พระอัครสังฆราชมิแชล มงคล (อ่อน) ประคองจิต

 
 
พระสังฆราชมิแชล มงคล ประคองจิต เกิดวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ.1905 ที่บ้านหลังวัดอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ  เป็นบุตรนายบัว-นางเนื่อง ประคองจิต มีพี่น้อง 16 คน น้องสาวคนหนึ่งเป็นภคินีคาร์แมล บิดามีรกรากเดิมเป็นชาวแปดริ้ว ฉะเชิงเทรา ส่วนมารดาเป็นคนจังหวัดชลบุรี 
 
ชีวิตในวัยเด็ก
พระสังฆราชมิแชล มงคล ประคองจิต เป็นเด็กอ่อนหวาน เรียบร้อย ราวกับผ้าพับไว้ ไม่ชอบคบเพื่อนเกเร ชอบเดินตามคุณปู่ สวดลูกประคำ ชอบเลียนแบบถวายมิสซา ขณะนั้นยังไม่มีน้องชาย จึงเกณฑ์น้องสาวเป็นผู้ช่วย ส่วนตัวเด็กชายมงคลเองก็ชอบช่วยมิสซามาก  ถึงกับสมัครนอนข้างนอก เพื่อจะได้ตื่นแต่เช้า ไปให้ทันช่วยมิสซา คุณพ่อกอลมเบต์ ทุกวัน 
 
บริเวณหลังวัดอัสสัมชัญ สมัยนั้นมีพวกแขกอาศัยอยู่มาก ฉะนั้นในยามว่าง เด็กชายมงคล จึงชอบไปเล่นคลุกคลีกับพวกแขก เคยแต่งกาย รับประทานอาหารกับแขก จนเกิดรสนิยมชอบพวกโรตี ถั่วกรอบๆ มันๆ และภายหลังเมื่อรับศีลอนุกรมเป็นพระสงฆ์แล้ว ยังเคยไว้หนวด  ซึ่งทำให้มีบุคลิกลักษณะละม้ายคล้ายแขกยิ่งขึ้น 
 
เด็กชายมงคล  เป็นเด็กชอบสังเกต ช่างจดจำ เมื่อได้ยินคำเทศน์ อ่านประวัตินักบุญ, หรือนิยายอะไรต่อมิอะไรก็นำมาเล่าต่อเป็นตุเป็นตะ ปรากฎว่าเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันนิยมคารมของเด็กชายมงคลเป็นอย่างมากนอกนั้น เด็กชายมงคล เป็นเด็กซื่อๆ เปิดเผย ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของเด็กควรจะมี  คราวหนึ่งคุณยายให้อัฐ (เงินสมัยนั้น) ไปซื้อขนมจีน เด็กชายมงคล ส่งเงินให้แม่ค้าก่อน แต่ถูกผู้ขายโกงซึ่งหน้า หาว่ายังไม่ได้ชำระ หากเป็นเด็กธรรมดาก็คงได้ทะเลาะกันใหญ่ แต่เด็กชายมงคล รักสงบยอมถือชามเปล่า มารายงานให้คุณยายทราบตามจริง
 
เด็กชายมงคล  เป็นบุตรหัวปี จึงไม่แปลกอะไรที่จะเป็นหัวแก้วหัวรักของบิดามารดา และวงศ์ญาติ โดยเฉพาะคุณยาย แต่เด็กชาย มงคล ก็เคยทำให้ผู้ใหญ่ใจหายใจคว่ำบ่อยๆ เพราะเป็นเด็กขี้โรค ใครๆ พากันนึกว่าหมดหวัง แต่พระญาณสอดส่องยังคงต้องการเด็กคนนี้ไว้ใช้ในภายหน้า  จึงบันดาลให้พบซินแสนักมวยคนหนึ่ง บอกยาขนานศักดิ์สิทธิ์ให้ คราวนี้เด็กชายมงคลก็ไม่ค่อยเจ็บไข้ นอกนั้นซินแสคนนี้คงจะเป็นหมอดูด้วย ได้พูดกับมารดาของหนูมงคลว่า: “ลื้อเลี้ยงให้ลีๆ นาเด็กคนนี้ อีลีก็ลีใจหาย ถ้าไม่ลีก็เป็นมหาโจร” คำกล่าวนี้จะเท็จจริงแค่ไหน ชีวประวัติต่อมาจะให้คำตอบแก่ท่าน 
 
เนื่องจากมีญาติหลายคนทางแปดริ้ว เด็กชายมงคล จึงมาแปดริ้วบ่อยๆ บางครั้งก็พักอยู่เป็นแรมเดือน  หมู่ญาติชอบอัธยาศัย หงิม หวาน ร่าเริง สัตย์ซื่อของเธอ ก็เลยขออนุญาตบิดามารดาให้อยู่เป็นชาวแปดริ้วเสียเลยทีเดียว ซึ่งผู้ใหญ่ทั้ง 2 ก็ไม่ขัดข้อง เพราะนอกจากเป็นการตากอากาศทำให้อนามัยดีขึ้นแล้ว ยังได้เล่าเรียนกับญาติพี่ๆ ที่บ้านด้วย ขณะนั้นมีรถไฟระหว่างกรุงเทพฯ-แปดริ้ว การไปมาจึงสะดวก เด็กชายมงคลเองก็ชอบรถไฟ เคยมานั่งดูรถไฟขบวนต่างๆ แล่นเข้าออกที่สถานี หัวลำโพงบ่อยๆ เลยติดนิสัยชอบเดินทางตั้งแต่เล็กทีเดียว ถึงกับเมื่อคราวได้รับตำแหน่งพระสังฆราชนี้ บรรดาเณรรู้ข่าว ได้พูดสัพยอกว่า ควรจะใส่รูปรถไฟลงในตราประจำตำแหน่งด้วยกลับกรุงเทพฯ เด็กชายมงคล เป็นชาวแปดริ้ว จนกระทั่งอายุ 6 ขวบ วันนั้นที่บ้านญาติทำงานศพ  ผู้ใหญ่ส่วนมากมัวยุ่งรับแขกอยู่บนบ้าน เด็กชายมงคล กับคุณยาย (มาช่วยงานศพด้วย) ลงไปเที่ยวที่ท่าน้ำ มีคนใช้ในบ้านกำลังอาบน้ำอยู่ 
 
“คุณยาย หนูลงไปเล่นน้ำด้วยคนนะ” เด็กชายมงคล ขออนุญาต แล้วยังไม่ทันที่คนใช้จะเตรียมตัวรับ  เด็กชายมงคลก็โดดลงไปในน้ำ แต่เมื่อยังว่ายน้ำไม่เป็น  ก็เลยจมลงไป โผล่ชูขึ้นมาได้เพียงแขน  จึงเกิดร้องโวยวายกันขึ้น  กว่าจะช่วยขึ้นมาได้ ก็ลอยไปหลายวา  คุณยายตกใจมากกว่าใครๆ ทั้งสิ้น “ไม่เป็นไรดอกครับ” หนูมงคลปลอบคุณยาย “หนูตายไปก็เป็นเทวดา หนูจึงรู้สึกเฉยๆ ไม่กลัวตายเลย” นี่เป็นผลมาจากการอบรมที่ดี ผู้ใหญ่สอน เด็กชายมงคลเสมอว่า เด็กๆ ตายไปก็ไปเป็นเทวดาในสวรรค์ การอบรมในปฐมวัยจึงเป็นรากฐานสำคัญที่ผู้ใหญ่ควรสังวรให้จงหนัก 
 
การศึกษา 
คุณยายก็ไม่ยอมให้หลานรัก อยู่แปดริ้วอีก พอเสร็จงานแล้ว ก็เลยรับหลานเข้ากรุงเทพฯ พอดีถึงวัยเหมาะจะเข้าเรียน ผู้ใหญ่จึงจัดส่งเข้าโรงเรียนราษฎร์  ตั้งอยู่ในห้องแถวใกล้ๆ บ้าน เรียนอยู่ไม่เท่าไร เห็นว่าสภาพของ เด็กชายมงคลไม่ดีขึ้น คุณตาคุณยายซึ่งรักหลานชายมาก  จึงส่งเข้าศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ ขณะนั้น เจษฎาจารย์  มาร์ติน เดอตูรส์ เป็นอธิการ 
 
