คุณพ่อ ฮิปโปลิต วิกตอร์ ลารเก

 
 
คุณพ่อ ฮิปโปลิต วิกตอร์ ลารเก
 
 
I. วัยแรกจนกระทั่งบวชเป็นพระสงฆ์
คุณพ่อฮิปโปลิต วิกตอร์ ลารเก เกิดวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1911 ที่เมืองโอเจอแลแบง แคว้นพีรีนิส แอตแลนติก ภาคใต้ของประเทศฝรั่งเศส เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวนพี่น้อง 7 คน เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1914-1918) บิดาถูกเกณฑ์ไปราชการสงคราม ที่บ้านไม่มีผู้ชายเป็นหลัก มารดาจึงพาลูกๆ ไปอยู่ที่บ้านคุณยายซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 15 กม. ทางการควบคุมข้าวสาลีและข้าวโพดไว้ใช้ในราชการทหาร ทำให้อาหารขาดแคลนมาก จนต้องออกเที่ยวหาจับสัตว์เล็กสัตว์น้อยมากินไม่เลือก หาหญ้าที่มีรสเปรี้ยวมากิน หาไข่นก ฯลฯ
 
อย่างไรก็ดี ทุกวันอาทิตย์มารดาจะพาลูกไปร่วมพิธีมิสซาที่วัด และก่อนนอนทุกคืนจะสวดภาวนาพร้อมกัน โดยที่มารดาคอยเอาใจใส่ในด้านศาสนกิจเช่นนี้ หนูน้อยลารเกจึงรู้สึกมีกระแสเรียกอยากเป็นจะเป็นพระสงฆ์ตั้งแต่เล็ก
 
พออายุ 5 ขวบ มารดาก็ส่ง ด.ช.ลารเกไปโรงเรียนพร้อมกับพี่ทั้งสอง แต่โดยที่กำลังอดอยากปากแห้งเช่นนี้ ภายหลัง ด.ช. ลารเก เล่าให้ฟังว่า ทั้งปีคงไปเรียนจริงไม่เกิน 50 วัน นอกนั้นมัวแต่เที่ยวหาไข่นก ผลไม้ หรือหญ้าเปรี้ยว มาประทังความหิวดังกล่าว
 
ปี ค.ศ.1918 มรสุมสงครามหฤโหดผ่านไป บิดากลับจากสมรภูมิ แต่อยู่ในอาการป่วยหนัก เนื่องจากถูกแก๊สพิษ ปี ค.ศ. 1920 ครอบครัวอพยพกลับมาที่บ้านเดิม ซึ่งตั้งอยู่หน้าวัด ใกล้ๆ โรงเรียน ด.ช. ลารเก จึงเริ่มเรียนหนังสือใหม่อย่างจริงจัง ปีต่อมาก็ได้รับศีลมหาสนิทครั้งแรก
 
ปี ค.ศ.1922 คุณพ่อเจ้าวัดสังเกตเห็น ด.ช.ลารเก มีหน่วยก้านจะเป็นพระสงฆ์ในอนาคต จึงกวดขันให้มาเรียนพิเศษที่ระเบียงบ้านพักพระสงฆ์เจ้าอาวาส จนกระทั่งพ่อหนูไม่มีเวลาเที่ยวเตร่ คบหาสมาคมกับเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันเลย
 
ปี ค.ศ. 1924 เข้าบ้านเณรเล็กที่เมืองไนย์ (Nice ?) ปีต่อมา รับพิธีสวมเสื้อหล่อ ปี ค.ศ. 1927 สอบได้ปริญญาอักษรศาสตร์บัณฑิต  ปีต่อมาสอบได้ปริญญาตรีวิชาปรัชญา พอถึงเดือนตุลาคมได้เข้าบ้านเณรใหญ่ที่บายอนน์ (Bayonne)   
 
ปี ค.ศ.1930-1931 เรียนวิชาเทวศาสตร์ จนถึงเดือนตุลาคมเข้ารับราชการทหาร 1 ปี หลังจากนั้นกลับเข้าศึกษาเทวศาสตร์ต่อจนจบ ได้รับศีลขั้นรองสังฆานุกร (ซุบดีอาโกโน) เมื่ วันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1933  เดือนตุลาคมสมัครเข้าบ้านเณรใหญ่คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (M.E.P.)
 
