี้เพราะท่านยังไม่ได้เตรียมการใดๆ เลย บราเดอร์คอร์นี จึงถามกลับไปว่า “แล้วที่นี่มีเงินอยู่เท่าไร?” ท่านไม่มีเงินเพียงพอกับสิ่งที่บราเดอร์คอร์นีจะใช้ เพื่อทำผลงานแห่งชีวิตให้สำเร็จ แต่ บราเดอร์ก็เริ่มก่อสร้างและทำสำเร็จตามที่คิดฝันเอาไว้ งานเสกอาสนวิหารจัดขึ้นในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1969 ซึ่งใช้แทนที่วัดบ้านจิก ซึ่งมี 100 ที่นั่ง มาเป็น 1500 ที่นั่งในอาสนวิหารแห่งใหม่ ต่อมาได้สร้างอาสนวิหารขึ้นที่อุดรธานี ให้ชื่อว่า “อาสนวิหารพระมารดานิจจานุเคราะห์” โดยมีบราเดอร์ คอร์เนเลียส เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างและสร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1968 ที่ได้ตั้งชื่ออาสนวิหารเช่นนี้ เพราะ พระสังฆราชดูฮาร์ต มีความรักต่อพระแม่อย่างสุดซึ้ง
ในปี ค.ศ. 1975 มีพระสงฆ์คณะพระมหาไถ่ชาวไทยเพิ่มมากขึ้น พระสังฆราชดูฮาร์ต เห็นเป็นการสมควรที่จะลาออกจากตำแหน่งหน้าที่พระสังฆราชแห่งสังฆมณฑล รวมทั้งในปี ค.ศ. 1975 ซึ่งเป็นปีที่ลัทธิคอมมิวนิสต์เข้ามาสู่อินโดจีน ในประเทศไทยเองจึงมีความหวาดกลัวต่อลัทธิคอมมิวนิสต์ด้วย ตามทฤษฎี “โดมิโน” โดยเฉพาะในภาคอีสาน แต่ความจริงมันก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ในขณะนั้นมีแนวความคิดที่ว่า ถึงเวลาแล้วที่บรรดาพระสังฆราชของทุกสังฆมณฑลในประเทศไทย ควรเป็นเป็นคนไทย พระสังฆราชดูฮาร์ตเป็นท่านแรกที่ขอพ้นจากตำแหน่ง โดยมีพระสังฆราช ยอด พิมพิสาร รับตำแหน่งพระสังฆราชแห่งสังฆมณฑลอุดรฯ สืบมา เพื่อให้สังฆมณฑลปกครองโดยพระสังฆราชคนไทย ดังนั้น คุณพ่อยอด ซึ่งเป็นพระสงฆ์ไทยองค์แรกของคณะพระมหาไถ่ จึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนท่าน ผลงานและความก้าวหน้าที่พระสังฆราชยอด ก่อเกิดขึ้นในสังฆมณฑล และพระศาสนจักรมีมากมาย ที่เจริญก้าวหน้าเป็นสองเท่า จากเดิมในทุกด้าน เป็นการสานต่อให้งานพระศาสนจักรนั้นเจริญรุ่งเรืองต่อๆ มา
ในปี ค.ศ. 1976 พระสังฆราชดูฮาร์ต อายุ 64 ปี ซึ่งสำหรับบุคคลทั่วไปนับเป็นอายุที่ต้องปลดเกษียณแล้ว แต่สำหรับท่าน หาเป็นเป็นเช่นนั้นไม่ ท่านยังคงทำหน้าที่นายชุมพาบาลต่อไป ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นคุณพ่อเจ้าวัด วัดท่าบ่อ ศรีเชียงใหม่ เวียงคุก (จังหวัดหนองคาย) ท่านยังคงออกเยี่ยมเยียนสัตบุรุษแม้อายุของท่านจะเข้าสู่ 