เข้าโรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ ปี ค.ศ.1912 เด็กชายมงคลใช้เวลาที่อยู่โรงเรียนอัสสัมชัญ อย่างจริงจัง ถึง ค.ศ.1916 ก็ได้ชั้นปีที่ 3 (troisieme annee) แผนกฝรั่งเศส จากนั้นการเรียนก็ต้องสะดุดหยุดลง  เนื่องจากได้รับ พระกระแสเรียกให้เข้าสามเณราลัย เพื่อนๆ ร่วมชั้นของ เด็กชายมงคล ที่ยังจำได้ก็มี เช่น นายควง อภัยวงศ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และพี่ๆ น้องๆ เช่น คุณหมิว-เพรียก อภัยวงศ์  เป็นต้น
 
เตรียมตัวเข้าบ้านเณร
แน่นอนผู้ที่จะเป็นนักบวช ก็จำต้องได้รับพระกระแสเรียก และมีพระหรรษทานสนับสนุน สำหรับ เด็กชายมงคล ก็เช่นเดียวกัน เรื่องมีอยู่ว่า เพื่อนสนิท 2 คนของเด็กชายมงคล มาคุยให้ฟังว่า เขาจะลาออกจากโรงเรียนอัสสัมชัญ “นี่แน่ะ มงคล ผมจะไม่ได้อยู่โรงเรียนนี้แล้วนะ” เพื่อนกระซิบบอก “อ้าว ! ทำไมล่ะ  ก็เรียนที่นี่ก็ดีแล้วนี่น่า” มงคลรีบซักความจริง ก็พอดีกระดิ่งเรียกนักเรียนเข้าแถว การสนทนาจึงชะงักเพียงนี้ เมื่อเลิกเรียนแล้ว เพื่อนก็เอาพจนานุกรมฝรั่งเศส เปิดคำ “Seminaire” คือ “สามเณราลัย” ให้ดู เด็กชายมงคล ดู เธอก็เข้าใจความหมายทันที
 
ขณะนั้นคุณพ่อกอลมเบต์ เป็นเจ้าอาวาสวัดอัสสัมชัญ  คุณพ่ออันเดร (เจ้าอาวาสวัดหนองจอก)  เป็นปลัด  เด็กทั้ง 3 ไปแจ้งความประสงค์ให้คุณพ่อปลัดทราบ (ภายหลังเพื่อน 2 คนมีอุปสรรค) คุณพ่ออันเดร ดีใจมาก เพราะรู้สึกชอบบุคลิกภาพของ เด็กชายมงคล มาก่อนแล้ว คุณพ่ออันเดร จึงรับอาสาอบรมและตรวจดูน้ำใจเด็กชายมงคลอย่างรอบคอบ ว่าเหมาะสมที่จะเป็นข้าบริการของพระจริงๆ หรือไม่  เมื่อเป็นที่แน่ใจแล้ว คุณพ่ออันเดร จึงแจ้งความประสงค์ของเด็กให้บิดามารดาทราบ ความจริงท่านทั้ง 2 ไม่สู้เต็มใจให้ไปนัก เพราะนึกหวังพึ่งลูกชายหัวปีคนนี้อย่างเต็มที่ (เวลานั้นยังไม่มีลูกชายคนอื่นเลย) อนึ่งท่านบิดาเวลานั้นสายตาไม่สู้ปกติ ทำให้ครอบครัวมีรายได้ไม่สู้ดี  แต่ในที่สุดพระกระแสเรียกก็เป็นฝ่ายชนะ จึงได้จัดการลา เด็กชายมงคล ออกจากโรงเรียนอัสสัมชัญ มาฝึกหัดอบรมตัวที่วัดอัสสัมชัญ คุณพ่ออันเดรพาไปชมวัดต่างๆ หวังให้รู้จักกิจการมิสซัง ให้รู้จักบริจาคตนเองเพื่อพระยามว่างก็กะงานให้ลอกคติพจน์ละตินจากพระคัมภีร์  เป็นต้น 
 
สมัยอยู่ในสามเณราลัยน้อย
เริ่มเข้าบ้านเณร เมื่อได้ใช้เวลาฝึกฝนกับคุณพ่ออันเดรได้ราวปีเศษ ก็ถึงเวลาเข้าบ้านเณรอย่างแท้จริง สมัยนั้นสามเณราลัยศรีราชายังไม่มี บ้านเณรของมิสซังกรุงเทพฯ อยู่ที่บางนกแขวก (เรียก “บ้านเณรบางช้าง” ก็ได้) ต้นปี ค.ศ.1916 เดือนมกราคม  เป็นเวลาปิดภาคปลายปีของสามเณราลัย ซึ่งคุณพ่อการ์ตอง ผู้สามารถ เพิ่งเข้าประจำเป็นอธิการใหม่ ทางบ้านเณรได้รับเชิญไปเที่ยวจันทบุรี  สมัยนั้นการคมนาคมไม่สะดวก  รู้สึกว่าเป็นที่ตากอากาศอันแสนไกล เวลากลับบางนกแขวก มีเด็กคริสตังจันทบุรีสมัครเข้าบ้านเณรถึง 7 คน เมื่อถึงกรุงเทพฯ ก็ได้สมทบรับ “เด็กชายมงคล” ด้วยอีกคนหนึ่ง ระหว่างทางจากกรุงเทพฯ ถึงบางนกแขวก เด็กใหม่ชาวจันท์ทั้ง 7 ซุกซนอยู่ไม่สุข ประหนึ่งว่าทุกคนมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลสามเณรใหญ่ในเรือทั้งลำ แต่พอหนูมงคลสงบเสงี่ยมอยู่กับที่ หรือไม่ก็ยืนมือไขว้หลังอย่างชาวกรุงออกบ้านนอก แน่นอน สมองของพ่อหนูคงทำงานหนัก ผิดกับเด็กอื่นๆ ถึงกับสามเณรใหญ่ออกปากว่า “หนูคนนี้เรียบร้อยดีเหลือเกิน” 
 
การเรียนขั้นแรก
การเรียนของสามเณรมงคล  ตรงข้ามกับท่านสงวน  ปรากฏว่าเธอเรียนได้ดีไม่มีอุปสรรคเลย  ทั้งนี้เนื่องจากมีพื้นดีมาจากโรงเรียนอัสสัมชัญแล้ว ประกอบทั้งมีนิสัยเคร่งขรึมเอาการเอางาน รู้จักหาวิธีแก้ไขอุปสรรค ไม่ยอมท้อถอยตั้งแต่ปีแรกและตลอดไปทั้ง 8 ปีที่อยู่สามเณราลัยทีเดียว จึงเป็นที่เบาใจของ คุณพ่อที่สอนเป็นอย่างมาก  เธอชอบนั่งค้นตำรับตำราในห้องเรียนแทบตลอดวัน เป็นคนหนึ่งและคนเดียวที่คุณพ่อการ์ตอง เคยพูดเสมอเมื่ออบรมเณรรุ่นหลังๆ ว่า “เมื่อเอ่ยถึงเณรที่มีปัญญาแล้ว  ใครๆ ก็ยกให้  คุณพ่อมิแชล มงคล แต่ความจริง คุณพ่อมิแชล  มงคล มิใช่มีปัญญาพิสดารกว่าคนอื่น  ในทางตรงข้าม มีเณรอื่นที่เชาวน์ไวกว่าเสียอีก แต่สิ่งที่ทำให้คุณพ่อมงคล ก้าวหน้าข้ามคนอื่นคือ  เป็นคนมุมานะอย่าง หาตัวจับยากและรู้จักเรียน” 
 
