คุณพ่อ ญัง อังรี การิเอ


คุณพ่อ ญัง อังรี การิเอ
 
Jean CARRIÉ
 
คุณพ่อ ญัง อังรี การิเอ เกิดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1877 จากครอบครัวกสิกร ที่ตำบลเซงัค สังฆมณฑลโรแคส (อาเวรง) ยวงเฮนรี การิเอ เรียนชั้นประถมที่เซงัค ชั้นมัธยมที่โรงเรียนเซนต์แมรี่ และเซนต์ปิแอร์ที่โรแดส เข้าสามเณราลัยมิสซังต่งประเทศ วันที่ 14 กันยายน ค.ศ. 1897 บวชเป็นพระสงฆ์วันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1902 และออกเดินทางมามิสซังสยาม วันที่ 23 กรกฎาคม ปีเดียวกัน
 
ตอนแรก ท่านไปเรียนภาษาจีนที่แปดริ้ว แล้วย้ายไปอยุธยา เป็นปลัดของคุณพ่อแบส์แรสต์ ตั้งแต่กุมภาพันธ์ - ตุลาคม ค.ศ. 1903 แต่ว่าในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1903 พระสังฆราชเวย์ เรียกท่านกลับมากรุงเทพฯ ปรากฎว่าท่านเป็นวัณโรค แพทย์สั่งพักผ่อน  ลางานทุกอย่างโดยเด็ดขาด และบอกพระสังฆราชว่า ท่านจะอยู่ได้อีก 1 ปีเป็นอย่างมาก
 
ค.ศ. 1904 และ ค.ศ. 1905 ท่านอยู่ที่วัดอัสสัมชัญ ลางานทุกอย่างเด็ดขาด ตามคำสั่งแพทย์
มกราคม ค.ศ. 1906 โดยที่คุณพ่อโรมิเออ ซึ่งเป็นเหรัญญิกมิสซัง มีงานมากมาย เป็นต้น เรื่องการก่อสร้างต่างๆ คุณพ่อการิเอ ทั้งๆ ที่ต้องรักษาตัวต่อไป ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเหรัญญิก ทำบัญชีของมิสซังทั้งหมด แต่ในเดือนมกราคมปีเดียวกัน ท่านเกิดเป็นไข้ไทฟอยด์ ต้องเข้าโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ 50 วัน ก่อนที่จะไปทำงานที่สำนักงานอัสสัมชัญ
 
ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1907 จนถึงปีค.ศ. 1909 (ปีที่พระสังฆราชเวย์มรณภาพ) นอกจากรับเป็นผู้ช่วยเหรัญญิก ท่านยังเป็นเลขานุการส่วนตัวของพระสังฆราช จดหมายและรายงานต่างๆ ของ พระสังฆราชเวย์ ถึงศูนย์ที่ปารีส เกี่ยวกับเรื่องพินัยกรรมของคุณพ่อแก็นตริก  คุณพ่อการิเอเป็นผู้เขียนขึ้นทั้งสิ้น พระสังฆราชเวย์ เพียงแค่เซ็นชื่อ
 
จดหมายของพระสังฆราชแปร์รอส ลงวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 1911 แจ้งให้ทางศูนย์ปารีสทราบว่า พระสังฆราชมีความตั้งใจที่จะให้ คุณพ่อการิเอ กลับไปทำงานตามวัดต่างๆ และให้คุณพ่อการ์ต็องรับเป็นผู้ช่วยเหรัญญิกแทน
 
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1912 ท่านแปร์รอสประกาศแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ : คุณพ่อการ์ต็อง เป็นผู้ช่วยเหรัญญิก และ คุณพ่อการิเอ เป็นปลัดที่แปดริ้ว
 
ปี ค.ศ. 1912 นี้ คุณพ่อแปรเบต์ มอบหมายให้คุณพ่อการิเอไปสร้างวัดเซนต์ร็อค ที่เนื่องเขต ซึ่งยังมีอีกชื่อหนึ่งว่า ท่าไข่ คุณพ่อการิเอ คุมการก่อสร้างทั้งๆ ที่เอาใจใส่เรื่องการสอนบรรดาคริสตัง และเป็นต้นพวกเยาวชน
 
ปี ค.ศ. 1914 เกิดสงครามโลก ท่านจึงต้องกลับไปฝรั่งเศส เมื่อปลดประจำการ ท่านก็กลับมาเป็นพ่อปลัดของคุณพ่อแปรเบต์อีก ท่านได้รับมอบหมายจากคุณพ่อเจ้าวัดให้สร้างอาคารโรงเรียนวัด, บ้านพักภคินี และบ้านพักพระสงฆ์ ที่วัดเซนต์ร็อค ซึ่งวัดนี้ยังตั้งอยู่อย่างถาวรมั่นคง เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1920 ได้มีการเสกวัดใหม่ และอาคารต่างๆ อย่างสง่า
 
