-
Category: ตารางเทียบสมัยการปกครองสังฆมณฑลราชบุรี
-
Published on Saturday, 10 October 2015 03:11
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 5274
ครอบครัว
พระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต เกิดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ค.ศ.1912 ที่เมืองอาเลสซันเดรีย ทางเหนือของประเทศอิตาลี บิดาชื่อนายหลุยส์ มารดาชื่อนางมาเรีย โรเวรา เป็นบุตรคนที่ 4 ในบรรดาบุตร 5 คน ชาย 2 หญิง 3 ดังรายชื่อต่อไปนี้
1. ซ. เอเมเรนซีอานา ธ.ม.อ. (Sr. Emerenziana F.M.A.)
2. ซ. โดลชีเดีย ธ.ม.อ. (Sr. Dolcidia F.M.A.)
3. ภราดาคาร์โล ภราดาน้อยของผู้ยากจน (Bro. Carlo Little Brothers of the Poor)
4. พระสังฆราช เปโตร คาเร็ตโต (Mons. Pietro S.D.B.)
5. ลิเลียนา ตูร์กี (คาเร็ตโต) (Sig,ra Liliana)
ภราดาคาร์โลคาเร็ตโต พี่ชายเล่าไว้ในหนังสือ I sought & found หน้า 14-16 เกี่ยวกับครอบครัวพอจะสรุปได้ดังนี้ บิดามารดามีอาชีพเป็นชาวนา มีที่ดินปลูกต้นองุ่น ข้าวสาลี ข้าวโพด พืชผักต่างๆ ในแถบภูเขา Langhe เป็นครอบครัวที่สืบทอดวัฒนธรรม ประเพณี ความศรัทธาของชาวบ้านอย่างลึกซึ้งในสายเลือด แต่ขณะที่ครอบครัวเพิ่งจะเริ่มต้นได้ไม่เท่าไรนัก เกิดพายุลูกเห็บทำลายพืชผลเสียหายหมดครอบครัวจึงอพยพลงมาทางใต้ เพื่อหางานทำ เป็นลูกจ้างเก็บเกี่ยวพืชผลในไร่ แม้ว่าจะเผชิญกับความทุกข์ยากบิดามารดาก็ยืนหยัดเชื่อมั่นในพระเจ้าเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงในชีวิต พระองค์จะนำสิ่งดีๆ มาให้ และทั้งสองได้ตกลงใจทิ้งชีวิตในชนบทย้ายเข้าไปหางานทำในเมือง บิดาผ่านการสอบได้งานทำที่การรถไฟของรัฐบาลอิตาลี นั่นเป็นสาเหตุที่ครอบครัวมาอยู่ในเมืองอาเลสซันเดรีย ที่ซึ่งคาร์โลและเปโตร ถือกำเนิด หลังจากนั้น บิดามารดาพาครอบครัวมุ่งสู่ตุริน เพื่อหาที่เหมาะสมกว่า ที่จะเลี้ยงดูบุตรที่กำลังเติบโตขึ้นมา และก็ได้ทำเลที่ถูกใจ ณ ชานเมืองตุริน ซึ่งมีทุกสิ่งที่จำเป็นมอนกาลีแอร์ เป็นย่านชุมชน ที่มีเพื่อนๆ มากมาย อยู่ใกล้ศูนย์เยาวชนของพ่อบอสโกอยู่ใกล้วัดที่ถนนปีเอชา ซึ่งมารดาไปสวดขอพละกำลังจากพระอยู่เสมอ ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตในด้านความเชื่อ ที่นี่เองกระแสเรียกธรรมทูตซาเลเซียนสำหรับเปโตร จึงเกิดขึ้นและกระแสเรียกนักบวชสำหรับพี่สาวเริ่มผลิบาน
ครอบครัวคริสตชน ที่มีความเชื่อแข็งแกร่งสอนลูกให้สวดภาวนา ยำเกรงพระเจ้า ไม่พูดคำหยาบ ไปวัด ร่วมขบวนแห่ จัดถ้ำคริสตมาส ศรัทธาต่อบรรดานักบุญ ซึ่งเป็นประเพณีเป็นความศรัทธาที่เคร่งครัด ย่อมมีคุณค่าในการวางรากฐานแห่งความเชื่อ และความวางใจในพระเจ้าอย่างลึกซึ้งในหัวใจของลูกๆ
นักบวชและสงฆ์ซาเลเซียน
ด้วยความกระตือรือร้นเปโตร ได้สมัครเข้าสามเณราลัยธรรมทูต “คาร์ดินัล กาลิเอโร” เมื่ออายุเพียง 13 ปี และอีก 3 ปีต่อมาได้รับเครื่องแบบสามเณร จาก คุณพ่อฟิลิป รินัลดี พร้อมกับเพื่อนๆ รุ่นเดียวกันอีก 41 คน
วันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ.1928 สามเณรหนุ่มเปโตร คาเร็ตโต ซึ่งมีอายุเพียง 16 ปี และอายุน้อยที่สุดในกลุ่มธรรมทูตซาเลเซียน รุ่นที่ 4 ได้เดินทางมาถึงประเทศไทย พร้อมกับนวกชน 15 รูป สามเณร 3 รูป และพระสงฆ์ 2 องค์ พำนักที่วัดแม่พระบังเกิด บางนกแขวก จ. สมุทรสงคราม ที่นี่ได้เป็นสถานที่ศึกษา ฝึกการปรับตัว เพื่อเตรียมตัวที่จะเป็นนักบวชและพระสงฆ์ซาเลเซียน เป็นผู้อภิบาลในประเทศไทยต่อไป ท่านเข้านวกภาพ ปฏิญาณตนเป็นนักบวช ศึกษาปรัชญาศาสตร์เทวศาสตร์ ฝึกหัดครูชั้นประโยคครูมูล เป็นครูสอนภาษาอังกฤษ และละติน ศึกษาภาษาไทย การศึกษา พร้อมกับการฝึกงานทั้งทางจิตและทางวิชาการต่างๆ ได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ ท่านพูดภาษาไทยได้ชัดเจน ติดต่อสัมพันธ์ได้กับชนทุกชั้น เป็นที่ไว้วางใจของผู้ใหญ่ ท่านได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์จาก พระสังฆราชแปร์รอส เมื่อวันที่18 มีนาคม ค.ศ. 1939 ณ วัดแม่พระบังเกิด บางนกแขวก