ปี ค.ศ. 1934 ได้เข้าศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่สถาบันคาทอลิกกรุงปารีส ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์วันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1934 ค่ำวันนั้น คุณพ่ออธิการใหญ่ของคณะ ได้ประกาศท่ามกลางที่ประชุมว่า พระสงฆ์ใหม่องค์ไหนจะไปประจำทำงานในมิสซังอะไร คุณพ่อคอยฟังด้วยใจระทึก วิกตอร์ ลารเก ประเทศสยาม! คุณพ่อรับทราบด้วยความดีใจ ในเดือนกันยายน คุณพ่อได้โดยสารเรือเดินสมุทร ผ่านทะเลแดง เมืองโคลัมโบ สิงคโปร์ และถึงกรุงเทพฯ วันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 1934
 
II. เริ่มงานในประเทศไทย...
ผจญภัยระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 
วันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1934 พระสังฆราชเรอเน แปร์รอส ส่งคุณพ่อไปเป็นปลัดของ คุณพ่อเรอเน เมอนิเอร์ ที่เชียงใหม่ เมื่อเริ่มเรียนภาษาไทยได้ไม่กี่เดือน คุณพ่อเมอนิเอร์ก็มอบให้ลองเทศน์ในวัดบ้าง เทศน์เข้าเงียบนักเรียนบ้าง ปลายเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1935 พระสังฆราชแปร์รอสไปโปรดศีลกำลังที่เชียงใหม่ ขากลับได้พาคุณพ่อมากรุงเทพฯด้วย และมอบหมายให้เป็นอาจารย์ที่บ้านเณรพระหฤทัย ศรีราชา 
 
บ้านเณรเวลานั้นเพิ่งย้ายมาจากบางช้าง (บางนกแขวก) การสอนการเรียนหนักทางภาษาลาตินและฝรั่งเศสเป็นสำคัญ คุณพ่อลารฺเกได้ร่วมมือกับคุณพ่อมีแชล อ่อน (พระสังฆราชสังฆมณฑลท่าแร่ ในเวลาต่อมา) และพระสงฆ์อื่นๆ ที่เป็นอาจารย์ หันเหการศึกษาของเณรตามหลักสูตรกระทรวง ศึกษาธิการ จนกระทั่งสามารถส่งเณรไปสมทบสอบเทียบชั้นมัธยมปีที่ 3 และชั้นมัธยม ปีที่ 6 ที่จังหวัดชลบุรี เป็นผลสำเร็จ
 
ปลายปี ค.ศ. 1938 พระสังฆราชแปร์รอส ย้ายคุณพ่อมาเป็นปลัดของคุณพ่อเออเยน เล็ตแชร์ ที่วัดนักบุญเปโตร นครชัยศรี (สามพราน) ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 1939 คุณพ่อมอริส ยอลี มาเป็นปลัด เพราะสมัยนั้นคุณพ่อเจ้าอาวาสวัดนครชัยศรีต้องไปดูแลวัดพระตรีเอกภาพ หนองหิน ด้วย
 
คุณพ่อลารเกได้จัดตั้งคณะพลศีลและยุวศีลขึ้น เพื่อฝึกเด็กและเยาวชนให้เป็นคริสตชนที่ดีและเป็นพลังของวัดสืบไป ระหว่างนั้น คุณพ่อสังเกตเห็นเด็กชายคนหนึ่งมีความศรัทธาเป็นพิเศษ จึงให้ถือธงคณะพลศีล เด็กชายคนนี้เห็นจะไม่ต้องบอกชื่อกระมัง เพราะต่อมาคุณพ่อได้ส่งเขาไปเข้าบ้านเณรที่ศรีราชา ไปศึกษาต่อที่กรุงโรม ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ ได้รับอภิเษกเป็นพระอัครสังฆราช และบัดนี้ คือ พระคาร์ดินัลองค์แรกแห่งประเทศไทย
 
