-
Category: ประวัติพระสงฆ์คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (มรณะ)
-
Published on Thursday, 07 April 2016 08:55
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 1448
คุณพ่อ ก๊าซต็อง ดาวิด
Gaston DAVID
คุณพ่อ ก๊าซต็อง ดาวิด เกิดวันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ. 1876 ที่มาสซัก โบแวส์ซูมัตธา แขวงชารังต์มารีติม ท่านเข้าบ้านเณรคณะมิสซังต่งประเทศ วันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 1899 โดยเป็นอนุสงฆ์มาแล้ว ท่านรับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ วันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1900 และออกเดินทางมามิสซังสยาม วันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1901
คณพ่อดาวิด เริ่มชีวิตแพร่ธรรมด้วยการเป็นปลัดของคุณพ่อดอนต์ ที่วัดแซงต์ฟรังซิสซาเวียร์ สามเสน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1901 ถึง ค.ศ. 1904 โดยได้รับหน้าที่พิเศษให้ดูแลพวกคริสตังที่เกาะใหญ่
ในปี ค.ศ. 1904 ท่านได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าอาวาสวัดพระคริสตประจักษ์ ที่เกาะใหญ่และประจำอยู่ที่นั่น จนกระทั่งเกิดสงครามในปี ค.ศ. 1914 ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1906 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดอยุธยาเพิ่มอีก เนื่องด้วยการจากไปของคุณพ่อแบส์แรสต์ คุณพ่อดาวิดไปที่นั่น และได้มีคุณพ่อกาลังซ์ ช่วย : ทั้งสองสับเปลี่ยนกันไปที่นั่นอย่างสม่ำเสมอ คุณพ่อรับผิดชอบดูแลอยู่จนกระทั่งกลางปี ค.ศ. 1907 คุณพ่อแบลล์ ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดอยุธยา
กลางปี ค.ศ. 1907 คุณพ่อมิแชลโทว พระสงฆ์พื้นเมืองผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นทั้งเจ้าอาวาสวัดเจ้าเจ็ด และดูแลพวกคริสตังที่บ้านปลายนาด้วย เกิดล้มป่วยลงและต้องจากที่นั่นไปก่อนจะดำเนินงานสร้างวัดบ้านปลายนาให้แล้วเสร็จ พระสังฆราชเวย์ รายงานไว้ว่าสร้างเสร็จแล้ว ก่อนที่มันจะเสร็จจริง
ดังนั้น คุณพ่อดาวิดจึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดเจ้าเจ็ดและวัดบ้านปลายนา ในขณะที่ยังคงเป็นเจ้าอาวาสวัดเกาะใหญ่ ท่านอยู่ในสภาพเช่นนี้จนถึงสิ้นปี ค.ศ. 1910
ปี ค.ศ. 1909 คุณพ่อดาวิดจัดการสร้างวัดแรกขึ้นที่บ้านปลายนา ชื่อวัดนักบุญยวง บัปติสตาถูกตัดศีรษะ ที่ทำสำเร็จลงได้เช่นนี้เป็นเพราะพวกคริสตังประมงชาวญวนแข่งขันกันแสดงน้ำใจดี วันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1909 ท่านชื่นชมยินดีที่ได้ทำพิธีเสกวัดใหม่ที่บ้านปลายนานี้ และยังคงดูแลวัดนี้อยู่เสมอมา
ปี ค.ศ. 1910 พระสังฆราชแปร์รอสแต่งตั้งคุณพ่อบรัวซาต์ เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านปลายนา ซึ่งกลายเป็นวัดหลัก และวัดเจ้าเจ็ด ดังนั้น คุณพ่อดาวิดจึงหมดหน้าที่ไป แต่ยังเหลือเพียงวัดเกาะใหญ่เท่านั้นให้ท่านดูแลปกครอง
ปี ค.ศ. 1914 เมื่อเกิดสงคราม ท่านถูกเรียกตัวเข้าเกณฑ์ แต่ท่านไม่เคยออกรบ “แนวหน้า” เลย ท่านอยู่ทำการรักษาพยาบาลคนป่วยและคนบาดเจ็บทั้งหลายอย่างสงบสุข ทั้งที่เมืองบอรโดซ์ เมืองมารซาย และเป็นต้นที่เมืองตารังซ์ ประเทศอิตาลี ที่ซึ่งมีการจัดตั้งโรงพยาบาลทหารฝรั่งเศส ใกล้กับ “Marc piccolo” สำหรับพวกทหารที่เหนื่อยกลับมาจาก ซาโลนิก ที่เมืองตารังต์ และในชุดบุรุษพยาบาล กำลังสวดทำวัตรอยู่ ท่านได้พบกับคุณพ่อ ก๊าสตัล ซึ่งกำลังเดินทางกลับไปฝรั่งเศส โดยได้รับใบอนุญาต ไม่จำเป็นต้องบอกก็รู้กันว่า “สองมิชชันนารีแห่งกรุงสยาม” อยู่คุยกันสองสามชั่วโมง แม้จะสั้น แต่ก็ทำให้ชื่นชมอภิรมย์ยินดี
ทันทีที่พ้นจากเกณฑ์สงคราม คุณพ่อดาวิดก็กลับมาสยามในปี ค.ศ. 1919 พระสังฆราชแต่งตั้งท่านเป็นอาจารย์ประจำบ้านเณรเล็ก ที่บางนกแขวก ตั้งแต่วันแรกท่านอุตส่าห์ทำงานตามหน้าที่อาจารย์เสมอมา แต่ก็ไม่สามารถทำงานให้สมกับตำแหน่ง เพราะยังรู้ภาษาไทยไม่เพียงพอ แต่อย่างน้อย ท่านไม่ยอมพลาดโอกาสเลยที่จะอบรมดวงวิญญาณทั้งหลายให้เจริญตามแบบอย่างของพระองค์ผู้ซึ่งท่านทำงานแพร่ธรรมรับใช้อยู่
คุณพ่อเป็นอาจารย์อยู่ 16 ปี ทั้งที่บางนกแขวก และศรีราชา ในปี ค.ศ. 1935 พระสังฆราชแต่งตั้งท่านเป็นจิตตาธิการ ประจำอารามภคินีชาวญวนที่จันทบุรี ที่นั่น ท่านทุ่มเทให้กับงานอบรมจิตใจแด่คณะภคินี
ประมาณกลางปี ค.ศ.1940 พลังแรงของท่านจิตตาธิการ ผู้ซึ่งใฝ่ฝันอยู่เสมอว่า จะไม่ยอมละเลยต่อหน้าที่ต่างๆ ของท่าน เกิดทรยศไม่ยอมทำตามความกล้าหาญของท่าน หัวใจและไตของท่านทำงานไม่ดีเสียแล้ว สองครั้งแล้วที่ท่านไปพักรักษาตัวระยะสั้นที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ที่นั่น นายแพทย์รู้ถึงสภาพท่านเป็นอย่างดี จึงให้กำลังใจท่านในการอดทนต่อความทุกข์ยากของชีวิตที่เสื่อมโทรม จนยาและการดูแลเอาใจใส่ใดๆ ก็ไม่เกิดผลเสียแล้ว
ไม่จำเป็นต้องเสริมว่า ทุกข์ทรมานด้านจิตใจทำให้ช่วงเดือนหลังๆ ของผู้ป่วยและผู้เสียสละยอมทำตามน้ำพระทัยพระเป็นเจ้ามืดมนไป การออกไปจากกรุงสยามของท่าน เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1941 พร้อมด้วยมิชชันนารีอื่นๆ อีก 12 องค์ ทำให้ท่านได้รับการกระทบกระเทือนปางตายอย่างแน่นอน ความรู้สึกโศกเศร้าเข้าครอบงำท่าน และท่านร้องบ่นว่าหมดที่พึ่งพักพิงแล้ว ท่านคงมีความรู้สึกว่า จะไม่ได้เห็นแผ่นดินที่ท่านใฝ่ฝันทำงานแพร่ธรรมต่อไปแล้วกระนั้นหรือ? คงแน่นอนอย่างนั้น
คุณพ่อดาวิด ถึงแก่มรณภาพลง วันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1941 ที่นครไซง่อน นอกมิสซังของท่าน มีอายุได้ 65 ปี ใช้ชีวิตมิชชันนารีแพร่ธรรมได้ 40 ปี หลังจากได้ทำงานด้วยความสุภาพ และรู้จักกาละเทศะ ในการแพร่พระวรสารในดินแดนที่ค่อนข้างจะยุ่งยากลำบาก ศพของท่านฝังอยู่ในสุสานเล็กๆ ของพระสงฆ์แห่ง อาดรัง ที่นั่น คำจารึกบนศิลาหลุมศพของท่านจะดำรงอยู่ต่อไปในอนาคต เพื่อยืนยันถึงสมัยอันยุ่งยากชั่วคราวนี้ ซึ่งมิสซังสยามได้ลิ้มรสในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง.