พระสังฆราชปิแอร์ลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต


  • ปีแอร ลังแบรต์ เดอลาม็อต พระสังฆราชแห่ง เบริธ
  • รับศีลล้างบาป 16 มกราคม ค.ศ. 1624 ที่เมืองลีซีเออร์ ประเศสฝรั่งเศส
  • รับศีลบวชสังฆานุกร วันที่  21 และรับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ 27 ธันวาคม ค.ศ. 1655 
  • 18 มิถุนายน ค.ศ. 1660 ออกเดินทางจากกรุงปารีส ถึง กรุงศรีอยุธยา 22 สิงหาคม ค.ศ.1662
  • 15 มิถุนายน ค.ศ. 1679 ถึงแก่มรณภาพที่กรุงศรีอยุธยา อายุ 55 ปี 
 
พระสังฆราชปิแอร์ ลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต เป็นผู้หนึ่งในจำนวนประมุขมิสซังรุ่นแรก อยู่ในจำนวนผู้ก่อตั้งคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส และเป็นองค์แรกของคณะที่ได้มาแพร่ธรรมถึงทิศตะวันออกไกล ท่านเกิดมกราคม ค.ศ.1624 ที่ลาวัวซิแอร์ ประเทศฝรั่งเศส ท่านเป็นเพื่อนของพระสังฆราชปัลลือ ซึ่งขอร้องให้ท่านลังแบรต์ไปกรุงโรม เพื่อช่วยขอให้แต่งตั้งคณะประมุขมิสซัง และตัวท่านลังแบรต์เองก็เป็นผู้ที่ได้โน้มน้าวให้เลขาธิการกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ ได้เข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องตั้งคณะดังกล่าว 
 
วันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ.1658 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชเกียรตินามแห่งเบริธ วันที่ 9 กันยายน ค.ศ.1659 ได้รับแต่งตั้งเป็นประมุขมิสซังโคชินไชน่า ทั้งเป็นผู้ดูแลมณฑลเชเกียง, โฟเกียง, กวางตุ้ง, กวางสี และเกาะไหหนำ ในประเทศจีน ท่านได้รับการอภิเษกเป็นพระสังฆราชวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ.1660 ที่กรุงปารีส โดยพระอัครสังฆราชแห่งเมืองตูรส์
 
ท่านไม่รีรอที่จะออกเดินทางไป... ท่านนึกในใจว่าเพื่อคุณประโยชน์ของมิสซังในประเทศจีน จำเป็นที่พระสังฆราชอย่างน้อยสักองค์หนึ่งต้องเดินทางไปทางบก และที่สมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อก็ปรารถนาอย่างยิ่ง เพื่อผลประโยชน์ของมิสซัง ที่จะพยายามลองไปทางบกให้มีประสบการณ์ เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงการอิจฉาของบางประเทศ ซึ่งเวลานั้นมีอำนาจน่ากลัวมากในทะเลอินเดียน และดังนั้นก็จะมีโอกาสส่งมิสชันนารีไปทางบกถึงประเทศจีน หรือประเทศที่อยู่ใกล้เคียง ท่านลังแบรต์ออกเดินทางจากกรุงปารีส  วันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ.1660 ออกจากมาร์แซย์ทางเรือ วันที่ 27 พฤศจิกายนในปีเดียวกัน โดยมีมิสชันนารีไปด้วย 2 องค์ ท่านขึ้นจากเรือที่ท่าอเล็กซันเดรต์ ประเทศตุรกี  วันที่ 11 มกราคม ค.ศ.1661  แล้วเดินผ่านประเทศอียิปต์ ผ่านเปอร์เซีย (อิหร่าน) ออกจากกาเมร็อน วันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ.1661 และถึงเมืองสุรัต อินเดีย วันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 1661 จากที่นั่นก็เดินทางบกอีก วันที่ 6 มีนาคม ค.ศ.1662 ถึงเมืองมาสุลีปาตัม (ในอันตรประเทศอินเดีย) จากนั้น ขึ้นเรือของชาวอาหรับ และภายใน 33 วันก็ถึงเมืองมะริด (ตะนาวศรี) เดินถึงอยุธยา เมืองหลวงสยาม วันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ.1662 นับเป็นเวลาหลังจากได้ออกจากกรุงปารีส เป็นระยะเวลา 2 ปี 2 เดือน กับ 2-3 วัน  พระราชอาณาจักรสยามซึ่งมิได้อยู่ในเขตปกครองทางศาสนาของท่าน ได้เป็นที่พำนักของบรรดามิสชันนารีต่างๆ ซึ่งอยู่ที่นี่อย่างสงบ  มิสซังโคชินไชน่า ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางแต่แรกของท่านนั้น กำลังประสบการเบียดเบียน ดังนั้นท่านลังแบรต์ จึงตัดสินใจหยุดอยู่ที่อยุธยาไปพลางก่อน 
 
ตอนแรก ท่านพักอยู่กับบรรดานักพรตชาวโปรตุเกส แล้วจากนั้นก็ย้ายไปอยู่ในค่ายของพวกญวน โดยที่ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นประมุขมิสซังโคซินไชน่า ท่านจึงรับธุระแพร่ธรรมในท่ามกลางชาวโคชินไชน่าพวกแรกที่ท่านได้พบในการเดินทางมาถึงสยาม ขณะเดียวกัน ตามที่ทางกรุงโรมได้ให้คำสั่งไว้ ท่านก็คอยสังเกตสภาพของมิสซังต่างๆ แล้วท่านก็เห็นสภาพมิสซังในกรุงสยามนั้นน่าเศร้าใจ มีมิสชันนารีซึ่งเป็นนักพรต ไม่มีความกระตือรือร้นเผยแพร่ความเชื่อเลย กระทำบางสิ่งซึ่งห้ามนักบวชทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำการค้าขาย ท่านจึงรายงานไปถึงสมเด็จพระสันตะปาปา และกระทรวงเผยแพร่ศาสนา โดยเขียนจดหมายไปลงวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ.1662, วันที่ 6 มีนาคม ค.ศ.1663 และ วันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ.1663 ท่านจึงกลายเป็นที่จงเกลียดจงชัง ถูกพยายามแก้แค้นจากพวกโปรตุเกส ทั้งฆราวาสและนักบวช ซึ่งถือว่าการที่ท่านมาอยู่อยุธยา และมีอำนาจทางศาสนาจากองค์สมเด็จพระสันตะปาปานี้ เป็นการขัดแย้งกับสิทธิ์ต่างๆ ของพระมหากษัตริย์โปรตุเกส ท่านลังแบรต์จึงถูกปองร้ายหมายขวัญ ขู่เข็ญถึงกับจะเอาชีวิตท่านด้วย ท่านจึงมีรายงานทูลถวายสมเด็จพระสันตะปาปา กล่าวถึงสภาพจิตใจของเขาเหล่านั้น และวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ.1663 ท่านส่งจดหมายทูลขอลาออก ถึงสมเด็จพระสันตะปาปา  แต่ทว่า การที่พระสังฆราชปัลลือ มาถึงในปี ค.ศ.1664  และการที่พระสังฆราชลังแบรต์เอง ได้มีเวลาใคร่ครวญถึงสภาพการณ์ ทำให้ท่านเปลี่ยนความตั้งใจ ตามข้อตกลงกับพระสังฆราชแห่งเฮลิโอโปลิส (พระสังฆราชปัลลือ) ท่านจึงแต่งหนังสือภาษาลาติน ชื่อ “มอนิตา”  (คำเตือนถึงบรรดามิสชันนารีทั้งหลาย)  ซึ่งทางกรุงโรมได้จัดพิมพ์หนังสือนี้หลายต่อหลายครั้ง วันที่ 13 มกราคม ค.ศ.1665  พระสังฆราชลังแบรต์ได้รับอำนาจปกครองทางศาสนาในประเทศมิสซังจำปาและเขมร 
 
สมเด็จพระนารายณ์ แห่งสยาม ได้พระราชทานที่ดินแปลงใหญ่อยู่ในค่ายโคชินไชน่าแก่ท่าน  ท่านจึงเริ่มสร้างบ้านที่พักอย่างเรียบง่าย และวัดน้อยหลังหนึ่ง ถวายแด่ท่านนักบุญยอแซฟ กับสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นบ้านเณร สามารถรับพวกเด็กหนุ่มซึ่งอาจจะมาจากประเทศจีน ตังเกี๋ย โคชินไชน่า เพื่อเตรียมตัวเป็นพระสงฆ์ การบวชเป็นพระสงฆ์ครั้งแรกกระทำในปี ค.ศ. 1668  พระสงฆ์สองท่านที่ได้รับการบวชเป็นชาวตังเกี๋ยในปีถัดไป พระสังฆราชลังแบรต์ เดินทางไปตังเกี๋ย ซึ่งอยู่ในความปกครองของพระสังฆราชปัลลือ ผู้ยังไม่สามารถไปอยู่ที่นั่นได้ พระสังฆราชลังแบรต์ได้บวชพระสงฆ์พื้นเมือง 7 องค์ และท่านก็ได้ตั้งคณะนักบวชหญิงคณะหนึ่ง ชื่อว่า คณะรักไม้กางเขน มีจุดหมายเพื่ออบรมสั่งสอนหญิงสาว, เอาใจใส่ดูแลคนเจ็บป่วย, แปลคำสอนแก่บรรดาสตรี และโปรดศีลล้างบาปแก่พวกเด็กๆ 
 
