พระสังฆราช ฟรังซัว ปัลลือ

 
สังฆราชเกียรตินามแห่งเฮลิโอโปลิส (Helioplis 1668-1684) 
รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ
 
ฟรังซัว ปัลลือ เป็นผู้ก่อตั้งหลักของคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (M.E.P.) ท่านเกิดในวัดแซงค์ ซาตูรแนง (Saint Saturnin) ที่เมืองตูรส์ รับศีลล้างบาปเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1626 ท่านเกิดมาในครอบครัวตุลาการ บิดาของท่าน เอเตียน ปัลลือ (Etienne Pallu) เป็นที่ปรึกษาและทนายความให้แก่ข้าหลวงแห่งเมืองตูรส์ และนายกเทศมนตรีประจำตำบล คุณพ่อปัลลือได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ตั้งแต่บวชมาได้ไม่นาน ประจำวัดแซงค์ มาร์แตง(Saint Martin) และเป็นผู้เปี่ยมด้วยความเมตตากรุณาและความรัก เมื่อมาถึงปารีส   ท่านผูกมิตรกับเยาวชนจำนวนหนึ่งทั้งที่เป็นนักบวชและฆราวาส ซึ่งรวมตัวกันเป็นสมาคม  และด้วยจำนวนที่เพียงพอ ก็ก่อตั้งกันขึ้นภายใต้ความคุ้มครองของพระนางพรหมจารี และที่นี่เองที่ท่านได้รู้จักพระสงฆ์เยสุอิตองค์หนึ่ง ได้แก่ คุณพ่อเดอโรดส์ (de Rhodes) มิชชันนารีแห่งตังเกี๋ย และทำงานในโคจินจีน คุณพ่อองค์นี้เดินทางมายุโรป    เพื่อขอองค์สมเด็จพระสันตะปาปาให้แต่งตั้งพระสังฆราชจำนวนหนึ่งให้เข้าไปเผยแพร่พระวรสาร ในประเทศเหล่านั้น 
 
ความคิดนี้ไม่ใช่ความคิดใหม่ ทางกรุงโรมได้เคยศึกษาเรื่องนี้มาแล้ว และก็ปรารถนาที่จะทำให้เป็นจริงเป็นจังขึ้นมาตามที่คุณพ่อเดอโรดส์ได้เสนอขึ้นมา หลังจากได้ปรึกษาหารือกันเป็นเวลานาน มองซินเญอร์ บาญี (Bagni) สมณทูตของสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 10 ประจำประเทศฝรั่งเศส ก็ได้เลือกคุณพ่อปัลลือให้เป็นพระสังฆราชองค์หนึ่งในบรรดาพระสังฆราชทั้งหมด ตามที่คุณพ่อเดอโรดส์ปรารถนาไว้ ในปี ค.ศ.1653 กษัตริย์แห่งโปรตุเกสถือว่าการแต่งตั้งนี้ขัดกับสิทธิพิเศษของตน ดังนั้น ที่ประชุมสภาสงฆ์แห่งฝรั่งเศสจึงมอบหมายให้พระสังฆราชโกโด (Godeau) พระสังฆราชแห่งวองซ์ (Vence) เขียนจดหมายไปถึงสมเด็จพระสันตะปาปา  แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบอะไร ดังนั้นในปี ค.ศ.1657 ด้วยความช่วยเหลือของเพื่อนๆ บางคน เช่น วินเซนต์ เดอ มัวร์ (Vincent de Meur),  ปีแอร์ ลังแบรต์ เดอ ลาม็อต (Pierre Lambert de La Motte) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการ   ยื่นมือเข้ามาช่วยของดัชเชส แห่งอัยกียอง (Duchesse d'Aiguillon) คุณพ่อปัลลือก็ได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชแห่งตะวันออกไกล 
 
ในการประชุมเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ.1658 โปรปากันดา ฟีเด (Propagande Fide) เสนอให้แต่งตั้ง  คุณพ่อปัลลือและคุณพ่อลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต เป็นผู้แทนสมเด็จพระสันตะปาปา (Apostolic Vicar) ประจำมิสซังจีนและประเทศเพื่อนบ้าน สมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ ที่ 7 รับรองการเลือกนี้และพระองค์ได้ออกสมณสาร (Brief) ลงวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ.1658  แต่งตั้งคุณพ่อปัลลือเป็นพระสังฆราชแห่งเฮลิโอโปลิส (Heliopolis in partibus infidelium) พร้อมทั้งเตือนท่านอย่างหนักแน่นให้ท่านพยายามฟันฝ่าความยากลำบากต่างๆ ที่จะตามมาด้วย คุณพ่อปัลลือได้รับการอภิเษกที่กรุงโรมเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ.1658 ในมหาวิหารนักบุญเปโตร โดยเจ้ากระทรวงโปรปากันดา ฟีเด ต่อมาด้วยเอกสาร Super Cathedram ลงวันที่ 9 กันยายน ค.ศ.1659 ของพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 7 ได้แต่งตั้งท่านให้เป็น Apostolic Vicar แห่งตังเกี๋ย และผู้ปกครองมณฑล  ยูนาน, กวางเจา, ฮูกวง, เสฉวน และกวางสีของประเทศจีน และลาว 
 

