คุณพ่อ เลออง ริชาร์ด

 
 
คุณพ่อ เลออง ปิแอร์ ริชารด์
 
Léon RICHARD
 
 
คุณพ่อ เลออง ริชารด์ เกิดวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1871  ที่สังฆมณฑลแรนส์ เข้าศึกษาในบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศในปี ค.ศ.1890 ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์เดือนกันยายน ค.ศ.1894  คุณพ่อเดินทางมายังประเทศไทย วันที่ 21 พฤศจิกายนปีเดียวกัน คุณพ่อถึงกรุงเทพฯวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 1894   และได้รับแต่งตั้งให้เป็นปลัดที่วัดแปดริ้ว ให้ดูแลเฉพาะวัดดอนกระทุ่มยาง คุณพ่ออยู่ที่นี่ 1 ปี เป็นปีที่ยากลำบากมาก สภาพบริเวณวัดขณะนั้นเป็นป่าดงพงไพร มีความหวังมากในเรื่องคนกลับใจ แต่ก็มีคนกลับใจน้อยมาก คือแทบไม่มีเลย คุณพ่อเคยพูดเรื่องที่เริ่มงานแพร่ธรรมแบบนี้บ่อยๆ
 
ต่อมา คุณพ่อได้ประจำอยู่ที่วัดปากลัดและปากน้ำ ซึ่งขึ้นอยู่กับวัดกาลหว่าร์ นอกนั้น คุณพ่อยังไปดูแลคริสตัง ในอำเภอพระโขนง และได้ช่วยตั้งกลุ่มคริสตชนที่หัวตะเข้ คุณพ่อไปที่นั่นเดือนละครั้ง
 
ประมาณปี ค.ศ. 1907 หรือ 1908 คุณพ่อเป็นปลัดที่วัดกาลหว่าร์ตลาดน้อย  ดูแลคริสตชนชาวจีนโดยเฉพาะ เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1908  คุณพ่อเดินทางไปพักผ่อนที่ประเทศฝรั่งเศส และกลับมาปี ค.ศ. 1910  ในสมัยพระสังฆราชแปร์รอส ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นประมุขมิสซังสยาม ท่านได้แต่งตั้งคุณพ่อริชารด์เป็นเจ้าอาวาสวัดแม่กลองและวัดท่าจีน คุณพ่ออยู่ในตำแหน่ง 1 ปี ก็ย้ายไปประจำอยู่ที่วัดดอนกระเบื้อง พระสังฆราชแปร์รอส บันทึกไว้ในรายงานประจำปี ค.ศ. 1912  เกี่ยวกับคุณพ่อว่า ที่วัดดอนกระเบื้อง คุณพ่อพยายามรวบรวมคริสตังที่กระจัดกระจายอยู่ห่างไกลวัด เพราะความจำเป็นในการประกอบอาชีพ ให้มาอยู่ในบริเวณวัด คุณพ่อเพิ่งสร้างวัดน้อยที่ตำบลบางตาล วัดนี้อยู่ไม่ไกลจากทางรถไฟ สายกรุงเทพฯ-เพชรบุรี
 
ระหว่างประจำอยู่ที่วัดดอนกระเบื้อง คุณพ่อทุ่มเทการทำงานเอาใจใส่วิญญาณของพวกคริสตัง แนะนำให้ประกอบอาชีพที่พวกเขาพอใจ เพื่อการนี้ คุณพ่อได้ซื้อที่ดินและสร้างวัดด้วย คุณพ่อบันทึกไว้เมื่อปี ค.ศ.1917 ว่า “กลุ่มคริสตชนดอนกระเบื้องดำรงอยู่ตามปรกติหลายครอบครัว ได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านโป่ง ซึ่งเป็นสถานีรถไฟที่สำคัญ การทำมาหากินก็แจ่มใสกว่าที่นี่” คุณพ่อบันทึก
 
ต่อไปว่า “ก่อนหน้านี้หลายปี ข้าพเจ้านึกล่วงหน้าว่าจะมีคริสตังย้ายไปเช่นนี้ จึงได้จัดการซื้อที่ดิน ไว้แปลงหนึ่ง และถ้ายังมีคริสตังย้ายไปอีกที่บ้านโป่งต่อไป ข้าพเจ้าก็จะจัดสร้างวัดน้อยในสถานที่ซึ่งเป็นศูนย์กลางตลาด ที่กำลังขยายออกไปเรื่อยๆ”
คุณพ่อคาดการณ์ถูกต้อง คุณพ่อได้สร้างวัดน้อยและเปิดโรงเรียนด้วย คุณพ่อบันทึกเองว่า ปี ค.ศ. 1923 นี้ “ที่บ้านโป่ง คุณพ่อจะเปิดโรงเรียนหลังไม่ใหญ่นัก มีนักเรียน 50 คน แล้วมีเด็กพุทธมาเรียนคำสอนอยู่ 12 คน โรงเรียนหลังนี้ตั้งอยู่ชั่วคราวในวัด เพิ่งได้สร้างนั้น จนกว่าจะมีปัจจัยสร้างโรงเรียนที่เหมาะสม”
 
คุณพ่อบันทึกไว้เมื่อปี ค.ศ. 1924 ว่า “บ้านโป่งเป็นศูนย์กลาง ซึ่งมีความสำคัญยิ่งขึ้นในอนาคต อาคารที่อยู่อาศัยก็ก่อสร้างมากขึ้นเรื่อยๆ สร้างยังไม่ทันเสร็จ ก็มีคนมาจองไว้แล้ว ตลาดบ้านโป่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ มีรถไฟสะดวกต่อการไปมาในระหว่างตำบลที่อยู่ใกล้เคียง ไปกรุงเทพฯ ก็สะดวก แนวโน้วในการพัฒนาก็สูงมาก ทางด้านศาสนานั้น อาจถือเป็นศูนย์ของกลุ่มคริสตัง จริงอยู่ จำนวนคริสตังยังไม่มีมาก เพราะเพิ่งเริ่มก่อตั้งหมู่บ้านเมื่อไม่นานมานี้ แต่ทางรถไฟก็อำนวยความสะดวกในการเดินทางไปสู่ที่ต่างๆ ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจสร้างบ้านพักพระสงฆ์ ทั้งที่เงินก็มีไม่มากนัก นอกนั้นจำนวนคริสตังก็เพิ่มมากขึ้น มีถึง 200 คน จำนวนนี้จะเพิ่มมากขึ้น ถ้าเราสามารถซื้อที่ดินให้คริสตังปลูกบ้านอยู่ และทำมาหากิน ส่วนโรงเรียนก็ใช้วัดนั่นเองเป็นที่สอนเด็กซึ่งมีจำนวนถึง 80 คน ความศักดิ์สิทธิ์ของพระมหาเยซูเจ้าได้รับการสรรเสริญเทิดทูน นี่คือเสียงร้องจากหัวใจของข้าพเจ้า เพราะข้าพเจ้าได้เห็นความเจริญก้าวหน้าในรอบปีนี้ บางคนอาจคิดว่า ข้าพเจ้าโม้มากไปหน่อย เพราะผลงานที่ได้ทำเพื่อพระมีเพียงเล็กน้อย แต่ก็ขอถวายแด่พระเป็นเจ้า วัดดอนกระเบื้องกำลังเจริญ ผู้ใหญ่รับศีลล้างบาป 16 คน มีผู้รับศีลมหาสนิทจำนวน 7,300 ครั้ง (ปี ค.ศ. 1920)  ในปี ค.ศ. 1925 เพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ครั้ง ส่วนจำนวนผู้ใหญ่รับศีลล้างบาป ก็เพิ่มขึ้นเล็กน้อย  “ในปี ค.ศ. 1926  ยอดของผู้รับศีลล้างบาปเพิ่มขึ้นถึง 89 คน  เป็นสถิติชนะเลิศก็ว่าได้” 
 
คุณพ่อไม่ละเลยด้านการก่อสร้าง ดังมีบันทึกของคุณพ่อต่อไปนี้  “นับตั้งแต่ได้มารับผิด ชอบที่วัดดอนกระเบื้องและสาขา” ปี ค.ศ. 1923  ข้าพเจ้ามีปัญหาหนักใจมากเรื่องสถานที่เลี้ยงเด็กกำพร้า และโรงเรียน เพราะอยู่ในสภาพทรุดโทรม รายได้ของวัดพอแค่สำหรับรักษาสถานที่เหล่านั้นให้อยู่ตามสภาพที่เป็นอยู่ แต่ไม่มีงบประมาณสำหรับการก่อสร้างงานใหญ่ ที่สุดแม้มิได้ทำทุกสิ่งทุกอย่างที่จำเป็น แต่อาศัยพระพรของพระหฤทัย ก็สามารถสร้างโรงเรียนและสถานที่เลี้ยงเด็กกำพร้าขึ้นหลังใหม่
 
