พระสังฆราช ฌอง บัปติสต์ ปัลเลอกัว

 
 
 
พระสังฆราช ฌอง บัปติสต์ ปัลเลอกัว ท่านเกิดที่จังหวัดคอมแบร์โตล์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1805 เข้าบ้านเณรใหญ่ที่เมืองดียอง เมื่ออายุ 17 ปี หลังจากนั้นเล็กน้อย ได้เป็นอาจารย์สอนที่บ้านเณรเล็กที่เมืองแซรวีแอร์ แล้วกลับมาเป็นอาจารย์ที่บ้านเณรซัมเบรี เมื่อปี ค.ศ. 1824 ระหว่างเวลาพักร้อนปี ค.ศ. 1826 ท่านได้เขียนประวัติย่อของนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ หนังสือนี้พิมพ์ออกมาเผยแพร่จำนวนไม่มากนัก แล้วพิมพ์อีกเป็นครั้งที่สอง วันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1827  ท่านเข้าสามเณราลัยคณะมิสซังต่างประเทศ และได้รับศีลบรรพชาเป็นพระสงฆ์ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ.1828
 
ท่านเดินทางมาประเทศไทย วันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1828 โดยเรือเดินทะเลที่ท่าเรือเมืองฮาฟร์ ท่านได้รับการต้อนรับอย่างดีจากนางโดดาร์ด  ซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์คณะธรรมทูต ท่านรอที่เมืองมาเก๊าเป็นเวลาหลายเดือน จึงเดินทางมาถึงสิงคโปร์ แล้วจึงเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ กลางปี ค.ศ. 1830 ท่านเรียนรู้ภาษาไทยดีพอสมควร ก็ไปดูแลคริสตังที่วัดอยุธยา สภาพของคริสตังขณะนั้นแย่มาก ทั้งทางด้านวัตถุและจิตใจ ท่านเริ่มแผนการสร้างวัดขึ้นท่ามกลางสิ่งปรักหักพังของวัดเก่าที่พระสังฆราชองค์ก่อนได้สร้างไว้ นอกนั้น ท่านยังรับภาระดูแลวัดซางตาครู้ส  ฝั่งธนบุรี ท่านได้สร้างวัดหลังใหม่ และทำพิธีเสกเมื่อวันที่ 1  กันยายน ค.ศ.1835  แทนวัดเก่าที่เป็นโรงเก็บของเตี้ยและอับชื้น พระแท่นเป็นที่อาศัยของงู 
 
ในไม่ช้า ท่านก็ลงมือสร้างวัดใหม่อีก คือ วัดคอนเซปชัญ ทำพิธีเสกเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ.1837   ปี ค.ศ.1835  ท่านได้ รับแต่งตั้งเป็นอุปสังฆราช ปี ค.ศ.1837 และค.ศ.1838 ท่านได้ไปเยี่ยมกลุ่มคริสตังหลายกลุ่ม ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองหลวง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มบางปลาสร้อย ซึ่งยังไม่มีวัดที่จะประชุมได้ แต่พวกเขาไปประชุมสวดภาวนาที่บ้านคริตังชราคนหนึ่ง ชื่อ นางไกร 
 
วันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ.1836 ท่านได้รับตำแหน่งผู้ช่วยของพระสังฆราช กูรเวอซี พิธีแต่งตั้งเป็นไปอย่างง่ายๆ ปราศจากพิธีรีตอง พระสังฆราชได้อภิเษกท่านเป็นพระสังฆราชที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 1838 ตำแหน่งกิตติมศักดิ์ของพระสังฆราชใหม่ คือ พระสังฆราชแห่งเมืองมาลลอส
 