บุรุษผู้ยิ่งใหญ่มีใจเร่าร้อนยิ่งนัก
จึงละทิ้งสถานที่เหล่านี้ แม้อายุมากแล้ว
เพื่อไปประกาศพระศาสนาเที่ยงแท้
และมองดูภยันตรายของมหาสมุทร
โดยไม่พรั่นพรึง
ตอนนี้เองที่เป็นการเริ่มต้นของการตั้งคณะ M.E.P. มีบุคคลหลายคนที่สนับสนุนการก่อตั้งนี้อาทิ เช่น คุณพ่อเดอโรดส์, เบอนาร์ด แห่งนักบุญเทเรซา, พระสังฆราชแห่งบาบิโรน และคณะศีลมหาสนิท พระสังฆราชปัลลือออกจากปารีสเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ.1661 และมาขึ้นเรือที่มาร์แซย์ (Marseille) เมื่อวันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 1662 ท่านเดินทางผ่านเปอร์เซีย (Persia) และทะเลโอมาน (Oman) อินเดีย มาที่ มาสุลีปาตัม (Masulipatam)   และที่สุดมาถึงอยุธยาเมืองหลวงของประเทศสยาม   ที่นี่เองท่านได้พบกับพระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต พระสังฆราชแห่งเบริธ ผู้แทนสมเด็จพระสันตะปาปาปกครองโคจินจีน ท่านได้แต่งหนังสือชื่อ Instructiones ad munera apostolica และท่านตัดสินใจร่วมกับพระสังฆราชลังแบรต์ ท่านยังได้ก่อตั้งคณะนักบวชขึ้นมาโดยได้รับการรับรองจากกรุงโรมด้วย ท่านได้เจอกับปัญหาการคัดค้านเรื่องอำนาจของท่านในดินแดนนี้ด้วยจึงเดินทางมายุโรปมาถึงกรุงโรมในปี ค.ศ.1667 และได้เสนอเรื่องราวหลายเรื่องให้แก่โปรปากันดา ฟีเด ได้แก่ 
 
1. ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในอันที่จะยืนยันและขยายอำนาจของ Apostolic vicar เหนืออาณาจักรสยาม
2. ความสำคัญที่จะตั้งกฏเกณฑ์และระเบียบสำหรับพระศาสนจักรในตะวันออกไกล
3. ขอให้รับรองหนังสือ Monita
 
ในปีเดียวกันนั้นเองท่านเดินทางไปที่ฝรั่งเศส เสนอต่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ให้ก่อตั้งสถาบันฝรั่งเศสในตะวันออกไกล ปี ค.ศ. 1668 ท่านกลับมาที่โรมเพื่อขอให้รับรองคณะนักบวชที่ท่านตั้งขึ้นที่อยุธยา โครงการนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบจากผู้บริหารคณะ M.E.P. โดยพวกเขาเห็นว่าเป็นโครงการที่ไม่สามารถเป็นจริงได้ อย่างไรก็ตามท่านได้รับอนุมัติจากสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 9  ดังต่อไปนี้
 
1. คำยืนยันเอกสาร Constitution Ex debito pastoralis ของพระสันตะปาปาเออบันที่ 8 (Urban VIII) โดย Bulla Sollicitudo pastoralis  ลงวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ.1669
2. อำนาจเหนือสยามตกแก่ผู้ที่จะได้รับเลือกให้เป็นผู้แทนองค์สมเด็จพระสันตะปาปา (Apostolic Vicar) แห่งนานกิง แทนพระสังฆราช Cotolendi
3. ความสามารถที่จะยกเว้นเรื่องของการแต่งงานได้  นอกจากนี้ยังได้รับอนุมัติในเรื่องปลีกย่อยอีกหลายเรื่องด้วยกัน
 
ในปี ค.ศ.1670 ท่านออกเดินทางจากฝรั่งเศสกลับมาที่ตะวันออกไกลอีกครั้งหนึ่ง ก่อนออกเดินทางท่านได้ส่งมิชชันนารีผู้หนึ่งชื่อเซแวง (Svin) ไปโรมเพื่อเป็นผู้ประสานงานของท่าน เมื่อมาถึงอยุธยาท่านได้เลือกคุณพ่อลาโน (Laneau) ให้เป็น Apostolic vicar แห่งสยาม
 
