คุณพ่อ หลุยส์ ยอแซฟ ฟลองลังแต็ง แฟฟร์

 

 

คุณพ่อ หลุยส์ ยอแซฟ ฟลอลังแต็ง แฟฟร์  

Louis FAIVRE


 
คุณพ่อหลุยส์ ยอแซฟ ฟลอลังแต็ง แฟฟร์ เกิดวันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 1875 ที่โกมบ์ลาม็อต เมืองเบอซังซอง แขวงดู๊บส์ เข้าบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศ วันที่ 13 กันยายน ค.ศ. 1895 รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ วันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1900 และออกเดินทางมามิสซังสยาม   วันที่ 14 พฤศจิกายน ค.ศ. 1900    คุณพ่อมาถึงกรุงเทพฯ   ประมาณวันฉลองพระคริสตสมภพ ปี ค.ศ. 1900
 
การเมาทะเลตลอดทางมา ทำให้คุณพ่อเหน็ดเหนื่อยมาก คุณพ่อประกาศด้วยความมั่นใจว่าจะไม่กลับไปฝรั่งเศสอีกเลย หลังจากพักผ่อนอยู่ได้สองสามวัน คุณพ่อก็ได้รับแต่งตั้งเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ มิใช่ที่นี่คุณพ่อใฝ่ฝันจะมาอยู่อย่างไม่ต้องสงสัย แต่คุณพ่อก็เก็บเงียบไม่แสดงรสนิยมของคุณพ่อ และไปอยู่ที่ที่ได้รับมอบหมายด้วยความนอบน้อมเชื่อฟัง พออยู่ได้สองสามเดือน ก็ปรากฏว่า สุขภาพของมิชชันนารีของเรามีแต่ซูบผอมลง ภายในกำแพง 4 ด้านของชั้นเรียน แล้วก็มีอาการปวดหัวตามด้วยอาการหน้ามืดวิงเวียน พระสังฆราชเวย์จึงส่งคุณพ่อไปอยู่ที่หัวไผ่กับคุณพ่อกียู ที่นั่น อย่างน้อยคุณพ่อคงจะไม่ขาดอากาศในที่โล่ง คุณพ่อเริ่มเรียนภาษาไทยที่นั่นเอง คุณพ่อเพียงแต่ผ่านที่นั่นไปเช่นเดียวกับที่แปดริ้ว แต่สุขภาพก็ยังไม่ดีขึ้นเท่าที่ต้องการ  จึงต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล แล้วก็ถูกทดลองไปอยู่ที่ใหม่ ปี ค.ศ. 1901 คุณพ่อแฟฟร์ ได้รับมอบหมายให้ไปอยู่กับคุณพ่อเปย์ริกัล ซึ่งเวลานั้นปกครองดูแลวัดจันทบุรีอยู่ คุณพ่อจะใช้ชีวิตการแพร่ธรรมอยู่ที่นั่นเองจนตลอดชีวิต
 
นอกจากสภาพห้องที่อันน่าชื่นชมอภิรมย์ยินดีแล้ว กลุ่มคริสตังที่จันทบุรียังมีทุกสิ่งทุกอย่างที่มิชชันนารีหนุ่มชื่นชอบ คุณพ่อต้องเรียนภาษาใหม่อีกภาษาหนึ่งคือ ภาษาญวน คุณพ่อมุ่งเรียนภาษานี้ด้วยความร้อนรน เรียนจากหนังสือน้อยกว่าเรียนจากการสนทนาประจำวัน และดำรงชีวิตอยู่กับชาวพื้นบ้าน ภายในเวลาน้อยกว่าหนึ่งปี คุณพ่อก็สามารถเทศน์ ฟังแก้บาป สอนคำสอนได้แล้ว หน้าที่พิเศษเฉพาะ คือ ดูแลโรงเรียนประจำวัด มีเด็กนักเรียนมากกว่า 300 คน คุณพ่อมุ่งหน้าที่ทุ่มเทจนหมดใจ ใช้วิธีทั้งอ่อนโยนและแข็งแกร่ง พวกเด็กๆ จึงทั้งกลัวและรักคุณพ่อ ควบคุมการขาดเรียน ลงโทษคนเกเร เตรียมสอนคำสอนอย่างละเอียดถี่ถ้วนอย่างนี้ไม่เรียกว่าคุณพ่อปฏิบัติหน้าที่อย่างสมบูรณ์แบบหรือ?แล้วยังมีการออกเยี่ยมเยียนคนเจ็บป่วย และแม้แต่ระหว่างการปิดภาคเรียน คุณพ่อน่าจะพักผ่อน คุณพ่อกลับออกทำงานแพร่ธรรม ขี่ม้าไปบ้าง ลงเรือไปบ้าง ตามฤดูกาล ไปเยี่ยมเยียนพวกคริสตังที่อยู่ห่างไกลจากวัด ทันใดนั้น โรคปวดหัวก็อันตรธานไป หรืออย่างน้อยคุณพ่อก็มิได้บ่นปวดอีกเลย และแล้ว ท่าทางเศร้าสลดนั้นก็ยังคงเหลืออยู่แต่ในความทรงจำเท่านั้น คุณพ่อกลายเป็นคนร่าเริง   ช่างพูด กระปรี้กระเปร่า   เป็นช่วงแจ่มใสในชีวิตแพร่ธรรมของคุณพ่อ    
 