พระสังฆราชลังแบรต์ เดินทางกลับมาประเทศสยามในปี ค.ศ.1670 และปี ค.ศ.1671 ก็ได้เดินทางไป โคชินไชน่าอีก กลับมาเมื่อปี ค.ศ.1672 ความเป็นอยู่ของพระสังฆราชในมิสซังสยามนี้ยากลำบากมากแต่เริ่มแรก เพราะความเป็นสัตรูของพวกพ่อค้าโปรตุเกส กับพวกนักพรตบางคนที่หาว่าท่านมิใช่พระสังฆราชแท้ มิใช่ผู้แทนองค์สมเด็จพระสันตะปาปา ไม่ยอมเชื่อฟัง และสอนความเชื่อทางศาสนาที่ไม่ถูกต้อง 
 
วันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ.1669 สมเด็จพระสันตะปาปา เคลเมนต์ ที่ 9 ทรงก่อตั้งเทียบสังฆมณฑลสยาม และทรงมอบให้คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส เป็นผู้ปกครองตามที่ได้ตกลงกันแล้วตามข้อกฤษฎีกา ปี ค.ศ.1665  
 
วันที่ 13 กันยายน ค.ศ.1669 สมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 9 โดยพระสมณสาร(Speculatores) ประกาศว่า บรรดานักพรตทั้งหลายในกรุงสยาม จงนบนอบเชื่อฟังบรรดาประมุขมิสซัง วันที่ 12 กันยายน ค.ศ.1671 สมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 10 โดยพระสมณสาร (Coelestibus) ประกาศทำโทษห้ามมิให้ถือทฤษฎีทางเทวศาสตร์ ซี่งคุณพ่อฟราโกโซ เป็นผู้สนับสนุนในท่ามกลางพวกโปรตุเกส และยังมีพระสมณสารอีก 2 ฉบับ ของวันที่ 22, 23 ธันวาคม ค.ศ.1673 ยืนหยัดอำนาจของประมุขมิสซัง
 
วันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ.1675 เจ้าเหนือหัวแห่งกรุงสยาม ได้ทรงให้การต้อนรับอย่างสง่าที่สุด แก่ประมุขมิสซังทั้ง 3 ซึ่งอยู่ในอยุธยาเวลานั้น  คือ พระสังฆราชปัลลือ  พระสังฆราชลังแบรต์ และพระสังฆราชลาโน  ซึ่งเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นประมุขมิสซังสยาม แต่ยังมิได้รับการอภิเษกปี ค.ศ. 1676  พระสังฆราชลังแบรต์  กลับไปสู่โคชินไชน่า และตามประวัติศาสตร์คาทอลิกก็ถือว่าการที่ท่านไปอยู่ในท่ามกลางคริสตังชาวโคชินไชน่านั้น ก็ได้เป็นวาระที่มิสซังโคชินไชน่า มีความร่มเย็นเป็นสุขที่สุด 
 
และแล้วท่านก็กลับมาสู่ประเทศสยามอีก มิช้า ท่านก็เกิดล้มป่วยลง แล้วถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ.1679  ที่อยุธยา ถูกฝังไว้ในวัดนักบุญยอแซฟ  ส่วนกรุงโรม ซึ่งยังไม่ทราบว่าท่านถึงแก่มรณภาพแล้ว  ก็ได้แต่งตั้งท่านเป็นผู้ดูแลทั่วไป ทั้งมิสซังสยาม, โคชินไชน่า และกังเกี๋ย ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ค.ศ.1680.
 
สัมพันธภาพเป็นทางการระหว่างกรุงฝรั่งเศสกับกรุงสยาม
พระสังฆราชปีแอร์ ลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต พระสังฆราชเกียรตินามแห่งเบริธ
 
พระสันตะสำนักสนับสนุนประมุขมิสซัง
เมื่อกลับมายังศูนย์มิสซังแล้วพระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต ได้กลับเข้าทำหน้าที่ควบคุมงานทั่วไป ท่านมีความยินดี 2 ประการที่ทราบว่าพระสันตะสำนักพิจารณาข้อพิพาทของท่านกับผู้พิพากษาศาลคดีศาสนาที่เมืองกัว แล้วเห็นว่าท่านเป็นฝ่ายถูกประการหนึ่งและอีกประการหนึ่งพระสังฆราชปัลลือ มาถึงเมืองสุรัตได้ไม่นานกำลังคอยโอกาสจะเดินทางมาพบกับท่านที่ 
กรุงสยาม
 
พระสมณสาร ของสมเด็จพระสันตะปาปาประณามผู้พิพากษาศาลคดีศาสนาที่เมืองกัวประกาศบัพพาชนียกรรม ที่กระทำต่อพระสังฆราชแห่งเบริธเป็นโมฆะ
 
และสั่งให้ประกาศ คำวินิจฉัยของสำนักงานศักดิ์สิทธิ์ สำนักงานศักดิ์สิทธิ์ (Saint-Office) เป็นสมณกระทรวงที่ตั้งขึ้นแทนศาลคดีศาสนา (Inquisition) มีหน้าที่ปกป้องและรักษาคำสอนและข้อความเชื่อแห่งพระศาสนา (ผู้แปล) เพื่อชดเชยการกระทำเสื่อมเสียเกียรติของท่าน พระสมณสารฉบับนี้มาถึงพร้อมกับจดหมายแสดงไมตรีจิตของพระคาร์ดินัลบารเบรินี ซึ่งให้กำลังใจอย่างประเสริฐแก่พระสังฆราชผู้กล้าหาญ
 
พระสังฆราชและภราดร ผู้มีเกียรติสูงและที่เคารพยิ่งจดหมายของพระสังฆราชที่เขียนในเดือนกันยายน ค.ศ. 1669 นั้น สมณกระทรวงได้รับแล้วด้วยความยินดีเป็นอย่างยิ่ง เรามีความปลาบปลื้มเป็นล้นพ้นที่พระศาสนจักรคาทอลิกก้าวหน้าในประเทศโคชินจีน และในประเทศตังเกี๋ย พระสงฆ์พื้นเมืองที่พระคุณเจ้าบวชแล้วมีจำนวนมาก มีใจร้อนรน ทำงานดี และมีคุณธรรม
 
เราขอเตือนพระสังฆราช ในพระนามของพระเยซูคริสตเจ้าให้เพิ่มผู้ประกาศพระวรสารที่ดีให้มากเท่าที่จะทำได้เพื่อสวนองุ่นของพระเป็นเจ้า ที่ปลูกในตะวันออกด้วยความทุกข์ยากลำบากนักหนา จะได้เจริญงอกงามถาวรขอพระสังฆราชเชื่อตระหนักเถิดว่างานของพระสังฆราช และของมิชชันนารีของพระสังฆราชก็ดี การที่พระสังฆราชถูกขัดแย้งก็ดีการที่คริสตชนในความปกครองของพระสังฆราชมีความทุกข์ยากและอยู่ในภาวะน่าเศร้าก็ดีล้วนเป็นที่ซาบซึ้งหรือกระทบกระเทือนพระทัยสมเด็จพระสันตะปาปาและใจของปิตาจารย์ทุกท่านที่อยู่ในคณะสมณมนตรี 
 
เพื่อช่วยพระสังฆราชปฏิบัติตามคำสั่งของพระสันตะสำนัก ได้สะดวกยิ่งขึ้น ขอพระสังฆราชให้เรามีโอกาสบ่อยๆ ที่จะรับใช้พระคุณเจ้าบ้างเพื่อจะได้เรียนพระคุณเจ้าให้ทราบว่าสมเด็จพระสันตะปาปาและคณะพระคาร์ดินัลมีความยกย่องและความรักต่อพระสังฆราช ต่อมิช ชันนารี และต่อสัตบุรุษซึ่งอยู่ในความอภิบาลของพระคุณเจ้าสักเพียงใด
 
พร้อมกับมีความรู้สึกดังนี้สมเด็จพระสันตะปาปาพระราชทานพระพรแก่พระคุณเจ้า และพวกเราขอให้พระคุณเจ้าประสบความสุขและความเจริญทุกประการเทอญ พระสันตะสำนักมีความรู้สึกดี ดังนี้ ในปีต่อมายังได้ออกพระสมณสารหลายฉบับ ซึ่งในที่สุดดำเนินการให้ประชุมมิสซังเป็นอิสระไม่ขึ้นกับเจ้าหน้าที่โปรตุเกส และศาลพิจารณาคดีศาสนาที่เมืองกัวอย่างเด็ดขาด พระสังฆราชปัลลือ กลับมา-มิชชันนารีลาโน ได้รับแต่งตั้งเป็นประมุขมิสซังกรุงสยาม และนานกิง 
 
วันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1673 พระสังฆราชปัลลือ กลับมาถึงกรุงศรีอยุธยาทันทีท่านปรึกษากับพระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต เลือกประมุขมิสซังองค์ที่สาม ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาทรงอนุญาตให้ท่านทั้งสองแต่งตั้งแทนพระสังฆราชโกโตแลนดี หลังจากได้ปรึกษาบรรดาพระสงฆ์ซึ่งอยู่ ณ สามเณราลัยแล้วพระสังฆราชทั้งสองได้ตัดสินใจแต่งตั้งมิชชันนารี หลุยส์ ลาโน เป็นพระสังฆราชแห่งเมแตโลโปลีส และได้รับการอภิเษกจากพระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ.1674 ท่านได้รับมอบหมายให้ปกครองมิสซังกรุงสยามและ มิสซังกรุงนานกิง
 
พระสังฆราชทั้งสามถือโอกาสที่อยู่ด้วยกันเรียบเรียง คำแนะนำสำหรับปกครองสามเณราลัยกรุงสยาม อันที่จริงถึงเวลาจำเป็นต้องบ่งบอกชัดเจนถึงบทบาทและกฎปฏิบัติของสำนักแห่งนี้ซึ่งเป็นศูนย์สำคัญของคณะมิสซังต่างประเทศในภาคตะวันออกไกล  
 
นอกจากนั้นทั้งสามท่านยังได้ลงนามในข้อตกลงกันในพวกท่านสามคนคนใดอยู่ในกรุงสยาม ก็ให้มีอำนาจควบคุมงานทุกอย่างของคณะที่เกี่ยวกับมิสซังทั้งหมดด้วยประการฉะนี้ เนื่องจากพระสังฆราชปัลลือ ไม่อยู่เกือบตลอดเวลา และพระคุณเจ้า ลาโน มีความเคารพต่อพระสังฆราชลังแบรต์ จึงทำหน้าที่เป็นผู้มีอำนาจและเป็นใหญ่ในมิสซังกรุงสยามจนถึงวันมรณภาพ
 
การมีสัมพันธภาพอย่างเป็นทางการระหว่างกรุงฝรั่งเศสกับกรุงสยาม
ประมุขมิสซังทั้งสามขณะที่วางมาตรการเพื่อขยาย และช่วยให้มิสซังมั่นคงก็มิได้ละเลยผลประโยชน์ของประเทศฝรั่งเศสในภาคตะวันออกไกล และเมื่อเห็นชาวฮอลันดาและชาวโปรตุเกสทำการค้าได้ผลกำไรทั้งสำนักการค้าของพวกเขาก็เพิ่มจำนวนและเจริญยิ่งๆ ขึ้น ก็ย่อมคิดจะชักนำรัฐบาลของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14  ให้หันมาคำนึงถึงตลาดระบายสินค้าซึ่งประเทศฝรั่งเศสอาจจะพบในภูมิภาคนี้ที่พ่อค้าของเรายังไม่รู้จัก ขณะเดียวกันเมื่อเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม กรุงโคชินจีนและตังเกี๋ยพระสังฆราชทั้งสามก็พยายามเพิ่มพูนบารมีของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสโดยเผยให้ทรงทราบว่าพระองค์ทรงมีพระอานุภาพ และความมั่นคงเพียงใดทั้งจะได้รับผลประโยชน์อันใดจากการมีพระราชไมตรีกับพระองค์ 
 
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1667 พระสังฆราช ลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต ได้แสดงความเห็นในจดหมายฉบับหนึ่งที่เขียนถึงพระสังฆราชปัลลือ ว่าถ้ามีการส่งราชทูตฝรั่งเศสคนหนึ่งมายังราชสำนัก กรุงสยามแล้วก็จะเกิดผลดียิ่งนักพระสังฆราชปัลลือมีความเห็นคล้อยตาม และแต่พอเดินทางถึงกรุงปารีสก็ได้ส่งบันทึกช่วยจำหลายฉบับถึงพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศส เสนาบดีของพระองค์ และกรรมการของบริษัทอินเดียตะวันออกในบันทึกช่วยจำดังกล่าวบอกเมืองต่างๆ ในภาคตะวันอกไกลซึ่งเหมาะสมที่สุดสำหรับตั้งโรงเก็บสินค้าขึ้น ข้อมูลต่างๆ ที่พระสังฆราชแบรต์ มอบให้นั้นมิได้รับความเพิกเฉยความห่วงกังวลที่สำคัญอันดับแรกของ กอลแบรต์ (Colbert) ก็คือพัฒนากองทัพเรือและการค้าฝรั่งเศสมิใช่หรือ?    
 
ในปี ค.ศ. 1669 พระสังฆราชปัลลือได้กราบทูลขอให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงมีพระราชสารและเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงสยาม การถวายพระราชสารและเครื่องราชบรรณาการครั้งนี้ได้เป็นโอกาสให้มีการเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน อย่างโอ่อ่าผ่าเผยเป็นการเฉลิมฉลองการ  ตั้งต้นมีสัมพันธภาพอย่างเป็นทางการ ซึ่งพระสังฆราชทั้งสามหวังผลมากมายทั้งสำหรับประเทศฝรั่งเศส และสำหรับมิสซัง
 
การเข้าเฝ้าอย่างสง่า วันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1673
สำหรับการเข้าเฝ้าซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1673 นั้น ได้มีการเตรียมการเพราะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบแบบแผน ที่ใช้อยู่ในภาคตะวันออกความตกลงเรื่องพิธีเข้าเฝ้านั้นเป็นเรื่องที่ต้องเจรจากันอย่างละเอียดถี่ถ้วน กับเจ้าหน้าที่ราชสำนักของพระเจ้ากรุงสยามพระเจ้ากรุงสยามเองก็ต้องทรงเข้ามาสอดแทรกในเรื่องนี้ด้วย พระองค์เองด้วยว่าในพิธีสง่างามเช่นนี้มีธรรมเนียมว่าราชทูตจะต้องไม่สวมรองเท้า เข้ามากราบลงหน้าจดถึงพื้นต่อเบื้องพระพักตร์พระเจ้าแผ่นดิน 
 
แต่พระสังฆราชทั้งสามพิจารณาเห็นว่า ท่ากราบลงเช่นนี้ไม่คู่ควรกับผู้เป็นพระสังฆราชทั้งเป็นทูตของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส จึงทูลขอสมเด็จพระนารายณ์ผู้ทรงมีน้ำพระทัยดีต่อท่านตลอดมาอนุญาตให้ท่านคงสวมรองเท้าเข้ามานั่งลงเบื้องหน้าพระพักตร์บนพรมที่ปักอย่างสวยงามแล้วให้แสดงคารวะตามแบบชาวยุโรป พระราชสารของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และพระสมณสารของสมเด็จพระสันตะปาปา เคลเมนต์ที่ 10 ซึ่งต้องทูลถวายแด่พระเจ้ากรุงสยามพร้อมกันนั้นได้วางใส่อย่างสง่าบาพานทองในพระราชวังตั้งแต่วันก่อนแล้ว
 
ได้มีผู้เล่าเรื่องการเข้าเฝ้า เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม และเรื่องเล่านี้วารสาร กาแซ็ต เดอ ฟรังส์ (Gazette de France) ได้พิมพ์เผยแพร่ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1676 ต่อไปนี้คือ รายละเอียดน่ารู้ซึ่งวารสารดังกล่าวเล่าเกี่ยวกับการเข้าเฝ้าครั้งนี้
 
วันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นวันกำหนดสำหรับการเข้าเฝ้าได้มีการส่งเรือที่ตกแต่งเรียบร้อย 5 ลำ  มาเวลา 5 โมงเช้า (คือ 5.00 น.) ตามธรรมเนียมของบ้านเมืองคือลำหนึ่งมีฝีพาย 50 คน สำหรับรับพระสังฆราชไปยังพระราชวัง และอีก 4 ลำ สำหรับรับพวกมิชชันนารี ชีเออร เดอ โอแมนิล (Sieur de Haut Mesnil) และชาวฝรั่งเศสอื่นๆ  เวลา 8 โมง (คือ 8.00 น.) ท่านเหล่านี้มาถึงลานพระราชฐานแรกซึ่งมีศาลาหลวง(Sale Royale) แล้งเขานำพระสังฆราชมาที่ศาลาหลวงนี้ อัครมหาเสนาบดี และเจ้าหน้าที่อื่นๆ อยู่ในศาลอีกหลังหนึ่งใกล้ศาลาหลังแรก 
 
ณ ที่นั้น ทั้งสองฝ่ายได้ทำความตกลงกับพิธีบางประการแล้ว กลองกับแตรก็ให้อาณัติสัญญาณเข้าเฝ้า 3 ครั้ง ทันที่เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ 2 นายมาเตือนพระสังฆราชทั้งสอง และพระสังฆราชแห่งเมเตลโลโปลิส ทั้งสามท่านเข้าไปในลานพระราชฐานที่ 2 ซึ่งมีกองทหารถืออาวุธกับช้างศึกหลายเชือก จากนั้นพวกท่านเข้าไปในลานพระราชฐานที่ 3  ซึ่งมีทหาร 7-8 พันคนเรียงเป็นแถวเรียบร้อยทุกคนนอนหมอบหน้าจดพื้นและพนมมือที่สุด ทั้งสามท่านมาถึงลานพระราชฐานที่ 4 ณ ที่นั้น มีช้างเผือกที่เลื่องลือชื่อเชือกหนึ่งกับช้างดำอีกเชือกหนึ่ง ซึ่งพระเจ้ากรุงสยามเคยทรงเป็นประจำช้างทั้งสองเชือกนี้ตกแต่งอย่างสวยงาม และอยู่ในโรงทางอีกด้านหนึ่ง ใต้โรงอื่น มีม้าต้น 4 ตัว ของพระเจ้าแผ่นดิน อานของม้าดังกล่าวประดับประดาด้วยเพชรพลอย และห่างจากนั้นไปอีกเล็กน้อย ยังมีช้างตัวใหญ่โตอย่างเหลือขนาดอีกหลายเชือก ตรงกลางลานพระราชฐานแห่งเดียวกันยังมีศาลา 2 หลัง ซึ่งขุนนางอยู่เต็มไปหมด ตรงข้ามกับประตู เห็นตำหนักด้านหนึ่ง ที่ภายนอกทาสีทอง ที่ตำหนักด้านนี้มีห้องใหญ่อยู่ห้องหนึ่งซึ่งห้ามมิให้คนต่างชาติคนใดเข้าไป จะเข้าไปได้ก็แต่บุคคลที่มีตำแหน่งสูงในพระราชสำนักกรุงสยาม แต่น้อยคน และยังไม่เคยรับราชทูต ณ ทีนี้เลย. 
 
