-
Category: ตารางเทียบสมัยการปกครองสังฆมณฑลจันทบุรี
-
Published on Saturday, 10 October 2015 03:14
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 5080
ท่านเกิดวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ.1881 ที่ตำบลตีนเป็ด อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา และได้รับศีลล้างบาปที่วัดเซนต์ปอล แปดริ้ว เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวนพี่น้อง 7 คน ของ ยวง ล้ำ และเวโรนิกา พลับ
การศึกษา
ได้รับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนเซนต์ปอล
ปี ค.ศ.1891 เข้าศึกษาในสามเณราลัยพระหฤทัย บางนกแขวก สมุทรสงคราม
ปี ค.ศ.1899 สำเร็จการศึกษาเบื้องต้นตามหลักการของสามเณราลัย จึงผ่าน
การทดลอง (โปรบาซีโอ) เป็นครูเณรประจำสามเณราลัย
ระหว่างนั้นท่านเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการช่วยกันสร้างตึกใหม่ของสามเณรลัย
ปี ค.ศ.1903 ศึกษาวิชาปรัชญาและเทววิทยา เตรียมตัวเป็นพระสงฆ์ต่อไป
- วันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1906 รับศีลโกน โดยพระสังฆราชฌอง หลุยส์ เวย์
- วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1907 รับศีลน้อย 4 ขั้น โดยพระสังฆราชฌอง หลุยส์ เวย์
- วันที่ 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1910 รับศีลขั้นซุปดีอาโกโน โดยพระสังฆราชเรอเน มารี ยอแซฟ แปร์รอส ที่ วัดน้อยสามเณราลัยพระหฤทัย บางช้าง
- วันที่ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1910 รับศีลบวชสังฆานุกร โดยพระสังฆราชเรอเน มารี ยอแซฟ แปร์รอส ที่ วัดแม่พระบังเกิด บางนกแขวก
ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ วันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ. 1910 ที่ สามเณราลัยพระหฤทัย บางช้าง สมุทรสงคราม พร้อมกับเพื่อนอีก 8 องค์ คือ คุณพ่อบอนิฟาซ ยวง (โกศล รูจีรัตน์), คุณพ่อมาร์แซล จง (จงสวัสดิ์ อารีอร่าม), คุณพ่อทิมอเทว นพ โชติพงษ์, คุณพ่ออันตน ตาน โชติผล, คุณพ่อโทมา แซน, คุณพ่อฟิลิป ลิฟ, คุณพ่อปาสกัล ฟิลิป, คุณพ่ออเล็กซิส กิม โดย พระสังฆราชเรอเน มารี ยอแซฟ แปร์รอส ประมุขมิสซังสยาม
เริ่มชีวิตการทำงาน
ปี ค.ศ. 1910 เป็นอาจารย์สามเณราลัยพระหฤทัย บางช้าง สมุทรสงคราม
ปี ค.ศ. 1911-1912 เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดนักบุญฟิลิปและยากอบ หัวไผ่ ชลบุรี
และวัดนักบุญยอแซฟ พนัสนิคม ชลบุรี
ปี ค.ศ. 1912-1914 อาจารย์ประจำสามเณราลัยพระหฤทัย บางช้าง สมุทรสงคราม
ปี ค.ศ. 1914-1915 เป็นเจ้าอาวาสวัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา,
วัดพระนามพระเยซู บ้านแป้ง สิงห์บุรี และดูแลวัดนักบุญอันนา ปากน้ำโพ นครสวรรค์
ปี ค.ศ. 1914-1924 อาจารย์ประจำสามเณราลัยพระหฤทัย บางช้าง สมุทรสงคราม
ปี ค.ศ. 1925-1929 เป็นเจ้าอาวาสวัดพระหฤทัย วัดเพลง ราชบุรี
