-
Category: ประวัติพระสงฆ์คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (มรณะ)
-
Published on Thursday, 07 April 2016 09:02
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 2259
คุณพ่อเอมิลวิกเตอร์เบเชต์
Émile BÉCHET
คุณพ่อ เอมิล วิกเตอร์ เบเชต์ เกิดวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1877 ที่วัดยงส์ วัดหนึ่งในสังฆมณฑลกูตังส์
คุณพ่อรับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ในคณะมิสซังต่างประเทศ วันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1903 คุณพ่อออกเดินทางไปมิสซังกรุงสยาม วันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ. 1903
เมื่อมาถึงมิสซังกรุงสยามได้ไม่นาน คุณพ่อก็ได้รับมอบหมายให้ไปอยู่กับคุณพ่อรงแดล ผู้ที่เกิดในจังหวัดเดียวกัน ซึ่งเวลานั้นประจำอยู่ที่ ปราจีนบุรี ในสมัยนั้น หนทางไปปราจีนบุรี ลำบากเเละเป็นวัดอยู่กลางป่า ที่นั่น ถูกใจมิชชันนารีใหม่ผู้นี้ และยังเป็นที่เหมาะสำหรับเรียนภาษาด้วย ยิ่งกว่านั้น พวเราคริสตังก็ยังมีจำนวนไม่มาก จึงทำให้เจ้าอาวาสมีเวลาว่างสอนภาษาให้มิชชันนารีใหม่นี้
เป็นบุญที่ได้เริ่มเรียนภาษาไทยที่ปราจีนบุรี เพราะในไม่ช้าก็ได้รับแต่งตั้งให้ไปอยู่ที่ปากลัด ที่นั่นไม่มีโอกาสเช่นนี้ ปากลัด เป็นกลุ่มคริสตชนเล็กๆ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีแต่คนรักความสงบ มีอาชีพจับปลาบ้าง ดูแลทำสวนหมาก สวนมะพร้าวบ้าง มิชชันนารีหนุ่ม ทั้งที่ต้องเรียนภาษาไทยและจีน ทั้งยังต้องสอนคำสอน ก็ยังพอมีเวลาว่าง คุณพ่อจึงใช้เวลานี้สร้างบ้านพักพระสงฆ์ นอกนั้น ทุกที่ที่คุณพ่อต้องไปอยู่ช่วงต่อไป ก็แสดงให้เห็นถึงพรสวรรค์ต่างๆ ของท่านยิ่งวันยิ่งมากขึ้น จะว่าเป็นสถาปนิกนั้นก็มากไปหน่อย อย่างน้อยก็มีความสามารถพิเศษในทางช่างไม้ ช่างปูน ช่างสี ฯลฯ คุณพ่อต้องการทำงานหัตถกรรม เพื่อเป็นการออกกำลังกาย บางทีคุณพ่อเชื่อมั่นในความแข็งแกร่งของท่านมากเกินไป กำลังวังชาจึงถดถอยไปอย่างรวดเร็วภายใต้อากาศอันร้อนอบอ้าว ภายในระยะเวลาไม่นาน คุณพ่อต้องไปพักผ่อนเอาแรงที่ฮ่องกง พร้อมทั้งตักตวงเอาพลังใหม่ๆ ทางด้านจิตใจ ในบรรยากาศเข้าเงียบและรำพึงภาวนา
เมื่อกลับจากฮ่องกง คุณพ่อเบเชต์ก็ได้รับมอบหมายให้ไปเป็นปลัดผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดนครชัยศรีอยู่ระยะหนึ่ง และต่อจากนั้นก็ได้เป็นเจ้าอาวาส ชาวนครชัยศรีซึ่งมีจิตตารมณ์คริสตังอย่างลึกซึ้ง มีจุดเด่นในกรุงสยาม นอกจากคุณความดีอื่นๆ แล้ว ก็มีการรับศีลอภัยบาปและรับศีลมหาสนิทบ่อยๆ สวดภาวนาภายในครอบครัว การส่งลูกๆ เข้าโรงเรียนคาทอลิก โรงเรียนคาทอลิกต่างๆ นี้ในเรื่องอาคาร ยังจะต้องมีการปรับปรุง เจ้าอาวาสองค์ก่อนได้เริ่มสร้างโรงเรียนสำหรับเด็กหญิง คุณพ่อเบเชต์ก็ได้สร้างต่อจนเสร็จ แล้วก็ลงมือสร้างโรงเรียนสำหรับเด็กชาย ปัจจุบันนี้ พวกเด็กนักเรียนของวัดนี้มีห้องเรียนใหญ่ๆ หลายห้อง ซึ่งบรรดาครูชายหญิงใช้สอนทั้งวิชาความรู้ และศาสนา สลับกันไป โรงเรียนดีทำให้มีคริสตังดี : โรงเรียนดีของวัดนครชัยศรีเป็นเครื่องพิสูจน์แล้ว