ในปี ค.ศ. 1926 เกิดโรคระบาดขึ้นที่บ้านโป่ง คุณพ่อบันทึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า “โรคระบาดแผ่ขยายอยู่หลายเดือน มีคนตายจำนวนมาก เดชะ พวกคริสตังได้รับ 3 คน นักบุญยอแซฟช่วยปกป้องพวกเขาจากภัยพิบัติครั้งนี้”  คุณพ่อบันทึกเพิ่มเติมว่า “กลุ่มคนจีนในตลาด แสดงความรู้สึกว่ารังเกียจศาสนาคริสตัง พวกพ่อค้า เถ้าแก่ใหญ่ๆ และเถ้าแก่ระดับธรรมดา ดื้อดึงมากในเรื่องความศรัทธานิยมต่อพระศาสนา”
 
การปกครองให้คณะซาเลเซียน พระสังฆราชแปร์รอส บันทึกไว้ดังนี้ “สังฆมณฑลสยามได้แสดงความใจกว้างมอบให้พระสงฆ์ซาเลเซียนดูแลปกครองภาคตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่เขตจังหวัดราชบุรี ไปจนถึงทางเหนือของแหลมมะละกา วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1929  บรรดาทรัพย์สิน เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ทางสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ก็มอบให้คณะซาเลเซียน เพราะความรักต่อพระเป็นเจ้า ทรัพย์สินเหล่านี้ ผู้ที่ทำงานแพร่ธรรมรุ่นเก่าก่อนและพี่น้องบางท่าน พระสงฆ์ไทยสมัยนั้นได้สะสมไว้ มีมูลค่ามหาศาล จริงอยู่ สิ่งของต่างๆ นี้อาจจะมีราคาค่างวดมากมายในเชิงเศรษฐกิจ แต่เป็นผลของความเหนื่อยยาก และความกังวลของผู้ใหญ่ พระเป็นเจ้าเท่านั้นที่ทรงประเมินราคาทรัพย์สินนั้นได้ คุณพ่อริชารด์ คุณพ่อดือรัง  คุณพ่อเบเนดิกโต คุณพ่อทีมอเธว  คุณพ่อยาโกเบ คุณพ่อเกลแมนเต คุณพ่อเอดัวร์ และคุณพ่อนิโกเลา ต่างอำลาบรรดาลูกวิญญาณด้วยความอาลัย  แต่คุณพ่อก็น้อมต่อพระชุมภาสูงสุด ซึ่งมอบให้ทำงานในนามของพระองค์  พระสงฆ์คณะซาเลเซียนได้พัฒนาวัด บ้านโป่งศูนย์กลาง และขยายโรงเรียนที่คุณพ่อริชารด์ ได้สร้างไว้ กลายเป็นโรงเรียนใหญ่มีนักเรียนนับร้อยๆ  คณะซาเลเซียนสำนึกถึงบุญคุณ  ที่คุณพ่อริชารด์ได้มีสายตาเห็นการณ์ไกล ซื้อที่ดินสำหรับวัดในจังหวะที่เหมาะสมมาก
 
คุณพ่อริชารด์ย้ายไปวัดหนองหิน  ซึ่งคุณพ่อดูแลอยู่แล้ว เป็นวัดเล็กตั้งอยู่จังหวัดนครปฐม เป็นกลุ่มน้อยที่ยากจน และได้รับความยากลำบากมาก “ที่หนองหิน คริสตังได้รับความลำบากตลอด 3 ปี ติดๆ กัน สองปีแรกน้ำท่วมมาก ปีต่อมาก็แล้งฝน ทำนาไม่ได้ผล” 
 
