คุณพ่อ อัลเฟรด มารี เทโอฟิล ร็องแดล

 
 
คุณพ่อ อัลเฟรด มารี เทโอฟิล ร็องแดล
 
Alfred RONDEL
 
คุณพ่อ อัลเฟรด มารี เทโอฟิล ร็องแดลกิดวันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 1855 ที่เบร่เซ เมือง  กูตังส์ แขวงมางช์ เข้าบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศ วันที่ 16 มีนาคม ค.ศ.1877 รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1880 ออกเดินทางมามิสซังสยาม วันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 1880  
 
คุณพ่อ อัลเฟรด มารี เทโอฟิล ร็องแดล เกิดที่หมู่บ้านเล็กๆ ตั้งอยู่ห่างจากอาวรังซ์หลายสิบกิโลเมตร บิดาของคุณพ่อเป็นทนายความ และประทับตราสารต่างๆ ด้วยตรารูปนกอินทรีสวมมงกุฎจักรพรรดิทั้งครบครัว เป็นชนชั้นกลางเดิม ดำรงชีพด้วยผลผลิตจากไร่อย่างสุขสบาย เป็นเจ้าของไร่อยู่ในแขวงนอร์มังดี  คุณพ่อร็องแดลได้รับการศึกษาอบรมอย่างเอาใจใส่ดี คุณพ่อเรียนเก่งจนหาคนเทียบยาก คุณพ่อสำเร็จการศึกษาคณะนิติศาสตร์ที่เมืองกัง เมื่อยังหนุ่ม ก็ได้อยู่ท่ามกลางพวกบัณฑิต และมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ด้านกฎหมายและพิจารณาคดี
 
คุณพ่อหลงไหลกฎหมายมาก และยังชอบกฎหมายอยู่จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต แต่เหตุไฉนการเรียนกฎหมายจึงนำคุณพ่อมาเข้าบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศ ไม่มีใครทราบ บิดามารดาของคุณพ่อคงจะมีที่นั่งจองไว้อยู่ในวัด ทนายความเวลานั้นร้องเพลงโดยมีคนให้จังหวะ และติดต่อกับพระสงฆ์อยู่บ่อยๆ ที่บ้านพักพระสงฆ์  คุณพ่อร็องแดลได้พบเจ้าอาวาส ซึ่งนำคุณพ่อไปจนถึงขั้นสงฆ์กระนั้นหรือ หรือว่าญาติของคุณพ่อคนหนึ่งเป็นพระสงฆ์ ได้เป็นเครื่องมือสอดส่องให้เห็นกระแสเรียกของคุณพ่อ อาจเป็นไปได้ เมื่อคุณพ่อได้ละจากอาชีพนักกฎหมาย มาเป็นพระสงฆ์ของพระศาสนจักร คงเป็นกระแสเรียกที่ได้รับการพิจารณามาแล้วเป็นอย่างดี คุณพ่อร็องแดล ได้ขอสมัครเข้าบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศ
 
คุณพ่อได้รับศีลบวชขั้นรองอนุสงฆ์ วันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1879  เป็นอนุสงฆ์ วันที่ 20 กันยายน ค.ศ. 1879 แล้วที่สุด ก็รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1880  ออกเดินทางมามิสซังสยาม วันที่ 31 มีนาคม ปีเดียวกัน และถึงที่นั่นเดือนพฤษภาคมนั้นเอง พระสังฆราชเวย์ ประมุขมิสซังเวลานั้น ได้มอบให้คุณพ่อดองต์ พาคุณพ่อไปที่บ้านเณรบางช้าง วันที่ 14 มิถุนายน  เพื่อเริ่มเรียนภาษาไทย มิสชันนารีหนุ่มผู้ร้อนรนและกระตือรือร้นจะชอบใช้ชีวิตปฏิบัติงานอยู่ที่วัดใดวัดหนึ่ง แต่คุณพ่อก็นบนอบลงมือเรียนภาษาไทยและสอนพวกเณรไปด้วย บางคราว คุณพ่อก็ไปเยี่ยมบางวัดในมิสซัง อันที่จริง
 
วันที่ 5 มกราคม ค.ศ. 1882 คุณพ่อไปเยี่ยมวัดที่จันทบุรี พร้อมกับคุณพ่อมาร์แตง และคุณพ่อลมบาร์ด และเดือนมกราคม ค.ศ. 1883 ได้ไปเยี่ยมวัดอยุธยาและวัดบ้านแป้ง คุณพ่อพร้อมด้วยคณะบ้านเณร เข้าร่วมพิธีเสกวัดใหม่ที่บ้านแป้ง
 
วันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1883  พระสังฆราช เดอ เกราซา แต่งตั้งคุณพ่อร็องแดล  เป็นผู้ช่วยคุณพ่อโปรดอม ผู้รับผิดชอบงานแพร่ธรรมในประเทศลาวเป็นพิเศษ “การไปประเทศลาว”  จึงกลายเป็นจริงสำหรับผู้ที่เคยใฝ่ฝันอยู่เสมอ เมื่อถึงเดือนมกราคม ค.ศ. 1884  คุณพ่อแร็งแดลก็หมดแรง เพราะงานตามวัดน้อยต่างๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ในลาว สมัยนั้นต้องให้แพทย์ของมิสซังสั่ง เพื่อบังคับให้คุณพ่อพักผ่อนบ้าง แล้วจึงให้ไปแพร่ธรรมต่อในวัดแห่งหนึ่งในสยาม คือที่วัดบ้านแป้ง ซึ่งพระสังฆราชส่งไป
 
คุณพ่ออยู่ที่บ้านแป้งได้ไม่นาน ก็มีไข่ป่าระบาด เนื่องจากคุณพ่ออ่อนแรงลงมาก จึงต้องเดินทางกลับฝรั่งเศส คุณพ่อออกจากกรุงเทพฯ วันที่ 28 มีนาคม ค.ศ. 1885
 
คุณพ่อรู้สึกยินดีที่ได้พบมารดา และเพื่อนเก่าร่วมคณะอีกหลายคน เพื่อนบางคนก็เป็นผู้พิพากษา บ้างเป็นทนาย บ้างเป็นแพทย์อาศัยความช่วยเหลือจากเพื่อนๆ ที่เป็นนายแพทย์ คุณพ่อจึงหายจากไข่ป่าโดยเร็ววัน การเอาใจใส่ดูแลอย่างเคร่งครัด ทำให้คุณพ่อกลับมีพลังขึ้นมาใหม่
 
แม้ว่าคุณพ่อจะพร้อมที่จะกลับไปแพร่ธรรมในประเทศลาวอีก คุณพ่อดองต์ ซึ่งเวลานั้นเป็นผู้แทนประมุขมิสซัง ก็แต่งตั้งให้คุณพ่อไปอยู่วัดคอนเซ็ปชัญชั่วคราวเราเห็นว่าคุณพ่อขยันขันแข็งทำงานด้วยความชื่นชม และยังให้บริการมากมายแก่เพื่อนๆ พระสงฆ์ คุณพ่อร็องแดลไปอยุธยา บ้านแป้ง บางช้าง สะแกรัง ฯลฯ  คุณพ่อรับผิดชอบถ่ายรูปวัด วัดน้อย บ้านพัก กลุ่มพระสงฆ์ โรงเรียน กลุ่มพวกคริสตัง เพื่อให้ทางมิสซังสยามจัดส่งถวายแด่พระสันตะปาปา เลโอ ที่ 13  ในโอกาสหิรัญสมโภชการบวชเป็นพระสงฆ์  แต่การแพร่ธรรมเพียงปีเดียวในกรุงเทพฯ ก็ทำให้คุณพ่อคิดถึงประเทศลาว แล้วตอนปลายเดือนมกราคม ค.ศ.1888 คุณพ่อก็ดีใจที่ได้กลับไปช่วยคุณพ่อโปรดอมอีก
 
ในช่วงนั้น คือ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1888 ถึง  ค.ศ. 1896  เป็นช่วงที่ต้องเดินทางไกลมาก ทรัพย์สินส่วนตัวจำนวนหนึ่งซึ่งมากพอสมควร ต้องเอามาใช้ในการจัดสร้างวัดเล็กๆ และจัดจ้าง ครูคำสอนที่กระจัดกระจายอยู่ตามชนบท คุณพ่อได้ซื้อที่ดินหลายผืนด้วยเงินของคุณพ่อเอง เพื่อเป็นประโยชน์แก่พวกคริสตังใหม่ที่ยากจนมาก และไม่สามารถแม้แต่จะซื้อเมล็ดข้าวมาหว่าน เพราะไม่มีเงิน คุณพ่อยังไม่ลังเลใจที่จะซื้อเครื่องมือทุกชนิด เช่น ขวาน เลื่อย ระดับน้ำ วงเวียน เข็มทิศ และแม้แต่โรงตีเหล็กที่สมบูรณ์แบบโรงหนึ่ง เพื่อจะได้สร้างวัดถวายพระเป็นเจ้า และสร้างบ้านพักกระท่อมสำหรับเพื่อนพระสงฆ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในศูนย์กลางใหญ่ที่อุบล ซึ่งจัดตั้งในปี ค.ศ. 1881 วัดสร้างขึ้นมาได้ด้วยอาศัยทุนทรัพย์ของคุณพ่อดาแบงรวมกับทุนทรัพย์ของคุณพ่อร็องแดล
 
