-
Category: ประวัติพระสงฆ์คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (มรณะ)
-
Published on Thursday, 07 April 2016 08:39
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 1753
คุณพ่อ คาบริแอล เรอเน โรเชอโร
Gabriel ROCHEREAU
คุณพ่อ คาบริแอล โรเชอโร เกิดวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 1904 ที่บาซอชันปาเรด์ คุณพ่อกำพร้าพ่อแม่แต่เล็กๆ ลุงของคุณพ่อคนหนึ่งจึงรับเป็นธุระเลี้ยงดูคุณพ่อกับน้องสาว และสองพี่น้องนี้ถูกรุมทารุณกรรมจนเหลือทน ทั้งสองจึงเอาเครื่องเรือนของตน โต๊ะ ตู้ เก้าอี้ ฯลฯ ไปขาย แล้วน้องสาวของคุณพ่อเข้าอารามภคีนีฟรังซิสกัน ต่อมาถูกส่งไปปฏิบัติหน้าที่ยังเกาะมาดากัสดาร์ ส่วนคุณพ่อคาบริแอล เมื่อถึงอายุ 13 ปี ก็เข้าบ้านเณรเล็ก แล้วถึงปี ค.ศ. 1924 ก็เข้าบ้านเณรใหญ่ที่เมืองลือซอง เดือนกันยายน ค.ศ. 1928 จึงเข้าบ้านเณรมิสซังต่างประเทศกรุงปารีส รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์วันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 1931 แล้วรับมอบหมายมาอยู่ในประเทศไทย
คุณพ่อถึงกรุงเทพฯได้เดือนหนึ่งแล้วจึงได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดผู้ช่วย คุณพ่อยาโกเบ แจง ที่วัดหัวไผ่ เดือนมกราคม ค.ศ.1932 รับแต่งตั้งเป็นอาจารย์บ้านเณรเล็กของมิสซัง ที่บางนกแขวก
วันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 1934 บ้านเณรเล็กของมิสซัง ย้ายมาอยู่ที่ศรีราชา คุณพ่อโรเชอโร เคยเล่าถึงการโยกย้ายนี้หลายๆ ครั้งอย่างน่าฟังทุกครั้งด้วย มีการใช้เรือลากจูงนำเรือลำใหญ่ซึ่งมีทุกสิ่งทุกอย่าง จัดเตรียมไว้เพื่อนำมาใช้ที่บ้านเณรศรีราชา แล่นผ่านอ่าวสยามมาจอดที่เกาะลอย ใกล้ศรีราชา คุณพ่อยังคงอยู่ที่ศรีราชาอีก 3 ปี
เมื่อ ปี ค.ศ. 1938 จากริมทะเลคุณพ่อถูกย้ายไปอยู่แถบภูเขา ติดตามคุณพ่อการต็องไปเชียงใหม่ และที่สุดคุณพ่อโรเชอโร ก็ไปตั้งหลักแหล่งอยู่ที่เมืองพาน ในเดือนกันยายน ค.ศ.1938 วัดที่เมืองพานนี้ คุณพ่ออาทานาส เป็นผู้เปิด อยู่ในความดูแลของคุณพ่อเมอนิเอร์เจ้าอาวาส สมัยนั้น ยังไม่มีภคินีอยู่ประจำ คุณพ่อโรเชอโรก็ต้องไปรับอาหารที่ร้านคนจีนในตลาด คุณพ่อเคยเล่าถึงอาหารที่รับในวันศุกร์ เวลาเช้า ไข่ดาว 2 ฟอง และไข่เจียวอีก 2 ฟอง เวลาเที่ยงไข่เจียว 2 ฟอง และไข่ดาว 2 ฟอง เวลาเย็นไข่ดาว 2 ฟอง และไข่เจียวอีกเหมือนเดิม คุณพ่อชอบเมืองพานมาก ชอบการไปแพร่ธรรมทั่วบริเวณในภาคนี้ของประเทศ แต่พอถึงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1940 เนื่องจากกรณีพิพาทอินโดจีน พระสงฆ์มิสชันนารีทั้งหมดต้องกลับมาอยู่กรุงเทพฯ และต้นเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1941 ก็ต้องออกนอกประเทศเดือนกันยายน ค.