คุณพ่อ ปอล เทโอดอร์ แย็นวัวสซ์

 

 

คุณพ่อ ปอล เทโอดอร์ แย็นวัวสซ์

Paul GENNEVOISE

 
คุณพ่อ ปอล เทโอดอร์ แย็นวัวสซ์ เกิดที่เมือง ลิลล์ (กัมเบร, นอร์ด) เมื่อวันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 1859  คุณพ่อได้รับการศึกษาที่วิทยาลัยเซนต์ยอแซฟของคณะเยสุอิตเมืองลิลล์ คณาจารย์ได้ช่วยให้การศึกษา และอบรมวัยเด็กในครอบครัวของคุณพ่อสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
 
ในปี ค.ศ. 1879 เมื่อจบการศึกษาจากวิทยาลัยแห่งนี้แล้ว คุณพ่อเข้าสามเณราลัยของคณะมิสซังต่างประเทศ เมื่อวันที่ 8 กันยายน ค.ศ. 1879 ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1884
 
ในวันที่ 25 มีนาคม คุณพ่อใหม่ได้รับเชิญให้ถวายมิสซาอย่างสง่าในวัดของวิทยาลัยนักบุญยอแซฟ ที่ซึ่งคุณพ่อได้เคยศึกษาเล่าเรียนมา พระสังฆราชโบนารด์ (BONARD) อธิการบดีมหาวิทยาลัยคาทอลิกแห่งเมืองลิลล์ ได้กล่าวสุนทรพจน์อย่างไพเราะน่าฟัง เชิญไปเถิด คุณพ่อกล่าวแก่ธรรมทูต ไปสู่ท้องฟ้าแห่งใหม่ ไปที่ฝั่งแม่น้ำกว้างใหญ่ มีกอไผ่ขึ้นอยู่ทั่วไป มีต้นตาลขึ้นอยู่ริมแม่น้ำ เป็นแหล่งสำหรับช้างดื่มน้ำ คุณพ่อจะพบบรรยากาศงานวิไล ณ ที่นั้น ทุกสิ่งร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าที่ประชาชนในประเทศนั้นยังไม่เคยรู้จักมาก่อน เชิญคุณพ่อบุกไปตามขุนเขา ซึ่งเต็มไปด้วยทับทิมและนิลสีคราม เพชรพลอยหรือไข่มุกที่คุณพ่อจะนำไปมอบแก่ผู้ที่ยังตาบอดอยู่ คือ พระวรสาร ซึ่งเขาจะต้องแสวงหาให้พบ เพื่อใช้ซื้อเมืองสวรรค์ ขอให้คุณพ่อนำสิ่งประเสริฐเหล่านี้ไปแสดงแก่ประชาชนชาวไทยและเป็นต้น แก่ชาวกรุงเทพฯ ซึ่งกำลังแสวงหารอยพระพุทธบาทศักดิ์สิทธิ์อยู่บนเนินเขา ข้าพเจ้าหมายถึงให้คุณพ่อแนะนำพวกเขาให้รู้จักรอยพระบาทศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ ผู้ทรงเป็นนายชุมพาบาลศักดิ์สิทธิ์แต่ผู้เดียว
 
คุณพ่อแว็นวัวสซ์ อำลาเมืองลิลล์เพื่อเดินทางไปยังกรุงปารีส และในวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 1884  คุณพ่อก็มุ่งหน้ามายังประเทศไทย
 
