คุณพ่อ หลุยส์ เล็ตแชร์

 
 
คุณพ่อหลุยส์เล็ตแชร์
 
Louis LOETSCHER
 
 
คุณพ่อ หลุยส์ เล็ตแชร์ เกิดวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ. 1870 ณ วุนไฮม์ เมืองทรัสบูรก์ แขวง โฮ้แรงน์ คุณพ่อเข้าบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศ และรับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ วันที่ 9 มีนาคม ค.ศ. 1895 แล้วก็ออกเดินทางไปมิสซังสยาม วันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 1895
 
พอมาถึงกรุงเทพฯ พระสังฆราชหลุยส์ เวย์ ก็ส่งคุณพ่อไปเรียนภาษาและเป็นปลัดอยู่ที่วัดบางช้าง
 
ปี ค.ศ. 1896 คุณพ่อได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดผู้ช่วยคุณพ่อกียู ที่วัดนครชัยศรี คุณพ่อจะเป็นปลัดของคุณพ่อปีโอ ด้วยเหมือนกัน เจริญรอยตามแบบอย่างคุณพ่อกียู คุณพ่อจะเป็นเหมือน มิชชันนารีเคลื่อนที่ออกเยี่ยมเยียนบรรดากลุ่มคริสตชนชาวลาว ที่คุณพ่อกียูตั้งขึ้นมาใหม่ๆ  คุณพ่อ ขึ้นไปตามลำน้ำนครชัยศรี ดูแลอภิบาลกลุ่มคริสตังที่บ้านดอน โดยผ่านไปเยี่ยมกลุ่มคริสตังชาวญวนทั้งสองพี่น้อง ซึ่งยังไม่มีเจ้าอาวาสที่จะอยู่ประจำ จึงมอบให้อยู่ในการดูแลของเจ้าอาวาสวัดนครชัยศรี คุณพ่อหลุยส์เดินทางไปถึงอู่ทอง เพื่อให้การอภิบาลพวกคริสตังชาวลาวที่มดแดง และก็ทำการประกาศข่าวดีตามลำแม่น้ำและลำคลองต่างๆ
 
ปี ค.ศ. 1899 คุณพ่อได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดซางตาครู้ส ที่กรุงเทพฯ โดยมาแทน คุณพ่อแปร์โรซ์ ผู้วายชนม์ คุณพ่อหลุยส์ เล็ตแชร์ รับตำแหน่งนี้แทนระหว่างที่รอให้คุณพ่อกีโยม กิ๊น ดาครู้ซ พ้นจากตำแหน่งปลัดวัดกาลหว่าร์ ในที่สุด ปี ค.ศ. 1900 คุณพ่อกีโยน ก็พ้นจากตำแหน่งปลัด และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดซางตาครู้ส 
 
ในปี ค.ศ. 1900 คุณพ่อหลุยส์ ได้รับมอบหมายให้ไปดูแลวัดพนัสและวัดบางปลาสร้อยแต่ในรายงานประจำปี C.R. ค.ศ. 1901-1904 มีรายงานว่า 2 วัดนี้อยู่ในการปกครองดูแลของ คุณพ่อกียู “Caesar pontem fecit”  ตามหลักแล้ว  วัดพนัสและวัดบางปลาสร้อย ขึ้นกับวัดหัวไผ่ แต่คุณพ่อกียู ก็มีงานมากพออยู่แล้วที่หัวไผ่ คือ มีเรื่องฟ้องร้องและโต้เถียงกับพวกคนต่างศาสนาซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทางการ และพยายามยึดครองทุ่งนาของวัด โดยมาเก็บเกี่ยวข้าวที่พวกคริสตังหว่านเอาไว้ อันที่จริงแล้ว วัดพนัสและวัดบางปลาสร้อย มีเจ้าอาวาสเป็นเอกเทศของวัดเอง คุณพ่อหลุยส์ได้รับมอบหมายให้ดูแล  2 วัดนี้ แต่ในปี ค.ศ. 1905 คุณพ่อออกจากวัดพนัส เพราะต้องการไปสร้างวัดใหม่ ที่บางปลาสร้อย ขึ้นมาแทนวัดเก่าที่สร้างด้วยไม้ไผ่ ฉาบปูนขาวบางๆ โดยคุณพ่อดาเนียล ในปี ค.ศ. 1860 วัดใหม่ทั้งกว้างและแข็งแรง สร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1906 แล้วคุณพ่อหลุยส์ เล็ตแชร์   ก็ประจำอยู่ที่วัดนี้ในฐานะเจ้าอาวาสและดูและวัดนี้เพียงแห่งเดียว   คุณพ่อคงเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดนี้จนถึงปี ค.ศ. 1930
 
