คุณพ่อ เออเยน เล็ตแชร์

 
 

คุณพ่อ เออเยน เล็ตแชร์

Eugène LOETSCHER

 
 
คุณพ่อ เออเยน เล็ตแชร์ เกิดวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1873 ที่วุนไฮม์ เมืองสตราสบูรก์ จังหวัดโรงแรง  คุณพ่อเข้าบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศ รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ วันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 1897 และในวันที่ 25 สิงหาคมต่อมา คุณพ่อก็ได้ออกเดินทางไปมิสซังสยาม ที่ซึ่งพี่ชายของคุณพ่อ ชื่อ หลุยส์ ได้ไปถึงก่อน ในปี ค.ศ. 1894
 
คุณพ่อเออเยน เล็ตแชร์ ได้รับมอบหมายให้ไปอยู่ที่นครชัยศรี เพื่อเรียนภาษา และในปี ค.ศ. 1899 คุณพ่อได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดอยู่ที่วัดนี้
 
ในปี ค.ศ. 1900 คุณพ่อท็อกแกล่ร์ เจ้าอาวาสวัดนครชัยศรีไม่สบาย ถูกย้ายไปอยู่บางช้างกับคุณพ่อซังมอง คุณพ่อเล็ตแชร์ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดนครชัยศรี แล้วก็ประจำอยู่ที่นั่นจนถึงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1903
 
ปี ค.ศ. 1903 คุณพ่อยือกลาร์ เจ้าอาวาสวัดปากคลองท่าลาด ย้ายไปอยู่วัดท่าเกวียนในฐานะเจ้าอาวาส คุณพ่อเล็ตแชร์จึงรับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดปากคลองท่าลาดแทน และดำเนินงานก่อสร้างวัด ต่อจากคุณพ่อเยนเนอวัวส์ ซึ่งเริ่มสร้างไว้แต่ก่อนจนสำเร็จ คุณพ่ออยู่ที่ปากท่าลาดจนถึงปี ค.ศ. 1907
 
ปี ค.ศ. 1907 คุณพ่อมัตตราต์ อธิการบ้านเณรบางช้าง มีอาการแสดงให้เห็นว่าอ่อนเพลีย และเนื่องจากมีสภาพเจ็บออดๆ แอดๆ คุณพ่อเล็ตแชร์จึงได้รับแต่งตั้งให้ไปประจำอยู่ที่บ้านเณร เพื่อช่วยคุณพ่อมัตตราต์
 
ปี ค.ศ. 1909 คุณพ่อมัตตราต์ ต้องกลับไปรักษาตัวที่ฝรั่งเศส ตามคำสั่งของแพทย์ คุณพ่อเออเยนเล็ตแชร์ จึงได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบ้านเณร แล้วอยู่ที่นั่นจนถึงปี ค.ศ. 1918
 
“บ้านเณรบางช้างซึ่งอยู่ในการดูแลปกครองของคุณพ่อเออเยน เล็ตแชร์ ดำเนินไปด้วยดีในสองด้าน ทั้งด้านการศึกษาและด้านความศรัทธาร้อนรน มีการรับศีลมหาสนิทบ่อยๆ แต่จำนวนนักเรียนยังมีไม่มากเท่าที่ปรารถนา เวลานี้เหลือเพียง 40 คนเท่านั้น” (คงจะเป็นไปได้ที่คุณพ่อเออเยน ซึ่งเคร่งครัดมากในเรื่องคุณภาพ จึงส่งนักเรียนออกไปเป็นจำนวนมาก)
 
ในปี ค.ศ. 1918 คุณพ่อการ์ตอง กลับมาจากการเข้าร่วมทำสงคราม คุณพ่อได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบ้านเณร ส่วนคุณพ่อเล็ตแชร์ได้รับแต่งตั้งเป็นเหรัญญิกของมิสซังแทนคุณพ่อโรมิเออซึ่งป่วย และไปประจำอยู่ที่แปดริ้ว คุณพ่อเล็ตแชร์ดำรงตำแหน่งเหรัญญิกจนถึงเดือนกันยายน ค.ศ. 1923 ขณะที่คุณพ่อเป็นเหรัญญิกนั้น คุณพ่อได้เป็นเจ้าอาวาสวัดคอนเซปชัญ ในปี ค.ศ. 1920-1922 ด้วย
 
วันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1923 คุณพ่อเออเยน ได้รับแต่งเป็นเจ้าอาวาสวัดนครชัยศรีแทนคุณพ่อเบเชต์ ผู้ซึ่งหลังจากไปพักรักษาตัวที่ฝรั่งเศสแล้ว ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดปากคลอง ท่าลาด คุณพ่อเออเยน ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนครชัยศรีเป็นเวลา 16 ปี คือ จนถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1939 และแล้ว คุณพ่อลาร์เก ปลัดก็รับตำแหน่งเจ้าอาวาสแทน
 
ในช่วงเวลา 16 ปีนั้น คุณพ่อเล็ตแชร์ได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจทั้งหมด ในการอบรมศาสนาอย่างมั่นคงให้กับเยาวชน เด็กๆ ทุกคนต้องมาร่วมมิสซาแบบสนทนาทุกๆ เช้า (คุณพ่อได้จัดพิมพ์หนังสือมิสซาวิสัชนาภาษาไทยสำหรับเด็กๆ)  ให้พวกครูและภคินีสอนคำสอนเด็กๆ ทุกวันก่อนเข้าเรียน ส่วนตัวคุณพ่อเอง ก็ดูแลสอนเด็กๆ ที่กำลังเตรียมตัวรับศีลมาสนิทอย่างสง่า พวกวัยรุ่นซึ่งขาดการเรียนเพราะไม่ได้รับอนุญาตมาก่อน ก็ต้องมาร่วมเรียนคำสอนในชั้นเรียนนี้ด้วย ดังนั้น พร้อมกับเด็กๆ ที่เตรียมสอบ ป.4 เราพบว่ามีวัยรุ่นอายุ 18, 20, 25 ปี ซึ่งกลับมาเรียนคำสอน เพื่อจะสามารถเข้าพิธีสมรสได้ ชาวบ้านพูดกันว่า “คุณพ่อเล็ตแชร์เคร่งครัดมาก แต่ในสมัยของคุณพ่อ   ทุกคนรู้คำสอนและรู้เรื่องศาสนาของพวกเขา” หลังจากสวดสายประคำ และก่อนอวยพรศีลมหาสนิท ก็มีการอธิบายคำสอนให้พวกผู้ใหญ่ทุกวันอาทิตย์ตอนบ่าย
 
คุณพ่อเล็ตแชร์ได้จัดให้ขุดคลองผ่านทุ่งนาของวัด และหลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว ก็จัดให้ทำความสะอาด และยกคันคลองทุกๆ ปี เช่นเดียวกัน พวกคริสตังที่เช่านา ก็ได้รับมอบหมายให้ดูและทำนบกั้นน้ำ เป็นต้นทำนบกั้นน้ำใหญ่ๆ ที่ใช้เป็นทางเดิน จากกลุ่มบ้านต่างๆ จนถึงวัด พร้อมกันนี้ คุณพ่อได้จัดสร้างเขื่อนกันน้ำทะเล ซึ่งขึ้นมาทางแม่น้ำ เข้ามาในทุ่งนาของวัด ฯลฯ
 
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1939 คุณพ่อเล็ตแชร์ปลดเกษียณอยู่ที่นครชัยศรีนั้นเอง แต่บางครั้งบางคราว คุณพ่อก็ไปอยู่กับพี่ชายชื่อ หลุยส์ 2-3 วัน ที่บางปลาสร้อย คุณพ่อดีใจที่ได้พบพี่ชาย แล้วก็ดีใจด้วยที่ได้กลับมาที่วัดนครชัยศรี บางทีก็กลับมาหลังจากวันรุ่งขึ้น
 
