-
Category: ตารางเทียบสมัยการปกครองสังฆมณฑลอุดรธานี
-
Published on Saturday, 10 October 2015 03:27
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 4724
พระสังฆราชยอร์ช ยอด พิมพิสาร
Bishop George Yod Phimphisan
ประมุขสังฆมณฑลอุดรธานี ปี ค.ศ. 1975-2009
ชีวิตในวัยเด็ก
พระสังฆราชยอร์ช ยอด พิมพิสาร เกิดเมื่อวันที่ 19 มกราคม ค.ศ. 1933 เป็นบุตรของนายชำนิ และนางสุภา พิมพิสาร ท่านเจริญเติบโตมาในบ้านตรอกไวตี บางรัก โดยท่านเป็นบุตรคนโต มีน้องทั้งหมดอีก 4 คน คือ เรจินัลด์ (เรย์), แคทริน (เคธ), ปอล (สุมิตร) และฟิลิป ท่านเป็นสัตบุรุษวัดอัสสัมชัญ รับศีลล้างบาป, รับศีลมหาสนิทครั้งแรก และศีลกำลังที่วัดอัสสัมชัญ ทุกเช้าวันอาทิตย์ ท่านจะต้องตื่นประมาณตี 4 ครึ่ง เพื่อปลุกน้องๆ แต่งตัวให้และพากันเดินไปร่วมมิสซาที่วัดอัสสัมชัญ หากรถรางหรือรถเมล์ขาวเริ่มวิ่ง ก็จะขึ้นรถไป หรือไม่ก็เดินไป
การศึกษา
ท่านเรียนหนังสือชั้นประถมปีที่ 1-4 ที่โรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา และศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 6 ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก ระหว่างที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ต้องอพยพย้ายไปอยู่ที่พระประแดงกับน้องๆ ส่วนคุณพ่อคุณแม่ยังคงอยู่ในกรุงเทพฯ เพื่อทำงานหาเลี้ยงครอบครัว แต่ตอนสุดสัปดาห์ก็จะไปมาพักอยู่ด้วยกัน
มีอยู่ช่วงหนึ่งที่การทิ้งระเบิดในกรุงเทพฯ สงบลงชั่วคราว คุณพ่อคุณแม่ก็รับให้มาอยู่กรุงเทพฯ ด้วยกัน ช่วยกันดูแลบ้าน ซักผ้า ทำกับข้าว ฯลฯ แต่พอระเบิดเริ่มลงที่กรุงเทพฯ ทำให้ต้องกลับไปอยู่ที่พระประแดงเหมือนเดิม และเมื่อสงครามโลกยุติลง จึงเป็นเวลาที่มีความสุขมาก ทั้งครอบครัวเดินทางกลับมาอยู่ด้วยกันที่กรุงเทพฯ และท่านกลับเข้าเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก เหมือนเดิม
ช่วงนี้ได้มีโอกาสเรียนคำสอนกับคุณพ่อมอรีส ยอลลี พระสงฆ์มิสซังต่างประเทศ ชาวฝรั่งเศส ท่านสอนคำสอนในโรงเรียนอัสสัมชัญ และพักอยู่ที่บ้านพระสังฆราชหลังเก่า (ปัจจุบันชั้นล่างใช้เป็นสำนักงานโรงพิมพ์อัสสัมชัญ, ชั้นบนเป็นหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ) คุณพ่อมอรีส ยอลลี เป็นผู้สนับสนุนกระแสเรียกให้แก่เด็กคาทอลิกที่ท่านสอนคำสอนหลายคน มีอยู่ครั้งหนึ่งท่านเคยถามเด็กชายยอร์ช ยอด พิมพิสาร ตรงๆ เลยว่า “เคยคิดอยากเป็นพระสงฆ์ไหม?” ต้องยอมรับว่าไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้มากนัก แม้จะผ่านมาในความคิดบางครั้ง เมื่อได้ยินคำถามนี้ก็จึงเริ่มคิดเรื่องนี้มากขึ้น พอเรียนมาถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เป็นปีที่จะต้องตัดสินใจว่าจะเรียนอะไรต่อ อยากไปเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์ ที่เซนต์หลุยส์ แต่ในขณะเดียวกัน ก็หวนไปคิดถึงคำถามที่ยังคั่งค้างอยู่ในใจทุกครั้งที่ดูภาพยนตร์ดูละครที่จบลง “ชีวิตหรือละครจบลงอย่างนั้น อย่างนี้ แล้วชีวิตของเราเองจะจบลงอย่างไร หากเราเลือกทางที่จะช่วยให้ชีวิตผู้อื่นจบลงในทางที่ดีได้ จะไม่ดีกว่าหรือ?” แล้วจึงเล่าเรื่องเหล่านี้ให้คุณพ่อมอรีส ยอลลี ฟัง คุยไปคุยมาความคิดที่จะบวชจึงเริ่มมีน้ำหนักมากขึ้น