กระนั้นก็ตาม พวกคริสตังชาวจีนที่บางปลาสร้อยก็ไม่ค่อยชอบคุณพ่อเท่าไร เพราะนิสัยและความเคร่งครัดเกินไปของคุณพ่อ และถ้าคุณพ่อยังคงเป็นเจ้าอาวาสนานต่อไปอีก คงจะไม่มีคริสตังเหลือมากนักที่วัด คุณพ่อซื้อที่ดินกว้างใหญ่ผืนหนึ่งใกล้ตัวเมือง บนเส้นทางไปพนัสที่นั่น คุณพ่อสร้างบ้านพักหลังหนึ่ง วัดน้อยหลังหนึ่ง และอาคารอื่นๆ ด้วย แล้วคุณพ่อก็ใช้ชีวิตแบบฤาษีอยู่ที่นั่น จนถึงบั้นปลายของชีวิต ใช้เวลาในการภาวนา รำพึง รักษาความเงียบสงบ แต่ก็สอนคำสอนให้พวกเด็กคริสตังทุกวัน
 
ในปีค.ศ. 1932 คุณพ่อหลุยส์ โชแรง ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นเหรัญญิกของมิสซัง เมื่อปี ค.ศ. 1925 ได้สร้างสำนักงานมิสซังแล้วเสร็จ เป็นสำนังานมิสซังที่สวยที่สุดในภาคตะวันออกไกล และเป็นอาคารที่สวยที่สุดในกรุงเทพฯ เวลานั้น คุณพ่อหลุยส์ เล็ตแชร์ หรือคุณพ่ออามาโต ตามที่เขาเรียกกัน ไม่ยอมย่างกรายเข้าไปเลย เมื่อเวลาคุณพ่อต้องไปซื้อเหล้าองุ่น ที่กรุงเทพฯ คุณพ่อจะหยุดอยู่ที่ประตูเข้าสำนักงาน และเรียกคุณพ่อโชแรง ซึ่งต้องเข้าไปหยิบขวดเหล้าองุ่น และเอามาให้คุณพ่อถึงฟุตบาทหน้าประตู คุณพ่อจะบอกเราภายหลังว่า คุณพ่อโชแรงได้สร้างสำนักงานมิสซัง นี้ด้วยหยาดเลือดของพวกมิชชันนารี
 
ปี ค.ศ. 1935 หลังจากได้ย้ายบ้านเณรจากบางช้างไปอยู่ที่ศรีราชา พวกเราบรรดาอาจารย์ของบ้านเณร ได้มีโอกาสไปเยี่ยมคุณพ่ออามาโต บ่อยๆ ในสมัยนั้น ยังไม่ถนน ไม่มีสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง เราโดยสารรถไฟไปถึงแปดริ้ว ไม่มีสะพานข้ามแม่น้ำแปดริ้ว เราต้องเดินทางต่อด้วยเรือ บางครั้งจนถึงหัวไผ่    บางครั้งจนถึงพนัส  เราผ่านไปเยี่ยมคุณพ่อ บางครั้งเราก็ค้างคืนก่อนที่จะเดินทางต่อไป คุณพ่อดีใจมากในการมาเยี่ยมเยียนเหล่านี้ แต่เราก็ต้องเคารพต่อตารางเวลาของ คุณพ่อเวลาคุณพ่อกำลังรำพึงภาวนาอยู่  เราก็ต้องคอยจนกว่าคุณพ่อจะภาวนาเสร็จ ถ้าเรายังขืนเรียกคุณพ่อ คุณพ่อก็จะออกมาจากวัด และไม่พูดอะไร เพียงแต่ชี้ให้เราดูรูเล็กที่หลังคาสังกะสี ซึ่งมีแสงอาทิตย์ผ่านเข้ามาบนเส้นต่างๆ บนพื้นปูน และก็ชี้ให้เราเห็นเส้นที่แสงอาทิตย์จะต้องผ่าน แล้วก็กลับเข้าไปในวัดอีก เมื่อถึงเวลาที่กำหนดไว้ คุณพ่อจึงออกมาต้อนรับเรา เป็นเวลาที่เราสนทนา คุณพ่อแสดงน้ำใจดีกับพวกเรา 
 
