-
Category: ตารางเทียบสมัยการปกครองสังฆมณฑลราชบุรี
-
Published on Saturday, 10 October 2015 03:10
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 4152
พระสังฆราช เอก ทับปิง เกิดที่โคกมดตะนอย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี
- เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ.1934
- เป็นบุตรคนที่สอง ของนายสี่ และนางพร ทับปิง
- เรียนชั้นประถมที่โรงเรียนประชาบาลของวัด แล้วสมัครเข้าบ้านเณรที่บางนกแขวกจนจบชั้นมัธยมที่โรงเรียนดรุณานุเคราะห์ บางนกแขวก
- ไปศึกษาต่อที่กรุงโรมจนสำเร็จปริญญาโททางวิชาปรัชญาและเทวศาสตร์ และ
- ได้รับศีลบวชที่กรุงโรม จาก พระคาร์ดินัล อกายาเนียน เมื่อ 20 ธันวาคม ค.ศ. 1959
พร้อมกับพระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู พระคาร์ดินัลองค์แรกของเมืองไทย และเพื่อนร่วมรุ่นนานาชาติอีก 30 องค์
เริ่มชีวิตการทำงาน
• ปี ค.ศ.1960-1962 ผู้ช่วยอธิการบ้านเณรราชบุรี และผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเพลง
• ปี ค.ศ.1962-1966 เป็นเจ้าอาวาสวัดราชบุรี สอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนดรุณาราชบุรี
• ปี ค.ศ.1966-1971 อธิการบ้านเณรราชบุรี สอนภาษาอังกฤษกลศาสตร์ ชีววิทยา มศ.ปลาย
• 2 ตุลาคม ค.ศ.1975 ไ้ด้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชประมุขสังฆมณฑลราชบุรี
• ปี ค.ศ.1971-1973 ศึกษาต่อที่ มะนิลา ได้รับปริญญาโท ศาสนศึกษา MA (Rel.Ed.)
• ปี ค.ศ.1973-1976 อาจารย์วิทยาลัยแสงธรรม สอนด้านปรัชญา,พุทธศาสนาและวัฒนธรรม
และเป็นอาจารย์หัวหน้าฝ่ายวิชาการที่บ้านเณร
• 17 ม.ค. ค.ศ.1976 อภิเษกเป็นพระสังฆราชสังฆมณฑลราชบุรี ณ วัดนักบุญยอห์น บอสโกราชบุรี
โดยพระสังฆราชโยวานนี โมเร็ตตี พระสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทย
หน้าที่พิเศษ
- ที่ปรึกษาของพระสังฆราช
- เป็นสมาชิกของคณะกรรมการระดับชาติเกี่ยวกับข้อความเชื่อ
- เลขาธิการพระสังฆราช 6 ปี
- ประธานกรรมการชมรมเณรและพระสงฆ์
- ประธานกรรมการศึกษาคาทอลิกในประเทศไทย
- ประธานกรรมการศาสนสัมพันธ์คาทอลิกแห่งประเทศไทย
- ประธานคณะกรรมการอบรมและตั้งกลุ่มเยาวชนของสังฆมณฑลราชบุรี
สหบูชามิสซาหน้าศพที่ราชบุรี
