-
Category: ตารางเทียบสมัยการปกครองสังฆมณฑลเชียงใหม่
-
Published on Saturday, 10 October 2015 03:16
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 2864
เกิดเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1905 ที่ ประเทศฝรั่งเศส ณ ตำบลนาไว ห่างจากเมืองลูร์ด 30 กิโลเมตร
สมัครเข้าบ้านเณรคณะเบธาราม ปี ค.ศ. 1923 ได้ศึกษาวิชาปรัชญาและเทววิทยาที่บ้านเณรใหญ่ของคณะที่เบธเลแฮม
ได้รับศีลเป็นพระสงฆ์วันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 1930 ที่วัดประจำอารามคาร์แมล เมืองเบธเลแฮม
เริ่มชีวิตการทำงาน
ในปีเดียวกันนั่นเองก็ได้เดินทางไปประจำอยู่ในแผ่นดินใหญ่จีน มิสซังต๋าลี้ มณฑลยูนาน ประเทศจีน เรียนภาษาจีนได้แล้ว ก็ไปเปิดมิสซังใหม่ทางภาคใต้ของมิสซังต๋าลี้ ซึ่งมีเขตติดต่อกับประเทศพม่า ชาวเมืองนั้นเป็นไทยใหญ่ทั้งนั้น โดยไปพร้อมกันคุณพ่อแตชชี่ ชาวไทยใหญ่ส่วนมากถือประเพณีเดิม การทำงานยากแต่ท่านก็มีความหวังว่าเมื่อทำเต็มที่แล้ว การเกิดผลเป็นเรื่องของพระเจ้า
ท่านอยู่ที่นั่นจนได้รับเลือกเป็นพระสังฆราชของมิสซังต๋าลี้ได้รับอภิเษกที่เมืองคุนมิง ในวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1949 ขณะนั้นเป็นเวลาที่ประเทศจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบสังคมนิยม จึงไม่ค่อยได้มีโอกาสปฏิบัติหน้าที่ในการไปมาเยี่ยมเยือนสัตบุรุษในที่ต่างๆ ได้ ท่านอยู่กับการปกครองแบบใหม่นี้ 2 ปีครึ่ง โดยถูกขังบริเวณ ครึ่งปี แล้วก็ถูกไล่ออกจากประเทศจีน เหมือนกับนักธรรมทูตต่างชาติอื่นๆ ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1952 ท่านจึงได้มีโอกาสกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดเมืองนอน ซึ่งได้จากมานานถึง 22 ปี
ท่านได้เข้ามาประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 1954 และยินดีสมัครใจทำงานในประเทศไทยเหมือนธรรมทูตคนอื่นๆ ในปี ค.ศ. 1954 ได้มีการแบ่งเขตการดูแลของมิสซังภาคเหนือ พระสังฆราชหลุยส์ โชแรง แห่งมิสซังกรุงเทพฯ ได้มอบหมายให้พระสังฆราชลากอสต์ เป็นผู้ดูแล และทำงานแพร่ธรรมในภาคเหนือของประเทศไทย