คุณพ่อมอรีส ยอลลี ให้คำแนะนำไว้ครั้งหนึ่งว่า “สำหรับยอร์ช ควรเป็นพระสงฆ์นักบวช” แล้วท่านก็อธิบายถึงความแตกต่างระหว่างพระสงฆ์ประจำสังฆมณฑลและพระสงฆ์นักบวช ท่านบอกว่า “ยอร์ชเป็นคนชอบสนุกสนานกับเพื่อนๆ พ่อขอแนะนำให้เป็นพระสงฆ์นักบวช เพราะบางครั้งพระสงฆ์ประจำสังฆมณฑลต้องอยู่โดดเดี่ยวมาก”
คุณพ่อมอรีส ยอลลี เล่าให้ฟังว่า มีนักบวชคณะใหม่เข้ามาในประเทศไทย ได้ประมาณ 1 ปี ปัจจุบันได้มาพักอยู่ที่ซอยหมอเลิศ ถนนสุขุมวิท เยื้องๆ กับซอยร่วมฤดีในปัจจุบัน ดังนั้นท่านจึงนัดให้เด็กชายยอร์ช ยอด พิมพิสาร ไปพบคุณพ่อคณะพระมหาไถ่ในวันพฤหัสบดี ซึ่งสมัยก่อนโรงเรียนคาทอลิกส่วนมากจะหยุดเรียนวันพฤหัสบดีกับวันอาทิตย์ คุณพ่อคณะพระมหาไถ่องค์แรกที่พบก็คือ คุณพ่อโรเยอร์ ก๊อตเบาท์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นอธิการบ้านเช่าหลังเล็กๆ และเปลี่ยนโรงรถให้เป็นวัดน้อย ทำมิสซาเป็นภาษาอังกฤษสำหรับสัตบุรุษคาทอลิก ผู้ซึ่งไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ จนวัดน้อยนี้ได้รับชื่อว่า “วัดแม่พระแห่งโรงรถ”
แม้ว่ายังพูดภาษาอังกฤษไม่คล่อง แต่ก็พอจะเข้าใจและสนทนากับคุณพ่อโรเยอร์ ก๊อตเบาท์ได้และรู้สึกประทับใจในไมตรีจิตของท่าน วันรุ่งขึ้นจึงบอกกับคุณพ่อมอรีส ยอลลี ว่า “คุณพ่อครับ ผมอยากเข้าคณะพระมหาไถ่” ซึ่งคุณพ่อมอรีส ยอลลี เองก็ไม่ได้แสดงท่าทีว่าแปลกใจ ท่านให้คำแนะนำและการอบรมเพิ่มเติมอีกครั้ง สัปดาห์ต่อมาคุณพ่อมอรีส ยอลลี บอกให้นัดกับคุณพ่อของเด็กชายยอร์ช ยอด พิมพิสาร มาพบที่บ้าน ในโอกาสนั้น ท่านก็แจ้งให้คุณพ่อทราบเลยว่า “ลูกชายของคุณอยากบวชเป็นพระสงฆ์ คณะพระมหาไถ่”
หลังจากนั้น ท่านก็ได้เดินทางไปพบคุณพ่อโรเยอร์ ก๊อตเบาท์ บ่อยๆ คุณพ่อโรเยอร์ ก๊อตเบาท์ ก็ถามถึงความตั้งใจ ระหว่างที่รอคอย คุณพ่อโรเยอร์ ก๊อตเบาท์ ได้สอนภาษาลาตินให้กับเด็กชายยอร์ช ทางคุณพ่อคลาเรนซ์ เจมส์ ดูฮาร์ต ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ของคณะพระมหาไถ่ในประเทศไทยรุ่นบุกเบิก ก็ได้สั่งให้เดินทางไปสัมผัสกับชีวิตและกิจการของคณะ ซึ่งได้รับมอบหมายจากพระสังฆราชเกลาดิอุส บาเยต์ ให้ดูแลวัดบ้านช้างมิ่ง โดยเดินทางไปกับคุณพ่อชาร์ล โกแตนท์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้ช่วย
คุณพ่อโรเยอร์ ก๊อตเบาท์ อยู่ที่กรุงเทพฯนับเป็นครั้งแรกที่เดินทางจากบ้านเป็นระยะทางไกล โดยไม่มีพี่น้องไปด้วย แน่นอนความคิดถึงบ้านก็มีและมากด้วย ในระยะนั้นท่านได้สัมผัสชีวิตหมู่คณะของคณะพระมหาไถ่ ได้ร่วมในการสวดภาวนา ร่วมรับประทานอาหาร และเดินทางไปตามหมู่บ้านต่างๆ ที่คุณพ่อท่านดูแลอยู่ในละแวกนั้น ชาวบ้านเดินทางมาจากที่ต่างๆ มามุงดูพวกคุณพ่อระหว่างที่รับประทานอาหารจนเกือบเป็นเรื่องธรรมดา ชาวบ้านเขาคงอยากทราบว่าพวกคุณพ่อฝรั่งเขากินข้าวกันอย่างไร
เมื่อทานอาหารเสร็จก็เดินจากบ้านพระสงฆ์ พลางสวดบท “เตเดอุม” สลับไปมาระหว่างอธิการกับคุณพ่อองค์อื่น ทำให้รู้สึกประทับใจในชีวิตกลุ่มของคุณพ่อทุกท่าน
เมื่อเวลาผ่านไปสัก 2-3 อาทิตย์ ก็ได้รับคำสั่งให้เดินทางกลับกรุงเทพฯ คุณพ่อโรเยอร์ ก๊อตเบาท์ ได้แจ้งให้ทราบว่าต้องส่งเข้าบ้านเณรเล็กของคณะที่ประเทศฟิลิปปินส์ ในระยะนี้ก็ให้เรียนภาษาลาตินต่อไป
บ้านเณรเล็ก คณพระมหาไถ่
ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ปี ค.ศ. 1950-1953
เป็นการเดินทางที่ไกลที่สุดสำหรับท่านซึ่งมีอายุเพียง 17 ปี และเดินทางไปประเทศที่เคยได้ยินเพียงแต่ชื่อเท่านั้น หลังจากร่ำลากันแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็เดินทางกลับ ท่านก็เข้าไปในห้องพักเพื่อรอให้เรือออก เมื่ออยู่คนเดียวในห้องก็ปล่อยโฮออกมา เพราะมานึกถึงการเผชิญภัยตามลำพัง โดยไม่ทราบว่าจุดมุ่งหมายปลายทางนั้นจะเป็นอย่างไร จะไปพบกับใครบ้าง พอเรือเดินทางได้ประมาณครึ่งวันก็เริ่มมีคลื่น จึงมีอาการคลื่นไส้และเวียนศีรษะ ซึ่งเป็นอาการเมาคลื่น ประกอบกับอาการคิดถึงบ้าน เมื่อรวมกันแล้วก็รู้สึกว่าเป็นอาการที่กระอักกระอ่วนมาก ใช้เวลาเดินทางอยู่ 4 วัน เมาคลื่นเสีย 3 วันครึ่ง ทานอาหารก็เก็บไว้ไม่ได้
เมื่อไปถึงกรุงมนิลาก็อ่อนเพลียมาก มีคุณพ่อคณะพระมหาไถ่มารอรับที่ท่าเรือ และพาไปพักที่อารามของคณะพระมหาไถ่ในเขตบาคลารัน ซึ่งมาทราบภายหลังว่ามีชื่อเสียงมาก เพราะที่วัดนี้มีนพวารพระมารดานิจจานุเคราะห์ ทุกวันพุธ และคาทอลิกจากใกล้และไกลจะมาร่วมในพิธีนี้อย่างแน่นขนัดทุกรอบ วันพุธแรกที่เห็นคนมากมายมาทำนพวารทำให้รู้สึกตื้นตันใจ จนลืมความอ่อนเพลีย และอาการคิดถึงบ้านท่านไปร่วมพิธีนพวาร 4 - 5 รอบ ในโอกาสนี้ ได้ถือโอกาสวอนขอพระมารดานิจจานุเคราะห์ให้คุณแม่กลับใจเป็นคาทอลิก และภายหลังได้รับข่าวว่า คุณพ่อโรเยอร์ ก๊อตเบาท์ ได้สอนคำสอนให้คุณแม่ซึ่งก็ใกล้เคียงกับคาทอลิกมากอยู่แล้ว หนึ่งปีให้หลังคุณแม่ก็ได้รับพิธีเข้าเป็นสมาชิกของพระศาสนจักรคาทอลิกอย่างเป็นทางการ สมตามที่ขอพระมารดานิจจานุเคราะห์ไว้
หลังจากจัดการเรื่องกระเป๋าเดินทางและวีซ่าเรียบร้อย คุณพ่อที่มนิลาก็ซื้อตั๋วเรือโดยสารจากมนิลาไปยังเกาะวิซายัส ไปยังเมืองอีโลอีโล่ โดยต้องค้างอยู่บนเรืออีกหนึ่งคืน ที่เมืองอีโลอีโล่นี้ คณะพระมหาไถ่ชาวไอริชได้ตั้งโรงเรียนมัธยมขึ้น ซึ่งรับเฉพาะเด็กประจำ ส่วนหนึ่งของนักเรียนที่มาศึกษาก็เป็นเณรเล็กของคณะพระมหาไถ่ ทางโรงเรียนไม่ทราบว่าจะให้เข้าเรียนห้องไหน หลังจากสอน 2-3 ครั้ง คุณพ่ออธิการก็ให้เรียนระดับ College โดยเน้นภาษาอังกฤษและลาติน (เมื่อเดินทางมาจากเมืองไทยนั้น ได้เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรักแล้ว)
ประมาณ 2 ปีต่อมา ท่านได้เดินทางกลับมาเยี่ยมบ้าน คราวนี้ได้เดินทางโดยเครื่องบิน เมื่อเดินทางกลับไปฟิลิปปินส์ก็ไปเข้านวกสถาน ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองซีบู ต้องเดินทางโดยเรือจากมนิลาไปซีบู
นวกสถานนี้เพิ่งตั้งมาได้เพียง 2 ปี ท่านจึงเป็นรุ่นที่ 3 มีเพื่อนเข้ารับการฝึกอบรม ในนวกสถานรวม 4 คนด้วยกัน ในสมัยนั้นแม้นวกสถานจะอยู่เป็นส่วนหนึ่งของอาราม แต่ก็แยกไปอยู่ส่วนหนึ่งต่างหาก เราติดต่อกับสมาชิกอื่นไม่ได้ นอกจากคุณพ่อนวกจารย์ และผู้ช่วยอีกท่านหนึ่ง วิทยุไม่ได้ฟัง โทรทัศน์ในสมัยนั้นยังไม่มี ระเบียบเคร่งครัดมาก ประมาณกลางปีเพื่อน 2 คน ก็ได้ลากลับบ้านไป เหลือเพียงท่านกับเพื่อนอีก 1 คน ซึ่งได้ลาออกจากคณะก่อนถวายตัวตลอดชีวิต 3 ปีต่อมา