ความจริงก็เป็นเช่นนั้น เมื่อเณรมงคลไม่เข้าใจตรงไหน เป็นต้องทวนตรงนั้นอย่างไม่ต้องนับครั้ง จนกว่าจะแทงทะลุปรุโปร่ง เวลาทำแบบฝึกหัด เช่น เกี่ยวกับภาษา เป็นต้น  จะทำให้ถูกหลักไวยากรณ์  ก็ได้ แต่ชอบทำให้เพี้ยนๆ นิดหน่อย  ซึ่งสงสัยว่าจะทำได้ ทั้งนี้เพื่อหาความรู้ให้กว้างขวางออกไปอีก คติประจำใจของเธอ คือ “ทำเร็วและทำดี” ดังได้สอนคนอื่นให้ปฏิบัติตาม คุณสมบัติเหล่านี้เองเป็นปัจจัยดึงดูดให้ผู้ใหญ่คิดส่งไปศึกษาต่อที่กรุงโรม ภายหลังได้มาเป็นอธิการบ้านเณร และในที่สุดก็แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งพระสังฆราชอันสูงศักดิ์ ทั้งนี้ก็เพราะเล็งเห็นแน่แก่ใจว่า บุคคลที่มีมานะ รู้จักแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้นี้เป็นทุนสำรอง คงจะถือบังเหียนปกครองมิสซังให้เจริญก้าวหน้าอย่างไม่ต้องสงสัยด้วย 
 
ความภูมิใจและความประพฤติ 
เณรสมัยนั้นแต่งกายด้วยเสื้อดำคล้ายอาซิ้ม แต่สามเณรมงคลก็ภูมิใจในสีดำรู้สึกว่าเป็นมงคลสำหรับตนไม่อยากถอดเลย เณรที่เข้ารุ่นเดียวกันสำเร็จเป็นพระสงฆ์ ก็มีหลายองค์ เช่น คุณพ่อซามูแอล, คุณพ่ออาทานาส และคุณพ่อบุญไทย เป็นต้น ที่ออกจากบ้านเณรเสียก่อนมีมาก แต่มีคนหนึ่งมาจากมิสซังท่าแร่ ชื่อสีพอง คนนี้ได้ทำประวัติการป้องกันพระศาสนาคราวกรณีพิพาทอินโดจีนที่ถูกมือมืดลอบสังหารเสียด้วยปืน 
 
ในที่สุดปี 1-2 ซึ่งเป็นชั้นเตรียมภาษาลาตินก็ผ่านไปโดยราบรื่น เริ่มด้วยปีที่ 3-4 เธอเอาใจใส่ภาษาลาตินและฝรั่งเศสเป็นพิเศษ ชอบท่องจำสำนวนโวหารละติน  คือ ทำนองไพเราะของลาตินนั้น บางที หน้าหนึ่งมีกริยาสำคัญ (finite verb) เพียงตัวเดียว นอกนั้นเป็นอนุประโยคขยายทั้งสิ้น อีกอย่างหนึ่งที่เธอซาบซึ้งจากบ้านเณรคือวันฉลองนักบุญทั้งหลาย เธอชอบบทสดุดีในบท (Vesperas) ของวันนี้มาก เกิดความนิยมซาบซึ้งตรึงใจถึงสวรรค์อย่างประหลาด แม้สามเณรมงคลจะหายใจเป็นภาษาลาติน-ฝรั่งเศส แต่เมื่อเห็นพวกเพื่อนชอบทำมิสซา, ในเบื้องต้นเธอเพียงมองดูเฉยๆ ไม่สู้กระตือรือร้น เมื่อดูหนักเข้าชักเกิดศรัทธาขึ้น เห็นเพื่อนไม่อยู่เป็นต้องเข้าไปทดลองทำ เริ่มเฉพาะตอนสำคัญเท่านั้น เพราะสำหรับคนหมั่นเรียนอย่างสามเณรมงคล ย่อมถือว่าเวลาเป็นเงินเป็นทอง มิสซาของเขาจึงเริ่มตั้งแต่ตอนรับศีล เล่นเอาเพื่อนๆ มองตาค้างไปตามๆ กัน 
 
ในเวลาปล่อยพักหย่อนใจ ซึ่งเณรอื่นวิ่งไล่กันเกรียวกราวเสียงขรม สำหรับสามเณรมงคล อย่างมากก็ออกมายืนสนทนากับเพื่อนเณรบางคน  เว้นเป็นวันฉลองใหญ่ หรือวันที่มีการเล่นอย่างชั้นที่หนึ่ง นั่นแหละ มักจะมีคนชวนเณรมงคลกับเพื่อนอีก 2-3 คน ที่มีนิสัยคล้ายคลึงกัน ให้ออกมาวิ่งแข่งให้ทั้งบ้านชม เวลานั้นแหละเป็นเวลาที่อึกทึกครึกโครมที่สุด เราจะเห็นนักกีฬาหน้าแปลกๆ ซึ่งวิ่งในสนามเหมือนห่านบิน  เราจะได้ยินเสียงตบมือหัวเราะอย่างชุลมุน เพราะนานๆ จึงจะมีโอกาสเห็นเช่นนี้สักครั้ง 
 
ในด้านการงาน สามเณรมงคลต้องทำงานหนักใช้ได้  ทุกวันพฤหัสบดีและบางทีวันหยุดเรียนด้วย เขากับเพื่อนมีหน้าที่หาบน้ำจากท่า  จนถึงบ้าน อันมีระยะราว 3 เส้นเศษๆ กว่าจะได้แต่ละเที่ยวไม่ผิดอูฐบรรทุกน้ำจากทางไกล และต้องหาบเช่นนี้ราว 2 ชั่วโมงต่อกัน ไม่ใช่ของเล่น นอกนั้นยังมีหน้าที่ยกอาหาร ปรินิบัติเณรที่ป่วยอีกด้วย  ซึ่งเป็นหน้าที่เรียกร้องความอดทนมิใช่น้อย แต่อย่างไรก็ดี เรื่องความอดทนหรือพากเพียรนี้เป็นอุปนิสัยประจำตัวของเณรมงคลก็ว่าได้ ฉะนั้นไม่ว่าวิชาอะไร ถ้าสามเณรมงคลได้จับขึ้นเรียนแล้ว อย่างน้อยก็พอไปได้  ไม่น้อยหน้าคนอื่น 
 
บุคลิกลักษณะของสามเณรมิแชล มงคล เป็นคนรูปร่างสมบูรณ์เพียงไร ใครๆ ก็ทราบดี ท่านเป็นคนอ้วนท้วนมีสง่า สมกับตำแหน่งพระสังฆราช ผิดกับสมัยเมื่อยังเป็นสามเณรที่บางนกแขวก รูปร่าง ผอมเรียว เวลาวิ่งไล่ฟุตบอลแลดูยืดยาวเหมือนนกกระยาง เวลานั้นท่านกลัวลม กลัวหนาวมาก พอถึงฤดูหนาวคราวไร มักจะเอาผ้าห่มพันคอเสียหลายชั้น  แล้วใส่เสื้อยาวทับข้างนอกอีกชั้นหนึ่ง มองดูตัวพองเหมือนไส้กรอก เข้าทีมิใช่เล่น 
 
เป็นครูบ้านเณร เมื่อเรียนจบ 8 ปีตามระเบียบสมัยนั้นแล้ว ก็ถึงเวลาออกทดลองใจ (Probatio) เป็นเวลา 2 ปี บรรดาเณรรุ่นเดียวกัน ถูกจ่ายไปช่วยตามวัดต่างๆ แต่เณรมงคลจะเป็นคนโปรดปรานของคุณพ่ออธิการ จึงคงดำรงตำแหน่งเป็นครูที่บ้านเณรนั่นเอง ครูมงคลเป็นเณรที่เข้มแข็งมาอย่างไร คราวนี้กับภาระเป็นครูสอนเณร  และช่วยคุณพ่ออธิการ ก็คงแข็งแกร่งอย่างนั้น ประจักษ์พยานคือ ลูกศิษย์ของครูมงคลได้เป็นพระสงฆ์ก็หลายองค์ เช่น คุณพ่อเศียร,  กิมฮั้ง, และอินทรีย์  เป็นต้น 
 