เมื่อคุณพ่อร็องแดลกลับมาสยาม คุณพ่อก็ได้รับมอบหมายให้ไปอยู่ที่นครนายก ระยะหนึ่ง แล้วก็ไปที่ปราจีนบุรี ที่ซึ่งคุณพ่อได้สร้างวัดโคกวัด ทั้งนี้ ไม่นับวัดอื่นๆ หลายแห่ง ซึ่งไม่มีผลของการแพร่ธรรมตามที่คาดหวังเอาไว้
 
มิสซังลาวได้มอบที่ราบโคราช คืนให้อยู่ในความดูแลของมิสซังสยาม คุณพ่อร็องแดลได้รับมอบหมายให้ดูแลมิสซังนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1911  พร้อมทั้งยังต้องดูแลปกครองวัดที่ปราจีนบุรี เวลานั้นเมืองโคราช เป็นหัวเมืองที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของภาคอีสาน ทางรถไฟซึ่งมีระยะกว่า 250 กิโล เมตร จากกรุงเทพฯถึงโคราช ก็มีการสร้างต่อไปอีก ในไม่ช้าก็มีไปถึงอุบล ชาวเมืองมีทั้งไทย   ลาว เขมร และจีน มีประมาณ 10,000 คน
 
คุณพ่อร็องแดลได้ใช้ชีวิตแพร่ธรรมช่วง 16 ปีสุดท้าย อยู่ในภาคอีสานและเมืองโคราชนี้เอง ในระยะไม่กี่เดือน คุณพ่อเห็นว่าการบริหารดูแลวัดทั้งสองแห่ง คือ ที่ปราจีนบุรีและที่โคราช ไม่สามารถทำได้อย่างสม่ำเสมอ และอย่างมีผล เพราะระยะทางห่างไกลกันมาก คุณพ่อจึงเลือกไปอยู่ที่โคราช และได้จัดสร้างวัดสาขาต่างๆ ที่บ้านเล่า สูงเนิน บ้านหัน ซึ่งคุณพ่อปกครองอยู่ โดยอาศัยความช่วยเหลือจากบรรดาพระสงฆ์พื้นเมือง เพื่ออนาคต ทรัพย์สินได้ใช้ไปเพื่อพระเป็นเจ้าและวิญญาณทั้งหลายแล้ว ส่วนที่เหลือก็ถูกนำมาใช้เพื่อให้มีรายได้สำหรับวัดศูนย์กลางที่โคราช คุณพ่อไม่ค่อยพิถีพิถันสำหรับตัวเอง และไม่ค่อยกังวลเรื่องการครองชีพและการนุ่งห่ม คุณพ่อชอบซื้อหรือรับเลี้ยงพวกลูกๆ ของคนต่างศาสนา และเลี้ยงดูให้เติบโตในศาสนาคริสตัง คุณพ่อยังได้ให้ความช่วยเหลือพวกคริสตังใหม่ด้านการเงินอย่างมากมายด้วย และหลายๆ คนมีที่อยู่อาศัยอย่างสุขสบายเพราะการช่วยเหลือของคุณพ่อ พระเป็นเจ้าผู้เดียวเท่านั้นที่ทรงทราบว่าคุณพ่อใช้เงินทั้งหมดเท่าไร เพื่อช่วยเหลือลูกแกะทั้งหลายของคุณพ่อ
 
เนื่องจากคุณพ่อร็องแดลเกิดเป็นโรคตาต้อขึ้น จึงต้องออกเดินทางกลับไปฝรั่งเศสอีกในปี ค.ศ. 1921 คุณพ่อกลับมาที่วัดของคุณพ่อในปี ค.ศ. 1923  และก็ยังคงทำงานได้ผลดีต่อไป  แม้ร่างกายจะอ่อนแรงลง คุณพ่อก็ยังไม่หยุดที่จะทำตัวให้เป็นที่ชอบพอ อากาศที่โคราชเย็นพอควรในหน้าหนาว ทำให้คุณพ่อมีพลังขึ้นมาบ้าง เพราะหน้าร้อนทำให้คุณพ่อเสียพลังไปด้วยความร้อนอบอ้าว ปีค.ศ. 1926 กลัวว่าจะหนาวเกินไป คุณพ่อจึงตัดสินใจทันทีทันใดที่จะไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ กรุงเทพฯ
 
ถึงเดือนมีนาคม  คุณพ่อร็องแดลเชื่อว่าตัวเองแข็งแรงขึ้นแล้ว จึงต้องการกลับไปที่วัดของตนให้ได้ วัดนี้เป็นวัดศูนย์กลางของภาคอีสานอันกว้างใหญ่ไพศาล ถึงแม้ว่านายแพทย์กลัวว่าจะเกิดโรคแทรกซ้อนที่อันตรายมาก เพราะความร้อนในเวลานั้นเริ่มร้อนระอุมากแล้ว ได้ห้ามอย่างเด็ดขาดแล้วก็ตาม คุณพ่อไปถึงโคราช วันที่ 3 มีนาคม และยังสามารถทำมิสซาเทิดเกียรติแด่พระได้ในวันเสาร์ที่ 5  มิสซานี้เป็นมิสซาสุดท้าย
 