ในที่สุดวันแห่งความชื่นชมยินดีก็มาถึง วันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ.1953 ท่านได้ปฏิญาณตัวถือความยากจน ความนบนอบและพรหมจรรย์เป็นเวลา 3 ปี เมื่อถวายตัวเป็นสมาชิก คณะพระมหาไถ่ครบบริบูรณ์สมใจนึกแล้ว ก็เดินทางกลับประเทศไทย และพักอยู่ที่บ้านของคณะ ซึ่งได้ย้ายจากซอยนายเลิศไปอยู่ที่ถนนสาทรใต้ ช่วงนี้เป็นช่วงถึงกำหนดที่คุณพ่อคลาเรนซ์ เจมส์ ดูฮาร์ต และคุณพ่อโรเยอร์ ก๊อตเบาท์ ที่จะกลับไปเยี่ยมบ้าน ท่านทั้งสองจึงได้พาสามเณรยอร์ช ยอด พิมพิสาร ร่วมเดินทางไปศึกษาต่อที่บ้านเณรของคณะที่รัฐวิสคอนซิน
เมื่อเดินทางไปถึงนิวยอร์ค ทางกองตรวจคนเข้าเมืองบอกว่าวีซ่านักศึกษาของสามเณรยอร์ช ยอด พิมพิสาร นั้นใช้ไม่ได้ เพราะสถานที่ที่จะไปศึกษา คือ บ้านเณรอิมมาคูเลตคอนเซ็ปชั่น นั้น ยังไม่ได้รับอนุญาตให้รับนักศึกษาต่างชาติ เพราะสามเณรยอร์ช ยอด พิมพิสาร เป็นเณรต่างชาติคนแรกที่มาเรียนในบ้านเณรแห่งนี้ ทางบ้านเณรจึงไม่เคยขออนุญาตรับนักศึกษาต่างประเทศมาเรียน ทางบ้านเณรจึงเริ่มดำเนินเรื่อง ในช่วงนี้สามเณรยอร์ช ยอด พิมพิสาร ได้รับอนุญาตให้อยู่ในความดูแลของคุณพ่ออธิการบ้านเณร 6 เดือนผ่านไป อธิการบ้านเณรจึงประกาศว่าสามเณรยอร์ช ยอด พิมพิสาร มีสภาพเป็นนักศึกษาที่ถูกต้องตามกฎหมาย
บ้านเณรใหญ่ของคณะพระมหาไถ่
ที่โอคอโนโมว้อค ประเทศสหรัฐอเมริกา ปี ค.ศ. 1953-1959
วันที่ไปถึงบ้านเณรใหญ่ บรรดาเพื่อนเณรรุ่นพี่ก็มาเข้าแถวต้อนรับ และเป็นธรรมเนียมเก่าแก่ของคณะ ที่เณรทุกคนจะต้องทำเมื่อพบพระสงฆ์ คือ จะต้องสัมผัสมือแล้วคุกเข่าลง เมื่อสามเณรยอร์ช ยอด พิมพิสาร เข้าไปในบ้านเณร เณรแต่ละคนรูปร่างใหญ่โตกันทั้งนั้น ไม่ทราบว่าใครเป็นพระสงฆ์ ใครเป็นเณร เลยคุกเข่าสัมผัสมือเขาทุกคน บางคนก็คุกเข่าสัมผัสมือตอบด้วย เพราะเขายังไม่ได้บวชเป็นพระสงฆ์ สิ่งแรกที่จะต้องเรียนรู้ คือ กีฬาประจำชาติของอเมริกาคือ เบสบอล วันรุ่งขึ้นต้องไปเล่นกับเขา โดยตีผิดตีถูก เป็นที่สนุกสนานของเพื่อนเณร บ้านเณรใหญ่นี้เป็นบ้านเณรของแขวงเซนต์หลุยส์ (ชื่อแขวงในขณะนั้น) ได้สอนวิชาปรัชญาและเทวศาสตร์ มีเณรใหญ่ในขณะนั้นประมาณ 120 คน หลักสูตรของบ้านเณรใช้เวลา 6 ปี
อาจารย์ทุกคนเป็นคุณพ่อคณะพระมหาไถ่ทั้งหมด บ้านเณรอยู่ที่เมืองเล็กๆ ชื่อ โอคอโนโมว้อค ในรัฐวิสคอนซิน มีที่ดินกว้างอยู่ริมฝั่งทะเลสาบเล็กๆ ชื่อ ลัค ลาแบล ช่วงนั้นเป็นหน้าร้อน สามเณรสามารถว่ายน้ำและพายเรือในทะเลสาบนี้ได้ และเมื่อถึงฤดูหนาวน้ำในทะเลสาบจะกลายเป็นน้ำแข็งทั้งหมด จึงสามารถเล่นสเก็ตน้ำแข็งบนผิวน้ำแข็งได้
ช่วงเวลาที่อยู่ในบ้านเณรใหญ่นั้น เป็นเวลาที่จัดเวลาสวดภาวนา เล่าเรียน และพักผ่อนได้อย่างสมดุลกัน เป็นช่วงเวลาที่มีความสงบสุขอย่างแท้จริง 3 ปีให้หลัง สามเณรยอร์ช ยอด พิมพิสาร ได้ถวายตัวตลอดชีวิตในปี ค.ศ. 1956 ในช่วงนี้ สามเณรยอร์ช ยอด พิมพิสาร มีโอกาสสอนภาษาไทยให้กับคุณพ่อและเณรที่เตรียมตัวมาแพร่ธรรมในประเทศไทยหลายท่านด้วยกัน
บวชเป็นพระสงฆ์
ปี ค.ศ. 1958 สามเณรยอร์ช ยอด พิมพิสาร ได้รับศีลบวชเป็นสังฆานุกร และในปีเดียวกัน คือ วันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ.1958 ก็ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ (เป็นพระสงฆ์ไทยองค์แรกของคณะพระมหาไถ่) โดยพระอัครสังฆราชมายเออร์ อัครสังฆราชแห่งมิลวอคกี ซึ่งภายหลังได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระคาร์ดินัลของอัครสังฆมณฑลชิคาโก คุณพ่อยอร์ช ยอด พิมพิสาร