คุณพ่อ จืลส์ กิยู

 

 

คุณพ่อ จืลส์ กิยู

Jules GUILLOU

 

คุณพ่อ จืลส์ กิยู  เกิดวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1862 ที่ แอกเกรอเฟอย แขวงลัวร์ แองแฟรีเออร์  สังฆมณฑลนังต์ คุณพ่อเข้าบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศ วันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1880 รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1885 คุณพ่อออกเดินทางไปมิสซังสยาม วันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 1885
 
พระสังฆราชหลุยส์ เวย์ ซึ่งเวลานั้นเป็นประมุขมิสซัง รู้สึกปิติยินดีมากที่ได้รับมิชชันนารีมาช่วยงานเพิ่ม และส่งไปเรียนภาษาจีน ทั้งเป็นปลัดที่วัดกาลหว่าร์ แต่เนื่องจากเวลานั้น ทางโรงเรียนอัสสัมชัญ ซึ่งคุณพ่อกลอมเบต์ บริหารงานประสบผลสำเร็จดี กำลังต้องการอาจาย์หลายคน คุณพ่อกิยูจึงได้รับไปสอนภาษาฝรั่งเศส ขณะเดียวกัน คุณพ่อก็เรียนภาษาอังกฤษ และภาษาไทยด้วยตัวเอง
 
เราคงพูดได้อย่างเต็มปากว่า เวลาอาจารย์หนุ่มผู้นี้ลงมือทำงานด้วยใจรัก บรรดาผู้ใหญ่ ผู้ปกครองของเขาคงสังเกตได้โดยเร็วว่า ความร้อนรนของคุณพ่อน่าจะมีสนามงานกว้างกว่านี้ ความคิดริเริ่มของคุณพ่อ ความบากบั่นในการงาน การมองชะตากรรมทั้งดีและเลวในแง่ดีของ คุณพ่อน่าจะได้เอาใช้ในงานที่มีวงกว้างกว่านี้ ต่อจากนั้น ในปี ค.ศ. 1887 พระสังฆราชหลุยส์ เวย์ มอบหมายให้คุณพ่อไปอยู่ที่บางปลาสร้อย หมู่บ้านนี้รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับการเยี่ยมเยี่ยนครั้งแรกๆ ของคุณพ่อและเราอาจพูดได้ว่า คุณพ่อยังคงรักษาความผูกพันเป็นพิเศษ บางปลาสร้อย ที่ซึ่งพระสังฆราชปัลเลอกัวเคยไปเยี่ยม ประมาณปี ค.ศ. 1838 มิได้เป็นศูนย์คริสตังชาวจีนที่สำคัญมากนัก ไม่ทั้งเมื่อก่อนและเวลานี้ดวย แต่ก็เป็นกลุ่มคริสตังเล็กๆ ที่คุณพ่อมีอยู่ คุณพ่อเกโก เป็นองค์แรก และต่อมาก็คุณพ่อกิยู รู้จักหาพวกคริสตังเท่าที่จะเป็นในการจัดตั้งวัดที่โคกกะเหรี่ยง ที่เมืองพนัส และที่หัวไผ่
 
