-
Category: ประวัติพระสงฆ์คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (มรณะ)
-
Published on Thursday, 07 April 2016 08:08
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 2666
คุณพ่อมารีอุส เบรย์
Marius BRAY
คุณพ่อมารีอุส เบรย์ เกิดวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1919 ที่ลาแฟร์เต อิมโบ เมืองบลัว ประเทศฝรั่งเศส (ประมาณ 180 กม. ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงปารีส)
เข้าบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศ ณ กรุงปารีส ในวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1938
รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ วันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 1947
เดินทางเป็นมิชชันนารีในประเทศไทยวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1948
ในปี ค.ศ. 1943-1945 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คุณพ่อเข้ารับราชการในกองทัพของฝรั่งเศสที่อาฟริกา อิตาลี ฝรั่งเศส และเยอรมัน ในสนามรบ 2 ปี ทำหน้าที่รับใช้ชาติเป็นทหาร คุณพ่อต้องทำหน้าที่ด้วยความยากลำบาก มีความอดทนเป็นอย่างมาก เมื่อท่านรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ ท่านจะสวดภาวนาขอแม่พระ ขอความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา ขอให้ทุกคนปลอดภัยและขอให้สงครามยุติลงโดยเร็ว คุษพ่อไม่ต้องการให้ใครได้รับอันตรายหรือบาดเจ็บในสงคราม คุณพ่อรู้สึกสงสารและเสียใจมากที่เห็นทหารล้มตายในสนามรบ หลังจากสงครามสิ้นสุดลง คุณพ่อได้กลับเข้าบ้านเณรอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเข้ารับการศึกษาต่อ และได้รับศีลบรรพชาในวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 1947 วันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1948 ได้เดินทางมาเป็นมิชชันนารีอยู่ในประเทศไทย
ปี ค.ศ. 1948-1950 คุณพ่อได้เรียนภาษาไทยที่วัดกาลหว่าร์ กรุงเทพฯ
ปี ค.ศ. 1950-1954 คุณพ่อได้ดำรงตำแหน่งปลัดวัดเชียงใหม่ และในปี ค.ศ. 1954-1978 ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสของวัดโคราชหรือจะเรียกว่า “โรงสวด” จะถูกต้องกว่า คุณพ่อเบรย์ได้ลงมือปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวัดอย่างจริงจังในระหว่างสงครามโลก ที่ดินของวัดถูกบุกรุกเพราะขาดผู้ดูแล สลัมเกิดขึ้นในที่ดินของวัด โรงแรมถูกสร้างขึ้นหลายแห่ง เพื่อเป็นที่พักของคนโดยสารรถไฟระหว่างกรุงเทพฯ-โคราช และโคราช-อุบลฯ สมัยนั้นผู้โดยสารรถไฟจำเป็นต้องหยุดพักที่โคราช กิจการโรงแรมในที่ดินของวัดจึงเฟื่องฟูเพราะตั้งอยู่ใกล้สถานีรถไฟ คุณพ่อเบรย์ต้องค่อยขยับขยายให้ผู้อาศัยในสลัมไปอาศัยที่อื่น ต้องชดใช้ค่ารื้อถอน ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลเพื่อต่อสู้คดีเรื่องที่ดิน ต้องซื้อโรงแรมเพื่อรื้อถอน จนได้ที่ดินของวัดคืนมาในบางส่วน ซึ่งยังคงอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้การที่คุณพ่อต้องเอาที่ดินคืนนั้นก็เพื่อดำเนินงานทางด้านต่างๆ เพื่อว่าพระศาสนจักรจะได้สามารถรับใช้สังคมรอบข้าง คุณพ่อเบรย์ ได้ลงมือเริ่มกิจการต่างๆ เพื่อพัฒนาสภาพของวัดให้ดีขึ้น ท่านอุทิศตนทำงานเพื่อรับใช้สังคมรอบข้าง งานสำคัญที่คุณพ่อทำก็คือ
1. การตั้งโรงเรียนมารีย์วิทยา วันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 1956 ได้รับความช่วยเหลือจากภคินีคณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร คุณพ่อดัดแปลงโรงแรมชั้นบนเป็นห้องเรียน โรงเรียนได้เจริญก้าวหน้าเรื่อยมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ในปี ค.ศ. 1997 โรงเรียนมารีย์วิทยา ได้สร้างอาคารหลังใหม่ โดยให้ชื่อว่า “มารีนุส” เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับคุณพ่อมารีอุส หลุยส์ เบรย์ ผู้ก่อตั้งโรงเรียน
2. วันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1966 โดยคำเชิญของคุณพ่อคณะภราดาเซนต์คาเบียล จึงได้มาเปิดโรงเรียนอัสสัมชัญขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมาและในโอกาสนั้น คุณพ่อได้เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษา และเพื่อที่จะมีส่วนช่วยให้จังหวัด นครราชสีมามีความเจริญด้านการศึกษาทัดเทียมกับจังหวัดอื่น จึงได้บริจาคที่ดินจำนวน 60 ไร่ เพื่อใช้ในการก่อสร้างโรงเรียนอัสสัมชัญในครั้งนั้นด้วย
