คุณพ่อ โยเซฟ อามับล์ ฟ็อก

 

คุณพ่อ โยเซฟ อามับล์ ฟ็อก

Joseph FAUQUE

 

 
คุณพ่อ โยเซฟ อามับล์ ฟ็อก เกิดวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1844 ที่หมู่บ้านนัวเยร์ ในเขตสังฆมณฑลกัป แขวงโฮ๊ตส์อัลป์ คุณพ่อเข้าบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศ วันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1863  รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ วันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 1866 และออกเดินทางมามิสซังสยาม วันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 1867 คุณพ่อเดินทางอยู่หลายเดือน จึงถึงที่หมาย
 
พระสังฆราชดือปองด์ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชประมุขมิสซัง วันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 1864 ได้รับอภิเษกเป็นสังฆราชที่กรุงไซ่ง่อน วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1865 ให้การต้อนรับเยี่ยงบิดาใจดี แด่ “คุณพ่อหนุ่มองค์ใหม่” ชื่อที่เคยเรียกกันทันที พระสังฆราชให้เวลาคุณพ่อพักเหนื่อยจากการเดินทางไกล และปรับตัวให้เคยชินกับอากาศโซนร้อนบ้างนิดหน่อย แล้วพระสังฆราชก็มอบหมายให้คุณพ่อเวย์ มิชชันนารีหนุ่มเช่นกันผู้มาถึงกรุงสยามปี ค.ศ. 1865 เป็นผู้สอนภาษาสยามให้กับผู้มาเริ่มเรียนใหม่นี้
 
“คุณพ่อหนุ่มองค์ใหม่” เพิ่งเริ่มคุ้นเคยกับภาษาสยามบ้างก็ถูกส่งไปเป็นปลัดของ คุณพ่อเปอัง ที่วัดแปดริ้ว พอกลับมาบางกอก ได้พักสองสามเดือนอยู่ที่วัดอัสสัมชัญ ปี ค.ศ. 1867 คุณพ่อฟ็อกก็ได้รับมอบหมายให้ไปเป็นปลัดของคุณพ่อชมิตต์ เจ้าอาวาสวัดท่าเกวียน ท่านเจ้าอาวาสผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา ก็สังเกตทันทีว่าปลัดของคุณพ่อถนัดไปทางด้านวิชาการ แต่ก็ต้องยอมรับว่าคุณพ่อขาดความสามารถในทางปฏิบัติอยู่บ้าง เพราะเมื่อคุณพ่อชมิตต์ มอบหมายให้คุณพ่อจัดการสร้างกำแพงวัดเล็กหลังหนึ่ง ที่ท่าเกวียน ไม่นานกำแพงก็พังทะลายลงมา
 
กระนั้นก็ดี คุณพ่อชมิตต์ ต้องกลับไปฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1869 เพราะเกิดล้มป่วยลง จึงมอบให้คุณพ่อฟ็อกปกครองดูแลวัดของคุณพ่อ มีคุณพ่อเอมิล ซาลาแด็ง เป็นผู้ช่วย
 
ในปี ค.ศ. 1872 เมื่อคุณพ่อชมิตต์หายป่วยกลับมาแล้ว คุณพ่อฟ็อกก็ชื่นชมยินดีที่ได้พ้นจากภาระอันหนักเกินกว่าที่จะรับได้ พระสังฆราชดือปองด์จึงแต่ตั้งคุณพ่อเป็นอาจารย์สอนเรียนอยู่ที่บ้านเณรของมิสซัง ซึ่งคุณพ่อเวย์เป็นอธิการอยู่เวลานั้น เมื่อคุณพ่อเวย์ต้องกลับไปรักษาตัวในฝรั่งเศส ก็มอบหมายให้คุณพ่อปกครองดูแลบ้านเณร โดยให้คุณพ่อซาลาแด็ง เป็นอาจารย์ช่วยสอน และให้คุณพ่อกลอมเบต์ เป็นเหรัญญิก 
 
ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1872-1875 คุณพ่อฟ็อก ทุ่มเทสติกำลังทั้งหมดดำเนินงานอันละเอียดอ่อน ด้านการอบรมเตรียมตัวเป็นพระสงฆ์ ไปได้ด้วยดี เมื่อคุณพ่อเวย์กลับจากฝรั่งเศส คุณพ่อก็ได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราช ท่านสังเกตเห็นว่า สุขภาพของคุณพ่อฟ็อกอ่อนแรงลงมาก จึงส่งคุณพ่อไปอยู่ที่วัดหวายเหนียว (ท่าหว้า)  แต่พออยู่ไปได้สองสามเดือน คุณพ่อก็มาล้มป่วยลงที่บางกอก ต้องไปรักษาสุขภาพในประเทศจีน ภายในเวลาสองปี คุณพ่อไปเป็นแขกของพระสังฆราชเยอแม็ง ประมุขมิสซังกวางตุ้ง ผู้เรืองนาม และมีชื่อเสียงในฐานะผู้ก่อสร้างอาสนวิหารอันใหญ่โตรโหฐานแห่งกวางตุ้ง แล้วถึงแม้มิชชันนารีประจำ    กรุงสยามผู้นี้ยังป่วยอยู่ก็ไม่ยอมอยู่นิ่งเฉย เรียนภาษาจีนหลายภาษา
 