ระหว่างที่ทุกสิ่งกำลังดำเนินไปด้วยดี สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ระเบิดขึ้น เมื่อวันที่ 1  กันยายน ค.ศ. 1939 ต่อมาประเทศไทยเกิดกรณีพิพาทอินโดจีน ซึ่งขณะนั้นเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส
 
วันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1941 มิชชันนารีชาวฝรั่งเศสทุกองค์ต้องเดินทางไปรวมกันอยู่ที่กรุงเทพฯ ต่อมาวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1941 ได้อพยพไปอยู่ไซ่ง่อน คุณพ่อลารเกไปอยู่ที่วัดโฮยิมในสังฆมณฑลกุยเยิน เรียนภาษาญวน 1 เดือน แล้วได้รับมอบหมายให้ดูแลวัดกะดู๊ และวัดไตรก๊า ใกล้อ่าวคัมราน
 
วันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ.1941 รัฐบาลไทยอนุญาตให้ชาวฝรั่งเศสกลับประเทศไทยได้ คุณพ่อจับเครื่องบินญี่ปุ่นมาถึงกรุงเทพฯ กลางเดือนสิงหาคม แล้วไปปกครองวัดนครชัยศรีตามเดิม คราวนี้ได้อยู่กับคุณพ่อยวง เคียมสูน นิตโย (พระอัครสังฆราช ประมุขอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ  ในเวลาต่อมา) ซึ่งทำหน้าที่รักษาการแทนระหว่างที่คุณพ่อลารเกไม่อยู่
 
เดือนมกราคม ค.ศ. 1942 ถึงแม้มิชชันนารีจะได้รับอนุญาตให้กลับมาทำงานในประเทศไทยได้ แต่ก็สามารถทำงานได้เฉพาะในเขตภาคกลางเท่านั้น ส่วนภาคอีสานนั้น มิชชันนารีไม่อาจเข้าไปประจำได้ เพราะเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นพยายามกีดกันอย่างหนัก ภาคอีสานอยู่ความปกครองของมิสซัง หนองแสง ซึ่งเวลานั้นมีศูนย์กลางอยู่ที่วัดนักบุญอันนา หนองแสง จังหวัดนครพนม
 
พระสังฆราชแปร์รอสเป็นห่วงคริสตังในภาคนี้ จึงส่งคุณพ่อลารเก ไปดูสถานการณ์ที่หนองแสง คุณพ่อเพียรพยายามฟันฝ่าอุปสรรคมากมายจนถึงจังหวัดนครพนม แล้วเดินทางต่อไปจนถึงจังหวัดอุดรธานี แต่อยู่ได้เพียงคืนเดียวก็ถูกบีบบังคับให้กลับ ขากลับ คุณพ่อแวะเยี่ยมวัดโนนแก้วซึ่งไม่มีพระสงฆ์ดูแลมาเป็นเวลา 1 ปีแล้ว เมื่อเห็นสภาพวัด คุณพ่อได้แต่สงสารลูกแกะที่ไร้ชุมพาบาล
 
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1942 คุณพ่อขอลาพระสังฆราชแปร์รอสออกจากวัดนครชัยศรี โดยให้คุณพ่อเคียมสูนเป็นเจ้าอาวาสแทน ส่วนคุณพ่อสมัครไปอยู่วัดโนนแก้ว ทั้งพระสังฆราชและคุณพ่อ ตลอดจนสัตบุรุษที่โนนแก้วต่างดีใจกันอย่างที่สุด
 