จากบางปลาสร้อย เราคงสามารถวาดภาพอันน่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่งได้ ที่ท่าน้ำทะเลนี้ มีอุตสาหกรรมจำพวกหมักเกลือ และน้ำปลา บรรดาชาวบ้านจำนวนมากพอสมควร ไม่ค่อยคิดถึงวิญญาณของเขาเท่าไรนัก ในสมัยนั้น ชาวบ้านมีการติดต่อกับทางเมืองหลวงน้อยมาก ดังนั้น จึงได้รับอิทธิพลทางกฎหมายน้อยมาก พวกเขาค่อนข้างหยาบคายสักเล็กน้อย เป็นชาวประมงบ้านนอก เป็นคนทำไร่ ทำนา ปลูกยาสูบและต้นอ้อย ศาสนาคาทอลิกไม่ดึงดูดความสนใจของพวกเขาเท่าไรนัก แต่คุณพ่อกิยูไม่ย่อท้อ คุณพ่ออยู่ท่ามกลางคนเฉื่อยชา มีใจผูกพันอยู่กับศานาพุทธมาก ดื้อดึงต่อคำสอนคริสตัง และเรื่องงมงาย การแพร่ธรรมของ คุณพ่อจึงไม่ค่อยได้ผล การอยู่ที่บางปลาสร้อยของคุณพ่อนั้น จึงต้องเป็นการรอ การเตรียมงาน และการเอาใจใส่เรียนรู้ภาษาอย่างจริงจัง เรียนรู้ขนบธรรมเนียมประเพณี และพุทธศาสนา ในบรรดามิชชันนารีทั้งหมดในมิสซังสยาม คุณพ่อกิยู ต้องเป็นคนหนึ่งที่สนใจเรียนรู้ศาสนาพุทธสมัยเก่าแก่ ห้องสมุดของคุณพ่อทำให้เชื่อเช่นนั้น เช่นเดียวกับการสนทนาของคุณพ่อในเรื่องนี้ คุณพ่อพูดออกมาจากใจว่า เพื่อจะได้ลิ้มรสของคุณธรรมต่างๆ ของชาวบ้าน จึงจำต้องเรียนรู้เรื่องศาสนาของพวกเขา และมิชชันนารีผู้นี้ซึ่งดำรงชีวิตอยู่เป็นเวลานานในประเทศนี้ เป็นคนเดียวที่สามารถเรียนรู้เรื่องนี้ได้ เมื่อพูดถึงชาวไทย ชาวเขมร หรือชาวลาว พุทธศาสนาซึ่งมีวัฒนธรรมพราหมณ์ปะปนอยู่บ้างนั้น เป็นท่อธารด้านศาสนาท่อเดียวที่พวกเขามีอยู่ พวกชาวต่างชาติเมื่อมาอยู่ในสยามภายในระยะเวลาอันสั้น ก็รู้สึกนิยมชมชอบพวกชาวพื้นเมืองในสิ่งที่พวกเขาเชื่ออย่างซื่อๆ ง่ายๆ ว่า เป็นคุณธรรมที่มาจากพุทธศาสนา ชาวต่างชาติคนหนึ่งพูดกับมิชชันนารีองค์หนึ่งว่า “ดูซิ ชาวไทยนี่ช่างมีใจเมตตาและต้อนรับแขกดีจริง พวกเขาได้สร้างศาลาเล็กๆ ให้ผู้เดินทางได้พักผ่อนตามทางแยก ตามชายป่า และตามริมฝั่งแม่น้ำ ที่ศาลายังมีโอ่งน้ำเพื่อให้คนอื่นแก้กระหายน้ำ และม้านั่งหนึ่งตัวเพื่อนั่งพัก” มิชชันนารีตอบผู้พูดอย่างแกล้งตลกว่า “การกระทำเช่นนี้ไม่เกี่ยวกับคุณธรรมของเมตตากรุณาเลย ชาวพุทธ ที่ทำเช่นนี้ ทำไปเพื่อหวังผลบุญ แต่ในเวลาเดียวกัน การทำเช่นนี้เป็นการหลีกเลี่ยงไม่ต้องต้อนรับผู้เดินทางเข้ามาในบ้านของพวกเขาเอง”
 
เมื่อถึงเวลาที่คุณพ่อเกโก ต้องจากไปชั่วนิรันดร เพื่อรับรางวัลที่คุณพ่อสมควรได้รับ คุณพ่อกิยู ก็พร้อมที่จะไปรับตำแหน่งดูแลวัดหัวไผ่แทน ในปี ค.ศ. 1897 วัดนี้อยู่ใกล้วัดบางปลาสร้อย ที่ซึ่งคุณพ่อคงจะต้องทำให้ความปรารถนาที่จะจัดตั้งกลุ่มชาวนาขึ้นนานมาแล้ว เป็นจริงได้ ระหว่างเมืองพนัสและเมืองแปดริ้ว มีทุ่งกว้างเขียวชอุ่มด้วยต้นหญ้า หลายๆ ครั้ง คุณพ่อเกโก นักเดินที่ไม่รู้จักเหนื่อย ได้เดินทางข้ามทุ่งกว้างนี้ และหวังว่าพื้นดินจะอุดมสมบูรณ์เพื่อการปลูกข้าว ในปี ค.ศ. 1872 คุณพ่อเกโก ได้ทำการสำรวจอย่างละเอียด และได้ค้นพบว่ามีที่แห่งหนึ่งสูงจนน้ำท่วมไม่ถึง คุณพ่อจึงไปตั้งรกรากอยู่ที่นั่นกับพวกคริสตังบางคน น่าเสียดายที่ทุ่งกว้างนี้มีพวกข้างมาคอยรบกวนมิชชันนารีในการเดินทางสำรวจ อย่างไรก็ดี  ตอนเข้าตรู่คุณพ่อเกโกเก็บเครื่องของใช้
 