หลังจากที่คุณพ่อพี่ชายได้สิ้นชีพลงในปี ค.ศ. 1952 ที่บางปลาสร้อย คุณพ่อก็ได้จัดให้ทำหลุมเตรียมไว้สำหรับตนเองอยู่ข้างหลุมของคุณพ่อหลุยส์
 
ในปี ค.ศ. 1941 เกิดสงครามอินโดจีน คุณพ่อเล็ตแชร์ซึ่งมีสัญชาติฝรั่งเศสก็ได้โอนสัญชาติเป็นสวิส จึงทำให้คุณพ่อสามารถสืบตำแหน่งต่อจากคุณพ่อตาปี ที่วัดนักบุญฟรังซิสซาเวียร์  สามเสน คุณพ่อเป็นที่เคารพนับถือของทุกคน และสามารถรักษาความสงบได้  ยังความชื่นชมยินดีให้กับพวกสัตบุรุษ แม้จะมีวัยรุ่น 3-4 คน ซึ่งคุณพ่อขับไล่ไปโดยไม่กลัวเกรงอะไร แล้วพวกนั้นก็ไม่กล้ากลับมาวุ่นวายกับคุณพ่ออีก ในระหว่าง 1 ปี ที่คุณพ่อเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่สามเสน คุณพ่อดีใจที่ได้ให้ที่พักพิงนาน 6 เดือนแก่พี่ชายของคุณพ่อ ซึ่งถึงแม้ว่าได้แสดงหลักฐานว่าเป็นสัญชาติเยอรมัน และแสดงการคัดค้านอย่างแข็งขันแล้วก็ตาม ก็ยังถูกทางการห้ามมิให้อยู่ที่บางปลาสร้อย
 
ปี ค.ศ. 1942-1943 หลังจากที่คุณพ่อตาปีกลับมาแล้ว คุณพ่อเล็ตแชร์ก็รับภาระหนักในฐานะเจ้าวัดปากคลองท่าลาด ซึ่งพวกคริสตังทุกคนถูกบังคับให้ทิ้งศาสนาระหว่างมีการเบียดเบียน อาคารทุกหลัง รวมทั้งวัด บ้านพักพระสงฆ์ อารามภคินี โรงเรียน ฯลฯ ถูกทำลายหมดสิ้น ไม้ทั้งหมดถูกขายในราคาถูกๆ ที่ดินของวัดเองก็ถูกเปลี่ยนเป็นคอกควาย โดยคำสั่งของนายอำเภอพนมสารคาม ต้องให้คุณพ่อเล็ตแชร์มากู้สถานการณ์ ดึงพวกคริสตังและยึดที่ดินกลับคืนมา สร้างวัดและบ้านพักพระสงฆ์ใหม่ อาศัยความช่วยเหลือจาก คุณพ่อการิเอ เจ้าอาวาสวัดแปดริ้ว
 
เมื่อมีการแบ่งมิสซังจันทบุรีในปี ค.ศ. 1944  วัดปากคลองท่าลาดอยู่ในเขตมิสซังใหม่  คุณพ่อเล็ตแชร์ ก็ยังประจำอยู่ที่วัดนี้อีกหลายปี  เพื่อรอให้คริสตังกลุ่มนี้ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ได้กู้ฐานะกลับคืน และสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ จึงมอบให้อยู่ในความดูแลปกครองของพระสงฆ์ชาวไทยมิสซังจันทบุรี
 
