พระสังฆราชมิแชล ลังเยร์

 
 
พระสังฆราชมิแชล  ลังเยร์ เกิดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1920 ที่นอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี ค.ศ. 1938 
 
ท่านเข้าบ้านเณรที่เอเวรอส์ ในปี ค.ศ. 1940   ท่านได้ย้ายไปอยู่ที่สามเณราลัยเมืองการ์มส์  จนถึงปี ค.ศ. 1943  ท่านจึงเข้าบ้านเณรใหญ่  คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส  จนกระทั่งได้รับศีลบวช เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 1946 ท่านเป็นพระสงฆ์ชั้นเดียวกับพระสังฆราชอาแลง วังงาแวร์ 
 
เริ่มต้นชีวิตมิชชันนารี
หลังจากบวชได้เพียง 4 เดือน คือในเดือนเมษายน ค.ศ. 1947 ท่านได้รับมอบหมายให้มาแพร่ธรรมในสังฆมณฑลเสฉวน ประเทศจีน จนกระทั่งประเทศจีนกลายเป็นคอมมิวนิสต์  ท่านถูกไล่ออกนอกประเทศในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1951 ท่านได้พักอยู่ที่ฮ่องกงช่วงเวลาอันสั้น แล้วท่านเดินทางมาถึงประเทศไทย  เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 1951
 
การทำงานในประเทศไทย
หน้าที่แรกในประเทศไทย ไปประจำที่วัดบ้านนา-หนองรี จังหวัดนครนายก  (ตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาส) เพื่อศึกษาภาษาไทยและแต้จิ๋ว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1951- พฤศจิกายน ค.ศ. 1952 เป็นเวลา 1 ปี
 
หลังจากนั้นย้ายมาประจำที่วัดแม่พระลูกประคำ กาลหว่าร์ (ตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาส) ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1952- 15 สิงหาคม ค.ศ. 1957 จนกระทั่งวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1957 พระสังฆราชโชแรง สร้างวัดเซนต์หลุยส์ สาทร เสร็จเรียบร้อย ท่านจึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดเซนต์หลุยส์ สาทร เป็นองค์แรก 
 
 
ท่านได้เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดเซนต์หลุยส์ สาทร เนื่องจากท่านเคยอยู่ประจำประเทศจีนมาก่อน ท่านจึงสามารถดูแลคริสตชนจีนบริเวณวัดเซนต์หลุยส์ และชาวต่างประเทศเข้ามาติดต่อได้เป็นอย่างดี ท่านได้สร้างบ้านพักพระสงฆ์ในปีเดียวกัน และสร้างโรงเรียนเซนต์หลุยส์ศึกษาในปีต่อมา เมื่อจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้น ท่านก็ได้สร้างโรงเรียนวิริยาลัยที่เซนต์หลุยส์ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนเซนต์ไมเกิ้ิล) และย้ายนักเรียนชายไปอยู่โรงเรียนหลังใหม่ ปี ค.ศ. 1964 ท่านได้ตั้งคณะพลมารี คณะขับร้อง เด็กช่วยมิสซา  สมาคมนักบุญวินเซนต์เดอปอล และคณะสวดผู้ตาย  ท่านได้ปกครองวัดเซนต์หลุยส์  ถึงวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1967 
 
ในระหว่างที่ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเซนต์หลุยส์ ท่านก็ได้รับตำแหน่งเจ้าแขวงคณะแห่งกรุงปารีสร ะหว่างปี ค.ศ.1959 - 1962 
 
ในปี ค.ศ. 1967 สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโล ที่ 6  ได้ทรงพระกรุณาโปรดให้สมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ  ประกาศพระราชโองการ  เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1967 สถาปนาแต่งตั้งพระสังฆราชใหม่ ขึ้นปกครองสังฆมณฑลใหม่ ที่แบ่งแยกออกจากสังฆมณฑลกรุงเทพฯ 
 