ได้รับศีลบวชที่วัดน้อยของบ้านเณร โดยไม่มีสมาชิกในครอบครัวไปร่วมพิธีเลย มีเพื่อนบวชรวมกันจำนวน 13 คน เมื่อบวชแล้วได้ไปถวายมิสซาสง่าครั้งแรกที่เมืองดีทร้อยท์ โดยมีคุณพ่อโรเยอร์ ก๊อตเบาท์ ซึ่งไปร่วมในพิธีบวชด้วยเป็นผู้เทศน์ในมิสซา วัดที่ถวายมิสซาอย่างสง่าครั้งแรกนั้น เป็นวัดเดิมของคุณพ่อคณะพระมหาไถ่ในประเทศไทยหลายท่าน ชื่อวัดพระมหาไถ่ มีคณะสตรีที่สนับสนุนงานแพร่ธรรมทูตของคณะในประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน
เมื่อบวชเรียนแล้ว คุณพ่อยอร์ช ยอด พิมพิสาร ยังต้องศึกษาต่อที่บ้านเณรอีกหนึ่งปี เมื่อจบแล้วจึงได้รับอนุญาตให้เทศน์และโปรดศีลอภัยบาปได้
หน้าที่รับผิดชอบของชีวิตสงฆ์
ค.ศ. 1959-1960 ทางคณะได้ส่งไปฝึกงานที่วัดของคณะที่เมืองเซนต์หลุยส์ ร่วมกับเพื่อนร่วมชั้นเป็นเวลาหนึ่งปี ในราวกลางปี ค.ศ. 1960 เจ้าคณะแขวงที่เซนต์หลุยส์ได้อนุญาตให้เดินทางผ่านยุโรปเพื่อกลับบ้าน
ค.ศ. 1960 ได้กลับเมืองไทย ได้ถวายมิสซาอย่างสง่าครั้งแรกร่วมกับครอบครัว ที่วัดพระมหาไถ่ ซอยร่วมฤดี งานแรกที่คุณพ่อยอร์ช ยอด พิมพิสาร ได้รับมอบหมายในเมืองไทย คือ ให้ไปช่วยคุณพ่อมาร์ตินที่บ้านของคณะที่เพิ่งเริ่มขึ้น คุณพ่อยอร์ช ยอด พิมพิสาร ได้เริ่มสอนและดูแลเณรที่บ้านเณรพระมารดานิจจานุเคราะห์ ซึ่งเป็นบ้านเณรเล็กของคณะพระมหาไถ่ที่ศรีราชา
อยู่ที่นั้นเป็นเวลา 7 ปี ช่วงที่สอนอยู่ที่บ้านเณรเล็ก คุณพ่อยอร์ช ยอด พิมพิสาร ได้รับเชิญให้ไปเทศน์เข้าเงียบให้แก่นักบวชหญิงคณะต่างๆ เป็นจำนวนมาก คุณพ่อยอร์ช ยอด พิมพิสาร สังเกตว่านักบวชเหล่านี้ไม่มีหนังสือศรัทธาภาษาไทยอ่านเลย ท่านจึงเริ่มแปลหนังสือศรัทธาหลายเล่มเป็นภาษาไทย โดยเฉพาะหนังสือของนักบุญอัลฟอนโซ ผู้สถาปนาคณะพระมหาไถ่ และหนังสือเกี่ยวกับการภาวนา
หลังจากที่คุณพ่อยอร์ช ยอด พิมพิสาร สอนอยู่ในบ้านเณรเป็นเวลา 7 ปี ท่านก็ย้ายมารับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยอธิการโบสถ์ ที่วัดพระมหาไถ่ กรุงเทพฯ และอยู่ในตำแหน่งนี้เป็นเวลา 3 ปี ในระยะนี้ คุณพ่อยอร์ช ยอด พิมพิสาร ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ดำเนินในการจัดตั้งคณะกรรมการพระคัมภีร์คาทอลิกแห่งประเทศไทย และได้ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการชุดดังกล่าว ท่านได้แปลและพิมพ์บทจดหมายต่างๆ จนกระทั่งชาวคาทอลิกมีหนังสือพันธะสัญญาใหม่ทั้งสิ้นเป็นครั้งแรก และในระยะนี้ท่านได้รับการติดต่อจากสมาคมพระคัมภีร์แห่งประเทศไทย และได้ประสานงานระหว่างสมาคมพระคัมภีร์กับฝ่ายคาทอลิกตลอดมา
มีการร่วมมือกันแปลพระคัมภีร์ และการร่วมมือกันดังกล่าวนี้ประเทศอื่นได้นำไปเป็นตัวอย่าง คุณพ่อยอร์ช ยอด พิมพิสาร ได้ทุ่มเทกำลังทำงานในด้านนี้ตลอดมา จนกระทั่งปัจจุบันนี้ ชาวคาทอลิกไทยสามารถมีพระคัมภีร์อ่านครบทั้งเล่ม ซึ่งนับว่าเป็นงานชิ้นโบแดงของท่าน และของพระศาสนจักรในประเทศไทยในสมัยนั้นอีกด้วย
ระยะเวลา 3 ปี ที่คุณพ่อยอร์ช ยอด พิมพิสาร ประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ ท่านมีโอกาสไปศึกษาต่อที่ East Asian Pastoral Institute ที่มะนิลา คุณพ่อยอร์ช ยอด พิมพิสาร ได้รับเชิญให้ไปประชุมที่กรุงโรม ในฐานะเป็นเลขาธิการพระคัมภีร์คาทอลิกแห่งประเทศไทย การประชุมครั้งนั้นได้จัดตั้งองค์การ “World Catholic Federation for the Biblical Apostolate” ขึ้น และอีก 2 ปีต่อมา ท่านก็ได้รับเลือกเป็นสมาชิกในคณะกรรมการบริหารในองค์การนี้ และขณะนี้ ก็ยังคงดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการบริหารอยู่
