-
Category: ตารางเทียบสมัยการปกครองสังฆมณฑลราชบุรี
-
Published on Saturday, 10 October 2015 03:11
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 4543
พระสังฆราช โรเบิร์ต รัตน์ บำรุงตระกูล เกิดที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11กุมภาพันธ์ ค.ศ.1916 เป็นบุตร นายไชย (ซุ่นไช้ คูตระกูล) นางจู บำรุงตระกูล ชีวิตในวัยเยาว์ได้รับการศึกษาในโรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกฝรั่งเศส ในปี ค.ศ.1923 จนสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 เมื่อปี ค.ศ.1932 ต่อมาได้เดินทางไปศึกษาต่อที่ฮ่องกง ในปี ค.ศ.1933 ในโรงเรียน Wad Yan College ซึ่งดำเนินงานโดยนักบวชคณะเยสุอิต สอบได้ชั้นเตรียมอุดมศึกษา (Matriculation) เกียรตินิยมภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์ ในปี ค.ศ.1937 จึงได้เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยฮ่องกง แผนกอักษรศาสตร์โดยพักอยู่ที่หอนิสิต Ricci Hall ของนักบวชเยสุอิต ท่านมีความสนใจในคริสตศาสนามาก จึงได้สมัครศึกษาเล่าเรียนพระธรรมคำสอนต่างๆ จนบังเกิดความเลื่อมใส ได้รับศีลล้างบาปที่ฮ่องกงในปี ค.ศ. 1937 ตลอดชีวิตของการเป็นนิสิตของท่าน ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ หลายอย่าง อาทิ ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกจำพวก Children of Mary ได้เข้าร่วมแข่งขัน Apologetic Bee และร่วมงานออกร้านประจำปีของคณะนักบุญวินเซนเดอปอลเสมอ ท่านได้ศึกษาในมหาวิทยาลัยฮ่องกงจนสำเร็จได้รับปริญญา B.A. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ.1941
ต่อจากนั้นได้เดินทางกลับประเทศไทย เพราะความเลื่อมใสในคริสตศาสนานั่นเองเป็นสาเหตุจูงใจให้ท่านเกิดความปรารถนาจะถวายตัวแด่พระเป็นเจ้าเพื่อเป็นบริพารโดยใกล้ชิดยิ่งขึ้น ท่านจึงได้สละชีวิตฝ่ายโลกสมัครเข้าเป็นสามเณรในสามเณราลัยบางนกแขวก สมุทรสงคราม ทั้งๆ ที่ท่านมีความรู้และอายุสูงกว่าสามเณรอื่นๆ แต่ท่านก็บำเพ็ญตนเป็นคนที่สุภาพอ่อนโยนอยู่เสมอ ไม่ถือเนื้อถือตัว คงปฏิบัติตนเช่นสามเณรอื่นๆ ในทุกด้าน ขณะนั้นพอดี สงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดขึ้น การเดินทางไปศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศต้องหยุดชะงักลง ท่านจึงต้องศึกษาปรัชญาและเทววิทยาในสามเณราลัยบางนกแขวกนั่นเอง โดยมีพระสงฆ์คณะซาเลเซียนเป็นอาจารย์สอน ท่านได้สำเร็จการศึกษาวิชาเทววิทยา และได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์เมื่อวันที่ 31 มกราคม ค.ศ.1949 โดยมีพระสังฆราชกาเยตาโน ปาซอตตี เป็นผู้โปรดศีลบวช ณ วัดน้อยของสามเณราลัยบางนกแขวกเมื่อบรรลุถึงจุดสุดยอดปรารถนาแล้ว ท่านก็ได้เริ่มงานที่พระเป็นเจ้าทรงมอบหมายให้ท่านกระทำทันทีในระยะแรก ท่านได้ประจำเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่สามเณราลัยบางนกแขวก และโรงเรียนดรุณานุเคราะห์ บางนกแขวก
