-
Category: ประวัติพระสงฆ์คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (มรณะ)
-
Published on Thursday, 07 April 2016 08:59
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 1646
คุณพ่อ หลุยส์ ยอแซฟ กาลังช์
Louis CALENGE
คุณพ่อ หลุยส์ ยอแซฟ กาลังช์ เกิดที่น้อตเตรอะดามเดอเจอนีย์ สังฆมณฑลกูตังส์ วันที่ 29 มกราคม ค.ศ. 1882
ท่านเป็นเด็กขยันและเป็นคนมีสติปัญญาหลักแหลม คุณพ่อผู้ช่วยประจำวัดสอนภาษาลาตินให้ แล้วเข้าเรียนต่อในโรงเรียนมัธยมเอกชนที่เซนต์โล จบการศึกษาที่เซนต์โลแล้ว ท่านเข้าเรียนในบ้านเณรใหญ่ของสังฆมณฑลกูตังส์ ท่านได้รับการอบรมเรื่องกระแสเรียกเป็นมิชชันนารีอยู่เป็นเวลา 2 ปี แล้วในที่สุด ท่านก็สมัครเป็นมิชชันนารีของคณะสงฆ์ต่างประเทศแห่งกรุงปารีส ท่านพูดว่า “ที่สมัครเข้าคณะนี้ เพราะมั่นใจว่า จะได้ไปทำงานในมิสซังโพ้นทะเล”
ปี ค.ศ. 1904 คุณพ่อเดินทางมาถึงประเทศไทย พระสังฆราชเวย์จัดให้มิชชันนารีองค์ใหม่ไปเป็นผู้ช่วยคุณพ่อด็อนต์ ที่วัดญวณสามเสน หมู่บ้านสามเสนตั้งอยู่ทางทิศเหนือของกรุงเทพฯ ไม่ไกลจากพระบรมมหาราชวังเท่าใดนัก คริสตังญวนหลายคนทำงานในวัง คุณพ่อด็อนต์ต้อนรับคุณพ่อใหม่อย่างอบอุ่น และช่วยสอนความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับภาษาญวนให้ด้วย ปรากฎว่า ลูกศิษย์คนใหม่เรียนภาษาญวนอย่างกระตือรือร้น เรื่องนี้เราพบหลักฐานในบันทึกจำนวนมากที่ท่านเขียนไว้ในพจนานุกรมภาษาญวน-ฝรั่งเศส คุณพ่อพูดภาษาญวนได้คล่องและชัดเจนดีมาก และดูเหมือนว่าท่านเขียนภาษาญวนได้ดีพอๆ กัน ใครๆ ก็ทราบว่าภาษาญวนนั้นเป็นภาษาดนตรี มีเสียงสูงต่ำ เรื่องนี้ไม่เป็นปัญหาสำหรับคุณพ่อเลย ยิ่งกว่านั้น คุณพ่อมีโอกาสพูดภาษาญวนกับชาวบ้าน ก็ทำให้ท่านรู้แตกฉานยิ่งขึ้น ต่อมา คุณพ่อเรียนภาษาไทย และก็พูดได้ชัดเจนดีเช่นกัน นอกนั้น คุณพ่อยังเรียนภาษาจีน ซึ่งท่านก็พูดได้ดีและมีโอกาสใช้เป็นครั้งคราว
หลังจากได้รับการฝึกฝนอบรมอย่างดีที่วัดสามเสนแล้ว ผู้ใหญ่เห็นคุณพ่อกาลังช์ มีประสบการณ์พอเพียง สมควรให้ท่านพ้นบรรยากาศของเมืองหลวง ไปปฏิบัติงานเป็นเอกเทศตามชนบท จึงให้คุณพ่อไปเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส ที่วัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงเก่าของประเทศไทย
ที่วัดนี้ คุณพ่อทำงานอย่างร้อนรนและกระตือรือร้นอย่างยิ่ง ขอพูดถึงประวัติของวัดนักบุญยอแซฟอยุธยาโดยสังเขป ขณะนั้น ที่วัดอยุธยามีสัตบุรุษประมาณ 100 คน วัดนี้สวยงามมาก มิชชันนารีคณะมิสซังต่างประเทศ คือ คุณพ่อแปร์โรซ์ เป็นผู้สร้าง คุณพ่อยักส์ เดอ บูรซ์, คุณพ่อ ฟรังซัว เดดิเอร์ และท่านลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต มาที่อยุธยาในปี ค.ศ. 1622 คุณพ่อกาลังช์พระสงฆ์หนุ่มผู้มาแทน ได้เริ่มงานอภิบาลด้วยใจร้อนรน พวกคริสตังเองก็ใจศรัทธาร้อนรนพอกัน คุณพ่อทำงานประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่งโดยเฉพาะแล้วท่านมีความสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับประวัติของท้องถิ่นและภูมิภาคประเทศตะวันออกไกล อนึ่ง ท่านยังศึกษาวิชาศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะประมวลกฎหมายของพระศาสนจักรด้วย
