คุณพ่อ เอากุสติน กาสตัล

 
คุณพ่อ เอากุสติน กาสตัล
 
Auguste GASTAL
 
คุณพ่อ เอากุสติน กาสตัล เกิดวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1886 ที่ เมืองปอนส์หมู่บ้านเซนต์ฮิปโปลิต  สังฆมณฑลโรแดส จากครอบครัวที่ศรัทธาแก่กล้า คุณพ่อได้รับสืบทอดความศรัทธามาจากบ้านเกิด มีลุงคนหนึ่งเป็นสมาชิกคณะบราเดอร์ลาซาล ลุงคนนี้ใช้ชีวิตในการดูแลหอพักนักเรียนแซ็ง อามังส์ เป็นส่วนมาก ป้าคนหนึ่งของคุณพ่อ เมื่อถึงแก่กรรม มีชื่อเสียงเป็นสตรีใจศรัทธาเช่นกัน ทุกๆ ปี ป้าของคุณพ่อ แม้ชรามากและไม่ค่อยแข็งแรง ก็ยังอุตส่าห์หาเงินช่วยองค์กรส่งเสริมความเชื่อจากสมาชิกของหมู่บ้าน ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใด ที่พระทรงเลือกธรรมทูตจากครอบครัวศรัทธาแก่กล้าอย่างนี้
 
คุณพ่อเรียนที่โรงเรียนของบราเดอร์ที่เมืองมองซัลวี (กังตัล) ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน คงจะเป็นในช่วงนี้เองได้เกิดอุบัติเหตุที่อยู่ในความทรงจำอย่างไม่รู้ลืม วันหนึ่ง เด็กคนนี้เดินบนแผ่นกระดานที่ชาวบ้านวางพาดข้ามคลองน้ำไหลเชี่ยว ตกลงไปในคลอง น้ำพัดพาหนูน้อยเคราะห์ร้ายไปไกลถึง 200 เมตร โชคดีมีคนใจกล้าเสี่ยงอันตรายช่วยชีวิตไว้ได้ หนูน้อยแช่อยู่ในน้ำเย็นเยือกทำให้หูอักเสบ นี่คือสาเหตุให้คุณพ่อกาสตัล มีปัญหาในการฟังแก้บาป
 
เมื่ออายุ 10 ปี ธรรมทูตในอนาคตก็ต้องสูญเสียคุณพ่อผู้บังเกิดเกล้า  คุณพ่อยังเรียนอยู่ชั้นประถมที่เซนต์ อามังส์ ต่อไป คุณลุงก็เป็นครูสอนอยู่ในโรงเรียนนี้ คุณพ่อเป็นนักเรียนตัวอย่างมีความประพฤติดีเรียบร้อย เรียนจบชั้นประถม ได้ประกาศนียบัตรแล้ว คุณพ่อก็เรียนชั้นมัธยม ที่วิทยาลัย แอสปาเลียง คุณพ่อชอบวิชาวรรณคดีเป็นพิเศษ ตลอดชีวิต คุณพ่ออ่านหนังสือประเภทนี้เป็นบางครั้ง ต่อมาได้ศึกษาวิชาปรัชญาและเทววิทยาในบ้านเณรใหญ่ของคณะสงฆ์มิสซังต่างประเทศ คุณพ่อได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ เมื่อวันที่ 26 กันยายน ค.ศ. 1909 เดินทางมาเมืองไทย เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1909
 
