พระอัครสังฆราชยวง นิตโย

 

พระอัครสังฆราช ยอแซฟ ยวง (เคียมสูน) นิตโย

พระอัครสังฆราชกิตติคุณแห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

ARCHBISHOP  JOSEPH  JUANG (KHIEMSUN)  NITTAYO

Archbishop  Emeritus of Archdiocese of Bangkok

 
 
 
ตั้งแต่เกิด จนถึงเข้าบ้านเณรเล็ก
พระอัครสังฆราช ยอแซฟ เคียมสูน นิตโย เป็นบุตรของ โทมัส  ฟุ้ง (ครูฟุ้ เคยเป็นเณร)  และอันนา กิมกี ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ คลอง 12 อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ขึ้นกับวัดพระวิสุทธิวงส์ (ลำไทร) เกิดเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ.1908  เป็นบุตรคนที่  3 มีพี่สาว  1 คน  พี่ชาย 1 คน  และน้องชาย 1 คน  เดิมชื่อเคียมสูน  เมื่ออายุได้ 3  ขวบ มารดาก็ถึงแก่กรรม ต่อมาได้ย้ายไปอยู่กับก๋งที่ปากลัด จนกระทั่งอายุได้  5-6 ขวบ ทั้งสี่พี่น้องจึงได้ย้ายมาอยู่เป็นนักเรียนประจำที่โรงเรียนซางตาครู้สคอนแวนต์ ธนบุรี ซึ่งเวลานั้นตั้งอยู่ริมแม่น้ำ (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนซางตาครู้สศึกษา) ได้เรียนอยู่ที่โรงเรียนซางตาครู้ส 4 ปี (ค.ศ.1919-1922) จนถึงอายุ 11 ขวบ จึงกลับไปอยู่กับบิดา  เนื่องจากทางบ้านเป็นนายทุนทำนา จึงต้องมีลูกจ้างเป็นจำนวนมากซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นชาวอีสาน และการมีชีวิตอยู่กับชาวลาวเป็นประจำ ทำให้ท่านรู้ขนบประเพณีและพูดภาษาลาวได้อย่างดี 
 
เข้าบ้านเณร บวชเป็นพระสงฆ์ (ปี ค.ศ.1922-1930) 
ปี ค.ศ.1922 คุณพ่อฟูยาต์ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดลำไทรแทนคุณพ่อดือรังด์  ซึ่งกลับไปพักผ่อนที่ฝรั่งเศส ในปีนั้นเอง คุณพ่อฟูยาต์ได้ส่ง ด.ช. เคียมสูน  เข้าบ้านเณรที่บางนกแขวก (บ้านเณรบางช้าง) ซึ่งสมัยนั้นมีทั้งแผนกเณรเล็กและเณรใหญ่ โดยมีคุณพ่อเฟรเดริก (อุ่น) จิตต์ชอบค้า และครูฮั้ว (คุณพ่อสิรินทร์ หัวใจ) เป็นผู้สนับสนุน ที่บ้านเณร  ท่านได้ก้าวหน้าทางความรู้และความศรัทธาอย่างสม่ำเสมอ ในปลายปี  ค.ศ.1929  ท่านจบการศึกษาหลักสูตร 8 ปี ของบ้านเณรบางนกแขวก ผู้ใหญ่จึงส่งให้ไปทดลองใจ (โปรบาซีโอ) ในฐานะเป็นครูสอนเรียนที่วัดนักบุญฟิลิปและยาก๊อบหัวไผ่ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ซึ่งเวลานั้นคุณพ่อยาโกเบ แจง เกิดสว่าง เป็นเจ้าอาวาส (ต่อมาได้รับการอภิเษกเป็นพระสังฆราชคาทอลิกชาวไทยองค์แรกและเป็นประมุขมิสซังจันทบุรี) 
 
ไปศึกษาต่อที่กรุงโรม (ปี ค.ศ.1930-1936)
อยู่วัดหัวไผ่ได้ประมาณ 4 เดือน ผู้ใหญ่ได้ส่งไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยโปรปากันดาฟีเด กรุงโรม ในปี ค.ศ.1930 พร้อมกับครูเณรสงวน  สุวรรณศรี (ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชประมุขมิสซังจันทบุรีในปี ค.ศ.1953) เณรเคียมสูน นับเป็นเณรไทยรุ่นที่สองที่ไปศึกษาต่อยังศูนย์กลางแห่งพระศาสนจักรกรุงโรม คือ หลังจากรุ่นเณรมีแชล อ่อน 3 ปี (เณรมีแชล อ่อน ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราช ประมุขมิสซังท่าแร่-หนองแสง ในปี ค.ศ.1953)
 