สังฆมณฑลใหม่นี้  มีนามว่า  สังฆมณฑลนครสวรรค์ และได้พระสังฆราชใหม่คือ  คุณพ่อมิแชล  ลังเยร์  มิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส  ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเซนต์หลุยส์
 
คติพจน์    
ด้วยความซื่อสัตย์และอ่อนโยน  IN FIDE ET LENITATE
 
งานอภิเษกพระสังฆราชมิแชล ลังเยร์ ที่โบสถ์อัสสัมชัญกรุงเทพฯ โดยพระอัครสังฆราชยวง นิตโย เป็นผู้อภิเษก พระสังฆราชเกลาดีอุส  บาเย และพระสังฆราชวังงาแวร์ เป็นผู้ร่วมอภิเษก วันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 1967 เริ่มพิธีเวลา 16.30 น. ด้วยขบวนพระสงฆ์ คณะพระสังฆราช แห่พระสังฆราชใหม่เข้าวัด แล้วคุณพ่อดาเนียล อุปสังฆราช  อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯอ่านสมณสารตราตั้งเป็นภาษาลาติน คุณพ่อสังวาลย์ เลขานุการพระอัครสังฆราชยวง นิตโย ประธานในพิธี ปกมือเหนือศีรษะผู้รับอภิเษก  เป็นการมอบอำนาจพระสังฆราช ซึ่งได้รับสืบต่อๆ มาจากอัครสาวก  ต่อไปเป็นการเจิมศีรษะ, มือ เสกและมอบไม้เท้า,แหวน
 
 
 
ตลอดจนหนังสือพระวรสาร  ครั้นถึงภาคถวายของมิสซา พระสังฆราชทั้ง 8 องค์  ถวายสหบูชามิสซา เป็นพิธีเสกและมอบหมวกสูง กับถุงมือ ต่อจากนั้น เชิญพระสังฆราชใหม่ขึ้นนั่งบนอาสน์ ขับร้องบทเตเดอุม พระสังฆราชใหม่อวยพรอย่างสง่าเป็นครั้งแรก พิธีอภิเษกนี้ ใช้ภาษาไทยเป็นส่วนมาก  ยังคงความซาบซึ้งแก่ผู้ร่วมพิธี  ผิดกว่าการอภิเษกครั้งก่อนๆ พิธีสิ้นสุดลงประมาณ 18.00 น.  ต่อจากนั้นมีงานรับรอง ณ  สำนักพระอัครสังฆราชกรุงเทพฯ จนถึงเวลา 20.00 น.  ส่วนที่วัดเซนต์หลุยส์ตอนค่ำวันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 1967  คณะสัตบุรุษได้จัดงานเลี้ยง แสดงความยินดี  ที่ลานหน้าบ้านพักพระสงฆ์  ผู้ร่วมงานประมาณ 800 คน   
 
ครั้นถึงวันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1967  มีพิธีสถาปนาสังฆมณฑลนครสวรรค์อย่างเป็นทางการ วันนั้นคณะสงฆ์  และสัตบุรุษจากหลายแห่งมาร่วมพิธี  จากอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ มีพระอัครสังฆราชยวง  นิตโย คุณพ่อดาเนียล  คุณพ่อสังวาลย์  คุณพ่อเลออง เจ้าคณะแขวงมิสซังต่างประเทศ คุณพ่อเลขานุการพระสมณทูต คุณพ่อแวร์นิเอร์  และคุณพ่อเสวียงผู้เคยเป็นเจ้าวัดปากน้ำโพ คุณพ่อโกเชต์เจ้าวัดบ้านนาในเขตอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ และดูแลสัตบุรุษในจังหวัดสระบุรี ซึ่งในบัดนี้อยู่ในเขตสังฆมณฑลนครสวรรค์ คุณพ่อตาปี คุณพ่อโรเชอโร คุณพ่อกูตังด์  ปลัดวัดเซนต์หลุยส์  คุณพ่อคมทวน และคุณพ่อฮั่วเซี้ยง  อธิการบ้านเณรสามพราน  ซึ่งปลีกตัวมาร่วมแสดงความยินดีได้ช่วงเวลาอันน้อย แล้วรีบกลับ  สัตบุรุษวัดเซนต์หลุยส์ และวัดอื่นๆ  ในพระนครรวมกันเป็นรถใหญ่ 5 คัน  และรถส่วนตัวอีกหลายคัน  คณะสงฆ์ในสังฆมณฑลใหม่มาร่วมฉลองทุกองค์  นอกจากคุณพ่อแวร์ดิเอร์ที่ต้องอยู่เฝ้าวัดที่แม่สอด  และคุณพ่อฮาชที่ไปพักผ่อนในฝรั่งเศส  สัตบุรุษจากวัดต่างๆ ในสังฆมณฑลใหม่  ก็พากันมาหลายคันรถด้วยกัน 
 