วันหนึ่ง เมื่อเราไปถึงบ้านคุณพ่อ คุณพ่อกำลังสอนคำสอนอยู่ในวัด เราก้าวเข้าไปค่อยๆ แอบมองไปทางหน้าต่าง ไม่เห็นมีเด็กสักคนเดียวในวัด เรารู้สึกประหลาดใจ และก็ไปเดินเล่นนิดหน่อยในบริเวณพื้นที่ของคุณพ่อ รอจนกว่าคุณพ่อจะสอนคำสอนเสร็จ แล้วคุณพ่อก็ออกมาต้อนรับพวกเรา เมื่อเราถามคุณพ่อ คุณพ่อก็ตอบอย่างหน้าตาเฉยว่า “ถึงเวลาสอนคำสอน พวกเด็กๆ ไม่เรียนตามหน้าที่ก็เรื่องของเขา ส่วนผม ผมก็สอนไปตามหน้าที่” ช่างเป็นคนตรงต่อหน้าที่เสียจริงนะ!
 
คุณพ่อเออเยน น้องชายของคุณพ่อ มาจากนครชัยศรี เยี่ยมเยียนคุณพ่ออย่างสม่ำเสมอ และก็พักออยู่ที่บ้าน 2-3 วัน บางครั้ง คุณพ่อเออเยนบอกว่า “ผมจะไปอยู่บ้านพี่ชายสัก 8 วัน”   แต่บางครั้ง คุณพ่อกลับมาที่นครชัยศรี หลังจากอยู่ได้ 2-3 วัน บางครั้งก็กลับมาในวันรุ่งขึ้น   แต่คุณพ่อเออเยน ก็กลับมาเยี่ยมเยียนสม่ำเสมอ
 
ปี ค.ศ. 1939 หลังจากมีการประกาศสงคราม คุณพ่อหลุยส์ เล็ตแชร์ เปลี่ยนสัญชาติ คุณพ่อซึ่งมีสัญชาติเยอรมัน ก็เปลี่ยนมาเป็นสัญชาติสวิส
 
ในปลายปี ค.ศ. 1940 มีการเริ่มเบียดเบียนศาสนา ขอคัดลอกเรื่องการเบียดเบียนนี้ซึ่ง คุณพ่อ หลุยส์ เล็ตแชร์ เล่าด้วยตัวเอง เกี่ยวกับรูปปั้นนักบุญยอแซฟ   “เรื่องรูปปั้นนักบุญยอแซฟ กับพระกุมารเยซู”  “บนเนินที่ดินซึ่งผมดำเนินบั้นปลายชีวิตอยู่ ผมได้สร้างวัดน้อยหลังหนึ่ง ให้อยู่ในอุปถัมภ์ของนักบุญยอแซฟ โดยตั้งรูปปั้นของท่านนักบุญอุ้มพระกุมารเยซู ใต้วัดนี้ ผมได้เตรียมที่ไว้ฝังศพของผมเอง”
 
รูปปั้นนักบุญยอแซฟออยู่ที่วัดนั้นกับพระกุมารเยซู คอยปกป้องคุ้มครองพวกเรามาหลายปีแล้ว เมื่อมาถึงระบอบการปกครอง และการสมรู้ร่วมคิดของหัวหน้ารัฐบาลที่หยิ่งผยองคนหนึ่ง    มีการเริ่มเบียดเบียนศาสนาคริสตัง 
 
ในปี ค.ศ. 1940 “ผู้นำ” คนนี้ ถือโอกาสที่ฝรั่งเศสหมดอำนาจลง เรียกร้องให้แก้ไข แนวชายแดนทางตะวันออก และสั่งให้กองทัพบุกเข้าไปยึดจังหวัดต่างๆ ที่อยากจะได้คืนมาในวันที่ 8 พฤศจิกายน เขาออกคำสั่งให้ชาวฝรั่งเศสทุกคนที่อยู่ในภาคอีสานออกจากประเทศไทยไปภายใน 48 ชั่วโมง แต่ตำรวจ รีบไปจับพวกฝรั่งเศสทันที บางคนถูกตำรวจกลั่นแกล้งทำการทรมาน ในคืนนั้น ตำรวจ 4-5 คนถืออาวุธมาสั่งให้ผมออกจากสยามไปภายใน 48 ชั่วโมง ผมก็เลยถามพวกเขาว่า มีคำสั่งให้ขับไล่พวกชาวสวิสด้วยหรือ? เมื่อหัวหน้าตำรวจทราบว่าผมไม่ใช่ชาวฝรั่งเศส จึงปล่อยให้ผมอยู่อย่างสงบสุข
 