บวชเป็นพระสงฆ์
เมื่อเรียนจบหลักสูตรวิชาปรัชญาและเทววิทยา ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ที่กรุงโรมเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ.1935 หลังจากได้รับศีลบวชแล้ว ท่านได้ไปถวายมิสซาแรกที่วัดนักบุญเปาโล นอกกำแพงกรุงโรม หลังจากนั้นได้ไปฉลองที่วัดพระหฤทัยแห่งคณะซาเลเซียน นอกจากมีเพื่อนเณรร่วมมิสซังแล้ว ยังมีพระเรี่ยมวิรัชพากษ์ เอกอัครราชทูตไทยประจำอิตาลีและฝรั่งเศส  และคุณพ่อบุญไทย สิงห์เสน่ห์ ซาเลเซียนไทยองค์แรก ร่วมเป็นเกียรติอยู่ด้วย 
 


สมัยเป็นเณรที่บ้านเณรใหญ่ปีนัง

 


เพื่อนเณรไทยที่กรุงโรม พระุสังฆราชสงวน สุวรรณศรี,
คุณพ่อบุญชู ระงับพิษ, พระสังฆราชยวง
และคุณพ่อเลโอนาร์ด เดอ เยซู


สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 
เสด็จเยื่ยมชมกาตาคอมบ์ กัลลิสโต ที่กรุงโรม 
 
ชีวิตพระสงฆ์ในมิสซังกรุงเทพฯ
คุณพ่อยอแซฟ  เคียมสูน เดินทางจากกรุงโรมมาถึงประเทศไทย เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1936 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดนครชัยศรี (ค.ศ.1936-1937) ต่อมาเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอัสสัมชัญ (ค.ศ.1937-1941) เนื่องด้วยเกิดกรณีพิพาทอินโดจีน จึงไปรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดนครชัยศรี (ม.ค.1941 - ส.ค.1941)
 
เมื่อเกิดกรณีพิพาทอินโดจีนในปี ค.ศ.1941 พระสังฆราชแปร์รอสได้ส่งคุณพ่อยวง เคียมสูน ไปรักษาการแทนในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนครชัยศรี แทนคุณพ่อลารเกที่ต้องเดินทางกลับกรุงเทพฯ ตามคำสั่งของรัฐบาล  นอกจากทำงานอภิบาลสัตบุรุษตามหน้าที่แล้ว คุณพ่อเคียมสูนยังได้ใช้เวลาพิมพ์รายชื่อครอบครัวคริสตังทั้งหมดของวัดนครชัยศรี และจัดเรียงลำดับรายชื่อ เพื่อสะดวกในการค้นหา หลังจากกรณีพิพาทอินโดจีน ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดนครชัยศรีในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1941 และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดนครชัยศรีในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1942 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ.1947 ในปี ค.ศ.1942 เกิดน้ำท่วมใหญ่ ท่านเข้าใจในความทุกข์ยากของสัตบุรุษ ได้พายเรือไปเยี่ยมพวกเขาทุกบ้านและยังเอื้อเฟื้อให้ใช้โรงเรียนนักบุญเปโตรเป็นที่เก็บข้าวเปลือก จนกระทั่งส่วนหนึ่งของโรงเรียนทานน้ำหนักไม่ไหวจึงพังลงมา นอกจากนี้ท่านยังเอาใจใส่ในเรื่องอาชีพของสัตบุรุษโดยเฉพาะเรื่องการทำนาและเลี้ยงหมูท่านได้ช่วยเหลือชาวบ้านทั้งที่เป็นคาทอลิกและคนต่างศาสนาอย่างเต็มความสามารถ ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสนั้น ได้พยา ยามปรับปรุงและต่อเติมกิจการต่างๆ ของวัดให้ก้าวหน้าและมั่นคงยิ่งๆ ขึ้น ได้จัดการซื้อที่ดินไว้เป็นสมบัติของวัดจำนวนประมาณ 500 ไร่
 