หลังจากนั้นไม่นาน สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น 23 ได้ทรงสถาปนาสังฆมณฑลเชียงใหม่ ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นประมุของค์แรกของมิสซังเชียงใหม่ ในวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1959 ท่านก็ได้รับภารกิจและหน้าที่นี้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ท่านได้สนับสนุนการทำงานของคณะนักบวชและพระสงฆ์ ที่มาทำงานอยู่ก่อน เช่นคณะบราเดอร์เซนต์คาเบรียล โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย คณะซิสเตอร์อุร์สุลิน โรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย และสนับสนุนการศึกษาของโรงเรียนวัด เพื่อรับเด็กที่ยากจน ให้ได้รับการศึกษาและเรียนคำสอน ได้เปิดให้พระสงฆ์คณะเยสุอิต มาทำงานกับนักศึกษา และช่วงหลังสุดก็เปิดให้พระสงฆ์คณะปีเมด้วย
อนึ่งท่านทรงเล็งเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมมาก และเป็นห่วงอนาคตของคนหนุ่มสาว ท่านจึงได้มีนโยบาย และเปิดการฝึกอบรมวิชาชีพ ให้กับเด็กชายที่กิโล 6 โดยฝึกช่างไม้ ช่างเครื่องยนต์ และสอนคำสอนปัจจุบัน ศิษย์เก่าหลายคนก็ได้มีวิชาชีพติดตัว ส่วนเด็กหญิงท่านได้เชิญคณะซิสเตอร์จากสเปน (ซิสเตอร์บ้านมารีนา) มาฝึกวิชาชีพตัดเย็บเสื้อผ้า และอบรมคำสอนด้วย ต่อมาก็เปิดที่ เชียงรายอีกที่หนึ่ง
นโยบายของท่านก็คือ
เผยแพร่ศาสนาและช่วยเหลือคนทุกข์ยากทุกคน ทั้งด้านอภิบาลและชีวิตความเป็นอยู่ เช่น หาที่ดิน จัดตั้งชุมชนหมู่บ้าน ตั้งกลุ่มข้าว ตั้งโรงเรียนเพื่อการศึกษา ฝึกวิชาชีพ การอนามัย ยารักษาโรค ไม่ว่าจะเป็นคริสตชน หรือพี่น้องต่างศาสนา
นอกจากงานแพร่ธรรมและอภิบาลสัตบุรุษแล้ว ยังมีนโยบายฝึกและเตรียมคนในท้องถิ่น เพื่อมารับภาระหน้าที่ศาสนกิจนี้ด้วย สนับสนุนทั้งในรูปแบบพระสงฆ์ นักบวชและฆราวาสแพร่ธรรม ได้พยายามส่งเยาวชนที่สนใจชีวิตนักบวชไปฝึกหัดและศึกษาต่อที่บ้านเณรและอาราม ขณะเดียวกันก็จัดตั้งคณะซิสเตอร์พื้นเมืองขึ้นที่บ้านแม่ปอน พร้อมๆ กับฝึกอบรมฆราวาสที่สนใจมีน้ำใจเป็นครูคำสอน ทำงานตามหมู่บ้าน ผลก็ปรากฎในปัจจุบันแล้ว
พระสังฆราชเปิดกว้างในการทำงาน ได้ออกเยี่ยมสัตบุรุษตามเขตวัดต่างๆ ทั้งคนพื้นเมืองและชาวเขา แม้จะต้องเดินทางด้วยความยากลำบาก เช่น เดินบนดอย เพราะไม่มีรถ บางครั้งก็เสี่ยงอันตรายมาก ท่านก็ไม่ย่อท้อ
ท่านได้ดำรงตำแหน่งประมุขมิสซังเชียงใหม่ จนถึงปี ค.ศ. 1975 รวมเป็นเวลา 21 ปี จากนั้นก็ได้ลาพักจากตำแหน่ง และได้ไปทำงานอยู่ประจำวัดเวียงป่าเป้า อ. เวียงป่าเป้า จ. เชียงราย โดยพยายามเดินตามนโยบายที่ได้ตั้งไว้ ที่เวียงป่าเป้า ท่านได้ดูแลโรงเรียน ขุดบ่อน้ำดื่ม และสร้างวัดใหม่ เพราะวัดเก่าชำรุดมากขณะเดียวกันก็ยังออกไปเยี่ยมคริสตชน ที่บ้านวังเหนือ และบ้านแม่พริก ซึ่งทำให้คริสตชนสนใจมากขึ้น ช่วงบั้นปลายของชีวิตท่าน ได้มาพักที่กิโล 6 