โดยใช้วิชาความรู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาอย่างเต็มที่ ในระยะนี้ท่านได้มีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูศิลปะการแสดงต่างๆ และในด้านวรรณกรรมท่านได้ประพันธ์บทละครอิงศาสนาขึ้นหลายเรื่อง เพื่อใช้แสดงในสามเณราลัยและที่โรงเรียนดรุณานุเคราะห์ เช่น บทละครอิงพระคัมภีร์ เรื่อง “สิบสองพี่น้อง” จากเรื่องโยแซฟ “หนีแดนทุกข์” จากเรื่องอพยพ “ดาบสองเสือ” จากเรื่องเบนเฮอร์ และเรื่อง “โยบ” เป็นต้น
นอกจากนั้นยังได้เริ่มแปลและเรียบเรียงหนังสือขึ้นหลายเล่ม เช่น “เจ้าอาวาสผู้ศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งเป็นประวัตินักบุญยวง เวียนเนย์หนังสือ “ท่องเที่ยวในโลกวิทยาศาสตร์” ใช้นามปากกาว่า “ปากกาทอง” หนังสือ “บทรำพึงประจำวัน” 1 ชุด 4 เล่ม และหนังสือแบบเรียนภาษาอังกฤษ คือ My Little English Book สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 A Practical English Course สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยใช้ Verb patterns เป็นหลัก นับเป็นตำราเรียนภาษาอังกฤษชุดแรกชุดหนึ่งที่ใช้วิธีสอนแบบใหม่ นอกจากนั้น ยังได้เรียบเรียงหนังสือศีลธรรมสากลสำหรับใช้สอนในโรงเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 อีกชุดหนึ่งด้วย หนังสือชุดหลังนี้ได้รับการปรับปรุงแก้ไขหลายครั้ง จนถึงครั้งสุดท้ายในปัจจุบันยึดแนวสอนแบบใหม่เป็นหลัก ฯพณฯ ได้ประจำอยู่ที่บางนกแขวกเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งได้มีการย้ายสามเณรบางนกแขวกมาตั้งที่ราชบุรี ก็ได้โยกย้ายติดตามขึ้นมาอยู่ที่ราชบุรีด้วยในปี ค.ศ.1959 ณ สำนักใหม่แห่งนี้ได้ใช้ชีวิตหนักไปทางด้านการศึกษาอบรมเช่นเดิม
โดยที่เป็นผู้ที่รักการศึกษาเล่าเรียนเป็นชีวิตจิตใจประกอบกับทางสังฆมณฑลราชบุรี มีความต้องการผู้เชี่ยวชาญในด้านวิชาคำสอนเป็นพิเศษ พระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต จึงพิจารณาส่งไปศึกษาวิชาแพร่ธรรมและวิธีสอนคำสอนแบบใหม่ที่ Lumen Vitae ของนักบวชคณะเยสุอิต ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม ในปี ค.ศ.1961 ได้ศึกษาจนสำเร็จได้รับประกาศนียบัตร ในปี ค.ศ.1962 จากเบลเยี่ยม ได้เดินทางไปกรุงโรม ประเทศอิตาลีเพื่อหาประสบการณ์เพิ่มเติม พอดีเป็นโอกาสเปิดประชุมสังคายนาวาติกันที่ 2 ในที่สุดก็ได้เดินทางกลับประเทศไทยและเริ่มใช้วิชาความรู้ที่ได้เล่าเรียนมาเพื่อประโยชน์ของพระศาสนจักรในประเทศไทยอย่างเต็มที่ โดยเริ่มทำการสอนพระคัมภีร์และวิชาคำสอนแผนใหม่ที่ราชบุรี และศูนย์ศาสนศาสตร์โรงเรียนมาแตร์เดอี พระนคร ได้เรียบ เรียงหนังสือคำสอนขึ้น 6 เล่ม เพื่อใช้สอนในโรงเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 หนังสือจิตวิทยาและการสอนคำสอนตามวัยและหนังสือพระคัมภีร์ ฉบับย่อ 1 ชุด 2 เล่ม
