คุณพ่อ เทโอฟีล ท็อกแกลร์

 
 
คุณพ่อ เทโอฟีล ท็อกแกลร์
 
Théophile THOCKLER
 
 
คุณพ่อ เทโอฟีล ท็อกแกลร์ เกิดวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1872  ที่แซร์เนย์ หรือ แซนไฮม์ โฮ๊ตอัลซาส  คุณพ่อเรียนชั้นมัธยมที่บ้านเณรเล็ก เมืองซิลลิสไฮม์ และที่โรงเรียนของคณะเบเนดิกติน เมืองซารเนน ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เข้าบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศ วันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1891 รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์วันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 1895  และออกเดินทางมามิสซังสยาม วันที่ 31 กรกฎาคม การเดินทางยุ่งยากลำบากพอสมควรสำหรับมิสชันนารีหนุ่มของเรา เพราะว่าพอมาถึง คุณพ่อก็ล้มป่วยลง เวลานั้น ยังไม่มีโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ พระสังฆราชเวย์ ส่งคุณพ่อท็อกแกล่ร์ไปอยู่กับคุณพ่อซาลมอน ซึ่งดูแลปกครองวัดบางช้าง โดยมั่นใจว่าคุณพ่อจะสามารถช่วยรักษาคุณพ่อผู้ป่วยนี้ได้ก่อนอะไรอื่นหมด ในสมัยนั้น บางช้างยังเป็นสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเรียนภาษาจีนและภาษาไทย
 
ในขณะที่พักรักษาตัวอยู่นั้น คุณพ่อท็อกแกล่ร์ก็เริ่มเรียนรู้หลักภาษาจีน คุณพ่อได้เรียนรู้ดีขึ้นพอควร จนเมื่อพระสังฆราชเวย์ต้องการมิสชันนารีสักหนึ่งองค์ไปดูแลวัดนครชัยศรี จึงได้ส่งคุณพ่อไปแพร่ธรรมในเขตวัดนี้
 
หลังจากเป็นปลัดอยู่ 2 ปี คือ ใน ปี ค.ศ. 1897-1899  คุณพ่อได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส  สุขภาพของคุณพ่อดีขึ้นมาก ที่นครชัยศรี พวกชาวจีนทั้งหมดยังมีจำนวนไม่มากนัก กลุ่มคริสตังส่วนมากสืบเชื้อสายชาวจีน ซึ่งส่วนมากลืมภาษาของผู้ให้กำเนิด จึงพูดได้แต่ภาษาไทย คุณพ่อท็อกแกล่ร์จึงต้องพยายามเรียนด้วยตัวเอง คุณพ่อมุ่งเรียนภาษานี้ด้วยความเลื่อมใส และร้อนรนจนเป็นนิสัย ในช่วงเวลาหลายปี มิสชันนารีหนุ่มผู้นี้ทุ่มเทช่วยพวกคริสตังให้เอาตัวรอด โดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย แต่วัดนี้ก็มีวัดสาขาหลายแห่งที่อยู่ห่างไกลกันไป ทำให้คุณพ่อต้องยุ่งยากลำบากมากเกินความสามารถ สุขภาพของคุณพ่อจึงอ่อนโหยโรยแรงลงมาก และแล้วก็ต้องเข้ากรุงเทพฯ เพื่อให้แพทย์ที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ตรวจเช็ค
 