หลังจากได้พักอยู่ในกรุงเทพฯ ระยะหนึ่งแล้ว ธรรมทูตหนุ่มก็ไปประจำอยู่ที่วัดบ้านแป้ง หมู่บ้านนี้ตั้งอยู่บนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทางทิศเหนือของกรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทาง 3 วัน โดยทั่วไป สองฝั่งของแม่น้ำตอนใต้พระนครศรีอยุธยาเมืองหลวงเก่านั้น อุดมสมบูรณ์กว่าทางเหนือ ประชาชนอาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำหนาแน่น ตั้งแต่พระนครศรีอยุธยาลงไป ส่วนทางเหนือมีคนอาศัยน้อยกว่า คุณพ่อแย็นวัวสซ์ เคยใช้ชีวิตในวัยหนุ่มในเมืองอุตสาหกรรมในประเทศฝรั่งเศส  มาก่อน มาถึงบ้านแป้งคงมาพบสภาพผิดกันมากในเมืองไทย อย่างไรก็ตาม คุณพ่อไม่ชอบอยู่เฉย  ในท่ามกลางพวกคริสตัง มีชาวญวนเป็น   ช่างไม้ จึงใช้เขาสร้างบ้านพักพระสงฆ์และบ้านพักเด็กกำพร้าด้วยไม้ นอกจากพวกคริสตังที่อาศัยอยู่รอบวัด ก็ยังมีพวกอื่นกระจัดกระจายอยู่ตามฝั่งน้ำ คุณพ่อไปเยี่ยมพวกเขาอย่างไม่กลัวเหน็ดเหนื่อย
 
คุณพ่อประจำอยู่ที่วัดบ้านแป้งเป็นเวลา 3 ปีแล้วก็ป่วยเป็นโรคบิด เกิดโรคไตอักเสบแทรกซ้อน จึงจำใจต้องเดินทางมารักษาตัวที่กรุงเทพฯ นายแพทย์ตรวจอาการแล้วก็แนะนำให้คุณพ่อรับการผ่าตัด ผลการผ่าตัดอาจจะไม่เป็นที่พึงพอใจ แต่ก็ไม่มีวิธีอื่นช่วยชีวิตของคุณพ่อได้ คุณพ่อจึงมอบชีวิตไว้อยู่ในพระหัตถ์ของพระเป็นเจ้า การผ่าตัดประสพผลดี  แต่คุณพ่อต้องกลับไปพักฟื้นในประเทศฝรั่งเศส คุณพ่อกลับไปอยู่กับครอบครัวเป็นเวลา 3 ปี ได้รับการเอาใจใส่อย่างดียิ่ง  จึงหายเป็นปรกติ คุณพ่อจึงคิดจะเดินทางกลับมาทำงานในมิสซังเดิมอีก คุณพ่อมาถึงเมืองไทยเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1891 พระสังฆราชเวย์ แต่งตั้งคุณพ่อไปประจำอยู่ที่วัดแปดริ้วกับคุณพ่อสมิต คริสตังกลุ่มหนึ่งของวัดแปดริ้วอาศัยอยู่ตามฝั่งน้ำ ตรงสามแยกปากคลองท่าเกวียน ชาวบ้านเรียกว่า ปากคลองท่าลาด พวกคริสตังเหล่านี้ยังไม่มีวัด, บ้านพักพระสงฆ์ โรงเรียน พวกเขาต้องไปประกอบศาสนกิจที่วัดแปดริ้ว ส่วนพวกเด็กก็ไปเรียนหนังสือและเรียนคำสอนที่แปดริ้วเช่นกัน เรื่องนี้ไม่สะดวกสำหรับพวกเด็ก เนื่องจากวัดแปดริ้วอยู่ห่างไกล การคมนาคมไม่สะดวก พวกเด็กๆ ก็อยู่บ้านเฉยๆ ไม่ไปเรียนคำสอน
 
คุณพ่อสมิตทราบดีว่า ผู้ช่วยคือ คุณพ่อแย็นวัวสซ์เป็นคนขยันขันแข็ง จึงแนะนำให้คุณพ่อไปประจำอยู่ที่ใหม่ บ้านทาลาด อะไรๆ ก็ต้องเริ่มใหม่ การก่อสร้างมีมาก คุณพ่อปลัดจึงเหมาะสมกับงานนี้ คุณพ่อพบที่ดินแปลงหนึ่งถูกทอดทั้งรกร้าง ใกล้สวนที่พวกคริสตังปลูกผลหมากรากไม้ คุณพ่อจึงสร้างบ้านพักชั่วคราวขึ้น คุณพ่อจัดซื้อวัสดุต่างๆ หาคนงานมาก่อสร้าง สี่ปีหลังจากคุณพ่อมาอยู่ วัดทำด้วยไม้ก็สำเร็จเป็นตัวเป็นตนขึ้น คุณพ่อตั้งใจใช้วัดนี้เป็นวัดชั่วคราว คุณพ่อหวังว่าจะสร้างถาวรขึ้นในอนาคต ในบริเวณวัดคุณพ่อสร้างบ้านเด็กกำพร้า, โรงเรียนชาย-หญิง และสถานที่สำหรับอบรมคำสอน
 
