-
Category: ตารางเทียบสมัยการปกครองอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง
-
Published on Saturday, 10 October 2015 03:22
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 5607
พระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน
Most Rev. Lawrence Khai Saenphon-On
ประมุขอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง
ปี ค.ศ. 1980-2004
พระอัครสังฆราชคายน์ แสนพลอ่อน ท่านเกิดวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ.1928 ที่บ้านทุ่งมน ตำบลเชียงเครือ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร บิดาชื่อนายคาร มารดาชื่อนางจันที แสนพลอ่อน
ชีวิตในวัยเด็ก
บ้านทุ่งมนนี้ มีลักษณะเด่นอยู่ประการหนึ่ง คือ ถือเป็นหมู่บ้านคาทอลิกร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะมีสัตบุรุษอยู่ประมาณ 1,500 คน อยู่อาศัยติดๆ กัน เป็นกลุ่มก้อน ทุกคนในหมู่บ้านจึงรู้จักมักคุ้นกันดี อาชีพชาวบ้านส่วนใหญ่เกือบแทบทุกหลังคาเรือน คือ ทำนา หมู่บ้านวัดทุ่งมน มีวัดนักบุญกาทารีนามรณสักขี ตั้งอยู่ใจกลางหมู่บ้าน
ท่านเป็นเด็กที่มีสุขภาพร่างกายไม่ค่อยจะแข็งแรงนัก เมื่ออายุได้ 3 ขวบ เกิดป่วยหนัก อาการร่อแร่น่าวิตกมาก มารดาได้วิงวอนขอให้แม่พระช่วย “ถ้าหากเป็นน้ำพระทัยของพระขอโปรดให้ลูกน้อยรอดชีวิตเถิด เมื่อโตขึ้นจะขอยกถวายเป็นข้ารับใช้พระเป็นเจ้า” ท่านกำพร้าบิดาตั้งแต่อายุ 4 ขวบ แล้วปีต่อมาพระก็เรียกมารดาของท่านไปอีก ท่านและน้องสาวต้องอยู่ในความดูแลเลี้ยงดูของคุณยายผู้มีความศรัทธาในพระเป็นเจ้าอย่างมาก คุณยายได้เอาใจใส่เลี้ยงดูหลานทั้งสองเป็นอย่างดี
การศึกษาและชีวิตกระแสเรียก
พอจบชั้นประถมปีที่ 2 อายุ 8 ขวบ ได้สมัครเข้าเตรียมตัวเป็นสามเณรโดยไปเรียนอบรมที่โรงเรียนพระหฤทัย หนองแสง จังหวัดนครพนม ขณะกำลังศึกษาอบรมอยู่นั้น ในปี ค.ศ.1939 เกิดสงครามและกรณีพิพาทอินโดจีนซึ่งแผ่ขยายไปทั่วประเทศ พวกหัวรุนแรง บุกเข้ายึดโรงเรียนพระหฤทัย ซึ่งใช้เป็นบ้านเณรที่นครพนมด้วย ได้ทำลายตึกอาคารพังพินาศ การเบียดเบียนศาสนารุนแรงขึ้นเป็นลำดับ เณรทุกคนถูกส่งกลับบ้าน วัดวาอารามถูกปิด เด็กชายคายน์ รู้สึกหมดหวังที่จะศึกษาเล่าเรียนต่อไปในฐานะสามเณร เมื่อกลับมาอยู่บ้านเกิดที่ทุ่งมน จังหวัดสกลนคร เด็กชายคายน์ก็สมัครเข้าโรงเรียน เรียนกับเพื่อนๆ ในหมู่บ้านท่ามกลางกลิ่นไอของการเบียดเบียนศาสนาซึ่งยังรุนแรงอยู่
เมื่อกลับมาอยู่ที่บ้าน ท่านก็ได้เข้าเรียนในโรงเรียนของหมู่บ้านท่ามกลางบรรยากาศของการเบียดเบียนศาสนา ครูคาทอลิกถูกปลดออก นักเรียนคาทอลิกถูกให้ละทิ้งความเชื่อ แต่เด็กก็ไม่ยอม ท่านคายน์ก็อยู่ในกลุ่มเด็กเหล่านี้ด้วย ท่านถูกทำโทษ ถูกเฆี่ยนตีโดยไม่มีความผิดอย่างหนักทุกวัน เพียงเพราะไม่ย่อมไหว้พระสวดมนต์ตามครูสั่ง ท่านยังถูกทรมานอีกมากมาย ถูกตีโดยให้นอนราบกับพื้นบ้าง โดนจับยืนตากแดดบ้าง ให้แหงนหน้ามองดวงอาทิตย์ที่กำลังส่องแสงจ้า ครูยืนถือไม้ตะพดขนาบอยู่ข้างๆ ถ้าเห็นหลับตาเมื่อใด เพราะทนแสบตาเพราะความร้อนของดวงอาทิตย์ไม่ได้ ครูจะใช้ตะพดหวดเสียงผัวะๆ อย่างทารุณ โหดเหี้ยม
ก่อนจะสิ้นสุดการเบียดเบียนเล็กน้อย ท่านได้ถูกส่งไปเข้าเรียนเป็นสามเณรที่บางนกแขวกเป็นเวลา 7 ปี ซึ่งตอนนั้นอยู่ภายใต้การดูแลของคณะซาเลเซียน โดยมีพระสังฆราชปาซอตตีเป็นประมุข หลังจากนั้น ท่านได้ไปศึกษาต่อที่สามเณราลัยใหญ่เยเนรัล คอลเลจ บูเลาตีกูส ที่ปีนัง เมื่อจบหลักสูตรก็เดินทางกลับเมืองไทย
รับศีลบรรพชา
ท่านได้รับศีลบรรพชาเป็นพระสงฆ์ เมื่อวันที่ 16 มกราคม ค.ศ.1957 โดยพระสังฆราช มีแชล มงคล ประคองจิต ประมุขสังฆมณฑลท่าแร่ เป็นผู้อุปัชฌาย์ เมื่อบวชเป็นพระสงฆ์แล้ว ท่านได้รับมอบหมายจากผู้ใหญ่ให้ทำงานในตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ตลอดระยะเวลา 23 ปี
เริ่มชีวิตการทำงาน
ค.ศ.1957 – 1958 ผู้ช่วยเจ้าอาวาสอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่
ค.ศ.1959 – 1961 อาจารย์สอนภาษาอังกฤษโรงเรียนเซนต์โยเซฟ ท่าแร่
ค.ศ.1961 – 1962 ดูงานและช่วยงานอภิบาลที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรป
ค.ศ.1962 – 1967 อธิการและผู้จัดการโรงเรียนเซนต์โยเซฟ ท่าแร่
ค.ศ.1967 – 1969 อธิการโรงเรียนวรสารพิทยา กรุงเทพฯ
