-
Category: ประวัติพระสงฆ์คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (มรณะ)
-
Published on Thursday, 07 April 2016 08:55
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 3122
คุณพ่อ อาลอยส์ อัลฟองส์ ด็อนต์
Aloys D’HONDT
คุณพ่ออาลอยส์ อัลฟองส์ ด็อนต์ เกิดวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 1843 ที่เมืองอู๊กน์ ประเทศเบลเยี่ยม เมื่อเรียนจบมัธยมศึกษาแล้ว คุณพ่อก็เข้าบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศ ในปี ค.ศ. 1865 คุณพ่อมุ่งฝึกความศรัทธาและความมีระเบียบวินัย คุณพ่อได้ใช้ช่วงปีแห่งการฝึกอบรมด้วยความสงบเสงี่ยมสำรวมจิตใจ และศึกษาเล่าเรียน มุ่งทำงานตามหน้าที่ โดยไม่แสวงหาคำสรรเสริญเยินยอ รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์วันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1868 และได้รับมอบหมายให้มามิสซังสยาม
ห้าสัปดาห์ต่อมา คุณพ่อออกจากกรุงปารีส ไปลงเรือที่มารซาย วันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ. 1868 ถึงบางกอกวันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 1868 หลังจากผ่านการเดินทางอันเหนื่อยยาก
ถึงแม้ว่าร่างกายของคุณพ่อจะแข็งแรงล่ำสัน มิชชันนารีหนุ่มก็เป็นโรคบิดร้ายแรง พระสังฆราชดือปองด์ ประมุขมิสซังเวลานั้น ให้คุณพ่อพักอยู่กับท่านสองสามเดือนเพื่อรักษาตัว คุณพ่อรู้สึกดีขึ้นประมาณปลายปี จึงได้รับมอบหมายให้อยู่ในความดูแลของคุณพ่อดาเนียล ผู้ปกครองดูแลวัดแม่พระลูกประคำ เรียกอีกชื่อว่าวัดกาลหว่าร์ ซึ่งอยู่ห่างจากสำนักพระสังฆราชนิดหน่อย แต่แล้ว โรคบิดก็ปรากฏออกมาอีกในไม่ช้า ตามคำแนะนำของแพทย์ พระสังฆราชดือปองด์ตัดสินใจส่งพระสงฆ์หนุ่มไปอยู่จันทบุรี ที่นั่นคุณพ่อได้สูดอากาศดีจากทะเลทำให้แข็งแรงขึ้น ระหว่างรักษาตัว อยู่ที่นั่น คุณพ่อดูแลกลุ่มคริสตังชาวจีนกลุ่มเล็กๆ ซึ่งรวมกันอยู่ในกลุ่มคริสตังชาวญวนในความดูแลของคุณพ่อรังแฟ็ง
คุณพ่อด็อนต์ออกจากกรุงเทพฯ เดือนมีนาคม ค.ศ. 1869 ไปอยู่ที่จันทบุรีเกือบ 2 ปี มุ่งมั่นเรียนภาษาด้วยใจเร่าร้อน
ปี ค.ศ. 1871 คุณพ่อยิบาร์ตา ผู้ปกครองดูแลกลุ่มคริสตังชาวญวนที่สามเสน หรือวัดนักบุญ ฟรังซิสเซเวียร์ที่กรุงเทพฯ ต้องกลับไปบ้านเกิดเพื่อฟื้นฟูเสริมกำลังแรงขึ้นมาใหม่ พระสังฆราชดือปองด์เวลานั้นอยู่ที่ฝรั่งเศส ได้รับการขอคำแนะนำเรื่องผู้สืบตำแหน่งจากคุณพ่อยิบาร์ตา การคัดเลือกเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะพวกมิชชันนารีมีจำนวนน้อย ก็ได้รับมอบหมายให้ปกครองดูแลเขตวัดใหญ่พอสมควรอยู่แล้ว และชาวญวนที่สามเสน