-
Category: ตารางเทียบสมัยการปกครองอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
-
Published on Friday, 09 October 2015 09:21
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 2138
พระสังฆราช แตสซีเอร์ เดอ เกราเล เกิดประมาณปี ค.ศ.1668 ในสังฆมณฑลนังต์ ประเทศฝรั่งเศส ตามคำบอกเล่าของมิชชันนารีบางองค์ บอกว่าท่านเป็นคนเฉลียวฉลาด หนักแน่น รักการเรียน ท่านออกเดินทางในปี ค.ศ. 1699 เพื่อไปเป็นเหรัญญิกที่เมืองปอนดิเชรี ท่านเดินทางมาถึงเมืองนี้ในเวลาที่พระสังฆราชเกเมอเนร์ ได้เริ่มก่อสร้างโปรกือร์ อาคารหลังนี้สร้างเสร็จโดยเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 2,381 เปียสต์ ดูเหมือนท่านได้ศึกษาอย่างเอาจริงเอาจังมากเกี่ยวกับพิธีกราบไหว้บูชาต่างๆ ของอินเดีย,ความเชื่อต่างๆ เกี่ยวกับพราหมณ์ที่เข้าได้ถึงเทพเจ้า,วิญญาณของมนุษย์,วิญญาณของสัตว์ต่างๆ และของพืช ท่านได้เขียนถึงเหตุผลในการศึกษา และได้อ่านงานเขียนของท่านให้ พระสังฆราชเดอ ตูร์น็อง ฟัง ซึ่งพระสังฆราชได้ให้กำลังใจท่านให้ทำต่อไป ท่านได้ส่งต้นฉบับของงานเขียนนี้ไปยังประเทศฝรั่งเศสซึ่งเราไม่ทราบถึงชะตากรรมของมันเลย
หลังจากที่รับหน้าที่ในตำแหน่งเหรัญญิกเป็นเวลา 10 ปี ท่านได้แสดงความปรารถนาจะทำงานในมิสซัง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งบนเกาะนีโกบาร์ ท่านได้รับการแนะนำให้พักอยู่ที่เมืองปอนดิเชรี ซึ่งท่านก็ตกลง ในปี ค.ศ.1710 ท่านพร้อมด้วยผู้ปกครองอาณานิคมของเราคนหนึ่งได้เริ่มการเจรจาต่อคณะมิสซังต่างประเทศเพื่อขอเป็นผู้ ปกครองเมืองปอนดิเชรี แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ
ในเดือนตุลาคม ค.ศ.1717 สมเด็จพระสันตะปาปาทรงมีพระสมณโองการแต่งตั้งท่านเป็นพระสังฆราชเกียรตินามแห่งโรซาลี และเป็นพระสังฆราชผู้ช่วยของพระสังฆราชเดอ ซีซี ประมุขมิสซังสยาม ท่านลังเลใจเป็นเวลานานพอควรก่อนที่จะตกลง อีกประการหนึ่งคือ พระสังฆราชเดอ ซีซี มีภาระมากและการเลือกผู้สืบตำแหน่งของท่านเป็นเรื่องยาก
ในปี ค.ศ.1720 ท่านตัดสินใจออกจากเมืองปอนดิเชรีที่ซึ่งลักษณะนิสัยของท่านต่อพวกมิชชันนารีซึ่งเขาต้อนรับที่โปรกือร์ด้วยคำพูดเหล่านี้ "ท่านเป็นคนเคร่งครัดเท่าๆ กับเป็นคนที่เอาใจใส่เพื่อนร่วมคณะของท่านอย่างไม่ขาดตกบกพร่องเลย "ท่านพักอยู่ที่เมืองมะริดเป็นเวลาเกือบ 2 ปี และเดินทางมาถึงอยุธยาในปี ค.ศ.1722 ท่านได้รับการอภิเษกเป็นพระสังฆราชวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1723 ท่านพักประจำอยู่ที่วิทยาลัยกลาง และดูแลบรรดาสามเณรด้วยความตั้งใจ หลังจากที่ดำรงตำแหน่งพระสังฆราชผู้ช่วยเป็นเวลา 4 ปี เมื่อพระสังฆราชเดอ ซีซี ถึงแก่มรณภาพลงวันที่ 1 เมษายน ค.ศ.1727 ท่านก็รับตำแหน่งประมุขมิสซังองค์ต่อมา
ท่านได้สั่งให้ย้ายบ้านเณรใหญ่ไปอยู่ที่อยุธยา ซึ่งการกระทำครั้งนี้ทำให้พวกมิชชันนารีได้รับความยุ่งยากลำบากมาก ปี ค.ศ.1730 เกิดการเบียดเบียนคริสตศาสนา พวกคริสตังบางคนถูกจับจำคุก ได้มีคำสั่งห้ามบรรดามิชชันนารีทำการเผยแพร่ศาสนาแก่คนไทย, มอญ และลาว ห้ามเขียนหนังสือ คำสอนเป็นภาษาไทยและบาลี และห้ามโต้แย้งเกี่ยวกับศาสนาพุทธ ในปี ค.ศ.1731 ได้มีการนำเอาแผ่นหินซึ่งจารึกข้อห้ามต่างๆ ของพระเจ้าแผ่นดิน มาตั้งไว้ที่หน้าประตูโบสถ์ของบ้านเณรที่อยุธยา และที่หน้าประตูโบสถ์ที่เมืองมะริด บรรดามิชชันนารีและพวกคริสตังเรียกแผ่นหินทั้งสองนี้ว่า "แผ่นหินแห่งความอัปยศ"
สภาพของมิสซังในสมัยของท่านอยู่ในฐานะลำบาก บรรดามิชชันนารีไม่สามารถสอนศาสนาแก่ คนไทยและคนมอญได้ ทั้งไม่สามารออกจากกรุงศรีอยุธยาเพื่อไปสอนศาสนาในจังหวัดอื่นๆ ได้เลย เกือบเรียกได้ว่างานของมิสซังในสมัยของท่านต้องหยุดชะงักลง ท่านได้ถึงแก่มรณภาพลงที่กรุงศรีอยุธยาเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ.1736 หลังจากป่วยไม่กี่วัน