เริ่มพิธีด้วยการเชิญพระสังฆราชมิแชล  ลังเยร์ จากสำนักพระสังฆราชซึ่งอยู่ใกล้ตลาด แห่โดยขบวนรถยนต์มายังบ้านคุณพ่อเจ้าวัด เวลา 9.15 น. ถวายมิสซา ณ ปะรำ ซึ่งสร้างชั่วคราว  (ณ ที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ตั้งวัดนักบุญอันนา) โดยพระอัครสังฆราชยวงนิตโย ร่วมกับพระสังฆราช ลังเยร์ และพระสงฆ์ทุกองค์ในสังฆมณฑลนครสวรรค์ บางตอนพระสงฆ์ผู้ร่วมถวายมิสซาขับร้องพร้อมกันอย่างน่าฟัง  จบมิสซาแล้ว  พระอัครสังฆราชยวง นิตโย  เป็นประธานในการสถาปนาพระสังฆราชเป็นผู้ปกครอง สังฆมณฑลนครสวรรค์อย่างเป็นทางการ พระอัครสังฆราชอ่านพระสมณสารตราตั้งของพระสันตะปาปา แล้วจึงเชิญพระสังฆราชลังเยร์ขึ้นนั่งบัลลังก์ ต่อจากนั้นคณะสงฆ์  นักบวช ชาย-หญิง ผู้แทนสัตบุรุษ  และคณะวัดต่างๆ  ในสังฆมณฑลเข้ามาแสดงคารวะภักดี ที่สุดพระสังฆราช ใหม่อวยพรในนามพระสันตะปาปาแก่ทุกคน 
 
ครึ่งชั่วโมงต่อมาเป็นการแสดงรำของนักเรียนแห่งหนึ่งในนครสวรรค์ ต้อนรับพระสังฆราช ตอนเที่ยง รับประทานอาหารพร้อมกัน ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ พร้อมกับผู้ช่วย ได้มาร่วมพิธีตั้งแต่ต้นจนจบทั้งๆ ที่อากาศร้อนอบอ้าว แต่ทุกคนก็ยินดีอยู่เป็นเกียรติ เป็นกำลังใจแก่พระสังฆ ราช  และสังฆมณฑลใหม่ 
 
สังฆมณฑลนครสวรรค์มีอาณาบริเวณกว้างขวางถึง 12 จังหวัด คือ 1. สระบุรี  2. ลพบุรี 3. สิงห์บุรี 4. ชัยนาท  5. อุทัยธานี 6. นครสวรรค์ 7. พิจิตร  8. พิษณุโลก 9. เพชรบูรณ์ 10. กำแพงเพชร  11. สุโขทัย และ 12. ตาก มีจำนวนสัตบุรุษประมาณ 3,000 คน แต่อาศัยพระสงฆ์ธรรมทูต 9 องค์ ที่มีน้ำใจเด็ดเดี่ยว เสียสละ ร้อนรนเพื่อพระเป็นเจ้าและอาศัยคำภาวนาสนับสนุนของบรรดาพี่น้อง  หวังว่าสังฆมณฑลใหม่จะเจริญเติบโตในเร็ววัน 
 