อย่างไรก็ดี งานก่อสร้างต่างๆ นี้ ซึ่งเราอาจเรียกได้ว่าเป็นงานส่วนเกิน เมื่อเราคิดถึงงานด้านจิตใจจำนวนมาก ซึ่งคริสตชน 1500 คน เรียกร้องให้ทำ : เช่น การสอนคำสอน การฟังแก้บาป การเทศน์ ฯลฯ... ได้ทำลายพละกำลังของคุณพ่อไปอีกครั้งหนึ่ง น้ำลายที่ออกมาเป็นเลือด แสดงว่าสุขภาพทั่วไปน่าเป็นห่วงมาก และแล้วก็ต้องกลับไปฝรั่งเศส อากาศในบ้านเกิดเมืองนอนมิได้ทำให้เกิดมหัศจรรย์อันสมบูรณ์ตามที่คาดหวังเอาไว้ อาการดีขึ้นมาก ทำให้มิชชันนารีผู้นี้สามารถเดินทางได้บ้าง นอกจากการเดินอื่นๆ ก็มีการเดินทางไปกรุงโรมในปี ค.ศ. 1925 และการเดินทางไปแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์เมื่อตอนกลับมาสยาม
เมื่อคุณพ่อกลับมาถึงมิสซังสยามในปี ค.ศ. 1925 คุณพ่อได้รับมอบหมายให้ดูแลปกครองคริสตังที่ปากคลองท่าลาก และวัดท่าเกวียนที่ขึ้นอยู่กับวัดนี้ ถ้างานทางด้านจิตใจยังมีที่จะต้องทำแล้ว อะไรกับงานทางด้านวัตถุ ทุกอย่างต้องทำใหม่ทั้งหมด อย่างน้อยก็งานซ่อมบำรุง : เช่น ซ่อมปรับปรุงวัด บ้านพักพระสงฆ์ ฯลฯ คุณพ่อได้ทุ่มเทพละกำลังใหม่ และเงินบริจาคเล็กน้อยทั้งหมดที่ได้รับตอนกลับไปฝรั่งเศสครั้งล่าสุด พวกคริสตังเมื่อได้เห็นน้ำใจดีของท่าน ก็ได้ช่วยสมทบจำนวนเงินนิดหน่อยด้วยอย่างแน่นอน แต่ถ้าไม่มีน้ำใจเมตตาของชาวฝรั่งเศสที่มีต่อมิชชันนารีเเล้ว งานก่อสร้างต่างๆ คงต้องเลื่อนไปทำภายหลัง ในขณะที่คุณพ่อกำลังทำหอระฆังให้แข็งแรงอยู่นั้น คุณพ่อเกิดเป็นลมตกลงมาทำให้เลือดตกใน คุณพ่อเข้ามาในกรุงเทพฯ เพื่อให้แพทย์ของมิสซังตรวจเช็ค แพทย์สั่งให้พักอยู่ที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ระยะหนึ่ง ยิ่งกว่านั้น หัวใจยังน่าเป็นห่วงมาก จึงต้องอยู่รับการรักษานานขึ้นไปอีก กระนั้นก็ดี มิชชันนารียังต้องการกลับไปวัดของตน เวลาผ่านไปหลายสัปดาห์ คุณพ่อยังเป็นลมอยู่เป็นช่วงๆ ครั้งนี้ไม่ต้องลังเลใจอะไรอีกแล้ว พระสังฆราชมีคำสั่งให้คุณพ่อออกจากปากคลองท่าลาดในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1929 ไปอยู่ลำไทร ที่ซึ่งมีเพื่อนพระสงฆ์คอยให้ความช่วยเหลือเมื่อจะมีอุบัติเหตุขึ้นอีก