ปี ค.ศ. 1907 คุณพ่อไปประจำอยู่ที่วัดปราจีนบุรี วัดนี้ คุณพ่อรงแดล เพื่อนของท่านสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1897 สภาพทั่วไปรอบวัดเป็นป่าดง การไปมาระหว่างกรุงเทพฯ กับจังหวัดนี้ใช้เวลานาน ถนนหนทางไม่สะดวก เดชะบุญ คุณพ่อกาลังช์เป็นคนร่าเริง ท่านปรับตนเองเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดีมาก ในการเดินทาง คุณพ่อชอบเล่าเรื่องตลกสนุกสนาน ทำให้รู้สึกว่าการเดินทางถึงเร็วขึ้น
คุณพ่อรงเเดลทำงานเข้มแข็ง ท่านมีความคิดกว้างขวางในเรื่องการแพร่ธรรม ส่วนคุณพ่อกาลังช์เป็นคนใจเยือกเย็นที่สุด จึงตามความคิดของคุณพ่อรงแดลได้ช้าไปหน่อย องค์แรกวิ่งฉิวในการปฏิบัติงานในประเทศลาว พร้อมกับเพื่อนร่วมงาน คือ คุณพ่อโปรดอม ซึ่งให้การสนับสนุนคุณพ่อรงแดลอย่างดียิ่ง ทำให้ท่านมุมานะทำงานในทุ่งหญ้ากว้างไพศาลของเมืองไทยเพื่อช่วยวิญญาณให้รอด ส่วนคุณพ่อกาลังช์เป็นคนสงบเสงี่ยมใจเย็นและไม่สู้แข็งแรง ท่านจึงไม่สนใจวิ่งแข่งกับเพื่อนพระสงฆ์บนหลังม้าและท่องเที่ยวไปภายใต้แสงแดดร้อนอบอ้าว คุณพ่อกาลังช์มีร่างกายอ่อนแอ ไม่แข็งแรง
ปี ค.ศ. 1908 ท่านต้องเดินทางไปฮ่องกง เพื่อพักผ่อนที่บ้านเบธานีของคณะ เป็นเวลา 1 ปี กับ 6 เดือน อากาศของเมืองไทย ประกอบกับการที่คุณพ่อเป็นคนมัธยัสต์ในการกินอยู่ ทำให้สุขภาพทรุดโทรม คุณพ่อป่วยกระเสาะกระแสะ แต่ก็ไม่สนใจเรื่องสุขภาพของตน ท่านไม่รู้จักหลักการขั้นพื้นฐานในการรักษาสุขภาพพลานามัยเสียด้วยซ้ำ นอกนั้น อากาศของเมืองไทยมีส่วนบั่นทอนสุขภาพ แม้ของคนที่แข็งแรงด้วย คุณพ่อได้รับการเอาใจใส่อย่างดีในเรื่องอาหารการกินที่อุดมสมบูรณ์ในสถานที่พักฟื้นของคณะ มีนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้การดูแลรักษา อากาศอบอุ่นและเย็นของเกาะฮ่องกงช่วยให้คุณพ่อฟื้นขึ้นอย่างรวดเร็ว ปี ค.ศ. 1910 ท่านเดินทางกลับมายังประเทศไทย พระสังฆราชแปร์รอสซึ่งรับตำแหน่งแทนพระสังฆราชเวย์ ตกลงให้คุณพ่อไปประจำตำแหน่งอยู่ที่โคราช กับคุณพ่อรงแดลใหม่ คุณพ่อรงแดลกำลังตั้งหมู่บ้านคริสตังขึ้นใหม่ แต่คุณพ่อกาลังช์ประจำอยู่ที่นี่ไม่นาน ก็ต้องย้ายจากโคราชไปอยู่ที่จันทบุรี เป็นผู้ช่วยคุณพ่อเปริกัล
จังหวัดจันทบุรี เป็นเมืองเอกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีหมู่บ้านคริสตังอยู่หลายแห่ง เช่น ที่ปากน้ำ, ท่าใหม่, วันยาว (หรือวัดขลุง) คุณพ่อกาลังช์ชอบวัดขลุงมากกว่าที่อื่น วัดนี้เจริญมากกว่าที่อื่น ได้กลายเป็นศูนย์กลางของอำเภอ พวกคริสตังมีจำนวน 600 คน มากพอดู เขามีอาชีพจับปลา, เผาถ่าน,ทอเสื่อกก อะไรๆ ก็ต้องจัดให้เป็นระเบียบ, ต้องก่อสร้าง นายชุมพาบาลคนใหม่คงเคร่งครัดในเรื่องอาหารการกินเหมือนเดิม ท่านไม่สนใจเรื่องอนามัยพื้นฐาน ไม่สใจเรื่องอาหารเลย สุขภาพของท่านจึงเริ่มทรุดโทรม ทั้งๆ ที่ท่านทุ่มเทชีวิตจิตใจและกายทำงานให้ลูกแกะของท่าน ถ้าเราวิจารณ์ท่านในเรื่องไม่เอาใจใส่สุขภาพของตน และไม่ใส่ใจเรื่องโภชนาการ เราก็ต้องชมเชยคุณพ่อที่ทำงานแพร่ธรรมอย่างเข้มแข็ง และคำสรรเสริญสุดยอดที่พึงให้แก่ท่าน ก็คือ สัตบุรุษรักคุณพ่ออย่างยิ่ง