ช่วยงานวัดตรอกจันทน์และวัดแม่พระประจักษ์เมืองลูร์ด หัวตะเข้
ค.ศ.1969 – 1979 อธิการบ้านเณรเล็กฟาติมาท่าแร่ ครูใหญ่และผู้จัดการโรงเรียนเซนต์โยเซฟ ท่าแร่
ค.ศ.1976 – 2005 เจ้าอาวาสวัดพระหฤทัย สกลนคร
ค.ศ.1977 – 1980 อุปสังฆราช
23 เมษายน ค.ศ.1980 ได้รับการประกาศแต่งตั้งเป็นพระอัครสังฆราชแห่งอัครสังฆมณฑลท่าแร่–หนองแสง
16 กรกฎาคม ค.ศ.1980 ได้รับอภิเษกเป็นพระอัครสังฆราช โดย พระอัครสังฆราช มีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์
เมื่อวันที่ 23 เมษายน ค.ศ.1980 สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ได้ประกาศแต่งตั้งคุณพ่อคายน์ แสนพลอ่อน เป็นทางการและลงประกาศในหนังสือพิมพ์ ออสแซวา โตโรโรมาโน ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ทางการของนครวาติกัน
พิธีอภิเษก
พิธีอภิเษกพระอัครสังฆราชจะมีขึ้นที่อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่ วันพุธที่ 16 กรกรฎาคม ค.ศ.1980 เวลา 10.00 น. โดยพระอัครสังฆราช ไมเกิ้ล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ จะเป็นผู้ประกอบพิธี โดยมีพระสังฆราชมีคาแอล บุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ แห่งสังฆมณฑลอุบลราชธานี และพระสังฆราชลอเรนซ์ เทียนชัย สมานจิต แห่งสังฆมณฑลจันทบุรี เป็นผู้ช่วยอภิเษก
คติพจน์ประจำสมณสมัย
“OMNIA POSSUM IN EO QUI ME CONFORTAT”
“ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยความพากเพียร”
“ผ่านกางเขน สู่แสงสว่าง”
“Per Crucem Ad Lucem” ซึ่งแปลตามตัวอักษรว่า “ผ่านกางเขน สู่แสงสว่าง” และขยายความได้ว่า “เจริญรอยพระเยซูเจ้า โดยน้อมรับความทุกข์ยากลำบากและความทรมานทุกประการ ตลอดเส้นทางชีวิตมนุษย์ ซึ่งจะนำไปสู่สวรรค์” ถ้าจะพูดง่ายๆอย่างฆราวาสก็อาจจะพูดได้ว่า “ทุกข์ก่อน...สุขภายหลัง” หรือ “ลำบากแล้วจึงสบาย”
หน้าที่ที่รับผิดชอบและทำหลังจากอภิเษกเป็นพระสังฆราชแล้ว
พระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน มีส่วนอย่างมากในการสานต่อและพัฒนาอัครสังฆมณฑลท่าแร่ –หนองแสงโดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายงานด้านการศึกษาในจังหวัดและอำเภอสำคัญหลายแห่งและการก่อสร้างวัดใหม่ในหลายหมู่บ้านให้เหมาะสมกับการเป็นวิหารของพระเป็นเจ้า และศูนย์กลางชีวิตคริสตชน ที่สำคัญมากกว่านั้นคือการจัดให้มีการสัมมนาเพื่อกำหนดแผนแม่บทของอัครสังฆมณฑลตามกระบวนการ SAIDI เพื่อประเมินสภาพความเป็นจริงของสังคมและอัครสังฆมณฑล อันนำไปสู่การกำหนดวิสัยทัศน์ และพันธกิจ และแผนแม่บทของอัครสังฆมณฑลอย่างเป็นระบบ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในอัครสังฆมณฑล ดังนี้
1. วางรากฐานทางเศรษฐกิจและขยายงานด้านการศึกษา
พระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน ด้วยความที่ท่านเคยเป็นผู้บริหารโรงเรียน และคลุกคลีอยู่กับงานด้านการศึกษามาตลอดตั้งแต่บวชเป็นพระสงฆ์ ทำให้พระสังฆราชคายน์ เข้าใจว่ามีเพียงงานโรงเรียนเท่านั้นที่จะเป็นแหล่งทุนสำหรับเลี้ยงอัครสังฆมณฑลในอนาคต จึงได้นำเสนอความคิดนี้ในที่ประชุมคณะสงฆ์ เพื่อก่อตั้งโรงเรียนในเครือเซนต์ยอแซฟ ตามจังหวัดและอำเภอที่มีขนาดใหญ่ ได้ดำเนินการหาทุนจากในและต่างประเทศเพื่อซื้อที่ดินและก่อตั้งโรงเรียนในเครือเซนต์ยอแซฟขึ้นตามที่ต่างๆ ดังนี้
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟ สกลนคร ค.ศ.1979/2522
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟ กาฬสินธุ์ ค.ศ.1985/2528
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟ มุกดาหาร ค.ศ.1989/2532
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟ นาแก ค.ศ.1992/2535
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟ ศรีสงคราม ค.ศ.2000/2543
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟ กุฉินารายณ์ ค.ศ.2005/2548
นับว่าพระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน เป็นผู้มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ในการวางรากฐานทางเศรษฐกิจ และขยายงานด้านการศึกษาของสังฆมณฑลให้เจริญก้าวหน้า จนกระทั่งกลายเป็นสถานศึกษาที่มั่นคงในการให้การศึกษาอบรมแก่เด็กและเยาวชนให้เติบโตเป็นบุคคลที่มีคุณภาพเป็นคนดีของสังคมและประเทศชาติ ได้รับความเชื่อถือจากผู้ปกครองตามอำเภอและจังหวัดที่โรงเรียนเหล่านั้นตั้งอยู่