ศ. 1941 คุณพ่อโรเชอโร กลับมาเมืองไทย และเดือนตุลาคมกลับไปอยู่ที่เมืองพานตามเดิม ได้รับการต้อนรับอันอบอุ่นจากบรรดาคริสตัง แต่เนื่องจากการสงเคราะห์ระหว่างไทยกับพม่า บรรดาต่างด้าวต้องออกไปจากเขตจังหวัดตามพรมแดน เดือนมีนาคม ค.ศ. 1943 คุณพ่อโรเชอโร จึงมาจังหวัดทางทิศใต้ของเชียงใหม่ รับแต่งตั้งที่เจ้าเจ็ด ในฐานะเป็นพ่อปลัดของคุณพ่อบรัวซาต์ เจ้าอาวาสวัดบ้านปลายนา ซึ่งสภาพผิดกันลิบลับกับเมืองพาน ทางเมืองพานต้องใช้เดินทางไปมาตามภูเขาต่างๆ มีธรรมชาติอันสวยงาม ส่วนที่เจ้าเจ็ดก็เกือบต้องอยู่แต่กับที่ เพราะมีน้ำท่วมเป็นส่วนมาก คุณพ่อโรเชอโร ต้องปรับสภาพตนเองให้อยู่ได้ และทำงานที่เจ้าเจ็ด ด้วยสุดกำลังจิตใจ คุณพ่อยังดูแลวัดบ้านหน้าโคกด้วย ซึ่งอยู่ห่างเป็นระยะแจวเรือ 4 ชั่วโมง อาทิตย์หนึ่งอยู่บ้านหน้าโคกแล้วไปรายงานกับคุณพ่อเจ้าอาวาส ที่บ้านปลายนา ที่บ้านหน้าโคก คุณพ่อได้สร้างโรงเรียนใหม่ที่สง่าสวยงาม อันเป็นที่น่าภาคภูมิใจของคุณพ่อ คือ โรงเรียนแสงทองวิทยา แต่แล้วในปี ค.ศ. 1948 เนื่องจากคุณพ่อโชแรง ได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราช ปกครองมิสซัง แทนพระสังฆราชแปร์รอส หน้าที่เหรัญญิกก็ว่างลง พระสังฆราชโชแรง จึงเรียก คุณพ่อโรเชอโรมาทำหน้าที่เหรัญญิกที่กรุงเทพฯ คุณพ่อไม่ชอบหน้าที่นี้เลย แต่ก็ต้องพยายามปรับตัวอีกครั้งหนึ่งให้สมกับหน้าที่เท่าที่สามารถ เรื่องการทำบัญชีต่างๆ คิดตัวเลขทั้งหมด คุณพ่อไม่ชอบเอาเสียเลย แต่ว่า สำหรับการต้อนรับขับสู่เพื่อนมิสชันนารีด้วยกัน ต้อนรับใครต่อใครก็ไม่ว่า คุณพ่อแสดงความมีน้ำใจดีเสมอ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส
โดยได้รับมอบหมายจากพระสังฆราชโชแรง คุณพ่อโรเชอโร ได้สร้างรั้วทางด้านเหนือของอารามคาร์แมล กรุงเทพฯ แล้วติดๆ กับรั้วนี้ ก็ได้สร้างบ้านพัก 2 ชั้น จำนวน 10 คูหา เพื่อให้บรรดาคริสตังเช่า เรียกว่าหมู่บ้านเซนต์เทเรซา
ในราว ปี ค.ศ. 1955 พระสังฆราชโชแรง ขอให้คุณพ่อจัดสรรขายที่ดินตามริมทางแถบเซนต์หลุยส์ซอย 3 สมัยนั้น ซอย 3 ยังเป็นเพียงทางเดินแคบๆ เต็มไปด้วยหญ้ารกคุณพ่อโรเชอโร เป็นผู้ลงมือตัดทำถนนหนทางให้ดีขึ้น แล้วแบ่งที่ดินเป็นล็อคๆ สร้างบ้านขายหรือให้เช่า ทำให้คุณพ่อสามารถค่อยๆ ทำงานต่อไป ล็อคเล็กๆ นี้ บางล็อคก็ถูกขาย บางล็อคก็ให้เช่าราคาสูงพอสมควร และในทุกวันนี้ หมู่บ้านดังกล่าวกำลังเจริญ มีผู้อาศัยอยู่หนาแน่น เป็นที่ดินที่กำลังทำผลประโยชน์ให้แก่มิสซัง
หลังจากที่พระสังฆราชโชแรง ถึงแก่มรณภาพ ปี ค.ศ. 1965 พระสังฆราชยวง นิตโย ได้ขอให้คุณพ่อโรเชอเรอ เตรียมมอบหน้าที่เหรัญญิกให้แก่คุณพ่อบวชใหม่ คือ คุณพ่อดานิแอล วงศ์พานิช, คุณพ่อโรเชอโร จึงมอบบัญชีทั้งหลาย แล้วรายงานถึงกิจการงานต่างๆ ถึงที่ดินทำประโยชน์ และถึงกิจการทั้งด้านดีและด้านไม่ดีเกี่ยวกับสำนักมิสซัง
