-
Category: ตารางเทียบสมัยการปกครองสังฆมณฑลราชบุรี
-
Published on Saturday, 10 October 2015 03:11
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 3672
ชีวิตวัยเด็ก
ท่านเกิดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1890 ปีนาโรโล โป (ปาเวีย) ประเทศอิตาลี จากครอบครัวที่ยากจนทางด้านวัตถุ แต่ร่ำรวยด้วยคุณธรรม บิดาของท่านคืออัตตีลีโอ และมารดาคือตั๊กโกนี เลโอปอลดา ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ท่านได้รับศีลล้างบาป และเจริญเติบโตขึ้นในบรรยากาศศักดิ์สิทธิ์แห่งครอบครัวของท่าน ด้วยความรักเอาใจใส่ของมารดาที่ศักดิ์สิทธิ์ และด้วยการนำของพระสงฆ์เจ้าอาวาส ผู้ร้อนรน หนูน้อยกาเยตาโนเจริญเติบโตขึ้นในการรู้จักพระเป็นเจ้าและในการปฎิบัติคุณธรรม เมื่ออายุได้ 10 ขวบ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1900 ท่านก็จากบ้านไปยังศูนย์เยาวชนของคณะซาเลเซียนที่ตุริน บ้านแม่ของคณะที่ตั้งขึ้นโดยคุณพ่อบอสโกเองที่นี่หนูน้อยกาเยตาโนได้รู้จักคุณพ่อบอสโก และกิจการของท่านเป็นครั้งแรก ท่านเป็นคนที่มีใจร้อนรนและใจร้อนด้วย เด่นในการเรียนและในความประพฤติ ร่าเริง และมีความประพฤติเรียบร้อย บรรดาอาจารย์ของท่านลงความเห็นว่า ท่านมีความเฉลียวฉลาดมาก มีระเบียบ รู้จักวางตัว เป็นที่ยอมรับของทุกคน และเป็นที่ต้นระหว่างเพื่อนๆ ความใจดีของบรรดาผู้ใหญ่ บรรยากาศแห่งความร่าเริง และความศรัทธาในศูนย์เยาวชนค่อยๆ ซึมซับเข้าในจิตใจของท่าน เมื่อเรียนจบชั้นมัธยม ท่านก็ตัดสินใจเข้าบ้านเณร
สู่ชีวิตนักบวชและสงฆ์ซาเลเซียน
เดือนกันยายน ค.ศ.1905 ท่านเข้านวกสถานซาเลเซียน ที่โฟลิสโซ โดยได้รับเสื้อจากคุณพ่อไมเคิล รัว ผู้สืบตำแหน่งต่อจากคุณพ่อบอสโก ท่านได้ต่อสู้กับอุปนิสัยใจร้อนของท่าน เพื่อนๆ นวกชนเรียกท่านว่า ดาราในการเล่น การหย่อนใจและการสนทนา ท่านได้ปฏิญาณตนครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 กันยายน ค.ศ.1916 เป็นระยะเวลา 3 ปี และศึกษาปรัชญาศาสตร์และเทวศาสตร์ในสถานศึกษาที่วัลซาลีเซ จบการศึกษาก็ฝึกงานของคณะด้วยความยินดี อุปนิสัย ร่าเริง และชอบมองในแง่ดี