ประมาณปลายเดือนมกราคม ค.ศ. 1941 สมัครพรรคพวกของ “ผู้นำ” กลุ่มหนึ่งใช้ชื่อว่า  “คณะเลือดไทย” ได้เริ่มเบียดเบียนพวกคริสตังชาวพื้นเมืองอย่างเปิดเผย มีคำสั่งให้พวกเขาประกาศตัวเป็นพุทธ วัดต่างๆ เสียหาย เมื่อมีการขู่ว่าจะทำลายวัดที่บางปลาสร้อย ผมได้ร้องเรียนให้ตำรวจช่วยปกป้องคุ้มครอง ทั้งๆ ที่มีตำรวจอยู่หน้าวัด พวกอันธพาลก็ยังสามารถเข้าไปในวัดขโมยบางสิ่งบางอย่างไป (ของมีค่าต่างๆ ผมได้เอามาเก็บไว้ที่บ้านอย่างปลอดภัย)  เมื่อเห็นว่ามีการปล่อยปละละเลยเช่นนี้ หรือมีการสมรู้ร่วมคิดของผู้รักษากฎหมายกับพวกอันธพาล ผมจึงไปหาผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อถามว่าทำไมถึงไม่ทำอะไรกับโจรพวกนี้ (เขาเองมีส่วนสมรู้ร่วมคิดด้วย) และบอกเขาว่าผมเองเป็นคนสร้างวัดนี้ ผมจึงจะขอให้ชดใช้ความเสียหายต่างๆ การร้องเรียนเช่นนี้และการให้กำลังใจพวกคริสตัง มิให้ทิ้งศาสนา ดังที่ “ผู้นำ” พยายามบังคับ ทำให้ผมต้องถูกเนรเทศออกจากบางปลาสร้อยเป็นเวลา 6 เดือน ประมาณเที่ยงคืนท่าน“ผู้นำ” ได้ออกประกาศคำสั่งไม่ให้เบียดเบียนพวกคริสตังเรื่องการปฏิบัติตามความเชื่อ แต่พวกคริสตังก็ยังคงถูกรบกวนกดขี่ต่อไปอีก ตามรายงานข่าวหนังสือพิมพ์ ที่กรุงเทพฯ มีคนทิ้งศาสนา 390 คน และทั่วกรุงสยาม มี 5,600 คน  ที่ภาคอีกสาน ภคินี 7 รูปถูกยิงตายเพราะปฏิเสธไม่ยอมทิ้งศาสนา ที่นี่ ที่บางปลาสร้อย คริสตังบางคนยอมทิ้งศาสนา พอพายุสงบลง พวกเขาส่วนมากก็กลับใจเข้ามาใหม่ และก็เป็นอย่างนี้ตามวัดทั่วๆ ไป
 
ต่อไปนี้จะกล่าวถึงเรื่องการทำให้เสียหาย และลบหลู่รูปปั้นนักบุญยอแซฟกับพระกุมารเยซู ตอนเย็นวันที่ 13 มีนาคม ขณะที่ผมกำลังเข้าไปในศาลาที่ตั้งรูปนักบุญยอแซฟตามที่ทำอยู่ทุกวันผมสังเกตเห็นว่า ขโมยคนหนึ่งได้ตัดเอาส่วนหนึ่งของสังกะสีที่ทำเป็นวงอัศจรรย์ไป วันที 29  ตำรวจมาแจ้งให้ผมทราบว่ามีคำสั่งให้ผมออกจากจังหวัดชลบุรีนี้ไปเป็นเวลา  6 เดือน โดยมิได้ให้เหตุผลอะไรเลย ผมไปกรุงเทพฯ หาน้องชายขอลี้ภัย 4 ครั้ง ผมไปที่สถานีตำรวจเพื่อขอทราบข้อหาที่ผมถูกขับไล่ออกจากบ้านของผม   ทุกครั้งที่ไป  ก็ไม่สามารถพบหัวหน้าตำรวจ ส่วนทางกงสุลสวิส หัวหน้าหอการค้า ให้คำแนะนำผมว่าไม่ต้องขอความยุติธรรม เพราะว่าผมอาจถูกขับไล่ออกจากประเทศไปเลย ระหว่างที่ผมลี้ภัยอยู่ที่กรุงเทพฯ โฆษกของรัฐบาลประกาศทั่วไปว่าประเทศไทยรักสันติ และขอยืนยันว่า รัฐบาลจะปกป้องความเป็นกลางของตัวจากไม่ว่าประเทศใด ท่านผู้นำได้ยืนยันต่อสาธารณชนว่า ตนเองเป็นพุทธศาสนิกชน และวันที่ 29 กรกฎาคม  เขาก็อนุญาตให้พวกชาวฝรั่งเศสกลับมาอีก
 
วันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1941 กำหนดการถูกเนรเทศของคุณพ่อก็สิ้นสุดลง คุณพ่อจึงกลับมาที่วัดของคุณพ่อที่บางปลาสร้อย วันที่ 18  ตำรวจมาถามผมว่าได้กลับมาเมื่อไร วันที่ 8 ธันวาคม ญี่ปุ่นประกาศสงครามกับอเมริกาและอังกฤษ และอีกไม่นาน ไทยก็เข้าเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น
 
วันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1942 อันธพาลคนหนึ่ง ทำหัวรูปปั้นนักบุญยอแซฟตก คุณพ่อจัดการเก็บชิ้นส่วนต่างๆ เพื่อเอาต่อกันใหม่ และคุณพ่อก็ต่อหัวเข้าที่เดิมได้ วันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ. 1943 พวกอันธพาลมาทำให้หัวรูปปั้นนี้แตกอีกเป็นครั้งที่ 2 และยังขโมยสังกะสีหลังคาไปหมด คุณพ่อก็ซ่อมหัวรูปปั้นนี้อีกครั้ง พร้อมทั้งเทปูนลงในโพรงหัวและรูปปั้นทั้งหมด พวกเจ้ามือซุกซนเลวร้ายก็ยังทำร้ายรูปปั้นนี้อีกเป็นครั้งที่สาม คราวนี้พวกเขามิอาจทำให้หัวแตกเป็นชิ้นๆ จึงดึงหัวจน   คอขาดเป็นครั้งที่สาม ทำให้ขากรรไกรแตก แล้วก็วางหัวกลับหลังไว้ เมื่อผมไปดูอีก ตอนเย็นวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ. 1944 คุณพ่อก็หันหัวกลับเข้าที่เดิม หลังจากนั้นอีก 2-3 วัน  คุณพ่อก็เห็นว่า  หัวกลับไปอีก เพื่อยุติการเล่นสบประมาทเช่นนี้ คุณพ่อจึงเอาหัวที่ถูกทำร้ายนี้ไปเก็บไว้ที่บ้านพักก่อน
 
เมื่อทำการลบหลู่รูปนักบุญยอแซฟจนเป็นที่พอใจแล้ว และอันธพาลพวกนี้ยังมิได้ถูกลงโทษ ซึ่งคงจะต้องโดนแน่ อันธพาลพวกนี้ยังกล้ามาทำให้รูปปั้นพระกุมารเยซูพิการไปด้วย ซึ่งยังไม่เคยทำมาจนถึงเวลานั้น วันที่ 9 มกราคม ค.ศ. 1945 คุณพ่อเห็นว่ามือขวาของพระกุมารตกอยู่กับพื้น วันที่ 7 มีนาคม แขนขวาที่ชูขึ้น เหมือนทำท่าอวยพระพร ก็ถูกหักออกและทำแตกเป็นชิ้นๆ และแล้ววันที่ 11 กันยายน คอพระกุมารก็ถูกตัดออก ที่สุด วันที่ 13 มิถุนายน พวกทหาร ขณะไปขโมยไม้เหมือนที่เคยทำอยู่บ่อยๆ ก็ได้ตัดเสื้อคลุมรูปปั้นนักบุญยอแซฟออกไปชิ้นหนึ่ง นี่เป็นตัวอย่างความประพฤติที่แสดงระดับศีลธรรมของชาวเมืองนี้ ชอบให้คนเห็นว่าเป็นคนรักสงบและรู้จักผ่อนผัน ถือปฏิบัติคุณสมบัติ หรือคุณธรรมประจำชาติ 14 ประการ ที่แท้แล้ว คนส่วนมาก ดูเหมือนติดมลทินบาปต้นเจ็ดประการ เป็นสองเท่า
 
วันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1946 พวกขโมย ยังมาเอาแผ่นปูน 2 แผ่นที่ใช้เป็นที่นั่งต่อหน้ารูปปั้นไปอีก
 
คุณพ่อหลุยส์ เล็ตแชร์ ถวายวิญญาณคืนให้พระเป็นเจ้าในอ้อมแขนของน้องชาย คือ  คุณพ่อ เออเยน วันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1952 มีอายุได้ 82 ปี ศพของคุณพ่อฝังไว้ในที่ที่ของคุณพ่อได้เตรียมไว้เอง.