ในระหว่างปี ค.ศ. 1948-1951 ได้ดำรงตำแหน่งเลขานุการของพระสังฆราชหลุยส์ โชแรง ในเวลาเดียวกัน ก็จัดฟื้นฟูหนังสือพิมพ์รายเดือน “สารสาสน์” ซึ่งได้หยุดชะงักไประหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นใหม่ ปี ค.ศ.1951 ถึงเดือนมีนาคม ค.ศ.1953 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสของคุณพ่อการิเอ วัดเซนต์แอน โทนี แปดริ้ว จังหวัดฉะเชิงเทรา ท่านได้ใช้เวลาจากงานประจำที่วัดนี้ในการแปลและเรียบเรียงหนังสือต่างๆ จากภาษาฝรั่งเศสหรือภาษาอิตาเลียน เป็นภาษาไทย เช่น หนังสืออธิบายคำสอนคาทอลิก 3 เล่ม  ชุดเตรียมเผชิญความตาย, จำลองแบบพระคริสต์, หนังสือรำพึงจิตภาวนา 2 เล่มชุด, คู่มือศีลกล่าว, อาหารทิพย์ประจำวัน 2 เล่มชุด และบทภาวนาเล็กๆ ฉบับปรับปรุงใหม่ ฯลฯ โดยใช้นามปากกาว่า “ผู้หว่าน” ไม่เคยใช้นามจริงเลย
 
เดือนเมษายน ค.ศ. 1953 เป็นผู้รักษาการแทนคุณพ่อเดชังป์ เจ้าอาวาสวัดนครชัยศรีซึ่งกลับไปพักผ่อนที่ฝรั่งเศส ปี ค.ศ.1953 มิสซังท่าแร่-หนองแสง ได้แยกออกเป็น 3 มิสซัง พระสังฆราชบาเยต์ ได้รับแต่งตังเป็นประมุขมิสซังอุบลฯ  คุณพ่อมีแชล อ่อน ประคองจิต อธิการบ้านเณรศรีราชา ได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราช ประมุขมิสซังท่าแร่ ดังนั้นตำแหน่งอธิการบ้านเณรจึงว่างลง คุณพ่อเคียมสูนได้รับเลือกและแต่งตั้งให้เป็นอธิการแทน ท่านดำรงตำแหน่งนี้ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ.1953 จนถึงเดือนกันยายน ค.ศ.1963 ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งอธิการบ้านเณรอยู่นานถึง 10 ปีนี้ ท่านได้ขะมักเขม้นเอาใจใส่ดูแลบ้านเณร ทั้งภายนอกและภายใน ปรับปรุงให้บ้านเณรเจริญก้าวหน้าขึ้นในทุกๆ ทาง ทำให้จำนวนสามเณรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปรับปรุงการให้การศึกษาแก่สามเณรทำให้สามเณรมีความรู้และมีคุณภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการเรียนรู้ภาษาลาตินและภาษาฝรั่งเศส นอกจากนี้ยังได้ช่วยพัฒนา โดยการสร้างถาวรวัตถุ เช่น สร้างกางเขนใหญ่ซึ่งเป็นหินอ่อน สร้างถ้ำแม่พระเมืองลูร์ด ที่หน้าบ้านเณร เพื่อปลูกฝัง บรรดาสามเณรให้มีความรักความศรัทธาต่อแม่พระเป็นพิเศษ และเพื่อเป็นการระลึกถึงการประจักษ์มาของแม่พระที่เมืองลูร์ด ครบรอบ 100 ปีด้วย สร้างเรือนไม้สำหรับเณรรุ่นกลางเพื่อใช้เป็นที่นอน ปรับปรุงบ่อน้ำที่คุณพ่อสงวน (พระสังฆราช) ได้ขุดไว้ อนุสรณ์ชิ้นสุดท้ายที่ท่านภูมิใจนักหนา คือ สวนสัตว์ดุสิตจำลอง 
 
ในวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ.1960 เป็นวันฉลองหิรัญสมโภชสามเณราลัยพระหฤทัยศรีราชา คณะสงฆ์และบรรดาสามเณรได้จัดงานหิรัญสมโภชบ้านเณร และฉลอง 25  ปีแห่งการบวชเป็นพระสงฆ์ของคุณพ่อยวง เคียมสูน อธิการ ในวันดังกล่าวท่านได้เป็นผู้ถวายบูชามิสซาอย่างสง่า โดยมีพระสังฆราช หลุยส์ โชแรง และพระสังฆราช สงวน สุวรรณศรี  มาร่วมเป็นประธานและเป็นเกียรติท่ามกลางบรรดาพระสงฆ์อีกราว 60 องค์ ตลอดจนบรรดาสัตบุรุษและคณะศิษย์เก่าของสามเณราลัย คณะสามเณรภายใต้การนำของคุณพ่อศวง ศุระศรางค์ ขับร้องเพลงอย่างไพเราะ เป็นที่เตือนความศรัทธาอย่างดีมาก คุณพ่อทองดี  กฤษเจริญเป็นผู้เทศน์เรื่อง “ความสำคัญของบ้านเณรและพระสงฆ์” ท่านชี้ให้เห็นว่า  การฉลองในวันนี้เป็นการฉลองที่เหมาะเจาะมาก  เพราะได้ฉลอง 2 สิ่งควบคู่กันได้แก่ บ้านเณรและท่านอธิการ หลังพิธีมิสซา  เมื่อผู้แทนสัตบุรุษอ่านสุนทรพจน์คำนับท่านอธิการเคียมสูนแล้ว ท่านได้ตอบขอบใจทุกคนที่มาร่วมฉลองและร่วมแสดงความกตัญญูต่อบ้านเณร และจะพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะทำให้บ้านเณรเจริญก้าวหน้า และวันที่ 8 มกราคม ค.ศ.1961 ในโอกาสฉลองวัดลำไทร คุณพ่อเจ้าอาวาสและสัตบุรุษวัดลำไทรได้ร่วมใจกันจัดฉลองหิรัญสมโภชการบวชเป็นพระสงฆ์ให้คุณพ่อเคียมสูน ในฐานะเป็นลูกวัดด้วย
 
วันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ.1962 สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ที่ 23 ทรงพระกรุณาประทานสมณศักดิ์ “Cubicularius intimus supranumerum” ให้แก่คุณพ่อเคียมสูน, คุณพ่อวิลเลียม ตัน และคุณพ่อดาเนียล ธานี  วงศ์พานิช   คุณพ่อทั้งสามเป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยโปรปากันดา ฟีเด  ซึ่งนับเป็นเกียรติอย่างสูง และทำให้ผู้รับสมณศักดิ์นี้มีสิทธิ์ใช้คำว่า “มอนสิญอร์” (Monsignore) นำหน้าชื่อได้  คุณพ่อทั้งสามได้รับมอบ  “บัตรสมณศักดิ์”  เมื่อวันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ.1962 จากพระสังฆราชหลุยส์ โชแรง ต่อหน้าคณะที่ปรึกษาของมิสซัง คุณพ่อเคียมสูนได้รับบัตรสมณศักดิ์นี้เพื่อเป็นการแสดงความขอบพระทัยจากสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ที่ 23 ในฐานะที่ท่านได้เป็นผู้ให้การอบรมส่งเสริมให้มีพระสงฆ์พื้นเมือง ซึ่งเป็นงานชิ้นเดียวกับที่ผู้มาประกาศศาสนาในแผ่นดินไทยในยุคแรกได้เคยปฏิบัติ ท่านกำลังปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็งในการวางรากฐานงานของมิสซังกรุงเทพฯ 
 
 
ได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชผู้ช่วย
ในวันที่ 13  กันยายน ค.ศ.1963 สมเด็จพระสันตะปาปา เปาโล  ที่ 6 ทรงโปรดแต่งตั้งมอนซินญอเร  ยอแซฟ เคียมสูน  นิตโย เป็นพระสังฆราชผู้ช่วย  และมีสิทธิ์สืบตำแหน่งประมุขมิสซังกรุงเทพฯ  ต่อจากพระสังฆราชหลุยส์   โชแรง  ในวันที่ 12 ตุลาคม  ค.ศ.1963 ยอแซฟ เคียมสูน  นิตโย   ได้ออกเดินทางไปรับการอภิเษกที่กรุงโรม  โดยเดินทางไปพร้อมกับสามเณร 2 คน ที่เดินทางไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยโปรปากันดา ฟีเด คือ สามเณรยอแซฟ ประวิทย์ พงษ์วิรัชไชย แห่งมิสซังกรุงเทพฯ และสามเณรยวงบัปติสตา เพิ่มศักดิ์  เสรีรักษ์ แห่งมิสซังจันทบุรี ในวันนั้นมีผู้ไปส่งอย่างคับคั่ง อาทิเช่น พระสมณทูตยอห์น กอร์ดอน  พระสังฆราชสงวน เพื่อนพระสงฆ์  นักบวช  และสัตบุรุษจากวัดต่างๆ
 