ปี ค.ศ. 1929-1940 เป็นเจ้าอาวาสวัดนักบุญฟิลิปและยากอบ หัวไผ่ ชลบุรี
ระหว่างนั้นได้จัดเตรียมสถานที่สำหรับสร้างสามเณราลัยอีกแห่งหนึ่งที่ศรีราชา
ปี ค.ศ. 1940-1941 เป็นเจ้าอาวาสวัดซางตาครู้ส กุฎีจีน และในเวลาเดียวกันรับหน้าที่เป็นผู้อบรมภคินี
ที่อารามพระหฤทัยฯ คลองเตย
ปี ค.ศ. 1942-1944 เป็นเจ้าอาวาสวัดนักบุญฟิลิปและยากอบ หัวไผ่ ชลบุรี
วันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1944 ได้รับตราตั้งเป็นพระสังฆราชแห่งบาร์คูโซ และประมุขแห่งมิสซังจันทบุรี
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1945 ได้รับอภิเษกเป็นพระสังฆราชจาก พระสังฆราชเรอเน มารี ยอแซฟ แปร์รอส ประมุขมิสซังกรุงเทพฯ ณ วัดนักบุญฟิลิปและยากอบ หัวไผ่ โดยใช้คติพจน์ประจำตำแหน่งพระสังฆราชว่า "IN LABORE REQUIES" แปลว่า ทรงเป็นการพักผ่อนในยามลำบาก ซึ่งประโยคนี้นำมาจากเพลง VENI SANCTE SPIRITUS อันเป็นบทเพลงสรรเสริญพระจิตเจ้า
ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งเป็นประมุขมิสซังจันทบุรีนั้น พระสังฆราช ยาโกเบ แจง เกิดสว่าง ได้ดำเนินชีวิตอย่างเรียบๆ ไม่ผิดแปลกไปจากเมื่อยังเป็นพระสงฆ์อยู่ท่านเป็นผู้มีใจ โอบอ้อมอารีย์ พยายามบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นมากที่สุด ท่านพยายามบำเพ็ญกรณียกิจของท่านอย่างไม่ย่อท้อถอยต่ออุปสรรคใดๆ เลย จนกระทั่งวันสุดท้ายแห่งชีวิต
ผลงาน
ท่านได้จัดการย้ายนวกสถานของภคิณีแห่งมิสซังจันทบุรี จากจังหวัดจันทบุรีไปแปดริ้ว
ปี ค.ศ. 1951 ท่านได้จัดสร้างอารามภคิณีใหม่ที่จันทบุรี และให้ชื่อว่า “อารามฟาติมา”
ปี ค.ศ. 1952 ท่านได้ตั้งอารามคาร์แมลขึ้นที่จันทบุรี
เมื่อถึงคราวป่วยแล้วท่านจึงมาพักรักษาตัวที่วัดเซนต์ปอล แปดริ้ว แต่อาการก็ทรุดลงตามลำดับ จึงกลับไปพักที่วัดหัวไผ่ กระทั่งมรณภาพเมื่อวันจันทร์ที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1952 เวลา 7.30 น. สิริอายุ 71 ปี ดำรงตำแหน่งเป็นพระสังฆราช 7 ปี
ศพของท่านสวมอาภรณ์พระสังฆราช สวมเสื้อกาสุลาสีม่วงอยู่ภายนอก ตั้งไว้ในห้องพักของท่านที่วัดหัวไผ่ ทั้งวันมีสัตบุรุษมาแสดงความเคารพ จนกระทั่งเย็นวันอังคารจึงเชิญศพลงไปที่วัด มีคริสตังจากวัดต่างๆ มาคำนับศพและสวดภาวนาอุทิศให้ตลอดเวลา
พิธีปลงศพ
วันศุกร์ที่ 18 เมษายน ค.ศ.1952 เวลา 8.00 น. ที่วัดนักบุญฟิลิปและยากอบ หัวไผ่ ชลบุรี พิธีปลงศพพระสังฆราชยาโกเบ แจง เกิดสว่าง ได้ทำอย่างยิ่งใหญ่สมเกียรติทุกประการ มีพระสงฆ์ 42 องค์ ลงจากบ้านพักเดินเป็นขบวนเข้าวัดพร้อมกับพระสังฆราชทั้งสององค์ คือ พระสังฆราช เปโตร คาเร็ตโต เป็นผู้เชิญศพเข้าวัด แล้วพระสังฆราช หลุยส์ เคลเมนต์ โชแรง ถวายมหาบูชามิสซาหน้าศพอย่างมโหฬาร ยุวนีสแห่งคณะเซนต์คาเบรียลเป็นผู้ขับร้องระหว่างมิสซา ในวัดเต็มไปด้วยสัตบุรุษจากวัดต่างๆ ส่วนสัตบุรุษวัดหัวไผ่ยินดีฟังมิสซาอยู่นอกวัด