ดังกับที่คุณพ่อริชารด์เคยจากดอนกระเบื้อง มุ่งจะไปบ้านโป่ง ที่หนองหินนี้ คุณพ่อหนักใจต้องการจะไปตั้งไปเปิดในเมืองใกล้เคียง คือ นครปฐม  คุณพ่อบันทึกไว้ในปี ค.ศ. 1932 ดังนี้ “เดือนกันยายน  มีความหวังอยู่มากในการก่อตั้งกลุ่มคริสตชน ที่จังหวัดนครปฐม  แต่พระเป็นเจ้าไม่ทรงอนุมัติให้เป็นไปตาม ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะว่าไม่มีเงิน โครงการจึงล้มเหลว ไม่ใช่เรื่องนี้เรื่องเดียว ข้าพเจ้ายังไม่มีบุคลากรสำหรับดำเนินการ พวกคริสตังไม่มีอิทธิพลในสังคม เพราะเขายากจน และมีจำนวนน้อยมาก ทั้งหมดนี้ ทำให้เราคิดว่า จะเป็นการยากที่จะไปตั้งศูนย์คริสตชนในเมืองนี้ อันเป็นที่จาริกแสวงบุญพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงมาก ข้าพเจ้ารู้สึกเศร้าใจ เพราะพวกคริสเตียนได้เริ่มทำงานแพร่ธรรมที่หนองหิน สภาพการณ์ลำบากมากขึ้นทุกที เพราะพวกคริสตชนยากจน”
 
อย่างไรก็ดี ในที่สุด คุณพ่อก็ชนะอุปสรรค คุณพ่อได้สร้างวัดขึ้นสำเร็จ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1937  มีพิธีเสกวัดใหม่ ชื่อ วัดพระคริสตราชา พระสังฆราชแปร์รอสเป็นประธานในพิธี คุณพ่อชันลิแอร์ คุณพ่อตาปี คุณพ่อโชแรง คุณพ่อกาวัลลา จากบ้านโป่ง คุณพ่อเลาแรนเต จากวัดดอนกระเบื้อง และคุณพ่อยอแซฟเคียมสูน ซึ่งเป็นผู้แทนของคุณพ่อเออเยน เล็กแชร์ ผู้บริจาคเงินก้อนใหญ่สำหรับการก่อสร้างวัดใหม่
 
ปี ค.ศ.1935 คุณพ่อริชารด์ มาประจำอยู่ที่วัดกาลหว่าร์ ตลอดน้อย ในฐานะเป็นจิตตาธิการ อารามพระหฤทัยคลองเตยศูนย์กลางของภคินีพื้นเมือง แต่นานๆ ที่ คุณพ่อไปทำมิสซาวันอาทิตย์ที่หนองหินเป็นครั้งคราว
 
คุณพ่อนับเป็นพระสงฆ์อาวุโสที่สุดในสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ในวันที่ 11 เมษายน ค.ศ. 1937  ที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ มีพิธีฉลองนักบุญเลออง ซึ่งเป็นศาสนนามของอธิการใหญ่คณะมิสซังต่างประเทศ และของอุปสังฆราช กับของพระสงฆ์อาวุโสแห่งมิสชันนารี (คือคุณพ่อเลออง  โรแบรต์  คุณพ่อเลออง แปรูดง และคุณพ่อเลออง ริชารด์)  คุณพ่อริชารด์ชอบเดินทางไปร่วมการฉลองวัดต่างๆ เช่นวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1938  คุณพ่อไปฉลองวัดพระวิสุทธิวงศ์ ลำไทร (คุณพ่อดือรัง เป็นเจ้าอาวาส) พร้อมกับพระสงฆ์อีก 13 องค์ เดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 1938  คุณพ่อเดินทางไปเชียงใหม่ แล้วในปี ค.ศ. 1939  คุณพ่อเดินทางกลับไปประเทศฝรั่งเศส เพื่อรักษาตัวและผักผ่อน ในปี ค.ศ. 1940 คุณพ่อเดินทางกลับมาประเทศไทย วันที่ 30 มีนาคม และในวันที่ 17 เมษายน  ปีเดียวกัน คุณพ่อได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดปากคลองท่าลาดและท่าเกวียน
 
