-
Category: ตารางเทียบสมัยการปกครองอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
-
Published on Friday, 09 October 2015 09:20
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 2198
พระสังฆราชโอลิเวียร์ ซีม็อง เลอบ็อง เกิดวันที่ 17 มีนาคม ค.ศ.1710 ที่แซงต์มาโล แขวงอิลเลวิแลน ประเทศฝรั่งเศส ท่านออกเดินทางมามิสซังสยาม วันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ.1745 และรับหน้าที่เป็นอาจารย์ที่บ้านเณรใหญ่ อยุธยา จนถึงปี ค.ศ.1748 ในสมัยนั้นบ้านเณรใหญ่ย้ายมาอยู่ที่อยุธยา ท่านเห็นว่าบ้านเณรใหญ่ไม่เหมาะที่จะอยู่ในเมืองนี้ แสดงความปรารถนาที่จะจากไป แต่แล้วบ้านเณรใหญ่ก็ย้ายไปอยู่ที่มหาพราหมณ์อีก มิสชันนารีผู้นี้จึงทำหน้าที่อาจารย์ต่อไป ในปี ค.ศ.1750 ท่านไปเมืองมะริด แล้วก็ไปเมืองปอนดิเชรี
ในปีค.ศ.1752 ท่านกลับมาที่บ้านเณรใหญ่ และทำการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในเรื่องระเบียบวินัยและการศึกษาของสามเณร แต่พระสังฆราชเดอ โลเลียร์ ไม่อนุมัติให้ทำทั้งหมด ด้วยความเห็นชอบของท่านบรีโกต์ท่านได้จัดสร้างอาคารใหม่หลายหลัง และหวังว่า ท่านดือแปลกส์ จะให้ทุนที่จำเป็นในการสร้างวัดน้อย แต่สภาพวิกฤติของธุรกิจในอินเดียไม่เอื้ออำนวยให้บริจาคทุนนี้
ในปี ค.ศ. 1754 ท่านเดินทางไปอยู่มาเก๊า เพื่อรับตำแหน่งเหรัญญิกแทนคุณพ่อลาแซร์ ท่านดำรงตำแหน่งนี้อยู่จนถึงปี ค.ศ. 1764 วันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1764 ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็น พระสังฆราช แห่งเมแตลโลโปลิศ และเป็นพระสังฆราชผู้ช่วยในมิสซังสยาม ดังนั้น ท่านจึงออกจากมิสซังมาเก๊า ขณะนั้นประเทศสยามกำลังเกิดสงคราม ท่านไม่สามารถเดินทางกลับมามิสซังสยามได้ และก็ไม่สามารถรับการอภิเษกเป็นพระสังฆราช ทั้งที่มาเก๊าและที่มนิลา เนื่องจากตำแหน่งว่างลงหรือพระสังฆราชไม่อยู่
ท่านจึงเดินทางไปกรุงโรม ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเม็นต์ที่ 13 ซึ่งมอบของขวัญหลายชิ้นให้ และทำการอภิเษกเป็นพระสังฆราช จากสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 13 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ค.ศ.1766
หลังจากเดินทางกลับมาถึงฝรั่งเศสแล้ว การที่จะออกเดินทางกลับสู่มิสซังสยามต้องประสบปัญหายุ่งยาก ท่านจึงเขียนจดหมายจากเมืองโลริอังต์ ถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ในวันที่ 10 มกราคม ค.ศ.1768 เพื่อร้องเรียนเรื่องเสนาบดีห้ามท่านลงเรือ และขอร้องให้ประทานอนุญาตด้วย ปี ค.ศ.1770 ท่านเดินทางกลับประเทศสยาม เมื่อมาถึงเมืองปอนดิเชรี ผู้ว่าฯ ชื่อลอว์ มอบให้ท่านนำของขวัญถวายพระเจ้าแผ่นดิน พอมาถึงมะละกา ท่านได้ทราบข่าวว่าสถานการณ์ในประเทศสยามยังไม่เอื้ออำนวยให้กลับเข้าไป ท่านจึงเดินทางไปเมืองบาตาเวียและมาเก๊า ระหว่างที่รอให้สถานการณ์ดีขึ้น