งานในกรุงเทพฯ
หลังจากบวชเป็นพระสงฆ์แล้ว ท่านได้รับตำแหน่งเป็นเลขานุการและเหรัญญิกของคุณพ่อยอห์น กาแซ็ตตา เจ้าคณะแขวงซาเลเซียนและเป็นอธิการสำนักงานซาเลเซียนในกรุงเทพฯ จนถึงปี ค.ศ.1945 และหลังจากไปรับตำแหน่งอธิการสารสิทธิ์พิทยาลัย บ้านโป่ง 3 ปี ท่านก็กลับมาอีกครั้งหนึ่ง ในตำแหน่งอธิการเจ้าคณะแขวงซาเลเซียน และย้ายสำนักงานเจ้าคณะแขวงจากศาลาแดงไปที่โรงเรียนอาชีวะดอนบอสโก ซอยร่วมใจบางกะปิ และดำรงตำแหน่งเป็นครูใหญ่คนแรกของโรงเรียนอาชีวะดอนบอสโกอีกด้วย ท่านใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ หลายปี จึงรู้จักสถานที่บุคคลมากมายทั้งฝ่ายข้าราชการ และฝ่ายพระศาสนจักรติดต่อสัมพันธ์ กับคณะนักบวชหลายคณะ เป็นผู้กว้างขวาง คล่องตัวในการดำเนินงาน และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้มาหาในหลายๆ รูปแบบ ด้วยใจโอบอ้อมอารีเสมอ
ชุมพาบาลแห่งสังฆมณฑลราชบุรีและสุราษฎร์ธานี
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ.1951 ได้รับอภิเษกเป็นสังฆราชแห่งสังฆมณฑลราชบุรี ซึ่งมีสำนักและศูนย์ กลางมิสซังอยู่ที่บางนกแขวกดูแลสัตบุรุษ 19 จังหวัด ตั้งแต่กาญจนบุรี ลงไปทางใต้จนสุดแดนไทย งานในสังฆมณฑลทรุดหน้าไปพร้อมกับความเจริญในด้านการคมนาคมการสื่อสาร และการ ขยายตัวด้านต่าง ๆ ของประเทศชาติ เพื่อความสะดวกในการบริหารงานและการอภิบาลสัตบุรุษ ท่านจึงย้ายสำนักและศูนย์สังฆมณฑลมาที่ตัวเมืองราชบุรี จากนั้นอาศัยเส้นทางรถไฟสายใต้พร้อมกับเพื่อนๆ ธรรมทูต ท่านได้จับจองที่ดิน บุกเบิกที่ทำกินสำหรับสัตบุรุษ ติดตามสัตบุรุษผู้ย้ายถิ่น ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ สร้างกลุ่มคริสตชน หาเงินสร้างวัด และโรงเรียนตามจุดต่างๆที่มีคริสตชนอาศัยอยู่ แรงบันดาลใจในการทำทุกสิ่งเหล่านี้ พบได้จากคติพจน์ที่ท่านได้เลือกโอกาสรับอภิเษกเป็นสังฆราชที่ว่า “... พ่อจะเป็นพาหนะพาพระมารดาองค์อุปถัมภ์ไปให้ถึงสุดแดนมิสซัง... ตั้งใจจะให้พระมารดาเป็นเหมือนหนึ่งสารถีขับเครื่องที่มีกำลังน้อยนิดนี้ เพื่อสิริมงคลของพระเจ้า ตามพระฉบับของพระมารดา...”
ปี ค.ศ.1969 สังฆมณฑลราชบุรีอันยาวเหยียดถูกแบ่งออกเป็นสอง ท่านรับมอบหมายทางตอนใต้ จากประจวบฯ ถึงสุดแดนไทย-มาเลเซีย 15 จังหวัด ซึ่งมีคริสตชนกระจัดกระจายอยู่ไม่ถึง 5,000 คน โดยมีสุราษฎร์ธานีเป็นศูนย์กลางสังฆมณฑลสุราษฎร์ธานีจึงมีลักษณะแตกต่างไปจากสังฆมณฑลอื่น ด้วยระยะทางที่ห่างไกลระหว่างแต่ละกลุ่ม บุคลากรซึ่งส่วนใหญ่เป็นธรรมทูตอาวุโส แต่ท่านมิได้ย่อท้อต่อความยากลำบากพยายามเชื้อเชิญคณะนักบวชต่างๆ มาทำงานในสังฆมณฑล จัดตั้งมูลนิธิคาทอลิก สุราษฎร์ธานี เพื่อความคล่องตัวในการทำงานด้านสังคมพัฒนาและการศึกษา
ท่านมีความปรารถนาที่จะขยายอาณาจักรของพระเจ้า และช่วยสัตบุรุษให้มีการทำมาหากินสะดวกขึ้น พัฒนาชนบทที่เขาอยู่ให้ปรากฏว่าการเชื่อถึงพระเจ้านำพระพรของพระมาสู่เขาแม้ในด้านการทำมาหากินด้วย ช่วยให้สัตบุรุษและพระสงฆ์สามารถเป็นพยาน ของพระวรสารท่ามกลางพี่น้องต่างศาสนา
ในการสร้างโรงเรียน ท่านปรารถนาประกาศให้ทุกคนเห็นว่าศาสนาคริสต์ต้องการให้ทุกคนสร้างอนาคตของสังคมด้วยวิชาความรู้ควบคู่กับการพัฒนาจิตใจ ให้เจริญงอกงามในศีลธรรม คุณธรรมความดีต่างๆ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันที่สังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี และราชบุรีมีรากฐานมั่นคง ในด้านการประกาศพระราชัย และสร้างอาณาจักรของพระเจ้าท่ามกลางประชากร มีวัด มีโรงเรียน อาราม บ้านเณร สถานฝึกอบรม สถานฝึกอาชีพ เป็นเครื่องมือในงานแพร่ธรรมพอสมควร เป็นผลจากการทุ่มเทของท่านในระยะแรกๆ ไม่น้อยทีเดียว ชีวิตและบุคลิกของท่านฝากความประทับใจไว้ให้บรรดาสัตบุรุษ และผู้ร่วมงานทุกคน ซึ่งระลึกถึงท่านด้วยความกตัญญูรู้คุณ ระลึกถึงแบบอย่างความร้อนรนในการอภิบาล ด้วยความใจดีและแข็งแกร่ง ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค หรือความยากลำบากใดๆ ของท่าน
