คุณพ่อยอแซฟ แกงตารด์

 

คุณพ่อยอแซฟ แกงตารด์

Joseph QUINTARD

 

 
คุณพ่อยอแซฟ แกงตารด์ เกิดวันที่ 26 มีนาคม ค.ศ. 1934 ที่เซนต์ เฟลิกซ์ เดอ ลือแนล (Saint Felix de Lunei) ใกล้เมืองโรแดซ (Rodez) ในภาคใต้ของฝรั่งเศส บิดาชื่อ จอห์น บัปติสต์ มารดาชื่อ มารีอา มีพี่น้อง 6 คน รับศีลล้างบาป วันที่ 27 มีนาคม ค.ศ. 1934 เรียนชั้นมัธยม ที่บ้านเณรเล็กของคณะอัสสัมชัญ และเข้าบ้านเณรใหญ่ของคณะมิสซังต่างประเทศที่ปารีส รับศีลบวชเป็นสังฆานุกรที่ปารีส วันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 1960 รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ วันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 1960 ออกเดินทางมาเมืองไทย วันที่ 26 กันยายน ค.ศ. 1961 
 
ประวัติการทำงาน
 
ปี ค.ศ. 1961-1962 คุณพ่อได้เข้ามาทำงานในประเทศไทย และได้เรียนภาษาไทยที่วัดคอนเซ็ปชัญและวัดตรอกจันทน์
 
เดือนมีนาคม -ตุลาคม ค.ศ. 1962 เป็นปลัดวัดตรอกจันทน์สมัยคุณพ่อบากอง
 
ตั้งแต่ก่อนคริสมาส เมื่อปี ค.ศ.1961 พระสังฆราชโชแรง ส่งคุณพ่อแกงตารด์ ไปเรียนภาษากะเหรี่ยงที่ศูนย์บ้านแม่ปอน อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเตรียมตัวทำงานแพร่ธรรมกับชาวกะเหรี่ยงในเขตจังหวัดตาก 
 
ปี ค.ศ. 1963 หลังจากเรียนภาษาเป็นเวลา 9 เดือน จึงมารับผิดชอบหมู่บ้านแม่เวย์ต่อจากคุณพ่อมีร์โก ด้วยความร้อนรนเยี่ยงมิชชันนารี จำนวนคริสตชนเพิ่มทวีขึ้นจนกระทั่งชาวบ้านแม่เวย์ทั้งหมู่บ้านสมัครเป็นคริสตังต้องสร้างวัดใหม่หลายครั้งและหลังปัจจุบันเป็นวัดหลังที่ 3 และจากแม่เวย์คริสตังได้แพร่ไปในอีกหลายๆ หมู่บ้าน เช่น แม่สะเปา แม่โป อูปุโกล แม่โพธิ์ ฯลฯ ดังนั้นแม่เวย์จึงเป็นจุดกำเนิดของการแพร่ธรรมพระศาสนาในเขต 5 อำเภอซีกตะวันตกของจังหวัดตาก
 
ในปี ค.ศ. 1967 คุณพ่อแกงตารด์ได้สร้างวัดขึ้นที่แม่เวย์ ชื่อ “วัดมารดาแห่งสันติภาพ” เป็นศูนย์ใหญ่ของชาวปกาเกอะญอ
 
ปี ค.ศ. 1972  เดือนกุมภาพันธ์ มารับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดนักบุญเทเรซา แม่สอด งานวัดแม่สอดก็มีถึง 3 อย่างด้วยกัน คือ งานกับสัตบุรุษชาวไทยที่ค่อยๆ เพิ่ม งานโรงเรียน และงานศูนย์ชาวเขา เมื่อเข้ารับผิดชอบอย่างเป็นทางการ ก็เริ่มจัดระบบศูนย์ชาวเขาที่มารับการศึกษาอบรม ได้สร้างอาคารหอพักชาย ต่อมาได้สร้างอาคารหอพักหญิงซึ่งในเวลาเดียวกันก็เป็นศูนย์สอนตัดเย็บสำหรับสาวดอย
 
