-
Category: ประวัติพระสงฆ์คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (มรณะ)
-
Published on Thursday, 07 April 2016 08:37
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 2271
คุณพ่อ ฟรังซัวส์ โยเซฟ ชมิตต์
François SCHMITT
คุณพ่อ ฟรังซัว โยเซฟ ชมิตต์ เกิดวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1839 ที่เมืองกูเกนไฮม์ แขวงบาซ์แรง คุณพ่อเข้าบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศ วันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ. 1860 รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ วันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 1863 และออกเดินทางมามิสซังสยาม วันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1863 ในช่วงเวลา 2 ปี คุณพ่อทำงานอยู่ที่สำนักมิสซังกรุงเทพฯ และที่วัดอัสสัมชัญ
พระสังฆราชดือปองด์ มอบหมายให้คุณพ่อไปลองทำงานแพร่ธรรมที่ท่าเกวียน ต่อจากนั้น ในปี ค.ศ. 1868 คุณพ่อได้รับมอบหมายให้ดูแลเขตวัดแปดริ้วด้วย แปดริ้วเป็นเมืองใหญ่ที่สุดทางภาคตะวันออก ตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำบางปะกง และห่างจากปากแม่น้ำประมาณ 25 กม.
ปี ค.ศ. 1868 นั้นเอง คุณพ่อซื้อที่ดินผืนหนึ่งอยู่ทางปากแม่น้ำท่าเกวียน และบนที่ดินผืนนี้ คุณพ่อจัดตั้งกลุ่มคริสตังปากคลองท่าลาด ซึ่งเพิ่งทำการจัดตั้งมิสซังจีนขึ้นมาได้เพียง 2 หรือ 3 ปี เท่านั้น ที่แปดริ้วและในชนบท กำลังดำเนินการจัดตั้งบางกลุ่มอยู่ การปกครองกลุ่มคริสตังในเขตแปดริ้วดำเนินไปด้วยความยากลำบาก เพราะต้องไปเยี่ยมเยียนอยู่เสมอๆ
จากแปดนิ้ว คุณพ่อชมิตต์คงตระเวณไปทั่วทั้งจังหวัดและออกนอกจังหวัดด้วย เช่น ที่ ท่าเกวียน หัวสำโรง เมืองพนัส บางปลาสร้อย ปราจีนบุรี คุณพ่อสามารถไปถึงท่าเกวียนได้โดยเรือ แต่ที่หัวสำโรง เมืองพนัสและบางปลาสร้อย มีทุ่งราบกว้างใหญ่คั่นอยู่จากแปดริ้ว บางฤดูต้องขี้ม้าผ่านทุ่งราบนี้ บางฤดูข้องขี้ควาย หรือไม่ก็ต้องใช้เดินเท้า
ตามปกติ คุณพ่อชมิตต์พักอยู่ที่แปดริ้ว ณ ที่นี้ คุณพ่อพบแต่วัดไม้น่าทุเรศเพียงหลังหนึ่ง สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1857 และตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำบางกะกง บ้านพักของมิสชันนารีคล้ายกับวัด ในเมื่อมิสชันนารีของเราไม่เคยพิถีพิถันเรื่องที่พัก เรื่องอาหาร ก็เช่นกัน
