คุณพ่อ เอมิล ออกัสต์ กลอมเบต์

 

 

คุณพ่อเอมิล ออกัสต์  กอลมเบต์

Émile COLOMBET  

 
คุณพ่อ เอมิล ออกัสต์ กอลมเบต์  เกิดวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 1849 ที่วัดอัสสัมชัญ ณ เมืองกัป แขวงโฮ๊ตส์ อัสป์ส  จากครอบครัวสูงศักดิ์ครอบครัวหนึ่ง ซึ่งถ่ายทอดจิตตารมณ์แห่งความเชื่อและการซื่อตรงต่อหน้าที่ สืบต่อกันมาจนชั่วลูกชั่วหลาน ท่านจะเป็นมิชชันนารีคณะมิสซังต่างประเทศในอนาคต เนื่องด้วยสุขภาพของท่านไม่ค่อยแข็งแรง จึงทำให้มารดาผู้ศรัทธาต้องเป็นห่วงเป็นใยมากตั้งแต่ตอนที่ท่านเล็กๆ นางพาท่านไปหา คุณพ่อยวง เวียอันเนย์ เจ้าอาวาสแห่งอาร์ส นางกลับมาจากการแสวงบุญครั้งนี้โดยรู้สึกบรรเทาใจมาก : ด้วยว่าท่านนักบุญองค์นี้ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าบุตรสุดที่รักของนางจะมีอายุยืนนานถึง 80 ปี
 
หลังจากที่ได้เรียนหนังสือจบจากบ้านเณรเล็กแล้ว ท่านก็เข้าบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศในวันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ. 1867 แต่ในปี ค.ศ. 1870 มีสงครามเกิดขึ้น บ้านเณรจึงถูกปิด และการที่ท่านได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้าเกณฑ์ไปทำสงคราม ก็เพราะท่านได้ศีลรองอนุสงฆ์แล้ว ท่านกลับมาที่กรุงปารีสอีก เมื่อตอนบ้านเณรเปิดใหม่อีกครั้งหนึ่ง ท่านรับศีลบวชเป็นพระสงฆ์วันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 1871 และออกเดินทางมามิสซังสยามวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1872
 
คุณพ่อกอลมเบต์มาถึงกรุงเทพฯ วันที่ 5 เมษายน ค.ศ. 1872 หลังจากไปอยู่ที่บ้านเณรบางช้างได้ 2 ปี ท่านก็กลับมาอยู่กรุงเทพฯ  ก่อนไปอาสนวิหารอัสสัมชัญกรุงเทพฯ ท่านได้รับเป็นปลัดวัดกาลหว่าร์  เมื่อมกราคม - พฤศจิกายน ค.ศ.1875
 
ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสอาสนวิหาร ในปี ค.ศ.1875 แล้วท่านก็ดำรงตำแหน่งนี้ต่อไปจนถึงวันมรณภาพของท่าน เมื่อตอนที่มิชชันนารีหนุ่มผู้นี้เป็นเจ้าอาวาสวัดอัสสัมชัญนั้น วัดที่เราเรียกว่า อาสนวิหารนี้ยังเป็นเพียงแค่อาคารธรรมดา สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1809 ตามแบบวัดไทยในสยาม พวกคริสตังยากจน และมีจำนวนน้อย ประมาณเกือบ 300 คน
 
ดังนั้น สถานการณ์จึงดูเหมือนว่ามืดมนมาก และงานแพร่ธรรมซึ่งค่อนข้างจำกัดของวัดเล็กๆ นี้ จึงไม่พอเพียงที่จะให้ท่านมีกิจการจนล้นมือ นอกนั้น คุณพ่อยังเข้าใจทันทีว่า ในการที่จะฟื้นฟูและพัฒนาวัดนี้อย่างจริงจัง ต้องดำเนินงานให้การศึกษาอบรมเด็กๆ ด้วยจิตตารมณ์คริสตัง คุณพ่อคาดหวังว่า โรงเรียนจะช่วยทำให้งานนี้ประสบผลสำเร็จ
 