ใน ค.ศ.1929 คุณพ่อเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อพบนายแพทย์ของมิสซัง นายแพทย์แนะนำคุณพ่อให้พักผ่อนในโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์เป็นเวาลาหลายสัปดาห์ ท่านได้รับการดูแลรักษาอย่างดี จึงเดินทางกลับไปที่วัดขลุง แต่แล้ว ความป่วยไข้ก็บังคับให้คุณพ่อต้องเข้าโรงพยาบาลอีก คราวนี้นายแพทย์ให้คุณพ่อรีบกลับไปรักษาตัวที่ฝรั่งเศสทันที ท่านเดินทางถึงบ้านเกิดเมื่อต้นเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1930 หลังจากเดินทางรอนแรมในทะเลเป็นเวลานาน ทำให้ท่านเหนื่อยมาก
คุณพ่อแวะเยี่ยมบ้านเณรของคณะที่ถนนดือบักเป็นเวลาสั้นๆ ท่านอ้างว่าต้องรีบไปนอรมังดี บ้านเกิดที่ท่านรัก ท่านได้พบน้องชายชื่อ ยอแซฟ และยังพบครอบครัวใหม่ที่จัดฉลองต้อนรับท่านที่บ้านของพ่อแม่ นอกนั้น คุณพ่อยังได้พบหลานที่เมืองนิกอรป์ พวกเขาเปิดประตูบ้านพักพระสงฆ์ต้อนรับคุณพ่ออย่างอบอุ่น แต่อากาศเย็นและชื้นมาก ทำให้ท่านต้องทนทุกข์ทรมานเป็นอย่างมาก
คุณพ่อเขียนจดหมายไปยังผู้ใหญ่ที่กรุงปารีส อธิการใหญ่จึงแนะนำคุณพ่อให้ไปพักที่สถานพักฟื้นเมืองมองเบอตง ใกล้ มองตอบัง ที่นั่นอากาศแห้งกว่าและไม่หนาว ปลายเดือนกันยายน คุณพ่อจัดเตรียมกระเป๋าเดินทาง แต่ท่านไม่มีโอกาสได้เดินทาง เพราะพระเป็นเจ้าทรงจัดเหตุการณ์เป็นอย่างอื่นสำหรับคุณพ่อ
ที่นิกอรป์ หลังรับประทานอาหารเย็นแล้ว คุณพ่อรู้สึกไม่สบายมาก วันนั้นตรงกับวันที่ 26 กันยายน ค.ศ. 1930 ผู้อยู่ใกล้เคียงช่วยกันอุ้มท่านไปไว้บนเตียง ปรากฎว่าท่านอาเจียนเป็นเลือด ทุกคนวิตกที่เกิดอาการเเบบนี้ เขารีบไปรับหมอมา นายแพทย์เองก็ตกใจ บอกว่า อาการของคุณพ่อหนักมาก คุณพ่อเจ้าอาวาสวัดอูวิลล์ ถูกเชิญมาเป็นการด่วน ท่านเเจ้งให้คุณพ่อรู้ว่าอาการหนักมาก ซึ่งเมื่อก่อนหน้านี้คุณพอไม่เคยสนใจ ทีแรก ท่านลังเลใจชั่วครู่ แต่แล้วก็น้อมรับน้ำพระทัยของพระโดยดี คุณพ่อได้รับศีลเจิมคนป่วยขณะมีสติดีมาก ต่อจากนั้นก็ไม่ได้รับศีลเสบียง เพราะท่านได้ถวายมิสซาตอนเช้าแทนแล้ว ท่านเข้าตรีฑูตพร้อมกับอาเจียนเป็นเลือดเป็นครั้งคราว ท่านอยู่ในสภาพนี้จนถึงเช้าวันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 1930 ท่านจึงได้คืนวิญญาณแด่พระเป็นเจ้าอย่างสงบ เมื่อเวลาบ่ายโมงครึ่ง ญาติพี่น้อง คุณพ่อเจ้าอาวาส และบรรดาหลาน ประชุมสวดส่งวิญญาณจนถึงที่สุด
ชีวิตที่เสียสละแบบปิดทองหลังพระของคุณพ่อกาลังช์ จบลงด้วยการรับใช้พระศาสนจักรของพระเยซูคริสตเจ้าอย่างดีตลอดชีพ.