วันที่ 9 มกราคม ค.ศ.1916 รับแต่งตั้งเป็นสังฆานุกร ที่อิฟเรอา ส่วนวันที่ท่านเรียกว่า “วัดที่งดงาม วันที่ท่านรักมากที่สุดและท่านจดจำจนตลอดชีวิต” คือวันที่ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ ต้องถูกเลื่อนออกไป เพราะสงครามโลกครั้งที่หนึ่งระเบิดขึ้น ท่านถูกเรียกเข้ารับราชการทหาร ท่านจึงได้เขียนจดหมายลงวันที่ 18 มกราคม ค.ศ.1916 ถึงเจ้าคณะแขวงของท่าน ด้วยความไว้วางใจว่า “ผมได้กลับจากแนวรบเพื่อทำงานในโรงพยาบาล และผมได้พบว่างานบรรเทาทุกข์คนป่วยเป็นงานสำคัญ เป็นต้น เมื่อผมเป็นผู้ช่วยจิตตาภิบาลในการเฝ้าคนไข้และโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอด้วยความสุภาพถ่อมตน ขออนุญาตให้ผมบวชเป็นพระสงฆ์เถิด” บรรดาผู้ใหญ่ทราบดีถึงความพร้อมของท่าน ก็อนุญาต ดังนั้น ท่านจึงได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ในแนวรบ โดยพระสังฆราชแห่งอูดีเน คือ พระสังฆราชอาทานาซีโอ รอสซี ในวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ.1916
สู่ดินแดนธรรมทูตประเทศจีน
สงครามโลกครั้งที่ 1 จบสิ้นลงในปี ค.ศ.1918 ความฝันของท่านที่จะเป็นธรรมทูตในดินแดนที่อยู่ห่างไกลนั้นก็ได้เป็นความจริงในฤดูใบไม้ร่วง ปี ค.ศ.1918 ท่านออกเดินทางไปสู่ประเทศจีนบ้านของคณะที่มาเก๊า เพื่อเรียนภาษาจีนเป็นเวลาประมาณ 1 ปี หลังจากนั้นก็ลงมือทำงานในโรงเรียนของพระสังฆราชลุยจี แวร์ซีเลีย สงฆ์หนุ่มกาเยตาโนทำงานด้วยใจร้อนรน ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบากใดๆ ตลอดเวลา 9 ปี เพราะความร้อนรน ความศรัทธา คุณธรรมอันดีและหลักการที่ดีของท่าน ท่านจึงถูกแต่งตั้งเป็นนวกาจารย์ในปี ค.ศ.1926 ที่มาเก๊า
เปิดกิจการซาเลเซียนในประเทศไทย
ในปีต่อมา คือ ค.ศ.1927 พระสันตะสำนักได้มอบงานธรรมทูตที่กว้างใหญ่แก่คณะซาเลเซียน ให้มาทำงานในประเทศไทย ผู้ใหญ่ของคณะมองเห็นว่าคุณพ่อปาซอตตีเป็นบุคคลที่มีความสามารถที่จะรับผิดชอบภาระหนักแห่งการเริ่มงานธรรมทูตใหม่นี้ ดังนั้น วันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ.1927 กลุ่มธรรมทูตผู้เยาว์ มีคุณพ่อปาซอตตีเป็นหัวหน้า โดยการนำของคุณพ่อเปโตร รีกัลโดเน ได้เดินทางมาถึงประเทศไทย ซึ่งจะเป็นบ้านใหม่สำหรับคุณพ่อปาซอตตีตลอด 23 ปี และเป็นพยานถึงพรสวรรค์ที่ท่านมีในด้านความปรีชา ฉลาด และหัวใจที่ร้อนรนในการแพร่ธรรมของท่าน รวมธรรมทูตรุ่นแรกนี้มีจำนวน 16 คน พระสงฆ์ 3 องค์ คือ คุณพ่อปาซอตี คุณพ่อยอห์น กาแซตตา และคุณพ่ออันตน มาร์แตง นอกจากนั้นเป็นสามเณรและนวกชน
กิจการที่เจริญเติบโตขึ้น