เมื่อกลับมาถึงกรุงสยามในปี ค.ศ. 1878 คุณพ่อได้รับมอบหมายให้ไปเป็นปลัดผู้ช่วยอยู่  วัดแม่พระลูกประคำ ที่กรุงเทพฯ คุณพ่ออยู่วัดนี้เป็นเวลา 5 ปี แล้วปี ค.ศ. 1883 คุณพ่อก็ถูกส่งไปเป็นอธิการบ้านเณรที่บางช้างอีก คุณพ่อแสดงความสามารถและความร้อนรนอยู่ที่บ้านเณรนี้  เป็นเวลา 10 ปี
 
คุณพ่อฟ็อก เข้าใจถึงความสูงส่งในการเป็นพระสงฆ์ด้วยความเชื่ออันร้อนรน และลึกซึ้ง จึงทุ่มเทจิตใจทั้งสิ้นในการทำหน้าที่ผู้อบรมเตรียมพระสงฆ์ ฉะนั้น คุณพ่อรู้สึกเสียใจมาก และก็แสดงออกมาให้เห็นด้วย เมื่อพระสังฆราชสั่งให้ออกจากบ้านเณร และมอบหมายให้ดูแลวัดคอนเซ็ปชัญ ที่บางกอก ปี ค.ศ. 1893
 
พระสังฆราชลาโน จัดตั้งวัดคอนเซ็ปชัญนี้ขึ้นในประมาณปี ค.ศ. 1674 สัตบุรุษส่วนหนึ่งของวัดนี้มีเชื้อสายโปรตุเกส มาจากเมืองขึ้นเมืองหนึ่งที่ถูกชาวฮอลันดาขับไล่ออกมา แล้วไปลี้ภัยอยู่ในประเทศเขมร จากนั้น จึงอพยพมาอยู่ในกรุงสยาม คุณพ่อฟ็อกปกครอง   ดูแลวัดน้อยนี้อยู่เป็นเวลา 15 ปี ปี ค.ศ. 1908 คุณพ่อเข้าพักรักษาอย่างถาวรอยู่ในโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ที่ซึ่งสุขภาพอันล่อแหลมยิ่งขึ้น ได้เคยทำให้ต้องมาพักรักษาตัวมาแล้วหลายครั้งหลายครา ที่โรงพยาบาลนี้ คุณพ่อได้รับความยินดียิ่งบ้าง คือ ได้เปิดประตูสวรรค์ให้แก่ลูกคนต่างศาสนาใกล้จะตายหลายร้อยคน
 
วันที่ 18 พฤศจิกายน  ค.ศ. 1916 พระเป็นเจ้าโปรดให้คุณพ่อได้ชื่นชมยินดีอันหวานฉ่ำและค่อนข้างหายากในมิสซัง คือ ได้ฉลองครบรอบ 50 ปีแห่งการเป็นพระสงฆ์
 
ต่อจากนั้น กำลังแรงของคุณพ่อก็ยิ่งทียิ่งอ่อนลงอย่างรวดเร็ว คุณพ่อบอกเราว่า “ขอเพียงพระเป็นเจ้าประทานพระหรรษทาน ให้ข้าพเจ้าอยู่ไปจนถึงได้เห็นชัยชนะของชาติฝรั่งเศส แล้วไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนั้น ข้าพเจ้าก็จะจากไปด้วยความพอใจ” ดังนั้น เมื่อได้ทราบข่าวว่า มีการเซ็นสัญญาสงบศึกแล้ว คุณพ่อก็ดีใจมาก
 
ที่สุด วันอาทิตย์ที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 1919 เวลา 5 โมงเช้า คุณพ่อฟ็อก จากไปสวรรค์พบบิดามารดา เพื่อนวัยเด็ก เพื่อนมิชชันนารีในกรุงสยามมากกว่า 30 องค์ และเด็กเล็กๆ หลายร้อยหลายพันคนที่คุณพ่อโปรดศีลล้างบาปให้ ในช่วงการแพร่ธรรมอันยาวนานและได้ผลดี
 
พระสังฆราชแปร์รอส เป็นประธานประกอบพิธีปลงศพคุณพ่อ ที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ ที่ซึ่งคุณพ่อพักรอการกลับคืนชีพอย่างรุ่งเรือง มีมิชชันนารีมาร่วมพิธีด้วยเป็นจำนวนมาก.