ประกอบพิธีไว้ในหีบใบหนึ่ง และให้คนรับใช้คนหนึ่งปีนเอาขึ้นไปไว้บนต้นไม้สูง ซึ่งอยู่ใกล้บ้านพักของคุณพ่อ เมื่อได้ยินเสียงฝูงช้างมาทางด้านหนึ่ง คุณพ่อเกโกก็ไปอยู่อีกด้านหนึ่งอย่างสบายใจ คุณพ่อเดินทางไปทั่วทุกทิศของทุ่งราบ และรู้ดีว่าเหมาะที่จะทำการเกษตร ในทุ่งกว้างนี้ มีศูนย์กลาง อยู่ที่หัวไผ่ ซึ่งมีเนื้อที่ดินที่สามารถทำการเพาะปลูกได้จำนวน 2500 เฮกตาร์ (14,000 กว่าไร่) จึงได้จัดทำเขตแดนตีวงกว้างออกไป เหลือแต่จะต้องจัดทำให้ถูกรูปแบบนิดหน่อย ขับไล่พวกที่อาศัยอยู่ด้วย ซึ่งเวลานั้นมิใช่ใครอื่น คือ พวกช้างตัวมหึมาจำนวนหลายร้อยตัว
 
เราเข้าใจว่าคุณพ่อเกโกได้ไปขอซื้อปืนเก่าๆ ในราคาถูกจากกงสุลฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ คุณพ่อยังหาซื้อดินปืนด้วย และทุกๆ วัน ฝูงช้างโดนกระสุนดินปืนอย่างหนัก ภายในระยะเวลาไม่นานนัก ผืนดินก็ถูกทำให้ปราศจากช้าง แต่พวกงู ยังมีเลื้อยไปมาอยู่บ้าง ปี ค.ศ. 1873 คุณพ่อเกโกจัดทำที่พักถาวรอยู่ที่หัวไผ่ อย่างไรก็ดี คุณพ่อต้องตรากตรำทำงานอย่างหนักและนาน จึงสามารถทำให้ทุ่งราบนี้มีคุณค่าด้านการเกษตร
 
เราคงไม่ต้องเอ่ยถึงความทุกข์ทรมานทั้งหลาย ทั้งกายและใจ ที่มิชชันนารีผู้เสียสละผู้นี้ต้องทนรับอยู่ที่วัดหัวไผ่นี้ ทุกข์ทรมานที่นักบุญเปาโลได้รับ คุณพ่อกิยูก็ได้รับด้วยเหมือนกัน นอกจากเรื่องอาหารพื้นๆ ที่รับประทาน การขาดเครื่องอำนวยความสะดวก การขี่ม้าเป็นระยะทางไกลๆ นานๆ การอัปปางทางทะเล คุณพ่อยังต้องเอาชนะปัญหายุ่งยากอื่นๆ อีกมาก เช่น การขาดแคลน และเรื่องปวดหัวยุ่งยากทุกชนิด แม้แต่เรื่องการขึ้นศาล ความร้อนรนของคุณพ่อ ต้องเผชิญกับความเฉื่อยชา นิสัยหยาบของชาวตะวันออก และแล้ว อนิจจา การเสียสละทุ่มเททำงาน ไม่ได้รับความรักใคร่ชอบพอและการรู้คุณเสมอไป
 
คุณพ่อกิยู เป็นเหมือนกับพวกที่เห็นว่า วันเวลาสั้นเกินไป ทุกๆ เช้า คุณพ่อตื่นขึ้นประมาณตีสี่ และตอนเย็นจะไม่นอนก่อน 10 หรือ 11 นาฬิกา เนื่องจากสามารถพูดจีนได้หลายภาษา พูดไทยและอังกฤษ คุณพ่อกิยูจึงสามารถพูดกับชาวพื้นเมืองได้ทุกคน และกับชาวยุโรปซึ่งคุณพ่อมีโอกาส ติดต่อ คุณพ่อได้ทุ่มเทความร้อนรนในการแพร่ธรรมอย่างสุดฝีมือ อยู่ที่หัวไผ่ เมื่อต่อไปภายหน้า ประมุขมิสซังของคุณพ่อได้มอบหมายให้ดูแลเขตวัดอื่นๆ ที่สำคัญ ผืนดินจำนวนหลายพันไร่ที่ใช้ทำนา เวลานี้ที่หัวไผ่ยังคงเป็นงานชิ้นเอก และเป็นทุนทรัพย์สำหรับพวกที่มาสืบตำแหน่งต่อๆ มา
 