ภารกิจของพระสังฆราช เปโตร คาเร็ตโต
ในฐานะนายชุมพาบาลของสังฆมณฑลราชบุรี
งานอภิบาล
พระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต ได้สนใจพร่ำสอนให้คริสตชนมีความเชื่อที่ลึกซึ้ง แน่นแฟ้นจริงๆ เพื่อดำรงชีวิตคริสตชนที่ดีมั่นคง มีความศรัทธารักพระเจ้าเป็นชีวิตจริงๆ เพื่อที่จะสร้างเสริมจิตตารมณ์ของพระคริสต์ ลงรากลึกในจิตใจของแต่ละคน งานนี้จะสำเร็จลงได้ ต้องอาศัยการรวมพลังกันของคริสตชน ท่านจึงจัดวางระเบียบการให้ทุกวัด ในสังฆมณฑลมีกิจการคาทอลิกแผนกต่างๆ คือ คณะพ่อบ้าน คณะแม่บ้าน คณะเยาวชน คณะพลมารีอาวุโส พลมารีเยาวชน พลมารีนักเรียน คณะวินเซนต์ เดอ ปอล ฯลฯ คณะเหล่านี้เป็นเหมือนเชื้อปังเกลือ และแสงสว่างช่วยคริสตชนให้รู้เข้าใจพระธรรมคำสอนและพระวาจาของพระเจ้ามากขึ้น จะได้ดำเนินชีวิตของตนตามคำสอนในพระวรสารของพระคริสตเจ้า ท่านยังได้กำหนดให้ทุกวัด มีการเข้าเงียบฟื้นฟูจิตใจคริสตชนทุกปี แบ่งเป็นพวกๆ คือ พวกพ่อบ้าน แม่บ้าน และเยาวชน พวกละสามวัน แบ่งเช่นนี้ก็ เพื่อสะดวกของคริสตชน พวกหนึ่งมาวัด อีกพวกหนึ่งก็อยู่ทำงานทางบ้านได้ ไม่ต้องทิ้งงานทิ้งบ้านมาวัดกันหมด เวลาเดียวกัน ท่านเองก็ยินดีรับเชิญไปให้การเทศน์อบรมตามวัดเสมอ นี่เป็นงานปลูกฝังชีวิตคริสตชนที่ดีมากอย่างหนึ่ง
งานแพร่ธรรม
พระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต มีจิตใจเร่าร้อนในการขยายอาณาจักรของพระเจ้า ตามแบบอย่างของอัครสาวก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตามแบบนักบุญเปโตร องค์อุปถัมภ์ของท่าน ตระหนักดีว่า พระสังฆราชเป็นผู้สืบตำแหน่งอัครสาวกมีหน้าที่เฉพาะสอนประชาชนให้รู้จักพระคริสตเจ้า เข้ามาอยู่ในพระศาสนจักร ท่านจึงทุ่มเทกำลังใจ กำลังปัญญา กำลังกาย ความสามารถทั้งหมดแก่กิจการนี้ ท่านได้จัดขยายงานแพร่ธรรมไปทางเหนือของจังหวัดกาญจนบุรี ทางภาคตะวันตก ของจังหวัดราชบุรี และทางภาคใต้ของประเทศไทย อาศัยหยาดเหงื่อแรงงานแห่งการแพร่ธรรม ของท่าน ตลอด 18 ปี ทำให้เกิดสังฆมณฑลใหม่ คือสังฆมณฑลสุราษฎรานี งานขยายวัดเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อคริสตชนเจริญขึ้นด้วยคุณภาพ และจำนวนแล้ว ก็พร้อมที่จะช่วยกันสร้างวัดขึ้นที่บุกเบิกใหม่ หรือสร้างวัดใหม่แทนวัดเก่าที่ชำรุดทรุดโทรม หรือคับแคบไม่พอบรรจุคริสตชนที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น พระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต ได้อุทิศกำลังใจ กำลังปัญญา และกำลังทรัพย์ ร่วมกับกลุ่มคริสตชนสร้างวัดใหม่หลายแห่งในสังฆมณฑลราชบุรี
การศึกษา และโรงเรียน
พระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต เป็นสมาชิกนักบวชซาเลเซียน มีจิตตารมณ์อบรมเยาวชน ให้การศึกษาแก่เยาวชน ท่านจึงได้ทุ่มเทกำลังแก่งานนี้ อย่างสุดจิตสุดใจ มุ่งอบรมศีลธรรมแก่เยาวชน แก่นักเรียนให้เป็นพลเมืองดีในอนาคตของชาติ ประสาทวิชาความรู้แก่เด็กนักเรียนเพื่อชีวิตที่รุ่งโรจน์ในภายภาคหน้า ผู้มีบทบาทยิ่งใหญ่ ในการอบรมการสอนได้แก่บรรดาครูอาจารย์ ท่านจึงจัดให้มีการเข้าเงียบฟื้นฟูจิตใจครูทุกปี สร้างเสริมจิตวิญญาณครูแท้ตามจิตตารมณ์ของพระเยซูเจ้า ตามแบบนักอบรม เยี่ยมของนักบุญยอห์นบอสโก แก่บรรดาครูอาจารย์ทั้งหลายอย่างสม่ำเสมอ และอุปกรณ์สำคัญอย่างหนึ่งของการศึกษาคืออาคารเรียน ท่านได้เสียสละทุกอย่าง เพื่อสร้างอาคารเรียนขึ้นหลายแห่ง เพื่อการศึกษาของเด็กนักเรียนทั้งชาวคริสต์ และชาวพุทธด้วย