ที่วัดแปดริ้วเอง ท่านช่วยคุณพ่อแปรเบต์ในการพัฒนาโรงเรียนวัด, ในการสร้างโรงเรียนสองหลัง ซึ่งมอบให้ภราดาคณะเซนต์คาเบรียล และซิสเตอร์คณะเซนต์ปอล เดอชาร์ตร เป็นผู้บริหาร ในที่สุด คุณพ่อแปรเบต์เหน็ดหนื่อยด้วยการก่อสร้างต่างๆ เหล่านั้น รู้ตัวดีว่า จะต้องมรณะในไม่ช้าแน่ จึงมอบการงานทั้งหมดให้คุณพ่อปลัด คุณพ่อแปรเบต์ สิ้นใจวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ. 1924 และคุณพ่อการิเอจึงรับเป็นเจ้าอาวาสอย่างเป็นทางการในเขตแปดริ้ว
 
ดังนั้น ทางวัดแปดริ้วก็ตั้งอยู่อย่างแข็งแรงมั่นคงและผลดีที่เกิดจากโรงเรียนคือ อำนวยให้การปฏิบัติศาสนกิจของบรรดาคริสตังเจริญขึ้นเสมอ ปี ค.ศ. 1938  คุณพ่อการิเอรายงานถึงพระสังฆราชแปร์รอสว่า : “เซนต์แปดริ้วกำลังเจริญขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจาก   คำสอนและการอบรมแบบคริสตังที่มีอยู่ในโรงเรียนของเรา...และจัดพิมพ์วารสารวัดเป็นประจำทุกๆ เดือน”
 
ปลายปีค.ศ. 1940 ก็เกิดกรณีพิพาทระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีน เช่นเดียวกับมิชชันนารีทุกองค์ที่กระจัดกระจายตามชนบท คุณพ่อการิเอต้องลาจากกลุ่มคริสตชนของท่านและมาอยู่กรุงเทพฯ ตามคำสั่งของทางรัฐบาล พระสังฆราชแปร์รอสจึงได้ขออนุญาตจากหลวงพิบูลฯ ให้ส่งมิชันนารี 13 องค์ออกนอกประเทศเป็นการชั่วคราว เพราะอยู่ที่สำนักอัสสัมชัญก็แออัดคับแคบเกินไป หลวงพิบูลฯ ก็อนุญาติตามที่ขอ และดังนั้น คุณพ่อการิเอก็ออกเดินทางไปอินโดจีนพร้อมกับเพื่อนมิชชันนารี ปลายปี ค.ศ. 1941 ท่านกลับมาอยู่ประเทศไทย แล้วกลับไปอยู่แปดริ้วดังเดิม พระสังฆราชแปร์รอส ยังมอบหมายให้ท่านไปขอที่ดินของวัดปากคลองท่าลาด และวัดท่าเกวียนกลับคืนมา ให้รวบรวมบรรดาคริสตัง และก่อสร้างวัดกับบ้านพักพระสงฆ์ชั่วคราวไปก่อนในสองวัดนั้น ซึ่งถูกทำลายอย่างราบเรียบ
 
ปี ค.ศ. 1943 กำลังมีการกล่าวถึงว่า จะมีการแบ่งแยกสำนักมิสซังกรุงเทพฯ และจะสถาปนาเทียบสังฆมณฑลใหม่ที่จันทบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา จะต้องอยู่ในเขตมิสซังใหม่ ที่นาอันมีเนื้อที่จำนวนมากของวัดเซนต์ร็อค นั้น เป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัวของคุณพ่อการิเอ ผู้ได้รับมาโดยพินัยกรรมจากคุณพ่อแปรเบต์ และคุณพ่อแปรเบต์เป็นผู้ซื้อด้วยเงินส่วนตัวของท่านเอง ดังนั้น จึงได้ตัดสินใจให้จังหวัดฉะเชิงเทรา จะได้ถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งไปมิสซังจันทบุรี อีกส่วนคงอยู่ในมิสซังกรุงเทพฯ โดยมีแม่น้ำบางปะกงเป็นเขต และกฤษฎีกา วันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1944 ของวาติกัน ซึ่งเป็นการแบ่งแยกและสถาปนามิสซังใหม่นี้ ก็กำหนดแบบเดียวกัน ฝั่งซ้ายของแม่น้ำบางปะกง เป็นของมิสซังจันทบุรี ฝั่งขวาเป็นของมิสซังกรุงเทพฯ ส่วนคุณพ่อการิเอ ได้ยกที่นาของวัดเซนต์ร็อค ดังกล่าวให้เป็นของมิสซังกรุงเทพฯ
 
คุณพ่อการิเอจึงเกิดความคิดที่ดีเลิศอย่างหนึ่ง คือ เเทนที่จะไปอยู่ที่วัดเซนต์ร็อค ริมคลองเนื่องเขตนั้น ท่านตัดสินใจข้ามแม่น้ำบางปะกงนั้นเอง ไปเปิดวัดใหม่ซึ่งจะถวายแด่นักบุญอันตน อยู่เยื้องวัดเซนต์ปอล ลงมาทางใต้นิดเดียว ติดกับตัวเมืองฉะเชิงเทรา และที่ตั้งของวัดใหม่นี้ ทำเลจะดีกว่าของวัดเซนต์ปอล
 
ตัดสินใจแล้ว ก็ซื้อที่ดินทันที และจะให้โรงเรียนของบราเดอร์เซนต์คาเบรียล กับ ของภคินีเซนต์ปอลเดอชาร์ตร ข้ามแม่น้ำมาอยู่ฝั่งขวาเช่นเดียวกัน ดังนั้น ถึงเวลาแล้ว ที่จะต้องจัดการสร้างอาคารต่างๆ และจะทำอย่างไรดี เพราะว่า เงินทุนที่เหลืออยู่เวลานั้นก็น้อยมาก
 
ก่อนที่จะแบ่งเเยกมิสซัง ท่านก็ได้จัดทำรายการทั้งหมดของทรัพย์สินทั้งหลายของวัดเซนต์ปอล และทุกๆ ชิ้นก็มีเลขลำดับประจำอยู่ ในวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 1944 ท่านจึงได้เขียนถึงพระสังฆราชแปร์รอส เป็นจดหมายดังต่อไปนี้ :
 
“เมื่อวาน หลังจากที่ท่านได้กลับไป ผมได้สนทนาตั้งนานกับคุณครูถนอม...เรื่องการเปิดโรงเรียนวัด และการสร้างวัดเซนต์แอนโทนี่
 
เนื่องจากเวลานี้ ไม้มีราคาสูงมาก เขาได้เสนอให้โยกย้ายโรงเรียนหญิง เลขที่ 283, บ้านพักบราเดอร์ เลขที่ 260 และอู่เรือตรงคลองตีนเป็ด เลขที่ 315 ให้รื้อย้ายไปสร้างวัดเซนต์แอนโทนี่ ดังนั้น ขอให้ท่านกรุณาจดข้างๆ ทรัพย์สินเลขที่ดังกล่าวข้างบนนี้ว่า อนุญาตให้ยกไปอยู่ที่เซนต์แอนโทนี่ กรุณาจดวันที่ และเซนต์ชื่อด้วย...”
 
แล้วโดยทันทีทันใด คุณพ่อการิเอก็เริ่มทำงาน แม้ยังดำรงตำแหน่งเจ้าวัดที่เซนต์ปอลอยู่ก็ตาม แต่ท่านก็เริ่มก่อสร้างที่ริมแม่น้ำอีกฟากหนึ่ง สร้างอาคารใหญ่ แข็งแรง มั่นคง หลังหนึ่งก่อน ชั้นล่างจะให้เป็นวัดชั่วคราว จนกว่าจะสามารถสร้างวัดถาวรสักวันหนึ่ง ชั้นสองจะเป็นที่พักพระสงฆ์ มีห้องอาหาร และห้องใหญ่ๆ 3 ห้อง มีระเบียงอยู่โดยรอบ
 
พระสังฆราช แจง เกิดสว่าง พระสังฆราชไทยองค์แรก รับอภิเษกวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1945 ดั้งนั้น การที่จะมอบวัดต่างๆ ก็ค่อยๆ มอบตามกาละเทศะ
 
คุณพ่อการิเอยังต้องสร้างบ้านพักภคินี และอาคารเบ็ดเตล็ด และในที่สุด วันที่ 7 มีนาคม ค.ศ. 1946 คุณพ่อการิเอ กร้อมกับซิสเตอร์คณะเซนต์ปอลเดอชาร์ตร และภราดาคณะเซนต์คาเบรียลก็อำลาวัดเซนต์ปอล และโรงเรียนวัด ซึ่งมอบให้แก่พระสงฆ์มิสซังใหม่ แล้วท่านก็ไปตั้งถิ่นฐานที่ฝั่งตรงข้าม คือ เซนต์แอนโทนี่
 
ท่านสร้างโรงเรียนเซนต์แอนโทนี่ สำหรับนักเรียนหญิง ซึ่งมอบให้แก่ซิสเตอร์เซนต์ปอลเดอชาร์ตรเป็นผู้บริหาร และได้เปิดเป็นทางการ วันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1947
 