โรงเรียนจึงเป็นสนามงานหนึ่งของการแพร่ธรรม อีกทั้งเป็นแหล่งทุนที่สำคัญที่สามารถสร้างรายได้สำหรับเลี้ยงอัครสังฆมณฑล เพื่อการบริหารงานและดำเนินการด้านอื่นๆ ในปัจจุบัน และได้พยายามลงทุนในด้านต่างๆ อีกหลายอย่าง เช่น ซื้อโรงงานอิฐเพื่อผลิตอิฐมอญป้อนโครงการก่อสร้างต่างๆ ในอัครสังฆมณฑล ลงทุนเลี้ยงวัว ขุดบ่อเลี้ยงปลา ทำฟาร์มเลี้ยงเป็ดไก่ หมูป่า นกกระจอกเทศ กวาง และจิ้งหรีด
รวมถึงลงทุนซื้อที่ดินเพื่อปลูกไม้ผล ไม้ดอก ยางพารา เป็นต้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเลี้ยงอัครสังฆมณฑล แต่โครงการเหล่านี้ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะขาดความรู้และการบริหารจัดการที่ดี ทำให้ประสบภาวะขาดทุนหรือไม่ก็ถูกโกง
2. สานต่องานแพร่ธรรมและเริ่มการแพร่ธรรมยุคใหม่ทางสื่อวิทยุ
2.1 สานต่องานแพร่ธรรม
พระอัครสังฆราชคายน์ ได้สานต่องาน พระอัครสังฆราชเกี้ยน ด้วยการออกเยี่ยมกลุ่มคริสตชน และวัดต่างๆ จัดส่งพระสงฆ์มาประจำและทำหน้าที่ดูแลอภิบาล และปรับเปลี่ยนงานแพร่ธรรมให้เข้ากับยุคสมัย ซึ่งเป็นยุคเทคโนโลยีสารสนเทศและข้อมูลข่าวสาร ที่สามารถสื่อสารถึงกันได้ในเวลที่รวดเร็วและไร้ขีดจำกัด หรือที่เรียกว่า “โลกไร้พรมแดน”
2.2 เริ่มการแพร่ธรรมทางสื่อวิทยุ
@ รายการระฆังชีวิต
ในระยะเริ่มแรก พระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน กับคุณพ่อศรีนวล ศรีวรกุล ได้รับเชิญให้ไปออกรายการสนทนาธรรม ที่สถานีวิทยุกระจายเสียง 909 กรป.กลาง นับว่าได้ผลอย่างมากในการสร้างความเข้าใจระหว่างศาสนา และสื่อสารสัมพันธ์กับพี่น้องคริสตชนในอัครสังฆมณฑล เพราะสถานีดังกล่าวมีกำลังส่งสูงครอบคลุมหลายจังหวัดในภาคอีสานและประเทศลาว
ต่อมาพระอัครสังฆราชได้ดำริที่จะใช้สื่อวิทยุกระจายเสียงเพื่อประชาสัมพันธ์ ประกาศข่าวดีของพระคริสตเจ้าแก่พี่น้องคริสตชนและพี่น้องต่างศาสนาที่ให้ความสนใจติดตามรับฟังด้วยการเช่าสถานีวิทยุกระจายเสียงกองบัญชาการตำรวจภูธร 2 จังหวัดสกลนคร ระบบ F.M. ความถี่ 101.75 Mhz เพื่อทำรายการ “ระฆังชีวิต” อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ.1991/2534 โดยมีวัตถุประสงค์
1. เพื่อประกาศข่าวดีของพระคริสตเจ้าสำหรับพี่น้องคริสตชนและผู้ฟังที่สนใจทั่วไป
2. เพื่อประกาศ แจ้งข่าวสารและเหตุการณ์ต่างๆ ในอัครสังฆมณฑลและพระศาสนจักรให้พี่น้องคริสตชนได้ทราบ
3. เพื่อให้สาระข้อคิด แนวทางดำเนินชีวิตที่ดี ตามจิตตารมณ์พระวรสารแก่พี่น้องคริสตชนและผู้สนใจทั่วไป
รายการระฆังชีวิต ออกอากาศทุกวันๆ ละ 30 นาที ในเวลา 17.00 – 17.30 น. โดยพระสังฆราชทำหน้าที่เป็นผู้จัดรายการเองในชื่อ “รายการคุณธรรมนำชีวิต” ออกอากาศในวันเสาร์และวันอาทิตย์ ร่วมกับพระสงฆ์ ภคินี และฆราวาสที่จัดรายการในนามหน่วยงานต่างๆ เช่น ศูนย์ส่งเสริมชีวิตครอบครัว ศูนย์สังคมพัฒนาฯ ศูนย์คำสอน และโรงเรียนในเครือเพื่อความหลากหลายของเนื้อหาและเป็นประโยชน์ต่อผู้ฟังในขอบเขตที่กว้าง
หลังจากเริ่มรายการไปได้หนึ่งปีพบว่าได้รับความสนใจจากผู้ฟังเป็นอย่างดี ทั้งจากพี่น้องคริสตชนและพี่น้องต่างศาสนา เห็นได้จากจดหมายและไปรษณียบัตรที่เขียนมาติชมรายการเป็นจำนวนมาก พระสังฆราชและคณะกรรมการดำเนินงานจึงได้เช่าเวลาสถานีวิทยุดังกล่าวเพื่อออกอากาศรายการเรื่อยมาจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ.2004/2547 จึงได้ยุติการออกอากาศ เนื่องจากสถานีปรับผังรายการใหม่และเพิ่มค่าเช่าเวลามากขึ้น
@ วิทยุชุมชนมิสซังท่าแร่
สืบเนื่องมาจากกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 40 ที่ให้อิสระในการจัดสรร “คลื่นความถี่” ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียงเพื่อประโยชน์สาธารณะ ก่อให้เกิดวิทยุชุมชนขึ้น และเริ่มเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ทำงาน NGO ผู้นำชุมชน รวมถึงเจ้าหน้าที่ศูนย์สังคมพัฒนาอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ที่เข้าไปมีส่วนในการจัดรายการวิทยุชุมชนของจังหวัดสกลนคร ตั้งแต่เริ่มแรก