ปีแรกๆ แห่งชีวิตและงานธรรมทูตที่นี่ เป็นปีที่ต้องทำงานหนัก เพราะการเริ่มต้นเกือบจะเรียกว่า จากความเปล่าในทุกสิ่ง อากาศที่แสนร้อน ชื้นแฉะได้พรากเอาชีวิตของธรรมทูตหนุ่ม 2 คนไป คือ คุณพ่อนิโกลา เด วินเซนซี อายุ 26 ปี และสามเณรอาร์ดิสโซเน วินเซนโซ ธรรมทูตอื่นๆ รวมทั้ง คุณพ่อปาซอตตีก็อยู่ในอันตราย จนบางครั้งต้องผ่านการรับศีลเจิมคนไข้ ความยากลำบากในการเรียนภาษาที่มีอักษรกว่า 70 และยังมีเสียงวรรณยุกต์ 5 เสียงต่างกัน ต้องปรับตัวในด้านความเป็นอยู่ ด้านอาหาร นอกเหนือจากนั้น ยังมีความขมขื่น การขัดแย้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ซึ่งคุณพ่อปาซอตตีชนะด้วยอารมณ์ที่ดีและด้วยความศรัทธา
คุณพ่อปาซอตตีอยู่ท่ามกลางพวกเขา ไม่ใช่ในฐานะอธิการเท่านั้น แต่เฉพาะอย่างยิ่งท่านเป็นดุจ บิดาในครอบครัวใหญ่นั้น รอยยิ้มที่จริงใจ การมีอารมณ์ดี และความร่างเริงแจ่มใสเสมอของท่านสามารถเปลี่ยนสถานการณ์น่าหนักใจ หรือน่าอายให้เป็นเรื่องสนุก แบบอย่างที่มีพลังแห่งความสุภาพถ่อมตน ถือว่าเป็นคนสุดท้ายในหมู่คณะ แต่เป็นคนแรกที่รับผิดชอบหน้าที่ เป็นต้นเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้ช่วยกระตุ้นให้หมู่คณะของท่านสามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ท่านได้ริเริ่มพัฒนา และประสานงานอย่างเฉลียวฉลาดในมิสซัง ได้ขยายกิจการจากบ้านแรกคือบางนกแขวก ในปี ค.ศ. 1928 ที่วัดเพลง ดอนมดตะนอย ดอนกระเบื้อง (ซึ่งพระสงฆ์ที่นั่นจะดูแลวัดบางตาล บ้านโป่ง ท่าหว้า และท่าม่วงพร้อมกันไปด้วย)
เมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1929 พระสังฆราชแปร์รอส ได้มอบมิสซังราชบุรีให้คณะซาเลเซียนเป็นผู้ปกครอง
วันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 1929 กระทรวงเผยแพร่ศาสนาได้สถาปนาสังฆมณฑลราชบุรี แยกออกจากสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ให้ชื่อว่า “มิสซังเอกเทศแห่งราชบุรี” ในปี ค.ศ. 1941 นั้นเอง ซึ่งเป็นเวลาวิกฤติทางการเมืองและศาสนาในประเทศไทย ท่านปาซอตตีก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้แทนสมเด็จพระสันตะปาปาในประเทศไทย (DELEGATE APOSTOLIC เทียบเท่าตำแหน่งสมณทูตในปัจจุบัน) เป็นการชั่วคราวซึ่งท่านดำรงตำแหน่งนี้จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง ในปี ค.ศ.1945 ซึ่งการมีผู้แทนของสมเด็จพระสันตะปาปาเช่นนี้ ทำให้พระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยไม่ต้องได้รับการกระทบกระเทือนรุนแรงนัก
