คุณพ่อ เออเยน นิโกลาส แกรมฟ์

 

 

คุณพ่อ เออเยน นิโกลาส แกรมฟ์

Eugène KREMPF

 

 
คุณพ่อ เออเยน นิโกลาส แกรมฟ์  เกิดวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1866  ที่วัดนักบุญวินเซนต์ เดอปอล ในกรุงปารีส แขวงแซน คุณพ่อเข้าทำงานอยู่ในร้านขายของชำแห่งหนึ่งก่อน แล้วจึงเข้าเกณฑ์ทหาร คุณพ่อเริ่มเรียนชั้นมัธยมเมื่อมีอายุได้ 24 ปี เรียนจบภายใน 3 ปี ที่ซังเตอปี แขวงอิลเลวแลน และเข้าบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศ เมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 1893 รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ วันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1898   และได้รับมอบให้ไปแพร่ธรรมในมิสซังกรุงสยาม  คุณพ่อออกเดินทางไปมิสซังสยาม วันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1898
 
ขั้นแรก คุณพ่อเป็นอาจารย์สอนเรียนอยู่ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ แล้วก็ได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดวัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา ปี ค.ศ. 1898-1900 ต่อมาในปี ค.ศ. 1901-1909  เป็นปลัดวัดนครชัยศรี ซึ่งมีคริสตังอยู่ 1,200 คน และในปี ค.ศ. 1912  คุณพ่อเป็นเจ้าอาวาสวัดนครชัยศรี
 
คุณพ่อมีความชื่นชมยินดี ที่สังเกตเห็นพวกคริสตังของคุณพ่อมีนิสัยเป็นคนมีระเบียบ คุณพ่อจึงทุ่มเทในการอภิบาลพวกเขา ถึงแม้ว่าจะต้องฟันฝ่าความยุ่งยากพิเศษต่างๆ เพื่อเรียนรู้ภาษา คุณพ่อก็ไม่ย่อท้อและพยายามเรียนสม่ำเสมอ โดยหาโอกาสที่ว่างทั้งหมดมาเรียนอ่าน เขียน ให้แก้คำผิด และท่องบทต่างๆ จนขึ้นใจ เพื่อใช้เทศน์ให้พวกคริสตังในวันอาทิตย์
 
งานที่คุณพ่อเน้นเป็นพิเศษ คือ การสอนคำสอนพวกเด็กๆ คุณพ่อเชื่อมั่นว่า ความเชื่อของพวกคริสตัง และความซื่อสัตย์ต่อพระเป็นเจ้า โดยทั่วๆ ไป ขึ้นอยู่กับความรู้ทางศาสนา คุณพ่อจึงมุ่งเสมอๆ ที่จะให้ความรู้ทางศาสนาอย่างมากมาย จนกว่าเวลานั้น จึงมีการมุ่งเน้นให้เด็ก มาเรียน และฟังอธิบายคำสอน จนถึงเวลารับศีลมหาสนิทอย่างสง่า เป็นอันว่า จบการเรียนคำสอน คุณพ่อแกรมฟ์เห็นว่า ควรจะให้เรียนมากกว่านี้ คุณพ่อจึงแบ่งพวกนักเรียนออกเป็นชั้นๆ หลายชั้น และด้วยการจัดลำดับชั้นที่ต้องเรียนผ่านเป็นขั้นๆ นี่เอง  คุณพ่อจึงสามารถทำให้นักเรียนทั้งหลายบรรลุถึงเป้าหมายตามปรารถนา  คือ  การรับศีลมหาสนิทอย่างสง่า แล้วในฐานะทหารใหม่ของพระคริสต์  
 
ที่เพิ่งเรียนจบ อาจลืมบทเรียนที่ได้เรียนมา คุณพ่อจึงมุ่งมั่นให้เด็กๆ พวกนี้มาฟังคำสอนต่ออย่างสม่ำเสมอทุกวันอาทิตย์
 
นอกจากร้อนรนต่อการสอนคำสอนให้พวกคริสตังแล้ว คุณพ่อที่รักของเราผู้นี้ยังได้มุ่งค้นหาข้อบกพร่องทั้งหมดที่เพาะขึ้นมาในพวกเรา และดำเนินการลงโทษอย่างเคร่งครัด
 