70 ปีแล้วก็ตาม ในฤดูฝน ท่านยังอุตส่าห์ถีบจักรยาน จากเวียงคุกไปหนองคาย ไม่แต่เพียงเท่านี้ ท่านยังไปเยี่ยมสัตบุรุษ สวดภาวนา และให้กำลังใจเขา ให้อดทนต่อความทุกข์ยากในชีวิตประจำวัน ท่านต้องดูแลวัดตามที่ต่างๆ 4- 5 แห่ง นอกจากนี้ ท่านยังเป็นผู้ฟังแก้บาปให้กับโนวิส และซิสเตอร์ที่หนองคาย ท่านยังคงออกเทศน์เผยแพร่ศาสนา ทั้งในชนบท และในเมืองทั่วสังฆมณฑล
ท่านนำความรัก ความอบอุ่นของพระคริสตเจ้าไปมอบให้กับคนจนและคนที่ถูกทอดทิ้ง ในที่สุดทางคณะพระมหาไถ่เห็นว่า ท่านควรจะอยู่ใกล้ชิดแพทย์มากขึ้น ท่านจึงถูกส่งตัวไปช่วยงานอภิบาลที่วัดพระมหาไถ่กรุงเทพฯ เพราะสุขภาพของท่านไม่ค่อยจะดีนักแต่ตลอดเวลาท่านประจำอยู่ที่วัดพระมหาไถ่ ท่านก็ทำหน้าที่งานอภิบาล เคียงบ่าเคียงไหล่กับคุณพ่ออื่นๆ หลายครั้ง ท่านซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์รับจ้างเพื่อส่งศีลให้คาทอลิกที่เจ็บป่วย จนคุณพ่ออธิการบ้านต้องสั่งให้ท่านหยุดส่งศีล เพราะอาจจะเป็นอันตรายกับท่าน แต่ท่านก็ยังทำหน้าที่เป็นจิตตาธิการของคณะพลมารีที่วัดพระมหาไถ่ด้วย
ท่านป่วยหนักจนในที่สุด วันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1998 มรณภาพที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ มีพิธีปลงศพในวันที่ 28 กันยายน ค.ศ. 1998 ที่อาสนวิหารพระมารดานิจจานุเคราะห์ สังฆมณฑลอุดรธานี พระเป็นเจ้าก็ได้ทรงเรียกพระสังฆราชคลาเรนซ์ เจ. ดูฮาร์ต กลับไปหาพระองค์อย่างสงบ รวมอายุได้ 86 ปี ซึ่งตลอดชีวิตของท่าน ท่านเป็นมิชชันนารีด้วยชีวิตหัวใจของท่าน ดังในพระธรรมนูญของคณะพระมหาไถ่ที่ได้กล่าวว่า “ด้วยความเข้มแข็งในความเชื่อ ยินดีในความหวัง ร้อนรนในความรัก กระตือรือร้นดุจเปลวเพลิง ด้วยความสุภาพในจิตใจ และด้วยความเพียรในการภาวนา สมาชิกของคณะพระมหาไถ่ ในฐานะผู้อภิบาลและศิษย์ที่แท้ของนักบุญฟอนอัลฟอนโซ เขาจะต้องติดตามองค์พระคริสต์พระผู้ไถ่ เขาต้องสละตนเอง และพร้อมที่จะเป็นผู้ให้ เมื่อได้รับการร้องขอ เขาต้องมีส่วนร่วมในรหัสธรรมล้ำลึกของพะเป็นเจ้า ไปสู่ความรอดที่ครบครัน” เราพบท่านได้ทำอย่างสุดความสามารถและด้วยความพากเพียรจนสาระสุดท้ายของท่านเอง
พระสังฆราชคลาเรนซ์ เจมส์ ดูฮาร์ต เป็นมิชชันนารีด้วยหัวใจของท่าน ท่านเป็นพระสงฆ์ 61 ปี, เป็นมิชชันนารีในประเทศไทย 50 ปี และเป็นพระสังฆราช 32 ปี