ที่วัดนี้ยังไม่มีโรงเรียนประจำวัด คุณพ่อกอลมเบต์จะสร้างโรงเรียนหนึ่งขึ้น ท่านคงจะคิดไว้แล้วว่า จะให้พวกเด็กกำพร้าทุกคน พวกลูกๆ ของชาวยุโรป ซึ่งอยู่ในที่อันตรายอย่างใหญ่หลวงทั้งทางด้านวิญญาณและร่างกาย ภายในตัวเมืองนี้ ได้รับประโยชน์จากโรงเรียนดังกล่าวนี้ด้วย ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม อาคารเดิมต่างๆ ของบ้านเณร ซึ่งพวกนักเรียนเพิ่งถูกส่งไปอยู่ที่บางช้าง ไม่มีใครใช้ คุณพ่อกอลมเบต์จึงขอพระสังฆราชเวย์ และใช้เป็นโรงเรียนประจำวัดของท่านในปี ค.ศ. 1877
 
ตอนช่วงแรกๆ ได้รับการบรรเทาใจไม่เท่าไร และถ้าเป็นคนอื่นที่มิใช่คุณพ่อกอลมเบต์แล้ว ก็คงจะล้มเลิกการดำเนินงาน ซึ่งบางคนเห็นว่ายังไม่ควรแก่เวลา แทนที่จะถอยหลัง ในปี ค.ศ. 1879 คุณพ่อเพิ่มแผนกภาษาอังกฤษเข้ามาควบคู่กับแผนกภาษาฝรั่งเศส ในระยะนี้ คุณพ่อได้จัดแผนกการศึกษาที่สมบูณร์แบบขึ้น และประกาศในปี ค.ศ. 1885 เปลี่ยนโรงเรียนประจำวัดนี้เป็น วิทยาลัย เปิดรับเด็กๆ ทุกคนในกรุงเทพฯ วันเปิดเรียนมีนักเรียนมา 33 คน : จำนวนน้อยจริงนะ ทั้งคุณพ่อกังตอง ซึ่งเป็นมือขวาของคุณพ่อกอลมเบต์ จนถึงวันตาย และนายโดโนเเวน เป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ ซึ่งคุณพ่อจ้างมาเป็นพิเศษจากกรุงลอนดอน รู้สึกงงงวยนิดหน่อยที่มีนักเรียนน้อยเช่นนี้ ส่วนคุณพ่อกอลมเบต์ไม่ตกใจอะไร ท่านรอเวลาที่พระญาณสอดส่องจะอำนวย และท่านก็ทำถูก เพราะเมื่อสิ้นปีแรก  มีนักเรียน 80 คน และปีต่อมา ท่านรับนักเรียนได้ 130 คน แบ่งเป็นแผนกภาษาอังกฤษ 6 ชั้น และภาษาฝรั่งเศส 3 ชั้น
 
การที่มีนักเรียนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นนี้เป็นเหตุให้คุณพ่อกอลมเบต์ต้องเป็นห่วงหนักใจ เพราะจำเป็นต้องคิดถึงการก่อสร้าง พระสังฆราชเวย์ให้การสนับสนุนเต็มที่ แต่ว่ามิสซังไม่มีเงินจะช่วย เอาละมิชชันนารีผู้กล้าแข็งของเราจะต้องออกขอรับบริจาค วันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1887 คุณพ่อเสนอแผนผังของวิทยาลัยในอนาคตของท่านต่อสมเด็จกรม    พระยาเทวะวงศ์วโรปการ เห็นชอบด้วยทั้งหมดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจุฬาลงกรณ์ทรงบริจาค 4,000 ฟรังค์ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงบริจาค 2,000 ฟรังค์ บรรดาเจ้านายและข้าราชการชั้นสูงพลอยบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลครั้งนี้ด้วย หนังสือพิมพ์บางกอกไทมส์ ก็ช่วยโฆษณาเชิญชวนสละทรัพย์ในหมู่ชาวยุโรป โดยเขียนเรื่องน่าสรรเสริญมาที่สุดเกี่ยวกับงานของคุณพ่อกอลมเบต์ ท่านคงจะสามารถสร้างวิทยาลัยของท่านได้ สยามมงกุฎราชกุมาร เจ้าฟ้าวชิรุณหิศ เป็นผู้มาวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1887 และตอนต้นปี ค.ศ. 1889 วิทยาลัยแห่งใหม่ เปิดทำการสอน จริงอยู่  ในปี ค.ศ. 1891 ยังมีนักเรียนเพียงแค่ 400 คน แต่บรรดาเจ้านาย ข้าราชการ และชนชั้นนำของสังคมในนครหลวงก็ส่งลูกๆ มาเรียน
 
คุณพ่อกอลมเบต์ ผู้ซึ่งมีความเสียสละอย่างไม่มีขีดจำกัด ตัดสินใจที่จะเชิญนักบวชสอนเรียนคณะหนึ่งมาช่วยงานท่านไปฝรั่งเศส เจรจากับภราดาคณะเซนต์คาเบรียล  ซึ่งยอมรับข้อเสนอของท่าน และส่งอาจารย์มาช่วยงาน ปี ค.ศ. 1900 วิทยาลัยมีนักเรียน 1,000 คน  ปี ค.ศ. 1920 มีนักเรียน 1,800 คน และ ปี ค.ศ. 1933 มีมากกว่า 2,000 คน ในทุกกรมกองข้าราชการ และในทุกวงการธุรกิจ เราจะพบคนทั้งหลายในสยาม ที่เคยมาเรียนในโรงเรียนอัสสัมชัญ และภูมิใจที่ได้มาเรียนที่นั่น
 
หลังจากที่พวกภราดามาถึงแล้ว คุณพ่อกอลมเบต์ก็ยังดูแลสมาคมศิษย์เก่าที่ท่านเพิ่งตั้งขึ้นมา และดูแลกิจกรรมต่างๆ ของอาสนวิหารซึ่งท่านได้รับมอบหมายอยู่เสมอ อย่างขยันขันแข็งขึ้นอีก วัดหลังเดิมใหญ่ไม่พอจุคนที่มาร่วมพิธีเสียแล้ว เพราะจำนวนคริสตังชาวพื้นเมืองเพิ่มขึ้น และชาวยุโรปคาทอลิกก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
 
คราวนี้ เจ้าอาวาสลงมือถือถุงทานออกไปขอรับบริจาค อาศัยความใจกว้างของคนทั่วไป  คุณพ่อจึงสามารถสร้างอาสนวิหารใหม่  ปี ค.ศ. 1906  เเละพระสังฆราชบูชือต์            
 
ผู้มาร่วมพิธีอภิเษกพระสังฆราชแปร์รอส เป็นคนเสกศิลาฤกษ์อย่างสง่าในปี ค.ศ. 1910 แปดปีให้หลัง อาสนวิหารก็สร้างเสร็จ และเปิดให้ทำการประกอบพิธีทางศาสนาในปี ค.ศ. 1918
 
ทำอย่างไร มิชชันนารีของเราผู้นี้จึงสามารถดำเนินงานทั้งหมดจนเรียบร้อยได้ และยังสามารถฝ่าฟันอุปสรรคทุกชนิดที่ประสบระหว่างดำเนินงาน ก่อนที่โครงการต่างๆ ของท่านจะสำเร็จลุล่วงไปได้? ก็โดยได้พึ่งการสวดภาวนา และการเฝ้าศีล ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งพละกำลัง และความกล้ากาญ และความบรรเทาใจด้วยสำหรับพระสงฆ์ในช่วงที่หนักใจมากที่สุด แม้ท่านจะมีกิจกรรมมากมายและหลายประเภท ท่านก็ยังรักษาระเบียบของเณรอย่างสม่ำเสมอจนตลอดชีวิต ท่านจัดเวลาเฉพาะสำหรับทำกิจศรัทธาต่างๆ ทั้งหมดของท่าน และไม่เคยขาดการเข้าเฝ้าศีลมหาสนิทเลย
 
พวกมิชชันนารีแก่ๆ ทั้งหลายไม่เคยลืมการออกทัศนาจร การออกเที่ยวหาความสนุกร่าเริงต่างๆ ซึ่งบางครั้งบางคราว พวกมิชชันนารีที่กรุงเทพฯ ออกไปด้วยกัน เมื่อพวกท่านสามารถหยุดพักได้ 2-3 วัน
 
เพื่อใช้ในการเดินทางทั้งหลายนี้ คุณพ่อมารแต็ง เจ้าอาวาสวัดคอนเซ็ปชัญ ได้ซื้อเรือเก่าลำหนึ่ง ซึ่งท่านตั้งชื่ออันไพเราะว่า “ไปเถิด นายท่าน” เราไม่เคยเบื่อเลยขณะที่อยู่ในเรือลำนี้ เพราะว่า คุณพ่อมารแต็งทำให้ทุกคนตอบรับบทขับและบทเพลงต่างๆ ด้วยเสียงอันไพเราะของท่าน ส่วนคุณพ่อกอลมเบต์ก็ใช้แตรชักลิ้นเก่าๆ ของท่าน ประสานไปกับเสียงเพลงตามจังหวะ เราหาเสบียงอาหารกินตามทาง และเราก็ทำการปิกนิคกันในที่ที่ร่มเย็นดี
 
บ่อยๆ ครั้ง เป้าหมายของการทัศนาจร คือ วัดหนึ่งในชนบท เมื่อเรือไปถึงวัดที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ก็มีเสียงระฆัง เสียงกลอง เสียงฆ้อง ดังขึ้นมา แล้วพวกมิชชันนารีประจำวัดนั้นก็วิ่งออกมาต้อนรับด้วยความยินดี เวลานั้น พวกมิชชันนารีจากกรุงเทพฯ ก็บอกข่าวต่างๆ เกี่ยวกับมิสซัง และประเทศฝรั่งเศสให้ทราบ และบ่อยครั้งทีเดียว คุณพ่อกอลมเบต์ ก็ยังทำให้พวกมิชชันนารีในชนบทชื่นใจ ด้วยการนำของขวัญต่างๆ ไปฝาก
 
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1926 คุณพ่อกอลมเบต์ซึ่งพักผ่อนเพราะอาพาธ ได้เลือกไปพักที่โรงพยาบาลของมิสซัง ในปี ค.ศ.1933 สองสามวันก่อนฉลองแม่พระเสด็จขึ้นสวรรค์   คุณพ่อได้แสดงความปราถนาที่จะไปร่วมพิธีแห่  ซึ่งทำกันทุกปีรอบอาสนวิหารที่รักของท่านในโอกาสฉลองนี้ แต่ก็ต้องล้มเลิก เพราะไข้ขึ้นสูง
 
ตั้งแต่นั้นมา กำลังของท่าน ก็มีแต่ลดถอยลง และวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1933 มิชชันนารีของเรา ก็ค่อยๆ สิ้นใจ โดยมีคุณพ่อแฟร์เลย์ และภคินีต่างๆ ของโรงพยาบาลคอยเฝ้าดูอยู่ วันก่อนคุณพ่อรับศีลมหาสนิท และพระสังฆราชแปร์รอสมาเยี่ยมท่าน และท่านยังได้ร่วมสวดเร้าวิงวอน ตามที่พระสังฆราชเสนอให้ท่านสวด
 
ทันทีที่ท่านสิ่นใจ ศพของท่านก็ถูกเอามาตั้งไว้ที่ห้องโถงของสำนักพระสังฆราช ที่นั่น พวกคริสตังหลั่งไหลกันมาสวดให้เจ้าอาวาสของพวกเขา และคนต่างศาสนาจำนวนมากยังมาคารวะศพคนที่พวกเขานับถือเป็นครั้งสุดท้าย
 
พิธีมิสซาปลงศพจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม ค.ศ.1933 : มีคนอย่างน้อย 2,000 คน รีบเร่งกันมาในอาสนวิหาร พระสังฆราชแปร์รอสขับมิสซา เรกวีแอม และสวดส่งศพ แล้วศพก็ถูกแห่ไปรอบอาสนวิหาร และสนามโรงเรียนอัสสัมชัญ : เป็นการแห่ที่ใหญ่โตมโหฬารและน่าศรัทธายิ่ง อาจพูดได้ว่าเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของมิชชันนารีสุภาพผู้นี้ คณะทูตมาร่วมพิธี เช่นเดียวกับหัวหน้ารัฐบาลไทย พระยาพหลฯ และข้าราชการชั้นสูงจำนวนมาก เมื่อเอาศพลงไว้ในอุโมงค์เเล้ว ผู้มาร่วมพิธีทุกคนก็เดินผ่านเคารพหลุมศพไป   ศพของท่านตั้งอยู่เคียงข้างศพของพระสังฆราชเวย์ และคุณพ่อโฟ้ก เพื่อนร่วมเมืองของท่าน ตอนนี้และเสมอไป คุณพ่อกอลมเบต์นับเป็นมิชชันนารีผู้ยิ่งใหญ่.