-
Category: ตารางเทียบสมัยการปกครองอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
-
Published on Friday, 09 October 2015 09:16
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 3214
พระสังฆราช หลุยส์ ออกุสแตง เคลมังต์ โชแรง เกิดวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ.1888 ในสังฆมณฑลเซส์ ท่านสูญเสียบิดาไปเมื่อตอนยังเด็ก มารดาจึงเป็นผู้เลี้ยงดู ท่านได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ ในวัดน้อยของคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส วันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 1912 และวันที่ 31 ธันวาคม ปีเดียวกันนั้น ท่านก็เดินทางมาถึงมิสซังกรุงเทพฯ ขณะที่ยังเป็นมิสชันนารีหนุ่มอยู่ ในขั้นแรก พระสังฆราชแปร์รอส ส่งท่านไปเรียนภาษาจีนกับกลุ่มคาทอลิกชาวจีนที่บางนกแขวก แต่ท่านก็ถูกเรียกตัวกลับมาที่กรุงเทพฯอย่างรวดเร็ว เพราะทางโรงพิมพ์อัสสัมชัญต้องการผู้อำนวยการคนหนึ่ง
วันที่ 23 เมษายน ค.ศ.1925 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเหรัญญิกของมิสซังกรุงเทพฯ โดยยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพิมพ์ เวลาสงครามโลก ค.ศ.1914 ท่านจัดพิมพ์นิตยสาร “สงฆ์สัมพันธ์” (Trait d’Union)
ปี ค.ศ.1932 ท่านจัดการสร้างอาคาร 4 ชั้น อันสวยหรูขึ้นมาแทนที่สำนักมิสซังหลังเก่า ในสมัยนั้น อาคาร 4 ชั้นนี้เป็นอาคารหนึ่งที่สวยที่สุดในกรุงเทพฯ สำนักมิสซังหลังใหม่นี้ได้รับการเสกโดย พระสังฆราชเดอ เกบรีอังต์ (ดู C.R. ปี ค.ศ.1931 หน้า 200 และ ปี ค.ศ.1932 หน้า 236) ตั้งแต่ปี ค.ศ.1965 สำนักมิสซังนี้ใช้เป็นที่ทำการของเหรัญญิก (Procure) และสำนักสังฆราช (Archeveche) ฯลฯ ในเวลาเดียวกัน ขณะที่ท่านกำลังพักผ่อนอยู่ในฝรั่งเศส ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชแห่งโปลีสตีโลส และผู้สืบตำแหน่งต่อจาก พระสังฆราชแปร์รอส ในวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ.1947. ท่านได้รับอภิเษกเป็นสังฆราชที่ มองลียอง (เซส์)
เมื่อกลับมาถึงประเทศไทยเดือนต่อมา ท่านรับหน้าที่ปกครองดูแลเทียบสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ส่วนพระสังฆราชแปร์รอส นั้น ย้ายไปอยู่ที่วัดพระหฤทัย เชียงใหม่ ทางเหนือสุดของประเทศไทย พระสังฆราชโชแรง ไม่ปรารถนาที่จะพักอยู่ในสำนักพระสังฆราชหลังเก่า ซึ่งพระสังฆราชแปร์รอส ใช้เป็นที่พักอยู่จนถึงเวลานั้น เพราะสกปรกและผุพังมากแล้ว ท่านพักอยู่ที่สำนักมิสซัง (Procure) ระยะหนึ่ง ขณะที่ทำการก่อสร้างคฤหาสน์อันสวยหรูยิ่งหลังหนึ่งใกล้โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ถนนสาทรใต้ เมื่อจะถึงแก่มรณภาพ พระสังฆราชตั้งใจมอบคฤหาสน์หลังนี้ให้เป็นบ้านพักพระสงฆ์ สำหรับเจ้าอาวาสวัดเซนต์หลุยส์ในอนาคต แต่พินัยกรรมของท่านไม่ทราบไปตกหล่นอยู่ที่ใด พระสังฆราช ยวง นิตโย จึงขายคฤหาสน์สำนักสังฆราชหลังนี้แก่ทางสมณทูตวาติกันไป