พิธีอภิเษกถูกจัดขึ้นที่มหาวิหารนักบุญเปโตร ในวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ.1963 ซึ่งเป็นวันมิสซังสากล ท่านได้รับการอภิเษกจากพระหัตถ์ของสมเด็จพระสันตะปาปา เปาโล ที่ 6 พร้อมกับพระสังฆราชจากนานาประเทศอีก 14 องค์ รวมทั้งพระสมณทูตวาติกันประจำประเทศอังกฤษ พิธีเริ่มเวลา 8.00 น. ภายหลังพิธีอภิเษก พระสังฆราชทุกองค์ได้ประกอบพิธีบูชามิสซาร่วมกับสมเด็จพระสันตะปาปา พิธีจบลงเวลา 11.50 น. ผู้แทนประเทศไทยที่เข้าร่วมในพิธีดังกล่าว คือ ม.จ. วงศานุวัตร เทวกุล เอกอัครราชทูตไทยประจำอิตาลี, คุณพ่อก็อดเบาต์  คณะมหาไถ่, คุณพ่อวูดาเร็ก คณะสติกมาติน  ซึ่งเดินทางมาจากจังหวัดภูเก็ต และภคินีฟรังซิสกัน 2 รูป ซึ่งจะมาประจำแขวงภูเก็ต รวมทั้งบรรดาพระสงฆ์และสามเณรไทยที่กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยโปรปากันดา ฟีเด ต่อมาเวลา 13.30 น. พระคาร์ดินัลเจ้าสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อได้จัดงานเลี้ยงต้อนรับพระสังฆราชใหม่ โดยมีพระบรรดาพระคาร์ดินัล  พระสมณทูต พระสังฆราช รวมทั้งผู้ใกล้ชิดมาร่วมด้วยประมาณ  50 องค์ ในเวลา 17.00 น.  ตอนเย็น สมเด็จพระสันตะปาปาเสด็จมารับพรศีลมหาสนิท  ที่สามเณราลัยโปรปากันดา ฟีเด ในพิธีได้จัดให้พระสังฆราชใหม่อยู่แถวหน้าทั้งหมด พระสังฆราชยอแซฟ เคียมสูน นิตโย  ได้รับเกียรติให้เป็นผู้อวยพรศีลมหาสนิทในพิธีดังกล่าว 
 
 
พระสังฆราชยอแซฟ เคียมสูน นิตโย ได้เดินทางกลับมาถึงเมืองไทยเมื่อวันศุกร์ที่ 3  มกราคม ค.ศ.1964 มีผู้ไปต้อนรับที่สนามบินกันอย่างล้นหลาม  และในวันที่ 16 มกราคม ค.ศ.1964 ในระหว่างการเข้าเงียบประจำเดือนของพระสงฆ์สังฆมณฑลกรุงเทพฯ ที่สำนักมิสซังฯ ได้มีพิธีฉลองต้อนรับพระสังฆราชใหม่เป็นการภายในระหว่างพระสงฆ์ ที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ  พระสังฆราชยอแซฟ เคียมสูน  นิตโย ได้ถวายบูชามิสซาอย่างสง่าในวันนั้น และในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1964 ได้มีพิธีฉลองอย่างเป็นทางการที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ ในเวลา 16.00 น. พระสังฆราชยอแซฟ เคียมสูน นิตโย  ได้เป็นผู้ประกอบพิธีบูชามิสซาอย่างสง่า  โดยมีพระสงฆ์  นักบวช  และสัตบุรุษจากวัดต่างๆ มาร่วมพิธีอย่างเนืองแน่น ตอนค่ำสมาคมคาทอลิกฯ ได้จัดงานเลี้ยงเป็นเกียรติแด่พระสังฆราช ในบริเวณโรงเรียนอัสสัมชัญ  มีการแสดงต่างๆ  ทางโรงเรียนเซนต์โยเซฟฯ ได้จัดการแสดงชุด “เห่เรืออวยพร” และ “ลาวแพน” มีคณะนักขับร้องร้องเพลงประสานเสียง จากวัดเซนต์หลุยส์ – อัสสัมชัญ ภายใต้การนำบราเดอร์โรเบิร์ต ร้องเพลงประสานเสียงหลายเพลง  ซึ่งสร้างความบันเทิงให้กับทุกคนที่มาร่วมงาน 
 