ในระหว่างสงคราม คุณพ่อกิยูได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดแม่พระลูกประคำ ที่กรุงเทพฯ ที่ซึ่งเคยเป็นปลัดแต่ปี ค.ศ. 1868-1888 คุณพ่อยอมรับดูแลวัดนี้ ทั้งๆ ที่เสียดายชนบทซึ่งคุณพ่อ ได้ทุ่มเททั้งหยาดเหงื่อและแรงงานอย่างมหาศาล อันที่จริง การดูแลวัดของคุณพ่อเป็นการเรียนรู้สิ่งใหม่ คุณพ่ออยู่ท่ามกลางพวกคริสตังซึ่งเกือบทุกคนเป็นชาวจีน บางคนเป็นชนชั้นค่อนข้างจะสูงศักดิ์สักหน่อยพวกพ่อค้าที่มีฐานะดี   ทุ่มให้กับธุรกิจ พวกเขาไม่ค่อยจะยอมให้เจ้าอาวาสปกครองดูแลอย่างง่ายดายเสมอไป คุณพ่อกิยู ปฏิบัติคุณธรรมนี้อย่างสม่ำเสมอ อนิจจา พลังแรงของคุณพ่อลดถอยลงตามอายุที่มากขึ้น
 
ครั้งหนึ่งในชีวิตมิชชันนารี คุณพ่อยินยอมสมัครใจขอไปสูดอากาศที่ถูกต้องด้วยสุขวิทยาและอบอุ่นบนภูเขานิลคิริส ประเทศอินเดีย เพื่อพักรักษาโรคโลหิตจางที่เกิดขึ้นหลังจากได้อยู่ที่สยามมาเป็นเวลานาน แต่คุณพ่อไม่ต้องการกลับไปรักษาตัวที่ฝรั่งเศส นอกนั้น สองวันก่อนตาย คุณพ่อสารภาพว่า คุณพ่อไม่ได้คิดว่าจะเก็บหอมรอมริบด้วยการเดินทางไปฝรั่งเศสหรือที่อื่น ในช่วงระยะเวลาการแพร่ธรรมอันยาวนานของคุณพ่อ คุณพ่ออยู่ในจำพวกมิชชันนารีที่สละทุกสิ่งที่มี เพื่อช่วยเหลือวิญญาณให้รอดจำนวนมากเท่าที่จะมากได้ ตลอดเวลาที่คุณพ่อมีชีวิตอยู่ และยังเชื่อมั่นในพระญาณสอดส่องของพระเป็นเจ้าเท่านั้น
 
ในเมื่อคุณพ่อกิยูยอมทุ่มเทช่วยพวกคริสตังอย่างมากมาย คุณพ่อยังต้อนรับพวกเพื่อนมิชชันนารีด้วยใจรักด้วยเหมือนกัน ในหน้าที่เป็นตัวแทนประมุขมิสซัง คุณพ่อมีโอกาสบ่อยๆ ที่ได้พบปะกับทั้งพวกมิชชันนารีและพระสงฆ์พื้นเมืองของมิสซัง เราชอบไปพบและขอคำแนะนำจากคุณพ่อ เพียงแต่ได้อยู่กับคุณพ่อไม่นานเท่าไร ก็สามารถรู้สึกได้รับการบรรเทาใจ และได้รับกำลังใจในการทำงานให้ดีขึ้น
 
ตั้งหลายปีมาแล้ว คุณพ่อได้ทนทุกข์ทรมานมากด้วยโรคตับ การผ่าตัดคงจะเหมาะ แต่เนื่องจากอายุท่านนั้น 76 ปีแล้ว จึงถูกห้ามมิให้ทำการผ่าตัดใดๆ ทั้งสิ้น นายแพทย์เพียงให้ยาที่ช่วยบรรเทาผู้ป่วยบ้างเท่านั้น และไม่สามารถทำให้โรคมะเร็งหยุดกำเริบได้ การที่เข้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์หลายครั้ง ทำให้คุณพ่อคาดการเรื่องวันตายอันใกล้ได้ คุณพ่อเข้าโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์เป็นครั้งสุดท้าย เมื่อวันอังคารหลังปัสกา วันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 1937 การที่ต้องเหน็ดเหนื่อยมากเนื่องจากมีงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และความร้อนอบอ้าวในช่วงสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ ทำให้คุณพ่อต้องหยุดทำงาน คุณพ่อไม่สังหรณ์ใจว่าการพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลที่โรงพยาบาล จะเป็นเพียงแค่ระยะเวลาอันสั้น อันที่จริง คุณพ่อกิยู เกิดเป็นโรคปอดอย่างร้ายแรงที่สุด จนทำให้คุณพ่อต้องจากไปภายในไม่ถึง 48 ชั่วโมง คุณพ่อได้รับศีลเสบียงจากมือของพระสังฆราชแปร์รอส โดยรู้สึกตัวดี ในวันพุธที่ 7 เมษายน ค.ศ. 1937 มีบรรดามิชชันนารีที่กรุงเทพฯอยู่เคียงข้างด้วย และในวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นวันฉลองระลึกถึงวันที่ออกเดินทางมามิสซังของคุณพ่อ คือ เมื่อ 52 ปีที่ผ่านมา คุณพ่อก็คงไปปรากฏตัวต่อหน้าพระเป็นเจ้า เพื่อรับรางวัลที่คุณพ่อสมควรได้รับเป็นอย่างยิ่ง
 