งานชิ้นโบว์แดงที่พระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต ฝากไว้แก่สังฆมณฑลราชบุรี ย้ายศูนย์กลาง คณะซิสเตอร์ผู้รับใช้ดวงหทัยนิรมลของพระแม่มารีย์ จากวัดบางนกแขวก มาตั้งอยู่ราชบุรี พระสังฆราชกาเยตาโน ปาซอตตี ได้ตั้งคณะภคินีผู้รับใช้ดวงหทัยนิรมลของพระแม่มารีย์ เมื่อปี ค.ศ.1937 เป็นนักบวชที่จะร่วมงานกับคณะสงฆ์ประจำสังฆมณฑล ในงานอภิบาลสัตบุรุษ และงานแพร่ธรรม งานด้านการศึกษา การอบรมนักเรียนและเยาวชน ซึ่งศูนย์กลางของคณะเริ่มตั้งอยู่ที่วัดบางนกแขวก เพื่อความเจริญความสะดวกในการปฏิบัติงาน และการติดต่อพระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต ได้จัดการซื้อที่ดิน ก่อสร้างอาคารเป็นอารามของคณะ และสร้างโรงเรียนนารีวิทยาขึ้นในเขตอารามด้วย ซึ่งเป็นงานใหญ่ ท่านทุ่มเทกำลังใจกาย หาทุนทรัพย์ด้วยความเสียสละจนบรรลุความสำเร็จ คณะนักบวชผู้รับใช้ฯ ได้ย้ายมาอยู่ที่ราชบุรี เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ.1955 และเปิดโรงเรียนนารีวิทยาด้วย
การย้ายศูนย์สังฆมณฑลมาตั้งอยู่ที่ราชบุรี พระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต ได้ซื้อที่ดินแปลงใหญ่ เริ่มสร้างโรงเรียนดรุณาราชบุรี และศูนย์กลางของสังฆมณฑล เมื่อวันที่ 31 มกราคม ค.ศ.1956 ท่านต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากมาย ในการก่อสร้าง โดยไม่มีเงินอยู่ในมือ แต่ท่าน ก็มีความไว้ใจในพระเจ้าและแม่พระอย่างลึกซึ้ง ท่านได้วิ่งเต้นขอความช่วยเหลือ ทั้งจากผู้มีพระคุณภายในประเทศและต่างประเทศ โดยไม่เห็นแก่เหนื่อยยาก จนที่สุดความตั้งใจของท่าน ก็บรรลุความสำเร็จ ได้เปิดโรงเรียนดรุณาราชบุรี ในวันที่ 17 พฤภาคม ค.ศ.1957 พร้อมกับย้ายศูนย์สังฆมณฑลมาเริ่มทำงานที่ศูนย์ราชบุรี ในเวลาเดียวกัน การสร้างยังต้องดำเนินต่อไป คือ สามเณราลัย ท่านก้มหน้าก้มตาขอทุนทรัพย์ต่อไปอีก เพื่องานชิ้นสำคัญที่ท่านตั้งใจไว้ ก่อนอื่นหมด คือย้ายสามเณราลัยซึ่งเป็นหัวใจของสังฆมณฑลมาอยู่ที่ราชบุรี หลังจากที่ท่านได้ตรากตรำทำงาน ด้วยความเสียสละอย่างมากมาย สามเณราลัยก็สำเร็จเป็นตัวเป็นตนขึ้นมาอาศัยหยาดเหงื่อแรงงานของท่าน ได้ย้ายสามเณราลัยมาอยู่ราชบุรี วันที่ 14 เมษายน ค.ศ.1959 เมื่อโรงเรียนดรุณาราชบุรีเจริญขึ้น จำนวนนักเรียนทวีมากขึ้น จึงจำเป็นต้องสร้างอาคารเรียนขึ้นอีกหลังหนึ่งภาระหนักก็ตกอยู่กับพระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต
อีกนั่นแหละ ท่านก็ยินดีเดินทางไปต่างประเทศ หาทุนทรัพย์ สำหรับการก่อสร้างอาคารหลังนี้ และก็ได้สำเร็จตามเจตนาของท่านและของบรรดาผู้บริหารโรงเรียน อาคารหลังนี้ได้รับการเสก และเปิดเป็นสถานศึกษา เมื่อวันที่ 31 มกราคม ค.ศ.1969
ประมุขสังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี
หลังจาก 18 ปี ของนายชุมพาบาลแห่งแหลมทองไทย เดินทางขึ้นล่อง ในรถไฟสายใต้ตลอดสายแล้ว ในปี ค.ศ.1969 พระสันตสำนักประกาศแบ่งสังฆมณฑลราชบุรีเดิมออกเป็นสองสังฆมณฑล พระสังฆราชรัตน์ บำรุงตระกูล เป็นประมุขสังฆมณฑลราชบุรี และเมื่อวันที่ 14 กันยายน ค.ศ.1969 พระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต ได้รับการสถาปนาเป็นพระสังฆราชองค์แรก ของสังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี ณ อาสนวิหารราฟาแอล สุราษฎร์ธานี
พระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต ได้รับหน้าที่ใหม่นี้ เมื่อท่านอายุ 57 ปี มากกว่าครึ่งศตวรรษไปแล้ว แต่ก็ยังมีกำลังกาย กำลังใจที่จะ “เริ่มต้นใหม่จากศูนย์”
