-
Category: ตารางเทียบสมัยการปกครองอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
-
Published on Friday, 09 October 2015 09:22
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 6704
พระสังฆราช หลุยส์ ลาโน เกิดวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ.1637 ที่เมืองมองดูโบล (แขวงลัวร์-เอ-แชร์) เวลานั้นอยู่ในเขตสังฆมณฑลชาร์ตร ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า สังฆมณฑลบลัวส์ ท่านกำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยซอร์บอน เมื่อได้รู้จักกับคณะมิสซังต่างประเทศแล้ว ท่านก็สมัครเข้าคณะนี้ ท่านออกจากกรุงปารีสเดือนกันยายน ปี ค.ศ.1661 และจากท่าเรือเมือง มารเซย วันที่ 2 มกราคม ค.ศ.1662 พร้อมกับพระสังฆราชปัลลือ และมิสชันนารีหรือผู้ช่วยอื่นๆ อีก 8 องค์ ท่านมาถึงกรุงสยาม วันที่ 27 มกราคม ค.ศ.1664 และทันทีที่มาถึง ได้รับมอบหมายให้ดูแลบ้านเณรใหญ่ ที่พระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลาม็อต จัดตั้งขึ้น ท่านเรียนรู้ภาษาสยามอย่างดีและง่ายดาย และยังสามารถเขียนคำอธิบายต่างๆ เกี่ยวกับธรรมล้ำลึกของคริสตศาสนา เกี่ยวกับบรรดาอัครสาวก ผู้นิพนธ์พระวรสาร ผู้ตั้งคณะนักพรตคนสำคัญ เหตุสุดท้าย และอื่นๆ เป็นภาษาสยาม ถวายตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อได้อ่านคำอธิบายเหล่านี้แล้ว พระเจ้าแผ่นดินทรงมีพระราชประสงค์พูดคุยเรื่องศาสนากับมิสชันนารีผู้นี้ พระองค์ได้ส่งผลงานของท่านให้พวกขุนนางชั้นสูงหลายคนพิจารณา พระอนุชาของพระองค์ก็ได้มีการพบปะพูดคุยกับท่าน ในเรื่องเดี่ยวกันนี้ด้วยเหมือนกัน อนิจจา ! ความพร้อมดีเหล่านี้เป็นแต่เพียงภายนอก และมิได้บังเกิดผลน่าชื่นชมที่เราปรารถนา
เดือนสิงหาคม ปี ค.ศ.1671 ท่านเดินทางไปประกาศศาสนาที่ เมืองพิษณุโลก ที่ตั้งอยู่ห่างจากอยุธยาขึ้นไปทางเหนือประมาณ 30 หลัก ได้โปรดศีลล้างบาปให้เด็กใกล้จะตาย 6-7 คน และได้รับคำสัญญาจากชาวบ้านจำนวนหนึ่งว่าจะกลับใจมานับถือศาสนาคริสตัง ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา ท่านต้องกลับมาที่อยุธยา และแล้วก็มิอาจไปทำการประกาศพระวรสารต่อจากที่เคยพยายามทำมาแล้วได้ เมื่อมาถึงอยุธยา ท่านจัดการสร้างที่พักเมตตาจิตหลังหนึ่งใกล้บ้านเณรใหญ่ เพื่อทำการรักษาพยาบาลคนเจ็บป่วยและช่วยให้มีคนกลับใจ
ปี ค.ศ.1673 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชแห่งเมแตลโลโปลิส และเป็นประมุขมิสซังนานกิงกับมิสซังกรุงสยาม ได้รับการอภิเษกที่กรุงศรีอยุธยา วันที่ 25 มีนาคม ค.ศ.1674 ต่อจากนั้น ก็ไปประจำอยู่ที่บางกอก ท่านได้รับพระราชทานที่ดินผืนหนึ่ง และบนที่ดินผืนนี้ได้จัดการสร้างวัดหลังหนึ่ง ชื่อวัดคอนเซ็ปชัญ แล้วก็จัดกลุ่มคริสตัง ซี่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยชาวโปรตุเกสที่ถูกขับไล่จากเกาะมักกะสาร (อินโดนิเซีย) ไปอยู่ในประเทศเขมร และจากประเทศเขมรมาเมืองไทย ด้วยเหตุนี้ พวกมิสชันนารีจึงเรียกวัดนี้ว่า วัดเขมร และยังเรียกกันอยู่ในปัจจุบันนี้