ดังนั้น ไม่น่าประหลาดใจที่มิสชันนารีหนุ่มองค์หนึ่งซึ่งเพิ่งคุ้นเคยอากาศได้ที่พักไม่ดี อาหารไม่ดี จึงไม่สามารถสู้ทนกับความเหน็ดเหนื่อยต่างๆ ที่ได้รับจากการปกครองดูแลเขตวัดของคุณพ่อ หลังจากมาอยู่ที่แปดริ้วได้ 4 ปี คุณพ่อชมิตต์เป็นเป็นโรคบิด จึงต้องกลับไปฝรั่งเศส ตามคำแนะนำของบรรดาอธิการและของแพทย์
เมื่อคุณพ่อกลับมาจากฝรั่งเศส ปี ค.ศ. 1871 พระสังฆราชดือปองด์ ส่งคุณพ่อไปสำรวจเส้นทางไปเชียงใหม่ โดยผ่ายทางพม่า แต่คุณพ่อไม่สามารถข้ามภูเขาป่าทึบได้ จึงต้องกลับมาที่กรุงเทพฯ
ปี ค.ศ. 1872 ก็พบคุณพ่อชมิตต์อยู่ที่แปดริ้วอีก สภาพการณ์ดีขึ้น เพราะมีมิสชันนารีเพิ่มมากขึ้น ท่าเกรียน หัวสำโรง เมืองพนัส บางปลาสร้อย อยู่ในการปกครองดูแลของคุณพ่อบาร์บิเอร์ และคุณพ่อเกโก คุณพ่อชมิตต์ซึ่งไม่มีการเดินทางมารบกวนอีกแล้ว จึงสามารถคิดถึงการสร้างวัดใหม่หลังหนึ่ง คุณพ่อซื้อที่ดินผืนหนึ่งของแม่น้ำ และบนที่ดินผืนนี้คุณพ่อสร้างวัดนักบุญเปาโล ซึ่งเปิดทำจารีตพิธี วันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1873 วัดนี้สร้างเสร็จ ในปี ค.ศ. 1875 เป็นอิฐพร้อมด้วยหอระฆังไม้สองหอเล็ก วัดนี้เป็นผลงานอันสวยงามชิ้นหนึ่งในสมัยที่ทำการสร้างนับว่าวัดนี้เป็นวัดที่สวยงามหลังหนึ่งในกรุงสยาม ทางด้านขวาของวัด คุณพ่อสร้างบ้านพักพระสงฆ์หลังหนึ่ง สถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าหลังหนึ่ง และโรงเรียนสำหรับเด็กหญิงเด็กชายหลังหนึ่ง ทางด้านซ้าย คุณพ่อสร้างโรงเรียนสำหรับเด็กชาย
เวลานั้น จำนวนคริสตังเพิ่มทวีขึ้น คุณพ่อชมิตต์มุ่งเน้นให้พวกเขามารวมกลุ่มกันอยู่รอบบริเวณเขตวัด เพื่อว่าคุณพ่อจะได้เอาใจใส่ดูแลความเป็นอยู่ทั้งทางด้านวัตถุและด้านวิญญาณด้วยในเวลาเดียวกัน คุณพ่อปลูกฝังให้พวกเขามีแนวคิดที่รู้จักประหยัด เหมือนบิดาที่ดีของครอบครัว แล้วเมื่อรู้ว่าชาวพื้นเมืองเอาใจใส่ดูแลลูกๆ ของพวกเขาไม่เพียงพอ คุณพ่อก็เกลี้ยกล่อมพวกเขาให้หาทำเลแห่งหนึ่งสำหรับลูกๆ ดังนี้ คุณพ่อก็ช่วยให้บรรดาวัยรุ่นรอดพ้นจากความหายนะ ทั้งทางด้านร่างกายและทางด้านศีลธรรม และครอบครัวจำนวนมากก็มาตั้งรกรากอยู่
