คุณพ่อ เลเย ยอแซฟ แฟร์เลย์

 

คุณพ่อเลเย  ยอแซฟ  แฟร์เลย์

Léger FERLAY

 
คุณพ่อเลเย  ยอแซฟ  แฟร์เลย์  เกิดวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1874 ที่ลารายาส โรน เป็นศิษย์เก่าบ้านเณรเล็กแซ็งต์ยอดาร์ก เข้าบ้านเณรมิสซังต่างประเทศ วันที่ 8 กันยายน ค.ศ. 1894 รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ วันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 1897 และออกเดินทางมาประเทศสยาม วันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 1897
 
แต่ ปี ค.ศ. 1897-1898 คุณพ่อแฟร์เลย์ เป็นเสมียน ของพระสังฆราชเวย์ ประมาณ 1 ปี ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1898-1903 คุณพ่อได้รับแต่งตั้งเป็นอาจารย์ที่สามเณราลัยบางช้าง
 
ตั้งแต่ ปี  ค.ศ. 1903-1909 คุณพ่อแฟร์เลย์ เป็นเจ้าอาวาสที่นครชัยศรี สืบตำแหน่งจากคุณพ่อเออเยน เล็ตแชร์ ซึ่งถูกส่งไปที่ปากคลองท่าลาด ในครั้งแรก คือ ปี ค.ศ. 1903     คุณพ่อก็ต้องดูและวัดท่าจีนด้วย แต่ในปี ค.ศ. 1904 วัดท่าจีนพ้นจากการปกครองของวัดนครชัยศรี มาขึ้นกับวัดกาลหว่าร์ เนื่องจากได้มีการเปิดทางเดินรถไฟสายกรุงเทพ-ท่าจีน
 
คุณพ่อแฟร์เลย์ มีชื่อเสียงว่า รักการศึกษาเล่าเรียน คุณพ่อพยายามสอนเด็กให้อ่านภาษาไทยที่เขียนตามสูตรของ พระสังฆราชปัลเลอกัวซึ่งเรียกว่าภาษาวัด และขณะเดียวกัน นอกจากการสอนคำสอน คุณพ่อยังจัดให้เด็กเรียนคณิตศาสตร์, ภูมิศาสตร์, และประวัติศาสตร์ เป็นต้น
 
ปี ค.ศ. 1909 คุณพ่อปลัดของคุณพ่อ คือ คุณพ่อแกรมฟ์ สืบตำแหน่งเจ้าอาวาสต่อจากคุณพ่อ แต่ตามรายงานของวัดต่างๆ ก็ไม่พบชื่อคุณพ่อแฟร์เลย์เลย สันนิษฐานได้ว่าคุณพ่อได้รับการแต่งตั้งเป็นอาจารย์ ที่บ้านเณรบางช้าง แทนคุณพ่อเล็ตแชร์ ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบ้านเณรบางช้างแทนคุณพ่อมาตราต์ ซึ่งล้มป่วยลง คุณพ่อแฟร์เลย์ได้เป็นอาจารย์บ้านเณร ปี ค.ศ. 1909-1914
 
แต่เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1914 ที่คุณพ่อเบเชต์กลับมาจากฮ่องกง และรับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดนครชัยศรีนั้น ถึงเดือนกันยายน ค.ศ. 1917 คุณพ่อแฟร์เลย์ อยู่นครชัยศรี เป็นผู้ช่วยโปรดศีลล้างบาป และฝังผู้ตายแทน จนคุณพ่อเบเชต์รื้อฟื้นกำลังขึ้นมาพอใช้
 
เดือนตุลาคมค.ศ.1917 คุณพ่อแฟร์เลย์ รับเป็นเจ้าอาวาสที่วัดบ้านแป้งและวัดอยุธยา และอยู่ในตำแหน่งนี้จนถึงปี ค.ศ.1919 สงครามสิ้นสุดลง บรรดามิชชันนารีก็กลับมาเมืองไทย แต่จำนวนมิชชันนารีและพระสงฆ์ไทยไม่พอกับความต้องการ มีวัดน้อยหลายๆ แห่งได้เห็นหน้าคุณพ่อมาโปรดศีลอย่างมาก ก็เพียงเดือนละครั้ง โรงเรียนวัดก็ไม่ทันสมัยแล้ว เพราะทางกระทรวงศึกษาฯ ได้ประกาศกฎเกณฑ์ใหม่ เกี่ยวกับโรงเรียน, กับครู ซึ่งต้องมีใบประกาศนียบัตร, กับนักเรียน ฯลฯ คุณพ่อต่างๆ กระวนกระวายไม่สบายใจ  ดังนั้น  ในรายงานประจำปี ค.ศ. 1920 พระสังฆราชแปร์รอส เขียนไว้ว่า เรื่องโรงเรียนอยู่ในความสนใจของเราเป็นอย่างยิ่ง และกฎเกณฑ์ใหม่ของรัฐบาล ได้ทำให้การปฏิบัติดั้งเดิมของเรา ไม่สอดคล้องกับจุดประสงค์ของทางรัฐบาล เราได้สถาปนาโรงเรียนครูคริสตังเซนต์ตาร์ซีซิอุส บนรากฐานที่มั่นคงกว่าเมื่อก่อน โรงเรียนนี้เคยถูกปิดในปี ค.ศ. 1914 เนื่องจากสงคราม การตั้งโรงเรียนเซนต์ตาร์ซีซิอุส บนรากฐานที่มั่นคงใหม่นี้ เป็นวิธีเดียวที่จะช่วยให้โรงเรียนของเราเอาตัวรอดได้ และโรงเรียนเซนต์ตาร์ซีซิอุส นี้ถูกมอบให้อยู่ในความดูแลของคุณพ่อแฟร์เลย์ ด้วยว่า คุณพ่อของการศึกษาเล่าเรียน และมีชื่อเสียงดีด้านนี้ในหมู่เพื่อนมิชชันนารีทั้งหมด มิชชันนารีเหล่านี้ต้องการครูที่เป็นครูแท้ๆ มีใบประกาศนียบัตรเพื่อบริหารโรงเรียนวัด และเป็นครู ซึ่งขณะเดียวกันก็เป็นผู้แพร่ธรรมด้วย สามารถที่จะปกครองสัตบุรุษ, จัดการสวดภาวนา, จัดพิธีในวันอาทิตย์, แปลคำสอน ในขณะที่คุณพ่อต่างๆ  ไม่สามารถจะเข้าไปในวัดเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอได้ ด้วยเหตุนี้ คุณพ่อแฟร์เลย์ จึงได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บริหารโรงเรียนเซนต์ตาร์ซีซิอุส แทนคุณพ่อการต็อง ซึ่งในครั้งแรกนั้น คุณพ่อการต็อง มีแต่อบรมผู้แปลคำสอน ให้มีใจศรัทธา และร้อนรนเท่านั้น 
 
“ขณะที่โรงเรียนเซนต์ตาร์ซีซิอุส นี้กำลังรับการสถาปนาขึ้นใหม่ ทางมิสซังก็ตั้ง “องค์การโรงเรียนคาทอลิก” เพื่อจะได้หาปัจจัยที่จำเป็นสำหรับโรงเรียนนี้” และในคราวเดียวกัน ด้วยความสมัครใจ, คุณพ่อแปรเบต์ เจ้าอาวาสวัดเซนต์ปอล แปดริ้ว ได้มอบที่ดินและอาคาร  เพื่อเป็นที่ตั้งของโรงเรียนใหม่นี้
 
คุณพ่อแฟร์เลย์ พยายามอบรมครูผู้สอนให้เป็นผู้แพร่ธรรมพร้อมๆ กัน ให้มีประกาศนียบัตรของทางรัฐบาล และสามารถแทนคุณพ่อเจ้าวัดได้ทุกกรณี (นอกจากมิสซา, และศีลศักดิ์สิทธิ์) ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1924 คุณพ่อแฟร์เลย์ ส่งนักเรียนของคุณพ่อเข้าสอบตามหลักสูตรของทางรัฐบาล โรงเรียนนี้ได้สัมฤทธิ์ผลมากมายแก่วัดที่อยู่ห่างไกล ซึ่งเมื่อก่อนนั้นดูเหมือนว่าถูกทอดทั้งเพราะไม่มีบุคลากร
 
คุณพ่อแฟร์เลย์ เอาใจใส่ดูแลโรงเรียนนี้จนถึงเกิดกรณีพิพาทอินโดจีน ปี ค.ศ. 1940 เป็นที่น่าเสียดายว่า พวกครูเหล่านี้ส่วนมากทำการสอบและปกครองวัดเพียงไม่กี่ปี จำเป็น ต้องหาคนมาแทนเรื่อย ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเรื่องเงิน ครูเหล่านี้ได้รับการคัดเลือกจากบรรดาคนหนุ่มที่เห็นว่า มีสติปัญญาดี รับการสอน อบรมโดยไม่เสียค่าบำรุงใดๆ และเมื่อเขาเหล่านั้นจบการศึกษา มีใบประกาศนียบัตรแล้ว ทางเจ้าอาวาสก็ลืมว่า ได้มีองค์การโรงเรียนคาทอลิกเป็นผู้ออกทุนมาช่วยเหลือในการศึกษาแล้ว เพราะว่าทุกๆ เดือน บรรดาเจ้าอาวาส ก็หักเงินเดือนครูเหล่านั้นลงสักครึ่งหนึ่ง โดยอ้างว่า จำเป็นต้องหักเงินชดเชยกลับเข้าวัด ทำให้ครูเหล่านั้นดำรงชีพอย่างยากที่สุด  จึงจำต้อง หางานทำที่อื่น  จึงจะอยู่รอด
 
ปลาย ปี ค.ศ. 1940 ต้องปิดโรงเรียนเซนต์ตาร์ซีซิอุสนี้ ส่วนคุณพ่อแฟร์เลย์ก็เหมือนกันกับมิชชันนารีอื่นๆ ที่ต้องกลับมาอยู่กรุงเทพฯ ตามคำสั่งกรมตำรวจ และคุณพ่อพร้อมด้วยคุณพ่อชันลิเอร์ ก็ตั้งตัวเป็นปลัดของคุณพ่อแปรูดง คุณพ่อแฟร์เลย มิได้ถูกส่งไปอินโดจีน เพราะคุณพ่ออยู่ที่วัดอัสสัมชัญ มิใช่อยู่ที่สำนักพระสังฆราช ดังนั้น ตลอดสงคราม คุณพ่อแฟร์เลย์ ก็คงอยู่วัดอัสสัมชัญ เป็นปลัด
 
คุณพ่อแฟร์เลย์ สิ้นใจที่กรุงเทพฯ วันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1948 อายุได้ 74 ปี เป็นมิชชันนารีของประเทศสยาม 51 ปี.