อย่างไรก็ดี สภาพของคุณพ่อที่วัดนี้ไม่ต่างอะไรกับลูกแกะท่ามกลางหมาป่า คุณพ่อถูกขู่เข็ญร้อยแปด ถูกซุ่มยิง แต่กระสุนพลาดไปถูกคุณพ่อปอล ถาวร กิจสกุล  ผู้ที่หวังดีต่อคุณพ่อได้ถูกปองร้ายถึงแก่ชีวิต ที่สุดวัดโนนแก้วถูกเผา นี่แหละการผจญภัยในชีวิตจริงของคุณพ่
 
ปลายเดือนมีนาคม ค.ศ. 1942 เมื่อคุณพ่อถาวรหายดีแล้ว จึงกลับไปอยู่ที่วัดโนนแก้วอีก คุณพ่อลารเกจึงหาโอกาสไปเยี่ยมวัดโคราช (1942-1944) และวัดบ้านหัน (1942-1943) ตามที่ได้รับมอบหมาย คุณพ่อต้องไปๆ มาๆ ระหว่างวัด 2 แห่งนี้ เพราะสมัยนั้นคนต่างด้าวจะอยู่ที่นครราชสีมาได้ครั้งละไม่เกิน 48 ชั่วโมง ทั่วทั้งเมืองและวัดโคราชเงียบเหงา ที่วัดมีสตรีใจศรัทธาคือครูฉ่ายเพียงคนเดียวคอยดูแล ไหนเลยจะป้องกันโจรกรรมจากเหล่าอันธพาลได้    
 
ส่วนที่วัดบ้านหัน อำเภอสี่คิ้ว เวลานั้นการเดินทางไปมาไม่สะดวก มีแต่ทางเท้า ถ้าเป็นฤดูฝนน้ำท่วมทั่วไป ต้องข้ามห้วย น้ำลึกถึงคอ คุณพ่อต้องทูนกระเป๋าเดินทางไว้บนศีรษะ ครั้งแรกที่ไปถึง ไม่มีอะไรเหลือเลย ทำมิสซาไม่ได้ คริสตังที่พอมีอยู่บ้างต่างก็ขวัญกระเจิง คุณพ่อพยายามให้กำลังใจพวกเขาสุดความสามารถ
 
ปี ค.ศ. 1944-1945 หลังจากวัดโนนแก้วถูกลอบวางเพลิงได้ 2-3 เดือน พระสังฆราชแปร์รอสได้มอบให้ คุณพ่อไปปกครองวัดเสาวภา (หัวควาย) อำเภอองค์รักษ์ ต่อจากคุณพ่อซามูแอล สมุห์ พานิชเกษม ซึ่งย้ายไปอยู่แถบจันทบุรี สัตบุรุษวัดประกอบด้วยชาวจีนแต้จิ๋ว ทำมาค้าขายอยู่ในตลาด และชาวจีนแคระซึ่งมีอาชีพทำสวน คุณพ่อพยายามเรียนภาษาแต้จิ๋ว พอฟังแก้บาป และเทศน์ภาษาจีนในวันอาทิตย์ครั้งละ 5 นาที
 
นอกจากชาวจีน ก็มีคนไทยทำนา และคนเชื้อสายญวนมาจากจันทบุรีด้วย เวลาฟังแก้บาปต้องระวังมาก เพราะมีทั้ง 3 ภาษา คริสตังวัดเสาวภาที่คุณพ่อสังเกต มีใจศรัทธามาก มาวัดแก้บาปรับศีลคับคั่ง นักเรียนชอบฟังคำสอน คุณพ่อได้รื้อฟื้นเปิดโรงเรียนขึ้นใหม่และเชิญภคินีอาราม พระหฤทัยฯ มาช่วย จากเสาวภา คุณพ่อไปเยี่ยมสัตบุรุษตามบ้านที่ บางกระช และที่เตยใหญ่ ซึ่งมีวัดน้อยอยู่แล้ว คุณพ่อดูแลคริสตชนทั้ง 3 แห่งนี้จนกระทั่งมีประกาศตั้งมิสซังจันทบุรี
 