“ถึงกระนั้นก็ดี พระเจ้าแผ่นดินทรงพอพระทัยอนุญาตให้พระสังฆราชทั้งสองเข้าเฝ้า ณ สถานที่นี้ เจ้าหน้าที่สองคน มารับพระสังฆราชทั้งสองและก็นำเข้าไป ท่านพบห้องนั้นมีข้าราชการผู้ใหญ่ของรัฐอยู่เต็มห้อง ต่างซบหน้าถึงพื้นบนพรมเปอร์เซีย พระสังฆราชทั้งสองเดินเป็นคู่เข้าไปตามทางที่เขาจัดไว้ให้ ก็เห็นพระเจ้าแผ่นดินอยู่บนพระราชบัลลังก์สูง สง่างามมาก ทรงสวมมงกุฎ ทรงสวมฉลองพระองค์ที่มีแสงแวววาวด้วยเพชรนิลจินดาทุกชนิด พระสังฆราชเข้าอยู่ในที่ที่เขาจัดไว้ให้ แล้วค้อมตัวลง 3 ครั้ง ถวายบังคมพระเจ้าแผ่นดิน” 
 
“พร้อมกันนั้น อัครมหาเสนาบดีและข้าราชการผู้ใหญ่ในราชสำนักซึ่งบางคนสวมหมวกทรงยอดแหลม และบางคนสวมวงกลมทำด้วยทองและประดับด้วยดอกไม้ข้างบนลุกขึ้นคุกเข่ากราบลง 3 ครั้ง พร้อมกับยกมือขึ้นพนมเหนือศีรษะ และกลับอยู่ในอิริยาบถเดิม ก้มหน้าจดพื้น เว้นแต่อัครมหาเสนาบดี ซึ่งทำหน้าที่เบิกตัวราชทูตเข้าเฝ้า เขากราบทูลพระเจ้าแผ่นดิน 2-3 คำ แล้วขุนนางอีกคนหนึ่งมาอยู่ข้างพระสังฆราช แล้วอ่านพระสมณสารของสมเด็จพระสันตะปาปาและพระราชสารของพระเจ้าแผ่นดินกรุงฝรั่งเศสดังๆ”
 
“พระเจ้าแผ่นดินทรงแสดงความปลายปลื้มปิติและความพึงพอพระทัยทุกประการ ทรงมีพระดำรังกับพระสังฆราชด้วยพระอัธยาศัยไมตรี โดยผ่านทางอัครมหาเสนาบดี ซึ่งอธิบายพระดำรัสแก่พระสังฆราชแห่งเฮลิโอโปลิส และแห่งเบริธ แล้วก้มลงกราบถึงพื้น 3 ครั้ง พร้อมกับยกมือขึ้นเหนือศีรษะทุกครั้งที่พระเจ้าแผ่นดินรับสั่งให้ทูลพระองค์ และทุกครั้งที่เขาอธิบาย คำกราบทูลของพระสังฆราช” 
 
“พระเจ้าแผ่นดินทรงไต่ถามถึงพระสุขภาพของสมเด็จพระสันตะปาปา ของพระเจ้าแผ่นดินกรุงฝรั่งเศส และของบุคคลทุกคนในพระบรมวงศานุวงศ์ และทรงปรารถนาใคร่ทราบข้อความพิเศษบางประการเกี่ยวกับการทำสงคราม ของพระเจ้าแผ่นดินกรุงฝรั่งเศสซึ่งพระองค์ทรงสรรเสริญความมีพระทัยสูง และคุณธรรมสำคัญอื่นๆ ที่มีคนกราบทูลให้พระองค์ทราบ ระหว่างที่ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับพระสังฆราชนั้น ได้มีผู้นำผลไม้ที่เรียกว่า “หมาก” (Arreque) อันห่อด้วยใบซึ่งเรียกว่า “พลู” (Bettile) นำมาในภาชนะทอง ตามพระบัญชาของพระองค์ หมากนั้นเป็นเครื่องหมายแสดงความยกย่องนับถือ ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงมีต่อผู้ที่เฝ้าพระองค์”
 
“เมื่อพระราชทานหมากและพลูแล้ว พระองค์ยังพระราชทานเสื้อม่วงสองตัว กับเสื้อดำหนึ่งตัว ทำด้วยแพรเมืองจีน ซึ่งเขานำใส่มาในหีบใบหนึ่ง คือ เสื้อสองตัวแรกสำหรับพระสังฆราชแห่งเฮลิโอโปลิสและแห่งเบริธ ส่วนเสื้ออีกตัวหนึ่งสำหรับพระสังฆราชแห่งแมเตลโลโปลิส ซึ่งเขายังไม่ทราบว่าเป็นพระสังฆราชแล้ว”
 
“พระสังฆราชรับรองของพระราชาทานนี้พร้อมกับโค้งถวายบังคมพระเจ้าแผ่นดิน 3 ครั้ง แล้วการปฏิสันถารก็จบลงด้วยการทรงรับรองว่าจะประทานทุกสิ่งที่พระราชทานได้ โดยทรงมอบหมายให้อัครมหาเสนาบดีฟังคำขอร้องของท่าน แล้วกราบทูลให้พระองค์ทรงทราบ พระองค์ทรงมีพระราชปฏิสันถารเป็นพิเศษกับพระสังฆราชแห่งเบริธ และทรงขอร้องท่านให้หาวิธีรักษาพระราชไมตรีกับพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ซึ่งท่านเป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้น.”
 
“บัดดลนั้น ภายนอกได้ยินเสียงแตร, กลอง และเครื่องดนตรีอีกบางอย่างซึ่งเล่นดนตรีเป็นเสียงประสานกันราย 7-8 นาที ในระหว่างนั้นพระเจ้าแผ่นดินยังคงประทับอยู่บนพระราชบัลลังก์ในขณะที่ทุกคนในพระราชสำนักก้มกราบกับพื้นอย่างเงียบกริบ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ที่ดึงพระวิสูตรอีก 2 ด้าน ซึ่งอยู่รอบพระราชบัลลังก์แล้วเจ้าหน้าที่ก็นำพานทองที่รอรับพระราชสาร และวางอยู่บนโต๊ะกลมขาเดียว ไปยังพระราชวัง” 
 
“หลังจากนั้น ได้มีการสนทนาอีกครั้งหนึ่งระหว่างพระสังฆราชกับพวกขุนนาง ซึ่งบางคนเป็นขุนนางผู้ใหญ่ และเป็นมิตรกับพระสังฆราชแห่งเมเตลโลโปลิส เข้าได้ถามหลายเรื่องเกี่ยวกับประเทศฝรั่งเศส เมื่อสิ้นสุดการสนทนาแล้ว พระสังฆราชได้กลับไปทางเดิม และโดยวิธีเดียวกับขามาพร้อมกับเชื่อแน่ ตามที่มีเหตุผลจะเชื่อแน่เช่นนั้น ว่าพระเจ้ากรุงสยามทรงนิยมชมชอบพระราชสารที่ได้รับ และทรงนิยมยกย่องบุคคลที่มีเกียรติสูง ซึ่งได้ส่งพระราชสารนั้นมาถวาย...” 
 