ค.ศ. 1972 สหสมาคมพระคัมภีร์ ได้เชิญคุณพ่อยอร์ช ยอด พิมพิสาร ไปร่วมประชุมระดับโลก ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกขององค์การนี้ โดยท่านเป็นผู้แทนฝ่ายคาทอลิกของเอเชีย การประชุมครั้งนั้นจัดขึ้นที่เมือง Addis Ababa ประเทศเอธิโอเปีย
หลังจากที่คุณพ่อยอร์ช ยอด พิมพิสาร ทำงานอยู่ที่วัดพระมหาไถ่ กรุงเทพฯ เป็นเวลา 3 ปี ท่านก็ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการคณะพระมหาไถ่ ในเขตจังหวัดขอนแก่น และดำรงตำแหน่งเป็นอธิการโบสถ์ที่วัดขอนแก่นด้วย คุณพ่อยอร์ช ยอด พิมพิสาร ได้แปลหนังสือศรัทธาพระคัมภีร์บางตอน บทประจำมิสซา ตลอดจนเขียนข้อความลงในหนังสือพิมพ์คาทอลิก พร้อมกับเทศน์อบรมตามวัดต่างๆ และเทศน์เข้าเงียบให้นักบวชคณะต่างๆอีกด้วย ท่านยังดูแลวัดเล็กๆที่วังขอนแดน อำเภอภูเวียง ซึ่งเป็นคาทอลิกใหม่ทั้งสิ้นอีกด้วย ท่านได้ปรับปรุงโรงเรียนพระมหาไถ่ศึกษาทั้งแผนกชายและหญิงให้เจริญ เพื่อให้เกิดผลต่อสังคมในท้องถิ่น คุณพ่อยอร์ช ยอด พิมพิสาร ดำรงตำแหน่งอธิการคณะ และอธิการโบสถ์อยู่เป็นเวลา 5 ปี
ค.ศ.1973 คุณพ่อยอร์ช ยอด พิมพิสาร ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการคณะ และอธิการโบสถ์ที่วัดพระมหาไถ่ กรุงเทพฯ ท่านได้ส่งเสริมพิธีนพวารที่มีอยู่เป็นประจำทุกวันพุธ จนมีผู้สนใจมาพึ่งแม่พระเป็นจำนวนมาก รวมทั้งศาสนิกชนศาสนาอื่น จนกระทั่งใน วันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1975 คุณพ่อยอร์ช ยอด พิมพิสาร ได้รับการแต่งตั้งเป็น พระสังฆราชของสังฆมณฑลอุดรธานี จากสมเด็จพระสันตะปาปาเปาโล ที่ 6
พิธีอภิเษกเป็นพระสังฆราช
คุณพ่อยอร์ช ยอด พิมพิสาร แห่งคณะพระมหาไถ่ ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชของสังฆมณฑลอุดรธานี สืบจากพระสังฆราชคลาเรนซ์ เจมส์ ดูฮาร์ต ที่ได้ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อให้มีผู้สืบแทนท่านเป็นคนไทย
พระสังฆราชยอร์ช ยอด พิมพิสาร ได้รับการอภิเษกเป็นประมุขของสังฆมณฑลอุดรธานี วันศุกร์ที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1975 ณ อาสนวิหารพระมารดานิจจานุเคราะห์ จังหวัดอุดรธานี
พระสังฆราชองค์ใหม่กับงานในสังฆมณฑลอุดรธานี
- พระสังฆราชยอร์ช ยอด พิมพิสาร รับตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการฝ่ายสื่อสารและการสัมพันธ์ของสภาพระสังฆราชแห่งประเทศไทย
- เป็นประธานสื่อมวลชนคาทอลิกแห่งประเทศไทย
- เป็นรองประธานคณะกรรมการบริหารแห่งสหสมาคมพระคริสตธรรมในภาคเอเชียและแปซิฟิค ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่เกาะฮ่องกง
- พระสังฆราชยอร์ช ยอด พิมพิสาร สนับสนุนกิจการของคณะนักบวชชาย-หญิง และฆราวาสในเขตสังฆมณฑอุดรธานี โดยได้ให้การส่งเสริมศาสนิกชนให้มีความเชื่อ ความศรัทธา และความรักซึ่งกันและกัน อีกทั้งส่งเสริมด้านการศึกษา การพัฒนาและการสังคมสงเคราะห์ทุกรูปแบบ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้อยู่อย่างมีความผาสุก มั่นคง นำความเจริญมาสู่ประเทศชาติตลอดไป