เดือนเมษายน ค.ศ. 1945 มีคุณพ่อเกลเมนเตมารับ หน้าที่เจ้าอาวาสแทนในปี ค.ศ. 1945-1946 ส่วนคุณพ่อมาปกครองวัดหนองรีแทนคุณพ่อเดอนีส์ (มานิต สรรเพชร) สมัยนั้นหนองรี  มีคริสตังมาก ทั้งคนจีนคนไทย ข้อที่เป็นอุปสรรคก็คือ ที่ตั้งวัดอยู่ห่างจากถนนหลวงมาก และถนนเข้าไปถึงตัววัดยังไม่มี เป็นเหตุให้คนจีนต้องย้ายไปทำมาหากินที่อื่น   ขณะเดียวกัน ที่อำเภอบ้านนาก็มีคริสตังมากถึง 750 คน มากกว่าในปัจจุบันเสียอีก ส่วนใหญ่เป็นคนจีนที่ทำการค้าขายอยู่ในตลาด หรือเช่าที่ทำสวน คริสตังเหล่านี้ต้องไปวัดวันอาทิตย์ที่หนองรี ฝังศพที่หนองรี ฯลฯ นับว่าไม่สะดวก คุณพ่อแก้ปัญหาโดยไปถวายมิสซาทุกวันอาทิตย์ที่บ้านนายอากู้ในสวน  และความคิดต่อเนื่องของคุณพ่อคือ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องสร้างวัดขึ้นที่บ้านนา แต่คุณพ่อไม่มีเงินเลย และสมัยนั้นมิสซังไม่มีทุนช่วยค่าก่อสร้าง พ่อเจ้าวัดต้องจัดการเอง คือออกเรี่ยไร แต่จะต้องไปเรี่ยไรอย่างไร ที่ดินจะสร้างก็ยังไม่มี
 
คุณพ่อหันหน้าเข้าพึ่งพระ วันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1945 ญี่ปุ่นประกาศยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ยังผลให้เชลยศึกชาวอเมริกัน, ฮอลันดา, อินโดนีเซีย, อังกฤษ และฝรั่งเศส รวม 5,000 คน ซึ่งถูกขังอยู่ในค่ายที่เขาชะโงกได้รับอิสรภาพ ก่อนที่จะเดินทางกลับบ้านเมืองของตน พันเอกชาวอเมริกันหัวหน้าค่ายฝ่ายเชลยได้มาที่วัด มอบเงินจำนวน 4,000 บาท ซึ่งพวกเชลยคนอื่นๆ ช่วยกันบริจาคเพื่อขอให้คุณพ่อช่วยย้ายกระดูกของเพื่อน 2 คน ที่เสียชีวิตจากการถูกญี่ปุ่นทารุณ ไปฝังยังสุสานวัดใดวัดหนึ่ง พระญาณสอดส่องโปรดรับฟังคำภาวนาแล้ว คุณพ่อใช้เงินจำนวนนี้จัดซื้อที่ดิน แล้วออกเรี่ยไรจนได้เงินก้อนหนึ่ง จากนั้นคุณพ่อกับหนุ่มๆ ชาวหนองรีจำนวนหนึ่งต้องเดินเข้าป่าเลื่อยไม้เสา ไม้พื้น ไม้ฝา คาน ตง ฯลฯ เช้าไปเย็นกลับเช่นนี้ตลอด 3 เดือน โดยรับประทานอาหารเพียงมื้อเช้านิดหน่อย ทำให้สุขภาพของคุณพ่อทรุดลง จากน้ำหนัก 63 กก. เหลือเพียง 40 กก. จึงเป็นอันว่าสร้างต่อไปไม่ไหว
 