ปี ค.ศ.1676 ท่านเดินทางไปประกาศศาสนาเป็นครั้งที่สอง ที่เมืองพิษณุโลก และให้มิสชันนารีองค์หนึ่งชื่อ ปิแอร์ ลังคลัว ประจำอยู่ที่นั่น ในปี ค.ศ.1679 หรือ ค.ศ.1680 ท่านได้จัดการย้ายบ้านเณรใหญ่ไปอยู่บนที่ดินพระราชทานอีกผืนหนึ่ง ทางตะวันตกเฉียงเหนือ และใกล้กับกรุงศรีอยุธยา ที่นั้น มีชื่อว่า มหาพราหมณ์อยู่ริมคลองชื่อเดียวกันที่เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยา
วันที่ 3 เมษายน ค.ศ.1680 ท่านได้รับอำนาจปกครองมิสซังญี่ปุ่นที่ซึ่งท่านไม่สามารถไปได้เลย วันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1681 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ปกครองทั่วไปในมิสซังต่างๆ เช่น กรุงสยาม ตังเกี๋ย และโคชินไชน่า ปี ค.ศ. 1682 ท่านเดินทางไปมิสซังโคชินไชน่า ขึ้นบกที่เมืองญา-ตรัง แล้วก็เดินทางต่อไปถึงเมือง ไฟ-โฟ ณ ที่นี้ ท่านอภิเษกคุณพ่อมาโฮต์ เป็นพระสังฆราชแห่งบิด และก็จัดประชุมสมัชชาขึ้น เมื่อกลับมากรุงสยาม ท่านสร้างวัดหลังหนึ่งที่อยุธยา ชื่อวัดนักบุญยอแซฟ มีพิธีเสกเปิด วันที่ 25 มีนาคม ค.ศ.1685 ในสมัยนั้น อับเบ เดอ ชัวซี บรรยายเกี่ยวกับท่านว่า : เป็นคนสูงใหญ่ ท่าทางดี มีอายุแค่ 45 ปี แต่ดูเหมือนอายุ 60
โศกนาฏกรรมอันหนึ่ง ทำลายความหวังทั้งหมดของชาวฝรั่งเศสและของมิสชันนารี ขุนนางผู้หนึ่ง ชื่อ พระเทพราชา ปรปักษ์ของชาวต่างชาติ สั่งให้สำเร็จโทษเสนาบดี ฟอลคอน ผู้ปกป้องชาวต่างประเทศนั้น และสำเร็จโทษพระเจ้าแผ่นดิน และขึ้นเสวยราชย์
การต่อสู้เกิดขึ้นระหว่างชาวสยามและชาวฝรั่งเศส ชาวฝรั่งเศสจำต้องออกห่างจากกรุงสยามไป และนายพล เดอฟาร์ช ทำผิดสัญญา คือ นำขุนนางไทยเป็นตัวประกันไปด้วย พระสังฆราชลาโนพยายามทุกวิธีที่จะมิให้ทำกิจการอันจะก่อให้เกิดผลร้ายซึ่งท่านคาดการณ์ไว้อย่างชัดแจ้ง ดังที่ยืนยันอยู่ในจดหมายฉบับนี้ที่ท่านเขียนถึงผู้บังคับการกองทหารของเราว่า : “ข้าพเจ้าขอวิงวอนท่านให้พิจาณาดูว่าตลอดระยะเวลาหกเดือนที่ข้าพเจ้าเสี่ยงอันตรายทุกชนิดเพื่อช่วยพวกท่านให้ปลอดภัย ทั่งท่านและกองทหารของท่าน ข้าพเจ้าค้ำประกันเงิน 50,000 เหรียญ ที่กู้ยืมจากห้องพระคลังหลวง ขุนนางไทย 3 คนที่ท่านกักตัวไว้นั้น มิอาจเป็นประโยชน์อะไรเลยแก่ท่าน และตามคำสั่งของพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศส ซึ่งท่านแสดงให้ข้าพเจ้าดูในกรุงสยามนั้น ท่านต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของข้าพเจ้าในทุกเรื่องที่มีความสำคัญ แต่ท่านไม่ยอมทำตามคำแนะนำและคำขอร้องของข้าพเจ้าในเรื่องนี้ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลร้ายเป็นอย่างยิ่ง พอท่านจากไป ชาวสยามก็จะมาล้างแค้นและระบายความโกรธเอากับข้าพเจ้าและพวกพระสงฆ์ในปกครองของข้าพเจ้า.”