สามเณราลัยใหญ่ที่กรุงโรมและบวชเป็นพระสงฆ์
สภาพการณ์ก่อนเดินทาง ปี ค.ศ.1924-1925 คณะภคินีอุร์สุลิน และคาร์เมลิค ทยอยเข้าสู่ประเทศไทยติดๆ กัน ข่าวล่าสุดคือ คณะซาเลเซียน ก็จะเข้ามาทำงานมิสซังในประเทศไทยด้วย ในประเทศใกล้เคียง เช่น ญวน มีการส่งเณรไปศึกษาต่อที่กรุงโรมมาก่อนหลายปีแล้ว เหล่านี้เป็นสัญญาณว่าพระศาสนจักรในประเทศไทยจำต้องมีการตื่นตัวด้วย พระสังฆราชแปร์รอส ผู้มีสายตายาว จึงดำเนินเรื่องจัดส่งเณรไปศึกษาต่อที่กรุงโรมกับคุณพ่อการ์ตอง เพื่อวันหน้าจะได้อาศัยเป็นกำลังสำคัญของมิสซังต่อไป คุณพ่อการ์ตองเห็นชอบด้วย และตัวเก็งที่เหมาะ คือ ครูมงคล ศิษย์รักหัวแก้วหัวแหวนของคุณพ่อนั่นเอง 
 
ครูมงคลเดินทางไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยโปรปากันดา ฟีเด สมความประสงค์ใน ค.ศ.1927 แต่ในเวลาเดียวกันก็รู้สึกอึดอัดและหนักใจมาก เพราะเป็นคนแรกที่ต้องไปเมืองนอก  ไม่รู้เหนือรู้ใต้ ไปตัวคนเดียว จะปรึกษาใครก็ไม่ได้ แต่เล็กจนคุ้มใหญ่เคยอยู่แต่ที่สามเณราลัยบางนกแขวก อันมีเนื้อที่จำกัด บัดนี้ต้องออกเผชิญหน้ากับโลกอันไพศาล มหาสมุทรสุดสายตา กว่าจะถึงปลายทาง คงต้องรู้สึกวังเวงมิใช่น้อย 
 
ที่กรุงโรม ถึงแม้จะเป็นการชิมลางของผู้ใหญ่ เป็นการเริ่มศักราชใหม่ของมิสซังกรุงเทพฯ แต่ครูมงคลก็มิได้ทำให้ผู้ใหญ่ที่ส่งไปผิดหวังเลย คงตั้งหน้าบำเพ็ญตนเป็น  “ลูกศิษย์มีครู”  และเข้มแข็งเสมอ  ทางมหาวิทยาลัยจัดให้ครูมงคลเข้าเรียนในชั้น “กูร์ซูส์มายอร์” (เตรียมอุดม) ควบไปกับวิชาปรัชญา มีกำหนด 3 ปี ต่อจากนั้นจึงเรียนเทววิทยาอีก 4 ปี รวมเวลาศึกษาทั้งสิ้น 7 ปี ได้รับปริญญาโททางเทววิทยา และปริญญาเอกทางปรัชญา พร้อมทั้งได้เหรียญพิเศษทางดนตรี และอักษรศาสตร์ด้วย
 
มหาวิทยาลัยโปรปากันดา ฟีเด เป็นศูนย์กลางของเณรหลายสิบชาติ บรรยากาศ และสิ่งแวดล้อม  รวมทั้งความสนิทชิดเชื้อกับบรรดาเณร โดยเฉพาะที่พูดภาษาอังกฤษ เช่น อเมริกัน พวกนี้เปิดเผยชอบสนุกสนานเฮฮา ครูมงคลก็เลยถอดนิสัยผ้าพับไว้ กลายเป็นคนแจ่มใสร่าเริงผิดกับแต่ก่อนอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ รู้สึกว่าชอบขนมปังนมเนยยิ่งกว่าข้าวต้มหรือน้ำพริกก่อนนี้ไม่ชอบเล่นอะไรหมด หมกมุ่นแต่ในการเล่าเรียน เดี๋ยวนี้เริ่มฟิตตัวเป็นนักกีฬา พยายามเล่นไม่เลือก  มีมวยปล้ำ ฟุตบอล เทนนิส ขี่ลา เป็นต้น พยายามที่จะนำชื่อเสียงมาสู่ประเทศไทย และนำความขบขันบันเทิงแก่เพื่อนเณรด้วย 
 
ภารกิจพิเศษเนื่องจากที่มหาวิทยาลัยมีเณรอยู่หมู่มากด้วยกันหลายชั้น และเพื่อให้การปกครองคณะเณรเป็นไปโดยเรียบร้อย ทางมหาวิทยาลัยจึงจัดแบ่งเณรออกเป็นหมู่ๆ หมู่ละ 20 คน ใน ค.ศ.1931 ครูมงคลก็ได้รับเลือกเป็นรองหัวหน้าหมู่ และมิช้าก็ได้เป็นผู้หมู่เลยทีเดียว  ซึ่งจัดว่าเธอเป็นคนหนุ่มที่สุดในบรรดาหัวหน้าหมู่ด้วยกัน เธอก็ได้เอาใจใส่ดูแล และเอาอกเอาใจผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาอย่างดีมาก ในจำนวน 20 คนนั้น มีทั้งฝรั่ง แขก  ญวน จนจดแม่น้ำแยงซีเกียง และฮวงโห นอกนั้น ครูมงคล ยังเป็นประธานคณะขับร้องของมหาวิทยาลัยด้วย นับว่ามีความสามารถไม่น้อยเลย ทั้งๆ ที่ต้องเสียเวลาในหน้าที่ ซึ่งผู้ใหญ่มอบหมายให้อย่างมากมาย แต่ก็ไม่เคยเสียประวัติในการเล่าเรียนเลย 
 
ปีค.ศ.1930  ครูมงคลได้พบคนไทย ซึ่งเคยร่วมสำนักศึกษาเดียวกันมาก่อน เป็นเพื่อนแก้ง่วง 2 คน โดยทางมิสซังกรุงเทพฯ จัดส่งสามเณรสงวนและเคียมสูนไปเรียนต่อที่กรุงโรม ในมหาวิทยาลัยแห่งเดียวกัน สังเกตว่าครูมงคลดีใจและเอาใจใส่ต่อเณรไทยที่เพิ่งมาถึงใหม่ๆ นี้มาก ประหนึ่งเป็นอธิการของเขาทั้ง 2 ก็ว่าได้ คอยให้สติ ตั้งปัญหาถามเพื่อนทั้ง 2 เสมอ เมื่อเสร็จจากการเข้าเงียบ เพื่อนใหม่ทั้ง 2 นั้น จะต้องรายงานให้ครูมงคลทราบว่าอะไรเป็นที่น่าเตือนใจที่สุด เงินทองก็ต้องมีไว้แต่น้อย นอกนั้น ครูมงคล ยังได้รับอนุญาตจากท่านอธิการบดีให้สอนภาษาอิตาเลียนแก่เพื่อนทั้ง 2 ด้วย 
 
ปี ค.ศ.1931 ครูมงคลยังได้เพื่อนเพิ่มอีกคนหนึ่ง คือ สามเณรบุญชู ระงับพิษ สามเณรบุญชู มีบุญสมชื่อ ได้มีโอกาสอยู่ใกล้ชิดครูมงคลมากกว่าใครๆ ในพระเพื่อนไทยเดียวกัน จึงได้รับทั้งอบทั้งรม ในหลายๆ ด้าน เยี่ยงบิดาต่อบุตร
 