ดังที่ท่านกล่าวกับผู้ร่วมงานคนสนิทของท่าน และก็เป็นความจริงเช่นนั้น ก่อนที่จะรับหน้าที่ใหม่ในสังฆมณฑลมีวัดเพียง 4 แห่ง ที่ท่านสร้างสมัยเป็น พระสังฆราชสังฆมณฑลราชบุรีคือ วัดราฟาแอล สุราษฎร์ธานี วัดแม่พระฟาติมา บ้านแสงอรุณ วัดแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ ภูเก็ต และวัดที่เบตง นอกนั้น ถ้ามีก็เป็นวัดน้อยที่ร่วมอยู่ในที่พักพระสงฆ์ หรือเป็นส่วยหนึ่งของโรงเรียนที่เป็นอาคารไม้ อีก 18 ปีต่อมา เป็นช่วง เวลาแห่งชีวิตที่เต็มด้วยกิจกรรมด้านอภิบาล ด้านการศึกษา ด้านการสังคมพัฒนา จนทำให้สังฆมณฑลสุราษฎร์ธานีมีรูปโฉมที่เห็นได้ชัดเจนท่านได้พลีพลังกายพลังจิต ทั้งสิ้นของท่านเพื่อความเจริญของพระศาสนจักรท้องถิ่นแห่งใหม่ ไม่มีใครทราบว่าท่านพลีตนจนหมดแม้แต่สายตาของท่าน ตาของท่านข้างหนึ่งบอดสนิทเป็นเวลาหลายปีมาแล้ว...ยังมีการพลีตนอื่นๆ อีกมากมายที่พระเป็นเจ้าเท่านั้นทรงทราบ
หลักการปกครอง
มีผู้สัมภาษณ์ท่านว่า งานอะไรที่ท่านถือว่าสำคัญอันดับแรก ในการปกครองสังหมณฑลครับ? ท่านตอบว่า
“เมื่อแรกเป็นพระสังฆราชที่ราชบุรี เป็นเวลาที่ตั้งหน้าตั้งตาสร้างหมู่บ้านแสงอรุณ และเวลามาอยู่ที่สุราษฎร์ธานี ก็เริ่มสร้างหมู่บ้านที่พนม จึงมีความปรารถนาเดียวกัน ที่จะขยายอาณาจักรของพระเจ้า และช่วยสัตบุรุษให้มีการทำมาหากินสะดวกขึ้น เนื่องด้วยทั้งสองสังฆมณฑลที่ได้ปกครองนั้น บรรดาคริสตังค์น้อย ก็หวังเสมอว่า จะนำบรรดาสัตบุรุษและพระสงฆ์ให้มีส่วนร่วมมากขึ้นในสังคม เพื่อสามารถ ชักจูงพี่น้องต่างศาสนาให้มาสนใจเรื่องศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้วยการพัฒนาชนบทที่เขาอยู่ให้ปรากฏว่า การเชื่อถึงพระเป็นเจ้าจะทำให้พระสงฆ์อวยพรเขา แม้แต่ในด้านการกินดีอยู่ดีมากยิ่งๆ ขึ้น
บ้านแสงอรุณ ในความทรงจำของพระสังฆราช เปโตร คาเร็ตโต
ปี ค.ศ.1950 แม่พระฟาติมาเสด็จเยี่ยมเยียนเมืองไทย คริสตชนจัดการต้อนรับอย่างสง่าสมเกียรติ มีการแห่พระรูปแม่พระไปตามวัดต่างๆ สัตบุรุษพากันมาแสดงความศรัทธา ความจงรักภักดีต่อพระมารดาอย่างคับคั่งทุกแห่งที่พระรูปผ่านไป การประทับอยู่ของพระแม่ท่ามกลางลูกๆ ของพระแม่เป็นแรงบันดาลใจให้กับคุณพ่อเปโตร เยลลิซี่ ซึ่งขณะนั้นเป็นอุปสังฆราชสังฆมณฑลราชบุรี รักษาการแทน พระสังฆราชกาเยตาโน ปาซอตตี ที่เพิ่งมรณะ คุณพ่อดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางนกแขวก เห็นจำนวนสัตบุรุษเพิ่มขึ้น ทั้งที่บางนกแขวก ดอนกระเบื้อง ส่วนที่ดินทำมาหากิน ไม่เพียงพอสำหรับครอบครัวใหม่ เป็นอันตรายที่คริสตชนจะถูกดึงออกจากหมู่บ้านเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ ครั้งเมื่อพ่อ (พระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต) เป็นพระสังฆราชสืบต่อมาแล้ว ก็ร่วมแรงร่วมใจกันจะเลือกที่สักแห่งเพื่อแสดงให้เห็นว่าแม่พระจะประทับอยู่กับเรา เริ่มสร้างหมู่บ้านขึ้นใหม่จากครอบครัว คริสตชนที่อพยพเข้าไป คุณพ่อเยลลิซี่ขอให้ทุกครอบครัวที่มีลูกชาย 3 คนขึ้นไปจัดให้ 2 คน ไปเริ่มสร้างครอบครัวที่หมู่บ้านใหม่
คุณพ่อเยลลิซี่ และคุณพ่อมาเนและผู้ร่วมบุกเบิกได้เลือกกิโลเมตรที่ 340 ตำบลห้วยยาง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นจุดเริ่มประกาศเปิดให้คนไปจับจองที่ดินได้ จัดสรรที่ดินให้ครอบครัวละประมาณ 50 ไร่ เมษายน ค.ศ. 1952 มีพระสงฆ์ไปอยู่ประจำ คือ คุณพ่อไบนอตตี แต่สุขภาพของคุณพ่อสู้ไม่ไหว จึงกลับมา รุ่นต่อไปคือคุณพ่อเดลฟีโนเกรสปี และคุณพ่อไกรศรี ทัพศาสตร์ เพราะพระสังฆราชสัญญาว่าจะเปิดโรงเรียนทันที ที่สร้างหมู่บ้าน งานแรกของชาวบ้านคือถางป่า สร้างที่พักอาศัยชั่วคราวและหาอะไรที่พอจะกินยังชีพได้
คุณพ่อซึ่งอยู่ท่ามกลางพวกเขาเป็นขวัญและกำลังใจให้สัตบุรุษ คุณพ่อเจ้าวัดให้คติแก่ทุกคนเสมอว่า “บ้านแม่พระ มีแต่ลูกแม่อาศัยอยู่” ใครทำตัวเป็นลูกของพระแม่ แม่พระจะทำตัวเป็นแม่ของทุกคน และช่วยให้ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ไปได้ และพระแม่ได้แสดงองค์อย่างนี้จริงๆ
ปัญหาที่สัตบุรุษประสบก็คือ
1. ทางคมนาคม จุดที่เริ่มต้นใหม่อยู่ห่างไกลจากภูมิลำเนาเดิม จากราชบุรีเดินทาง 2 วัน อาศัยรถไฟ ลงห้วยยางแล้วต้องเดินต่อไปอีก การหาซื้ออาหาร การขายผลผลิตของป่าที่หาได้ ต้องเดินทางไกล