ก่อนที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชแห่งสังฆมณฑลราชบุรี ได้ดำรงตำแหน่งในคณะ ที่ปรึกษาของพระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต เป็นกรรมการปรับปรุงคำสอนแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการบัญญัติศัพท์ศาสนศาสตร์แห่งสภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการแปลพระคัมภีร์ร่วมกับสมาคมพระคริสตธรรมในประเทศไทย งานชิ้นสุดท้ายที่ได้กระทำที่ราชบุรี และถือว่าเป็นงานชิ้นโบว์แดงก็คือการจัดอบรมพระสงฆ์ นักบวชที่ราชบุรีเป็นเวลา 4 สัปดาห์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อฟื้นฟูชีวิตคริสตชนตามแนวของสังคายนาวาติกันที่ 2
ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชไทยองค์แรกแห่งสังฆมณฑลราชบุรี เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ.1969 ได้กระทำพิธีอภิเษกที่ราชบุรี เมื่อวันที่ 7 กันยายน ค.ศ.1969 โดยมีพระสังฆราช เปโตร คาเร็ตโต เป็นผู้อภิเษกร่วมกับพระอัครสังฆราชและพระสังฆราชจากประเทศไทย ลาว และมาเลเซีย กระทำพิธีขึ้นครองอาสน์ ณ อาสนวิหารแม่พระบังเกิด บางนกแขวก เมื่อวันที่ 8 กันยายน ศกเดียวกัน และเมื่อท่านอภิเษกเป็นพระสังฆราชแล้วทำงานในสังฆมณฑลราชบุรีได้ 6 ปี จึงได้รับแต่งตั้งให้ไปเป็นประมุขสังฆมณฑลเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1975 แม้ว่าเมืองเชียงใหม่จะเป็นเมืองใหญ่อันดับสองรองจากกรุงเทพฯ แต่สังฆมณฑลเชียงใหม่เป็นสังฆมณฑลเล็กยังต้องการการพัฒนาทั้งในด้านจำนวนและคุณภาพ คุณพ่อวิโรจน์ อินทรสุขสันต์ ได้ไปช่วยเป็นเจ้าอาวาสอาสนวิหารพระหฤทัย เชียงใหม่ และต่อมาคุณพ่อวิชัย แสนสุดสวาท ได้ไปรับหน้าที่ต่อจากคุณพ่อวิโรจน์ ส่วน คุณพ่อดำรง บุญรติวงศ์ ได้ไปเป็นเจ้าอาวาสที่เมืองพาน เชียงราย ท่านต้องเดินทางไปตามวัดต่างๆ ในชนบทอันห่างไกลและตามป่าเขาลำเนาไพรอยู่เป็นประจำ ท่านใช้ชีวิตที่เรียบง่ายกับชาวบ้านเหล่านั้น
สุดท้ายในปี ค.ศ.1987 เมื่ออายุย่างเข้า 70 ปี ท่านเห็นว่าสังขารไปไม่ไหวแล้ว จึงขอเกษียณตนเองจากหน้าที่สังฆราช และเดินทางกลับมาอยู่ที่ราชบุรี เพื่อใช้ชีวิตบั้นปลายในที่ที่เคยอยู่ อู่ที่เคยนอน ในปี ค.ศ.1992 ท่านเริ่มป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม (DEMENTIA) เกิดอาการหลงลืมจำเหตุการณ์ปัจจุบันไม่ได้ สมองเสื่อม ช่วยตัวเองไม่ได้เป็นเวลา 3 ปี ในปี ค.ศ.1995 ซิสเตอร์คณะคาร์มิลเลี่ยน รับท่านไปดูแลเป็นพิเศษที่บ้านเบธานี ดุจบิดากับบุตรสาว
เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ.2000 ท่านต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลซานคามิลโล บ้านโป่ง จนถึงเดือนตุลาคม พระสังฆราชมนัสจึงรับตัวกลับมาอยู่ที่ราชบุรีที่โรงพยาบาลพร้อมแพทย์ เพื่อให้อยู่ใกล้ชิดกับคณะสงฆ์และผู้รู้จักมักคุ้น ในวันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ. 2000 อาการท่านเริ่มทรุดลง จึงโปรดศีลเจิมและโปรดพระคุณให้ท่าน และในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ.2000 ซึ่งเป็นวันฉลองแม่พระนิรมลทิน พระแม่ก็มารับท่านไปสวรรค์ เมื่อเวลา 15.13 น. พิธีปลงศพ ณ อาสนวิหารแม่พระบังเกิด บางนกแขวก วันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ. 2000