ภายหลัง ถึงคราวของโรงเรียนเซนต์หลุยส์ สำหรับนักเรียนชาย โรงเรียนนี้ซึ่งจะมอบให้แก่ภราดาเซนต์คาเบรียล ก็ค่อยๆ สร้างต่อไป และในที่สุด ก็เปิดเป็นทางการได้ในวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1948
 
ต่อจากนี้ไป และโดยความช่วยเหลือจากสัตบุรุษ คุณพ่อการิเอ ก็สั่งระฆังต่างประเทศ และเตรียมสร้างหอระฆัง ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อต้นปี ค.ศ. 1951
 
วันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1952 ริมทางเดินจากบ้านพักพระสงฆ์ไปถึงท่าน้ำ คุณพ่อการิเอทำพิธีเปิดสถานีอนามัย  และห้องแถวเล็กๆ 4-5 ห้อง เพื่อรักษาเลี้ยงดูคนชราที่ไม่มีญาติ พี่น้อง ในขณะเดียวกัน ก็เปิดโรงเลี้ยงเด็กกำพร้าหญิง ซึ่งขอให้ซิสเตอร์เซนต์ปอลฯ เป็นผู้ดูแล
 
ปี ค.ศ. 1952 หลังจากได้ซื้อที่ดินแปลงหนึ่งอยู่ริมคลอง ที่ตำบลบางวัว ใกล้อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา คุณพ่อการิเอ ก็ลงมือสร้างบ้านพักหลังหนึ่งก่อน ท่านตั้งใจจะสร้างกลุ่มคริสตชนกลุ่มหนึ่ง กับให้มีโรงเรียนซึ่งจะมอบให้ซิสเตอร์เซนต์ปอลฯ เป็นผู้บริหาร
 
วันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1952 คุณพ่อการิเอ เป็นพระสงฆ์ครบรอบ 50 ปีพอดี การฉลองสุวรรณสมโภช ภายนอก ตกลงทำในวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 1952 อันเป็นวันฉลองนักบุญเฮนรี ศาสนนามของท่าน ในโอกาสนั้น ท่านเล่าว่า เมื่อ ค.ศ. 1903 พระสังฆราช    แปร์รอส เรียกท่านมาจากอยุธยาด่วน เพราะท่านสุขภาพไม่ดี นายแพทย์ของโรงพยาบาลบอกว่า คุณพ่อองค์นี้น่ากลัวอายุสั้น อยู่ไม่ถึงสิ้นปี สั่งให้พักงานทั้งสิ้น และให้อยู่รักษาตัวที่อัสสัมชัญ “พระเป็นเจ้าได้ทรงมีพระทัยกรุณามากกว่าคุณหมอเป็นอย่างยิ่ง”
 
คุณพ่อการิเอ กำลังจะชรามากแล้ว รับภาระการปกครองวัดแปดริ้ว, วัดเซนต์ร็อคและกำลังสร้างกลุ่มคริสตชนที่บางวัว ท่านจึงต้องการ พ่อปลัดผู้ช่วย ปี ค.ศ. 1951 พระสังฆราชโชแรง ส่งคุณพ่อ เคียมสูน ไปเป็นพ่อปลัด ปี ค.ศ. 1953 คุณพ่อบีญอลล์ (คณะเบธาราม) ไปแทนคุณพ่อเคียมสูน ปี ค.ศ. 1954 คุณพ่อชัชวาลย์ แสงแก้ว ซึ่งเพิ่งกลับจากกรุงโรม ได้รับแต่งตั้งเป็นพ่อปลัดถาวรที่แปดริ้ว แต่พอถึง ค.ศ. 1959 คุณพ่อชัชวาลย์    ก็รับแต่งตั้งเป็นปลัดที่วัดสามเสนแทนคุณพ่อลังฟังต์ ซึ่งไปเป็นปลัดของคุณพ่อการิเอ   ที่แปดริ้ว
 
เดือนธันวาคม ค.ศ. 1960 คุณพ่อการิเอลาออกจากหน้าที่เป็นเจ้าอาวาส และมอบอำนาจปกครองทุกอย่างเกี่ยวกับวัดแปดริ้ว, เซนต์ร็อค และบางวัว ให้แก่คุณพ่อปลัด คือ    คุณพ่อลังฟังต์ ซึ่งพระสังฆราชโชแรง แต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสแทน
 
คุณพ่อญัง อังรี การิเอ มรณภาพวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1961 โดยได้รับศีลศักดิ์สิทธิ์ทุกอย่างและคำเตือนใจสุดท้ายจากคุณพ่อลังฟังต์ ที่แปดริ้ว.  
 
ทำพิธีปลงศพและฝังวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1961 ที่วัดเซนต์แอนโทนี แปดริ้ว ฉะเชิงเทรา