ต่อจากนั้น พระสังฆราชนิตโย แต่งตั้ง คุณพ่อโรเชอโร เป็นเจ้าอาวาสวัดบางบัวทองซึ่ง คุณพ่อบรัวซาต์ และคุณพ่อตาปี เป็นผู้สร้างไว้ในปี ค.ศ. 1924-1925 ที่ชานเมืองกรุงเทพฯ ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ ขณะเดียวกันคุณพ่อโรเชอโร ก็เป็นเจ้าอาวาสวัดบางภาษี ซึ่งสร้างโดย คุณพ่อริชารด์ ในราวปี ค.ศ. 1930 อยู่ริมคลองซึ่งเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากรุงเทพฯ กับแม่น้ำนครชัยศรี ผ่านบางบัวทอง
ที่บางภาษี วัดเก่าแก่ของคุณพ่อริชารด์ กำลังจะผุพัง เนื่องจากมีการขัดแย้งเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินผืนนั้น คุณพ่อโรเชอโร ก็จัดการซื้อที่ดินอีกแปลงหนึ่ง ราว 20 ไร่ และสร้างวัดใหม่ วัดนักบุญอันเดร และอาคารอื่นๆ เช่นบ้านพักพระสงฆ์ โรงเรียน ฯลฯ
แต่เมื่อคุณพ่อทำงานเหล่านี้เพิ่งสำเร็จแล้ว พระเป็นเจ้าก็ทรงเรียกคุณพ่อกลับไปหาพระองค์ แม้ว่าคุณพ่อโรเชอโร ได้ทุ่มเทกำลังใจทั้งหมดให้แก่คริสตัง ที่บางบัวทองและที่บางภาษี ตลอด 5 ปีสุดท้ายของชีวิตคุณพ่อ ก็ได้กลายเป็นความทรมานฝ่ายจิตใจ
เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1970 คุณพ่อโรเชอโร ล้มป่วยลง เข้าโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ และโรงพยาบาลรามา สุขภาพของคุณพ่อกำลังค่อยๆ ยังชั่วขึ้น เมื่อคุณพ่อกลับมาอยู่ที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ แต่พอจะถึงกำหนดพระคริสตสมภพ แม้ว่านายแพทย์และบรรดาซิสเตอร์แนะนำให้คุณพ่ออยู่ที่โรงพยาบาล คุณพ่อก็คิดถึงลูกแกะของท่าน และอยากจะกลับไปอยู่ท่ามกลางพวกเขา เพื่อฉลองพระคริสตสมภพ ที่บ้านพักพระสงฆ์ที่บางบัวทอง ขณะที่คุณพ่ออยู่ริมหน้าต่างก็เกิดเป็นลมสิ้นสติร่วงตกลงไป ซึ่งมีทั้งหินและดินแห้งบ้าง เป็นโคนบ้าง โดยไม่รู้ตัว พอใกล้จะรุ่งสว่าง คุณพ่อก็รู้สึกตัวฟื้นขึ้นมา แต่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ มีแต่ส่งเสียงร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวด จนแม่ครัวได้ยินเสียงคุณพ่อ จึงเรียกคนมาช่วยทันที มีผู้หนึ่งจากตลาด สมัครใจเอารถรับคุณพ่อไปส่งโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ แต่อาการและสุขภาพของคุณพ่อไม่ดีขึ้น เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1971 นายแพทย์ส่งคุณพ่อโรเชอโร ไปยังโรงพยาบาลรามาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อพยายามช่วยชีวิตคุณพ่อ จำเป็นต้องผ่าตัดเปิดกระโหลกศีรษะ วันนั้น เป็นวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1971 คุณพ่อไม่มีสติสัมปชัญญะขึ้นมาอีกเลย แต่คุณพ่อก็ได้ไปฟื้นคืนชีวิตต่อพระพักตร์พระเป็นเจ้าในสวรรค์ รวมอายุ 67 ปี