ความมุ่งหมายทางการเมืองของสมเด็จพระนารายณ์
พระเจ้ากรุงสยาม ทรงสำแดงพระทัยโอบอ้อมอารีอย่างดียิ่งต่อพระสังฆราชทั้งสาม พระองค์ทรงพระดำรัสกับพระสังฆราช ลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต ก่อนจะเลิกการเข้าเฝ้า ว่า “ท่านเป็นผู้ริเริ่มความสัมพันธ์อันน่ายินดีนี้ ก็เป็นหน้าที่ของท่านที่จะหาวิธีทำนุบำรุงความสัมพันธ์นั้นไว้” พระสังฆราชแห่งเบริธมิได้ละเลยที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ อันที่จริง พระเจ้ากรุงสยามเองก็ดูเหมือนทรงแสดงความกระตือรือร้นอย่างแท้จริง ที่จะทะนุบำรุงความสัมพันธ์อันดีนี้ และทรงหาโอกาสที่จะแสดงความโปรดปรานที่ทรงมีต่อพระสังฆราชชาวฝรั่งเศส 
 
หลังการเข้าเฝ้าอย่างสง่าเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม แล้ว ยังมีการเข้าเฝ้าอีกสองครั้ง ซึ่งในการเข้าเฝ้าดังกล่าว พระเจ้าแผ่นดินได้ทรงถามรายละเอียดมากมายเกี่ยวกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14,  พระบรมวงศานุวงศ์, อานุภาพแห่งกองทัพของพระองค์,
 
สงครามซึ่งทรงทำกับประเทศฮอลันดา และในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ต่อมาอีกเล็กน้อยพระองค์ยังได้ทรงสำแดงพระทัยกรุณาต่อหน้าธารกำนัล คือ 
 
“ในเดือนธันวาคม ซึ่งมีวันเดียวที่พระมหากษัตริย์ไทยปรากฏองค์ให้ประชาชนเห็นนั้น ขณะที่สมเด็จพระนารายณ์ประพาสอย่างสง่า ในลำแม่น้ำเจ้าพระยาพระองค์ได้ทรงเปลี่ยนเส้นทางปรกติ เสด็จไปข้างหน้าที่ดินที่ได้พระราชทานแก่พวกมิชชันนารีทรงพระดำริเห็นว่าที่ดินนั้นเล็กเกินไป พระองค์ยังได้ทรงรื้อฟื้นคำสัญญาที่จะสั่งให้สร้างโบสถ์สวยงามหลังหนึ่งใกล้สามเณราลัย ในขณะเดียวกัน พระองค์ทรงแสดงความโปรดปรานเป็นส่วนพระองค์ต่อพระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต ผู้อาพาธลง โดยทรงส่งแพทย์หลวง 2 นายไปรักษาพระสังฆราชทั้งสามหวังจะชักนำพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงสำแดงน้ำพระทัยกว้าง และทรงสนพระทัยต่อมิสซังของท่านถึงเพียงนี้ ให้มาถือศาสนาคาทอลิก, กราบทูลชักชวนในโอกาสเหมาะหลายครั้ง ทั้งกราบทูลเล่าการกลับพระทัยของพระจักรพรรดิคอนสแตนติน หลายครั้ง แต่พระเจ้ากรุงสยามทรงบ่ายเบี่ยงทุกครั้งที่จะสำแดงเจตจำนงจะถือพระคริสต์ศาสนา ไม่ต้องสงสัยเลยว่า พระองค์ทรงเป็นผู้ชอบเคลือบแคลงสงสัยในเรื่องศาสนา แต่เนื่องจากทรงหวั่นเกรงอำนาจของชาวฮอลันดาอยู่บ้างจึงทรงพระดำริจะทำประโยชน์ให้แก่ประเทศพระองค์เป็นข้อใหญ่ โดยทรงมีสัมพันธไมตรีกับพระมหากษัตริย์ชาวตะวันตกสักพระองค์หนึ่ง ซึ่งสามารถจะต่อกรกับมหาอำนาจนั้นได้ 
 
อันที่จริง สมเด็จพระนารายณ์ทรงประทับพระทัยในพระจริยธรรมอันสูงของพระศาสนาคาทอลิก ซึ่งพระองค์เคยขอให้บรรยายข้อสัจธรรมของศาสนานี้มาแล้ว พระองค์จึงไม่ทรงขัดขวางความพยายามเผยแพร่ศาสนาของมิชชันนารี   และก็ไม่ทรงถือว่าเป็นเรื่องสลักสำคัญนักตั้งแต่ในยุคนั้นแล้ว พระองค์ทรงพระดำริจะส่งราชทูตไปประเทศฝรั่งเศส และทรงปรารถนาให้พระสังฆราชลังแบรต์ ติดตามคณะทูตนี้ไปด้วย แต่พระสังฆราชลังแบรต์นั้น มุ่งจะถือหน้าที่ธรรมทูตเป็นข้อใหญ่จึงพยายามทุกวิถีทางที่จะบ่ายเบี่ยงไม่รับงานนี้ ที่จริง ขณะนั้นประเทศฝรั่งเศสกำลังทำสงครามกับฮอลันดา ท่านก็ได้ถือเป็นข้ออ้างที่จะชะงักการส่งราชทูตไทยไปไว้ก่อน 
 
ต่อมาในปี ค.ศ. 1686 จึงได้มีการต้อนรับราชทูตไทยอย่างสง่าผ่าเผยที่พระราชวัง แวร์ซาย เราท่านก็ทราบว่า การต้อนรับครั้งนี้ทำให้เกิดความตื่นตาตื่นใจในราชสำนักของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14  มาสักเพียงใด
 
พระสังฆราชลังแบรต์ เดินทางไปโคชินจีนอีกครั้งหนึ่ง
หลังจากได้ใช้ความโปรดปรานของพระเจ้ากรุงสยาม ให้เกิดประโยชน์เพื่ออนาคตของมิสซัง ทั้งเพื่อเริ่มสัมพันธไมตรีทางการทูตและการค้ากับประเทศฝรั่งเศสแล้ว พระสังฆราช ปัลลือ กับพระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต ก็รับจะไปยังมิสซังของท่าน เพื่อกระตุ้นมิชชันนารีที่ทำงานได้ผลอยู่แล้วให้พยายามทำงานมากยิ่งขึ้น
 
พระสังฆราชปัลลือ เดินทางจากกรุงสยามไปประเทศตังเกี๋ยในเดือน สิงหาคม ค.ศ.1674 ส่วนพระสังฆราชลังแบรต์นั้น ขออนุญาตสมเด็จพระนารายณ์เดินทางไปประเทศโคชินจีนได้ด้วยความยากลำบากอยู่บ้าง คือ สมเด็จพระนารายณ์ไม่ทรงเข้าพระทัยดีว่า ท่านเดินทางไปทำไม 
 
และทรงกริ่งเกรงว่าพระสังฆราชจะนำความที่อาจเป็นผลร้ายต่อประเทศของพระองค์ ไปทูลให้พระเจ้าแผ่นดินโคชินจีนทราบ พระองค์พระราชทานหนังสือเดินทางที่ขอก็ต่อเมื่อพระสังฆราชได้เข้าเฝ้าและทูลอธิบายให้ทราบถึงจุดหมายของการเดินทางไปเยี่ยมสัตบุรุษในโคชินจีน และพระองค์ได้ทรงคาดคั้นให้พระสังฆราชสัญญาจะกลับมากรุงสยามก่อนเวลาหนึ่งปี
 
พระสังฆราชปัลลือ เดินทางไปเมืองฟายโฟ ในตอนปลายเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1676 ท่านพบมิสซังต่างๆ ในโคชอนจีนในสภาพที่เจริญยิ่งกว่าเมื่อครั้งมาเยี่ยมในปี ค.ศ. 1671 เป็นอันมาก มีผู้รับศัลล้างบาปมากมาย และบรรดาคริสตชนได้รับการผ่อนปรนให้ถือศาสนาของตนได้ โดยไม่ต้องกลัวจะถูกเบียดเบียนรังแกอีกพระสังฆราชลังแบรต์ขออนุญาตตระวนไปทั่วประเทศโคชินจีนได้อย่างเสรีโดยง่าย ท่านได้รับการต้อนรับอย่างกระตือรือร้นจากกลุ่มคริสตชนทุกแห่งที่ไปเยี่ยม การต้อนรับด้วยความกระตือรือร้นเช่นนี้เป็นที่ชื่นชอบยิ่งนักแก่หัวใจของผู้แพร่ธรรมอย่างท่าน 
 
ที่เมืองเว้ ท่านได้ประกอบพิธีศีลกำลังให้แก่คริสตังใหม่ 10,000 คน ขณะที่ตระเวนไปทั่วจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือนั้น ประชาชนบางแห่งที่เป็นคาทอลิกทั้งหมดทั้งหมู่บ้านพากันวิ่งกรูมาหาท่าน ท่านก็รับด้วยความอารีและตักเตือนให้กำลังใจ ท่านเขียนถึง พระสังฆราชปัลลือ ว่า “การเดินทางของฉันไปประเทศโคชินจีนครั้งนี้อิ่มเพียบไปด้วยพระพรของพระเป็นเจ้า” มิชชันนารีทั้งหลายต่างพูดเป็นเสียงเดียวในรายงานของเขาว่า ยุคนี้เป็นยุคที่เจริญรุ่งเรืองมากที่สุดยุคหนึ่งในประวัติของบรรดามิสซังคาทอลิกในโคชินจีน 
 