คุณพ่อชำนาญ บัวขันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์สังคมพัฒนาฯ จึงเกิดความคิดที่จะใช้สื่อวิทยุชุมชน เพื่อสื่อสารกับเครือข่ายผู้นำชุมชนในความรับผิดชอบของศูนย์สังคมพัฒนาฯ นำไปสู่การเรียกประชุมองค์กรต่างๆ ในเขตเทศบาลตำบลท่าแร่ และผู้เกี่ยวข้องเพื่อปรึกษาหารือ และได้ดำเนินการขออนุญาตจัดตั้งสถานีวิทยุชุมชนขึ้น โดยได้รับความอนุเคราะห์จากพระสังฆราชคายน์ ให้ใช้อาคารเซนต์ไมเกิ้ล เลขที่ 600 หมู่ 8 ตำบลท่าแร่ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เป็นที่ตั้งสถานี
เมื่อการดำเนินการทุกอย่างแล้วเสร็จได้มีพิธีเสกเสาส่งสัญญาณโดยพระอัครสังฆราชคายน์ เมื่อวันจันทร์ที่ 27 กันยายน ค.ศ. 2004/2547 และเริ่มทดลองออกอากาศเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ.2004ภายใต้ชื่อ “สถานีวิทยุชุมชนท่าแร่ เครือข่ายศูนย์สังคมพัฒนาอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง” ในระบบ F.M. ความถี่ 104.00 Mhz แต่เกิดปัญหาสัญญาณรบกวนสถานีอื่น จึงแก้ไขความถี่เป็น 102.25 Mhz
ที่สุด เมื่อระบบทุกอย่างสมบูรณ์จึงได้ออกอากาศในระบบ F.M. ความถี่ 104.50 Mhz ทุกวันเรื่อยมา ในเวลา 05.30-23.00 น. ภายใต้คำขวัญ “คลื่นดี มีสาระ และบันเทิง” และได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ฟัง เป็นต้นชาวท่าแร่ หมู่บ้านใกล้เคียง และเครือข่ายศูนย์สังคมพัฒนาฯ นับว่ามีประโยชน์มากในการเผยแพร่ข่าวสารทางศาสนา สังคม และวัฒนธรรมท้องถิ่นให้ผู้ฟังได้รับรู้
การดำเนินการในระยะเริ่มแรกมีปัญหาบ้าง ทั้งในแง่ข้อกฎหมายและความทับซ้อนกันในเรื่องบทบาทหน้าที่ระหว่างศูนย์สังคมพัฒนาฯ กับแผนกวิทยุของอัครสังฆมณฑล จนกระทั้งคณะกรรมการบริหารอัครสังฆมณฑลมีมติให้รวมวิทยุชุมชนท่าแร่ เป็นส่วนหนึ่งของแผนกวิทยุของอัครสังฆมณฑล และเปลี่ยนชื่อเป็น “วิทยุชุมชนมิสซังท่าแร่” ดังในปัจจุบัน
3. กำหนดแผนแม่บทและวางระบบการบริหารสังฆมณฑล
หลังจากบริหารงานอัครสังฆมณฑลมาได้สิบสองปี พระอัครสังฆราชคายน์ เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์และภารกิจของพระศาสนจักรในการประกาศข่าวดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่ออัครสังฆมณฑล การทบทวนและประเมินผลการบริหารงานจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับเครื่องหมายแห่งกาลเวลา และใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ดังนั้น พระอัครสังฆราชคายน์ จึงได้ใช้ระบบการ SAIDI ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งที่มีการวางแผนอย่างเป็นระบบและขั้นตอน ในการประเมินสภาพความเป็นจริงของสังคมและขององค์กร เพื่อการกำหนดวิสัยทัศน์ และพันธกิจ เป็นเครื่องมือในการประเมินผลและกำหนดแผนแม่บทของอัครสังฆมณฑล ให้มีเอกภาพและสอดคล้องกับความจริงในสถานการณ์ปัจจุบัน และส่งผลดีแก่ทุกระดับในอัครสังฆมณฑล
การสัมมนาจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ.1992 – 10 เมษยน ค.ศ.1992 ในชื่อ “โครงการเพื่อกำหนดแผนแม่บทแห่งอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง” ภายใต้การนำของ ภราดาทินรัตน์ คมกฤส ที่สำนักอัครสังฆมณฑล อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ผลของการสัมมนา ทำให้เกิดความตื่นตัวต่อภารกิจการประกาศข่าวดี ทำให้อัครสังฆมณฑลมีวิสัยทัศน์และพันธกิจที่ชัดเจน อีกทั้งมีแผนแม่บทที่เป็นรูปธรรม มีเอกภาพ และมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 เมษายน ค.ศ.1993
ประกอบด้วยแผนหลักและฝ่ายงานต่างๆ ทำงานตามกรอบความรับผิดชอบและขอบข่ายหน้าที่ของตน แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 3 เขต แต่ละเขตมีหัวหน้าเขตรับผิดชอบ ระดับวัดมีสภาอภิบาล สำหรับช่วยงานพระสงฆ์ เจ้าอาวาสในการบริหารงานวัดให้เป็นไปด้วยดี
ต่อมาในปี “ปีติมหาการุญ” ค.ศ.2000 พระสังฆราชได้ลงนามในประกาศแต่งตั้งคณะกรรม การประเมินและสรุปภาพรวมแผนแม่บททิศทางงานอภิบาลของอัครสังฆมณฑล เมื่อวันที่ 9 มีนาคม เพื่อรวมกันศึกษาและสรุป ภาพรวมแผนแม่บททิศทางงานอภิบาลของอัครสังฆมณฑลปัจจุบัน ให้สอดคล้องกับแผนแม่บททิศทางงานอภิบาลของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย ที่ประกาศ ใช้เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.2000 และตอบสนองความเป็นจริงในสังคมปัจจุบัน
4. ส่งเสริมกระแสเรียกและชีวิตนักบวช