คุณพ่อถูกส่งไปอยู่ที่วัดสองพี่น้อง คุณพ่อตาปีเป็นครูสอนภาษาไทยและญวนให้ เมื่อผู้ใหญ่เห็นว่าคุณพ่อรู้ภาษาใช้งานได้แล้ว จึงส่งไปประจำอยู่ที่วัดปากน้ำโพ เป็นผู้ช่วยคุณพ่อการ์ตอง ต่อมาไม่นาน คุณพ่อกาสตัลได้รับมอบหมายให้ดูแลวัดบ้านแป้ง วัดนี้อยู่ทางทิศเหนือของกรุงเทพฯ คริสตังส่วนมากเป็นญวน คุณพ่อเริ่มงานอย่างกระตือรือร้น คุณพ่อสนใจเป็นพิเศษเรื่องเยาวชน คุณพ่อสร้างโรงเรียน ตั้งแตรวงขึ้น วงแตรของคุณพ่อมีชื่อเสียงมาก พี่น้องชาวพุทธที่อยู่ห่างไกลจากวัด ก็รู้จักเป็นอย่างดี นอกนั้น คุณพ่อจัดให้มีการเข้าเงียบฟื้นฟูจิตใจสำหรับหนุ่มสาว ปรากฏว่าประสพผลสำเร็จอย่างดียิ่ง คุณพ่อทำงานอย่างไม่กลัวเหน็ดเหนื่อย คุณพ่อฝ่าแสงแดดร้อนจ้าออกตามหาลูกแกะหลงฝูง
 
คุณพ่อวางโครงการไว้หลายอย่าง แต่แล้วสงครามโลกครั้งแรกก็ระเบิดขึ้นกระทันหันในปี ค.ศ. 1914 คุณพ่อถูกเกณฑ์ให้ไปรบ จึงต้องเดินทางกลับฝรั่งเศส
 
พระสังฆราชเรอเน แปร์รอส ชื่นชมใจร้อนรนและการทำงานจริงจังของคุณพ่อที่วัดบ้านแป้งมาแล้ว คุณพ่อเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ไม่ทันไร พระสังฆราชก็แต่งตั้งคุณพ่อเป็นผู้ช่วยที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ คุณพ่อรับผิดชอบให้การอบรมนักเรียน โรงเรียนอัสสัมชัญ-อัสสัมชัญคอนแวนต์และเซนต์โยเซฟ คุณพ่อทำงานอย่างแข็งขันและวิริยะอุตสาหะ ไม่คำนึงถึงความเหนื่อยยากในการอบรมเยาวชนของ 3 สถาบัน แต่การงานของคุณพ่อมีมากมาย คุณพ่อจึงดำเนินการอบรมครูสอนคำสอน โดยเลือกจากนักเรียนสติปัญญาดีและใจร้อนรน แล้วให้เขาสอนเพื่อนนักเรียนภายใต้ความดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดของคุณพ่อ คุณพ่อประสพความสำเร็จในเรื่องนี้เป็นอย่างดี ตลอดเวลา 20 ปี คุณพ่อเจริญแบบฤาษี มีตารางกำหนดเวลาทำงานอย่างละเอียด ทั้งนี้เพื่อคุณพ่อสามารถปฏิบัติงานที่หนักให้ลุเป้าหมายได้เรียบร้อย คุณพ่อทำงานอย่างมุมานะในการเตรียมสอนคำสอน การอบรมประจำเดือนสำหรับนักบวชหญิง 2 คณะ ครูเทศน์เข้าเงียบประจำปีของคณะซิสเตอร์และ บราเดอร์ นอกนั้น คุณพ่อนั่งโปรดบาปวันละหลายชั่วโมง ในปีหนึ่งๆ  คุณพ่อฟังแก้บาป 13,000 ถึง 14,000 ครั้ง
 
ปี ค.ศ. 1923 คุณพ่อกาสตัลล้มป่วย นายแพทย์สั่งให้เดินทางไปรักษาตัวที่ฝรั่งเศส แต่คุณพ่อไม่ยอมไป หมอจึงบอกว่า “สักวันหนึ่งเถอะ คุณพ่อจะต้องป่วยนอนอยู่กับเตียง” เรื่องนี้เป็นความจริงอีก 15 ปีต่อมา คุณพ่อคงทำงานต่อไป เพราะกำลังใจเข้มแข็งแกร่งแท้ๆ ที่จริง การถวายมิสซาประจำวันก็เป็นเรื่องทรมานพอดูสำหรับคุณพ่อ ตอนปลายสัปดาห์ ใครๆ เห็นว่าคุณพ่ออิดโรยหมดแรง จนบางคนคิดว่าวาระสุดท้ายของคุณพ่อใกล้เข้ามาเต็มทีแล้ว คุณพ่อไปพักผ่อนกับบราเดอร์ ที่โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา ช่วยให้คุณพ่อฟื้นขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ คุณพ่อบุกงานต่อไปอย่างแข็งขัน
 