ในตอนบ่ายของวันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1985 ได้เชิญศพพระสังฆราช ยอแซฟ เอก ทับปิง จากโรงพยาบาลคามิลเลี่ยน กรุงเทพฯ ไปตั้งศพไว้ที่ สำนักพระสังฆราชราชบุรี เพื่อให้ทุกคนเข้าเยี่ยมคำนับ ถวายบูชามิสซาและคำภาวนาอุทิศเป็นเวลา 2 คืน ในระหว่างนั้น คุณพ่อชวลิต วินิตกูล ผู้รักษาการแทน และพระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู เป็นประธานถวายบูชามิสซาเวลา 20.00 น. โดยมีพระสงฆ์ นักบวชและสัตบุรุษทั้งคาทอลิกและมิใช่คาทอลิกจำนวนมากมาย ร่วมในพิธีดังกล่าวและสวดภาวนาอุทิศตลอดเวลา
หลังจากนั้น จึงจัดขบวนแห่ศพ ไปยังอาสนวิหารแม่พระบังเกิด บางนกแขวก เพื่อให้สัตบุรุษได้คารวะอีก 2 คืน โดยมี คุณพ่อวิโรจน์ อินทรสุขสันต์ และพระสังฆราช บุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ เป็นประธานถวายบูชามิสซา ตามลำดับ
พิธีปลงศพอย่างสง่า
วันเสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1985 เวลา 9.15 น. เคลื่อนศพตั้งที่หน้าอาสนวิหารแม่พระบังเกิด บางนกแขวก ชุมนุมบรรดาผู้มาร่วมงานศพ ถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก แล้วเชิญศพเข้าสู่อาสนวิหาร เริ่มพิธีสหบูชามิสซามโหฬารโดยพระสังฆราช ยอแซฟ บรรจง อารีพรรค ประธานสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย เป็นประธานพิธี, ร่วมด้วย พระอัครสมณทูต เรนาโต มาร์ตีโน อัครสังฆราช,พระสังฆราชลอเรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน, พระสังฆราช ไมเกิ้ล บุญเลื่อน หมั้นทรัพย์, พระสังฆราชโรเบิร์ต รัตน์ บำรุงตระกูล, พระสังฆราชคลาเรนซ์ ดูฮาร์ต,พระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต, พระสังฆราชยออากิม พเยาว์ มณีทรัพย์,พระสังฆราช ยอด พิมพิสาร และพระสังฆราช เทียนชัย สมานจิต พร้อมด้วยบรรดาเณรใหญ่จากวิทยาลัยแสงธรรม 140 คน บรรดาพระสงฆ์คาทอลิก 150 องค์ บรรดาผู้แทนคณะนักบวชชายหญิง ครูและนักเรียนโรงเรียนต่างๆ บรรดาสัตบุรุษ ทั้งที่เป็นคาทอลิกและมิใช่คาทอลิก ผู้ร่วมในพิธีถวายบูชามิสซาหน้าศพครั้งนี้ทั้งหมดประมาณห้าพันคน พระภิกษุเจ้าอาวาสและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ร่วมพิธี
เป็นที่น่ายินดีว่า หลวงพ่อ วัดเจริญสุขารามวรวิหาร, หลวงพ่อ วัดโพธิ์งาม, หลวงพ่อ วัดไผ่ล้อม, มาร่วมพิธี ร่วมขบวนแห่ศพและบรรจุศพด้วย ฝ่ายข้าราชการที่มาร่วมพิธี อาทิ ส.ส.จังหวัดสมุทรสงคราม ร.ม.ช. กระทรวงพาณิชย์ ไพโรจน์ ไชยพร, ผู้ว่าฯ และปลัดจังหวัดฯ ประธานสภาจังหวัดฯ, นายอำเภอ, ศึกษาธิการจังหวัด, ผู้กำกับตำรวจภูธรประจำจังหวัด ฯลฯ กองพยาบาลบริการประชาชนยามฉุกเฉิน จากโรงพยาบาลนภาลัย และสถานีอนามัยบางยี่รงค์
เอกอัครสมณทูตกล่าวสุนทรพจน์หน้าศพ