รับศีลอนุกรม (ศีลบรรพชา)
ครูมงคลได้รับศีลอนุกรมเป็นพระสงฆ์จากพระคาร์ดินัลมาร์แคตตี ณ พระวิหาร ยวง ลาดราน เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ.1933 เป็นพระสงฆ์ไทยองค์แรกในสมัยนี้  ที่รับศีลบรรพชาในใจกลางแห่งพระศาสนจักร เมื่อเป็นพระสงฆ์แล้ว ยังต้องเรียนต่อไปจนจบหลักสูตรในกลางปี ค.ศ.1934 ระหว่างนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสอิตาลี คุณพ่อมงคล พร้อมกับสามเณรไทยก็ได้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด และถือโอกาสทูลชี้แจงเรื่องราวต่างๆ ทางตำนานพระศาสนาตามที่ทรงมีพระราชประสงค์ด้วย 
กลับมาทำงานในประเทศไทย 
เริ่มชีวิตการทำงาน ปี ค.ศ. 1935-1936 ปลัดวัดเชียงใหม่
คุณพ่อมงคลกลับมาถึงประเทศไทยในกลางปี ค.ศ.1934 นำความชื่นชมยินดีมาสู่ผู้ใหญ่ฝ่ายมิสซัง,  สำนักศึกษาเก่า, และวงศ์ญาติทั่วไป ขณะนั้นกำลังเริ่มเบิกมิสซังใหม่ทางภาคเหนือ พระสังฆราชแปร์รอส จึงส่งคุณพ่อไปช่วยคุณพ่อเมอนิเอร์ เจ้าอาวาสวัดเชียงใหม่  เมื่อถึงวัดเชียงใหม่ คุณพ่อมงคลผู้กำลังเร่าร้อน  เริ่มลงมือเอาใจใส่ โดยเฉพาะพวกอนุชน ตามหลักวิชาที่ศึกษามา คุณพ่อหัดอ่านและพูดภาษา “เวียง” จนได้รับคำชมเชยว่าพูดภาษาของเขาได้ดีและชัดเจน กว่าพระสงฆ์ไทยอื่นๆ ที่เคยอยู่ทางแถบเหนือ 
 
อย่าลืมว่า คุณพ่อมงคล สำเร็จการขี่จักรยาน 2 ล้อจากตูริน ในประเทศอิตาลี  จึงไม่แปลกอะไรที่เมื่อมาอยู่เชียงใหม่ สามารถใช้จักรยานได้คล่องแคล่วราวกับมอเตอร์ไซด์ เพื่อประหยัดเวลา หลายครั้งได้ใช้จักรยานเดินทางไปแปลคำสอนและสอนคำสอน ที่โรงเรียนมงฟอร์ต  ได้หว่านพระธรรม คำสอน กระทั่ง ถึงประตูรั้วบ้าน 
 
ต่อจากนั้นดูแลวัดเมืองพาน ระหว่างอยู่เชียงใหม่ ท่านผู้ใหญ่ได้มอบหมายให้ คุณพ่อไปดูแลวัดเมืองพาน จังหวัดเชียงรายด้วย  เวลานั้นยังไม่มีวัด ต้องอาศัยบ้านคริสตังใจศรัทธาเป็นที่พักและประกอบศาสนพิธี คุณพ่อได้เริ่มสร้างวัดเมืองพาน และมีความประสงค์สร้างเป็นวัดชั่วคราวก่อน พร้อมทั้งใช้เป็นที่พักพระสงฆ์และโรงเรียนเสร็จในตัว ท่านผู้อ่านควรทราบด้วยว่าทางภาคเหนือนั้นกันดารมาก การคมนาคมไม่สะดวก โรคภัยไข้เจ็บชุกชุม คุณพ่อต้องบากบั่นกัดฟันสู้อุปสรรค ทุกชนิด จนกระทั่งหาเวลาโกนหนวดก็ขัดสน จากปากคำมารดากล่าวว่า “คุณพ่อไว้หนวดเพื่อให้ชาวป่าชาวดอยทางภาคเหนือเกรงค่ะ” ข้อเท็จจริงจะแค่ไหน ตัวคุณพ่อเท่านั้นทราบดีที่สุด 
 

ปี ค.ศ. 1937-1941 มาเป็นอาจารย์สามเณราลัยศรีราชา  
ปลายปี ค.ศ.1934 ตรงกับวันคริสต์มาส สามเณราลัย บางนกแขวก แห่งมิสซังกรุงเทพฯ ก็ได้อพยพมาตั้งรกรากที่ศรีราชา การศึกษาของประเทศไทย ตื่นตัว มีหลักสูตรและประมวลการสอนเรียบร้อยขึ้น คุณพ่อนอแอล อาจารย์ภาษาไทยประจำบ้านเณรสุขภาพเสื่อมโทรม  ประกอบกับ ทางบ้านเณรมีนโยบายจะจัดการศึกษาของพวกเณรให้คล้อยตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการด้วย พระสังฆราชแปรรอส จึงมีคำสั่งย้ายคุณพ่อมงคลมาประจำสามเณราลัยศรีราชา ตามที่คุณพ่อเคยเตรียมตัวไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว ขณะนั้นคุณพ่อการ์ตอง ยังเป็นอธิการจึงไม่แปลกอะไรที่คุณพ่อผู้อาวุโสจะรู้สึกยินดี และถือเป็นความบรรเทาใจขนานเอกได้เห็นศิษย์เก่าที่รักและที่ท่านเคยชมนักชมหนา บัดนี้กลับมาร่วมงานช่วยเหลือท่านต่อไปแล้ว
 
วันที่คุณพ่อมาถึงสามเณราลัยศรีราชา บรรดาเณรได้พากันมาคำนับแสดงความยินดี ตอนหนึ่งในคำปราศรัยตอบ คุณพ่อเล่าว่า พอกลับจากโรมถึงกรุงเทพฯ ใหม่ๆ พระสังฆราชแปร์รอสถามว่า: “ลูกอยากจะไปอยู่วัดไหน?” คุณพ่อตอบไปอย่างซื่อๆว่า :“ลูกได้เตรียมตัวไว้สำหรับไปอยู่บ้านเณร” แต่แล้วขณะนั้นเห็นทียังไม่ถึงเวลา พระสังฆราชจึงส่งคุณพ่อเข้าป่าเมืองเหนือ และต่อมาจึงได้มาอยู่สามเณาลัย  ในตำแหน่งอาจารย์สอนวิชาภาษาไทย, หน้าที่-ศีลธรรม และประวัติศาสตร์  คุณพ่อมีนิสัยชอบสอน และรู้จักกโลบายถ่ายเทความรู้ คุณพ่อใช้วิธีวางแนวให้นักเรียนรู้จักจับหลักใหญ่ๆ ของวิชา ชั่วเวลาเพียง 3 ปี ลูกศิษย์ของคุณพ่อรุ่นแรก ทั้ง ม.3-ม.6 ก็ได้เข้าสมทบที่สนามสอบจังหวัดชลบุรี และชิงตำแหน่งที่ 1 ของจังหวัดในด้านภาษาไทย ให้ความปลาบปลื้มหายเหนื่อยมาสู่คุณพ่อเป็นอย่างมาก 
 
อนึ่งในปี ค.ศ.1937 ระหว่างวันที่ 3-7 กุมภาพันธ์  มีการประชุมเคารพศีลมหาสนิทสากล ครั้งที่ 33 ณ นครมนิลา คุณพ่อไปประชุมด้วย ในฐานะผู้แทนมิสซังกรุงเทพฯ พร้อมกับพระสังฆราช ปาซอตตี (ขณะนั้นเป็นสังฆรักษ์), คุณพ่อเฮโร, ภคินี,ฟรังซัว และมารีหลุยส์ แห่งโรงเรียนเซนต์ ยอแซฟ, และคุณหลวงดำรง ออกเดินทางจากประเทศไทยเมื่อ 23 มกราคม ผ่านทางอินโดจีน และเมื่อกลับมาแล้ว คุณพ่อได้แสดงสุนทรกถายืดยาวที่วัดอัสสัมชัญ  เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ เผชิญวิกฤติการณ์  สันติกับกุลียุคเป็นของคู่กัน กล่าวคือใน ค.ศ.1937 ประเทศไทยเริ่มมีวันชาติ มีรัฐนิยม ลัทธิชาตินิยมกำลังฉีดเข้าเส้นของไทยอย่างเต็มที่  และในที่สุดมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดขึ้น ต่อมา ประเทศไทยเกิดกรณีพิพาทเรื่องดินแดนเก่ากับอินโดจีนฝรั่งเศส เป็นเหตุให้พระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยต้องรับความกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงด้วย หลายแห่งถูกปิดถูกเผา หรือไม่ก็ถูกลื้อถอนทำลาย ของศักดิ์สิทธิ์ถูกทำลาย คิดแล้วน่าอนาถแสนเศร้าพ้นประมาณ ฉะนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่สามเณราลัยก็พลอยถูกปิดไปด้วย พร้อมกับโรงเรียนคาทอลิกตามวัดต่างๆ อีกหลายสิบแห่ง สภาพของบ้านเณรกลายเป็นเรือนร้าง เณรส่วนมากกลับบ้านของตน น้อยคนเข้าเรียนต่อกับคณะซาเลเซียนที่บางนกแขวก พระสงฆ์ที่เป็นชาติฝรั่งต้องอพยพเข้ากรุงเทพฯ และต่อมาก็ต้องเนรเทศตนเองเข้าสู่อินโดจีนที่สามเณราลัย เหลือแต่คุณพ่อมงคลองค์เดียวอยู่เฝ้า ซึ่ง ต้องถูกรบกวนทั้งกลางวันและกลางคืนจากผู้ที่อ้างตนเองว่าเป็น “คนรักชาติ” เป็น “คณะเลือดไทย” 
 