คุณพ่อรู้สึกชื่นชมยินดีอย่างจริงใจที่ได้ถูกส่งไปอยู่ที่บางช้างอีก คุณพ่อซาลมอนจึงได้ทำการรักษาพยาบาลคุณพ่ออีกตามความต้องการของสุขภาพ เมื่อคุณพ่อรู้สึกหายดีพอแล้ว  จึงได้ทำงานในสวนองุ่นของพระเป็นเจ้าอีก เวลานั้น คุณพ่อซาลมอนต้องการฟื้นฟูวัดแม่กลอง ซึ่งได้ละเลยไปบ้างระหว่างที่ดำเนินงานสร้างวัดของคุณพ่อ คุณพ่อจึงขอให้คุณพ่อท็อกแกล่ร์ไปประจำอยู่ที่นั่น คุณพ่อท็อกแกล่ร์น้อมรับด้วยความสมัครใจ เพราะการสูดอากาศทะเลทำให้คุณพ่อมีอาการดีขึ้น คุณพ่อทำงานหนักในวัดนี้ เป็นต้นทางด้านจิตตารมณ์คริสตัง พวกคริสตังจึงศรัทธาและร้อนรนมากขึ้น เพื่อเป็นการเทิดเกียรติพระเป็นเจ้า สัตบุรุษเรียกคุณพ่อว่า คุณพ่อยาโกเบ ซึ่งกลายเป็นที่รู้จักแพร่หลายในบรรดาพวกคริสตัง พวกคริสตังรักคุณพ่อ หรือจะพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ตอบสนองความรักที่คุณพ่อแสดงต่อพวกเขา ช่วงเวลาที่คุณพ่อท็อกแกล่ร์อยู่ที่แม่กลอง มีผลงานมากมาย เหมาะสมในการอบรมพวกพระสงฆ์ในอนาคตของสยาม มากไปกว่าคุณพ่อท็อกแกล่ร์
 
ดังนั้น คุณพ่อจึงใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ที่บ้านเณร ที่นั่น คุณพ่อได้ทุ่มเทความร้อนรนและความเสียสละแบบเดียวกับที่วัดอื่นๆ ทั้งหมด เมื่อเห็นว่า ทุนทรัพย์สำหรับหล่อเลี้ยงบ้านเณรมีเกือบไม่พอ คุณพ่อจึงหันมาเป็นช่างเย็บเล่มเข้าปกหนังสือ แล้วก็สอนศิลปะการเย็บเล่มเข้าปกหนังสือให้พวกนักเรียนที่โตที่สุดด้วย ดังนั้น นอกจากเป็นการหาทุนทรัพย์เข้าบ้านเณรแล้ว คุณพ่อยังเห็นว่าเป็นวิธีให้พวกเณรหย่อนใจอย่างมีประโยชน์ เพราะว่าเณรจำนวนมากเริ่มชอบงานนี้
 
เนื่องจากคุณพ่อเป็นคนน่ารัก ชอบตลกขบขันพอสมควร และพร้อมเสมอที่จะรับใช้  คุณพ่อท็อกแกล่ร์จึงมีแต่เพื่อนทั้งนั้นในบรรดามิสชันนารีประจำสยาม การมรณภาพของคุณพ่อจึงเป็นเรื่องทุกข์โศกสำหรับทุกคน
 
ตั้งแต่หลายเดือนมาแล้ว สุขภาพของคุณพ่อทรุดหนักลงทันตาเห็นคุณพ่อเท่านั้นที่ไม่รู้สึกตัว คุณพ่อยังประหลาดใจมาก เมื่อต้นเดือนมิถุนายน พระสังฆราชเวย์แต่งตั้งคุณพ่อแบส์เรส์ต มารับตำแหน่งแทนคุณพ่อที่บ้านเณร คุณพ่อสอนเรียนตามปกติจนถึงเวลานั้น และคุณพ่อเชื่อว่าตัวเองยังแข็งแรงพอที่จะสอนต่อไปอีก คุณพ่อรู้สึกสะเทือนใจบ้างนิดหน่อยในการที่ผู้ใหญ่ตัดสินใจเช่นนี้ แต่ก็ยอมรับได้โดยเร็วพลัน แล้วพระสังฆราชเวย์ ยังให้อิสระคุณพ่อที่จะเลือกอยู่บ้านเณรต่อไปอีก ยังความยินดีเป็นอย่างมากแก่คุณพ่อ  คุณพ่อพูดว่า : “ผมยอมทำงานเล็กๆ น้อยๆ ของผมต่อไป ผมจะยังดูแลพวกนักเรียน เพียงเท่านี้ผมก็พอใจแล้ว.”
 