ปี ค.ศ. 1896 คุณพ่อแย็นวัวสซ์ลงมือสร้างบ้านพักพระสงฆ์ ชั่วระยะไม่กี่วัน ก็ตั้งเสาและทำหลังคามุงกระเบื้อง แต่เกิดพายุใหญ่พัดบ้านซึ่งกำลังสร้างไว้ยังไม่มั่นคงนักพังเรียบ เสาหนักมากล้มลงดึงเอาเครื่องบนพังลงมากองเป็นเศษไม้ คุณพ่อไม่ท้อใจ รีบทำการก่อสร้างใหม่ ภายในสองปีต่อมา บ้านพักพระสงฆ์ก็เสร็จเรียบร้อย
 
คุณพ่อประจำอยู่ที่บ้านนี้ไม่ทันครบ 1 ปี ก็ล้มป่วยอีกครั้ง และต้องเดินทางกลับไปรักษาตัวที่ประเทศฝรั่งเศส คุณพ่ออยู่ที่บ้านเกิดนาน 3 ปี สุขภาพดีขึ้น ไม่มีใครสังหรณ์ใจว่าการป่วยคราวนี้จะเป็นพระยามัจจุราชคร่าชีวิตคุณพ่อ นำความเศร้าโศกเสียดายมาให้แก่พี่น้องอย่างสุดซึ้ง ในปี ค.ศ. 1903 คุณพ่อรบเร้าขอเดินทางกลับมาประเทศไทย ถึงกรุงเทพฯ เดือนกันยายน พอดีเป็นเวลาเข้าเงียบประจำปีของพระสงฆ์คณะมิสซังต่างประเทศ คุณพ่อรับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากเพื่อนพระสงฆ์เหมือนเดิมทุกประการ และก็ไม่มีใครเลยจะสงสัยว่าวาระสุดท้ายของคุณพ่อกำลังใกล้เข้าเต็มทีแล้ว
 
พระสังฆราชหลุยส์ เวย์ อนุญาตให้คุณพ่อแย็นวัวสซ์กลับไปอยู่ที่วัดปากคลอง ซึ่งคุณพ่อรักมาก และสัตบุรุษก็รักคุณพ่อเช่นกัน คุณพ่อวางโครงการเริ่มงานใหม่ๆ หลายอย่าง อนิจาอีก 8 เดือน พระทรงเรียกคุณพ่อไปเสียแล้ว
 
โรคที่คร่าชีวิตของคุณพ่อไปอย่างกระทันหัน ปรากฏให้เห็นชัดเจนหลังฉลองวันแม่พระเยี่ยมนักบุญเอลิซาเบธ เป็นวันฉลองวัดปากคลองท่าลาดพอดี ที่จริง แต่วันที่ 3 กรกฎาคม เพื่อนพระสงฆ์ซึ่งมาร่วมการฉลอง สังเกตเห็นคุณพ่อเหนื่อยและอ่อนเพลียมาก ไตไม่ทำงานตามปรกติ ซ้ำร้ายมีโรคบิดแทรกซ้อนอีก คุณพ่อมีความรู้เรื่องยากลางบ้านบ้าง คุณพ่อคิดว่า รักษาตนเองได้   จึงรับประทานยาดังกล่าว แต่ยาที่คุณพ่อรับก็ไม่อาจตัดสมุติฐานของโรคได้ ยิ่งกว่านั้น โรคกลับแผ่ขยายพิษร้ายอย่างรวดเร็ว พวกคริสตังตกใจมากรับนำคนป่วยไปที่บ้านพักของคุณพ่อสมิตที่วัดแปดริ้ว คุณพ่อรีบส่งคุณพ่อเข้าโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ทันที
 