ตั้งแต่สมัยคุณพ่ออังเดรได้สร้างวัดเป็นอิฐ  เหมาะสมมากสำหรับสมัยนั้น คือ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1880-1886 จำนวนคริสตังก็เพิ่มทวีขึ้นเป็นสองเท่าตัว วัดยังแข็งแรงอยู่ แต่ใหญ่ไม่พอที่จะบรรจุคริสตัง ในปี ค.ศ. 1910-1911  คุณพ่อแกรมฟ์  ได้ขยับขยายให้กว้างออกไป และปรับปรุงให้วัดสวยงามขึ้น โดยต้องทั้งเหน็ดเหนื่อยและลำบากใจเท่าใด พระเจ้าเท่านั้นที่รู้ดี เราทราบได้จากประโยคที่คุณพ่อเขียนรายงานให้พระสังฆราชของคุณพ่อ ในจดหมายฉบับหนึ่งซึ่งคุณพ่อแสดงความชื่นชมยินดีที่ได้บรรลุถึงเป้าหมาย ซึ่งตั้งความหวังไว้ คือ การขยับขยายวัดให้กว้างใหญ่ขึ้น คุณพ่อเขียนข้อความว่า “แต่ กระผมไม่สามารถทำงานอย่างที่ได้ทำในปี ค.ศ. 1910 นั้นอีกแล้ว”
 
ในช่วงปีหลังๆ นั้น คุณพ่อรับผิดชอบดูแลปกครองวัดนครชัยศรี โดยมีผู้ช่วยเป็นพระสงฆ์พื้นเมืององค์หนึ่ง คุณพ่อแกรมฟ์จึงหันมาหาความสุขใจ ใกล้พระเยซูในศีลมหาสนิท แม้ในเวลากลางวัน คุณพ่อเหน็ดเหนื่อยต่องานอภิบาล ในเวลากลางคืน คุณพ่อยังได้สวดภาวนาอยู่ในห้องหลังวัด และพระเป็นเจ้าเท่านั้นที่ทรงทราบว่าคุณพ่อใช้เวลายาวนานเท่าใดในการรำพึงภาวนาอยู่เชิงพระ เแท่น
 
นี่แหละ คือ คุณพ่อแกรมฟ์ ผู้ซึ่งมีใจเบิกบาน ชอบแก้ข้อบกพร่อง แต่มีใจกว้าง ใจดี ใจเมตตากรุณา ศรัทธาและร้อนรน เพื่อนของคุณพ่อคนหนึ่งเขียนบอกเราว่า คุณพ่อได้เอาคำพูดของผู้ศรัทธาคนหนึ่งมาปฏิบัติเหมือนเป็นคำพูดของตนเองว่า “กระผมปรารถนาที่จะใช้เวลาบนสวรรค์ทำคุณงามความดีบนโลกนี้”
 
เราขอนำข้อคิดของคุณพ่อมาบอกให้ทราบว่า นอกจากความสุขใจในการถวายบูชามิสซาแล้ว คุณพ่อไม่มีความสุขใจอื่นใดในมิสซัง นี่หมายความว่า คุณพ่อเป็นทุกข์ทรมานมากในทุกๆ ด้าน ความทุกข์ทรมานด้านจิตใจ คือ ความยากลำบากต่างๆ ที่ประสบในการเรียนภาษา ทำให้คุณพ่อทุกข์ใจมากตอนแรกๆ แต่คุณพ่อซึ่งใฝ่ฝันเพียงเพื่อทำงานช่วยวิญญาณมนุษย์ให้รอด ในที่สุด ก็ถามตัวเองว่า คุณพ่อจะทำประโยชน์อะไรได้บ้างในประเทศนี้หรือ?  ความทุกข์ทรมานทางกาย หลังจากคุณพ่อมาอยู่ในมิสซังสยามได้สองปี โรคภัยไข้เจ็บทำให้คุณพ่อต้องกลับไปพักรักษาตัวในยุโรป คุณพ่อกลับมาโดยยังไม่หายดี คุณพ่อเป็นโรคนิ่ว  ความทุกข์ทรมานยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น และต้องทรมานบ่อยขึ้น  จนต้องให้ทำการผ่าตัด และให้แพทย์ที่เชี่ยวชาญที่สุดของโรงพยาบาล
 
เซนต์หลุยส์เป็นผู้ผ่าตัด โดยมีแพทย์ผู้ช่วยสองคน การผ่าตัดประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี แต่ก่อนทำการผ่าตัดนั้น คุณพ่อต้องทนทุกข์ทรมานสักเท่าใด
 