ปี ค.ศ. 1983 สร้างวัดอีก 2 แห่ง ที่แม่สะเปาและบ้านอูปูโกล โดยวัดหลังแรกที่บ้านอูปูโกล เป็นไม้ไผ่หลังคาสังกะสี ชื่อ “วัดมรณสักขีไทย” ส่วนที่วัดแม่สะเปา คริสตังพร้อมในความเชื่อมากขึ้น ทั้งจำนวนและคุณภาพ จนคุณพ่อต้องสร้างวัดหลังใหม่เป็นหลังที่ 3 ใน ปี ค.ศ. 1988 เป็นวัดถาวร ชื่อ “วัดคาทอลิก ปอล มิกิ”
 
ปี ค.ศ. 1983 เนื่องจากเขตปกครองแม่ตะวอ (แม่เวย์) ประกอบด้วยคริสตชนที่กระจัดกระจายตามหมู่บ้านต่างๆ ในอำเภอท่าสองยาง มีขนาด 3 ครอบครัวขึ้นไป หมู่บ้านส่วนใหญ่ต้องเดินด้วยเท้า เพราะรถเข้าไม่ถึง ดังนั้น คุณพ่อเห็นสมควรว่าน่าจะมีศูนย์สักแห่งเพื่อใช้เป็นที่อบรมผู้นำคริสตชน เยาวชน และครูคำสอนจึงได้ซื้อที่ดินแปลงหนึ่งจำนวน 4 ไร่ ในตำบลท่าสองยางและตั้งศูนย์ขึ้นมีชื่อว่า ศูนย์นักบุญฟรังซิส อัสซีซี ซึ่งชาวบ้านมักเรียกกันว่า “แม่ตะวอ” 
 
ปี ค.ศ. 1985 ชาวบ้านแม่โพธิ์สมัครเป็นคริสตังสำรองการแพร่ธรรมในเขตแม่อุสุ
 
ปี ค.ศ. 1984 ตั้งกลุ่มคริสตชนที่หมู่บ้านเลเกอติ, ปะน้อยปู, วาแคโกลได้สมัครเป็นคริสตชนและเพิ่มเติมจำนวนทวีขึ้น
 
ปี ค.ศ. 1986 ตั้งกลุ่มคริสตชนที่หมู่บ้านพอบลาคี
 
ปี ค.ศ. 1993 คุณพ่อได้ไปตั้งกลุ่มคริสตชนที่หมู่บ้านห้วยนกกก
 
คุณพ่อแกงตารด์ทำงานด้วยความมุ่งมั่นและเสียสละเสมอมา จึงนับว่าสังฆมณฑลนครสวรรค์ได้สูญเสียธรรมทูตที่ดีที่สุดองค์หนึ่ง การสูญเสียคุณพ่อแกงตารด์นอกจากจะเป็นการสูญเสียของสังฆมณฑลนครสวรรค์ ยังเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของชาวปกาเกอะญอด้วย คุณพ่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ตั้งแต่บนพื้นที่ราบจนถึงบนดอยสูง ท่านบุกเบิกช่วยเหลือผู้ยากไร้ในถิ่นทุรกันดาร โดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย คุณพ่อยู่กับชาวดอย ดูแลรักษายามเจ็บป่วย ให้การศึกษาสร้างหมู่บ้าน สร้างโรงเรียนเพื่อพัฒนาเด็กชาวเขาให้ได้รับความรู้ นำความเชื่อไปสู่ชุมชนที่คุณพ่อดูแล สร้างวัดซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจ นำชาวบ้านให้รู้จักพระเป็นเจ้า นำความเจริญไปสู่แหล่งต่างๆ หลายหมู่บ้าน เช่น แม่ตะวอ แม่เวย์ พอบล้าคี และมีอีกหลายแห่งในละแวกนั้น
 