มักเป็นคนดื้อด้าน และเกกมะเหรกเกเร ต้องได้คุณพ่อที่จิตใจเยือกเย็นและมั่นคงจึงสามารถให้การอบรมพวกสัตบุรุษซึ่งคุณพ่อยิบาร์ตาอบรมไว้ก่อนต่อไปได้ ไม่มีใครคิดถึง คุณพ่อด็อนต์เลย นอกจากพระสังฆราชดือปองด์ ที่ประทับใจในตัวคุณพ่อมาก ท่านได้มีหนังสือมอบหมายให้คุณพ่อปกครองดูแลกลุ่มคริสตังที่สามเสน มีคริสตังอยู่ 3,000 คน และนับว่าเป็นกลุ่มคริสตังที่ใหญ่ที่สุดในมิสซัง แล้วก็มีวัดสวยงามที่สุดด้วย
เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ ปี ค.ศ.1871 คุณพ่อด็อนต์ก็เริ่มเรียนภาษาและอักษรญวน คุณพ่อเรียนรู้จนสามารถพูดได้เป็นอย่างดี และด้วยสายตาที่สามารถมองอะไรได้อย่างถูกต้องและลึกซึ้ง จึงทำให้คุณพ่อสามารถปกครองดูแลวัดนี้ได้อย่างรวดเร็ว แล้วคุณพ่อก็ได้ปกครองวัดนี้ไปจนถึงแก่กรรม
ปี ค.ศ. 1886 พระสังฆราชเวย์ ได้แต่งตั้งคุณพ่อเป็นรองประมุขมิสซังฯ ในตำแหน่งหน้าที่นี้ คุณพ่อได้ปกครองดูแลมิสซังระหว่างที่พระสังฆราชเวย์ไม่อยู่หลายครั้ง คือ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1886 ถึง ปี ค.ศ. 1888 และปี ค.ศ. 1896 ถึง ปี ค.ศ. 1898 และช่วงหลังสุดระหว่างที่พระสังฆราชแปร์รอส ถูกเกณฑ์ไปเข้าสงครามคือ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1914 ถึง เดือนตุลาคม ค.ศ. 1915 คุณพ่อได้ทำการปกครองดูแลอย่างสุขุมรอบคอบและด้วยแรงศรัทธา
ปี ค.ศ.1888 คุณพ่อเกิดเป็นโรคโลหิตจางอย่างร้ายแรง จนแพทย์สั่งให้กลับไปพักผ่อนรักษาตัวที่ประเทศเบลเยี่ยม คุณพ่อต้องทำตามคำสั่งช่วงแรก อากาศในบ้านเกิดไม่ค่อยเอื้ออำนวย อาการของคุณพ่อทรุดหนักจนกระทั่งต้องโปรดศีลทาสุดท้ายให้ แต่ด้วยการดูแลเอาใจใส่ของญาติผู้เสียสละยิ่งคนหนึ่ง และดังที่เขาพูดกันว่าอาศัยพระพรพิเศษของพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระเยซูเจ้าช่วย แล้วด้วยพระพรอันนี้แหละที่คุณพ่อไม่เคยอ้างถึงเลย คุณพ่อก็สามารถกลับมาที่มิสซังได้อีกในปี ค.ศ.1893 และรับหน้าที่ดูแลวัดสามเสนอีก
หลังจากกลับมาได้สองสามปี คุณพ่อก็ได้จัดตั้งกิจกรรมอันหนึ่งซึ่งมีอิทธิพลมาก และก็หวังได้ว่า จะมีอิทธิพลมากยิ่งขึ้นอีกในอนาคต ระยะแรกทีเดียว คุณพ่อก็ได้รับความสะเทือนใจที่ได้ยินพวกมิชชันนารีบ่นว่าขาดครูหญิงประจำโรงเรียน เนื่องด้วยคุณพ่ออยู่ที่วัดซึ่งครอบครัวจำนวนมากยินดีถวายพวกลูกๆ มารับใช้พระเป็นเจ้า แต่ก็ไม่สามารถสนองตอบความมีน้ำใจดีของพวกเขาได้ เพราะไม่มีอาคารคุณพ่อจึงตัดสินใจแก้ไขระเบียบวินัยของอารามเก่าคณะภคินีรักไม้กางเขน ที่เคยมีอยู่ที่สามเสนนั้น ให้อยู่บนรากฐานใหม่ ปี ค.