2. การทำไร่ ขึ้นอยู่กับน้ำฝนเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าฝนแล้งชาวไร่ก็จะได้รับความเสียหาย
3.โรคภัยไข้เจ็บ เป็นต้นว่าไข้ป่า บาดแผลจากสัตว์มีพิษจากการบุกเบิกถากถางและสัตว์ร้ายต่างๆ เช่น เสือเข้ามาในหมู่บ้าน
แม่พระได้แสดงตัวเป็นแม่ในภาวะที่ลูกๆ เดือนร้อนเสมอ ยามใดฝนแล้ง คุณพ่อเกรสปี ชอบชวนเด็กๆ นักเรียนและชาวบ้านให้สวดสายประคำ ทำช่อบุปผาถวายแด่พระมารดา แสดงความรักต่อพระมารดา ละเว้นอบายมุข กลับใจใช้โทษบาป แล้วฝนจะตกแน่ ยาต่างๆ หายาก ก็ใช้ยาด้วยความศรัทธาต่อพระมารดา พร้อมกับการภาวนาก็ได้ผล
บ้านทับคริสต์ วัดแม่พระองค์อุปถัมภ์ พนม
เมื่อเป็นประมุขสังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี ท่านได้หารือกับคุณพ่อเดลฟีโน เกรสปี และคุณพ่อ เปโตร เยลลีซี อุปสังฆราช เพื่อจัดหาที่ดินทำกินแห่งใหม่สำหรับสัตบุรุษ ตามความปรารถนาของท่านแล้ว ที่ดินที่ต้องการนั้นมีพื้นที่ประมาณ 5,000ไร่ อีกทั้งมีสภาพสมบูรณ์เหมาะสำหรับการทำเกษตรกรรม คณะสำรวจได้เริ่มสำรวจในช่วงกลางปี ค.ศ.1969 ได้สำรวจมาจนถึง ตำบลต้นยวน อำเภอพนม ซึ่งที่ดินมีสภาพเป็นป่า ดินดี ท่านได้เข้ามาดูด้วยตนเอง ท่านชอบมากและตัดสินใจจะใช้ที่ดินผืนนี้สร้างหมู่บ้านแม่พระในฝันของท่าน เริ่มเดินเรื่องขออนุญาตเปิดป่า เพื่อการจับจองที่ดินทำกินจากทางราชการ การเดินเรื่องทางฝ่ายราชการนี้เป็นไปด้วยความราบรื่น ซึ่งเรื่องนี้พระสังฆราชคาเร็ตโตและคุณพ่อเกรสปี เชื่อว่าเป็นแผนการของแม่พระที่ต้องการให้มีหมู่บ้านของพระนางในที่ดินผืนนี้ ครั้นได้รับที่ดินเรียบร้อยแล้ว ท่านจึงประกาศให้คริสตังค์ที่วัดแม่พระฟาติมา บ้านสงอรุณ และลางวัดในสังฆมณฑลราชบุรีได้ทราบ จึงเริ่มมีสัตบุรุษทยอยมาจับจองพื้นที่ด้วยความหวังว่าจะมีชีวิตใหม่ที่ดีกว่า โดยกลุ่มแรกเข้ามาในเดือนตุลาคม ค.ศ.1969 และกลุ่มที่สองเข้ามาราวต้นปี ค.ศ.1970 จนกระทั่งที่ดินทั้งหมดถูกจับจองจนเต็มพื้นที่ในปี ค.ศ.1974
พระสังฆราช เปโตร คาเร็ตโต ได้ดำเนินการตัดถนนสร้างสะพานเชื่อมถนนใหญ่ และหมู่บ้าน (แล้วมอบให้ทางราชการ ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นทางหลวงแผ่นดินสาย 415) พัฒนาการทำมาหากินของสัตบุรุษจัดสรรเงินทุน วัสดุอุปกรณ์ อาศัยหน่วยงานต่างๆ สร้างวัด สร้างโรงเรียน จัดสถานนีจ่ายยารักษาความเจ็บป่วยขั้นพื้นฐาน ซึ่งเริ่มต้นอย่างยากจน กระทั่งมีวัดสง่างามถวายแด่แม่พระองค์อุปถัมภ์ และโรงเรียนที่ได้มาตรฐานในปัจจุบัน สมตามความใฝ่ฝันของท่าน
ความศรัทธาต่อแม่พระ
ท่านมีความศรัทธาต่อแม่พระเป็นชีวิตจิตใจ ตราประจำตำแหน่งของท่านเป็นรูปแม่พระองค์ อุปถัมภ์ทรงรถมีคำจารึก เป็นภาษาละตินว่า CURRUS ISRAEL ET AURIGA EJUS ภาษาอังกฤษ คือ THE CHARIOT OF ISRAEL AND ITS HORSEMEN (2 kg. 2 :12) แปลเป็นภาษาไทยง่ายๆ ว่า สารถีแห่งราชรถอิสราเอล (2 พกษ. 2 :12) พ่อให้คำอธิบายไว้ว่า
พ่อจะเป็นพาหนะพาพระมารดาองค์อุปถัมภ์ไปให้ถึงสุดแดนมิสซัง ตั้งใจจะให้พระมารดาเป็นเหมือนหนึ่งสารถีขับเครื่องที่มีกำลังน้อยนิดเพื่อสิริมงคลของพระเจ้าตามแบบฉบับของแม่พระ (ชื่อของท่านคาเร็ตโต แปลว่า รถ) งานของท่าน ท่านมอบไว้ในความอุปการะของแม่พระ เชื่อว่าแม่พระจะนำไป 15 จังหวัดของสังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี เป็นดัง 15 ข้อ บทรำพึงสายประคำ
ท่านปรารถนาให้มีกางเขนชัยปักอยู่ระยะตามเส้นทางสายใต้ มีวัดระลึกถึงแม่พระในทุกจังหวัด มีวัดใหญ่สง่างามถวายเกียรติแด่แม่พระในทุกเขต นั่นคือ วัดแม่พระฟาติมาบ้านแสงอรุณ ในเขตเหนือ วัดแม่พระองค์อุปถัมภ์ พนม ในเขตกลาง วัดแม่พระประจักษ์ที่ลูร์ด หาดใหญ่ในเขตใต้ และวัดแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ในเขตตะวันตก