 
คุณพ่อลาโนได้รับการอภิเษกเมื่อวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ.1674 และในวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ.1673 พระสังฆราชปัลลือพร้อมกับพระสังฆราชลังแบรต์ และคุณพ่อลาโนที่ได้รับเลือกให้เป็นพระสังฆราช ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ กษัตริย์ของประเทศสยามอย่างสง่า  และได้ถวายจดหมายของพระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 9 และของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ด้วย ประมาณกลางปี ค.ศ.1674 ท่านออกเดินทางไปประเทศจีน แต่พายุทำให้ท่านไปติดที่ชายฝั่งมะนิลา ท่านได้ถูกพวกสเปนจับตัวและถูกส่งตัวไปยุโรปโดยผ่านเม็กซิโก รัฐบาลของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ขอให้แมดริด ปล่อยตัวท่านเสียโดยเร็ว ซึ่งทางสเปนก็อนุมัติเรื่องนี้ทันที สมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ ที่ 11 ได้ส่งจดหมายขอบคุณไปยังกษัตริย์แห่งสเปนในเรื่องนี้ด้วย
 
ท่านออกจากแมดริดในปี ค.ศ.1677 โดยเดินทางไปที่กรุงโรมเอกสารของสมเด็จพระสันตะปาปาระหว่าง ปี ค.ศ.1677-1681 เกี่ยวข้องกับเรื่องดังต่อไปนี้
 
1. ขับไล่มิชชันนารีคณะเยซูอิตหลายคนออกจากมิสซังเพราะก่อปัญหาให้กับผู้แทนสมเด็จพระสันตะปาปา
2. อำนาจของผู้แทนพระสันตะปาปาแห่งสยาม มีอยู่เหนือญี่ปุ่น
3. การแต่งตั้งผู้แทนพระสันตะปาปาต่างๆ ที่ตังเกี๋ย
4. การแต่งตั้งพระสังฆราชอันนัม และจีน รวมทั้งอำนาจที่ได้รับ
 
 
และด้วยคำร้องขอของท่าน ในวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ.1678 สมเด็จพระสันตะปาปาได้กำหนดให้นักบุญยอแซฟเป็นองค์อุปถัมภ์ของมิสซังต่างๆ ของคณะ
 
ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1679  พระสังฆราชปัลลือต้องออกจากหน้าที่ปกครองตังเกี๋ย และวันที่ 1 เมษายน ค.ศ.1680 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ปกครองทั่วไปของมิสซังต่างๆ ในประเทศจีน และเขตปกครองพิเศษในมณฑลเกียงสี, กวางตุ้ง, เฉเกียง, กวางสี, เสฉวน, ฮูกวง, กวางเจา, ยูนาน, หมู่เกาะฟอร์โมซา และฮายนาน ยิ่งกว่านั้นในวันที่ 15 เมษายน  ค.ศ.1680  ท่านยังได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนสมเด็จพระสันตะปาปาแห่งโฟเกียน 
 
คำจารึกเป็นภาษาจีนบนหินหลุมฝังศพ
ของพระคุณเจ้า ปัลลือ ที่โมยาง ประเทศจีน
 
ในปี ค.ศ.1680  นี้เอง ท่านกลับมาที่ปารีสอีกครั้งหนึ่ง  ครั้งนี้ท่านได้รับอำนาจและการรับรองในการทำงานจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ด้วย ท่านเดินทางกลับมาประเทศสยามในปี ค.ศ.1681  นำเงินมาช่วยเหลือบรรดามิชชันนารีสยามด้วย จากสยามท่านเดินทางต่อไปยังประเทศจีน  ในปี ค.ศ.1683  แต่ท่านถูกจับขณะที่กำลังเดินทางอยู่ในทะเล   โดยพวกองครักษ์ของพระเจ้าหมิง  และท่านเป็นนักโทษอยู่ที่เกาะฟอร์โมซาเป็นเวลาหลายเดือน ที่สุดวันที่ 27 มกราคม ค.ศ.1684  ท่านก็มาถึงประเทศจีน และพำนักอยู่ที่จางจู ในมณฑลโฟเกียน พร้อมกับมิชชันนารีคนหนึ่ง  ท่านได้ส่งจดหมายถึงนักบวชและมิชชันนารีทุกคนแจ้งถึงการเดินทางมาประเทศจีน และอำนาจในการปกครองของท่าน 
 
พระสังฆราชปัลลือเสียชีวิตที่โมยาง (Moyang)  ประเทศจีน เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ.1684 ศพของท่านถูกฝังอยู่ที่นี่จนถึงปี ค.ศ. 1912   จึงถูกนำมาฝังที่บ้านนาซาแรธ ที่เกาะฮ่องกง