ปี ค.ศ. 1955 พระสังฆราชโชแรง แสดงความปรารถนาที่จะสร้างวัดหลังหนึ่ง ใกล้โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ เพราะในเขตใกล้เคียงนั้น มีครอบครัวคาทอลิก 200 ครอบครัวอยู่ไกลจากวัดทั้งหลาย
ในจดหมายเวียนของท่าน ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ.1955 (cf.P.P. 1955) ท่านเขียนไว้ว่า: “เราใคร่ที่จะจัดให้เป็นอนุสรณ์ระลึกถึงมิสชันนารีที่จากเราไปก่อนแล้ว 2 องค์ องค์หนึ่งเป็นพระสังฆราช คือ พระสังฆราชหลุยส์ เวย์ ซึ่งเป็นประมุขมิสซังกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1875 ถึง ค.ศ. 1909 อีกองค์หนึ่ง คือ คุณพ่อหลุยส์ โรมิเออ เหรัญญิกมิสซัง ท่านทั้งสองเห็นพ้องต้องกันในการเลือกและซื้อที่ดินผืนนี้ ตอนปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งพระญาณสอดส่องให้จัดสร้างวัดนี้ขึ้น”
วัดเซนต์หลุยส์นี้ ได้รับการเสกอย่างสง่ายิ่ง เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ.1957 โดยมีผู้มาร่วมพิธีดังต่อไปนี้ คือ พระสังฆราช ลากอสต์ ซึ่งเป็นพระสังฆราชแห่งตาลีและผู้รั้งตำแหน่งประมุขมิสซังเชียงใหม่, พระสังฆราช ฟาลิแอร์ อัครสังฆราชแห่งมันดาเลย์, พระสังฆราช บาแซง อัครสังฆราชแห่งย่างกุ้ง, พระสังฆราชลูสเดรกต์ ประมุขมิสซังเวียงจันทน์ พร้อมด้วย พระสังฆราชบาเยต์, พระสังฆ ราชคาเร็ตโต, พระสังฆราชสงวน, พระสังฆราชอ่อน และพระสังฆราชดือฮาร์ต ซึ่งเป็นประมุขมิสซังต่างๆ ในประเทศไทย (P.P. 1957)
คุณพ่อลังเยร์ ปลัดวัดกาลหว่าร์ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดใหม่นี้ พระสังฆราช โชแรง ปรารถนาให้วัดเซนต์หลุยส์นี้อยู่ในการปกครองดูแลของบรรดาพระสงฆ์คณะมิสซังต่างประเทศ ท่านจึงเสนอต่อคุณพ่ออธิการแขวง ในเวลานั้น ให้ทำหนังสือสัญญาระหว่างเทียบสังฆมณฑลกรุงเทพฯ กับแขวงคณะ M.E.P. ในประเทศไทย ในหนังสือสัญญานี้มีข้อกำหนดไว้ว่า วัดเซนต์หลุยส์ เป็นของเทียบสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ทุกประการ แต่จะอยู่ในการปกครองดูแลของคณะสงฆ์ M.E.P. ซึ่งคุณพ่ออธิการแขวงจะเป็นผู้แต่งตั้งเจ้าอาวาส เสนอต่อพระสังฆราชแล้วทั้งสองฝ่ายก็ได้ทำการเซ็นหนังสือสัญญากัน หลังจากนั้นอีกไม่นาน คือ หลังจากพระสังฆราชโชแรงถึงแก่มรณภาพลง อุปสังฆราชของพระสังฆราช ยวง นิตโย ก็ไปพบเจ้าอาวาส และบอกท่านว่าวัดเซนต์หลุยส์เป็นของคณะ M.E.P. ก็จริง แต่โรงเรียนต่างๆ ที่ทำการก่อสร้างขึ้นบนที่ดินผืนนี้ นับตั้งแต่สร้างวัดแล้ว เป็นของสังฆมณฑล เจ้าอาวาสตอบอุปสังฆราชว่า ทุกอย่างรวมทั้งวัดกับรายได้ทั้งหมด เป็นสมบัติของมิสซัง มิใช่ของคณะ M.E.P. และเจ้าอาวาสก็ทำอธิบายชี้แจงหนังสือสัญญาให้อุปสังฆราชทราบ จนเป็นที่พอใจยิ่ง กระนั้นก็ดี อธิการแขวงประสบปัญหายุ่งยากในการหาพระสงฆ์มารับผิดชอบปกครองดูแลวัดเซนต์หลุยส์ จนกระทั้งหลังจากนั้นอีกไม่กี่ปี อธิการแขวงจึงไปขอให้พระสังฆราชยวง นิตโย แต่งตั้งพระสงฆ์ไทยเข้ารับหน้าที่แทนพระสงฆ์คณะ M.E.P. และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา วัดเซนต์หลุยส์ ก็ขึ้นกับอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ในทุกด้าน