พระอัครสังฆราชคายน์ ตระหนักดีว่า พระสงฆ์และนักบวชคือ ผู้ร่วมงานที่สำคัญ จึงใส่ใจเป็นพิเศษในการให้การอบรมพวกเขาให้เข้าใจถึงจิตตารมณ์ของพระเยซูและจิตตารมณ์ของคณะของตนในการเทศน์สอน ให้โอวาทหรือพบปะตามโอกาสต่างๆ เพื่อกระตุ้นเตือนถึงภารกิจหน้าที่และเตรียมพวกเขาให้พร้อมสำหรับงานในอนาคต
ส่งเสริมกระแสเรียก
กระแสเรียก คือ พระพรของพระเจ้า ที่พระคุณเจ้าให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะบ้านเณรซึ่งเป็นหัวใจของอัครสังฆมณฑล การเตรียมบุคลากรที่เหมาะสมในการให้การอบรมด้วยการส่งไปศึกษาต่อหรือรับการอบรมในต่างประเทศ เพื่อกลับมาเป็นผู้ให้การอบรม อีกทั้ง ยังเป็นธุระในการจัดหาทุนทั้งในและต่างประเทศเพื่อตั้งเป็นกองทุนสำหรับบ้านเณร การก่อสร้างอาคารบ้านเณรใหม่ โถงอเนกประสงค์ รวมถึงการจัดการอบรมต่อเนื่องและศึกษาเพิ่มเติมของพระสงฆ์ เพียงแต่บางครั้งไม่ได้ใช้ตามวัตถุประสงค์เท่าใดนัก พระอัครสังฆราชคายน์ จะเน้นย้ำเสมอคือ การส่งบุตรหลานเข้าบ้านเณร เข้าอาราม การภาวนเพื่อกระแสเรียก จะได้มีพระสงฆ์เพิ่มขึ้น “ครอบครัวใดที่มีลูกบวชเป็นพระสงฆ์คือพระพรอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าสำหรับครอบครัวนั้น เพราะจะมีลูกที่คิดถึงเราในคำภวนาและในพิธีมิสซา”
ตลอดระยะเวลา 24 ปี ในตำแหน่งผู้ปกครอง พระอัครสังฆราชได้บวชพระสงฆ์ทั้งสิ้นจำนวน 52 องค์ แยกเป็นพระสงฆ์ในอัครสังฆมณฑล 47 องค์ พระสงฆ์นักบวช 2 องค์ และพระสงฆ์นอกสังฆมณฑล (สหรัฐอเมริกา) 3 องค์
ส่งเสริมชีวิตนักบวช
แม้จำนวนพระสงฆ์จะเพิ่มมากขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ ประกอบขอบข่ายงานในอัครสังฆมณฑลได้ขยายเพิ่มมากขึ้น พระสังฆราชจึงได้เชิญคณะนักบวชเข้ามาทำงานในอัครสังฆมณฑล เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของพระสงฆ์และอัครสังฆมณฑลดังนี้
ภคินีคณะกลาริส กาปูชิน ท่าแร่ ค.ศ.1986/2529
ภคินีคณะออกัสติเนียนแห่งแม่พระแห่งความบรรเทา ค.ศ.1991/2534
ภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร ค.ศ.1994/2537
ภคินีคณะธิดาเมตตาธรรมแห่งนักบุญวินเซนต์ เดอ ปอล ค.ศ.1995/2538
ภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย ค.ศ.1998/2541
5. ส่งเสริมชีวิตครอบครัวและความเป็นเอกภาพแห่งศีลสมรส
ส่งเสริมชีวิตครอบครัว
พระอัครสังฆราชคายน์ ให้ความสำคัญกับการส่งเสรมชีวิตครอบครัว โดยก่อตั้งศูนย์ส่งเสริมชีวิตครอบครัวขึ้นในอัครสังฆมณฑล เพื่อการดำเนินให้การอบรม การเตรียมคู่สมรสอย่างจริงจัง ทำหน้าที่สอนคำสอนและอบรมชีวิตครอบครัวแก่คู่แต่งงาน และยังได้รับผิดชอบงานส่งเสริมชีวิตครอบครัวในระดับชาติ เป็นประธานคณะกรรมการส่งเสริมชีวิตครอบครัวในสภาพระสังฆราชฯ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการประชุมคณะกรรมการระดับชาติในการกำหนดนโยบาย วางแผนงาน หรือเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมประชุมงานชุมนุมครอบครัวโลก และเข้าเฝ้าองค์สมเด็จพระสันตะปาปาที่เสด็จมาร่วมการชุมนุมที่จัดขึ้น
ส่งเสริมเอกภาพแห่งศีลสมรส
พระอัครสังฆราชได้จัดรายการ “รายการคุณธรรมนำชีวิต” ที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุ สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญและความห่วงใยของพระคุณเจ้าต่อสถาบันครอบครัว และปัญหาครอบครัวในสังคมปัจจุบัน
6. สร้างสำนักอัครสังฆมณฑลและส่งเสริมศาสนสถาน
ปี ค.ศ.1981 พระอัครสังฆราชคายน์ ได้เริ่มงานก่อสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางของอัครสังฆมณฑล มีห้องพักสำหรับพระสงฆ์ , วัด ,ห้องประชุม , ห้องอาหาร และห้องทำงานของหน่วยงานต่างๆ จนกระทั่งงานทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์ มีพิธีเสกและเปิดสำนักอัครสังฆมณฑลแห่งใหม่โดยพระอัครสมณทูตเรนาโต มาร์ติโน เมื่อวันที่ 6 เมษายน ค.ศ.1983
ปี ค.ศ.1992 ได้ขยายอาคารสำนักอัครสังฆมณฑลให้ใหญ่ขึ้น โดยต่อเติมชั้นดาดฟ้าขึ้นอีกชั้นหนึ่งรวมเป็น 4 ชั้น และยังได้สร้างสนามกีฬาเซนต์ลอเรนซ์ ด้านหน้าศูยนคาทอลิกท่าแร่
ส่งเสริมศาสนสถาน
ในการบูรณะและสร้างวัดหลายแห่ง ตลอด 25 ปี มีวัดที่สร้างในสมัยของท่านทั้งสิ้น 47 หลัง และบูรณะใหม่ 4 หลัง คือ
วัดพระวิสุทธิวงศ์ นิรมัย ค.ศ.1990/2533
วัดแม่พระมหาการุณย์ หนองบก ค.ศ.1995/2538
วัดนักบุญกาทารีนา ทุ่งมน ค.ศ.1998/2541
สักการสถานดวงพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระเยซูเจ้า และดวงหทัยนิรมลของพระมารดามารีอา สกลนคร ค.ศ. 2000/2543