พระสังฆราชลังเยร์ เป็นผู้ชำนาญในเรื่องเครื่องยนต์กลไก  เพราะตั้งแต่เล็กเคยฝึกงานกับญาติซึ่งมีอู่ซ่อมรถยนต์ ที่ไม่สู้มีใครทราบ ก็เพราะท่านไม่ใคร่มีโอกาสใช้ความสามารถในด้านนี้  ท่านเป็นบุคคล โอบอ้อมอารี ท่านเปี่ยมด้วยความเมตตา  และอ่อนโยน ดุจดังบิดาที่มีต่อบุตร  เมื่อมีผู้ขอความช่วยเหลือ ท่านช่วยเหลือทุกคนโดยไม่เลือกหน้า  มาจากที่ไหน สัตบุรุษคนใดมีปัญหาเดือดร้อน ท่อน้ำตัน ปัญหาครอบครัว เจ็บป่วย ไม่มีเงิน  ท่านก็ช่วยเหลือทุกคน  ท่านไม่ปฏิเสธหรือแสดงทีท่าว่าเบื่อ  เด็กวัด นักขับ ท่านก็ให้มีความสุข พาเที่ยวเลี้ยงอาหาร  เด็กนักเรียนที่ยากจนก็เมตตาอุปถัมภ์ให้เรียนจนสามารถนำเอาความรู้มาใช้เลี้ยงชีพ ประกอบธุรกิจจนมีชื่อเสียง ถ้าไม่พ้นวิสัยสามารถท่านต้องช่วยทันที  และแน่นอน ท่านไม่ใช่คนโอ้อวด จึงอาจเป็นที่รู้กันภายในเงียบๆ เท่านั้น  ท่านเป็นคนใจคอเยือกเย็นยิ้มแย้ม เมื่อถึงคราวโมโห ท่านนิ่ง ไม่ยิ้ม นั่นแหละ เป็นสัญลักษณ์ว่าไม่พอใจแล้ว  ท่านเป็นคนมองโลกในแง่ดีเสมอ ปกติท่านจะไม่กล่าวร้ายถึงใครเลย 
 
พระสังฆราชมิแชล ลังเยร์ ได้ปกครองดูแลสังฆมณฑลนครสวรรค์เป็นเวลา 9 ปี จึงได้ขอลาเกษียณในปี ค.ศ.1976 เนื่องจากมีปัญหาด้านสุขภาพ ประกอบกับสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 มีเจตนาที่มุ่งส่งเสริมประมุขเขตมิสซังให้เป็นคนพื้นเมือง สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทยจึงได้สนองเจตนารมณ์โดยดำเนินการทูลเสนอแด่องค์สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 ให้ทรงแต่งตั้ง คุณพ่อบรรจง อารีพรรค ขณะนั้นดำรงตำแหน่งอธิการสามเณราลัยแสงธรรม สามพราน (Lux Mundi) เป็นประมุขสังฆมณฑลนครสวรรค์สืบภารกิจต่อไป 
 
 
พระสังฆราชมิแชล  ลังเยร์ ถึงแก่มรณภาพ วันที่ 27 มีนาคม ค.ศ. 1989 ที่วัดแม่พระเมืองลูร์ด (วัดสระบุรี) รวมอายุได้ 69 ปี เป็นมิชชันนารีประเทศไทย 38 ปี พิธีปลงศพวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 1989 เวลา 10.30 น. ที่อาสนวิหารนครสวรรค์  โดยมี พระสังฆราช บรรจง อารีพรรค เป็นประธานในพิธีปลงศพ ท่ามกลางพระสงฆ์ นักบวชชาย-หญิง และสัตบุรุษที่มาร่วมพิธีอย่างคับคั่ง