ท่านเป็นนักบุกเบิกอะไรที่ควรทำเพื่อวิญญาณเพื่อเกียรติมงคลของพระเป็นเจ้าแล้ว ท่านกล้าเสี่ยง กล้าทำ ท่านมีความใฝ่ฝัน ก้าวไกลและมานะพยายามทำให้ความใฝ่ฝันนั้นเป็นความจริง คุณพ่อหลุยส์ ริชเชรี อดีตอัคราธิการซาเลเซียน กล่าวว่า “สิ่งที่ประทับใจอีกประการหนึ่งก็คือ การบุกเบิกที่อาจถือได้ว่าเริ่มจากไม่มีอะไรเลย เพื่อก่อตั้งสังฆมณฑลสุราษฎรณ์ธานี ที่แยกตัวออกมาจากสังฆมณฑลราชบุรี ภายใต้การนำที่เข้มแข็งของพระสังฆราชคาเร็ตโต ผู้มีความเชื่อมั่นคง ความร้อนรนและประสบการณ์”
บรรดาธรรมทูตผู้ร่วมงานและฆราวาสที่อยู่ใกล้ชิดระหว่างการบุกเบิกบ้านแสงอรุณ และบ้านทับคริสต์ ย่อมตระหนักดีว่า ท่านเป็นผู้นำ เป็นกำลังในการบุกเบิกเพียงไร ความเชื่อและความวางใจในพระนั้นเป็นแรงบันดาลใจสำคัญ ทำให้ท่านมีพลังรุดหน้าเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ที่ขวางกั้นหลังการประชุมพระสังคายนาวาติกันที่ 2 ท่านเป็นผู้นำคนสำคัญ ในพระศาสนจักรประเทศไทย เพื่อจะนำคำสั่งสอนของพระศาสนจักรมาปฏิบัติในพระศาสนจักรท้องถิ่น เช่น การส่งเสริมบทบาทของฆราวาส การสอนคำสอนแผนใหม่ การปรับปรุงพิธีกรรม การเสวนากับผู้นำศาสนาต่างๆ การสงเคราะห์และพัฒนาชุมชน การศึกษาสำหรับเยาวชนทั้งสายสามัญและสายอาชีพ การปรับปรุงฟื้นฟูชีวิตนักบวช ในฐานะที่พ่อเป็นนักบวชซาเลซียน เป็นธรรมทูต เป็นพระสังฆราช พ่อจึงมีบทบาทหลายอย่าง ที่จะพัฒนาชีวิตคริสตชนไทย อีกทั้งการก่อตั้งหน่วยงานต่างๆ ในพระศาสนจักรท้องถิ่น ในสภาพระสังฆราช เพื่อตอบสนองความต้องการของสภาพสังคม แม้ท่านจะมีบุคลากรน้อย การเดินทางไกล แต่ท่านไม่เคยย่อท้อ ท่านพยายามจัดการให้งานที่เร่งด่วนจำเป็นดำเนินไปตามวาระ สร้างเสริมบุคลากรขึ้นมา ให้โอกาสเรียนรู้งานต่างๆ มีความเพียรกับผู้ร่วมงาน ซึ่งเป็นนักบวช มีการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลอยู่เสมอ งานหลายอย่างท่านทำด้วยตนเองอย่างถ่อมตน โดยไม่บ่นว่า
ปลายชีวิต
หลังจากอภิเษก พระสังฆราชประพนธ์ ชัยเจริญ เป็นพระสังฆราชสืบตำแหน่งแทนท่านแล้ว พระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต มาช่วยงานอภิบาลและพำนักอยู่ที่วัดแม่พระฟาติมา บ้านแสงอรุณ ระยะหนึ่ง ต่อมาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1989 จึงได้มาพักผ่อน และเป็นผู้ช่วยจิตตาภิบาลที่อารามคณะผู้รับใช้ ดวงหทัยนิรมลของพระแม่มารีย์ โรงเรียนนารีวิทยา ราชบุรี
เนื่องจากตรากตรำทำงานหนักมาเป็นเวลายาวนาน สุขภาพของท่านจึงทรุดลงอย่างรวดเร็วในระยะ 3 ปี หลังนี้ มีโรคภัยหลายอย่างทรมานท่านคือ ความดันโลหิตสูง ภาวะไตวายเรื้อรัง เลือดออกในกระเพาะอาหาร กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ทำให้ท่านเป็นคนประจำของโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ทั้งๆ ที่ท่านไม่ชอบ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเท่าไรนัก แต่ท่านก็น้อมรับด้วยอาการสงบ ครั้งสุดท้าย วันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1994 แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคลำไส้ใหญ่หดเกร็งมากกว่าปกติ แล้วยังพบอีกว่าภาวะหัวใจวายและมีการติดเชื้อรุงแรงในกระแสเลือด มีไข้สูงตลอดเวลา ตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1994 อาการทรุดลงตามลำดับ จนถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ.1994 แพทย์ลงความเห็นว่า วาระสุดท้ายกำลังมาถึงในไม่ช้า จึงนำท่านกลับมาพักที่โรงเรียนนารีวิทยา ตามความปรารถนาของท่านเอง ท่านพักผ่อนอย่างสงบ
วันที่ 16 พฤศจิกายน ค.ศ. 1994 เวลาประมาณ 05.30 น. ความดันโลหิตเริ่มลดลง หัวใจเต้นอ่อนลง บรรดาซิสเตอร์ผู้รับใช้ฯ และผู้ใกล้ล้อมรอบเตียงรวมใจ เวลา 06.15 น. คุณพ่อชุนเอ็ง ก๊กเครือ โปรดศีลเจิมคนไข้ โดยมีคุณพ่อสิริพงษ์ จรัสศรี ช่วยอยู่ด้วย ต่อมาคุณพ่อชวลิต วินิตกูล โปรดพระคุณครบบริบูรณ์ ที่สุด พระสังฆราช ประพนธ์ ชัยเจริญ มาถึงกระซิบที่หูของท่าน 3-4 ประโยค ท่านรับทราบแล้วก็สิ้นใจอย่างสงบ เวลา 07.27 น.