อนิจจา! ทุกอย่างสายเกินแก้เสียแล้ว คุณพ่อเข้าโรงพยาบาลวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1904 ซิสเตอร์ของโรงพยาบาลดูแลพยาบาลคุณพ่อเต็มความสามารถ คุณพ่อมีอาการทรุดลงไปเรื่อยๆ ต้องทรมานมากตลอด 15 วัน พระสังฆราชหลุยส์ เวย์ เองประกอบพิธีศีลเสบียง แก่ท่าน พระสังฆราชถือเป็นหน้าที่โปรดศีลแก่คุณพ่อ เพราะท่านรักคุณพ่อมาก ระหว่างคุณพ่อป่วย พระสังฆราชมาสนทนาเรื่องสวรรค์บ่อยครั้ง
 
วันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1904 คุณพ่อแย็นวัวสซ์ก็มอบวิญญาณแด่พระเป็นเจ้า เพื่อนพระสงฆ์จำนวนมากมาร่วมในพิธีปลงศพของคุณพ่อที่วัดกาลหว่าวร์ ศพของคุณพ่อฝังอยู่ในวัดที่สวยงามแห่งนี้ รอการกลับเป็นขึ้นมาอย่างรุ่งเรืองต่อไป
 
ผู้บันทึกข้อความที่เราถ่ายทอดมาข้างต้น ได้เขียนรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณธรรมของคุณพ่อผู้ล่วงลับไว้ดังนี้ “สิ่งที่ข้าพเจ้าพิศวงอย่างยิ่งในตัวคุณพ่อ คือ คุณพ่อขืนตัว ทำงานหนัก และเสียสละ ยอมอยู่ในสภาพขาดแคลนที่คุณพ่อประสบอยู่เป็นประจำตลอดชีวิต แม้ว่า ขณะยังอยู่ในวัยเด็ก วัยหนุ่มอยู่ คุณพ่อมีฐานะความเป็นอยู่สบายดีมาก    เมื่อคุณพ่อดูแลการก่อสร้าง หรือเดินทางไกล เพื่อหาซื้ออุปกรณ์ก่อสร้างที่จำเป็น คุณพ่อก็อดทนต่อความเหน็ดเหนื่อย โดยไม่ปริปากบ่นเลยความเป็นอยู่ของคุณพ่อค่อนข้างอัตคัด ในการเดินทางโดยใช้เรือแจวเป็นพาหนะ คุณพ่อก็รับประทานอาหารเหมือนกับคนแจวเรือ
 
คุณพ่อเป็นคนศรัทธาและมีใจร้อนรน คุณพ่อต้องการให้วัดของคุณพ่อไม่แพ้วัดอื่น คุณพ่อก็ปรับปรุงตกแต่งวัดให้งดงามเสมอ บรรดาคริสตังให้ความร่วมมือกับคุณพ่ออย่างดียิ่ง เขาช่วย  คุณพ่อทางกำลังกาย และมีอะไรก็ถวายแก่คุณพ่อตามมีตามเกิดคุณพ่อใจดีต่อเพื่อนพระสงฆ์และพร้อมเสมอช่วยเหลือ คุณพ่อทุ่มเทกำลังใจกายและสุขภาพในการสร้างหมู่บ้านวัดปากคลองท่าลาดให้เป็นปึกแผ่น มีเรื่องน่าเสียดายอยู่อย่างเดียว คือ คุณพ่อพูดภาษาไม่ชัด เนื่องจากลิ้นไม่อำนวย แม้มีข้อบกพร่องในเรื่องภาษา มีพระสงฆ์อยู่ประจำแล้ว ก็เพราะบุญคุณของคุณพ่อนั่นแหละ”