พระคริสต์ศาสนาเจริญรุ่งเรืองในประเทศโคชินจีน
ในระหว่างที่ พระสังฆราชลังแบรต์ ตระเวนเยี่ยมสัตบุรุษในโคชินจีนนั้นได้มีพฤติการณ์ 2 ประการ ซึ่งนับได้ว่าเป็นอัศจรรย์ และมีส่วนทำให้มีคนกลับใจมาก คุณพ่อวาเซต์ ซึ่งเป็นสักขีพยานรู้เห็นพฤติการณ์ประการแรก เล่าเรื่องนี้ในบันทึกความทรงจำของท่านด้วยภาษาสำนวนเป็นกันเองและมีชีวิตจิตใจ อันเป็นลักษณะข้อเขียนของท่าน ได้มีผู้นำทารกอายุ 10 เดือน ซึ่งไม่มีอาการแสดงว่ายังมีชีวิตอยู่ มาหาคุณพ่อ พ่อแม่ของทารกอ้อนวอนคุณพ่อช่วยพูดกับพระสังฆราช ขอให้รักษาลูกให้หายป่วย คุณพ่อวาเซต์ เล่าว่า :
 
“ข้าพเจ้าพิจารณาดูเด็กใกล้ๆ ก็เห็นว่าตายแล้ว เพราะชีพจรไม่เต้น หัวใจก็ไม่เต้น หน้าซีดเผือด ไม่เห็นมีอาการแสดงว่ายังมีชีวิตอยู่ ข้าพเจ้าพูดกับพ่อแม่เด็กว่า “จะให้ทำอย่างไร? เด็กตายแล้ว อย่ากวนพระสังฆราชของเรามากกว่านี้เลย ท่านมีธุระ” คนน่าสงสารทั้งสองกราบลงที่เท้าข้าพเจ้า รบเร้าอ้อนวอนขอให้ได้รับความปลุกปลอบใจที่เขาขอนั้น 
 
“ความขมขื่นในใจของเขาทำให้ข้าพเจ้าอ่อนลง ข้าพเจ้าบอกเขาให้คอย แล้วเข้าไปหาพระสังฆราช บอกให้ท่านทราบว่าเป็นเรื่องอะไรตามตรงทุกอย่าง ท่านย้อนถามว่า “คุณพ่อเชื่อว่าเด็กคนนั้นตายแล้วอย่างนั้นหรือ?” ข้าพเจ้าตอบว่า “ไม่ใช่ข้าพเจ้าคนเดียวที่คิดเช่นนี้ แต่ทุกคนที่อยู่เวลาข้าพเจ้าพิจารณาดูเด็ก ก็คิดอย่างเดียวกับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าอยากไล่พ่อแม่ที่ร้องห่มร้องไห้กลับไป แต่เขาไม่ยอมกลับ ก่อนที่ท่านจะให้พรเขาและโดยเฉพาะให้พรแก่เด็ก”
 
“พระสังฆราชลังแบรต์ลุกขึ้นทันที แล้วทุกคนก็ตามท่านเข้าไปในโบสถ์น้อย ท่านพูดกับข้าพเจ้าด้วยน้ำเสียงที่ไม่เคยได้ยินเช่นนี้เลย ว่า “ไปเอาเด็กคนนั้นมาให้เรา” ข้าพเจ้ารับเด็กมาจากวงแขนของแม่ ส่งให้พระสังฆราช พระสังฆราชก็รับไปอยู่ในวงแขนของท่าน ท่านนำเด็กไปวางให้นอนลงบนพระแท่น คุกเข่าลงพร้อมกับก้มศีรษะลงบนร่างน้อยๆ นั้น ข้าพเจ้าอยู่ชิดพระสังฆราชตลอดเวลา 7-8 นาที ได้ยินท่านถอนใจใหญ่ 2-3 คำนี้ว่า
 
“ข้าพเจ้าขอขอบพระคุณพระองค์ พระเจ้าข้า” พร้อมกันนั้นท่านอุ้มเด็กส่งให้ข้าพเจ้า พูดว่า “เอาเด็กคนนี้ส่งให้แม่ของเขา” ข้าพเจ้าแปลกใจเห็นทารกคนนั้นมองดูข้าพเจ้าด้วยดวงตาใสแจ๋วปากยิ้มๆ และหน้าตามีสีสันผิดปรกติธรรมดาในถ้องถิ่นนี้
 
“พอข้าพเจ้าส่งให้แม่ เด็กคนนั้นก็ดูดนมแม่ทันทีอย่างที่เคยทุกวัน พระสังฆราชกลับเข้าบ้านทันที พร้อมกับเจ้าหน้าที่อื่นๆ สั่งข้าพเจ้าให้บอกคนเหล่านั้นกลับไป พร้อมทั้งห้ามมิให้เขาพูดแพร่งพรายแต่เจ้าบ้านผู้รับรองเราไม่ยอม อยากเลี้ยงอาหารคนเหล่านั้นด้วย พวกเราอยากปิดบังเรื่องมหัศจรรย์ แต่ใครๆ ต่างขมีขมันอยากเชิญพ่อแม่ของเด็กและเด็กไปที่บ้านของตน...”  อีกครั้งหนึ่ง พระสังฆราชลังแบรต์ ได้ช่วยสตรีคนหนึ่งให้พ้นจากผีที่สิงสู่โดยส่งกางเขนห้อยคอของท่านไปให้เธอ
 
“เนื่องจากผู้สอนคำสอนที่ท่านส่งไป กลับมาขอท่านให้ไปเองหรือเรียกคนถูกผีสิงให้มาพบท่าน ท่านปฏิเสธไม่ยอมไป พูดว่า “ไม่เป็นการถูกต้อง ที่ข้ารับใช้ของพระเยซูคริสตเจ้าจะรับคำสั่งของผีพวกเราต่างหากต้องสั่งผีได้ ผีมันจะออก โดยเราไม่ต้องไปหามันหรือที่ถูกกว่า   เธอจงไปเถิด ผีมันออกไปแล้ว สตรีคนนั้นหลุดพ้นจากมันแล้ว” ความจริงในเวลานั้นเอง สตรีคนนั้น ซึ่งอยู่อีกบ้านหนึ่งไกลมาก บอกให้ใครรู้ว่า ผีออกจากเธอแล้ว และนับแต่นั้นเธออยู่อย่างสงบสุขทุกประการ”
 
เมื่อเยี่ยมกลุ่มสัตบุรุษคริสตังที่สำคัญๆ ของมิสซังของท่าน ให้กำลังมิชชันนารีในปกครอง และปลุกใจให้ประกาศศาสนาอย่างเข้มแข็งยิ่งขึ้นแล้ว พระสังฆราชลังแบรต์รีบจะกลับกรุงสยาม ประการหนึ่งก็เพื่อถือตามที่ได้สัญญาไว้กับสมเด็จพระนารายณ์ อีกประการหนึ่งก็เพื่อไปช่วยพระสังฆราชลาโน ที่กำลังเผชิญกับความยุ่งยากใหม่ๆ ที่ชาวโปรตุเกสก่อขึ้น ข้างฝ่ายพระสังฆราชปัลลือ เมื่อทราบว่าชาวโปรตุเกสตั้งตัวเป็นศัตรู ต่อไปเช่นนี้ก็เดินทางไปยุโรปอีกครั้งหนึ่ง เพื่อไปชี้แจงเรื่องต่างๆ แก่พระสันตะสำนักเป็นครั้งที่สามแทนมิสซังต่างๆ ที่มิชชันนารีฝรั่งเศสตั้งขึ้น แต่งานที่ประมุขมิสซังกระทำได้ 15 ปีมาแล้ว เป็นหลักฐานดีที่สุดแล้ว พระสังฆราชปัลลือได้ขอทางกรุงโรมสั่งการต่างๆ ที่ให้คุณเกือบเกินกว่าที่มุ่งหวังไว้เสียอีก มิใช่แต่กรุงสยาม ซึ่งหมายรวมถึงค่ายของชาวโปรตุเกสด้วย อยู่ในอำนาจปกครองของประมุขมิสซังเท่านั้น แต่นักบวชทุกชาติที่อยู่ในเขตมิสซังได้รับคำสั่งให้นอบน้อมเชื่อฟังด้วย อันที่จริง คำสั่งนี้ได้รับการต่อต้านอย่างหนัก แม้ในประเทศฝรั่งเศส จนมิได้มีผลเท่าไรนัก การจัดตั้งมิสซังต่างๆ เสียใหม่มีความหมายในทางปฏิบัติมากยิ่งขึ้น
 
พระสันตะสำนักจัดตั้งมิสซังต่างๆ เสียใหม่
“สมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อออกกฤษฎีกาหลายฉบับแบ่งมิสซังต่างๆ ทางภาคตะวันออกไกลเป็น 6 มิสซังใหญ่ หรือเทียบสังฆมณฑลใหญ่ (Vicariats) และตั้งประมุขให้แก่แต่ละมิสซัง คือตั้ง พระสังฆราชเกรโกรี โลเปส (Lopez) ตอมินิกัญชาวจีน สังฆราชแห่งบาซีเล ปกครองภาคเหนือประเทศจีนซึ่งประกอบด้วย 6 มณฑล ; พระสังฆราชปัลลือปกครองภาคใต้ประเทศจีน ซึ่งประกอบด้วย 9 มณฑล กับเกาะต่างๆ ทั้งหมด ; ตั้งพระสังฆราชเดดิเอร์ และเดอ บรูส์ ปกครองอาณาจักรตังเกี๋ยและประเทศลาว ; ตั้งพระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต ปกครองอาณาจักรโคชินจีน, จัมปา (Ciampa) และกรุงสยามและตั้งพระสังฆราชลาโน ปกครองประเทศญี่ปุ่น และอาณาจักต่างๆ ใกล้เคียง
 
สมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อตั้งผู้บริหารทั่วไป (Adimistrateur general) 2 ท่านคือ พระสังฆราชปัลลือ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลทุกมิสซังในประเทศจีน และพระมีสังฆราชแห่ง อารุโคลี : พระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต ได้รับมอบหมายให้ดูแลประเทศอื่นๆ และมีพระสังฆราชมาโอต์ (Mahot) เป็นพระสังฆราชผู้ช่วย “การตั้ง 6 มิสซังใหญ่นี้ขึ้น กับการแต่งตั้งพระสังฆราช 8 องค์นี้ ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญอย่างแท้จริงสำหรับบรรดาศาสนจักรในภาคตะวันออกไกล ส่วนการเลือกตั้งผู้บริหารทั่วไป 2 ท่านที่ขึ้นกับสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อโดยตรงนั้น ทำให้ความผูกพันของผู้บริหารทั่วไปกับกรุงโรมแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น, ทำให้การปกครองของท่านมีความอันหนึ่งเดียวกัน และเป็นการเตรียมตั้งพระฐานานุกรมขึ้น
 
“ขณะนั้นอยู่ห่างไกลจากสมัยที่พระสังฆราชปัลลือ และพระสังฆราชลังแบรต์จะทำการสำเร็จก็ต่อเมื่อได้วิ่งเต้นแล้ววิ่งเต้นอีก เพื่อให้แต่งตั้งประมุขมิสซัง 3 ท่าน: ขณะนั้นอยู่ห่างไกลจากสมัยที่คณะมิสซังต่างประเทศจำต้องต่อสู้ เพื่อให้รับพระสังฆราชของตน 2 องค์ในภาคตะวันออกไกล และเพื่อช่วยพระสงฆ์ของตนให้หลุดพ้นจากแอกของชาวโปรตุเกส” 
 
“กิจการที่คณะมิสซังต่างประเทศได้เริ่มส่งเสริมเมื่อ 20 ปีก่อนนั้น บัดนี้ก้าวหน้าขยายตัว และเข้มแข็งยิ่งขึ้น แม้จะถูกจู่โจมครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นเหมือนต้นไม้กล้าแข็งที่โตขึ้น แม้จะถูกพายุกระหน่ำพัด และฝังรากหยั่งลึกลงไปยิ่งขึ้น ทุกครั้งที่ลมพายุคุกคามจะพัดพายกเอาไป”
 
ปีหลังๆ ก่อนจะถึงแก่มรณภาพ
ขณะที่พระสังฆราชปัลลือ ขอให้ทำการแก้ไขให้ดีขึ้นดังนี้ ในกรุงสยามพระสังฆราชลังแบรต์ ต้องสู้รบด้วยความมั่นคงไม่หวั่นไหวด้วยว่าท่านเป็นผู้ถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ ในเมื่อท่านเป็นผู้แจ้งให้กรุงโรมทราบถึงเรื่องราวต่างๆ ที่นักบวชชาวโปรตุเกสใช้อำนาจนอกลู่นอกทาง และเป็นผู้ลงอาชญา อินแตรุดิกโต (intedictum โทษห้ามมิให้ประกอบพิธีและรับศีลศักดิ์สิทธิ์) แต่ผู้ที่อนุญาตให้ทำกิจกรรม ที่กฎวินัยของพระศาสนจักรประณามความมั่งคั่งของพระสันตะสำนัก ที่วินิจฉัยให้พระสังฆราชชาวฝรั่งเศสเป็นฝ่ายถูกอย่างไม่เปลี่ยนแปลงนั้น ทำให้การต่อต้านค่อยอ่อนตัวลงทีละน้อย ที่สุด นักพรตดอมินิกัน แล้วต่อมานักพรตเยสุอิต ได้ยอมอ่อนน้อมต่ออำนาจ ที่พวกเขาไม่สามารถจะต่อต้าน โดยแสดงให้เห็นภายนอกว่ามีความสุจริตใจแม้แต่น้อย 
 
พระสังฆราชลังแบรต์ถึงแก่มรณภาพ
แต่พระสังฆราชลังแบรต์ ยังมิได้ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารทั่วไป ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาได้ทรงมอบหมายให้แก่ท่าน โดยพระกฤษฎีกาลงวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1678 และ 1 เมษายน ค.ศ. 1680 เลย สุขภาพของท่านซึ่งคลอนแคลนแต่นานมาแล้ว กำลังเสื่อมโทรมลง การดำรงชีวิตของท่านเป็นการรับทนทรมานอันยาวนาน ความเจ็บปวดทำให้อารมณ์ของท่านขุ่นมัว ท่านชอบอยู่คนเดียว ยอมพบแต่ผู้ที่เคยร่วมงานกันมาอย่างซื่อสัตย์ ท่านจับไข้ไม่สร่างเป็นเวลา 6 สัปดาห์ ขณะที่โรคกำเริบ ทำให้เจ็บปวดเป็นระยะถี่ขึ้นนั้น ท่านจะสวดแต่เพียงว่า “Auge dolorem, auge patientiam”  (โปรดให้ข้าพเจ้าเจ็บยิ่งขึ้นแต่โปรดให้ข้าพเจ้าอดทนยิ่งขึ้นด้วยเถิด พระเจ้าข้า)    
 
ในที่สุด พระเป็นเจ้าทรงเวทนาความทุกข์ทรมานของท่าน และเรียกท่านกลับไปเฝ้าพระองค์ วันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1679 เวลาสี่โมงเช้า (4.00 น.) ท่านมีอายุได้ 55 ปี 
 
มิสซังทั้งหลาย ซึ่งมิชชันนารีฝรั่งเศสตั้งขึ้นในภาคตะวันออกไกลนั้น เมื่อขาดพระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต ก็เท่ากับขาดผู้บุกเบิกที่แกล้วกล้าที่สุดไปคนหนึ่ง ขาดนักจัดระเบียบฝีมือเยี่ยม ที่รู้จักตั้งมิสซังเหล่านั้นขึ้นบนรากฐานอันมั่นคงในราชฐานอันมั่นคงในราชอาณาจักรสยามโคชินจีน และตังเกี๋ย เราท่านย่อมเข้าใจดีกว่า เมื่อทราบข่าวมรณภาพของพระสังฆราช ลังแบรต์ มิชชันนารีก็ดี คาทอลิกก็ดี และแม้แต่บรรดาผู้ที่สนใจในการพัฒนามิสซังซึ่งมิชชันนารี ตั้งขึ้นในฐานะอะไรก็ตาม ต่างพากันรู้สึกหวั่นไหวสะเทือนใจสักเพียงใดบ่อยครั้งพระสังฆราชลังแบรต์ ได้รับการต่อต้านจากผู้ที่ท่านขัดความคิดเห็นด้วยความมั่นคงและอดทน แต่บุคลิกภาพของท่านทำให้บุคคลทั่วไปเคารพยำเกรง 
 
ด้วยเหตุนี้ ทั้งชาวคาทอลิก, ชาวโปรแตสแตนต์  และคนต่างศาสนาต่างหลั่งไหลพากันมารอบหลุมฝังศพของท่าน เพื่อแสดงคารวะครั้งสุดท้าย พระเจ้ากรุงสยามผู้ทรงนิยมยกย่องท่านเป็นพิเศษ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ข้าราชการผู้ใหญ่หลายท่านมาเป็นเกียรติในพิธีปลงศพ สำหรับคริสตชนในประเทศโคชินจีนและตังเกี๋ยนั้น ประสงค์จะแสดงความเศร้าสลดให้ปรากฏภายนอกจึงพร้อมใจกันอดอาหารเป็นเวลาเก้าวัน
 
คำสรรเสริญของสมเด็จพระสันตะปาปา และของพระสังฆราชปัลลือ 
พระสมณสารสดุดีฉบับหนึ่ง ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปา อินโนเซนต์ที่ 11 ทรงมีเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1679  ถึงพระสังฆราชลังแบรต์ ซึ่งพระองค์ยังไม่ทราบว่าถึงแก่มรณภาพแล้วนั้น ถ้าจะพูดตามสำนวนของคุณพ่อโลเน ก็เป็นแต่ “พวงหรีด ซึ่งนำมาวางบนหลุมของผู้วายชนม์ผู้เรืองนามเท่านั้น” ข้อความในพระสมณสารดังกล่าวมีดังต่อไปนี้: 
 
“จดหมายหลายฉบับ ซึ่งท่านเขียนจากกรุงสยามถึงเรานั้น เป็นที่ชื่นชอบของเรามากเท่ากับที่จดหมายดังกล่าวใช้เวลานานกว่าจะมาถึง ถ้าเวลาที่จดหมายเดินทางมาจากที่ไกลเช่นนี้จะเรียกว่านานได้ นอกจากความนับถือที่ท่านแสดงต่อตัวเรา มิใช่เพราะเรามีคุณงามความดีส่วนตัว แต่เพราะพระญาณสอดส่องของพระเป็นเจ้าทรงจัดให้เรานั่งบนธรรมาสน์นี้ เพื่อปกครองพระศาสนจักรเรายังรู้สึกมีความชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง เมื่อทราบว่า ในสมัยของเรานี้ทุ่งนาของพระเป็นเจ้าเกี่ยวกับได้ผลอุดมในภูมิภาคห่างไกลเหล่านี้”
 