อันเป็นสถานที่ฝึกอบรมวิชาชีพชาย ท่านได้ให้เวลากับการไปเยี่ยม ทำมิสซาตามวัดต่างๆ ทั้งใกล้และไกลด้วยการขับรถไปเอง ท่านไม่เคยพิถีพิถันต่อชีวิตตนเอง ชีวิตท่านเรียบง่าย หลายครั้งท่านเตรียมอาหารทานเอง หรือไม่ก็ไปซื้อ ตามร้าน ท่านไม่มีเลขา ทำเองตลอด ท่านยึดจิตตารมณ์ของคณะที่ว่า จะต้องทำงานให้มีประโยชน์อย่างแท้จริงด้วยความต่ำต้อยและเสียสละ ยอมรับงานที่คนอื่นไม่อยากทำ เพราะต่ำต้อยเกินไป
แนวทางการทำงานของท่าน
จะสอนที่ไหนต้องเข้าไปอยู่ที่นั่น ทุกคนที่ไปอยู่เหมือนชุมพาบาล อยู่กับลูกแกะ ไม่ใช่อยู่ไกล แต่อยู่ท่ามกลางเขา การอยู่อาจยากหน่อย เพราะอยู่คนเดียวไม่เหมือนอยู่กับกลุ่ม การพูดคุยภาษาต่างถิ่นก็ยาก ลำบาก ต้องเสียสละ ซึ่งคุณพ่อทุกท่านก็ยอมรับและแยกย้ายไปอยู่ตามเขตต่างๆ การทำเช่นนี้ เป็นการแสดงว่า คุณพ่อเป็นของชาวบ้าน เพราะอยู่ในครอบครัวและสังคมเดียวกัน
ชีวิตของท่าน
“เราจะให้อายุของเราที่มีอยู่ ถวายพระพรแด่พระเป็นเจ้าในกิจการทั้งหมดที่พระองค์มอบให้” ท่านได้เล่าคร่าวๆ เกี่ยวกับชีวิตการทำงาน แต่ก็ชัดเจนในนโยบายของคณะท่านได้ยึดและดำเนินตามจิตตารมณ์ที่ท่านนักบุญไมเคิ้ล การิกอท์ส ได้เริ่มไว้
นโยบายของสังฆมณฑลคือ เผยแพร่ศาสนาและช่วยเหลือคนยากจนทั้งด้านการศึกษาฝึกอาชีพ การอนามัย ยารักษาโรค โดยพระสงฆ์แต่ละท่านได้ทำงานต่างๆ เหล่านี้ในเขตหมู่บ้านต่างๆ ไม่ว่า คริสตชนหรือพี่น้องศาสนาอื่น นอกจากการแพร่ธรรมและอภิบาลสัตบุรุษแล้วทางคณะยังมีนโยบายฝึกและเตรียมคนในท้องถิ่นเพื่อมารับภาระหน้าที่ศาสนกิจนี้ด้วย สนับสนุนทั้งในรูปแบบพระสงฆ์ นักบวช และฆราวาสแพร่ธรรม ได้พยายามส่งเยาวชนที่สนใจชีวิตนักบวชไปฝึกหัดและศึกษาในบ้านเณรและอาราม ขณะเดียวกันก็จัดตั้งคณะซิสเตอร์ของชาวพื้นเมืองขึ้นที่แม่ปอน พร้อมกับฝึก อบรมคำสอนแก่ผู้ที่สนใจ และมีน้ำใจ ทำงานตามหมู่บ้านเป็นครูคำสอน
ประมาณ 20 กว่าปี ผ่านมาทางสังฆมณฑลก็มีพระสงฆ์คนเมือง คนแรกคือ คุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร ต่อมาคือคุณพ่อสนั่น สันติมโนกุล ซึ่งเป็นพระสงฆ์ปกาเกอญอคนแรกเช่นกัน ซึ่งทั้ง 2 ท่าน ก็ได้ทำงานสอดคล้องกับนโยบายของคณะเบธารามตลอดมาในช่วงหลังสุด ทางคณะเองก็ได้สนับสนุนเยาวชนเพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของคณะฯ ต่อไปในประเทศไทยด้วย ท่านเป็นผู้เปิดกว้างในการทำงาน ได้ออกเยี่ยมสัตบุรุษ ตามเขตวัดต่างๆ ทั้งคนเมืองและชาวเขา
สรุปนโยบายการทำงานที่พระสังฆราชสนับสนุน
1. ทำงานเผยแพร่ศาสนาทางภาคเหนือทั้งคนเมืองและชาวเขาทุกเผ่า