และยังได้สร้างอนุสรณ์สถานอัครเทวดามีคาแอล บริเวณทางเข้าหมู่บ้านท่าแร่ เพื่อใช้เป็นที่ตั้งรูปอัครเทวดามีคาแอล องค์อุปถัมภ์ของบ้านท่าแร่ ทำให้คนที่เดินทางผ่านไปมาได้เห็นและเข้าใจว่า ท่าแร่ คือ “อาณาจักรของพระคริสตเจ้า” ตามเจตจำนงของพระสังฆราชคายน์ ปัจจุบันอาคารแห่งนี้ได้ใช้ประโยชน์ที่ตั้งสถานี “วิทยุชุมชนมิสซังท่าแร่”
7. วัดพระหฤทัย สกลนครและประเพณแห่ดาว
วัดพระหฤทัยฯ ของพระยซูเจ้า และดวงหทัยนิรมลของพระมารดา มารีอา สกลนคร(วัดพระหฤทัยเดิม) คือผลงานชิ้นโบว์แดงของพระสังฆราชที่ตั้งใจสร้าง เพื่อเป็นของขวัญแด่พระเยซูเจ้าโอกาสเฉลิมฉลองปี “ปีติมหาการุญ” คริสตศักราช 2000 ซึ่งเป็นปีที่พระองค์บังเกิดมาในโลกครบสองพันปี และเพื่อถวายเกียรติแด่ดวงพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระเยซูเจ้าและดวงหทัยนิรมลของพระมารดามารีอา ที่พระคุณเจ้ามีความเชื่อศรัทธาเป็นพิเศษ
เพื่อเป็นการชดเชยการกระทำทารุณต่างๆ การหลบหลู่เหยียดหยามศาสนา และการทุรจารเครื่องใช้ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ในช่วงเบียดเบียนศาสนา ซึ่งพระสังฆราชคนหนึ่งที่ถูกเบียดเบียนและได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ครั้งนั้น โดยมุ่งหวังให้สักการสถานฯ แห่งนี้เป็นพิภิธภัณฑ์ทางศาสนาสำหรับเก็บรักษาศาสนภัณฑ์และสิ่งของเครื่องใช้ของบรรดามิชชันนารีในอนาคต
ดูเหมือน ความทารุณโหดร้ายต่างๆ ที่ได้รับยังฝังลึกในความทรงจำของพระสังฆราช ซึ่งมักจะได้ยินพระสังฆราชเล่าอยู่บ่อยครั้งด้วยสีหน้าที่จริงจัง มิใช่ด้วยหัวใจที่ผูกพยาบาทรอการแก้แค้น หากแต่เป็นหัวใจที่ให้อภัยและร้อนรนด้วยไฟความรักของพระสังฆราช ที่ปรารถนาจะแปรเปลี่ยนความทุกข์ระทมครั้งอดีตให้กลายเป็นความยินดีแห่งชัยชนะ และแรงบันดาลใจในการประกาศความรักของพระเจ้าในปัจจุบัน
ความคิดดังกล่าว สะท้อนออกมาในงานสถาปัตยกรรมของสักการสถานฯ ที่ได้รับออกออกแบบเป็นรูปทรงกลมคล้ายเจดีย์มียอดแหลมสูง เป็นการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมแบบไทยกับตะวันตกที่กลมกลืนสวยงาม
บนยอดสุดคือกางเขนที่ตั้งเด่นเป็นสง่ามองเห็นได้จากระยะไกล เพื่อให้เงาของกางเขนทาบทับตัวเมืองสกลนคร โดยเฉพาะเรือนจำสกลนคร สถานที่เคยจองจำพระสงฆ์ผู้แทนของพระเจ้า คล้ายกับจะประกาศให้รับรู้ว่า “ประตูนรกจะไม่มีวันชนะพระศาสนจักรได้”
วัดพระหฤทัยฯ สกลนคร จึงเป็นหนึ่งในความภูมิใจของพระคุณเจ้า และมรดกที่ทิ้งเอาไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้เห็นโดยเฉพาะกลุ่มคริสตชนสกลนครที่พระสังฆราชมีส่วนในการติดตามเยี่ยมเยียนและนำพวกเขากลับมาสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกันปราศจากการแบ่งแยกเหนือ-ใต้ตามลัทธิการเมืองดังเช่นอดีต ปีค.ศ .2003/2546 นายปานชัย บรวรัตนปราน ผู้ว่า CEO ของจังหวัดสกลนครร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้บรรจุประเพณีแห่ดาวให้เป็นงานส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างหนึ่งของจังหวัด การแห่ดาวธรรมดาที่จัดเพื่อถวายเกียรติแด่พระกุมารเยซู ผู้ประสูติมาในเทศกาลพระคริสตสมภพ และเป็นที่รู้จักในวงแคบในหมู่คริสตชน ได้กลายมาเปฌนประเพณีที่เป็นหน้าตาของจังหวัดและเป็นที่รู้จักในวงกว้าง จิตตารมณ์การบังเกิดมาของพระกุมารเยซูและประวัติวันคริสตมาสได้รับประกาศและนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ โดยไม่ต้องเสียค่าประชาสัมพันธ์
สะท้อนให้เห็นความจริงที่ว่า สิ่งที่ไร้ค่าเปล่าประโยชน์ในยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง อาจกลายมาเป็นสิ่งที่มีค่าขึ้นมาได้ เมื่อกาลเวลาเปลี่ยน “ความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งคือนิรันดร์”
8. ส่งเสริมสุขภาพอนามัยและสงเคราะห์ผู้ยากไร้