ที่ศูนย์นักบุญฟรังซิสอัสซีซี แม่ตะวอ ประกอบด้วยคริสตังที่กระจัดกระจายตามหมู่บ้านต่างๆ ส่วนใหญ่ต้องเดินด้วยเท้า เพราะรถเข้าไปไม่ถึง คุณพ่อแกงตารด์ใช้ที่นี่เป็นที่อบรมผู้นำคริสตชน เยาวชน และครูคำสอน คุณพ่อรับเลี้ยงเด็กชาวเขาจากหมู่บ้านต่างๆ ให้ได้รับการศึกษาฝึกให้เด็กๆ มีวินัยในการดูแลตัวเอง โดยพวกเด็กๆ จะช่วยกันทำงานบ้านและรับผิดชอบในส่วนต่างๆ บางครั้งในด้านค่าใช้จ่ายก็มีปัญหาบ้าง เพราะคุณพ่อแกงตารด์ต้องดูแลนักเรียน ครู และโรงเรียนหลายแห่ง แต่ท่านได้รับความช่วยเหลือจากผู้มีใจเมตตาและพระสังฆราชจำเนียร สันติสุขนิรันดร์ และคุณพ่อแกงตารด์ยังเห็นถึงความสำคัญในด้านสุขภาพของเด็กๆ และชาวบ้าน โดยมีคุณหมอผู้ใจบุญหลายท่านได้ขึ้นไปช่วยดูแลสุขภาพของชาวบ้านบนดอยสูง
 
คุณพ่อแกงตารด์ไม่ได้เป็นที่รู้จักในหมู่คาทอลิกและผู้ยากไร้ชาวดอยเท่านั้น ความมีน้ำใจช่วยเหลือทุกคนของคุณพ่อเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ทั้งในหมู่ทหาร ข้าราชการ ชาวพุทธ ชาวคริสต์ในจังหวัดตากแทบทุกหมู่บ้าน ตลอดจนชาวพม่าที่อยู่ในละแวกใกล้เคียง
 
ชั่วชีวิตในเมืองไทยของคุณพ่อแกงตารด์ ท่านมีชีวิตอยู่ท่ามกลางเด็กๆ และชาวบ้าน แม้บางหมู่บ้านจะไม่มีน้ำ ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีถนนหนทาง ปราศจากหมอ ขาดแคลนหยูกยาและความสะดวกสบาย หลายคนกล่าวว่าที่ที่คุณพ่ออยู่เป็นที่แห้งแล้งกันดารที่สุด แต่คุณพ่อแกงตารด์มีความสุขที่จะอยู่ท่ามกลางความทุกข์ยากลำบากเพื่อช่วยเหลือเด็กๆ และชาวบ้าน โดยคุณพ่อแกงตารด์เคยกล่าวว่า “นี่เป็นการพัฒนาชุมชนโดยแท้ การทำงานที่นี่สนุกมาก และไม่มีใครเคยเห็น”
 
ชีวิตการอภิบาลของคุณพ่อแกงตารด์เป็นแบบอย่างอันเรียบง่ายให้แก่คริสตชนทั้งพระสงฆ์และฆราวาส ท่านทำงานท่ามกลางความทุกข์ยากลำบาก โดยไม่เคยแสดงตัวและไม่เคยเปิดเผยถึงสิ่งที่ท่านทำคุณพ่อแกงตารด์จากไปเพียงร่างกาย ท่ามกลางความอาลัยรักของเด็กๆ และชาวปกาเกอะญอทุกคน คำสุดท้ายในพินัยกรรมคุณพ่อแกงตารด์เขียนไว้ว่า “ชาวปกาเกอะญอเป็นความสุขของข้าพเจ้าและข้าพเจ้าเสียชีวิตเพื่อพวกเขา”
 
คุณพ่อแกงตารด์กลับไปหาพระเจ้า ด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ เช้าวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 2003 โดยมีพิธีปลงศพที่อาสนวิหารนักบุญอันนา นครสวรรค์ วันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 2003