ในช่วงเวลานั้น มีโครงการแบ่งแยกเขตมิสซังสยาม จึงตกลงให้พระสังฆราชกูรเวอซี ประจำอยู่ที่สิงคโปร์ ส่วนพระสังฆราชปัลเลอกัว ประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ ท่านได้เริ่มงานสร้างวัดกาลหว่าร์ ตลาดน้อย ทันที (คือ วัดแม่พระลูกประคำ วัดของท่านปัลเลอกัวหลังนี้ เมื่อถึง ปี ค.ศ. 1890 ก็มีสร้างวัดใหม่ที่สวยงามกว่าของพระสังฆราชปัลเลอกัว ขึ้นมาแทน) ที่ดินที่สร้างวัดนี้ เดิมเป็นของคริสตังเก่าชาวโปรตุเกส และกงสุลโปรตุเกส ชื่อ นายวีอันนา ขอให้ที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของประเทศโปรตุเกส ทางรัฐบาลสยามจึงตอบว่า ที่ดินแปลงนี้ได้ยกให้มิสซังโรมันคาทอลิก มิใช่ให้ประเทศโปรตุเกส ต่อมา พระสังฆราชปัลเลอกัวได้สร้างโรงพิมพ์ จะว่าบูรณะซ่อมซ่อมโรงพิมพ์เก่าขึ้นใหม่ก็ได้ แล้วขยายโรงพิมพ์ ซึ่งอำนวยประโยชน์มากสำหรับสังฆมณฑลมิสซังโคชินไชน่า ก็ได้รับประโยชน์จากโรงพิมพ์นี้ด้วย เพราะว่าโรงพิมพ์นี้มีตัวอักษรลาติน ซึ่งใส่เครื่องหมายวรรณยุกต์ตามแบบที่ใช้ในประเทศญวน 
 
ปี ค.ศ. 1841  พระสังฆราชได้สร้างสถานอบรม ซึ่งเป็นทั้งวิทยาลัยและบ้านเณร เนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงห้ามมิให้ส่งนักเรียนไปเรียนที่ปีนัง วันที่ 10 กันยายน ค.ศ. 1841 มิสซังสยามแบ่งแยกเป็นสองมิสซัง มิสซังหนึ่งเรียกเป็นทางการว่า มิสซังสยามตะวันออก แต่คงเรียกต่อไปว่า มิสซังสยาม ส่วนอีกมิสซัง คือ มิสซังสยามตะวันตก ซึ่งเขาเคยเรียกตรงๆ ว่า มิสซังมะละกา
 
มิสซังของพระสังฆราชปัลเลอกัว มีคริสตังประมาณ 4,300 คน แบ่งออกดังนี้ : ในเขตกรุงเทพฯ วัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ มี 1,700 คน วัดคอนเซปชัญมีคริสตังชาวโปรตุเกส-เขมร ประมาณ 700 คน  วัดซางตาครู้ส มีคริสตังชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสประมาณ 500 คน วัดกาลหว่าร์ มี 500 คน  สำหรับต่างจังหวัด ที่วัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา มีคริสตังประมาณ 100 คน  ส่วนวัดจันทบุรี คริสตังญวนมีประมาณ 800 คน นอกนั้น มีคริสตังกระจัดกระจายอยู่ในที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ขณะนั้น มีพระสงฆ์ชาวไทยอยู่ 5 องค์  มีฆราวาสแพร่ธรรมจำนวนหนึ่ง  มีภคินีชาวญวนประมาณ 20 รูป
 
ปี ค.ศ. 1843  ประมุขมิสซังไปเยี่ยมกลุ่มคริสตชน ที่อยู่ปากแม่น้ำท่าจีนขึ้นไป ถึงวัดนครชัยศรี พระสังฆราชส่งมิสชันนารี 2 องค์ คือ คุณพ่อกรังยัง และคุณพ่อวาชัล ไปสำรวจทางทิศเหนือ ในปี ค.ศ.1844 ท่านดำเนินโครงการที่ท่านรักมากจนสำเร็จเรียบร้อย กล่าวคือ การสร้างวัดใหม่ นักบุญยอแซฟ ที่ตำบลหัวรอ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ความจริง ท่านได้ตกลงกันไว้อย่างเรียบร้อยกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ในวงการข้าราชการชั้นสูง โดยเฉพาะข้าราชการบริหารในพระราชสำนัก ยังมีความระแวงสงสัยในตัวท่านอยู่ อย่างไรก็ดี พระสังฆราชก็ได้ทูลถวายรายละเอียดเรื่องต่างๆ จนเป็นที่พอพระราชหฤทัยของในหลวง 
 