ที่วัดพนัสระหว่างนั้นคุณพ่อยังต้องไปช่วยคุณพ่อยอแซฟ  ผู้ชราที่วัดพนัสด้วย  ที่นั่นพอตกค่ำหลังคามักถูกขว้าง บางครั้งถูกขว้างด้วยกระปุกตังไฉ่  บรรจุสิ่งปฏิกูลส่งกลิ่นฟุ้งตลบทั่วบ้าน ที่สุดคุณพ่อทนรบกวนไม่ไหว ตองหลบไปนอนที่เล้าหมู เป็นอย่างนี้อยู่นานพอที่จะทำให้เส้นประสาทไม่ปกติ  คิดแล้วน่าอนาถใจจริง  เราเป็นคนไทย  แต่หาได้รับความคุ้มครองอย่างคนไทยไม่  เขาต้องการให้เราทิ้งพ่อแม่ของเรา ไปนับถือพ่อแม่ของเขา เป็นสิ่งที่น่าละอายเหลือเกิน เราถูกกล่าวหาว่าเป็นคนทรยศต่อชาติ  ทั้งๆ ที่เราไม่ทราบว่าจะทรยศต่อชาติเพื่อประโยชน์อันใด  เราถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกขายชาติ  ในเมื่อเราเองก็ไม่เคยคิดว่า ชาติเป็นสิ่งที่ขายกันได้  
 
 
 
ปี ค.ศ. 1941 บ้านเณรศรีราชาถูกปิด
ปี ค.ศ. 1941-1944  เจ้าอาวาสวัดเชียงใหม่   
ระหว่างที่กำลังวุ่นวายกันอยู่นี้เอง พระสังฆราชแปร์รอสได้ส่งคุณพ่อไปอยู่เชียงใหม่อีกวาระหนึ่ง แต่คราวนี้ในฐานะเจ้าอาวาสวัดเชียงใหม่  มีคุณพ่อบุญชูคอยอยู่ก่อนแล้ว  ทั้ง 2 ต้องเผชิญหน้ากับความข่มเหงของคนอธรรมที่อ้างตัวว่าเป็นผู้รักชาติ ซึ่งขณะนั้นผุดขึ้นมาทั่วประเทศไทย คุณพ่อมงคล และคุณพ่อบุญชูได้ช่วยกันป้องกันวัดและคริสตังเชียงใหม่ด้วยสันติวิธี จนพายุร้ายค่อยเบาบางลง พอจะหายใจได้ทั่วท้องบ้าง 
 
ปี ค.ศ.1944-1945 คุณพ่อถูกย้ายลงมาอยู่วัดพิษณุโลก
วัดนี้ถูกชะตากรรมอย่างหนัก จนพระสงฆ์อยู่ไม่ได้ ถูกทิ้งร้างไว้หลายปี เวลาไปถึงคุณพ่อไม่สามารถอยู่ที่วัด  เพราะมีมือมืดคอยจ้องปองร้ายเสมอ จำเป็นต้องอยู่ตามบ้านคริสตัง ซึ่งเป็นจีนแคะ เลยเป็นโอกาสให้คุณพ่อรู้รสข้าวต้มและน้ำชาขึ้นมาบ้าง เรื่องการกินการอยู่นี้คุณพ่อไม่สู้หนักใจนัก เพราะถือเสียว่าอย่างไหนที่มนุษย์เขาอยู่กินกันได้ คุณพ่อเป็นไม่ยอมแพ้ใครเหมือนกัน แต่เรื่องถูกบีบเสรีภาพอย่างไม่เป็นธรรมนี่สิ คุณพ่อรู้สึกเหลือทน คุณพ่อพยายามเรียนภาษาแคะกับเขาเหล่านั้น  รู้สึกว่าก้าวหน้ารวดเร็วมาก ถ้าได้อยู่นานสักหน่อยคงจะรู้ลึกซึ้งเหมือนภาษาตนเอง แต่น้ำพระทัยของพระหาเป็นดังนั้นไม่ 
 
ปี ค.ศ. 1945-1953  อธิการสามเณราลัยศรีราชา
อธิการสามเณราลัยศรีราชา  ปี ค.ศ.1945 รุ่งอรุณเบิกฟ้า  มรสุมค่อยๆ จาง  มิสซังกรุงเทพฯ ถูกแบ่งเป็น 2 มิสซัง คือมิสซังจันทบุรีและกรุงเทพฯ ตัวบ้านเณรศรีราชาอันอยู่ในท้องที่ของมิสซังจันทบุรี ตกเป็นของมิสซังกรุงเทพฯ เวลานี้คุณพ่อสงวนเป็นอธิการอยู่  พระสังฆราชแปร์รอสจึงได้ย้ายคุณพ่อมงคล ซึ่งเป็นคนมิสซังกรุงเทพฯ  เป็นอธิการสามเณรแทน  ครั้งนั้นเพิ่งมีสามเณรราว 30 คน เพราะเพิ่งเปิดดำเนินกิจการใหม่ คุณพ่อมงคลเข้าประจำบ้านเณรในฐานะอธิการ พยายามทุกวิถีทางให้เณรก้าวหน้า ทั้งในด้านความศรัทธา วิชาความรู้  และความสะดวก ทำนุบำรุงสามเณราลัย 
 
เพื่อที่จะได้บรรลุถึงจุดหมายที่มุ่งไว้ คุณพ่อได้บำเพ็ญตนเป็น “พ่ออธิการคนขยัน” อุตส่าห์ทำงานทุกอย่างเสียคนเดียว อาทิเช่น หาผลไม้บางอย่างมาทดลองปลูกดู  ได้ปลูกมะม่วงแก้วไว้สิบต้น, ทดลองเลี้ยงวัวตามหลักวิชาที่ได้รับจากวัดเชียงใหม่ เลี้ยงหมู เป็ด ห่าน ราวกับฟาร์มน้อยๆ ช่วยให้ฐานะทางเศรษฐกิจของบ้านเณรเป็นปึกแผ่นขึ้น 
 
เมื่อเปิดรับเณรยุคใหม่นี้ บรรดาเณรต้องไปสมทบเรียนวิชาสามัญกับโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา ซึ่งเป็นการไม่สะดวกโดยเฉพาะเณรชั้นเล็กๆ คุณพ่อจึงขยายโรงเรียนดาราสมุทรให้กว้างขวาง รับนักเรียนมากขึ้นและเปิดทำการสอนถึงประโยคมัธยมวิสามัญตอนต้น คราวนี้เณร ม.1-3  ก็ไม่ต้องย่ำต๊อกไปที่อัสสัมชัญอีก ต่อมาหาซื้อรถยนต์  และเครื่องใช้ไม้สอยอื่นๆ ให้บ้านเณร จนเกือบใกล้ความจริงที่คุณพ่อเคยพูดว่า “สามเณรต้องทันสมัย” ปัจจุบันจำนวนสามเณรถีบตัวขึ้นถึงเรือนร้อย แม้ว่างานทางบ้านเณรมีมากอย่างล้นมือ ทำไม่ไหวอยู่แล้วก็ตาม คุณพ่อยังได้ช่วยมิสซังจันทบุรีหลายอย่าง ตามคำขอร้องของพระสังฆราช ยาโกเบ เช่น ฟังแก้บาปภราดา และภคินี นอกนั้นยังเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีราชาด้วย  อันเป็นสิ่งที่เหลือเชื่อ
 