2. ช่วยเหลือคนยากจนด้านเศรษฐกิจ ตั้งธนาคารข้าว จัดหาที่ดินทำกิน สร้างหมู่บ้านหลายแห่ง เช่น ที่ห้วยบง เมืองงาม บ้านป่าตึงฯ
3. จัดการด้านการศึกษา ทั้งในระบบและนอกระบบ มีโรงเรียนของวัดสำหรับคนยากจน จะได้มีโอกาสศึกษา เช่นที่พระหฤทัย ศิริมาตย์เทวี เวียงป่าเป้า พร้าว แม่ริมฯ มีโรงเรียนสำหรับชาวเขา โดยเฉพาะที่บ้านแม่ปอน โดยมีคุณพ่อแซงกีนอตเป็นผู้ดูแล นอกจากนี้ตามหมู่บ้านเขตต่างๆ คุณพ่อแต่ละเขตก็ได้จัดให้มีการสอนภาษาไทย ให้กับเด็กและเยาวชนด้วย
4. ส่งเสริมอาชีพ ส่งเสริมอาชีพสตรี เปิด 2 แห่ง ที่เชียงรายและที่บ้าน มารีนา สอนเย็บผ้า การฝีมือ และสอนคำสอนด้วย ส่งเสริมอาชีพชายที่บ้าน คุณพ่อบาไตย์ กิโล 6 ฝึกช่างไม้ ช่างเครื่อง และสอนคำสอน
5. แนะนำด้านอนามัย ช่วยเหลือคนเจ็บป่วย ให้ยาถ้าเป็นไม่มาก ถ้าอาการหนักก็ส่งโรงพยาบาล
6. ฝึกและเตรียมคนในการทำงานแพร่ธรรมและสืบทอดเจตนารมณ์ของคณะฯ ขณะเดียวกัน ก็ฝึกเยาวชนที่สนใจด้านคำสอนเพื่อเป็นครูคำสอนทำงานตามหมู่บ้าน ท่านเห็นว่าคนท้องถิ่นเข้าใจภาษา วัฒนธรรม ประเพณีของตนได้ดี คณะเบธารามได้เดินตามจิตตารมณ์ของผู้ตั้งคณะมาตลอดคือ คุณพ่อไมเคิ้ล (MICHAEL) ซึ่งท่านตั้งความประสงค์ของคณะว่าจะต้องทำงานให้มีประโยชน์อย่างแท้ จริงด้วยความต่ำต้อยและเสียสละยอมรับงานที่คนอื่น ไม่อยากทำเพราะต่ำต้อยเกินไป
ความเห็นของพระสังฆราชลากอสต์
“จะสอนที่ไหนต้องเข้าไปอยู่ที่นั่น คุณพ่อแต่ละท่านก็ไปอยู่ตามหมู่บ้านและอยู่กับชาวบ้าน ทุกคนที่ไปอยู่เหมือนชุมพาบาล อยู่กับลูกแกะ ไม่ใช่อยู่ไกลแต่อยู่ท่ามกลางเขา การอยู่อาจยากหน่อยเพราะอยู่คนเดียว ไม่เหมือนอยู่กับกลุ่ม การพูดคุยภาษาต่างถิ่น ก็ยากลำบาก ก็ต้องเสียสละ ซึ่งคุณพ่อทุกท่านก็ยอมรับและแยกย้ายไปอยู่ตามเขตต่างๆ ในหมู่บ้านที่ห่างไกล การทำอย่างนี้เป็นการแสดงว่าคุณพ่อเป็นของชาวบ้าน อยู่ในครอบครัวและสังคมเดียวกัน คุณพ่อเป็นของสำหรับชาวบ้านจริงๆ”
“เราจะให้อายุของเราที่มีอยู่
ถวายพระพรแด่พระเป็นเจ้าในกิจการทั้งหมดที่พระองค์มอบให้”
พระสังฆราช แบร์นาร์ด ลูเซียน ลากอสต์ มรณะวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 1989 ด้วยวัย 84 ปี ด้วยโรคชราและโรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร ที่โรงพยาบาลลานนา พิธีปลงศพได้จัดที่อาสนวิหารพระหฤทัย เชียงใหม่ ในวันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ. 1989 โดยพระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู เป็นประธานนำพิธีปลงศพ