ไม่จำเป็นต้องกระตุ้นให้คุณพ่อทำงาน แถมยังต้องคอยยั้งๆ   ไว้เสียด้วยซ้ำไป เราแนะนำคุณพ่อให้  “ร้อนรนไปตลอด” คุณพ่อตอบยิ้มๆว่า จะต้อง “ร้อนลุกเป็นไฟเลย” 
 
ปี ค.ศ. 1905 มีงานใหญ่ทางด้านวัตถุชิ้นหนึ่งให้มิชชันนารี 2 องค์ ที่จันทบุรีทำ คือ การดำเนินงานก่อสร้างวัดใหม่หลังหนึ่ง จำเป็นต้องทำ เพราะจำนวนคริสตังเพิ่มขึ้น คุณพ่อแฟฟร์ทุ่มเททั้งร่างกายและจิตใจให้กับงานนี้ตลอดระยะเวลา 3 ปี ช่วงแรกในฐานะปลัดของคุณพ่อเปย์ริกัล และปี ค.ศ. 1907 ในฐานะเจ้าอาวาส : ท่านไม่ย่อท้อต่อความเหนื่อยยากใดๆ เลย อยู่ที่สถานที่ก่อสร้างเป็นชั่วโมงๆ ภายใต้แสงแดดอันร้อนจ้า คุณพ่อวิ่งไปทุกทิศทุกทางเพื่อเร่งให้เอาไม้มา ให้ก่ออิฐ เมื่อมีงานเร่งด่วนคุณพ่อก็จะเร่งขอแรงพวกคริสตังให้ช่วยกันทำ คุณพ่อยอมไปพักผ่อน 2-3 วัน เพื่อไปเยี่ยมน้องสาวภคินีที่เพิ่งมาถึงกรุงเทพฯ ที่สุด การก่อสร้างวัดก็สำเร็จทันฉลองแม่พระปฏิสนธินิรมล ปี ค.ศ. 1908  แต่แล้ว กำลังแรงของคุณพ่อก็เกือบเหือดแห้งหมดแล้ว ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา คุณพ่อก็เริ่มปวดหัวบ่อยขึ้นและรุนแรงมาขึ้นกว่าที่เคย และก็มีอาการว่าจะเป็นโรคประสาทร้ายแรง  พระสังฆราชของคุณพ่อจึงมอบหมายงานแพร่ธรรมที่เหนื่อยน้อยกว่านั้น ให้คุณพ่อที่กรุงเทพฯ คือ ดูแลพวกภคินีคณะเซนต์ปอลเดอชาร์ตร อาการก็ไม่ดีขึ้น โรคร้ายจะต้องไปทำการรักษาที่ฝรั่งเศสเท่านั้น แล้วคุณพ่อก็ออกเดินทางไปฝรั่งเศส เมื่อรู้สึกสบายดีขึ้นแล้ว คุณพ่อก็รีบกลับมากรุงสยาม อนิจจา! อยู่ได้ไม่นาน จำต้องกลับไปอีกเป็นครั้งที่สอง แล้วคุณพ่อก็ได้กลับไปเห็นบ้านเกิดเมืองนอนอีก ที่นั่น คุณพ่อถูกเรียกตัวเข้าเกณฑ์สงคราม แต่คุณพ่ออ่อนเพลียมากจนแพทย์ทหารส่งคุณพ่อกลับไปอยู่บ้านทันที หลังจากนั้นไม่นาน พระสังฆราชแปร์รอสไปเยี่ยม คุณพ่อและแนะนำให้ทำการรักษาอย่างจริงจัง ให้เดินทางกลับเมืองไทยได้ก็ต่อเมื่อหายสนิทดีแล้ว พระสังฆราชกลับมาถึงมิสซังปลายปี ค.ศ. 1915 มันไม่น่าประหลาดใจดอกหรือ สำหรับทั้งพระสังฆราชและพวกเพื่อนมิชชันนารี คือ สองสามเดือนหลังจากนั้น ตอนเช้าวันหนึ่ง เราเห็นว่า คุณพ่อแฟว์รมาถึงกรุงเทพฯ โดยไม่มีใครคาดคิดเลย! ประมุขมิสซังขาดแคลนบุคลากร เพราะพวกมิชชันนารีหนุ่มๆ ถูกเกณฑ์ไปทำสงครามในฝรั่งเศส  จึงมอบหมายให้คุณพ่อดูแลสำนักงานมิสซัง อนิจจา! มิชชันนารีผู้น่าสงสารของเรา พอทำงานอยู่ได้สองสามเดือน ก็ล้มป่วยเป็นโรคเดิมอีก และในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1917 คุณพ่อจำต้องออกเดินทางกลับไปฝรั่งเศสอีกครั้งหนึ่ง คุณพ่อจากมิสซังที่รักของคุณพ่อไปตลอดกาล คุณพ่อไปอยู่กับครอบครัวของคุณพ่อระยะหนึ่ง แล้วก็ไปทำงานอภิบาลอยู่ในสังฆมณฑลของคุณพ่อ จนกระทั่งถึงวันที่ความตายมาเรียกคุณพ่อไปอยู่โลกใหม่ที่ดีมีสุข
 
คุณพ่อถึงแก่มรณภาพลงวันที่ 27 กรกฏาคม ค.ศ. 1928.