พระสังฆราชเป็นประธานในพิธีปลงศพ โดยมีพระสงฆ์ประมาณ 15 องค์ร่วมประกอบพิธี และมีสัตบุรุษทุกคนร่วมสวดภาวนาต่อหน้าหีบศพ ร่างอันไร้วิญญาณของคุณพ่อกิยู ถูกฝังไว้ที่วัดแม่พระลูกประคำกาลหว่าร์ กรุงเทพฯ ที่ซึ่งคุณพ่อได้รับการดูแลอยู่นานในระหว่างที่รอคอยการกลับเป็นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
 
แก้ไขเพิ่มเติม
ปี ค.ศ. 1885-1886 คุณพ่อกิยู รับแต่งตั้งเป็นพ่อปลัด ที่วัดกาลหว่าร์ คุณพ่อเป็นอาจารย์ สอนภาษาฝรั่งเศส ในโรงเรียนอัสสัมชัญ ของคุณพ่อกลอมเบต์
 
ปี ค.ศ. 1887-1892 คุณพ่อเป็นเจ้าอาวาส ที่บางปลาสร้อย
 
ปี ค.ศ. 1893 คุณพ่อรับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดนักบุญเปโตรและสาขา คือ วัดนักบุญ อันนา ท่าจีน, วัดสองพี่น้อง มีคุณพ่อปลัดเก่า ชื่อ คุณพ่ออัมบรอซิโอ องค์เก่า เมื่อปี ค.ศ. 1894 คุณพ่อได้รับคุณพ่อปลัดอีกองค์หนึ่ง ชื่อ คุณพ่อแปร์รอส และนอกจากคุณพ่อปลัดองค์นี้ช่วยที่วัดนครชัยศรี ก็ได้รับให้ไปดูแลที่วัดท่าจีน เป็นพิเศษด้วย ส่วนคุณพ่อกิยู กับคุณพ่ออัมบรอซิโอ คุณพ่อก็ไปแพร่ธรรมเปิดกลุ่มคริสตชนอีก 2 แห่ง คือ ที่บ้านดอน และมดแดง ทั้งไปดูแลกลุ่มสองพี่น้อง (โปรดดูประวัติวัดนครชัยศรี)
 
ต้นปี ค.ศ. 1896 คุณพ่อรับคุณพ่อปลัดองค์หนึ่ง คือ คุณพ่อหลุยส์ เล็ตแชร์ ที่จะตระเวณตามแม่น้ำลำคลอง ไปแพร่ธรรมตามวัดสาขาต่างๆ เหล่านั้น
 
ในปีเดียวกันนี้เอง ปี ค.ศ. 1896 คุณพ่อกิยู รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสที่วัดหัวไผ่ และอยู่ที่นั่นจนถึง ปี ค.ศ. 1906 
 
ปี ค.ศ. 1907 คุณพ่อเหนื่อย จึงไปรักษาตัวและพักผ่อน ที่สถานพักผ่อนบนภูเขานิลคิริส  ในอินเดีย พอถึงนิลคิริสแล้ว คุณพ่อถูกเรียกมาเป็นเจ้าอาวาสวัดเพลง แทนคุณพ่อเปอตีต์ ผู้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดแม่พระลูกประคำ กาลหว่าร์
 
ปี ค.ศ. 1909 คุณพ่อกลับไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ที่หัวไผ่
 
ปี ค.ศ. 1914 คุณพ่อย้ายไปรับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส  วัดแม่พระลูกประคำ กาลหว่าร์
 
คุณพ่อมรณภาพวันที่ วันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 1937