- พระสังฆราชยอร์ช ยอด พิมพิสาร ยังได้เชิญคณะนักบวชชาย-หญิง ให้เข้ามาช่วยพัฒนาสังฆมณฑลอุดรธานี คือ คณะพระมหาไถ่, คณะซาเลเซียน, คณะโอบลา, คณะเยสุอิต, คณะเซนต์คาเบรียล, ซิสเตอร์คณะพระกุมารเยซู, ซิสเตอร์คณะซาเลเซียน, ซิสเตอร์คณะเมตตาธรรม (ชาริเต), ซิสเตอร์คณะรักไม้ (ท่าแร่), ซิสเตอร์คณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร, ซิสเตอร์คณะกาปูชิน, ซิสเตอร์คณะศรีชุมภาบาล, ซิสเตอร์คณะเมรี่นอล, คณะธิดาแม่พระองค์อุปถัมภ์ ฯลฯ
- พระสังฆราชยอร์ช ยอด พิมพิสาร ยังส่งเสริมกิจกรรมคาทอลิก พลมารี, วินเซนต์ เดอปอล, คูร์ซิลโล, สถานพยาบาล, บ้านพักคนโรคเรื้อน, สถานฝึกอาชีพและบำบัด (สำหรับคนโรคเรื้อน), คลินิกรักษาคนโรคเรื้อน (เฉพาะผู้ลี้ภัย), ศูนย์ประกาศข่าวดี, ศูนย์สังคมพัฒนา อุดรธานี, สาขาคาทอลิกสงเคราะห์ผู้ประสบภัยและลี้ภัย, ศูนย์พัฒนาเด็ก (ซีซีเอฟ), ศูนย์โสตทัศน์คาทอลิก ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้คือ โครงสร้าง ชีวิต และงานของสังฆมณฑลอุดรธานี ภายใต้การนำของ พระสังฆราชยอร์ช ยอด พิมพิสาร ประมุขสังฆมณฑล ซึ่งมีแต่จะพัฒนาก้าวหน้าต่อไปอย่างไม่มีวันหยุดยั้ง เพื่อความสุขความเจริญของมวลชนทั้งฝ่ายกายและวิญญาณ
การเขียนเป็นพรพิเศษประการหนึ่งของพระสังฆราชยอร์ช ยอด พิมพิสาร ซึ่งดูเหมือนจะเป็นธรรมชาติสำหรับท่าน เป็นสิ่งที่ท่านชอบทำและทำด้วยความยินดี ทำได้ง่าย เป็นไปแบบธรรมชาติและรวดเร็ว ในแวดวงพระศาสนจักรชื่อของท่านเกือบจะเป็นชื่อของการเขียน การแปลและการพิมพ์หนังสือ นามสกุล “พิมพิสาร” ก็คือ ผู้ที่เกี่ยวกับการพิมพ์นั่นเอง เพราะท่านเป็นบุตรหัวปีของคุณชำนิ พิมพิสาร นักหนังสือพิมพ์ผู้มีชื่อเสียงในสมัยของท่าน คุณชำนิเป็นหนึ่งในจำนวนผู้บุกเบิกหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ร่วมกับคุณประสิทธิ์ ลุลิตานนท์ ดังนั้นการขีดเขียนจึงอยู่ในสายเลือดของท่าน พระเป็นเจ้าทรงกำหนดให้พระสังฆราชยอร์ช ยอด พิมพิสาร เป็นผู้มีบทบาทที่สำคัญท่านหนึ่งใน “วรรณคดีฝ่ายชีวิต” ของประชากรพระเป็นเจ้าในประเทศไทย ด้วยการเขียนและแปลหนังสือให้เป็นภาษาไทย เพื่อคาทอลิกไทยในรูปแบบที่เขาชมชอบและสามารถเข้าใจได้
หนังสือที่พระสังฆราชยอร์ช ยอด พิมพิสาร แปลและเรียบเรียง
1. พระทรมานการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสตเจ้า ประพันธ์โดย St. Alphonsus Liguori
2. ความภักดีต่อพระคริสตเจ้า ประพันธ์โดย St. Alphonsus Liguori
3. สิริมงคลของแม่พระ (เล่ม 1) ประพันธ์โดย St. Alphonsus Liguori
4. หนทางสำคัญแห่งความรอด ประพันธ์โดย St. Alphonsus Liguori
5. สมาชิกคณะพระมหาไถ่ที่แท้จริง ประพันธ์โดย St. Alphonsus Liguori
6. ความยากลำบากในการรำพึง ประพันธ์โดย Eugene Boylan O. Cist
7. เราต่างเป็นพี่น้องกัน ประพันธ์โดย Louis Everly
8. ดำเนินตามแสงสว่างของพระองค์ ประพันธ์โดย William A. Anderson
9. เชิญคืนดีสู่ปี 2000
10. ข้อคิดประจำวันของคุณแม่เทเรซา
11. คำภาวนาแห่งชีวิต ประพันธ์โดย Michael Quoist
12. วิธีใช้พระคัมภีร์รำพึงภาวนา ประพันธ์โดย Carmencita Rojas
13. พระพรยามเจ็บป่วย
14. ข้าพเจ้าเชื่อ (คำสอนเล่มเล็ก) A little Catholic Catechism
สมณสาสน์ (Encyclicals / Church Documents)