ตั้งแต่นั้นมา สุขภาพของคุณพ่อแกรมฟ์ก็กลับสู่สภาพดี จึงทำให้คุณพ่อสามารถดูแลปกครองวัดได้ต่อไป พร้อมทั้งยังดำเนินงานปรับปรุงวัดด้วย ซึ่งให้ความหวังว่า คุณพ่อจะสามารถทำงานช่วยวิญญาณทั้งหลายให้รอดได้อีกเป็นเวลานาน แต่อยู่มาวันหนึ่ง คือ วันที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 1912  อหิวาตกโรค  ได้มาทำให้คุณพ่อต้องพรากจากเราไป ภายในเวลา 24 ชั่วโมง
 
ตั้งแต่คุณพ่อเริ่มเป็นโรคอหิวาต์ คือ ในตอนเช้าของวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 1912 คุณพ่อตีโมเธ  ปลัดของคุณพ่อ ในขณะที่กำลังเยี่ยวยารักษาคุณพ่อด้วยยาต่างๆ เท่าที่มีอยู่  ก็ได้ส่งคนไปบอกข่าว ซึ่งไปถึงกรุงเทพฯเอาตอนเย็นแล้ว คุณพ่อการ์ตองเหรัญญิกของมิสซัง  ได้ออกเดินทางโดยรถไฟขบวนแรกของวันรุ่งขึ้น นำยาต่างๆ ที่แพทย์เตรียมไว้ให้ ตัวนายแพทย์เองก็ออกเดินทางตามไปหลังจากนั้นเพียงเล็กน้อย อนิจจา !  ทุกอย่างไม่มีประโยชน์อะไรแล้ว  ขณะที่คุณพ่อการ์ตองกำลังเดินทางไปอยู่นั้น  ก็ได้พบผู้ส่งข่าวคนใหม่อีกคนหนึ่งมาบอกว่า  คุณพ่อแกรมฟ์ได้ถวายวิญญาณคืนให้พระเป็นเจ้าไปเมื่อตอนเย็นวันที่เริ่มป่วยนั้นเอง
 
เมื่อคุณพ่อรู้ตัวว่าป่วยหนัก จึงขอแก้บาปครั้งสุดท้ายและรับศีลเจิมคนป่วย แต่การป่วยหนักทำให้คุณพ่อไม่สามารถรับศีลเสบียงได้ และแล้ว เมื่อเห็นว่ายาต่างๆ ไม่สามารถรักษาโรคร้ายนี้ได้ คุณพ่อจึงขอให้นำกระดาษาและดินสอมาให้ และคุณพ่อได้เขียนคำอำลาสองสามคำ ถึงพระสังฆ ราชและบรรดาเพื่อนพระสงฆ์ของคุณพ่อว่า ขอให้อภัยความผิดและช่วยสวดภาวนาให้คุณพ่อด้วย เมื่อเขียนเสร็จ คุณพ่อก็ขอให้พาไปนั่งที่เก้าอี้ตัวหนึ่ง    บนระเบียงฝั่งวัด และ ณ ที่นั้น คุณพ่อได้ให้ข้อแนะนำครั้งสุดท้ายต่อบรรดาสัตบุรุษที่วิ่งร้องห่มร้องไห้มาเป็นจำนวนมาก เมื่อพวกเขารู้ข่าวว่าคุณพ่อป่วย คุณพ่อนัดพบกับพวกเขาบนสวรรค์ ส่วนพวกคริสตังก็สวดภาวนาให้คุณพ่อ คุณพ่อยังเสนอวิงวอนนักบุญยอแซฟ ซึ่งคุณพ่อรักมาก และเพิ่งฉลองระลึกนามไปนั้น คุณพ่อผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์และใจเมตตา เชื่อมั่นว่า ความตายกำลังใกล้เข้ามา จึงหันหน้าไปทางตู้ศีลมหาสนิท ความตาย ทำให้คุณพ่อกลับไปอยู่กับพระผู้ที่คุณพ่อได้รับใช้เป็นอย่างดียิ่ง เวลานั้นเป็นเวลา 19.30 น.  ผู้ที่ตายในศีลในพรของพระเป็นเจ้า เป็นสุข ผลบุญที่เขาทำไว้ได้ตอบสนองเขาแล้ว.
 
คุณพ่อ เออเยน นิโกลาส แกรมฟ์  มรณภาพวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 1912  ที่วัดนักบุญเปโตร สามพราน (วัดนครชัยศรี)