คุณพ่อเล็ตแชร์ก็กับไปปลดเกษียณที่นครชัยศรี คุณพ่อใช้เวลาเพื่อจัดทำพจนานุกรมเล่มใหญ่ ภาษาจีน 5 ภาษา คือ จีนกลาง, จีนแต้จิ๋ว, จีนแคะ, จีนกวางตุ้ง และจีนไหหลำ โดยมีคำแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส คุณพ่อจัดทำด้วยความเพียรทน แต่เป็นงานที่อยู่เหนือกำลังของคุณพ่อ เพราะคุณพ่อไม่รู้จักอักษรจีน คุณพ่อได้ลอกตามพจนานุกรมจีน-อังกฤษ 5 ภาษา ซึ่งคุณพ่อมีอยู่   คุณพ่อซื้ออักษรจีนมาจากโรงพิมพ์จีน และจัดเรียงบนกระดาษแผ่นใหญ่แบ่งเป็น 5 ช่อง อย่างน้อยงานนี้ก็ทำให้คุณพ่อมีงานทำไปวันๆ และคุณพ่อก็เชื่อมั่นในคุณค่าของการทำงานชิ้นนี้ แต่คุณพ่ออื่นๆ ไม่เชื่อว่าจะทำได้ ก่อนตาย คุณพ่อบอกแก่คุณพ่อลาร์เกว่า นี่แหละคือ สิ่งที่ผมได้ทำ นี่เป็นอักษรจีน  ที่ผมได้ซื้อมา ขอให้พยายามหาพระสงฆ์ที่มาจากเมืองจีนสักองค์หนึ่งเพื่อทำงานนี้ต่อไป เมื่อคุณพ่อลาร์เกไปแสดงตัวพร้อมด้วยพินัยกรรมของคุณพ่อกระดาษต่างๆของคุณพ่อเล็ตแชร์ก็หายไปเสีย
 
แล้ว พร้อมกับสิ่งของต่างๆ ทั้งหมด อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ ที่คุณพ่อลาร์เกต้องรับเป็นมรดกอักษรจีนทั้งหลายถูกชั่งกิโลขายไปเสียแล้ว
 
ประมาณปี ค.ศ. 1955 คุณพ่อเล็ตแชร์เข้ามากรุงเทพฯ บ่อยๆ เพื่อเยี่ยมเยียนครูสุทินผู้ซึ่งตลอดชีวิตของเขาได้ทำงานรับใช้วัด และได้เป็นผู้จัดการโรงเรียน 2 โรงเรียนที่นครชัยศรีอยู่เป็นเวลา 28 ปี ครูคนนี้ทำการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เพราะเป็นมะเร็งในเม็ดเลือด คุณพ่อเล็ตแชร์ไปเยี่ยมเขาอยู่บ่อยๆ 
 
เมื่อมาดูคุณพ่อเล็ตแชร์ ในบั้นปลายชีวิตของคุณพ่อ เราไม่คิดว่าคุณพ่อจากเราไปเร็วเช่นนี้ คุณพ่อยังมีสภาพแข็งแรงอยู่ คุณพ่อเท่านั้นที่รู้สึกตัวว่าใกล้เวลาที่จะต้องจากไปแล้ว อย่างไรก็ดี คุณพ่อยังไปให้คุณหมอจีโร ตรวจเช็คที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ เมื่อกลับมาที่สำนักมิสซัง ก็มีคนถามคุณพ่อว่า “เป็นอย่างไร คุณพ่อเล็ตแชร์ คุณหมอบอกอะไรคุณพ่อบ้าง?” คุณพ่อตอบว่า “ไม่ใช่หมอที่บอกผม แต่เป็นผมที่บอกหมอ”
 
พระเป็นเจ้าทรงรับวิญญาณของคุณพ่อไปอยู่ในบ้านของพระบิดา วันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1956 รวมอายุได้ 83 ปี ในพินัยกรรมของคุณพ่อ คุณพ่อขอไว้อย่างชัดแจ้งว่าให้ฝังคุณพ่อที่บางปลาสร้อย ข้างๆ พี่ชายของคุณพ่อ แต่พระสังฆราชโชแรง ได้ตัดสินใจฝัง  คุณพ่อไว้ที่นครชัยศรีเอง ตามคำขอของเจ้าอาวาสและสัตบุรุษในสมัยนั้น จึงเป็นนครชัยศรี  ซึ่งคุณพ่อถูกฝังใกล้กับพี่ชายในสวรรค์ แต่ไกลจากกันบนแผ่นดินนี้ คุณพ่อทั้งสองไม่สามารถอยู่ด้วยกันได้ พวกคริสตังและบรรดาพระสงฆ์จำนวนมากมายไปที่นครชัยศรีเพื่อร่วมพิธีปลงศพคุณพ่อ.