1. Dies Domini
2. Dives in Misericordia
3. Incarnationis Mysteriun
4. Ecclesia in Asia
ตราสัญลักษณ์ประจำตำแหน่งและความหมาย
พระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนชีพ พระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนชีพ ซึ่งเป็นจุดเด่นของสัญลักษณ์ประจำตำแหน่งพระสังฆราชหมายความว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็นจุดศูนย์กลางในชีวิตของเรา พระองค์คือ แหล่งที่มาแห่งชีวิตนิรันดร (ยน20:31) พระองค์ คือ พระวาจา ผู้ทรงประทานชีวิต พระองค์ คือ “สาร” หลักแห่งพระวรสาร ทั้งในพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่
พระคัมภีร์ คือ พระวาจาของพระเป็นเจ้า ซึ่งได้รับการจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร พระคัมภีร์ คือ แหล่งที่มาแห่งความปรีชาฉลาดอันแท้จริง และอาศัยความเชื่อในพระเยซูเจ้า จะนำเราไปสูความรอด (2ทธ3:15) และไปสู่หนทางแห่งชีวิต (สดด119:105,107)
พระจิตเจ้า (ภายใต้รูปนกพิราบ) พระเยซูคริสตเจ้า พระเจ้าของเราทรงเจริญ พระชนมมายุ และทรงประกอบพันธกิจของพระองค์ในโลกนี้ให้สำเร็จไปได้ ก็ด้วยอานุภาพของพระจิต พระจิตเจ้านับเป็นพระพรอันประเสริฐยิ่ง ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงมอบให้แก่สาวกของพระองค์ พระจิตสถิตอยู่ในจิตใจของเราแล้ว (รม8:9) พระองค์คือ ข้อพิสูจน์ว่าเราได้รับชีวิตอันครบบริบูรณ์ ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงได้สัญญาไว้กับเรา
ในปัจจุบัน พระจิตเจ้าก็ทรงนำทางเรา ทรงสอนเรา และดลใจเราในภารกิจแห่งการประกาศข่าวดีแห่งความรอด ซึ่งเราได้รับจากพระอาจารย์เจ้า
รูปโลก พระบัญชาซึ่งพระองค์ได้ทรงมอบให้บรรดาสาวก พระองค์ก็ทรงมอบให้กับเราผู้มีความเชื่อด้วย พระองค์ตรัสว่า “จงไปเทศน์ข่าวดีแก่ทุกคนในโลก” คริสตชนทุกคนได้รับเรียกให้ประกอบพันธกิจนี้ และได้รับมอบหมายให้นำข่าวดีไปสู่ทุกระดับของสังคมมนุษย์ทั่วโลก
คติพจน์ประจำสมณสมัย
“VERBUM DAT VITAM” แปลตามตัวอักษรได้ว่า “พระวาจาประทานชีวิต” ชีวิตมาจากพระเป็นเจ้า โดยผ่านทางพระวาจาที่พระองค์ตรัส (ปฐก.1:3) ในพันธสัญญาใหม่ พระวาจาของพระเป็นเจ้า ทรงกลับกลายมาเป็นบุคคลในองค์พระเยซูคริสตเจ้า “พระเจ้าทรงสร้างทุกสิ่งทุกอย่างอาศัยพระวจนาตถ์ (พระวาจา) ไม่มีแม้เพียงสิ่งเดียวที่พระเจ้าทรงสร้าง โดยไม่อาศัย พระวจนาตถ์ ชีวิตอยู่ในพระองค์ (ยน.1:3-4)
พระประสงค์ของพระเยซูเจ้าในการเสด็จมาในโลก ก็เพื่อประกาศว่ามนุษย์ทุกคนได้รับเชิญให้มีส่วนในชีวิตอันครบบริบูรณ์ อาศัยความเชื่อในพระองค์ “เรามาเพื่อให้พวกเขาได้มีชีวิต และมีชีวิตอย่างสมบูรณ์” (ยน.10:10) พระวาจาของพระเป็นเจ้ามีความสำคัญมากในอันที่จะช่วยให้เราได้มีชีวิต “เหตุว่ามนุษย์มิได้ดำรงชีวิตด้วยอาหารเท่านั้น แต่ดำรงชีวิตด้วยพระวาจาทุกคำที่ออกมาจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า” (มธ.4:4)
มรณภาพ
องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ยกพระคุณเจ้า ยอร์ช ยอด พิมพิสาร สู่อ้อมพระหัตถ์ของพระองค์ วันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 2017 เวลา 14.10 น. ณ โรงพยาบาลเอกอุดร อุดรธานี สิริอายุ 84 ปี 59 ปี แห่งชีวิตสงฆ์ 42 ปี แห่งการเป็นพระสังฆราช