ด้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชแห่งมิสซังท่าแร่-หนองแสง ในที่สุดพระญาณสอดส่องกำหนดไว้ว่า คุณพ่อจะต้องมีหน้าที่สูงกว่านี้ วันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ.1953 คุณพ่อได้รับโทรเลขด่วนฉบับหนึ่ง จากพระอัครสังฆราชยอห์น ดูลี่ ความว่า: “พระสันตะปาปาทรงจัดตั้งเทียบสังฆมณฑลท่าแร่ใหม่ มอบให้คณะสงฆ์ไทย และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคุณพ่อเป็นพระสังฆราชประจำเมืองเบราเดนูส ทำการแทนพระสันตะปาปาในมิสซังใหม่นี้ ส่วนพระสังฆราชบาเย จะปกครองเทียบสังฆมณฑล อุบลราชธานี โปรดโทรเลขตอบยอมรับ ขอแสดงความยินดี และอวยพร  ดูลี่” 
 
คุณพ่อมงคลรู้สึกเศร้าและมึนไปหลายวัน นึกถึงภาระหนักกำลังเข้าครอบงำ บางคนเข้าใจผิด คิดว่าพระสงฆ์อยากเป็นใหญ่เป็นโตหรือมีหวังดีเด่นในวงสังคม ความตั้งใจดังกล่าวนี้นอกจากเป็นการผิดต่อเทววิทยา  ว่าด้วยจุดประสงค์ของนักบวชแล้ว พฤติการณ์ที่เพิ่งผ่านมาเร็วๆ นี้ 2 ราย  ย่อมพิสูจน์ให้เห็นอย่างแจ่มกระจ่างว่า พระสงฆ์ไม่มักใหญ่ใฝ่สูงเลย  
 
เพราะคุณพ่อมงคล ทราบดีว่าเป็นการเพิ่มภาระรับผิดชอบยิ่งขึ้นเท่านั้น ต่อจากนั้นพระสังฆราช พระสงฆ์ ภราดา ภคินี สัตบุรุษชายหญิง พากันแสดงความยินดีและเคารพต่อ พระสังฆราชมิแชล มงคล ประคองจิต โดยทางโทรเลข จดหมาย หรือมาด้วยตนเอง ฯพณฯ เป็นพระสังฆราชไทยองค์แรกแห่งเทียบสังฆมณฑลท่าแร่ และเป็นพระสังฆราชอันดับที่ 3 ของเพื่อนร่วนชั้นเดียวกันที่โปรปากันดา องค์แรกเป็นชาวอัฟริกัน องค์ 2 เป็นเวียดนาม เมื่ออยู่กรุงโรม ฯพณฯ จะเคยคิดหรือเคยเตรียมตัวไว้สวมตำแหน่งพระสังฆราชบ้างหรือเปล่า? ข้าพเจ้าไม่กล้าเดา  แต่เมื่อทราบข่าวว่า ฯพณฯได้รับตำแหน่งใหม่นี้ ข้าพเจ้าได้ลองกระเซ้าถามมารดาของ ฯพณฯว่า “ยังไง คุณป้า ดีใจไหม มีลูกเป็นพระสังฆราชแล้ว?” คุณป้ายกมือรีบตอบทันทีว่า “ยังงั้นแหละค่ะ ใจจริงชอบให้เป็นพ่ออธิการต่อไปดีกว่าจะได้อยู่ใกล้ๆ กัน ไปอยู่ภาคโน้นแล้ว ไกลก็ไกล ไรจะได้พบกันก็ไม่รู้” 
 
ในที่สุด ชาวเราก็ได้พระสังฆราชไทยเพิ่มขึ้นอีกองค์หนึ่ง แสดงว่าสมเด็จพระสันตะปาปาทรงห่วงใยถึงการมีมิสซังในประเทศไทยเป็นอย่างมาก ความจริงพระสงฆ์คณะมิสซังต่างประเทศได้มาดำเนินงานเผยแพร่พระศาสนาในประเทศไทยราว 300 ปีแล้ว นอกจากทำการเผยแพร่ปลูกฝังพระคริสตธรรมแล้ว ยังมีหน้าที่เตรียมพระสงฆ์พื้นเมืองเพื่อช่วยกันแบ่งเบาภาระในการปกครองสัตบุรุษด้วย และเมื่อเห็นว่าภูมิภาคใดมีจำนวนคริสตังเจริญพอเพียง ก็มอบหมายส่วนนั้นแก่คณะสงฆ์พื้นเมืองต่อไป ดั่งได้ทำมาแล้ว คือ มิสซังจันทบุรีใน ค.ศ.1945 และมิสซังท่าแร่ในปีนี้  ต่อไปภายหน้าก็ยังจะต้องขยับขยาย แบ่งมิสซังอีกตามกาลสมัยด้วย 
 
 
อภิเษกพระสังฆราช
สมเด็จพระสันตะปาปาทรงปรับปรุงเขตมิสซังท่าแร่ใหม่ โดยยกเขตจังหวัดสกลนคร, นครพนม และกาฬสินธุ์ ให้อยู่ในความปกครองของคณะสงฆ์ไทยและโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคุณพ่อมิแชล มงคล ประคองจิต  อธิการสามเณราลัยศรีราชา เป็นพระสังฆราช ปกครองเทียบสังฆมณฑลใหม่นี้ต่อไป ข่าวนี้แพร่สะพัดไปรวดเร็ว บัดนี้มาถึงแล้ว คือ วันพุธที่ 19 สิงหาคม ค.ศ.1953  
 
ฯพณฯ พระสมณทูต ยอห์น ดูลี่ มาถึงท่าอากาศยานดอนเมือง ต่อมาวันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ.1953 พระสังฆราชบาเย และคณะสงฆ์ภาคอีสานราว 20 องค์ กับสามเณร 12 รูป ก็ทยอยเข้าสู่พระนครโดยสวัสดิภาพ 
 
นอกนั้นพระสังฆรักษ์ อารุโนต์  แห่งมิสซังท่าแขก กับคุณพ่อเล็กก็ได้สมทบมาเป็นเกียรติพร้อมกันด้วย. ขณะเดียวกันคณะสามเณรศรีราชาก็มาถึง และเข้าพัก ณ ร.ร. อัสสัมชัญโดยเรียบร้อย 18 สิงหาคม ภายในและบริเวณอัสสัมชัญดาดาษไปด้วยพวงระย้า ผ้าสายรุ้ง และธงทิวปลิวไสว ปลูกบรรยากาศให้คำนึงถึงความมโหฬารในวันรุ่งขึ้น  ความจริงโบสถ์นี้นับว่าเป็นโบสถ์เดียวในโลกที่มีโชคดี ได้รับเกียติเป็นที่อภิเษก พระสังฆราช ถึง 2 ครั้งภายในระยะ 4 เดือน
 
รุ่งอรุณของวันที่ 19 สิงหาคม ค.ศ.1953 เบิกฟ้า ดวงอาทิตย์แจ่มจ้า อากาศสดใส มหาชนพากันสู่วัดอัสสัมชัญแต่ก่อนเริ่มพิธีถึงชั่วโมงเศษ มีทั้งพระสงฆ์ ภราดา ภคินี ทุกคณะในประเทศไทย ตลอดจนทูตานุทูต พ่อค้าคหบดี ท่านผู้มีเกียรติ และประชาชนสัตบุรุษนับอนันต์ ท่านเหล่านี้มาจากทั้งในและนอกพระนคร โดยไม่คำนึงถึงความเหนื่อยยากและความสิ้นเปลื้องใดๆ ต่างพร้อมใจกันมาด้วยใจศรัทธาภักดี เพื่อร่วมพิธีอันทรงเกียรติสง่างามเป็นขวัญตา เพื่อถวายคำภาวนาแด่ ท่านมิแชล มงคล ประคองจิต ให้เจริญก้าวหน้าในฐานันดรศักดิ์อันสูงส่ง และเพื่อรับปฐมพร ซึ่งนำความอิ่มเอมใจมาสู่เขา วันนี้แสนชื่นยินดีของคริสตชนชาวไทย พระเจ้าทรงประทานพระสังฆราชใหม่แก่ชาวเรา 
 