พระสังฆราชยอแซฟ เคียมสูน นิตโย ได้กล่าวขอบใจคณะกรรมการจัดการและทุกคนที่มาร่วมงานและในตอนท้าย ท่านได้บอกให้ทราบถึงงานชิ้นแรกที่ท่านตั้งใจจะทำคือ การสร้างบ้านเณรประจำสังฆมณฑลกรุงเทพฯ พร้อมทั้งได้ขอความร่วมมือจากน้ำใจอันดีและกว้างขวางของทุกๆ คนด้วย 
 
พระสังฆราชยอแซฟ เคียมสูน นิตโย สร้างบ้านเณรนักบุญยอแซฟ สามพราน
พระสังฆราช หลุยส์ โชแรง และคณะที่ปรึกษาของท่านเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ ยกบ้านเณรศรีราชาให้แก่ มิสซังจันทบุรี อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 มีนาคม ค.ศ.1964 และมอบธุระในการสร้างบ้านเณรใหม่ ซึ่งจะมีชื่อว่าบ้านเณรนักบุญยอแซฟ ชื่อเดียวกันกับบ้านเณรแห่งแรกของมิสซังสยามที่กรุงศรีอยุธยา  เมื่อ 300  กว่าปีก่อน
 
วันที่ 19 มีนาคม ค.ศ.1964 ได้ลงมือปรับพื้นที่เพื่อเตรียมก่อสร้าง และสร้างถนนแยกจากทางหลวงสายเพชรเกษม วันที่ 6 กรกฎาคม ค.ศ.1964 ได้ลงมือก่อสร้างบ้านเณรนักบุญยอแซฟ ที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม  มีพิธีเสกศิลาฤกษ์วันที่ 3  มกราคม ค.ศ.1965 ในเดือนเมษายน  ค.ศ.1965 พระสังฆราชยอแซฟ เคียมสูน  นิตโย ได้เป็นประธานในพิธีเสกบ้านเณร และย้ายบ้านเณรและสามเณรของ มิสซังกรุงเทพฯ  จากศรีราชา มาอยู่ที่สามพราน โดยมีคุณพ่อฟรังซิสเซเวียร์  ทองดี กฤษเจริญ เป็นอธิการองค์แรก 
 
 
ในวันที่ 29 เมษายน ค.ศ.1965  พระสังฆราช หลุยส์ โชแร ถึงแก่มรณภาพ พระสังฆราชยอแซฟ เคียมสูน นิตโย จึงได้ดำรงตำแหน่งประมุขมิสซังกรุงเทพฯ สืบแทนต่อมาและได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชแห่งสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ดำรงตำแหน่งพระสังฆราชตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน ค.ศ.1963 จนถึงวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ.1965
 
พระอัครสังฆราช ยอแซฟ ยวง นิตโย สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 ได้ทรงสถาปนาพระฐานานุกรมศักดิ์สิทธิ์ในประเทศไทยเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ.1965 สำหรับมิสซังกรุงเทพฯ ได้รับการยกฐานะเป็นอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ และประมุขมิสซังก็ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอัครสังฆราชของอัครสังฆมณฑลด้วย
 
วันที่ 6 มีนาคม ค.ศ.1966 พระอัครสังฆราชยอแซฟ เคียมสูน นิตโย ได้ประกอบพิธีเสกบ้านเณรนักบุญยอแซฟ อย่างสง่าและเปิดเป็นทางการ มีสัตบุรุษ คริสตังกว่า 10,000 คนมาร่วมในพิธีนี้
 
วันพุธที่ 1 มิถุนายน ค.ศ.1966 เวลา 17.00 น. ได้มีพิธีสถาปนาพระอัครสังฆราชยอแซฟ เคียมสูน นิตโย และอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ  อย่างเป็นทางการที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ โดยมี ฯพณฯ อันเยโล เปโดรนี พระสมณทูต เป็นประธานในพิธี พระอัครสังฆราชยอแซฟ เคียมสูน นิตโย ถวายมหาบูชามิสซาร่วมกับพระสังฆราชทุกองค์ในประเทศไทย ท่ามกลางบรรดาพระสงฆ์, ผู้แทนคณะนักบวช, ผู้แทนคณะกิจการคาทอลิก   และสัตบุรุษจากวัดต่างๆ มาร่วมพิธีกันอย่างเนืองแน่น  หลังมิสซาพระสมณทูตอ่านสารตราตั้งสถาปนาพระฐานานุกรมในประเทศไทย แล้วเชิญ พระอัครสังฆราชยอแซฟ เคียมสูน นิตโย ขึ้นนั่งบัลลังก์ ต่อจากนั้น บรรดาพระสงฆ์, ผู้แทนคณะนักบวชต่างๆ, คณะกิจการคาทอลิก และสัตบุรุษเข้ามาแสดงความคารวะต่อท่าน ในพิธีนี้ยังได้มีการมอบรถยนต์ 1 คัน  เป็นของขวัญแด่พระอัครสังฆราชยอแซฟ เคียมสูน นิตโย ด้วย หลังพิธีมีการเลี้ยงฉลองแสดงความยินดี บริเวณอาสนวิอัสสัมชัญ  กรุงเทพฯ
 