ปี ค.ศ. 1845 พระสังฆราช ได้สร้างสำนักพระสังฆราชขึ้นใหม่ แทนบ้านหลังเดิมที่มุงด้วยแฝก ปี ค.ศ. 1848 และ ค.ศ. 1849 ท่านได้ก่อสร้างอารามสำหรับภคินีชาวญวนขึ้นที่กรุงเทพฯ และสร้างสถานอบรมสามเณรขึ้นใหม่ ในเวลาเดียวกัน  ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ เกิดโรคระบาดอหิวาต์ ขึ้นที่กรุงเทพฯ มิสซังเองได้รับผลกระทบมากพอสมควร สรุปได้ว่า เช่นเมื่อเดือนกรกฎาคม ทางในหลวงทรงขอให้ทาง พระสังฆราชปัลเลอกัว ถวายสัตว์บางอย่างแด่พระองค์ ทรงยืนยันว่า พระองค์ทรงใคร่จะเลี้ยงสัตว์เหล่านั้นไว้ มิใช่เอาไปให้วัดพุทธ หรือใช้สำหรับทำพิธีทางศาสนาแต่อย่างใด  พระสังฆราชได้นำเรื่องนี้ไปปรึกษากับบรรดามิสชันนารี ซึ่งให้ความเห็นว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงถือตามความเชื่อของคนไทย คือ ทรงต้องการเลี้ยงสัตว์เหล่านั้นไว้  เพื่อเป็นการต่อพระชนมายุของพระองค์ท่านเอง พวกมิสชันนารีเกรงว่า ถ้าถวายให้ไปตามพระราชประสงค์ก็จะเป็นการร่วมมือในการถือซูแปร์ติซัง ดังนั้น จึงต้องปฏิเสธ ส่วนพระสังฆราชเอง ทั้งๆ ที่มีความคิดเห็นตรงข้ามกับมิสชันนารี แต่โดยทางปฏิบัติ ท่านก็ต้องยอมตามคำแนะนำของมิสชันนารี แล้วทูลตอบปฏิเสธไป ในหลวงทรงกริ้วมาก เข้าพระทัยว่า พวกมิสชันนารีแคลงใจในพระราชดำรัสที่ทรงยืนยันว่า จะไม่ทรงใช้สัตว์เหล่านั้นทำพิธีทางศาสนาพุทธ จึงได้ทรงมีรับสั่งให้จับมิสชันนารีทุกองค์ ให้ทำลายวัดคริสตัง และบ้านพักพระสงฆ์ทั้งหมด กับบังคับให้พวกคริสตังละทิ้งศาสนา
 
พระสังฆราชปัลเลอกัว ตกลงใจทำตามที่ตัดสินใจ คือ ท่านนำ นกยูง 1 ตัว, แพะ 2 ตัว, ห่าน 2 ตัว ขึ้นทูลเกล้าฯถวายในหลวง ส่วนพระสงฆ์ไทยก็นำสัตว์ประเภทเดียวกันขึ้นทูลถวายแด่พระองค์เช่นกัน พระมหา กษัตริย์ทรงยกเลิกคำสั่งต่างๆ นั้น แต่ทรงสั่งให้ ขับคุณพ่อที่คัดค้านทั้งหมด 8 องค์ เดินทางออกนอกพระราชอาณา จักร คือ คุณพ่อเกลมังโซ, คุณพ่อกรังยัง, คุณพ่อโกลเดต์, คุณพ่อดือปองด์, คุณพ่อดานิแอล, คุณพ่อลาร์โนดี, คุณพ่อเลอ เกอ และคุณพ่อยิบาร์ตา  พระสงฆ์เหล่านี้ก็เดินทางไปประเทศสิงคโปร์, เกาะปีนัง, เกาะฮ่องกง ยังเหลือคุณพ่ออยู่เพียงผู้เดียว คือ คุณพ่อรังแฟง ซึ่งขณะนั้นดูแลวัดจันทบุรี ห่างไกลจากกรุงเทพฯ ไม่มีโอกาสให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าว พระสังฆราชรายงานชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้นให้ทางกรุงโรมทราบ
 