ในปี ค.ศ. 1938 คุณพ่อเดินทางกลับไปพักผ่อนที่ฝรั่งเศส แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น คุณพ่อเดินทางกลับมาประเทศไทย คุณพ่อแวะเยี่ยมคุณพ่อการิเอ ที่วัดแปดริ้ว ทั้งสองเป็นเพื่อนรักกันมาก คุณพ่อกาสตัลก็ป่วยเป็นโรคไตอักเสบ อาการหนักมาก วันที่ 25 มิถุนายน จึงเดินทางกลับไปฝรั่งเศสอีก เพื่อรักษาตัว นี่เป็นความหวังสุดท้ายสำหรับคุณพ่อ หนึ่งวันก่อนจะถึงท่าเรือเมืองมารซาย คุณพ่อล้มป่วยอีกครั้ง จึงถูกนำส่งโรงพยาบาลนักบุญยอแซฟ คุณพ่อมีอาการดีขึ้นในเวลาต่อมา คุณพ่อจึงไปอาศัยอยู่กับครอบครัวของคุณพ่อ ได้รับการพยาบาลรักษาเป็นอย่างดียิ่ง แต่แล้ว ในที่สุด คุณพ่อถึงแก่มรณภาพที่เลธ เมืองปอนส์ ในวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ. 1938  
 
คุณพ่อกาสตัลอยู่ในความทรงจำของทุกคนที่คุณพ่อได้เคยอบรมสั่งสอนด้วยความเหน็ดเหนื่อย เพราะคุณพ่อต้องลำบากทั้งกายใจเพื่อพวกเขา คุณพ่อรักงานอย่างเป็นชีวิตจิตใจ คุณพ่อเคยเขียนจดหมายจากฝรั่งเศสถึงเพื่อนพระสงฆ์ในเมืองไทยว่า “ผมรู้สึกละอายใจ เพราะอยู่ที่นี่ไม่ได้ทำอะไร พวกคุณพ่อสิ มีงานเต็มมือ!” นอกนั้น คุณพ่อสนใจปัญหาต่างๆ ในชีวิตของธรรมทูต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกเด็กเป็นที่รักของคุณพ่อ และคุณพ่อสนใจปัญหาของเขาเป็นพิเศษ คุณพ่อเทกระเป๋าเงินช่วยพวกเขา เด็กเล็กจำนวนไม่น้อย จึงกินอาหารจนอิ่มได้ และได้มีโอกาสไปเที่ยว ในบริเวณพระนคร ในวันหยุดเรียน หลายคนเรียนจนจบได้ ก็เพราะคุณพ่อออกเงินเป็นค่าเดินทางไปกลับจากบ้านถึงโรงเรียน บางครั้ง คุณพ่อรับภาระจ่ายค่าเล่าเรียนให้บางส่วนด้วย ข่าวมรณภาพของคุณพ่อ ทำให้พวกเด็กๆ เสียใจเป็นอย่างยิ่ง เป็นต้น เด็กคอนแวนต์ เซนต์โยเซฟ พวกเขาเขียนจดหมายไปถึงคุณพ่อที่บ้านเกิด ขอให้คุณพ่อหายป่วยเร็ว จะได้กลับมากรุงเทพฯ ไวๆ เมื่อทราบข่าวคุณพ่อจากไปอย่างไม่มีวันกลับ พวกเด็กร้องไห้โฮทีเดียว พวกเด็กกำพร้าตัวเล็กๆ อุตส่าห์เรี่ยไรเงินเพื่อขอมิสซาอุทิศแด่คุณพ่ออันเป็นที่รัก ขอพระเจ้าทรงโปรดให้คุณพ่อได้พักผ่อนอย่างสงบตลอดนิรันดร และขอคุณพ่อช่วยอธิษฐานภาวนาให้เราได้เป็นคนที่รู้จักรับผิดชอบต่อการงาน และให้ได้มีพระสงฆ์ที่มีจิตตารมณ์เหนือธรรมชาติเหมือนคุณพ่อ เพื่อนร่วมสังฆภาพของเราด้วย.