เนื่องด้วยนายพล เดอฟาร์ช ไม่ถือตามคำเตือนอันสุขุมรอบคอบนี้ พระสังฆราชจึงรับเคราะห์ จากความโกรธแค้นของชาวสยามซึ่งทำการสบประมาท ทุบตี และจับท่านใส่คุก พร้อมด้วยพระสงฆ์ของท่านหลายองค์ กับพวกข้าราชการและทหารฝรั่งเศส แล้วยังทำลายอาคารทุกหลังของมิสซังที่อยุธยา ในระหว่างถูกจำคุก พระสังฆราชลาโนแต่งส่วนหนึ่งของหนังสือ ชื่อ “De Deificatione justorum” (การทำให้ผู้ชอบธรรมกลายเป็นพระ) ซึ่งตีพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.1887 ท่านถูกปล่อยเป็นอิสระในปี ค.ศ.1690 และปีต่อมา ท่านได้รับบ้านเณรใหญ่กลับคืนมาในสภาพที่เหลือแต่กำแพง และ ณ ที่บ้านเณรใหญ่นี้ พวกมิสชันนารี นักเรียนสามเณร และชาวฝรั่งเศสบางคน มาอยู่รวมกัน มีจำนวนทั้งสิ้น 113 คน ท่านยังถือโอกาสที่เรื่องสงบลงนี้ ขอร้องให้ปลดปล่อยพวกนักโทษชาวฝรั่งเศส แล้วพวกเขาก็ได้รับการปลดปล่อย ปัญหายุ่งยากต่างๆ ที่ชาวโปรตุเกสก่อขึ้นนั้นมีความรุนแรงน้อยกว่าที่เคยเกิดขึ้นในสมัยพระสังฆราชลังแบรต์ อย่างไรก็ตาม มีหลายเรื่องต้องรายงานไปทางกรุงโรม วันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ.1696 สมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ ที่ 12 ได้ส่งสมณสาร ชื่อ “Cum sicut ad” ถึงพระสังฆราชหลุยส์ ลาโน สมณสารฉบับนี้ยืนยันคำสั่งของสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 10 และทรงสั่งห้ามอัครสังฆราชแห่งเมืองกัว และพระสังฆราชอื่นๆ ในชมพูทวีป ยุ่งเกี่ยวรบกวนการปกครองของบรรดาประมุขมิสซัง มิฉะนั้น จะถูกโทษบัพพาชนียกรรมออกจากพระศาสนจักร
ไม่กี่วันก่อนถึงแก่มรณภาพ พระสังฆราชหลุยส์ ลาโน บอกให้เขียนจดหมายถึงบรรดาพระคาร์ดินัลแห่งสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ และก็เซ็นชื่อลงในจดหมายฉบับนี้ หลังจากรับศีลทาสุดท้ายแล้ว จดหมายมีใจความดังนี้ :“เนื่องจากข้าพเจ้ากำลังจะไปรายงานต่อพระเป็นเจ้า ถึงการปกครองมิสซังของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอประกาศให้บรรดาพระสังฆราชทั้งหลายทราบว่า ต่อจากการถวายเกียรติแด่พระเป็นเจ้าและการช่วยวิญญาณทั้งหลายให้รอดแล้ว ข้าพเจ้าไม่เคยมีใจเป็นอย่างอื่นนอกจากทำให้อำนาจปกครองของสำนักสันตะปาปาเป็นที่เคารพเชื่อฟังในภูมิภาคห่างไกลต่างๆ เหล่านี้ และถือตามคำสั่งที่พวกท่านให้ไว้ในนามของสำนักงานนี้ ข้าพเจ้านอบน้อมเชื่อฟังด้วยความซื่อสัตย์อยู่เสมอ และก็ทำให้คนที่อยู่ในอำนาจปกครองของข้าพเจ้า เชื่อฟังด้วย ความซื่อสัตย์เชื่อฟังนี้เองทำให้ข้าพเจ้าได้รับความยุ่งยากวุ่นวายมากตลอดระยะเวลา 30 ปี ข้อสงสัยทั้งหลายที่มีคนรายงานมาทาง กรุงโรม ทั้งเกี่ยวกับเรื่องข้อความเชื่อ เรื่องศีลธรรมจรรยา และเรื่องความประพฤติของบรรดามิสชันนารีของเรา (เพราะข้าพเจ้าไม่ทราบว่าเขากล่าวหาเราด้วยเรื่องอะไร) ทั้งหมดนี้ ทำให้ข้าพเจ้าต้องหลั่งน้ำตาอย่างขมขื่นยิ่งขึ้นอีกในช่วงปลายชีวิตของข้าพเจ้า และข้าพเจ้ารู้สึกว่าความทุกข์ทรมานใจที่ได้รับนี้ จะทำให้ข้าพเจ้าต้องถึงแก่กรรมลงในไม่ช้าโดยมิได้รับจดหมายสักฉบับเดียวจากท่านเพื่อช่วยเหลือบรรเทาใจเยี่ยงบิดา
“เนื่องจากในไม่ช้านี้ ข้าพเจ้าจะต้องไปปรากฏตัวต่อหน้าศาลของพระเป็นเจ้าองค์ความจริง ซึ่งจะต้องพิพากษาข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอแจ้งให้บรรดาพระสังฆราชทั้งหลายทราบว่า ไม่มีคณะบรรพชิตคณะใด นอบน้อมเชื่อฟังและเสียสละรับใช้สำนักสมเด็จพระสันตะปาปามากกว่ามิสซังของเรา ไม่มีสักองค์เดียวที่ถูกสงสัยว่าถือสิทธิยันเซนิสม์ ไม่มีสักองค์เดียวที่มิได้ดำเนินชีวิตอย่างมีระเบียบวินัยและเสริมสร้างคุณธรรม เขามิได้เลือกไปดำเนินชีวิตที่สะดวกสบายกว่าในบ้านเกิดเมืองนอนของเขา และก็สมัครใจไม่กลับไป เพราะความกระตือรือร้นในการทำให้คนต่างศาสนากลับใจ และทำให้พวกคริสตังเป็นคนศักดิ์สิทธิ์ ทำให้เขาเลือกทำงานที่แสนลำบากและต่อเนื่อง ตามที่ได้รับมอบหมายในเอเชียอาคเนย์ แทนที่จะเลือกไปรับความสะดวกสบายในประเทศฝรั่งเศส
“ประสบการณ์อันยาวนานอยู่ในมิสซัง ทำให้ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า พระศาสนจักรที่เกิดใหม่ทั้งหลายนี้ อาจไม่มีจำนวนเพิ่มขึ้น และทั้งยังอาจดำรงอยู่ได้ไม่นาน ถ้าปราศจากแรงสนับสนุนจากคณะสงฆ์พื้นเมือง และข้าพเจ้าเห็นว่า มีเพียงพระสงฆ์ชาวฝรั่งเศสของเราเท่านั้นที่สามารถจัดให้มีคณะสงฆ์พื้นเมืองนี้ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น ขอบรรดาพระสังฆราชอย่าได้เข้าใจผิด เพราะเราไม่เคยคิดจัดตั้งมิสซังใดมิสซังหนึ่งโดยให้มีแต่พระสงฆ์ฝรั่งเศสเท่านั้น