ศ. 1897 มีอาคารสร้างขึ้นมาหลังหนึ่งและอุปกรณ์ต่างๆ พร้อม ปีเดียวกันนั้น คุณพ่อได้ขอให้พวกภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร มาช่วยอบรมพวกเณรีชาวพื้นเมือง การจัดตั้งเป็นอันสำเร็จ และก่อนถึงแก่มรณภาพ คุณพ่อด็อนต์ยังได้รับความบรรเทาใจที่ได้เห็นว่าคณะนี้จัดตั้งขึ้นอย่างแข็งแรงมั่นคง คือ มีภคินี 12 รูป ที่ได้เรียนรู้ถึงหน้าที่ต่างๆ ได้รับการฝึกฝนให้มีความศรัทธาร้อนรนและปฏิบัติงานอยู่ในวัดหลายแห่งของมิสซัง ยังมีนวกเณรีอีก 36 คนกำลังเตรียมตัวอยู่
ตั้งแต่ที่คุณพ่อกลับจากยุโรป ปี ค.ศ. 1893 คุณพ่อด็อนต์มีสุขภาพค่อนข้างดีขึ้น ในปี ค.ศ. 1912 โรคบิดหวนกลับมาอีก มีครั้งหนึ่ง เราคิดว่าชีวิตของคุณพ่ออยู่ในอันตราย ยาแรงชนิดหนึ่งทำให้คุณพ่อทุเลาไปได้ แต่โรคนี้ก็ยังทำลายสุขภาพของคุณพ่ออยู่อย่างเงียบๆ ความร้ายกาจของสงครามทำให้ประเทศชาติของคุณพ่อล่มจม และคงจะรวมถึงญาติพี่น้องของคุณพ่อด้วย เพราะ คุณพ่อไม่ได้รับข่าวคราวของพวกเขาเลย ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1914 จึงทำให้อาการของคุณพ่อทรุดหนักลง ในวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1916 คุณพ่อต้องเข้าโรงพยาบาลอีก ก่อนจะจากไป การเอาใจใส่จัดการงานต่างๆ ของคุณพ่อ แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยมิได้คาดคิดว่าจะมีสุขภาพดีขึ้น ดังนั้น เมื่อคุณพ่อพอค่อยยังชั่ว คุณพ่อก็กลับไปอยู่ที่วัดของคุณพ่อ แล้วในวันฉลองนักบุญทั้งหลายและวันระลึกถึงผู้ตาย คุณพ่อฟังแก้บาปและประกอบพิธีต่างๆ อย่างสง่า นี่เป็นงานชิ้นสุดท้ายของคุณพ่อ แล้วในไม่ช้า คุณพ่อก็ไม่สามารถทำมิสซาได้ แต่รับศีลมหาสนิททุกวัน ในวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1916 คุณพ่อรับศีลทาสุดท้ายโดยรู้ตัวดี และด้วยความศรัทธายิ่ง มีพวกคริสตังและภคินีอยู่ด้วย คุณพ่อถวายชีวิตของคุณพ่อด้วยความเสียสละเพื่อบรรดาสัตบุรุษของคุณพ่อเอง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่ออารามภคินีของคุณพ่อ อันเป็นงานที่คุณพ่อเน้นเป็นพิเศษ และแล้ววันที่ 26 พฤศจิกายน ค.ศ. 1916 คุณพ่อถวายวิญญาณคืนแด่พระเป็นเจ้า โดยมิได้เข้าตรีฑูต ทั้งมิได้กระสับกระส่าย แล้วก็ไม่มีความกลัวเลย
วันที่ 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1916 พระสังฆราชประกอบพิธีปลงศพอย่างสง่า และสวดส่งศพด้วย พวกมิชชันนารีทุกคนที่ได้ทราบข่าวทันเวลา ก็มาร่วมพิธีส่งศพผู้ที่พวกท่านเคารพนับถือเยี่ยงบิดา ศพของคุณพ่อเวลานี้ฝังอยู่ที่วัดสามเสน ที่เชิงพระแท่นพระแม่ ผู้ที่คุณพ่อไว้วางใจเป็นพิเศษ และขอคำแนะนำเมื่อประสบปัญหายุ่งยากตลอดชีวิตแพร่ธรรมอันยาวนานของท่าน.