ปี ค.ศ. 1946 คุณพ่อขออนุญาตพระสังฆราชแปร์รอสเดินทางไปพักผ่อนที่เชียงใหม่เป็นเวลา 1 เดือน แต่พระสังฆราชตอบว่า "คุณพ่อตรากตรำมานานแล้ว พอดีอีกเดือนหนึ่งจะมีเรือเดินสมุทรลำหนึ่งออกจากกรุงเทพฯ เป็นเรือลำแรกตั้งแต่เกิดสงคราม จะไปประเทศฝรั่งเศสและอังกฤษ ขอให้คุณพ่อไปพักผ่อนสัก 6 เดือน จึงกลับมาใหม่" ก็เป็นอันตกลงตามนี้ "เรือซีแลนเดีย" จากกรุงเทพฯ ถึงเมืองมาร์เซย์ กินเวลา 2 เดือนเต็ม อาหารการกินในเรือดีมาก บัดนี้น้ำหนักตัวคุณพ่อกลับสู่สภาพปรกติ 60 กก. แล้ว คุณพ่อได้พักผ่อนกับมารดาและพี่น้องเป็นเวลา 4 เดือน
 
ต้นปี ค.ศ. 1947 คุณพ่อคิดจะกลับเมืองไทย แต่พระสังฆราชเลอแมร์ อธิการใหญ่คณะ M.E.P. แต่งตั้งคุณพ่อเป็นที่ปรึกษา และเหรัญญิกของบ้านเณรใหญ่ ตลอดจนเป็นผู้จัดการผลประโยชน์เกี่ยวกับมิสซังไทย, ลาว, มลายู, สิงคโปร์ และพม่า
 
III. กลับสู่เมืองไทยครั้งที่ 2
ปลายปี ค.ศ. 1950  มีการประชุมใหญ่ของบรรดาพระสังฆราชประมุขมิสซังทั้ง 37 มิสซังของคณะ M.E.P. คุณพ่อจึงขอลาออกจากหน้าที่ต่างๆ และขออนุญาตมาแพร่ธรรมต่อไปในประเทศไทย คราวนี้ตำแหน่งที่ได้รับคือ ผู้อำนวยการการพิมพ์ของมิสซังกรุงเทพฯ มีนิตยสาร "สารสาสน์" เป็นต้น นิตยสารนี้ได้กลับฟื้นคืนชีพเมื่อปี ค.ศ. 1948 โดยพระสังฆราชหลุยส์ โชแรง มอบหมายให้คุณพ่อเคียมสูน เลขานุการฯ เป็นผู้จัดทำ แต่ออกเป็นรายเดือน เมื่อคุณพ่อมารับหน้าที่ก็จัดออกเป็นรายปักษ์ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1952 ต่อมาปี ค.ศ. 1956 ก็ได้ออกวารสาร "กองหน้าร่าเริง" รายปักษ์อีกฉบับหนึ่ง สำหรับเด็กและเยาวชน หวังว่าผู้ใหญ่ในวันนี้ที่เคยสัมผัส "สารสาสน์" และ "กองหน้า" ยังคงรำลึกถึงการ์ตูนบันลือนามเรื่อง "ปัด-ป๋อง ผจญภัย" ของสารสาสน์ และการ์ตูนหรรษามากมายในกองหน้าฯ ได้ ผู้ที่อยู่เบื้องหลัง   คุณพ่ออย่างใกล้ชิดคือคุณพ่อดาเนียล วงศ์พานิช และครูสวัสดิ์ ครุวรรณ 
 
นอกจากนิตยสารทั้งสองนี้แล้ว คุณพ่อยังได้อำนวยการจัดแปล "หนังสือมิสซาวันอาทิตย์และวันฉลองสำคัญ" นับเป็นหนังสือมิสซาภาษาไทยเล่มแรก ได้จัดแปล "หนังสือพระวรสารทั้งสี่" ใหม่ จากต้นฉบับของคุณพ่อ ด. บือซี หนังสือพระเยซูเจ้าตามพระวรสาร กิจการอัครสาวก ปรับปรุงและพิมพ์หนังสือภาวนา คำสอน ประวัติ นักบุญในรอบปี เกียรติคุณลูกประคำ คริสตังร้องเพลง และประวัติพระศาสนจักรสากลและไทย เป็นต้น
 
ปี ค.ศ. 1963 คุณพ่อเดินทางกลับไปพักผ่อนยังปิตุภูมิ เมื่อกลับมาแล้ว พระสังฆราชโชแรง ให้ไปประจำที่โรงเรียนพระหฤทัยสวรรคโลก คุณพ่อช่วยสอนวิชา คณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และดนตรี ระดับมัธยมปีที่ 4-5-6 แต่คุณพ่อสำนึกอยู่เสมอว่าไม่มีกระแสเรียกเป็นครูสอนเรียน  จึงใคร่จะไปเปิดกลุ่มคริสตชนที่หล่มสัก เพชรบูรณ์  เมื่อขออนุญาตไปแพร่ธรรมลุ่มแม่น้ำป่าสัก พระสังฆราชโชแรง ดีใจมาก แต่มิวายแจ้งให้ทราบว่าคุณพ่อจะต้องช่วยตัวเอง มิสซังไม่มีเงินช่วยเลย ไม่เป็นไรสำหรับข้าบริการที่วางใจในพระญาณสอดส่องของพระเป็นเจ้า
 
เดือนมีนาคม ค.ศ. 1965 คุณพ่อไปหล่มสัก พักโรงแรมก่อน กลางวันเที่ยวเสาะหาบ้านเช่าและบ้านคริสตังไปในตัว พบบ้าน 3 หลังปลูกในบริเวณเดียวกัน เหมาะสมดี หลังหนึ่งจะใช้เป็นที่พัก หลังหนึ่งเป็นวัดน้อย อีกหลังเป็นบ้านพักคนเฝ้า จึงตกลงเช่ากันเดือนละ 300 บาท คุณพ่อเดินหาบ้านคริสตังโดยสังเกตรูปพระหฤทัยหรือรูปแม่พระ เชิญเขามาร่วมพิธีมิสซาที่บ้านเช่า              
วันอาทิตย์แรกมีผู้มาวัดประมาณ 20 คน ต่างดีใจที่พบพระสงฆ์จากนั้นคุณพ่อไปที่ตัวจังหวัดเพชรบูรณ์ ใช้วิธีเดิม ก็พบคริสตังหลายครอบครัว รวมทั้งเด็กและผู้ใหญ่ประมาณ 30 คน จึงไปถวายมิสซาวันอาทิตย์ที่บ้านนางสวาด พี่สาวของนายสุนทรฯ โอกาสวันสมโภชปาสกา 18 เมษายน ค.ศ. 1965 คุณพ่อไปเยี่ยมกลุ่มคริสตชนที่บ้านสันติสุข อำเภอวิเชียรบุรี (ขึ้นกับ จังหวัดเพชรบูรณ์) พบคริสตังกว่า 200 คน อพยพมาจากวัดซ่งแย้มิสซังอุบลราชธานี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1957 ดังนั้นภารกิจเฉพาะหน้าก็มี 3 จุดคือ หล่มสัก เพชรบูรณ์ และบ้านสันติสุข ระยะทางห่างหันรวม 160 กม. คุณพ่อจะเอาเงินที่ไหนมาใช้จ่าย มีเพียงค่ามิสซาเดือนละ 600 บาท หักค่าเช่าบ้านเสีย 300 บาทเดชะบุญพระดลใจศิษย์เก่าบางคน มีครูสวัสดิ์และเพื่อนๆ ช่วยกันรวบรวมเงินส่งมาช่วยอีกเดือนละ 600 บาท จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายพอหายใจได้บ้าง คุณพ่อก็ออกสำรวจกลุ่มคริสตชนต่อไปยังบ้านนา (27 กม. จากเพชรบูรณ์) หนองไผ่ (37 กม.) บ้านโภชน์ (42 กม.) พุเตย (110 กม.) และลำนารายณ์ (147 กม.) เวลานั้นตั้งแต่ หนองไผ่ลงมาเป็นทางเกวียน
 
เมื่อจะต้องสร้างวัดอีกหลายแห่ง คุณพ่อจึงต้องออกเรี่ยไรอีกครั้ง และจัดการสร้างวัดที่บ้านสันติสุข (1966-1969) ที่ตัวเมืองเพชรบูรณ์ (1969-1970) วัดน้อยที่ห้วยใหญ่ (1969) และที่พรรณานิคม (1971)
 
