-
Category: ตารางเทียบสมัยการปกครองอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
-
Published on Friday, 09 October 2015 09:17
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 3231
พระสังฆราช ฌอง หลุยส์ เวย์ เกิดวันที่ 6 มกราคม ค.ศ.1840 ที่เมืองอาโรลส์ แขวงโฮ๊ตลัวร์ ท่านเรียนจบมัธยมศึกษาในบ้านเณรเล็กที่มอนิสโทรลซือร์ลัวร์ และเข้าบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศ วันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 1862 รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ วันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ.1865 และออกเดินทางมามิสซังสยาม วันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1865
มิสชันนารีหนุ่มผู้นี้มาถึงกรุงสยามในเดือน กันยายน ค.ศ.1865 ณ ที่นั้น ท่านพบพระสังฆราชดือปองด์ ซึ่งเพิ่งรับอภิเษกเป็นพระสังฆราช และมิสชันนารี 8 องค์ ท่านเริ่มเรียนภาษาสยามทันที ในไม่ช้าก็รู้เพียงพอที่จะทำการแพร่ธรรมได้ ไม่นานนักพระสังฆราชดือปองด์ ก็สังเกตเห็นคุณสมบัติเด่นๆ ของมิสชันนารีใหม่ ท่านเวย์จึงได้รับมอบหมายให้ปกครองดูแลบ้านเณรของมิสซังและวัดอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ ท่านทำหน้าที่ดังกล่าวพร้อมทั้งเรียนรู้ภาษาสยามอย่างลึกซึ้ง และตั้งใจเรียนภาษาบาลีอย่างเคร่งครัดยิ่ง
ปี ค.ศ.1872 ท่านจัดดำเนินการย้ายบ้านเณรของมิสซัง จากเขตวัดอัสสัมชัญไปอยู่ที่บางช้าง หน้าวัดบางนกแขวก ท่านเป็นผู้ช่วยที่ขยันขันแข็งของพระสังฆราชดือปองด์
สองปีครึ่งหลังจากที่พระสังฆราชดือปองด์ ถึงแก่มรณภาพ คุณพ่อเวย์จึงได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราช และประมุขมิสซังสยาม โดยสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 9 ในวันที่ 14 กรกฏาคม ค.ศ.1875 พิธีอภิเษกพระสังฆราชเวย์จัดขึ้นในวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 1875 ณ วัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ สามเสน ผู้อภิเษกคือ พระสังฆราช อิสิดอร์-ฟรังซัวส์-ยอแซฟ กอลมแบรต์ ประมุขมิสซังโคชินตะวันตก (ไซ่ง่อน) ร่วมกับคุณพ่อAmédée Henri LE MÉE ซึ่งติดตามพระคุณเจ้ากอลมแบรต์มาจากไซ่ง่อน และคุณพ่อฌอง-ปิแอร์ มาร์แตง เจ้าอาวาสวัดคอนเซ็ปชัญ ภายใต้การปกครองของท่าน มีการพัฒนาวัดเก่าๆ จำนวนหนึ่ง และมีการจัดตั้งกลุ่มคริสตังใหม่ๆ หลายกลุ่ม คุณพ่อโปรดอมได้เริ่มไปประกาศพระวรสารในประเทศลาวอย่างน่าชื่นชมยิ่ง และก็ติดตามดูแลต่อไปแล้วเขตนี้ก็ได้รับการจัดตั้งเป็นเทียบสังฆมณฑล โดยพระสมณโองการ In Principis Apostolorum ลงวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ.1899
ปีค.ศ.1885 ท่านมอบหมายให้คุณพ่อกอลมเบต์ ดำเนินงานสร้างโรงเรียนขึ้นมาแห่งหนึ่ง ที่จะถูกมอบให้อยู่ในการปกครองดูแลของภราดาคณะเซนต์คาเบรียล ในปี ค.ศ.1901 โรงเรียนนี้คือ โรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ โรงเรียนได้รับการจัดตั้งขึ้นและเจริญพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ สถานศึกษาสำหรับเด็กหญิงก็ได้รับการจัดตั้งขึ้นด้วย คือ โรงเรียนเซนต์โยเซฟ
ในปี ค.ศ.1893 พระสังฆราชเวย์ ได้แสดงให้เห็นความสุขุมรอบคอบอันยิ่งใหญ่ คือเมื่อมีข่าวลือว่า พวกทหารฝรั่งเศสจะมายึดกรุงสยาม ท่านก็สามารถห้ามมิให้ทหารฝรั่งเศสทิ้งลูกระเบิดลงในกรุงเทพฯ
ในปี ค.ศ.1895 พระสังฆราชเวย์ สั่งให้คุณพ่อโรมิเออ เหรัญญิกของท่าน จัดการซื้อที่ดินทั้งหมดที่ปัจจุบันนี้อยู่ตามแนวถนนเซนต์หลุยส์ ซอย 1, 2, 3 บนที่ดินนี้ ท่านจัดการสร้างโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์เสร็จในปี ค.ศ.1898 พระสังฆราชโชแรง จัดสร้างวัดเซนต์หลุยส์ ในปี ค.ศ.1957 โรงเรียนอัสสัมชัญระดับประถม พร้อมทั้งโรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์ ก็อยู่บนที่ดินดังกล่าวด้วย
ตั้งแต่ปี ค.ศ.1900 ท่านเริ่มดำเนินการติดต่อกับทางรัฐบาลสยาม เรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินต่างๆ ของมิสซัง การติดต่อในเรื่องนี้สำเร็จลงได้ โดยอาศัย คุณพ่อกอลมเบต์ ดังนั้นมิสซังคาทอลิก จึงถือกรรมสิทธิ์ที่ดินได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายฉบับหนึ่ง ชื่อ “พระราชบัญญัติว่าด้วยลักษณะฐานะวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิกในกรุงสยาม” ประกาศเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ร.ศ. 128 ท่านจัดพิมพ์พจนานุกรมของพระสังฆราชปัลเลอกัวขึ้นใหม่ โดยมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงบ้าง นิสัยของท่านในด้านการวางอำนาจและจู้จี้จุกจิก บางครั้งกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ของท่านกับพระสงฆ์ในปกครอง
ท่านถึงแก่มรณภาพลงในโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ที่กรุงเทพฯ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1909 พิธีปลงศพกำหนดจะทำในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1909 เวลา 8.00 น.
ตั้งแต่เช้าตรู่ ฝูงชนมาออกันอยู่รอบๆ สำนักพระสังฆราช และเวลา 7.00 น. บรรดาผู้แทนจากพระราชวัง แต่งชุดสีแดงก็มาถึง กลุ่มหนึ่งแบกสังเค็ดประดับด้วยม่านสีทอง อีกกลุ่มหนึ่งถือร่มเกียรติยศ พวกนักดนตรีสะพายกลองเดินขบวนแบบโบราณ และใช้สำหรับพิธีปลงศพพวกชั้นผู้ใหญ่เท่านั้น หัวหน้าของพวกเขา ซึ่งเป็นบุคคลสูงศักดิ์ และนายจารีตของพระราชวัง แนะนำขบวนที่มานี้ ต่อคุณพ่อผู้เป็นรองประมุขมิสซังในพระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงมีพระราชประสงค์ให้เกียรติเป็นการระลึกถึงพระสังฆราชเวย์ แบบเดียวกับพระราชบิดาของพระองค์ คือ สมเด็จพระจอมเกล้าฯ ผู้เคยทรงพระราชทานเกียรติในพิธีปลงศพของพระสังฆราชปัลเลอกัว พระสังฆราชแห่งมาลอส ขุนนางผู้เดียวกันนั้นคือ จมื่นองค์ขวา ได้ถวายเทียนและดอกไม้แก่คุณพ่อรองประมุขมิสซัง ในพระนามของพระเจ้าอยู่หัว เป็นธรรมเนียมที่พระมหากษัตริย์จะพระราชทานของเหล่านี้สำหรับพิธีปลงศพขุนนางชั้นสูง ยังพระราชทานเงิน 200 เหรียญให้อีกด้วย ขบวนขุนนางทั้งหมดนั้นซึ่งจะไม่เข้าร่วมจารีตพิธีของเรา ก็เข้าอยู่ในขบวนในฐานะกองเกียรติยศตามเส้นทางจากสำนักพระสังฆราชถึงวัด เวลา 8.00 น. ก็เคลื่อนศพออกจากสำนักพระสังฆราชไปที่วัด และทันที พิธีมิสซาก็เริ่มขึ้น แล้วก็พิธีปลงศพ
เราประกอบพิธีเรียบๆ อย่างธรรมดาเท่าที่จะทำได้ ตามคำสั่งของประมุขมิสซังผู้ล่วงลับไปแล้ว แต่สาธารณชนซึ่งไม่ได้รู้เห็นถึงคำสอนอันเด็ดขาดของพระสังฆราช กลับต้องการให้ประกอบพิธีปลงศพอย่างใหญ่โตมโหฬารและอย่างสง่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากพระราชทานเกียรติต่างๆ ตามที่กล่าวแล้วนั้น ยังได้ทรงส่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารคนหนึ่งมาเป็นผู้แทนพระองค์ในพิธีปลงศพ ผู้นั้น คือ นายพล พระยาสุรเสนา แล้วในวันเดียวกัน พระองค์ยังได้ทรงมอบหมายให้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากรมหมื่น เทววงศ์วโรปการ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ มีจดหมายถึงอธิการมิสซังกล่าวแสดงความเศร้าสลดใจ และกล่าวยกย่องชมเชยพระสังฆราชเวย์ ว่าเป็นพระสังฆราชผู้ยิ่งใหญ่องค์หนึ่ง ที่กรุงสยามต้องแสดงความรู้คุณต่อท่าน ซึ่งเป็นมิตรที่จริงใจยิ่งคนหนึ่งของกรุงสยามตลอดมา และประเทศสยามสมควรได้รับการแสดงความเศร้าสลดใจในมรณภาพนี้ เช่นเดียวกับประเทศฝรั่งเศส และมิสซังคาทอลิก
คุณพ่อรองประมุขมิสซังของเรายังได้รับจดหมายอื่นๆ อีกมากมายจากผู้ทรงเกียรติต่างๆ แสดงถึงความโศกเศร้าและการไว้อาลัย ด้วยคำพูดที่น่าประทับใจยิ่ง พร้อมกับแสดงความเคารพอย่างสูงต่อผู้วายชนม์และต่อ มิสซัง ถ้าเอามาบรรยายที่นี้ก็จะยาวเกินไปบรรดาข้าราชการและผู้ทรงเกียรติจากนครหลวงก็ให้เกียรติมาร่วมพิธี หรือไม่ก็ส่งผู้แทนมาร่วมพิธีปลงศพ สยามมงกุฎราชกุมารทรงส่งพระยาราชวัลลภ มาเป็นผู้แทนพระองค์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุวงศ์ พระเจ้า น้องยาเธอในพระเจ้าอยู่หัว ทรงส่งหลวงอำนาจ พระเจ้าเทววงศ์ฯ หม่อมเจ้าอื่นๆ และขุนนางชั้นสูงหลายคนมาร่วมพิธีด้วยตนเอง คณะทูตและคณะกงสุล จากประเทศมหาอำนาจ ต่างก็มาร่วมพิธีกันอย่างครบถ้วน บรรดาผู้ทรงเกียรติจากกลุ่มชาวยุโรปหรือชาวเอเชีย ก็มาร่วมพิธีกันเป็นจำนวนมากเหมือนกัน และการมาร่วมพิธีของผู้คนเหล่านี้ก็แสดงถึงความรักใคร่ชอบพอ และความเคารพนับถืออย่างสูงที่พวกเขามีต่อประมุขมิสซังอยู่เสมอ เพราะท่านเป็นที่รู้จักดีในบรรดาคนเหล่านี้
ศพของพระสังฆราชเวย์ ได้รับการบรรจุในหลุมที่เตรียมไว้แล้วใต้ทางเข้าบริเวณพระแท่นของวัดอัสสัมชัญ หลังแรก และต่อมาก็ถูกย้ายไปอยู่ในอุโมงค์ของอาสนวิหารอัสสัมชัญ หลังใหม่.