กระนั้นก็ดี คงไม่ต้องคิดว่า ผลดีจะเกิดขึ้นโดยไม่มีศัตรูคอยหาทางกีดขวางงานของพระเป็นเจ้า บางครั้งบางคราว พวกสมาคมลับ เปลี่ยนรูปแบบใหม่เพื่อทำลายสิ่งที่มิสชันนารีจัดตั้งขึ้นมาด้วยความเสียสละอย่างสูง มีครั้งหนึ่ง กลุ่มชาวจีนถืออาวุธมาล้อมถึงบ้านพักพระสงฆ์ของคุณพ่อ คุณพ่อชมิตต์ซึ่งเป็นคนใจกว้างอยู่เสมอนั้นไม่ต้องสงสัย แต่พูดตามจริงแล้วคุณพ่อมิได้ใจกล้า คุณพ่อหวาดกลัวการทำเสียงอึกทึกของพวกชาวจีน เดชะบุญ ที่พระเป็นเจ้าประทานปลัดองค์หนึ่งอยู่กับคุณพ่อ คือ คุณพ่อแปร์เบต์ ซึ่งเคยเป็นทหารเก่าของนายพลบูรบากิ และเป็นผู้ที่คอยสงบจิตใจของคุณพ่อชมิตต์ในวันที่เกิดเรื่องร้ายๆ ขึ้น
ปี ค.ศ.1872 เมื่อคุณพ่อชมิตต์กลับมาที่แปดริ้วแล้วก็ออกเดินทางไปในเขตจังหวัดนครนายก คุณพ่อพบครอบครัวคริสตังชาวญวนหนึ่งครอบครัว และคริสตังจีนหลายคนด้วยที่บ้านเล่า จึงรวบรวมพวกเขาให้มาอยู่รอบๆ โรงสวดที่จัดสร้างขึ้นรีบด่วน คุณพ่อยังไปเยี่ยมเยียนพวกเขาอยู่ จนในปี ค.ศ. 1876 หลังจากนั้น คุณพ่อก็มอบหมายใก้ปลัดของคุณพ่อ คือ คุณพ่อแปร์เบต์ ปกครองดูแลคริสชนกลุ่มนี้ คุณพ่อแปร์เบต์จัดการสร้างวัดเล็กๆ หลังหนึ่งเป็นไม้ ให้ชื่อว่าวัดพระยาสามองค์ มีพิธีเสกในปี ค.ศ. 1886 คุณพ่อแปร์เบต์ไปที่วัดนี้อย่างสม่ำเสมอจนถึงปี ค.ศ. 1892
ในช่วงเวลาเเกือบ 30 ปี คุณพ่อแปร์เบต์อยู่กับคุณพ่อ การปกครองวัดเป็นสิทธิ์ของคุณพ่อชมิตต์ ส่วนคุณพ่อแปร์เบต์เป็นเสมือนรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศของคุณพ่อ อาศัยการแข่งขันของผู้ช่วยที่ประเสริฐของคุณพ่อ เจ้าอาวาสจึงสามารถทุ่มเทให้กับงานทางด้านภาษาที่ทำให้คุณพ่อมีชื่อเสียงโด่งดังในบรรดาผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาตะวันออก
อย่างไรก็ตาม มิต้องคาดคิดเลยว่างานต่างๆ ด้านภาษาของมิสชันนารีของเราจะกินเวลาจนทำให้คุณพ่อละเลยหน้าที่ต่างๆ ของคุณพ่อ ในปีค.ศ. 1893 คุณพ่อแปร์เบต์กลับฝรั่งเศสเพราะล้มป่วยลง คุณพ่อชมิตต์จึงต้องทำการปกครองดูแลวัดแปดริ้วแต่เพียงผู้เดียวอีกครั้งหนึ่ง
ปี ค.ศ.1893 หมู่บ้านชาวลาวบางแห่งที่ตั้งอยู่ตามชายป่าปราจีนบุรี ขอเข้าเป็นคริสตัง คุณพ่อ ไม่กลัวที่จะไปอยู่ท่ามกลางพวกเขาทันทีทันใด คุณพ่อสร้างบ้านขึ้นหลังหนึ่งใช้เป็นทั้งวัดและโรงเรียนที่ดอนกะทุ่มยาง ผู้เตรียมตัวเป็นคริสตังบางคนได้รับศีลล้างบาป และถ้าขบวนคนกลับใจที่คุณพ่อคอยอยู่นั้น ไม่มีมา ก็ใช่ว่าจะสูญเสียไปทั้งหมด หลังจากนั้นอีกเล็กน้อย คุณพ่อรงแดล ซึ่งมารับงานที่เริ่มไว้แล้ว ก็สามารถรวบรวมชาวลาวได้จำนวนหนึ่ง และจัดตั้งหมู่บ้านคริสตังเล็กๆ อันสดสวยขึ้นที่โคกวัด อยู่ไม่ไกลจากสถานที่ซึ่งคุณพ่อชมิตต์จัดตั้งบ้านอยู่