เช้าวันที่ 9 มีนาคม หลังจากผ่านคืนอันแสนทุกข์ทรมาน คุณพ่อตัดสินใจกลับกรุงเทพฯ แม้ว่าปลัดของคุณพ่อจะให้ข้อแนะนำคัดค้าน เพราะเป็นห่วงว่าคุณพ่อต้องเดินทางโดยรถไฟใช้เวลา 10 ชั่วโมง และอุณหภูมิเกือบ 40 องศา  คุณพ่อร็องแดลก็ยังออกจากโคราชไปพร้อมด้วยคนรับใช้ 2 คนและปลัดคนหนึ่ง ตกลงใจจะไปเป็นเพื่อนคุณพ่อในการเดินทาง แม้คุณพ่อผู้ป่วยจะคัดค้านก็ตาม
 
การเดินทางช่วงแรกผ่านไปโดยไม่มีปัญหาร้ายแรง พอถึงตอนเที่ยง ต้องเปลี่ยนรถไฟ คุณพ่อเกิดหอบอย่างหนัก และหายใจไม่ค่อยออก แม้มีคนรับใช้ช่วย ก็ยังลงจากรถไฟด้วยความลำบาก อย่างไรก็ดี พวกเขาก็สามารถหามคุณพ่อไปขึ้นรถไฟเข้ากรุงเทพฯได้ แพทย์สองคนเห็นพ้องต้องกันว่า อาการของคุณพ่อหนักมาก จึงช่วยทำการบำบัดเท่าที่ทำได้ แต่ความเพียรพยายามทั้งหมดไร้ผล ไม่กี่สิบนาทีต่อมา คุณพ่อร็องแดลก็นั่งไม่ขยับเขยื้อนอยู่ในขบวนรถไฟ มีปลัดคอยดูแลอยู่ หลังจากโปรดศีลทาสุดท้ายให้แล้ว คุณพ่อถวายวิญญาณคืนแด่พระเป็นเจ้า  การสนใจช่วงสุดท้ายของคุณพ่อบนโลกนี้ มุ่งมองไปทางทุ่งราบอันกว้างใหญ่ไพศาลของเมืองอยุธยา สนามแพร่ธรรมแห่งแรกของบรรดาผู้ก่อตั้งคณะมิสซังต่างประเทศ คุณพ่อ ยังรู้สึกตัวดีจนถึงวาระสุดท้าย มิสชันนารีผู้ขันแข็งเดินทางผ่านสถานที่ต่างๆ นี้ ซึ่งบรรดานักแพร่ธรรมผู้ยิ่งใหญ่เหล่านั้นได้อวยพรและทำให้ศักดิ์สิทธิ์ พร้อมกับเดินทางเข้าสู่หลุมศพ  คุณพ่อได้รับผลสะท้อนจากความร้อนรนและความกล้าหาญของท่านเหล่านั้น โปรดอนุญาต
 
ให้เราได้เห็นท่านเหล่านั้น วิ่งมาเป็นขบวนพร้อมพวงมาลัยแห่งสิริมงคล มาอยู่ต่อหน้าดวงวิญญาณของเพื่อน     มิสชันนารีของพวกท่าน และนำท่านไปสวรรค์ด้วย
 
คุณพ่อสิ้นใจที่อยุธยา ในขบวนรถไฟไปกรุงเทพฯ วันที่ 9 มีนาคม ค.ศ. 1927
 
เมื่อศพของคุณพ่อมาถึงกรุงเทพฯ ก็ถูกนำไปที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ก่อน แล้วจึงถูกนำบรรจุเข้าหีบศพ วันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 1927  หลังจากที่พระสังฆราชได้ถวายบูชาและทำพิธีปลงศพ  โดยมีบรรดาเพื่อนพระสงฆ์ที่อยู่กรุงเทพฯ ร่วมถวายด้วยกันแล้ว ศพก็ถูกนำไปฝังไว้ในห้องใต้ดินของอาสนวิหารอัสสัมชัญ คุณพ่อพักอยู่ที่นั่น รอการกลับเป็นขึ้นมา อยู่ใกล้ศพของพระสังฆราชเวย์ นิสัยอันร้อนรนดังไฟ ดับลง พลังแรงของคนหายลับไป ความเมตตาใจกว้างของคุณพ่อก็จางหายไป แต่สิ่งที่ยังคงอยู่ในความทรงจำของบรรดามิสชันนารีและพระสงฆ์พื้นเมืองทั้งหมดของสยาม คือ ผลงานของผู้รับใช้พระคริสตเจ้า.