ผู้ต้องขังเนื่องจากพระสังฆราชเคยได้รับผลกระทบจากการถูกเบียดเบียน ถูกทำทารุณต่างๆ และได้รับรู้ข่าวการถูกจับขังคุกของบรรดาพระสงฆ์ในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้เข้าใจดีว่า มีคนบริสุทธิ์เป็นจำนวนไม่น้อยที่ถูกกลั่นแกล้งและขังอยู่ในเรือนจำ เมื่อมีโอกาสพระสังฆราชได้ไปที่เรือนจำสกลนคร สถานที่เคยจองจำพระสงฆ์ มิใช่เพื่อไปตำหนิหรือเอาโทษเจ้าหน้าที่เรือนจำจากการกระทำครั้งอดีต แต่ไปเพื่อเยี่ยมเยียนให้กำลังใจผู้ต้องขัง และแจกสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น และทราบว่ามีคริสตชนหลายคนที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำด้วย จึงได้ไปทำหน้าที่อภิบาลเป็นประจำทุกเดือนพร้อมกับซิสเตอร์ โดยทางเจ้าหน้าที่เรือนจำได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และได้สร้าง “ศาลาเซนต์ลอเรนซ์” ขึ้นในเรือนจำ เพื่อใช้เป็นวัดน้อยในการถวายมิสซาบูชาขอบพระคุณ สอนคำสอน และโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ เจ้าหน้าที่เรือนจำยังเชิญให้พระสังฆราชได้เทศน์สอน บรรดาผู้ต้องขังทั้งหมด เพื่อกล่อมเกลาจิตใจพวกเขาให้เข้าใจว่า “ผิดพลาดคือมนุษย์ อภัยไม่สิ้นสุดคือพระเจ้า” ช่วยให้พวกเขาเห็นคุณค่าของตัวเองและพร้อมสำหรับการเริ่มต้นชีวิตใหม่ สังคมยังให้โอกาส นับเป็นการประกาศความรักและการให้อภัยของพระเจ้า ในดินแดนที่เคยจองจำพระสงฆ์ของพระองค์
ผู้ติดยาเสพติดและติดเชื้อ HIV พระสังฆราชได้ช่วยเหลือด้านการส่งไปบำบัดรักษาที่ศูนย์บำบัดยาเสพติดตามที่ต่างๆ และเมื่อเห็นว่าจำนวนผู้ติดยาเสพติดมีเป็นจำนวนมาก จึงได้เปิดศูนย์บำบัดยาเสพติด Communita incontro ขึ้นในที่ดิน 100 ไร่ที่ได้รับการบริจาคจาก คุณธุรินทร์ ปัญจทรัพย์ ที่บ้านโคกสะอาด อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร ในปี ค.ศ. 1989/2532 และได้ซื้อบ้านสำหรับเด็กและเยาวชนที่ติดเชื้อ HIV ที่วัดแม่พระราชินีแห่งสันติภาพ หนองห้าง เพื่อเป็นที่พักอาศัยและสถานศึกษาสำหรับเด็กที่ไม่สามารถเข้าศึกษาในระบบปกติได้ โดยมอบให้อยู่ในความดูแลของคณะภคินีธิดาเมตตาธรรม
ผู้ประสบภัย “สึนามิ”
เหตุการณ์ธรณีวิบัติ คลื่นยักษ์ “สึนามิ” ถล่มภาคใต้ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ.2004/2547 ที่ผ่านมา พระสังฆราชคายน์ได้เป็นผู้นำในการจัดหาทุนช่วยเหลือเด็กผู้ประสบเคราะห์กรรม สูญเสียบิดา-มารดาจากเหตุการณ์ครั้งนั้น
ด้วยการร้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ จากแหล่งทุนต่างๆ และเพื่อนที่รู้จักมักคุ้น อีกทั้งยังเดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยตนเอง เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ.2005/2548 ที่ผ่านมา อันเป็นภารกิจที่พระสังฆราชคายน์ ปฏิบัติเป็นประจำทุกปี
9. เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์
ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา พระสังฆราชมีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีบทบาทสำคัญ ดังนี้
การสมโภชครบครอบ 100 ปีแห่งความเชื่อ
ปี ค.ศ.1984/2527 เป็นปีครบรอบ 100 ปีแห่งการก่อตั้งกลุ่มคริสตชนในอัครสังฆมณฑล เดือนมีนาคม ค.ศ.1983/2526 โดยกำหนดจัด “วันเปิด 100 ปีแห่งการแพร่ธรรม” ที่รองอาสวิหารนักบุญอันนา หนองแสง และ “วันปิด 100 ปีแห่งการแพร่ธรรม” ที่อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่ พร้อมทั้งจัดให้มีการเทศน์อบรมฟื้นฟูจิตใจทุกวัดตลอดทั้งปี
เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระเป็นเจ้าที่ได้ประทานพระหรรษทานแก่อัครสังฆมณฑลให้มีความเจริญสืบมา อีกทั้งเป็นการระลึกถึงพระคุณของคณะมิชชันนารีทุกรุ่นที่ได้มาอบรมและปลูกฝังความเชื่อ ที่ทุกคนจะต้องรักษาไว้ด้วยชีวิต ดังคติพจน์การสมโภช 100 ปีที่ว่า “คริสตชน ต้องเป็นเกลือ และแสงสว่าง” ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ.1983/2526 โดยอันเชิญพระรูปแม่พระบลูอาร์มี่จากกรุงเทพฯ แห่รอบตัวเมืองนครพนม มีการเปิดอนุสาวรีย์คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส
การสถาปนามรณะสักขีแห่งสองคอนเป็นบุญราศีทั้งเจ็ดแห่งประเทศไทย
การสถาปนามรณะสักขีแห่งสองคอนเป็นบุญราศี เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งในสมัยของพระสังฆราช การสอบสวนเรื่องราวเริ่มเป็นครั้งแรกโดย คุณพ่อการ์โล กาแซตตา พระสงฆ์คณะซาเลเซียน ต่อมาในสมัยพระสังฆราช มีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ ได้ดำเนินการเป็นขั้นตอน โดยการตั้งคณะกรรมการสอบประวัติและพยานหลักฐานต่างๆ
จนกระทั่งในสมัยของพระสังฆราชคายน์ ได้ดำเนินเรื่องไปยังสำนักวาติกัน กรุงโรม ประเทศอิตาลี ซึ่งใช้เวลาหลายปีต้องเดินทางไปกรุงโรม 11 ครั้ง เกี่ยวกับเรื่องนี้ จนทุกอย่างชัดเจนไม่มีข้อสงสัยใดๆ มรณสักขีทั้งเจ็ดจึงได้รับการประกาศเป็น “ผู้น่าเคารพ” ซึ่งเป็นการยกย่องขั้นแรกว่าเป็นผู้ที่มีคุณธรรมหรือแบบอย่างชีวิตที่ควรแก่การยกย่อง
ต่อมาจึงได้รับการประกาศตั้งเป็น “บุญราศี” (The Blessed) โดยสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ.1989/2532 คริสตชนไทยหลายพันคนได้มีโอกาสไปร่วมความยินดีและสักขีพยานในวันนั้นด้วย หลังจากนั้นคริสตชนไทยได้มีโอกาสเฉลิมฉลองบุญราศีแห่งประเทศไทยและร่วมความยินดีอีกครั้ง ที่วัดแม่พระไถ่ทาส สองคอน อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ.1989/2532 ในชื่องาน “สันติร่วมจิตใจเดียว”
ลาออกจากการเป็นพระอัครสังฆราชผู้ปกครองอัครสังฆมณฑลท่าแร่–หนองแสง
ปี ค.ศ. 2003/2546 พระสังฆราชคายน์ มีอายุครบ 75 ปี หมายถึง การครบเกษียณอายุตามประมวลกฎหมายของพระศาสนจักร (มาตรา401) ประกอบกับสุขภาพที่ไม่เอื้ออำนวย พระอัครสังฆราชคายน์ ได้ยื่นจดหมายลาออกจากตำแหน่งแด่ สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2
สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ได้อนุมัติให้ลาออกเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ.2004/2547 พร้อมกับแต่งตั้งพระสังฆราชยอร์ช ยอด พิมพิสาร พระสังฆราชสังฆมณฑลอุดรธานี ให้รักษาการพระสังฆราชผู้ปกครองอัครสังฆมณฑลสืบแทน
หลังจากพ้นจากตำแหน่งผู้ปกครอง พระสังฆราชได้ย้ายไปพักที่ห้องรับรองบริเวณชั้นล่างของวัดพระหฤทัยฯ สกลนครที่สร้างเอาไว้
วาระสุดท้ายของชีวิต
พระอัครสังฆราชคายน์ แสนพลอ่อน มีโรคประจำตัวคือโรคเบาหวาน โดยอยู่ในความดูแลของแพทย์ประจำตัว คือ นายแพทย์สมบูรณ์ จิระวัฒนาสมกุล เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 2002 นายแพทย์สมบูรณ์ได้ตรวจพบเนื้อร้ายในตับของพระคุณเจ้า และแนะนำให้เข้ารับการตรวจรักษาอย่างละเอียดในโรงพยาบาล พระสังฆราชคายน์ แสนพลอ่อน ได้รับการตรวจที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ กรุงเทพฯ แพทย์ลงความเห็นว่า เป็นโรงมะเร็งในตับ และแนะนำให้พระสังฆราชพักผ่อนในความดูแลของแพทย์ แต่พระสังฆราชคายน์ แสนพลอ่อน ยังคงยืนยันที่จะเดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกาตามกำหนดที่วางเอาไว้ ทุกคนจึงอดห่วงไม่ได้ แต่ด้วยความเชื่อในพระเจ้า และไว้ใจคำเสนอวิงวอนของบุญราศีที่ 7 แห่งสองคอน พระคุณเจ้ามีอาการดีขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์
ในวันที่พระอัครสังฆราชคายน์ แสนพลอ่อน เดินทางไปสหรัฐอเมริกาต้องนั่งรถเข็นไป แต่เดินทางกลับมาเหมือนคนปกติ และยังคงทำหน้าที่เป็นนายชุมพาบาลอย่างเข้มแข็ง อดทน และเสียสละ แม้ในช่วงบั้นปลายชีวิตที่ลาออกจากการเป็นพระสังฆราชผู้ปกครอง ก็ยังคงไปร่วมงานฉลองวัด และงานพิธีต่างๆ อยู่เสมอ รวมถึงการสอนภาอังกฤษให้แก่สามเณรที่บ้านเณรฟาติมาซึ่งพระสังฆราชทำหน้าที่อาจารย์อย่างมีความสุข
เมื่อวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 2007 หลังเป็นประธานพิธีมิสซาขอบพระอัครสังฆราชคายน์ มารดาของคุณพ่อทวีชัย ศรีวรกุล ณ ศาลาปิติมหาการุญ ท่าแร่ พระอัครสังฆราชคายน์ มีอาการอ่อนเพลี ทางอัครสังฆมณฑลได้ส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ กรุงเทพฯ และเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 2007 ได้เดินทางกลับอัครสังฆมณฑลเพื่อพักษาตัวที่บ้านริมหนองหาร อีกทั้งเพื่อเตรียมฉลองนักบุญลอเรนซ์ ศาสนนามของพระสังฆราชคายน์ ที่ทางอัครสังฆมณฑลจะจัดให้
มรณภาพ
แต่เนื่องจากสุขภาพของพระอัครสังฆราชคายน์ ยังไม่ดีขึ้น ทางอัครสังฆมณฑลจึงให้พระสังฆราชคายน์ เข้้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสกลนคร จนกระทั่ง เมื่อวันอังคารที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 2007 เวลา 03.25น. พระเป็นเจ้าได้ทรงรับวิญญาณของพระสังฆราชกลับไปอยู่กับพระองค์ สิริอายุ 79 ปี
พิธีปลงศพ
เมื่อวันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม 2007 เวลา 10.00น. มีพิธีมิสซาปลงศพพระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน อดีตพระสังฆราชสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ณ อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่ อ.เมือง จ.สกลนคร