ราว 8.30 น. ขบวนการอภิเษกเริ่มเข้าวัด ประกอบด้วยพระสงฆ์นับร้อยเดินนำหน้าต่อมาเป็นพระสงฆ์ที่ช่วยในจารีต คือ คุณพ่อสมุห์,คุณพ่อเสนห์,คุณพ่อเลอ็อง ,คุณพ่อกูรุเน, คุณพ่อศรีนวล, คุณพ่อแท่ง, คุณพ่อวินทร์, คุณพ่อสมชาย และคุณพ่อบริสซอง แล้วนั้นถึงพระสมณทูตผู้อภิเษก,พระสังฆราชโชแรง และพระสังฆราชบาเยผู้ช่วยอภิเษก. ส่วนพระสังฆราชสงวนและอารุโนด์ รั้งท้ายขบวน พระอัครสังฆราชมิแชล มงคล (อ่อน) ประคองจิต ประนมมือสงบเสงี่ยมน่าเกรงขาม เมื่อเข้าประจำที่ในวัดเรียบร้อยแล้ว พิธีอภิเษกก็เริ่มต้น สลับกับการถวายมหาบูชามิสซามโหฬาร โดยมีคณะสามเณรและยุวนิสภายใต้ความอำนวยการของคุณพ่อเลอดึก ขับร้องประสานเสียงต่างๆ อย่างไพเราะจับใจ คุณพ่อยวง เคียมสูน ทำหน้าที่กระจายเสียงอธิบายจารีตตลอดพิธี. เหล่าช่างภาพทั้งอาชีพและสมัครถ่ายแข่งกันดำเนินงานอย่างเคร่งเครียด ซึ่งบางครั้งดูเหมือนจะเป็นการรบกวนบ้าง แต่ก็น่าเห็นใจ เพราะภาพเช่นนี้เป็นเหยื่ออันโอชะที่หายากสำหรับตากล้องของเขา 
 
สองชั่วโมงเศษแห่งพิธีล่วงไปรวดเร็วราวกับความฝัน แต่ภาพอันสง่ามโหฬารนั้นคงจะจำติดสายตาผู้ทัศนาอีกชั่วกาลนาน บัดนี้ก็ได้ประสบสมหวังแล้ว พวกเขาชวนกันมาแสดงความจงรักภักดี ขอจูบแหวนท่านกันเนืองแน่น ตอนเที่ยงและตอนเย็นคณะพระสังฆราช, พระสงฆ์และภราดารวมราว 150 องค์ ได้มาร่วมรับประทานอาหารที่โฮเต็ลออเรียนเต็ล เพื่อเป็นเกียรติแด่พระสังฆราชใหม่ และถ่ายรูปหมู่ไว้เป็นอนุสรณ์ ในโอกาสนี้พระสมณทูตได้กล่าวแสดงความยินดี ที่มีโอกาสมาทำการอภิเษกอีกวาระหนึ่ง ซึ่งผู้รับอภิเษกก็เป็นลูกวัดอัสสัมชัญ เคยเรียนที่ ร.ร.อัสสัมชัญ และอภิเษกในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นเดือนสมโภชแม่พระอัสสัมชัญด้วย.
 
 
พระสังฆราชโชแรง  แสดงความยินดีที่เห็นมิสซังท่าแร่กำลังเจริญก้าวหน้า ส่วนพระสังฆราชบาเย กล่าวถึงประวัติมิสซังภาคอีสานแต่เริ่มแรกจนปัจจุบัน และเสริมท้ายว่า แม้พระสังฆราชมิแชลมงคล ประคองจิต จะต้องจากท่าแร่มาประจำอุบลราชธานี แต่ 2 มิสซังนี้อยู่ติดกัน มีโอกาสร่วมมือช่วยเหลือกันเสมอ ในที่สุดพระสังฆราชใหม่กล่าวอย่างยืดยาว  ขอบคุณทุกๆ ท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยเหลือให้ท่าน เดินหน้าก้าวตามพระกระแสเรียก จนได้รับศีลอนุกรม และได้รับการอภิเษกอย่างสมเกียรติในวันนี้ แม้จะกล่าวเป็นภาษาฝรั่งเศส แต่ใครๆ ได้ยินแล้วอดชมวาทศิลป์ของพระสังฆราชเสียมิได้เลย 
 
พระสังฆราช มิแชล มงคล ประคองจิต มรณภาพ วันที่ 18 มกราคม ค.ศ.1958  ด้วยโรคหัวใจวาย ที่บ้านเณร ปากซัน เวียงจันทน์ ประเทศลาว เวลาประมาณ 11.00 น.  และเวลาประมาณ19.00 น. ได้โทรแจ้งไปยังท่าแร่
 
วันที่ 19 มกราคม ค.ศ.1958  มีการเคลื่อนย้ายศพพระสังฆราชมิแชล มงคล  ประคองจิต จากบ้านเณรปากซัน เวียงจันทร์ ประเทศลาว มายังวัดท่าแร่ (วัดพระสังฆราชประจำสังฆมณฑล) กินระยะเพียงกิโลเมตรเศษ เวลา 7.00 น. เริ่มพิธีเชิญศพจากบ้านพักพระสงฆ์เข้าสู่วัด คุณพ่อแท่งอุปสังฆราชประกอบพิธี ประชาชนสัตบุรุษยัดเยียดกันมาร่วมภาวนาอุทิศและแสดงความรักอาลัยแน่นขนัด
 
 
วันที่ 23 มกราคม ค.ศ.1958 ทำพิธีปลงศพและฝังที่อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่ นครพนม  พระสงฆ์ที่มาจากมิสซังอุบล มีพระสังฆราชบาเย และสงฆ์ 4 องค์, มิสซังเวียงจันทร์ มีอุปสังฆราชบรุยแย็ต, มิสซังอุดร  มีท่านดูฮาร์ต, คุณพ่อก๊อดเบาต์จากกรุงเทพฯ, คุณพ่อโกเตน, คุณพ่อลอรี, และคุณพ่อการ์ราโล กาแซตตา อธิการ ร.ร.ดอนบอสโกวิทยาที่อุดร, มิสซังกรุงเทพฯ คุณพ่อเลอ็อง เป็นผู้แทน  แต่ไปไม่ทัน, มิสซังจันทร์ มีคุณพ่อเอมินทร์, พระสงฆ์มิสซังท่าแร่มาทุกองค์รวมทั้งคุณพ่อประจำบ้านเณร นับคณะสงฆ์ทั้งหมดได้ 35 องค์   ทางราชการมีปลัดจังหวัดอุดรเป็นหัวหน้า พร้อมด้วยหัวหน้าหน่วยอีกหลายท่าน บิดา มารดา น้องๆ ของฯพณฯ ตลอดจนญาติบางคนก็ได้มาร่วมพิธีด้วย. กองลูกเสือประจำ ร.ร.เซนต์โยแซฟท่าแร่ เป็นกองเกียรติยศคำนับศพ และช่วยบรรเลงเพลงโศกขณะเข้าวัด และไปสุสาน 
 
พระสังฆราชบาเย ถวายมิสซามโหฬาร, คณะสามเณรขับร้อง เสร็จพิธีมิสซา มีขับ Absolution 5 ครั้งตามจารีต แล้วจึงเชิญศพไปสู่สุสาน ในหลุมข้างเคียงกับคุณพ่อกัมบูริเออเจ้าอาวาสอาวุโส ผู้สร้างวัดท่าแร่ จนเป็นปึกแผ่น จนชาวบ้านเรียกตำบลของเขาอย่างภูมิใจว่า “เมือง” เพราะท่าแร่มีอาณาบริเวณยาวถึง 4 กม. ตั้งอยู่ริมหนองละหานอันบริบูรณ์ด้วยน้ำท่าและสัตว์น้ำนานาชนิด ก่อนศพลงหลุม คุณพ่ออุปสังฆราช, ทางอารามภคินี, และทางโรงเรียน ได้ผลัดกันกล่าวชีวประวัติและคำไว้อาลัยแด่พระสังฆราช พระสังฆราชจะพักผ่อนเป็นขวัญใจของชาวท่าแร่และมิสซังนี้ตลอดไปจนวันสุดท้าย