“โดยที่ตระหนักว่า ท่านทำงานอย่างร้อนรนเพื่อกิจการอันประเสริฐนี้ และท่านมีใจเร่าร้อนในการเผยแพร่พระศาสนาคาทอลิก เราขอคารวะท่านในองค์พระเป็นเจ้าด้วยความรู้สึกลึกซึ้ง แห่งความรักฉันบิดาของเรา และขอท่านจงตระหนักว่า ความช่วยเหลือของเราจะสนับสนุนการที่พยายามอยู่เสมอ ที่จะบรรลุถึงเป้าหมายอันสูงส่งของท่าน และที่จะได้รับบำเหน็จที่เตรียมไว้ให้แก่ท่านในสวรรค์”
 
“ท่านก็ทราบดีว่าบรรดาพระคาร์ดินัล ในกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อได้ออกคำสั่งอะไร บ้าง คำสั่งเหล่านั้น เราบัญชาให้แจ้งแก่ภราดรที่เคารพของเรา คือพระสังฆราชแห่งเฮลิโอโปลิสแล้ว เราขอพระเป็นเจ้าประทานพระคุณต่างๆ แห่งพระหรรษทานของพระองค์แก่ท่าน และขอให้พรในตำแหน่งพระสันตะปาปาแก่ท่านด้วยความรัก”
 
จดหมายและรายงานต่างๆ ที่ประมุขมิสซัง และมิชชันนารีทั้งหลายส่งไปยังสำนักกลางของคณะมิสซังต่างประเทศที่กรุงปารีส เมื่อครั้งพระคุณเจ้า ลังแบรต์ ถึงแก่มรณภาพนั้น ล้วนแสดงความอาลัยอาวรณ์ และความนิยมชมชอบต่อพระสังฆราชผู้ทำงานไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย 
 
ในจำนวนจดหมายมากมายที่กล่าวสรรเสริญพระสังฆราชลังแบรต์นั้น คุณพ่อโลเน   ได้คัดมาสองฉบับ ที่มีข้อความดีเด่นเป็นพิเศษ และเราขอนำมาลงในที่นี้ด้วย ฉบับหนึ่งมาจากพระสังฆราชปัลลือ นั้น มีอุปนิสัยต่างกับพระสังฆราชลังแบรต์ เป็นอันมาก และเมื่อเป็นเช่นนั้น บางครั้งก็มีความเห็นต่างกัน เมื่อแรกพิจารณาปัญหาสำคัญที่ต้องขบด้วยกันแต่บ่อยครั้ง ท่านรับว่าพระสังฆราชลังแบรต์ มีความเห็นถูกต้อง และหลายๆ ครั้งท่านก็คล้อยตามความเห็นของพระสังฆราชลังแบรต์
 
คำสรรเสริญพระสังฆราชลังแบรต์ในจดหมายที่เรานำมาลงนี้ ต้องถือเป็นคำสรรเสริญของบุคคลที่ได้เฝ้าสังเกตท่านมาช้านาน และลักษณะอุปนิสัยที่พระสังฆราชปัลลือ บรรยาย ก็เป็นลักษณะอุปนิสัยที่เราได้เห็นก่อตัวและปรากฏเด่นชัดในชีวิตอันมีผลงานมากมายของพระสังฆราชลังแบรต์ ต่อไปนี้เป็นจดหมายของพระสังฆราชปัลลือ :
 
“บุคคลใดก็ตาม นอกจากพระสังฆราช เดอ เบริธ แล้ว ก็คงต้องยอมแพ้สู้งานไม่ไหว แต่ท่านรู้จักถนอมใจคน  และจัดการให้ทุกเรื่องสงบลง โดยใช้ความอ่อนโยน ความพากเพียร และความอดทน โดนเป็นตัวอย่างดำรงชีวิตอย่างศักดิ์สิทธิ์ เสมอต้นเสมอปลายไม่หวั่นไหวและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง โดยภาวนาอ้อนวอนอยู่เคียงข้างพระเยซูเจ้า ดังนั้น 
 
ในที่สุด ท่านก็นำคนที่แยกตัวไปกลับมา มีอิทธิพลเหนือเขา และให้เขาทำอะไรได้ตามใจชอบ ทุกคนที่รู้จักพระคุณเจ้าเดอ เบริธ ย่อมรู้ว่า คงเป็นการยากที่จะพบบุคคลที่เหมาะกว่าท่านสำหรับงานมอบหมายที่ท่านทำนั้น “ถัดจากพระเป็นเจ้า ท่านเป็นผู้ที่ดำเนินการให้มีสถาบันต่างๆ ขึ้นในกรุงสยาม, ในโคชินจีนและตังเกี๋ย ซึ่งต้องฟันฝ่าอุปสรรคเหลือหลาย และต้องสู้กับพายุร้ายแรง ท่านได้ป้องกันสองมิสซังสุดท้ายให้พ้นจากสังฆเภท (schism) ที่ประกาศตัวอย่างเปิดเผย สองมิสซังนี้ยังอยู่มั่นคงจนบัดนี้ เข้มแข็งมากและมีสัตบุรุษเพิ่มขึ้นสูง แม้คู่แข่งของเราจะอิจฉาและพยายามขัดขวางอยู่ตลอดเวลา “พระเป็นเจ้าโปรดให้ท่านมีจิตใจกล้าหาญ ไม่รู้ว่ายอมจำนนแก่กาลเวลา ในเมื่อจำเป็น แล้วสละบางสิ่งเพื่อแลกกับสิ่งสลักสำคัญ”
 
“ท่านเป็นคนน่าสรรเสริญ โดยเฉพาะในเรื่องวิธีการแยบยล ซึ่งท่านมีมิรู้จบเลย ที่สุด ท่านไม่ริเริ่มทำงานอะไรใหญ่โตที่ท่านไม่ทำจนลุล่วงสำเร็จ ปรปักษ์ของท่านคือพวกโปรตุเกส, พวกฮอลันดา, พวกอังกฤษ, บุคคลสำคัญอื่นอีกหลายคน, พวกแขกมุสลิม คนจีนและชาวสยาม ซึ่งท่านเอาชนะและบังคับให้จำนนโดยไม่ทำให้เขาเคืองแค้น และโดยไม่ออกจากห้อง เว้นแต่นานๆ ครั้งหนึ่ง และดูเหมือนไม่เคลื่อนไหวตัวก็ว่าได้” 
 
ส่วนคุณพ่อเดอ กูรโตแลง (de Courtaulin) ซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่ขยันขันแข็งมากที่สุดองค์หนึ่งในมิสซังเขียนไว้ว่า :
 
“พระสังฆราช เดอ เบริธ เป็นนกอินทรีที่บินเหนือเมฆ ท่านเจริญศีลภาวนา และอยู่โดดเดี่ยวตลอดเวลา แต่ถึงกระนั้นท่านตื่นเฝ้าอยู่อย่างน่าพิศวง ไม่ละโอกาสที่จะทำประโยชน์ และสร้างความก้าวหน้าให้แก่มิชชันนารีของท่าน เท่าที่จะทำได้ ท่านเคยมีเรื่องร้ายๆ และยุ่งยากลำบากกับชาวโปรตุเกส, ชาวมุสลิม และคนจีนแต่ท่านมีวิธีทำให้คนเหล่านี้ยอมจำนน จนต้องปล่อยให้ท่านอยู่อย่างสงบ ไม่ทำให้การทำงานแพร่ธรรมของท่านหยุดชะงักลง และท่านทำเช่นนี้ได้ โดยไม่ทำให้คนใดตั้งตัวเป็นศัตรู
 
คนในยุคต่อๆ มาเห็นด้วยกับคำสรรเสริญเหล่านี้ของคนร่วมสมัยกับพระสังฆราชลังแบรต์ โดยเฉพาะคณะมิสซังต่างประเทศนั้น ยังคงจดจำคิดถึงงานของประมุขมิสซังกลุ่มแรกด้วยความเคารพศรัทธา เพราะท่านเหล่านี้เป็นผู้ทำให้คณะมีอายุยืนยาวมั่นคงด้วยความวิริยะอุตสาหะเป็นเวลาถึง 30 ปี 
 
ในฐานะเป็นคาทอลิก ถ้าเราจะนึกถามตนเองว่า งานของผู้ตั้งมิสซังเหล่านี้ในภาคตะวันออกไกลได้เกิดผลอะไรบ้าง ก็เพียงแต่พลิกดูรายงานประวัติของคณะมิสซังต่างประเทศ ถนน ดือ บัก ปารีส ก็จะได้คำตอบอันน่าอิ่มเอิบใจที่สุด : เป็นเวลากว่า 250 ปีมาแล้ว คณะนักบวชนี้บันดาลให้สิ่งที่ผู้ตั้งหวังไว้ทุกอย่างสำเร็จเป็นจริงอย่างไม่ย่อท้อ