ปี ค.ศ. 1851 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ สิ้นพระชนม์ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงขึ้นครองราชย์ เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 พระองค์ท่านทรงชอบพอพระสังฆราชปัลเลอกัว มาเป็นเวลาถึง 15 ปี แล้วตั้งแต่ครั้งรัชกาลก่อน ทรงมีพระบรมราชโองการประกาศยกเว้นพวกคริสตังไม่ต้องทำการบวงสรวงใดๆ ทั้งสิ้น ทรงมีลายพระหัตถเลขาถึงพระสังฆราชปัลเลอกัว ยืนยันจะทรงให้ความคุ้มครองพวกคริสตัง กับทรงพระราชทานของขวัญมาให้ด้วย ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1852 ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระสังฆราชเข้าเฝ้าเป็นทางการ มิสซังก็ได้รับสันติสุข และมิสชันนารีกลับมาทำงานแพร่ธรรมตามเดิม สมเด็จพระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 9 ทรงทราบเรื่อง ก็ทรงมีพระราชสมณสารฉบับแรก ลงวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ.1852 ส่วนฉบับที่สอง ลงวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 1861 มาถึงมีใจความว่าทรงขอบพระทัยที่องค์พระมหากษัตริย์ไทยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อบรรดาคริสตังไทยเป็นอย่างยิ่ง 
 
ปี ค.ศ. 1853 พระสังฆราชปัลเลอกัว กลับไปประเทศฝรั่งเศส  ท่านนำชายหนุ่มไทย 2 คนไปด้วย และท่านยังได้ทำพจนานุกรมฉบับภาษาไทย-ลาติน-ฝรั่งเศส-อังกฤษ ฉบับร่างกับหนังสือเรื่อง ราชอาณาจักรไทย พระสังฆราชได้เข้าเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 และพระจักรพรรดินี ท่านได้รับอนุญาตให้พิมพ์หนังสือพจนานุกรมในโรงพิมพ์ของรัฐบาลฝรั่งเศสได้ แล้วพระสังฆราชปัลเลอกัว ได้เดินทางไปกรุงโรม
 
ปี ค.ศ.1855 พระสังฆราชปัลเลอกัว เดินทางกลับมายังประเทศไทย ท่านได้นำของขวัญที่ระลึก จากสมเด็จพระสันตะปาปา และจากพระเจ้าจักรพรรดิแห่งประเทศฝรั่งเศสมาทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์ไทยด้วย 
 
ปี ค.ศ.1858 เพื่อเป็นการชดเชยการที่ผู้กระทำทุราจารต่อวัดแม่พระลูกประคำ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้พระราชทานที่ดินอีกแปลงหนึ่งให้แก่วัดกาลหว่าร์ ที่ดินแปลงนี้ ขยายที่ของวัดไปจนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ที่ดินมีราคาสูงมาก 
 
พระสังฆราชปัลเลอกัว ถึงแก่มรณภาพ ในวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ.1862 ที่กรุงเทพฯ ท่านเป็นพระสังฆราชองค์เดียว ในบรรดาประมุขมิสซัง ที่เขาพูดกันว่า ท่าน “ดีจนเกินไป” จะจริงเท่าใด สมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงมีพระราชประสงค์ให้จัดงานศพของพระสังฆราชอย่างสง่าสมเกียรติที่สุด ทรงประทับที่หน้ามุขเมื่อกระบวนแห่ศพผ่านมา ทหารลดธงมหาราชลงครึ่งเสา เป็นการไว้อาลัยต่อการจากไปของท่าน ขณะนำศพของท่านบรรจุในโบสถ์คอนเซปชัญ ปืนใหญ่ก็ยังสลุต 5 นัด เป็นการสดุดีแด่พระสังฆราชผู้ล่วงลับ
 
หลังจากงานศพเสร็จสิ้นลงแล้ว คณะมิสชันนารีได้ทูลเกล้าฯ ถวายจดหมายเพื่อเป็นการแสดงความรู้คุณแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ และได้ทูลเกล้าฯ ถวายแหวนของพระสังฆราชปัลเลอกัวแด่พระองค์ท่านด้วย องค์พระประมุขของประเทศทรงประทับพระราชหฤทัยในความกตัญญู และความมีสัมมาคารวะของเหล่ามิชชันนารี จึงทรงมีพระราชหัตถเลขามาขอบคุณ และแสดงความนิยมในตัวพระสังฆราชผู้ล่วงลับแล้ว ส่วนในวัดของเมืองคอมแบร์โตล์ บ้านเกิดของพระสังฆราชปัลเลอกัวเอง มีแผ่นจารึกนามของมิสชันนารีใจร้อนรนเปรื่องปราชญ์ท่านนี้ไว้ด้วย.