พระสังฆราชแปร์รอส

 
 
พระสังฆราชมารี โยเซฟ เรอเน แปร์รอส เกิดวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1870 ที่เมืองกือเวนไฮม แขวงโฮ๊ตอัลซาส ประเทศฝรั่งเศส ท่านเริ่มเรียนชั้นประถมอยู่ที่โรงเรียนในหมู่บ้าน และเรียนชั้นมัธยมอยู่ที่โรงเรียนราษฎร์ ณ เมืองลาชาแปลล์ซูรูฌมงต์ ในดินแดนแบลฟอร์ต ปี ค.ศ.1882-1887 ท่านจบชั้นอุดมศึกษาโดยได้ปริญญาตรีอักษรศาสตร์  ที่เบอซังซอง 
 
เข้าบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศ วันที่ 14 กันยายน ค.ศ.1887 หลังจากนั้นหนึ่งปีผ่านไป วันที่ 22 กันยายน ค.ศ.1888 ท่านได้รับศีลโกน  และวันที่ 21 กันยายน ค.ศ.1889 ท่าได้รับศีลน้อยขั้นอื่นๆ ท่านเข้ารับราชการทหารอยู่หนึ่งปีที่แบลฟอร์ต ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1891 ถึงเดือนกันยายน ค.ศ.1892 และก็กลับเข้าบ้านเณรอีก ท่านได้รับศีลรองอนุสงฆ์วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1893 เป็นอนุสงฆ์ วันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ.1893 และบวชเป็นพระสงฆ์วันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ.1893  ท่านได้รับมอบหมายให้มามิสซังกรุงสยาม 
 
ท่านออกจากท่าเรือมารเซย พร้อมกับมิสชันนารีบวชใหม่ 6 คน  โดยเรือ “ซังราเลียง” ในวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ.1893 และมาถึงกรุงเทพฯวันที่ 25 มกราคม ค.ศ.1894 พระสังฆราชเวย์ซึ่งเป็นประมุขมิสซังกรุงเทพฯ อยู่นั้น ให้ท่านเรียนภาษาสยาม แล้วในปี ค.ศ.1895 ท่านก็ไปอยู่กับคุณพ่อกียู  ที่วัดนครชัยศรี ในฐานะปลัด ที่วัดนี้ ในขณะที่ท่านทำงานอภิบาล ท่านก็เรียนภาษาสยามต่อไปอีก และยังเริ่มเรียนภาษาจีนด้วย ในฐานะปลัดอยู่ที่วัดนครชัยศรี ท่านยังต้องดูแลวัดท่าจีนด้วย เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1896 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นอาจารย์อยู่ที่บ้านเณรบางช้าง ที่ซึ่งคุณพ่อแบร์นัต เป็นอธิการอยู่  เมื่อคุณพ่อแบร์นัต ถูกเรียกตัวไปเป็นอาจารย์ที่กรุงโรมในปี ค.ศ.1901 คุณพ่อมาตราต์ก็มารับตำแหน่งแทน  สมัยนั้น เป็นสมัยก่อสร้างอาคารใหญ่โตต่างๆ ที่บ้านเณร  อาคารหลังกลางและวัดน้อย สร้างเสร็จในปี ค.ศ.1906 
 
หลังจากอยู่ที่บ้านเณรเป็นเวลานาน ถึง 10 ปี  พระสังฆราชเวย์ก็ส่งท่านไปดูแลกลุ่มคริสตังที่หัวไผ่ ท่านอยู่หัวไผ่เพียงแค่ 3 ปี  ในปี ค.ศ. 1909 ท่านถูกเรียกตัวกลับไปที่บ้านเณร เพื่อทำหน้าที่แทนอธิการ คือ คุณพ่อมาตราต์  ซึ่งล้มป่วยลง และต้องกลับไปประเทศฝรั่งเศส พระสังฆราชเวย์ถึงแก่มรณภาพลง ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1909
 
ดังนั้น ท่านแปร์รอส จึงได้รับแต่งตั้งเป็นประมุขมิสซัง และเป็นพระสังฆราชเกียรตินามแห่งโซอารา เดือนกันยายน ค.ศ.1909 ท่านได้รับการอภิเษกเป็นพระสังฆราชที่กรุงเทพฯ  ในวัดแม่พระลูกประคำ วันที่ 30 มกราคม  ค.ศ.1910 โดยพระสังฆราชบาริยอง  พระสังฆราชแห่งมะละกา  ร่วมด้วย พระสังฆราชบูชืต์ ประมุขมิสซังเขมร และคุณพ่อด็อนต์  รองประมุขมิสซัง และรักษาการตำแหน่งอธิการมิสซังกรุงสยาม
 
พระสังฆราชแปร์รอสถูกเกณฑ์ทำสงคราม และถูกเรียกตัวกลับฝรั่งเศสตอนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในปี ค.ศ. 1914 ท่านทำหน้าที่จิตตาธิการประจำกองทหารที่แบลฟอร์ต  และพ้นเกณฑ์ได้ในปี ค.ศ. 1915 ท่านกลับมายังมิสซังของท่านในวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1915 ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1910 ถึง ปี ค.ศ. 1935  ท่านโปรดศีลบวชให้พระสงฆ์พื้นเมือง 36 องค์  ซึ่งองค์หนึ่งเป็นพระสงฆ์ของมิสซังลาว ท่านต้อนรับบรรดาภคินีคณะอุร์สุลิน ในปี ค.ศ. 1924 และบรรดาภคินีคณะคาร์แมล ในปี ค.ศ.1925
 
ในปี ค.ศ.1924 ท่านยกเลิกอำนาจปกครองภคินีคณะรักไม้กางเขน จากเจ้าอาวาสวัดสามเสน คุณพ่อ ด็อนต์ จัดตั้งภคินีคณะนี้ที่อารามเซน์ฟรังซิสซาเวียร์ สามเสน พระสังฆราชท่านก็ยกฐานะคณะรักไม้กางเขนขึ้นเป็นคณะในระดับสังฆมณฑล ที่อารามพระหฤทัย ท่านจัดการให้คณะได้มีจิตตาธิการองค์แรก ไม่ขึ้นกับเจ้าอาวาส  ให้มีอธิการองค์แรก และมีกฎวินัยที่ท่านจัดพิมพ์ ในปี ค.ศ.1930 ท่านยกฐานะภาคตะวันตกเฉียงใต้ทั้งหมดของเทียบสังฆมณฑลอันกว้างใหญ่ของท่านให้อยู่ในความดูแลของบรรดาพระสงฆ์คณะซาเลเซียน และทำการอภิเษกคุณพ่อปาซ็อตตี พระสงฆ์คณะซาเลเซียนเป็นพระสังฆราช ในปี ค.ศ.1941 ที่กรุงเทพฯ 
 
เดือนมกราคม ค.ศ.1935 ท่านจัดการอพยพพวกเณรออกจากบ้านเณรบางช้างที่ยกให้คณะซาเลเซียนไปแล้ว และเปิดบ้านเณรใหม่ซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จที่ศรีราชา ปี ค.ศ.1944 ท่านชื่นชมยินดีที่ได้ทำการอภิเษกพระสังฆราชยาโกเบ แจง เกิดสว่าง จากคณะพระสงฆ์พื้นเมือง และก็ยินดีมอบภาคตะวันออกเฉียงใต้ของเทียบสังฆมณฑลของท่าน ให้อยู่ในความดูแลปกครองของพระสังฆราชยาโกเบ แจง  เกิดสว่าง 
 
เนื่องจากท่านรู้สึกเหนื่อยมาก จึงขอให้ทางกรุงโรมแต่งตั้งพระสังฆราชผู้ช่วยองค์หนึ่ง พร้อมทั้งมีสิทธิ์สืบตำแหน่งต่อในอนาคตด้วย และที่สุด ปี ค.ศ.1947 ท่านยื่นเรื่องขอลาออกจากตำแหน่งประมุขมิสซัง และได้รับมอบเกียรติยศเป็น  “ผู้ช่วยประจำสำนักพระสันตะปาปา (Assistant su Trone Pontifical)  ท่านไปพักผ่อนที่เชียงใหม่  ทางภาคเหนือของมิสซังท่านลงมาธุระที่กรุงเทพฯบางครั้งบางคราว นอกนั้น ท่านก็อยู่ที่เชียงใหม่ จนกระทั่งโรคภัยไข้เจ็บทำให้ท่านต้องมาเข้าโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ที่ซึ่งท่านถึงแก่มรณภาพลง วันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ.1952 
 
 
ศพของท่านถูกฝังไว้ที่อุโมงค์ของอาสนวิหารอัสสัมชัญ วันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ.1952 ต่อหน้าบรรดาพระสงฆ์นักบวชชายหญิง และสัตบุรุษจำนวนมากมายมหาศาล.