ข้อมูลประวัติโดยย่อ พระสังฆราช เปโตร คาเร็ตโต
9 มิถุนายน ค.ศ.1912 ณ เมืองอาเลสซันเดรีย ประเทศอิตาลี บุตรคนที่4 ในจำนวนพี่น้อง 5 คน บิดานายหลุยส์
มารดานางมาเรีย โรเวอา หลังจากนั้น 3 เดือน ครอบครัวย้ายมาที่ชานเมืองตุริน
1 ตุลาคม ค.ศ.1925 เข้าสามเณราลัยธรรมทูต “คาร์ดินัล คาลีเอโร” ของคณะซาเลเซียน ที่ตุริน
20 กันยายน ค.ศ.1928 รับเครื่องแบบสามเณรจากคุณพ่อฟิลิป รินัลดี พร้อมเพื่อนรวม 41 คน
11 ธันวาคม ค.ศ.1928 เดินทางมาถึงประเทศไทย พร้อมนวกชน 15 คน สามเณร 3 คน
และพระสงฆ์ 2 องค์ เข้าพำนักที่วัดแม่พระบังเกิด บางนกแขวก
18 ธันวาคม ค.ศ.1928 เริ่มเข้านวกภาพ
19 ธันวาคม ค.ศ.1929 ปฏิญาณตนครั้งแรก
ค.ศ.1930 - 1931 ศึกษาปรัชญาศาสตร์ ณ สำนักฝึกธรรมบางนกแขวก
เมษายน ค.ศ.1931 ออกฝึกงาน ดูแลเณรเล็กและสอนภาษาอังกฤษและลาติน
10 มิถุนายน ค.ศ.1933 ปฏิญาณตนตลอดชีพ
ค.ศ.1934 - 1935 ศึกษาชั้นประโยคครูมูล ที่ ร.ร.ดรุณานุเคราะห์ บางนกแขวก
ค.ศ.1935 - 1939 ศึกษาเทวศาสตร์ ณ สามเณราลัย บางนกแขวก
18 มีนาคม ค.ศ.1939 รับศีลบรรพชาพร้อมกับคุณพ่อเกรสปี, คุณพ่อฟรีเยรีโอ,
คุณพ่อมาเน, คุณพ่ออุลลิอานาและคุณพ่อวิตาลี โดย พระสังฆราช เรอเนแปร์รอส
3 เมษายน ค.ศ.1939 เป็นเลขานุการและเหรัญญิกเจ้าคณะที่สำนักงานซาเลเซียนที่ศาลาแดง
ค.ศ.1942-1945 เป็นอธิการสำนักงานซาเลเซียน กรุงเทพฯ
ค.ศ.1945-1948 เป็นอธิการโรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัย บ้านโป่ง และเหรัญญิกแขวง ซาเลเซียน
ค.ศ.1948-1951 เป็นเจ้าคณะแขวง ย้ายสำนักงานเจ้าคณะมาที่โรงเรียนอาชีวะ ดอนบอสโก บางกะปิ
12 เมษายน ค.ศ.1951 รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชของสังฆมณฑลราชบุรี
29 มิถุนายน ค.ศ.1951 รับอภิเษกเป็นพระสังฆราช ที่วัดแม่พระบังเกิด บางนกแขวก โดยพระสังฆราชหลุยส์ โชแรง
ค.ศ.1953 เดินทางไปเข้าเฝ้าพระสันตะปาปา
พฤษภาคม ค.ศ.1955 ย้ายไปประจำที่บ้านพักชั่วคราว ที่หลังสถานีรถไฟราชบุรี
11 ตุลาคม ค.ศ.1962 ร่วมประชุมสังคายนาวาติกันที่ 2 สี่สมัย
18 มีนาคม ค.ศ.1964 หิรัญสมโภชแห่งการเป็นพระสงฆ์
18 ธันวาคม ค.ศ.1965 รับการแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชประจำท้องถิ่นอย่างเป็นทางการ
มิถุนายน ค.ศ.1968 แต่งตั้งสังฆมณฑลสุราษฎร์ธานีแยกออกจากสังฆมณฑลราชบุรี
7 กันยายน ค.ศ.1969 อภิเษกพระสังฆราชรัตน์ บำรุงตระกูล เป็นพระสังฆราชแห่งสังฆมณฑลราชบุรี
14 กันยายน ค.ศ.1969 รับการสถาปนาเป็นพระสังฆราชของสังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี
5 มิถุนายน ค.ศ.1972 นำพระสังฆราชแห่งพุทธศาสนาเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6
26 มิถุนายน ค.ศ.1976 หิรัญสมโภชการเป็นสังฆราช ณ วัดแม่พระฟาติมา บ้านแสงอรุณ
วางศิลาฤกษ์บ้านเณรเล็กของสังฆมณฑล “สำนักฝึกธรรมดอมินิกซาวีโอ”
24 กันยายน ค.ศ.1988 อภิเษกพระสังฆราชไมเคิล ประพนธ์ ชัยเจริญ เป็นพระสังฆราชสืบตำแหน่งต่อจากท่าน
ตุลาคม ค.ศ.1988 ย้ายมาพักและช่วยงานอภิบาลที่วัดแม่พระฟาติมา บ้านแสงอรุณ
พฤษภาคม ค.ศ.1989 ย้ายมาพักและช่วยงานอภิบาลที่อารามคณะผู้รับใช้ดวงหทัยนิรมลของพระแม่มารีย์
โรงเรียนนารีวิทยา ราชบุรี
16 พฤศจิกายน ค.ศ.1994 ถึงแก่มรณภาพ เวลา 07.27 น. ที่อารามคณะผู้รับใช้ดวงหทัยนิรมลของพระแม่มารีย์ ราชบุรี
ตั้งศพที่รอง อาสนวิหารนักบุญยอห์น บอสโก ราชบุรี
20 พฤศจิกายน ค.ศ.1994 พิธีมหาบูชามิสซาและบรรจุศพ ที่วัดนักบุญยอแซฟ บ้านโป่ง