อนิจจาเอ๋ย! คุณพ่อท็อกแกล่ร์ไม่เชื่อว่าตัวเองใกล้จะถึงจุดจบแล้ว ประมาณวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1907  คุณพ่อมากรุงเทพฯ พักอยู่ที่นั่นหลายวัน และต้องการกลับไปที่บ้างช้าง แต่แพทย์ยังดูแลรักษาพยาบาลอยู่ ด้วยข้ออ้างที่ไม่ค่อยเอาจริงเอาจัง แพทย์ขอให้คุณพ่ออยู่ต่ออีก 2-3 วัน ก่อนเดิอนทางกลับบ้านเณร คุณพ่อท็อกแกล่ร์ตกลงตามที่แพทย์สั่ง คุณพ่อยังตกลงใจเองที่จะไปอยู่ที่โรงพยาบาลสักระยะหนึ่ง  : คุณพ่อไม่ได้ออกจากโรงพยาบาลอีกแล้ว
 
แม้จะทำการรักษาพยาบาลอย่างรู้ชัดและเสียสละที่สุดแล้วก็ตาม อาการของผู้ป่วยก็มีแต่ทรุดหนักลง และวันที่ 31 กรกฎาคม ค.ศ. 1907 เวลา 4 โมงเย็น คุณพ่อคืนวิญญาณถวายแด่พระเป็นเจ้า ผู้ซึ่งคุณพ่อถวายชีวิตและทำงานรับใช้อย่างมากมายในช่วงสุดท้ายของชีวิต คุณพ่อได้รับความบรรเทาใจอันหวานชื่น โดยได้เห็นผู้รวมงานและเพื่อนๆ จำนวนมากอยู่รอบๆ ตัวคุณพ่อ บรรดามิสชันนารีจากกรุงเทพฯ และเขตใกล้เคียงต่างก็พากันมาที่หัวเตียงของคุณพ่อ และสามารถกล่าวคำอำลาครั้งสุดท้ายแก่เพื่อนของพวกคุณพ่อ ซึ่งกำลังจากไปอยู่ในโลกที่สดใสกว่าคุณพ่อได้รับศีลเสบียงอย่างศรัทธายิ่งและครบบริบูรณ์ตามต้องการ และตามน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้า ผู้ใกล้จะตาย ยังรู้สึกตัวดีทุกอย่างจนถึงวินาทีสุดท้าย  “เป็นบุญของผู้ที่ตายในศีลในพรของพระเป็นเจ้า.”
 
พิธีปลงศพคุณพ่อท็อกแกล่ร์ จัดทำในวันรุ่งขึ้น ที่วัดแม่พระลูกประคำ กาลหว่าร์ โดยมีบรรดาพระสงฆ์และสัตบุรุษจำนวนมากมหาศาล เวลานั้น พระสังฆราชเวย์ยังอยู่ในระหว่างการเดินทางไปโปรดศีลกำลัง:คุณพ่อกอลมเบต์ ผู้แทนประมุขมิสซังเป็นประธานในพิธีปลงศพนี้แทน คุณพ่อหลุยส์ และคุณพ่อเออเยน เล็ตแชร์  เพื่อนร่วมเมืองของคุณพ่อ ทำหน้าที่เป็นสังฆานุกร และรองสังฆานุกร  พวกเณรทำหน้าที่อื่นๆ ในพิธีบรรดามิสชันนารีที่มาร่วมพิธี มีคุณพ่อดอนต์  คุณพ่อกีญารด์ แบส์แรส์ต คุณพ่อแกรมฟ์  คุณพ่อฟุยญาต์ คุณพ่อดือรังด์  คุณพ่อการิเอ  คุณพ่อแบลล์  คุณพ่อเบเชต์  และคุณพ่อฮุย  ผู้แทนของพระสงฆ์พื้นเมือง มีคุณพ่อมัธทิอาส  คุณพ่อกีโยม  คุณพ่อดอมินิก  และคุณพ่อเอเจียน
 
เป็นพิธีที่น่าประทับใจมาก และพวกนักร้องก็ร้องเพลงกันอย่างซาบซึ้ง และถูกต้องไพเราะเพราะพริ้งมาก ตอนจบพิธีศพคุณพ่อถูกฝังไว้ที่เชิงพระแท่นเล็กในวัดแม่พระลูกประคำ กาลหว่าร์ มีพวงหรีดมากมายวางไว้ที่หลุ่มศพ แล้วฝูงชนที่เงียบสงัดและเศร้าโศกต่างพากันแยกย้ายจากไป.