ด้วยว่า บรรดาพระสังฆราชทราบดีแล้วว่า เราได้ติดต่อขอความร่วมมือจากมิสชันนารีทุกคณะและทุกชาติ ซึ่งต้องการมาร่วมงานกับเรา และเราก็ได้ขอร้องวิงวอนบรรดาอธิการของพวกเขาส่งมิสชันนารีจำนวนมากขึ้นให้เรา ข้าพเจ้าพร้อมที่จะตายอยู่แล้ว จึงคิดว่าต้องแจ้งให้บรรดาพระสังฆราชทราบถึงความรู้สึกต่างๆ ของข้าพเจ้า โดยหวังจะให้ยอมเชื่อว่า พระสังฆราชใกล้ตายองค์หนึ่งไม่อาจโกหก หลอกลวง และเสแสร้งได้.”
สมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ ที่12 คงได้รู้เรื่องจดหมายฉบับนี้ จึงได้ออกสมณสารลงวันที่ 6 มกราคม ค.ศ.1697 มาชมเชยท่าน ในเวลาที่ออกสมณสารนั้น พระสังฆราชหลุยส์ ลาโน ได้ถึงแก่มรณภาพไปได้ 10 เดือนแล้ว คือ ท่านมรณภาพลงที่อยุธยา วันที่ 16 มีนาคม ค.ศ.1696 และศพของท่านฝังอยู่ในวัดอยุธยานั่นเอง คุณธรรมประการสำคัญๆ ของท่าน คือ การทรมานกายใจ ความสุภาพถ่อมตัว ความรักต่อดวงวิญญาณทั้งหลายและต่อการงาน
เรื่องหนังสือต่างๆ ที่ท่านแต่งนั้น จดหมายที่แจ้งข่าวการมรณภาพของท่านบอกไว้ว่า :“ท่านได้แต่งหนังสือเป็นภาษาสยาม เช่น หนังสือคำสอนสำหรับเด็กๆ และสำหรับผู้ใหญ่ที่มีความรู้เรื่องข้อความเชื่อต่างๆ ของเรามากขึ้นแล้ว หนังสืออธิบายเรื่องศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ และขั้นตอนความพร้อมต่างๆ ที่จำเป็นก่อนรับศีลทั้งหลายนี้ พจนานุกรม 2 เล่ม เล่มหนึ่งเป็นภาษาสยาม อีกเล่มเป็นภาษาบาลีและลาติน หนังสือภาวนาต่างๆ ที่ใช้สวดพร้อมกันในระหว่างมิสซา และคำอธิบายต่างๆ เกี่ยวกับพิธีมิสซานี้ หนังสือปุจฉาวิสัชนา ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าศาสนาของชาวสยามเป็นศาสนาเท็จเทียม และคริสตศาสนาเป็นศาสนาเที้ยงแท้และมีคำตอบต่อข้อโต้แย้งต่างๆ ของพวกพระภิกษุ ท่านได้แปลหนังสือพระวรสาร หนังสือประวัติศาสนาของคุณพ่อเฟลอรี และหนังสืออื่นๆที่มีประโยชน์มากอีกหลายเล่ม.”
หนังสือต่างๆ ที่ยังคงเป็นลายมือเขียนเหล่านี้ ไม่มีเก็บไว้สักเล่มเดียวในห้องสมุดของบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศ ยกเว้นหนังสือแปลพระวรสารและหนังสือ “De Deificatione justorum” ที่เรากล่าวถึงมาแล้ว เป็นหนังสือเพียงเล่มเดียวที่จัดพิมพ์ขึ้น.