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1967 กรุงโรมประกาศตั้งสังฆมณฑลนครสวรรค์ โดยแยก 12 จังหวัดออกจาก อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ และแต่งตั้งคุณพ่อมีแชล ลังเยร์ เจ้าอาวาสวัดเซนต์หลุยส์  เป็นประมุข พระอัครสังฆราช  ยอแซฟ เคียมสูน นิตโย ได้เป็นผู้อภิเษกท่านลังเยร์ เป็นพระสังฆราช  ณ อาสนวิหารอัสสัมชัญ  กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 5  พฤษภาคม ค.ศ.1967 สามเณราลัยใหญ่ที่ปีนังจะยุบเลิกกิจการบ้านเณรใหญ่  ทางสภาพระสังฆราชแห่งประเทศไทยได้พิจารณาสร้าง บ้านเณรใหญ่ในประเทศไทย  พระอัครสังฆราชยอแซฟ เคียมสูน นิตโย ได้อนุมัติมอบที่ดินแปลงใหญ่ ซึ่งตัดมาจากทุ่งนาของวัดนครชัยศรี ริมทางถนนเพชรเกษม เพื่อสร้างบ้านเณรใหญ่ วิทยาลัยแสงธรรม สามพราน นครปฐม ได้ทำการปรับพื้นที่และลงมือก่อสร้างในปี ค.ศ.1969 สร้างเสร็จและเปิดทำการสอนในปี ค.ศ.1972
 
ในระหว่างปี ค.ศ.1965-1973 พระอัครสังฆราชยอแซฟ เคียมสูน นิตโย ได้เป็นผู้เปลี่ยนโฉมหน้าโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ โดยการอนุมัติสร้างอาคารใหม่ เพื่อขยายและปรับปรุงกิจการของโรงพยาบาล พระอัครสังฆราชยอแซฟ เคียมสูน นิตโย ได้เป็นผู้เสกและวางศิลาฤกษ์อาคารใหม่หลังแรก เมื่อวันที่ 10  มีนาคม ค.ศ.1973
 
ลาออกจากตำแหน่งพระอัครสังฆราช
เนื่องจากสุภาพไม่สู้ดี และเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความสามารถตามน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้าได้รับหน้าที่สืบต่อไป ท่านได้ถวายใบลาเกษียณต่อองค์สมเด็จพระสันตะปาปา เปาโล ที่ 6 ในปี ค.ศ.1973 และพระอัครสังฆราชไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ได้รับตำแหน่งประมุขมิสซังสืบแทนตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม ค.ศ.1973 รวมเวลาแห่งการปกครองดูแลอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เป็นระยะเวลา 10 ปีพอดี (1963-1973) นับเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของความเปลี่ยนแปลง และต้องถือเป็นความโชคดีของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ที่พระเป็นเจ้าทรงพระเมตตาส่งพระอัครสังฆราชยอแซฟ เคียมสูน นิตโย มาเป็นผู้ปกครองดูแลในสมัยนั้น 
 
วันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ.1985 พระอัครสังฆราชยอแซฟ เคียมสูน นิตโย ได้ฉลองครบรอบ 50 ปี  ของการบวชเป็นพระสงฆ์ ที่วัดนักบุญเปโตร สามพราน และในวันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ.1988 ได้ฉลองครบรอบ  25  ปี ที่ได้รับอภิเษกเป็นพระสังฆราช
 