ในปีเดียวกันนี้ มิสซังราชบุรีถูกยกขึ้นเป็น VICARIATO APOSTOLICO และท่านปาซอตตีก็ได้รับการอภิเษกเป็นสังฆราช ในวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1941 ที่อารามคาร์แมลกรุงเทพฯ โดย พระสังฆราชเรอเน แปร์รอส เป็นผู้อภิเษก เนื่องจากกำลังมีสงครามในยุโรป ระหว่างเยอรมันและโปรแลนด์ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง บ้านเณรในประเทศไทยคงเหลืออยู่เพียงแห่งเดียว คือ บ้านเณรบางนกแขวก สามเณรและพระสงฆ์ไทยที่ไปเรียนที่ปีนังก็ต้องหยุดชะงัก เพราะปีนังตกเป็นของญี่ปุ่นจึง เป็นหน้าที่ของท่านปาซอตตีและคณะสงฆ์ซาเลเซียนที่จะรักษาบ้านเณรทั้งเล็กและใหญ่ที่บางนกแขวกไว้ พระสังฆราชองค์หนึ่งแห่งประเทศลาวกล่าวว่า “ในช่วงเวลาที่ยากยิ่ง ภายใต้การนำของท่าน ปาซอตตี คณะซาเลเซียนสามารถก้าวไปข้างหน้าเกินความคาดหมาย” และธรรมทูตอีกท่านหนึ่งจากคณะนักบวชอื่น เขียนถึงท่านว่า “ท่านเป็นธรรมทูตที่มีชีวิตชีวา และมีทัศนคติที่ดี”
กลับเยี่ยมปิตุภูมิเป็นครั้งสุดท้าย
ในที่สุด ปี ค.ศ. 1948 ท่านตัดสินใจเดินทางกลับไปเยือนอิตาลี บ้านเกิดเมืองนอนเป็นครั้งสุดท้ายแห่งชีวิตธรรมทูตของท่าน ก่อนอื่นหมด ท่านปรารถนาที่จะไปกราบแทบพระบาทของผู้แทนพระคริสตเจ้า (พระสันตะปาปาปีโอที่ 12) โอกาสนั้น ท่านได้นำคุณพ่อบุนนาค ทองอำไพ และสามเณรบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ ไปศึกษาต่อที่กรุงโรมด้วย (MISSIONE INDEPENDENTE DI RAJABURI) และคุณพ่อปาซอตตีได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้ามิสซังนี้ ด้วยสายตาที่มองอนาคตอันไกล ท่านได้เริ่มตั้งบ้านเณรเล็ก เตรียมพระสงฆ์พื้นเมืองของสังฆมณฑล ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1930 เพื่อเตรียมคนงานชาวพื้นเมืองให้ทำงานแพร่ธรรมต่อไป
ในปี ค.ศ. 1934 มิสซังราชบุรี ถูกยกระดับอีกชั้นหนึ่ง เป็น PREFETTURA APOSTOLICA และคุณพ่อปาซอตตีรับตำแหน่งเป็นสังฆรักษ์ รับผิดชอบมิสซังและมีอำนาจทุกอย่างเหมือนสังฆราชโปรดศีลกำลังได้ แต่ยังโปรดศีลบรรพชาไม่ได้ ขณะนั้นสังฆมณฑลราชบุรี ซึ่งมีอาณาบริเวณตั้งแต่จังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี ลงไปสุดแดนใต้ มีประชากรประมาณ 2,500,000 คน มีคาทอลิกประมาณ 6,600 คน
ในวันที่ 24 เมษายน ค.ศ.1936 คณะซิสเตอร์กาปูซินได้เข้ามาตั้งอารามแห่งแรกในประเทศไทย ที่บ้านโป่ง ตามคำเชื้อเชิญของท่านปาซอตตี เพื่อว่าชีวิตแห่งการภาวนาและการพลีกรรมจะช่วยให้การแพร่ธรรมในสังฆมณฑลเกิดผล ท่านเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีผู้ร่วมงานที่เป็นชาวพื้นเมืองเพิ่มขึ้น จึงได้ตั้งคณะภคินีที่มีชื่อว่า “ชีสงเคราะห์” (ปัจจุบัน คือ ผู้รับใช้ดวงหทัยนิรมลของพระแม่มารีย์) เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1937 ที่บางนกแขวก โดยความร่วมมือของสามเณรคาร์โล เดลลาโตร์เร และซิสเตอร์ธิดาแม่พระองค์อุปถัมภ์ 2 รูป คือ ซิสเตอร์อันตนเนียตตา มอลเรลลาโต และซิสเตอร์ลุยยีนา ดี ยอร์โย รวมทั้งมีพระสงฆ์ซาเลเซียนและซิสเตอร์ธิดาแม่พระองค์อุปถัมภ์อีกหลายๆ ท่าน ที่ช่วยในการอบรมและวงพื้นฐานให้กับคณะ คณะนี้มีจุดประสงค์เพื่อช่วยพระสงฆ์ในการดูแลงานต่างๆ ของวัด ดูแลเด็กกำพร้าและถูกทอดทิ้ง
วาระสุดท้ายแห่งชีวิต
ทันทีที่กลับถึงประเทศไทย ในปี ค.ศ.1949 ท่านเริ่มจับงานของท่านต่อไป แต่ไม่นานนักท่านเริ่มไม่สบายด้วยไข้มาเลเรีย ตั้งแต่วันที่ 14 กรกฏาคม ค.ศ.1950 โรคที่ซ่อนเร้นฟักตัวอยู่ในตัวท่านก็แสดงออกมา คือ เนื้องอกที่กกหนู ภายหลังปรากฏว่าเป็นมะเร็งร้ายแรงที่ต่อมคอ ท่านต้องทรมานมาก อาการมาเลเรียก็กำเริบอย่างร้ายแรง ที่สุดท่านถูกนำไปรักษาที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการไปโดยไม่ได้มีโอกาสกลับมาที่บางนกแขวกอีกเลย ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1950 อาการของท่านหนักมาก วันที่ 27 สิงหาคม แพทย์บอกว่าไม่มีหวัง วันที่ 30 สิงหาคม ท่านรับศีลเจิมคนไข้อย่างศรัทธา สร้างความประทับใจให้แก่พี่น้องสมาชิกที่อยู่รอบข้าง เพื่อเป็นกำลังใจและภาวนากับท่าน
คำสุดท้ายของท่านเป็นการขอโทษและแสดงความรัก “พ่อได้รักทุกคนรวมทั้งคนที่ทำให้พ่อไม่พอใจด้วย พ่อพยายามทำทุกอย่างที่สามารถพ่อตายอย่างเป็นสุด เป็นสุขมาก เพราะพ่อกลับไปหาพระเป็นเจ้า” ท่านสิ้นใจในวันที่ 3 กันยายน ค.ศ.1950 เวลา 20.30 น. เศษ รวมอายุได้ 60 ปี 7 เดือน หลังจากพักรักษาตัวได้ 47 วัน มีพิธีปลงศพของท่าน ในวันที่ 6 กันยายน ศพของท่านถูกแห่มาจากกรุงเทพฯ ยังบ้านโป่ง ราชบุรี และบางนกแขวก ตามลำดับ ฝูงชนทั้งเด็กและผู้ใหญ่คริสตชนและคนต่างศาสนา พร้อมทั้งผู้ใหญ่ทางบ้านเมือง มาร่วมพิธี ประธาน คือ พระสังฆราชแจง เกิดสว่าง แห่งสังฆมณฑลจันทบุรี มีคนจากต่างจังหวัดมาร่วมด้วยเพื่อไว้อาลัยและแสดงความกตัญญูและความรักต่อท่าน
บทส่งท้าย
ท่านจากเราไปแล้ว ร่างกายที่ปราศจากชีวิตของท่านพักอยู่ ณ สุสานของอาสนวิหารบางนกแขวก ที่กางเขนใหญ่ เหนือที่บรรจุศพ มีถ้อยคำที่สื่อความรักของท่าน “ดุจบิดาท่ามกลางบุตร” พร้อมกับรูปแกะสลักหินอ่อนที่สวยงาม เป็นรูปพระเยซูเจ้า ชุมพาบาลกับลูกแกะ