แต่แล้วก็เกิดการเบียดเบียนศาสนาขึ้นในเมืองไทย คืนวันที่ 28 กับคืนวันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 1940 คุณพ่อ 7 องค์ ถูกปลุกให้ตื่นโดยเจ้าหน้าที่บ้านเมือง และได้รับการปฏิบัติอย่างไม่สู้งดงามนัก คุณพ่อริชารด์ก็รวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย เจ้าหน้าที่นำคุณพ่อไปที่แปดริ้ว และจัดการส่งตัวมาที่กรุงเทพฯ ที่นี่ คุณพ่อพบเพื่อนพระสงฆ์ตกอยู่ในสภาพเดียวกัน เมื่อคุณพ่อรับทราบว่า ต้องออกจากเขตวัดของตน ภายใน 24 ชั่วโมง คุณพ่อจึงรับกลับไปที่วัดปากคลองท่าลาด ในวันรุ่งขึ้นก็เดินทางกลับกรุงเทพฯ ภายหลังไม่นาน ทางมิสซังจัดให้บรรดามิสชันนารีที่มากรุงเทพฯ นี้ เดินทางไปอยู่ที่ไซ่ง่อนก่อน และให้คุณพ่อริชารด์เป็นอธิการ ที่นั่น มิสชันนารีเหล่านั้นไปไซ่ง่อน วันที่ 1 กุมภาพันธ์  ค.ศ. 1941  ในปลายปีเดียวกัน คุณพ่อต่างๆ  ก็เดินทางกลับมาประเทศไทยได้ คุณพ่อริชารด์มาถึงกรุงเทพฯ วันที่ 23 ตุลาคม คุณพ่อกลับไปประจำอยู่ที่วัดหนองหิน ในปี ค.ศ. 1944  คุณพ่อฉลองสุวรรณสมโภชการบวชเป็นพระสงฆ์ที่วัดนี้  ในปี ค.ศ. 1947  คุณพ่อรู้สึกอ่อนกำลัง จึงมาพักที่ศูนย์กลางของคณะ  ลาออกจากหน้าที่เพราะสุขภาพไม่อำนวย
 
วันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ. 1953  คุณพ่อเข้าโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ “ความจริงคุณพ่อไม่มีโรคอะไร แต่คุณพ่อมีการเหนื่อย เดินเหินไม่สะดวก เหรัญญิกของมิสซังฯ เห็นว่าคุณพ่อควรเข้าไปพักผ่อนในโรงพยาบาล ซึ่งมีความสงบเงียบมากกว่าที่ศูนย์ เพราะการพักที่ศูนย์ของมิสซัง ไม่สะดวกด้วยประการทั้งปวง ด้วยว่ามีคุณพ่อมากกว่า 50 องค์ มาพักอยู่เพื่อร่วมงานอภิเษกพระสังฆ ราชมงคล ประคองจิต พระสังฆราชไทยองค์แรกของมิสซังท่าแร่ฯ สกลนคร
 
วันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1954  คุณพ่อริชารด์ฉลองวชิรสมโภช การบวชเป็นพระสงฆ์ครบ 60 ปี พระสังฆราชโชแรงและพระสงฆ์จำนวนมาก มาร่วมฉลองงานนี้ ที่คลองเตย คุณพ่อริชารด์ ออกจากโรงพยาบาลเป็นครั้งสุดท้าย
 
ต้นเดือนเมษายน ค.ศ. 1956  คุณพ่อสุขภาพเสื่อมโทรมลงมาก  คุณพ่อถวายวิญญาณคืนแด่พระเป็นเจ้า ในวันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1956  เวลา 10.00 น.  วันที่ 2 พฤษภาคม พระสังฆราชโชแรง ทำมิสซาปลงศพคุณพ่อ มีพระสงฆ์จำนวนมากมาร่วมพิธี พร้อมกับสัตบุรุษวัดบ้านโป่ง เต็มอาสนวิหารอัสสัมชัญ
 
คุณพ่อริชารด์ เป็นแบบฉบับชีวิตมิสชันนารีดียอดเยี่ยม คุณพ่อเดินทางผ่านป่าดงพงไพร เป็นนักก่อสร้าง คุณพ่อช่วยคนต่างศาสนาให้กลับใจมากมาย คุณพ่อเอาใจใส่คริสตังอย่างดี  คุณพ่อ เป็นคนศรัทธาแก่กล้า ในบั้นปลายของชีวิต ภาพที่คุณพ่อทำวัตรประจำวัน ประทับใจทุกคนที่ได้พบเห็น คุณพ่อถือการสวดนี้เป็นกิจวัตรที่ทำอย่างสม่ำเสมอ บางครั้งคุณพ่อหลง เพราะวัยชรา จำวันไม่ได้ หรือจำได้ประเดี๋ยวก็ลืมไป คุณพ่อสวดไม่ตรงกับวันบ่อยๆ พอรู้ตัวก็เริ่มใหม่ คุณพ่อสวดภาวนาบทที่สั้นๆ ดีกว่าสวดบทยาวแต่สวดผิด ชีวิตของคุณพ่อเป็นแบบอย่างที่เราน่าเลียนแบบเท่าที่สามารถทำได้