หลังพิธีมิสซา คุณพ่อชวลิต วินิตกูล ได้อ่านโทรเลขจากสำนักวาติกัน แจ้งให้ทราบว่า สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ทรงร่วมไว้อาลัยกับเหตุการณ์นี้ด้วย ฯพณฯ เอกอัครสมณทูต กล่าวสุนทรพจน์เป็นภาษาอังกฤษ ในนามของพระศาสนจักรสากล ท่ามกลางที่ประชุมในอาสนวิหาร ยกย่อง แสดงความรักและอาลัย ต่อ พระสังฆราชยอแซฟ เอก ทับปิง ว่าเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมและวีรธรรม พากเพียร สุขุม อดทน เป็นที่รักและอาลัยแก่บุคคลทั่วไป พระสังฆราช ยอด พิมพิสาร เป็นผู้แปลสุนทรพจน์เป็นภาษาไทย
ขบวนแห่ศพและบรรจุศพไว้ในสุสาน
ขบวนแห่ศพออกจากศาสนวิหาร ไปบรรจุไว้ในสุสาน ซึ่งอยู่ใกล้ๆ นั้น เริ่มเมื่อเวลา 11.45 น. ท่ามกลางแสงแดดร้อนแรง แต่ขบวนแห่แห่งความรักและอาลัยก็ดำเนินไปอย่างเป็นที่ประทับใจแก่ทุกคน ขบวนแห่ศพ นำโดยวงดุริยางค์ของบ้านเณรราชบุรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่อัญเชิญพานมาลา (หมวกยศและไม้เท้าพระสังฆราช) พานดกไม้สดบูชา บรรดานักบวชชายหญิง พระสงฆ์ พระสังฆราช ตามด้วยหีบศพ ต่อจากนั้นก็เป็นกลุ่มบิดามารดาญาติสนิทของพระสังฆราช เอก สภาวัด ครู นักเรียน ประชาสัตบุรุษ
อนุสาวรีย์ปูชนียบุคคลในสุสาน
ในสุสานของอาสนวิหาร บางนกแขวก มีที่บรรจุศพรวมของปูชนียบุคคลผู้ล่วงลับไปแล้ว บุคคลกลุ่มนี้ได้แก่ พระสังฆราช และพระสงฆ์ที่มรณภาพขณะประจำการอยู่ที่อาสนวิหาร บางนกแขวก โดยปกติในอดีต มีธรรมเนียมบรรจุศพพระสังฆราชและพระสงฆ์คาทอลิกไว้ในโบสถ์ แต่พระสังฆราชกาเยตาโน ปาซ็อตตี สังฆราชแห่งสังฆมณฑลราชบุรี สั่งไว้ก่อนมรณภาพว่า เมื่อท่านถึงแก่มรณภาพแล้ว ให้ฝังศพของท่านไว้ในสุสานท่ามกลางศพปวงสัตบุรุษของท่าน เหตุนี้จึงได้เป็นประเพณีสืบต่อมาว่าเมื่อมีพระสงฆ์ถึงแก่มรณภาพก็นิยมบรรจุศพท่านไว้รวมกันที่อนุสาวรีย์ปูชนียบุคคล ซึ่งสร้างเป็นอาคารพิเศษกลางสุสานนั้น
พิธีปลงศพ
ขบวนแห่ศพหยุดลงตรงอนุสาวรีย์ที่ว่านั้น และสัตบุรุษคนหนึ่ง ในนามประชาสัตบุรุษแห่งสังฆมณฑลราชบุรี กล่าวสดุดีและอำลาครั้งสุดท้าย ต่อพระคุณเจ้าผู้ล่วงลับไป ด้วยความรักและอาลัยอย่างสุดซึ้ง ทั้งขออภัยในความผิดพลั้งทั้งปวงแทนทุกคน “ขอพระคุณเจ้าได้โปรดลืมตาจดจำใบหน้าของลูกทุกคนไว้ อย่าลืมเป็นผู้เสนอแทนพวกลูกต่อหน้าพระบิดา ณ สวรรค์ วอนขอพระองค์ประทานสติปัญญา พละกำลัง ให้พ้นจากภัยอันตรายทั้งฝ่ายกายและใจตลอดไป” ทุกคนเรียงแถวเข้า เคารพศพ ถวายดอกไม้ ภาวนา อุทิศ และอำลาครั้งสุดท้าย