พระสังฆราชโชแรง ส่งเสริมให้นักบวชคณะต่างๆ เข้ามาทำงาน ในเทียบสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ดังนี้ :
ปี ค.ศ.1951 ท่านให้การต้อนรับคณะพระสงฆ์คณะเบธาราม ซึ่งถูกขับไล่จากประเทศจีน
ปี ค.ศ.1952 ภราดาคณะลาซาล มาเปิดโรงเรียน โชติระวี ที่นครสวรรค์
ปี ค.ศ.1954 พระสงฆ์คณะเยสุอิตก็กลับมาอีก หลังจากเงียบหายไป 3 ศตวรรษ
ปี ค.ศ.1955 บรรดาพระสงฆ์คณะคามิลเลียน มาเปิดโรงพยาบาลในประเทศไทย
ปี ค.ศ.1955 หลังจากเสนอเรื่องไปทางกรุงโรมแล้ว ท่านก็รับรองคณะภคีนีฆราวาสธิดาพระแม่มารี จัดตั้งขึ้นโดยคุณพ่อเดลลาโตเร
ปี ค.ศ.1957 พระสังฆราชประกาศกฤษฎีกาฉบับหนึ่ง ตั้งภคินีคณะพระหฤทัยแห่งกรุงเทพฯ แทนภคินีคณะรักไม้กางเขนเดิม
ปี ค.ศ.1957 อีกเช่นกัน ท่านต้อนรับภคินีคณะพระกุมารเยซู (แซงต์โมร์) ซึ่งประมาณ ปี ค.ศ.1900 ได้มอบโรงเรียนสำหรับนักเรียนหญิง (โรงเรียนเซนต์โยเซฟ) ให้อยู่ในการปกครองดูแลของภคินีคณะเซนต์ปอลเดอชาร์ตร
ปี ค.ศ.1965 ท่านต้องรับภคินีคณะพระศรีชุมพาบาล
พระสังฆราชยังได้ทำการพัฒนางานฆราวาสแพร่ธรรม ด้วยการส่งเสริมให้จัดตั้งองค์กรกิจกรรมคาทอลิกต่างๆ เช่น สมาคมนักบุญวินเซนต์เดอปอล คณะพลมารี คณะยุวกรรมกรคาทอลิก สมาคมครูคาทอลิก ศูนย์คาทอลิก ฯลฯพระสังฆราชโชแรง ไปเข้าร่วมประชุมสภาสังคายนาวาติกันที่สอง ที่กรุงโรม แต่ในไม่ช้า ท่านก็ล้มป่วยหนัก: เราคอยฟังข่าวการมรณภาพของท่านในวันใดวันหนึ่ง แล้วท่านก็กลับหายป่วย กลับมาที่กรุงเทพฯ
ท่านขอให้มีพระสังฆราชผู้ช่วยองค์หนึ่ง พร้อมด้วยสิทธิ์สืบตำแหน่ง ท่านก็ได้ผู้ช่วย คือ พระสังฆราชยวง นิตโย ซึ่งได้รับอภิเษกเป็นสังฆราชที่กรุงโรม ปี ค.ศ. 1963 พระสังฆราชโชแรง มอบหมายให้ท่านจัดการสร้างบ้านเณรเล็กนักบุญยอแซฟ สำหรับมิสซังกรุงเทพฯ ที่สามพราน (นครชัยศรี) เพื่อแทนบ้านเณรพระหฤทัยศรีราชา ซึ่งมอบให้แก่มิสซังจันทบุรีไปแล้ว ในช่วงหลังๆ นี้ พระสังฆราชโชแรง พูดถึงการมรณภาพของท่านอยู่บ่อย เหมือนกับว่าท่านรู้สึกตัวใกล้จะถึงความตาย และแล้ววันหนึ่ง สายตาของท่านเกิดมืดมัว ดวงตาของท่านอักเสบเป็นต้อ ท่านได้รับการผ่าตัด วันที่ 24 เมษายน ค.ศ.1965 การผ่าตัดนัยน์ตาประสพผลสำเร็จ แต่อาการทั่วไปทรุดหนักลง ท่านรู้สึกหายใจไม่ค่อยออก จึงต้องทำการผ่าตัดหลอดลม ตอนกลางคืนหลังการผ่าตัด พระสังฆราช ยวง นิตโย โปรดศีลเจิมคนป่วยให้ท่าน และพระสังฆราชโชแรง ยังคงอยู่ในสภาพหมดสติอีกสองวัน พระสังฆราชโชแรง จากไปหาพระอาจารย์เจ้าอย่างสงบราบคาบ วันที่ 29 เมษายน ค.ศ.1965 เวลา 17.30 น. (P.P. พ.ค. – มิ.ย. ค.ศ.1965)