หลังจากทดลองประกาศพระวรสารที่นั่นแล้ว มิสชันนารีของเราก็กลับมาที่แปดริ้ว ณ ที่นั้น คุณพ่อดำเนินงานต่างๆ อันสงบสุขของคุณพ่ออีก แต่สุขภาพอันแข็งแกร่งของคุณพ่อเริ่มอ่อนแรงลง และในไม่ช้า คุณพ่อก็รู้สึกว่าหัวใจเต้นผิดปกติ โรคหัวใจ อันเจ็บปวดกำเริบยิ่งวันยิ่งบ่อยขึ้น จนคุณพ่อต้องเดินทางกลับยุโรป ตามคำแนะนำของแพทย์และพระสังฆราชเวย์ ในปี ค.ศ. 1895
คุณพ่อกลับมาถึงกรุงเทพฯ เดือนมิถุนายน ค.ศ.1896 แม้ดูเหมือนว่ามีสุขภาพดี แต่โรคหัวใจก็ยังไม่หาย ตั้งแต่ช่วงนี้เป็นต้นไป คุณพ่อต้องเข้าไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ที่นั่น นายแพทย์ผู้เสียสละของเรา ให้ความเอาใจใส่รักษาพยาบาลอย่างชาญฉลาด
ปี ค.ศ. 1904 สองเดือนหลังจากฉลองนักบุญเปาโล องค์อุปถัมภ์ของวัดแปดริ้ว มิสชันนารีของเรารู้สึกเหนื่อยมากขึ้น จึงออกเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไม่มีมิสชันนารีสักองค์เดียวในเขตใกล้เคียงจะคาดเดาว่าไม่ได้พบคุณพ่ออีกแล้วที่แปดริ้ว ส่วนตัวคุณพ่อเอง คุณพ่อมีความรู้สึกว่าใกล้วาระสุดท้ายหรือเปล่า? เรามิอาจบอกได้ แต่คุณพ่อก็ได้ขอให้สัตบุรุษสวดภาวนาให้คุณพ่ออย่างเร่าร้อนยิ่งขึ้น และหลายคนรู้สึกเหมือนกับว่าคุณพ่อกล่าวคำอำลาครั้งสุดท้าย
วันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ. 1904 คุณพ่อเข้าโรงพยาบาลอย่างถาวร นายแพทย์สังเกตว่าโรคหัวใจของมิสชันนารีมีโรคปอดอักเสบแทรกซ้อนด้วย ตั้งแต่นั้นมา พวกหยูกยาต่างๆ ของมนุษย์ก็เพียงแต่ช่วยชะลอความตายและบรรดาความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยลงได้บ้าง คุณพ่อเองก็รู้ตัวดีว่าความตายใกล้เข้ามาแล้ว
วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1904 คุณพ่อรับศีลทาสุดท้ายจากมือของคุณพ่อกอลเบต์เจ้าอาวาสวัดอัสสัมชัญ แล้วคุณพ่อก็ค่อยๆ อ่อนแรงลงเรื่อยๆ จนเย็นวันที่ 19 กันยายน ค.ศ. 1904 คุณพ่อจึงถวายวิญญาณคืนแด่พระเป็นเจ้า หลังจากเข้าตรีทูตเป็นเวลานาน พระสังฆราชเวย์และ มิสชันนารีองค์หนึ่งอยู่ใกล้เตียงเวลาที่คุณพ่อสิ้นใจ.