3. กำเนิดจากเซนต์เมรี่คลีนิค“เมรี่” เป็นพระนามของพระนางมารีอา มารดาของพระเยซูคริสต์ ซึ่งอัญเชิญมาเป็นชื่อโรงพยาบาล (ST.MARY,S HOSPITAL) กำเนิดจากเซนต์เมรี่คลินิก โดยคุณพ่อมารีอุส เบรย์ มิชชันนารี ชาวฝรั่งเศส ได้มองเห็นความจำเป็นที่จะมีคลินิก เพื่อรักษาคนเจ็บไข้และบรรเทาใจผู้ตกทุกข์ได้ยาก จึงได้เริ่มใช้ห้องแถวหน้าโรงเรียนมารีย์วิทยา เปิด “เซนต์เมรี่คลินิก” ขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 1958 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานในพิธี นายแพทย์สุรศักดิ์ บุณยะประภัศร เป็นแพทย์ประจำท่านแรก และภคินีเออยีน เดอเยซู ของคณะภคินีเซนต์ปอล เดอชาร์ตร เป็นพยาบาล
เซนต์เมรี่คลินิก ได้พัฒนาก้าวหน้าพร้อมกับความต้องการที่จะมีเตียงเพื่อรักษาผู้เจ็บป่วย คุณพ่อมารีนุส เบรย์ จึงได้คิดที่จะขยายกิจการของเซนต์เมรี่คลินิก ความปรารถนาของท่านได้รับความเห็นชอบและสนับสุนนจากผู้ใหญ่ฝ่ายสังฆมณฑลนครราชสีมา รวมทั้งสาธารณสุขจังหวัด
ดังนั้น ในปี ค.ศ. 1958 พระสังฆราชอาแลง วังกาแวร์ มุขนายกมิสซังนครราชสีมา จึงอนุญาตให้คุณพ่อมารีอุส เบรย์ ดำเนินการติดต่อหาทุนเพื่อก่อสร้างโรงพยาบาลเซนต์เมรี่ วันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 1972 พระสังฆราชอาแลง วังกาแวร์ ได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์โรงพยาบาลเซนต์เมรี่ และดำเนินการก่อสร้างอาคาร 6 ชั้น การก่อสร้างใช้เวลาเกือบ 2 ปี จึงเปิดโรงพยาบาลรักษาคนเจ็บได้ตั้งแต่ วันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 1974 เป็นต้นมา โดยร่วมดำเนินการบริหารกิจการกับคณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร ตั้งแต่วาระแรกเริ่มตราบจนถึงปัจจุบัน
4. บ้านเมรี่โฮม คุณพ่อเริ่มรับเด็กหญิงทั้งคาทอลิกและไม่ใช่คาทอลิก ซึ่งมาจากครอบครัวที่ยากจน ให้ได้รับการอบรมศึกษาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด บ้านเมรี่โฮมรับเด็กหญิงมาอยู่อาศัยได้ประมาณ 35 คน ให้การศึกษาจนจบชั้นสูงสุด บ้านเมรี่โฮมยังดำเนินอยู่จนถึงปัจจุบัน
5. ปี ค.ศ. 1958 ได้จัดตั้งศูนย์การศึกษาเซนต์เมรี่ เพื่อสอนภาษา, ศาสนาแก่ผู้ที่สนใจและยังจัดตั้งศูนย์ศิลปตะวันออก –ตก เพื่อเผยแพร่ศิลปที่สวยงามให้เป็นที่รู้จักโดยสมควร
ในเรื่องกิจกรรมคาทอลิกนั้น คุณพ่อก็ได้ส่งเสริมให้มีกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
ปี ค.ศ. 1960 ได้ก่อตั้งคณะพลมารี โดยแบ่งเป็น 2 เปรซิเดียม คือผู้ใหญ่ 1 กลุ่ม และเยาวชน 1 กลุ่ม
ปี ค.ศ. 1966 จัดตั้งคณะวินเซนต์ เดอปอล ให้ความช่วยเหลือผู้ที่ยากจนเท่าที่ทำได้
ปี ค.ศ. 1967 จัดตั้งคณะพลศีลเพื่ออบรมเด็กให้มีความเมตตา มีความศรัทธาต่อศาสนา
นอกจากนั้นกิจกรรมที่ทางวัดเสนอให้สัตบุรุษและคนทั่วไป มีดังนี้
ปี ค.ศ. 1970 ได้ก่อตั้งสหกรณ์เครดิตยูเนียน และปีเดียวกันได้จัดตั้งสภาวัด เพื่อช่วยเหลือปรึกษาและจัดงานของวัดในโอกาสต่างๆ
คุณพ่อได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโคราชนานถึง 23 ปี กระทั่งถึงปี ค.ศ.1978 ถึง ค.ศ. 1986 คุณพ่อย้ายไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสที่วัดแม่พระปฏิสินธินิรมล อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
หลังจากนั้นท่านได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการนิตยสารแม่พระยุคใหม่ที่วัดแม่พระเหรียญอัศจรรย์ จ. ฉะเชิงเทรา จนถึงปัจจุบัน และในวันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 2001 อาการป่วยของคุณพ่อได้กำเริบจึงได้ถูกส่งตัวมารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลเซนต์เมรี่ และในวันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน ค.ศ. 2001 ท่านได้สิ้นใจอย่างสงบด้วยโรคหัวใจล้มเหลว อันเนื่องมาจากโรคเบาหวานที่โรงพยาบาลเซนต์เมรี่ นครราชสีมา ในเวลา 13.00 น. รวมอายุ 82 ปี 15 วัน.