อนึ่งในปี ค.ศ. 1966 พระสังฆราชยวง นิตโย ได้จัดการซื้อที่ดินกับบ้าน 3 หลังที่หล่มสัก ปี ค.ศ. 1969 คุณพ่อ ม. โกเชต์ มาปกครองวัดบ้านสันติสุข ซึ่งบัดนี้มีพร้อมทั้งวัด ที่พักพระสงฆ์ โรงเรียน และบ้านพักพระภคินี          
 
ปี ค.ศ. 1974 คุณพ่อกลับไปพักที่บ้านเกิดอีกครั้ง เมื่อกลับมาได้เป็นเจ้าวัดบ้านนา-หนองรี แต่ปี ค.ศ. 1975-1982 คุณพ่อจัดการเรื่องที่ดินวัดหนองรีจนเรียบร้อย ส่วนที่บ้านนาก็จัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมาเป็น "ชื่อมิสซังฯ" สำเร็จ นอกนั้นได้จัดสร้างรั้วรอบบริเวณวัดทั้งสองแห่ง สร้างศาลาประชาคมที่บ้านนา สร้างโรงเรียนที่หนองรี
 
นี่แหละผลงานแพร่ธรรมโดยย่อของคุณพ่อตลอดระยะเวลา 50 ปี 50 ปีที่ผูกใจสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าแก่พระศาสนจักรในประเทศไทย ดั่งที่ตั้งปณิธานไว้ตั้งแต่วันแรกที่บวชเป็นพระสงฆ์.
 
ปี ค.ศ. 1982 ระหว่างบั้นปลายชีวิตที่ปลดเกษียณนี้ คุณพ่อมิได้หยุดนิ่ง ยังรับทำงานชิ้นหนึ่งซึ่งจะยังประโยชน์แก่พระศาสนจักรในประเทศไทยคือ ค้นคว้าหาหลักฐานวัดต่างๆ เป็นต้นวัดที่ตั้งมานาน จนคนรุ่นก่อนล่วงลับไปหมดแล้ว คุณพ่อเสาะหาหลักฐานทั้งในเมืองไทย และที่ศูนย์กลางของคณะ M.E.P. ที่กรุงปารีส แล้วจัดแปลเป็นภาษาไทยไว้
 
พูดถึงภาษาไทย เราต้องยอมรับว่าคุณพ่อวิกตอร์ ลารเก รู้ภาษาไทยดี ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน ภาษาไทยมีเสียงวรรณยุกต์ที่แสดงความหมายต่างกัน นับเป็นเรื่องยากอย่างหนึ่งสำหรับคนฝรั่ง เช่น    "คา ข่า ข้า ค้า ขา" หรือ "ใครใคร่ขายไข่ไก่" อย่างไรก็ดี คุณพ่อก็สนใจศึกษาจนสามารถแต่งไวยากรณ์ไทยสำหรับคนฝรั่งไว้ 1 เล่ม เมื่อปี ค.ศ. 1974
 
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1989  คุณพ่อต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ในปีนี้ อาการของคุณพ่อดีขึ้นเล็กน้อย แต่ก็ทรุดลงอีกในต้นปี เนื่องจากอายุมากและการตรากตรำทำงานหนักมาโดยตลอด ที่สุด คุณพ่อก็ได้สิ้นใจอย่างสงบ วันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1990  รวมอายุได้ 79 ปี คุณพ่อเป็นมิชชันนารี 56 ปี  พิธีปลงศพจัดขึ้นในวันที่  7 พฤษภาคม  ค.ศ. 1990 วัดนักบุญเปโตร สามพราน นครปฐม โดย พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย  กิจบุญชู เป็นประธาน ท่ามกลางพระสังฆราช พระสงฆ์ นักบวชชาย-หญิง และสัตบุรุษ.