ท่านมาถึงบางกอกปี ค.ศ.1772 ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าตากสิน เพื่อถวายของขวัญที่ข้าหลวงเมืองปอนดิเชรีฝากมา (นายลอว์) สภาพศาสนาคริสตังในประเทศสยามเวลานั้นน่าเวทนา เพราะผลกระทบจากสงคราม และการบุกเข้ามาของพวกพม่า เพื่อทำการกู้สถานการณ์ให้ดีขึ้น ท่านมีมิสชันนารีอยู่กับท่านเพียง 2 องค์เท่านั้น คือ คุณพ่อกอร์ ซึ่งมรณภาพในปี ค.ศ.1773 และคุณพ่อการ์โนลต์ สภาพการณ์ยิ่งน่าเศร้าสลดลงไปอีกในปี ค.ศ.1775
เรื่องเป็นดังนี้ : “เวลาสาบานต่อพระเจ้าแผ่นดิน เรียกว่า “พิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา” ก็เวียนมาถึงในเดือนกันยายน ค.ศ. 1775 ทหารคริสตัง 3 นาย เป็นขุนนางและข้าราชการของพระเจ้าแผ่นดินได้รับคำสั่งให้ที่วัดดื่มน้ำที่พระภิกษุเตรียมไว้ เรียกว่า “น้ำพิพัฒน์สัตยา” ทหารคริสตัง 3 นายนั้น แทนที่จะไปวัดพุทธ ก็ไปวัดคริสตัง คุกเขาลงหน้าพระแท่นต่อหน้าพวกคริสตังเป็นอันมาก กล่าวคำสาบานจะถือซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าแผ่นดินเป็นภาษาสยาม โดยอ้างพระวรสารเป็นพยานต่อหน้าพระสังฆราช ซึ่งได้ให้หนังสือสำคัญว่าทำพิธีสาบานแล้ว.” เมื่อเรื่องทราบไปถึงราชสำนัก นายทหารทั้งสามก็ถูกจับขังคุก วันที่ 22 กันยายน ค.ศ.1775 สามวันต่อมา พระสังฆราชและมิสชันนารีของท่าน 2 องค์ คือ คุณพ่อการ์โนลต์ และคุณพ่อกูเด ซึ่งเพิ่งมาถึงใหม่ๆ ก็ถูกจับด้วย ทั้งสามท่านถูกนำตัวไปอยู่ต่อหน้าพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งกล่าวตำหนิประมุขมิสซังอย่างรุนแรง และสั่งให้เฆี่ยนตีทั้งสามด้วยหวายคนละร้อยที แล้วก็ให้นำไปขังคุก เดือนกรกฎาคม ค.ศ.1776 ชาวอังกฤษบางคนเดินเรื่องให้ท่านได้รับการปลดขื่อและโซ่ออก และในที่สุด ท่านและเพื่อนมิสชันนารีได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระ วันที่ 2 กันยายน ค.ศ.1776
วันที่ 30 กันยายน ค.ศ.1776 พระสังฆราชบรีโกต์ ได้รับแต่งตั้งเป็นประมุขมิสซังมาลาบาร์ ท่านจึงได้เป็นประมุขมิสซังสยาม ในปี ค.ศ.1779 สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงต้องการบังคับให้พวกคาทอลิก พระสังฆราชกับ มิสชันนารี 2 องค์ ปฎิบัติตามข้อเชื่อหลงงมงายอีก แต่ไร้ผล พระสังฆราชเลอบ็อง จึงถูกเรียกไปปรากฏตัวต่อหน้าพระเจ้าแผ่นดิน ถูกจับขังคุก และที่สุดก็ถูกขับไล่ออกจากกรุงสยาม ท่านออกเดินทางไปเมืองกัว และถึงแก่มรณภาพลงที่เมืองนี้ ในวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ.1780