เพื่อเป็นการไม่ลำเอียงเราพูดได้ว่าสภาพใหม่นี้ไม่เป็นที่พอใจของคุณพ่อเลยท่านปรารถนาที่จะตายในที่ซึ่งเคยมีเครื่องหมายแสดงถึงการที่จะต้องจากไปชั่วนิรันดรปรากฎให้เห็นแล้ว พินัยกรรมของคุณพ่อเขียนไว้กว่าหนึ่งเดือนก่อนตาย ระบุไว้ชัดเจนว่า ปากคลองท่าลาดจะเป็นที่ฝังศพของท่าน และคุณพ่อแสดงความปรารถนาให้ฝังท่านหน้าแท่นแม่พระในวัดของท่าน พูดตามประสามนุษย์ มันเป็นไปไม่ได้ที่จะคาดการณ์ไว้ก่อนว่า ความปรารถนาเช่นนี้จะเป็นจริงขึ้นมาได้โดยไม่ต้องมีอำนาจใดมาสั่ง แต่บางครั้ง พระญาณสอดส่องของพระเป็นเจ้าก็มีบทบาทต่างๆ นี้ ซึ่งอยู่เหนือความคิดเห็นของมนุษย์
วันอังคารที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1929 เวลาประมาณ 8 โมงเช้า คุณพ่อเชต์ดูสุขภาพแข็งแรงดี ล่องเรือยนต์ออกจากลำไทรพร้อมด้วยช่างเครื่องหนุ่มเพียง 2 คน มุ่งไปที่วัดเก่าของท่านเพื่อจัดการเรื่องบางอย่างให้เรียบร้อย เเละเดินทางต่อเข้ากรุงเทพฯ ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นระหว่างการเดินทางนี้เลย แม้กระทั่งช่างเครื่อง 2 คนซึ่งยุ่งอยู่กับการแก้เครื่องยนต์ที่เสียอยู่หัวเรือ ส่วนมิชชันนารีอยู่ท้ายเรือคนดียว หลังเที่ยง คุณพ่อเบเชต์คงรู้สึกเหนื่อย ได้ถามช่างเครื่องของท่านดังๆ ว่า เราใกล้จะถึงปากคลองท่าลาดแล้วหรือยัง พวกเขาตอบว่า ยัง แสงอาทิตย์ตอนบ่ายสะท้อนแสงกับน้ำในเเม่น้ำ ครั้นเวลา 6 โมงเย็น คือ หลังจากเดินทางมาได้ 10 ชั่วโมง ช่างเครื่องทั้งสองหันกลับมาเตือนคุณพ่อว่าเห็น หอระฆังเเล้ว พวกเขาสังเกตว่าท่านนอนหลับเหยียดยาวอยู่ และมีใบหน้าเป็นสีแดงเลือด หลังจากนั้นเล็กน้อย พวกเขาก็มาถึงโป๊ะท่าน้ำ : บรรดาพวกสัตบุรุษพากันวิ่งมายกคนป่วยขึ้นและหามไปที่บ้านพักพระสงฆ์ แต่คุณพ่อเจ้าอาวาสเวลานั้นไปกรุงเทพฯ พวกภคินีและสัตบุรุษพยายามช่วยเท่าที่ทำได้ แต่ก็ไม่มีประโยชน์อะไร หนึ่งชั่วโมงต่อมา คุณพ่อเบเชต์ ก็สิ้นใจถวายวิญญาณคืนแด่พระเป็นเจ้าที่ปากคลองท่าลาด
เพื่อนพระสงฆ์ใกล้ๆ นั้นได้ทราบข่าวก็รีบมา แต่ไม่ทัน วันรุ่งขึ้น จึงมีโทรเลขส่งข่าวร้ายนี้ให้เราทราบ คุณพ่อดือรัง ทราบเรื่องตอนกลับมาถึงวัดของท่าน พิธีปลงศพจัดขึ้นในวันต่อจากวันรุ่งขึ้น โดยมีเพื่อนพระสงฆ์หลายองค์และบรรดาคริสตังจำนวนมาก คุณพ่อเบเชต์มรณภาพวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1929 อย่างโดดเดี่ยวและในสถานที่เดียวกับที่ท่านได้ระบุเลือกไว้ ดังนั้น ร่างของท่านจึงถูกฝังไว้ต่อหน้าพระแท่นแม่พระตามที่ท่านได้เลือกไว้ด้วย เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า พระเป็นเจ้าคงจะไม่ทอดทิ้งผู้รับใช้ของพระองค์ในช่วงสุดท้ายของชีวิตของท่าน คุณพ่อองค์นี้มิได้ใช้ชีวิตกว่า 25 ปี ในการทำงานแพร่ธรรมอันแสนลำบากในกรุงสยามกระนั้นหรือ แม้ความยุติธรรมของพระเป็นเจ้าจะเข้มงวดเคร่งครัด แต่พระเมตตาของพระบิดาก็หาได้มีที่สิ้นสุดไม่ ให้เราภาวนาสำหรับผู้ล่วงลับทั้งหลายของเรา