พระอัครสังฆราชยอแซฟ เคียมสูน นิตโย  เป็นผู้ริเริ่มยุคใหม่ในประวัติพระศาสนจักรไทย
คือแต่ก่อนใครจะสร้างโบสถ์ตามหมู่บ้านใหม่ๆ หรือที่ทรุดโทรมจำเป็นต้องสร้างใหม่ตลอดจนโรงเรียน บ้านพักพระสงฆ์ นักบวชผู้แพร่ธรรมก็ไม่มีที่พึ่งต้องไปเรี่ยไรตามบ้านสัตบุรุษจากที่ต่างๆ และเสียเวลามากมายในการเดินทางแทนที่จะทำงานในวัดของตน นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1965 เป็นต้นมา พระอัครสังฆราชยอแซฟ เคียมสูน นิตโย  มิเพียงแต่อนุมัติในการสร้างโบสถ์เท่านั้น แต่ยังได้ออกเงินสมทบทุนในการสร้างโบสถ์ตามความสามารถแห่งการเงิน ของอัครสังฆมณฑล และด้วยเหตุนี้จึงได้มีโบสถ์หลังใหม่ ที่สวยงามและถาวรเกิดขึ้น ได้แก่ วัดนักบุญเทเรซา  หนองจอก, วัดพระชนนีของพระเป็นเจ้า รังสิต, วัดพระตรีเอกภาพ หนองหิน, วัดนักบุญหลุยส์มารีย์บางแค, วัดนักบุญเปโตร สามพราน, วัดอัครเทวดามีคาแอล สะพานใหม่, วัดศีลมหาสนิท ตลิ่งชัน  โดยที่พระอัครสังฆราชยอแซฟ เคียมสูน นิตโย รอบรู้ภาษาต่างๆ เช่น ภาษาบาลี  สันสกฤต  ลาติน ฝรั่งเศส อังกฤษ ฯลฯ ไม่ว่าท่านจะทำหน้าที่ในตำแหน่ง คุณพ่อผู้ช่วยเจ้าอาวาส เจ้าอาวาส เลขาฯ พระสังฆราช อธิการบ้านเณร และพระอัครสังฆราช ก็มีความกระตือรือร้นที่จะช่วยวิญญาณทั้งหลายให้รอดอยู่เสมอ จึงได้เขียนหนังสือศรัทธาออกแพร่หลายอยู่เสมอมา มีงานฉลองทางศาสนาแห่งใดท่านก็อุตส่าห์ไปร่วมพิธีกับพระคาร์ดินัล เป็นกำลังใจแก่บรรคาพระสงฆ์ นักบวช และสัตบุรุษทั่วไป 
 
อนึ่ง  การที่ศิษย์คนหนึ่งของพระอัครสังฆราชยอแซฟ เคียมสูน นิตโย ได้รับการอภิเษกเป็นพระอัครสังฆราช และได้รับแต่งตั้งเป็นพระคาร์ดินัล คือ พระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ชาวไทยคนแรกที่ได้รับสมณศักดิ์อันสูงส่งนี้ นับเป็นที่เชิดชูเกียรติและศักดิ์ศรี ผู้เป็นอาจารย์ของพระคาร์ดินัลองค์นี้เป็นแน่
 
พระอัครสังฆราชยอแซฟ เคียมสูน นิตโย คือแบบอย่างของพระสงฆ์ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ โอกาสนี้เราขอระลึกถึงท่านที่ได้ทำงานเพื่ออัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ตลอดมา หลายสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้  พระศาสนจักรที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ หลายๆ อย่างเป็นผลมาจากท่านได้เป็นผู้หว่านให้ และบัดนี้ก็ได้เติบโต แตกกิ่งก้านสาขาออกไปมากขึ้นๆ 
 
พระอัครสังฆราชยอแซฟ เคียมสูน นิตโย ได้พักประจำอยู่ที่บ้านเณรเล็กนักบุญยอแซฟ สามพราน และไปร่วมเข้าเงียบประจำเดือน และร่วมสัมมนากับคณะสงฆ์มิได้ขาด ไปร่วมฉลองวัดและฉลองในโอกาสต่างๆ อยู่เสมอ นอกจากนี้ยังใช้เวลาว่างในการแปลและเรียบเรียงหนังสือศรัทธาต่างๆ 
 
 
ท่านได้ถึงแก่มรณภาพวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 1998 ที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ทำพิธีปลงศพ วันที่ 8 ตุลาคม ค.ศ.1998 ที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ ศพของท่านถูกฝังอยู่ที่สุสานในอุโมงค์ใต้พระแท่นของอาสนวิหารอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ.