คุณพ่อ เอเตียน บาร์เทโลมี แดส์ซาลส์

 
 
 คุณพ่อ เอเตียน บาร์เทโลมี แดส์ซาลส์
 
Étienne DESSALLES
 
คุณพ่อ เอเตียน บาร์เทโลมี แดส์ซาลส์  เกิดในครอบครัวคริสตังที่ศรัทธามาก วันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 1848 ที่ตำบลอัมเปลอปุย เมืองลีออง แขวงโรน คุณพ่อเริ่มเรียนเตรียมตัวเป็นพระสงฆ์ ภายใต้การดูแลเอาใจใส่ของปลัดผู้หนึ่ง ชื่อ คุณพ่อโฟแบรต์ คุณพ่อเข้าบ้านเณรเล็กที่แซงต์โจดารด์ และก็เข้าบ้านเณรใหญ่ที่อารยังจิแอร์ แล้วก็พร้อมที่จะออกเดินทางไปยังมิสซังเมื่อเกิดสงคราม
 
เมื่อสงครามสงบลง คุณพ่อก็เข้าบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศ วันที่ 5 กรกฎาคม ค.ศ. 1874  คุณพ่อลงเรือที่เมืองมาร์แซย เพื่อเดินทางมามิสซังสยาม มาถึงกรุงเทพฯ วันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1874   คุณพ่อประสบปัญหาในการเรียนภาษาไทยอยู่ที่สำนักมิสซัง หูของ คุณพ่อไม่ค่อยได้เป็นหูนักดนตรี คุณพ่อจึงต้องฟังคำอธิบายเกี่ยวกับเสียงต่างๆ ในภาษาไทยเสียยึดยาว และการออกเสียงของคุณพ่อก็ไม่ค่อยจะถูก ทั้งๆ ที่พยายามแล้วก็ตาม แต่อนิจจา  ไร้ผลในการที่ออกเสียงได้อย่างถูกต้องทั้งหมด จนทำให้เป็นที่ท้อแท้ใจของอาจารย์ผู้สอน คือ คุณพ่อมาแร็ง  ซึ่งรู้สึกว่านักเรียนของท่านคงไม่สามารถเรียนได้ แต่พอมิชชันนารีผู้นี้อยู่คนเดียว ก็ได้พูดคุยกับพวกคริสตัง ทำให้พูดภาษาไทยได้ดีเหมือนกับเป็นภาษาต้นกำเนิดของตนเอง โดยมีการใช้สำนวนต่างๆ กันไป แม้ไม่ถูกหลักภาษาเท่าไรนัก แต่อย่างน้อยก็แปลกๆ ดีขึ้น จนทำให้การสนทนาของท่านทั้งน่ารักน่าเอ็นดูมาก
 
ประมาณปลายปี ค.ศ. 1875 คุณพ่อได้รับมอบหมายให้ไปเป็นปลัดผู้ช่วยของคุณพ่อแกนตริก ที่จันทบุรี เพื่อดูแลชาวจีนที่มาตั้งรกรากอยู่ในกลุ่มคริสตังชาวญวน  ที่นี่เองเป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินงานแพร่ธรรมอย่างเต็มที่  ที่นี่อีกเช่นกันที่คุณพ่อคิดวางแผนการดำเนินงานตลอดชีวิต และก็ลงมือปฏิบัติตามแผน แผนงานดังกล่าวนี้ เรามารู้อย่างโจ่งแจ้งจากคำปรารภซึ่งพระสังฆราชเวย์ กล่าวยกย่องคุณพ่อใน 30 ปีต่อมา ว่าดังนี้ : “ให้ในวัดหนึ่งมีพวกคริสตังเฉลียวฉลาดและขยันขันแข็งจนสามารถดำรงชีพมีสุขอย่างสุจริต ส่งเสริมให้พวกเขามีความเชื่อร้อนรน โดยอาศัยพวกเขา อิทธิพลทางสังคม และแบบอย่างดีของพวกเขา จะช่วยดึงดูดวิญญาณคนต่างศาสนาให้มาเข้าศาสนาคาทอลิก และยังจะช่วยพวกที่มีความเชื่อยังอ่อนแออยู่ได้แข็งแกร่งมั่นคงยิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้ คือ แผนงานที่คุณพ่อแดส์ซาลส์ดำเนินการอยู่เสมอ มันเป็นเป้าหมายชีวิตการแพร่ธรรมของคุณพ่อ แล้วคุณพ่อก็ทำได้สำเร็จครบบริบูรณ์.”
 
ที่จันทบุรี การดำเนินงานที่เร่าร้อนของคุณพ่อแดส์ซาลส์และพรสวรรค์พิเศษในการชี้นำชักชวนให้คล้อยตามของท่าน ประสบผลดีในการปลุกพวกคริสตังให้ตื่นตัวจากความเย็นเฉยเฉื่อยชา คุณพ่อเทศน์เรื่องความศักดิ์สิทธิ์ในการประกอบงานให้พวกเขาฟัง และช่วยให้คำแนะนำต่างๆ แก่พวกเกษตรกร พวกพ่อค้า พวกช่างตีเหล็ก และพวกช่างเงินช่างทอง ท่านนำเอาเครื่องทอผ้าสองเครื่องมาจากบ้านเกิดเมืองนอนที่อัมเปลอปุย จัดหาเครื่องมือทันสมัยให้ทุกคน แนะให้รู้จักหาตลาดที่จะขายผลผลิตต่างๆ ของพวกเขา ส่วนพวกเกียจคร้านที่บึกบึน คุณพ่อก็นำพวกเขาไประดมตัด  กอไผ่ที่ขึ้นอยู่เกะกะรอบๆ บริเวณวัด แล้วให้ทำการตัดถนนหนทางบ้าง ก่อสร้างสะพานบ้าง ในช่วงที่ว่างจากงานพวกนี้ คุณพ่อก็หันมาเรียนภาษาจีนและช่วยคุณพ่อแกนตริกในการจัดตั้งกลุ่มคริสตังที่ วันยาว ซึ่งตั้งอยู่ห่างไปประมาณ 30 กิโลเมตร  ทางตะวันออกของเมืองจันทบุรี
 
คุณพ่อแดส์ซาลส์ อยู่ที่จันทบุรีเพียงแค่เกือบสามปีเท่านั้น ปี ค.ศ.1878  คุณพ่อถูกเรียกตัวกลับไปที่กรุงเทพฯ ทำหน้าที่เหรัญญิก เป็นที่ชื่นชอบของทุกคนอยู่ 2-3 เดือน ก็ได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดแม่พระลูกประคำกาลหว่าร์ (วัดของชาวจีน)
 
เมื่อคุณพ่อเข้ามาประจำอยู่ที่วัดนี้  สภาพของวัดก็ราบเรียบธรรมดา เวลานี้เพียบพร้อมด้วยกิจกรรมสงเคราะห์ โรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า  โรงพยาบาล  อุปกรณ์เครื่องมือเผยแพร่ศาสนา  ครูคำสอน สตรีผู้ช่วยทำพิธีล้างบาปเด็กใกล้จะตาย วัดสาขาต่างๆ สิ่งจัดสร้างเมื่อเร็วๆ นี้ วัดใหม่สร้างแบบโกติก ซึ่งคงไม่มีใครคัดค้านว่าเป็นอนุสาวรีย์ที่สวยงามที่สุดในกรุงเทพฯ จึงทำให้วัดกาลหว่าร์ไม่มีอะไรด้อยกว่าบรรดาวัดที่สวยงามที่สุดและศรัทธาร้อนรนที่สุดในประเทศฝรั่งเศส
 
การแสดงความรักต่อดวงวิญญาณทั้งหลาย มีผลสะท้อนทางด้านจิตใจออกมาให้เห็นตลอดชีวิตของคุณพ่อ ความเคร่งครัดที่ดูเหมือนว่าตรงกันข้ามกับการใจดี และการผ่อนผัน ซึ่งเปี่ยมล้นอยู่ในใจของคุณพ่อ ปรากฏออกมาให้เห็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกิจการแพร่ธรรมโดยตรงที่คุณพ่อทำกับพวกวิญญาณทั้งหลายที่หลงผิด การทำตรงไปตรงมาอันเยือกเย็นสุขุมของคุณพ่อ เริ่มด้วยการเปิดบาดแผลแห่งการหลงผิดให้เห็นตามลักษณะต่างๆ ที่นักบุญเปาโลแสดงกับพวกชาวเมืองเคล็ต โดยมิได้ดัดแปลงอะไร คุณพ่อบรรยายให้คนป่วยหลงผิดเห็นสาเหตุและผลสะท้อนของสภาพของเขา  น้ำเสียงของคุณพ่อเวลานั้น เริ่มเข้มงวด และเด็ดขาด เหมือนกับคมมีดของหมอที่กรีดลงไป และแล้วทันทีทันใด น้ำเสียงนั้นค่อยๆ เปลี่ยนมาเป็นอ่อนโยน ซาบซึ้ง เมตตาเยี่ยงบิดา จนถึงแม้กระทั่งทำให้สนุกร่าเริง  จึงทำให้ผู้ฟังเกิดการรู้สำนึกตั้งใจทำดีในจิตใจของพวกเขา
 
เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1903  คุณพ่อแดส์ซาลส์กลับไปรักษาตัวที่ฝรั่งเศส และกลับมาที่วัดกาลหว่าร์ ในปี ค.ศ. 1906 แต่ปี ค.ศ. 1907  ก็ต้องกลับไปรักษาตัวที่ฝรั่งเศสอีก
 
ความศรัทธาและจิตใจเหนือธรรมชาติของคุณพ่อแสดงออกมาให้เห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อัมเปลอปุย ในช่วงบั้นปลายชีวิตของท่าน “เมื่อเกิดปัญหาทุกข์ทรมานอย่างทารุณโหดร้ายในห้วงลึกของวิญญาณและร่างกายของท่าน พระเป็นเจ้าผู้เดียวเท่านั้นที่รู้ว่าท่านทนทุกข์ทรมานเพียงใด เมื่อคุณพ่อต้องกลับไปฝรั่งเศสเพื่อบำรุงรักษาสุขภาพให้แข็งแรงขึ้น และเพื่อผลประโยชน์ต่องานมิสซังของท่านด้วย ตั้งแต่นั้นมาจนถึงวาระสุดท้าย ท่านรู้สึกโรคภัยไข้เจ็บบังคับมิได้ท่านกลับมาเห็นกรุงสยามที่รักของท่าน และบรรดาสัตบุรุษที่คุณพ่อรักมาก คุณพ่อพูดถึงไม่หยุดหย่อนว่ามันช่างทุกข์ทรมานเสียนี่กระไร และดูเหมือนกับว่าท่านต้องการความช่วยเหลือจากเบื้องบนเพื่อสามารถแบกกางเขนของท่านต่อไปได้ ในขณะเดียวกัน ท่านก็มุ่งมองไปสู่สวรรค์ด้วยใจร้อนรนเป็นอย่างยิ่ง ท่านสวดลูกประคำตลอดทั้งวันด้วยใจใจสุภาพราบเรียบน่าจับใจยิ่ง คุณพ่อมองเห็นอยู่รำไรว่า กำลังจะได้ไปสู่สภาพนิรันดรด้วยใจสงบสุขเป็นอย่างยิ่ง”
 
วันอังคารที่ 22 มิถุนายน ค.ศ.1915 มิชชันนารีของเราผู้นี้ยังรับประทานอาหารได้เหมือนเคยและก่อนเข้านอน คุณพ่อก็เตรียมเหมือนกับทุกๆ เย็น จัดพระแท่นน้อยๆ ของคุณพ่อเอง เพื่อจะได้ทำมิสซาในวันรุ่งขึ้น เวลาประมาณ 9 โมง ขณะนอนอยู่ คุณพ่อบ่นว่ารู้สึกท้องมันหนักมาก  จึงขอให้เรียกพระสงฆ์ทันที บรรดาผู้ที่อยู่รอบข้างคุณพ่อมิได้คาดคิดว่าคุณพ่อจะอยู่ในสภาพอันตราย แต่เมื่อคุณพ่อขอหนักเข้า พวกเขาก็เรียกทั้งคุณพ่อเจ้าอาวาสที่อัมเปลอปุย และนายแพทย์มาด้วย คุณพ่อสารภาพบาปและยังต้องเน้นขออีก จึงได้รับศีลเสบียงและพระคุณการุณย์บริบูรณ์  ตัวนายแพทย์เองก็ไม่เห็นว่าจะมีอันตราย เขาคิดเพียงว่าเป็นการปวดท้องชั่วคราว แต่พอ 11 นาฬิกา  ก็ปรากฏว่าเส้นโลหิตในสมองเริ่มแตก ไม่ช้า มิชชันนารีของเราก็ไม่รู้สึกตัว คุณพ่อเข้าตรีทูตอยู่นาน และแล้วเวลา 3.45 นาฬิกาตอนเช้าของวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 1915 คุณพ่อก็ถอนหายใจเฮือกสุดท้ายอย่างนุ่มนวล.